People

‘ครูโกวิทย์ โฆสิต’ กีฬาฝึกวินัย-ความอดทน
ที่ช่วยวางพื้นฐานสำคัญชีวิต

บงกชรัตน์ สร้อยทอง 23 Jan 2023
Views: 816

ความฝันเป็นสิ่งสวยงามเสมอ แม้บางครั้งอาจไม่ได้ออกดอกผลที่ตัวเอง หากเกิดจากการทำหน้าที่ครูหรือโค้ช ซึ่งถ้าวันหนึ่งลูกศิษย์ได้ก้าวสู่การเป็นนักฟุตบอลมืออาชีพขึ้นมา ก็เหมือนกับได้ทำความฝันของตัวเองสำเร็จแล้ว นี่คือสิ่งที่ ครูโกวิทย์ โฆสิต ครูประจำวิชาสอนศิลปะและพลศึกษา รวมถึงผู้จัดการสนามฟุตบอล คิง เพาเวอร์ ร.ร.อนุบาลสร้างคอม จ.อุดรธานี ได้บอกกับเราไว้

 

สานฝันตัวเองเตรียมส่งต่อให้เด็ก

เพราะความหลงรักในกีฬาฟุตบอลตั้งแต่เด็กๆ แต่กว่าครูโกวิทย์จะมีลูกฟุตบอลลูกแรกในชีวิตก็ตอนมัธยมศึกษาปีที่ 2 ที่พ่อส่งเงินจากการทำงานต่างประเทศมาให้ ฝึกซ้อมอยู่คนเดียวจนสามารถเป็นตัวแทนของโรงเรียนไปเล่นที่ต่างๆ และพบว่าเวลาเล่นอยู่กับลูกกลมๆ นี้ ครูเป็นตัวเองที่สุด สามารถปลดปล่อยอารมณ์ได้อิสระ แถมยังช่วยทำให้เจอเพื่อน ค้นพบทักษะและการสร้างนิสัยที่ดีในการมีวินัยและหมั่นฝึกซ้อม

“ผมเน้นสอนให้เด็กมีวินัย เพราะมองเป็นเรื่องสำคัญของพื้นฐานการใช้ชีวิต
ต้องให้เด็กรู้จักการมีน้ำใจนักกีฬา รวมถึงฝึกให้รู้จักรอคอย
รู้จักเสียสละเวลาส่วนตัวมาฝึกซ้อม ไม่ไปใช้เวลากับสิ่งที่ไม่ดีอย่างยาเสพติด”

ครูโกวิทย์ โฆสิต ครูศิลปะและพลศึกษา
ผู้จัดการสนามฟุตบอล คิง เพาเวอร์ ร.ร.อนุบาลสร้างคอม อุดรธานี

เขามีความตั้งใจจะเป็นครูสอนพลศึกษา เพราะรักกีฬาฟุตบอลและชอบอยู่กับเด็กๆ  จึงตัดสินใจเรียนทางด้านครูโดยตรง แต่ไม่มีวิชาเอกพลศึกษา จึงเลือกเรียนเอกศิลปศึกษา คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี เพราะเป็นอีกสิ่งที่ชอบ แล้วเลือกสอนระดับประถมศึกษาแทน เพราะเป็นระดับที่สามารถบูรณาการสอนได้ทุกวิชา

“พอเรียนจบได้มาสอนที่ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน ถือเป็นช่วงเวลาที่ทำเพื่อตัวเองในการเพิ่มความรู้และทักษะเรื่องฟุตบอล เพราะเริ่มเดินสายเตะฟุตบอลเก็บเกี่ยวประสบการณ์ดูการแข่งขันที่หลากหลายของทีม โดยมีแรงบันดาลใจทีมชาติยุคดรีมทีม โดยเฉพาะจากคุณซิกโก้ – เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง ที่ทำให้เห็นชัดว่า การจะเป็นนักกีฬาที่ดีได้ต้องเริ่มจากการมีวินัยที่เคร่งครัด และทุกคนก็สามารถสร้างเองได้ จนผ่านไป 9 ปี ก็เริ่มสอบเพื่อบรรจุเป็นครูอย่างจริงจัง”

✔ รับผิดชอบในหน้าที่ทั้งหมดให้ดี ทั้งการสอนและพร้อมดูแลเด็กกับสนามฟุตบอล 

 

เพราะเห็นเด็กกระหายการเล่นจึงเริ่มต้นสร้างทีม

เมื่อได้บรรจุเป็นครูที่โรงเรียนประถมศึกษาแห่งแรก จ.อุบลราชธานี ก็ยังซ้อมฟุตบอลคนเดียวตามปกติและมีเด็กๆ เข้ามาเล่นด้วย ภาพที่เห็นชัดเจนคือเด็กๆ มีความกระหายอยากจะเล่นฟุตบอลให้ดีจริงๆ แต่ไม่มีใครทำส่วนนี้ จึงเป็นจุดเริ่มต้นว่าถึงเวลาแล้วที่จะลองสร้างทีมฟุตบอลเด็กวัยประถม ประกอบกับช่วงนั้นมีคุณครูอีกท่านคือ ครูรัตนพล แก้วดี ที่อยากทำทีมฟุตบอลให้เด็กๆ พอดี ทำให้มีเพื่อนช่วยกันทำทีมและพาเด็กเดินสายแข่งขัน แม้ผลอาจแพ้บ้างชนะบ้างก็ไม่ได้สำคัญ เพราะสิ่งที่ดีกว่านั่นคือเห็นเด็กมีความสุขที่ได้ลงไปเล่นฟุตบอลจริงๆ

“เมื่อเด็กลงสนามโลกเขาสดใสจริงๆ เด็กวัยประถมฝึกไม่ยาก แต่อาจมีอุปสรรคเรื่องสมาธิและพละกำลัง ดังนั้นเวลาฝึกต้องมีกลยุทธ์หรือสร้างแรงจูงใจให้รู้สึกสนุกที่ต้องคอยมาฝึก โดยใช้เกมเป็นเครื่องมือ แบ่งทีมแข่งขันให้รู้สึกท้าทาย โดยสาธิตแนะวิธีการเล่นให้ดูก่อน จากนั้นคอยสังเกตและประเมินเองว่าเด็กคนนี้เป็นอย่างไร ควรเล่นตำแหน่งไหน เพราะเด็กแต่ละคนไม่เหมือนกัน และต้องรู้จักกล่าวชื่นชมหากเขาเล่นได้ดีจริงๆ

✔ รู้จักประหยัด โดยบริหารจัดการการใช้งบให้คุ้มค่าที่สุด

 

ความเหมือนที่เข้ากันของศิลปะกับพลศึกษา

เมื่อได้ย้ายมาเป็นครูที่บ้านเกิด ร.ร.อนุบาลสร้างคอม จ.อุดรธานี ยังเป็นครูประจำวิชาศิลปศึกษาและพลศึกษา ที่มองว่าทั้งสองวิชานี้ต่างกันเพียงแก่นของพื้นฐานวิชาในเรื่องการวาดเส้น การผสมสี หรือการเคลื่อนไหวให้คล่องตัวในกีฬาแต่ละประเภท แต่ในความเป็นจริงทั้งสองวิชานี้แทบจะไม่มีความแตกต่างกันในเรื่อง “การมีวินัยและความคิดสร้างสรรค์”

กีฬาสร้างการมีวินัยที่จะอดทนฝึกซ้อม ฝึกฝนสภาพร่างกาย ถ้าซ้อมมากก็จะเกิดความเชี่ยวชาญ เมื่อมีโอกาสลงสนามเจอคู่แข่งที่เล่นไม่เหมือนกัน เด็กจะได้เรียนรู้เทคนิคและเกิดความคิดสร้างสรรค์ในการแก้ไขสถานการณ์ที่เขากำลังเผชิญอยู่ ลงแข่งเยอะก็จะเก็บเกี่ยวประสบการณ์ได้หลากหลาย เช่นเดียวกับงานศิลปะ ถ้าลงมือวาดและซ้อมลงสีบ่อยก็จะเกิดความเชี่ยวชาญ จนสามารถพัฒนาต่อยอดลวดลายและสร้างสรรค์ผลงานที่หลากหลายได้

“เชื่อว่าศิลปศึกษากับพลศึกษามีจุดเชื่อมโยงกันได้ระหว่างทักษะกับความคิดสร้างสรรค์ อย่างฟุตบอล ถ้าหมั่นซ้อม การเคลื่อนไหว สเตปเท้า ด้านร่างกายจะมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เมื่อได้ฝึกจนเชี่ยวชาญ จากทักษะก็กลายเป็นการเคลื่อนไหว จนเกิดศิลปะที่สวยงามในการเลี้ยงบอล หรือวาดลีลาการเคลื่อนไหวในการเล่นที่สวยงามได้”

สิ่งที่จะทำให้ทั้งสองอย่างนี้เชื่อมโยงกัน คือต้องสอนแบบแอ็กทิฟเลิร์นนิงให้เขารู้จักสิ่งนั้น โดยทำตัวอย่างให้ดูและให้เด็กปฏิบัติตาม เมื่อเด็กฝึกบ่อยก็จะมีทักษะและเชี่ยวชาญสิ่งนั้น สิ่งสำคัญคือ เราต้องหาวิธีที่จะทำอย่างไรให้เด็กสามารถแสดงออกตามความคิดสร้างสรรค์ของเขาให้ได้มากที่สุด เราเปิดพื้นที่ให้เด็กได้ออกแบบการฝึกซ้อมเอง เพราะความคิดสร้างสรรค์จะทำให้เกิดไหวพริบแก้ปัญหาที่อยู่ตรงหน้า แถมยังช่วยสร้างบรรยากาศสนุกสนานขณะซ้อม ให้ทุกคนรอลุ้นว่าเพื่อนแต่ละคนจะออกแบบท่าการซ้อมอย่างไร

✔ รักษาวินัยต่อการทำหน้าที่ทุกอย่าง รู้จักเสียสละ รู้จักอดทน

วินัยและความอดทน คือ พื้นฐานสำคัญการใช้ชีวิต

กีฬาสำหรับครูโกวิทย์มองว่ามันมีเสน่ห์ที่ซ่อนอยู่ นั่นคือ การได้ฝึกความอดทนและการสร้างวินัยให้กับตัวเอง โดยสองสิ่งนี้ถือเป็นพื้นฐานการใช้ชีวิตได้อย่างดีเมื่อโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่

“ผมเน้นสอนให้เด็กมีวินัย เพราะมองว่าเป็นเรื่องสำคัญของพื้นฐานการใช้ชีวิตอย่างดีที่จะปรับใช้ในชีวิตประจำวันเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในวันข้างหน้า ที่สำคัญต้องให้เด็กรู้จักการมีน้ำใจเป็นนักกีฬารู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย หรือเรียกว่ามีใจสปอร์ต และอดทนต่อความเจ็บปวดของร่างกายเวลาซ้อมหรือโดนทำโทษ รวมถึงได้ฝึกความอดทนต่อเวลาที่ต้องรู้จักรอคอย รวมถึงจิตใจแข็งแกร่งที่ต้องตื่นเช้า และรู้จักเสียสละเวลาส่วนตัวมาฝึกซ้อม ไม่ไปใช้เวลากับสิ่งที่ไม่ดีอย่างยาเสพติด”

 

สนามคือหัวใจหลักของการเล่นฟุตบอล

ตอนกลับมาบรรจุที่อุดรธานีใหม่ๆ ได้รับมอบหมายจากนายอำเภอให้เป็นโค้ชสโมสรอำเภอสร้างคอม เอฟซี เพื่อเข้าแข่งขันงานอุดรธานีคัพที่จัดเป็นปีแรก แล้วก็สามารถคว้าชัยอันดับที่ 3 ของจังหวัด และผู้อำนวยการโรงเรียนฯ ลองให้ศึกษาเกี่ยวกับการขอสนามฟุตบอลหญ้าเทียมของ คิง เพาเวอร์ ของโครงการ 100 สนามฟุตบอล สร้างพลังเยาวชนไทย มีนโยบายสร้างให้ 100 สนามทั่วประเทศในระยะเวลา 5 ปี

“พวกเราตั้งใจขอสนามกีฬาฟุตบอลมาก เพราะมันคือหัวใจในการเล่นฟุตบอล ที่ผ่านมาตลอดการเดินสายเตะฟุตบอลกับเด็กๆ ในต่างจังหวัด พบว่าเรื่องทักษะและความมุ่งมั่นของเด็กไม่ใช่ตัวแปรหลัก แต่อุปสรรคคือสนามที่เป็นดิน ฝุ่น และมีการเหยียบหินล้มเจ็บกัน อีกทั้งยังมีผลต่อการไปแข่งขันจริงเมื่อโรงเรียนอื่นจะชินกับสนามที่มีสนามหญ้ามากกว่า ขณะที่มองว่าการขอสนับสนุนลูกฟุตบอลเป็นเรื่องที่ง่ายกว่าการขอสนามที่มีมาตรฐาน”

✔ เตรียมความพร้อมให้ดีต้องให้ตื่นตัวตลอดเวลา และไม่ประมาทฟุตบอลตัวเชื่อมคนในชุมชน

 

เมื่อโรงเรียนได้รับการสนับสนุนการสร้างสนามฟุตบอลจาก คิง เพาเวอร์ ด้านหนึ่งถือว่าช่วยตอบโจทย์ให้เด็กๆ ได้เล่นฟุตบอลเต็มที่ซึ่งอาจเป็นการสร้างโอกาสก้าวสู่บันไดขั้นต่อไปให้กับพวกเขาในอนาคต ทว่าอีกโจทย์หนึ่งก็ทำให้เกิดการเชื่อมสัมพันธ์ของคนในชุมชนได้เป็นอย่างดี

“ปกติหลังเลิกเรียนเวลา เวลา 16.00-18.00 น. เปิดให้เด็กๆ มาเล่นฟุตบอลกัน และถ้าวันไหนไม่มีคนมาเช่าสนามช่วงเวลา 18.00-21.00 น. ก็จะเปิดให้เด็กได้เล่นยาว หรือวันเสาร์-อาทิตย์ก็พร้อมให้หน่วยงานต่างๆ ใช้จัดการแข่งขัน รวมถึงยังเป็นพื้นที่รวมตัวกันของคนที่รักฟุตบอลมาช่วยกันสอนและฝึกเล่นฟุตบอลให้เด็กๆ ฟรี ซึ่งก็จะมีเด็กๆ ต่างอำเภอเข้ามาเรียนและฝึกฟุตบอลด้วย แต่ช่วงระยะเวลา  2 ปีที่ผ่านมากิจกรรมเหล่านี้ได้ห่างหายกันไปเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19”

แต่รู้สึกว่าสิ่งที่มันยิ่งใหญ่กว่านั้น คือได้ช่วยสร้างความสัมพันธ์ระหว่างคนในชุมชน ทุกเพศ ทุกวัย ได้มาทำกิจกรรมร่วมกัน ตั้งแต่เดินเล่น ออกกำลังกาย พบปะคนในชุมชน แถมยังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในชุมชนอีก เพราะมีพ่อค้าแม่ค้ามาตั้งร้านขายลูกชิ้น ก๋วยเตี๋ยว ส้มตำ รองรับหลังทุกคนได้ทำกิจกรรมร่วมกันเสร็จ

 

เด็กทุกคนมีโอกาสเท่ากัน 

ตลอด 20 กว่าปีที่ผ่านมามีแรงบันดาลใจในการขับเคลื่อนกีฬาฟุตบอลต่อเนื่อง เพราะเชื่อว่าเราไม่มีวันที่จะหยุดฝัน ครูก็แก่ไปเรื่อยๆ ขณะที่เด็กก็จะมีรุ่นใหม่เข้ามาเพิ่มเรื่อยๆ และสิ่งที่ทำมาทั้งหมดไม่ใช่แค่ต้องการสร้างนักกีฬาอย่างเดียว แต่ต้องการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเด็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกยุคปัจจุบันที่ทุกอย่างเปลี่ยนเร็ว ปัญหาสังคมก็มีมาก โดยเลือกใช้ฟุตบอลเป็นเครื่องมือและสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กได้รู้จักวินัยและฝึกความอดทน ทั้งเวลา ร่างกาย และจิตใจอย่างดีที่สุด ซึ่งเมื่อโตขึ้นเขาก็จะมีสรรพกำลังที่พร้อมเติบโตได้อย่างแข็งแกร่งและไม่สร้างภาระให้กับสังคม

“เวลาซ้อมผมจะฝึกให้กับเด็กที่มีความสนใจในฟุตบอลหมด ขึ้นอยู่กับผู้ปกครองจะพาเด็กมาฝึกบ่อยมากน้อยแค่ไหน เพราะแต่ละครอบครัวมีข้อจำกัดต่างกัน เพราะถ้ามัวเลือกแต่เด็กที่เก่งๆ แล้วเด็กที่เหลือเขาจะไปทำอะไร ดังนั้นเมื่อทุกคนมาถึงสนามแล้ว ต้องได้โอกาสฝึกซ้อมเท่ากัน เรามีหน้าที่คอยสังเกตและดึงศักยภาพของเด็กแต่ละคนออกมาให้ได้มากที่สุด และสุดท้ายในเกมการเล่นจะสอนให้เด็กรู้จักตัวเขาเองว่าจะพัฒนาตัวเองอย่างไรให้เป็นตัวแทนลงในสนามแข่งจริง”

ครูโกวิทย์บอกทิ้งท้ายว่า ตอนนี้ผม เด็กๆ และคนในชุมชนมีความสุขมาก เพราะมีสนามที่พร้อมทำกิจกรรมให้เด็กได้ซ้อมกีฬาฟุตบอลที่เขารัก และพยายามจะสร้างทีมเยาวชนอายุไม่เกิน 12 ปี ที่ยังเป็นช่องว่าง เพราะยังไม่มีใครทำให้เกิดขึ้นให้ได้ และทุกวันนี้ก็ยังเชื่อมั่นและย้ำกับเด็กอยู่เสมอว่า ฟุตบอลสามารถสร้างอาชีพได้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่งเสมอ และเชื่อว่าอย่างน้อยสนามแห่งนี้ในอนาคตถ้ามี 1-2 คน กลับมาบ้านแล้วมาบอกว่า “ครูครับ ผมได้ไปเล่นสโมสรอาชีพแล้ว” ก็ถือเป็นความฝันอันสูงสุดทั้งเราและเขา รวมถึงชุมชนแห่งนี้ด้วย

ไม่แน่ว่าในวันหนึ่งเราอาจจะได้เห็นนักกีฬาทีมชาติไทยหรือนักฟุตบอลมืออาชีพที่มาจากการฝึกซ้อมที่สนามจากโรงเรียนอนุบาลสร้างคอมแห่งนี้ก็เป็นได้

 

กุญแจความสำเร็จแบบครูโกวิทย์

✔ รักษาวินัยต่อการทำหน้าที่ทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นครู โค้ชฟุตบอล และการเป็นผู้จัดการดูแลสนามฟุตบอล

✔ รู้จักเสียสละ เพราะเด็กเล็กยังหาช่องทางเข้าถึงโอกาสด้วยตัวเองไม่ได้ และต้องคอยกระตุ้นให้ฝึกซ้อมและตระเวนแข่ง

✔ รู้จักอดทน ทั้งต่อความเจ็บปวดในร่างกาย ต่อการยั่วยุระหว่างการแข่งขัน และทำทีมเยาวชนต่อไป เพราะถ้าเราท้อ เด็กๆ ก็จะท้อยิ่งกว่า

✔ มีความรับผิดชอบในหน้าที่ แม้ต้องสอนทั้งวิชาศิลปศึกษาและพลศึกษา พร้อมดูแลเด็กและสนามฟุตบอลด้วย ก็ต้องทำหน้าที่ทั้งหมดให้ดี อย่างน้อยก็เป็นตัวอย่างที่ดีให้กับเด็กๆ

✔ รู้จักประหยัด โดยบริหารจัดการการใช้งบจากที่ผู้สนับสนุนให้มาให้เกิดความคุ้มค่าและสร้างคุณค่าให้ได้มากที่สุด

✔ เตรียมความพร้อมให้ดี ต้องให้ตื่นตัวตลอดเวลา และไม่ประมาท

Author

บงกชรัตน์ สร้อยทอง

Author

อดีตผู้สื่อข่าวผันตัวเป็นฟรีแลนซ์คอนเทนท์ที่ขอมีวิถีเกษตรควบคู่ไปด้วย มีฝันสร้างคลังอาหารให้กับสิ่งมีชีวิตบนโลกเพราะมองเป็นความยั่งยืนที่แท้จริง