Passion

นำสุขจากริมน้ำปิง
ส่งให้ถึงใจทุกคน
คือฝันของ Go on Band

ศรัณย์ เสมาทอง 8 Dec 2021
Views: 1,518

เสียงสายน้ำไหลรินและนกร้องแผ่วเบา

แว่วมาท่ามกลางเสียงดนตรีนุ่มนวล

“จะไกลแสนไกลจะไปถึงฝัน

จะนานแสนนานฝันต้องเป็นจริง

ยังคงวิ่งไปเส้นชัยที่ปลายฝัน

และคงมีสักวันที่ได้ฝันนั้นมาครอง…”

บทเพลงดังขึ้น บอกเล่าถึงความมุ่งมั่น

แฝงกลิ่นอายเพลงเพื่อชีวิต…เรียบง่ายทว่างดงาม

“เราตั้งใจว่าจะเล่นดนตรีตลอดชีวิตเพราะเรารักดนตรีทุกรูปแบบ มันคือความสุข คือมิตรภาพ เวลาเล่นที่ไหนเราเต็มที่ตลอด ซื่อสัตย์ต่อคนดู รู้สึกยังไงก็จะสื่อสารไปหาคนดูไปหาผู้ฟังแบบนั้น” นี่คือความคิดของวง Go on Band จากจังหวัดกำแพงเพชร ที่บอกเล่าผ่านสมาชิกหลักสามคน…ไอซ์-บุญยกร เถื่อนเครือวัลย์ นักร้องนำพร้อมเล่นกีตาร์  ท็อป-ธราวุธ แคน้อย ผู้เล่นแซกโซโฟน และโอล่า-พงษ์เทพ  ศรีวะรา มือกีตาร์ตัวหลักของวง

แม้เขาจะบอกว่าเวที THE POWER BAND การประกวดดนตรีสากลสมัยนิยมผสมเครื่องเป่า ประจำปี 2564 จัดโดย วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ คิง เพาเวอร์ ไทย เพาเวอร์ พลังคนไทย ถือเป็นโอกาสที่เขาจะได้นำเสนอรูปแบบเสียงเพลงที่เขาคิดกัน ไม่ได้คาดหวังว่าจะคว้ารางวัลใดๆ แต่ความเรียบง่ายที่จริงใจของเขาก็ได้รับรางวัลชนะเลิศชมเชย (Class E ประเภทบุคคลทั่วไป) ไปเติมกำลังใจให้เดินหน้าต่อไป

ถึงฝันจะยังไกล…เขายังคงวิ่งไปเรื่อยๆ เรื่อยๆ

 

วงต่อไป…Go on

“Go on Band” หรือชื่อภาษาไทย “วงต่อไป” ช่างชัดเจนในเจตนารมณ์และแฝงความน่ารักอยู่ในที เกิดจากกลุ่มคนหลายเจเนอเรชันมารวมกัน ตั้งแต่ครูดนตรีในโรงเรียนวัชรวิทยาเรื่อยไปจนถึงนักเรียนที่ยังใช้คำนำหน้าว่าเด็กชาย

“จุดกำเนิดจริงๆ คือ ห้องดนตรีโรงเรียนวัชรวิทยาที่มีครูนำพลเป็นผู้ควบคุมวง ถึงมีสมาชิกหลากหลายรุ่น เรารวมกันรับงานดนตรีแทบทุกแบบ งานแตรวงงานบวช งานศพ งานรื่นเริง หรือว่าจะเป็นวงคอมโบแบบนี้ หรือว่าอะคูสติก โฟล์กซอง ครบหมด” ไอซ์เปิดฉาก ครูนำพล ธินวล (ในรูปต่อไป) ผู้รวมวงและเล่นเปียโน เอ่ยขยายความ “อยากให้นักดนตรีมีรายได้ เพราะเวลาไปออกงานครั้งหนึ่งก็จะมีค่าตอบแทน นักดนตรีนอกจากเล่นดนตรีแบบมีความสุขแล้วต้องเลี้ยงตัวเองได้ด้วย ช่วงปกติที่ไม่มีงานดนตรีสมาชิกในวงหลายคนต้องทำอาชีพเสริม อย่างไอซ์ก็ขายโยเกิร์ต บางคนเป็นพนักงานส่งอาหาร บางคนทำนาก่อนที่จะมาซ้อมดนตรีก็มี”

ที่โรงเรียนวัชรวิทยามีชุมนุมวงโยธวาทิตมาก่อนนานแล้ว ส่วนครูนำพลเพิ่งเข้ามาดูแลประมาณ 2 ปี เท่านั้น และได้ตั้งวงดนตรีร่วมสมัยขึ้น แต่มีข้อแม้ว่าต้องผ่านพื้นฐานจากวงโยธวาทิตก่อน จึงได้นักเรียนที่มีคุณภาพด้านดนตรีมาร่วมวง ส่วนสามหนุ่มที่เราได้พูดคุยด้วยนี้มาแปลกกว่านั้น

“ผมเรียนดนตรีอยู่ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร แล้วมาฝึกสอนที่โรงเรียนนี้ ถึงได้เข้าร่วมวงและลงประกวด THE POWER BAND ส่วนพี่โอล่าเป็นนักศึกษาฝึกสอนที่โรงเรียนวัชรวิทยาเป็นรุ่นพี่มาก่อนผมปีหนึ่ง” ท็อป-มือแซกโซโฟนเอ่ยขึ้น

ส่วนไอซ์ที่อายุมากสุดในสามคน แต่กลับกลายเป็นน้องสุดในการเรียน “ผมน่ะรุ่นเล็กครับ มาสังเกตการณ์ก่อน ปีหน้าถึงจะมาฝึกสอนที่นี่” หือ…เราต้องถามซ้ำ ถึงได้รู้ว่าหลักสูตรครุศาสตร์ปกติจะเรียน 5 ปี ปีสุดท้ายจะเป็นการฝึกสอน แต่ก่อนมาฝึกสอนเขามีหลักสูตรสังเกตการณ์สอนเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนจะมาฝึกสอนเต็มๆ ในปีถัดไป

น้องนักเรียนของวัชรวิทยาหลายคนก็มีฝีมือ อย่างน้องตัวโน้ต (ในรูปต่อไป) ที่เล่นแซกโซโฟนก็อายุเพียง 14 ปี ยังไม่ใช้คำนำหน้าว่านายเลยด้วยซ้ำ “ความต่างระหว่างวัยของเราไม่ได้เป็นปัญหา เราสามารถรับฟังกันได้ ไม่ว่าจะเด็กกว่าทักท้วง เลยกลายเป็นข้อดีไป น้องเล่นเครื่องเป่าเหมือนกับผม ผมยังยอมรับเลยว่าน้องเขาจำโน้ตแม่นกว่าผมอีก” ท็อปกล่าว

หาเส้นทางฝันเป็นเส้นเดียวกัน ก็คงไม่ยากเย็นเกินไปนัก

“เราอยู่กำแพงเพชร มีแม่น้ำปิงที่ใสทั้งปี

ลองเอาเสียงน้ำ เสียงนก มาใส่ในดนตรี

เหมือนนำบรรยากาศที่บ้านมาเล่าให้คนได้ฟัง”

ไอซ์-บุญยกร เถื่อนเครือวัลย์
วง Go on Band (ร้องนำ/กีตาร์อะคูสติก)

บนเส้นทางฝันอันแสนไกล

แต่ในเส้นทางเดียวกัน ก็ยังมีทางแยกทางลัดอีกมากมาย ประสบการณ์ดนตรีของคนในโรงเรียน กับสมาชิกที่ลงสนามจริงตามร้านอาหารยามค่ำคืน สีสันชีวิตก็แตกต่าง

“ถ้าช่วงปกติไม่มีสถานการณ์โควิดผมเล่นดนตรีกลางคืนด้วย แนวเพลง R&B  Hip hop มาสาย Pop ครับ เพลงเพื่อชีวิตนี่ไม่ค่อยได้เล่น” โอล่าออกตัว “ผมเล่นเพลงเพื่อชีวิตมาก่อน แล้วค่อยขยับมาเล่นเพลงสากลและเพลงตามกระแสทั้งหลายของบ้านเรา แต่ว่าเล่นในแบบ acoustic 2 ชิ้น 3 ชิ้น ไม่ค่อยได้ทำงานเป็นวงใหญ่คนเยอะขนาดนี้” แค่นี้นักร้องกับมือกีตาร์ก็ต้องปรับตัวกันยกใหญ่แล้วล่ะ

วิธีการเรียบง่ายที่ใช้กัน คือ ลองเล่นเลยแบบที่ตัวเองคิด จากนั้นครูผู้นำวงจะออกไปอยู่ในฐานะผู้ฟัง แล้วค่อยมาวิจารณ์ ปรับ แก้ พัฒนากันในวันต่อไป

“พอรู้ว่าพี่ไอซ์แกร้องแนวเพื่อชีวิต ผมก็เลยเขียนเพลงออกมาให้มันเอื้อต่อพี่ไอซ์เลย พูดเรื่องชีวิต เรื่องความฝัน เรื่องความผิดหวัง แล้วก็ให้กำลังใจกัน ได้แรงบันดาลใจมาจากสถานการณ์โรคระบาดในปัจจุบันด้วย” โอล่าเขียนเนื้อเพลงและทางคอร์ดของเพลง “เส้นทางฝัน” มาก่อน แล้วค่อยมาปรับอีกพักใหญ่ แม้บอกว่าไม่มีปัญหาเรื่องวัยแต่ก็ใช้เวลากันพอสมควรเพราะสไตล์การเล่นที่ต่างกันมาก

“อยากบินไปไกลให้ได้ดั่งนก

เปรียบเปรยดังวิหคที่โผลงเดินทาง

จากมาแสนไกลดวงใจยังอ้างว้าง

อยู่บนเส้นทางที่สร้างฝันเป็นเดิมพัน”

เพลงเส้นทางฝัน ออกมาเป็นเพลงที่ฟังสบายๆ ได้อารมณ์เพลงคันทรี มีกลิ่นอายเพื่อชีวิต แต่ก็ไม่ใช่เสียทีเดียว ที่แน่ๆ เขาตั้งใจให้คนฟังง่าย เข้าถึงง่าย อยากส่งสารที่มีในเพลงไปให้ถึงคนฟังให้มากที่สุด

เสน่ห์ของ Go on Band อีกอย่างหนึ่ง คือเขาให้ความสำคัญกับบรรยากาศ “เพลงที่ฟังสบายๆ ถ้าให้ได้รับรส รับกลิ่น ไปด้วยจะช่วยทำให้เห็นภาพมากขึ้น” โอล่าพูดยังไม่ชัดเจน ไอซ์เติมให้เต็มอีกครั้ง “นึกถึงเสียงบรรยากาศ (Ambient sound) เราอยู่กำแพงเพชรมีแม่น้ำปิงที่ใสทั้งปี ตอนเย็นคนแถวบ้านก็ไปเดินไปนั่งดูแม่น้ำ เป็นบรรยากาศที่มีความสุข มีน้องๆ ในวงลองเอาเสียงน้ำ เสียงนก เข้ามาใส่ลงไปในดนตรี แล้วเรารู้สึกว่ามันดี!! เหมือนเราได้นำบรรยากาศกำแพงเพชรมาบอกเล่าให้คนรู้สึก”

ความรู้สึกจากการสัมผัสธรรมชาติจริงๆ อาจทำให้คนในเมืองที่ชีวิตได้ยินแต่เสียงรถรามีความสุขไปมากกว่าที่เขาคิดก็เป็นได้

“ต่อให้ศิลปินเก่งๆ ถ้าไม่มีวินัย

ไม่มีความรับผิดชอบ

อาศัยพรสวรรค์อย่างเดียว

ก็ไปข้างหน้าได้ยาก

ท็อป-ธราวุธ แคน้อย
วง Go on Band (เทนเนอร์ แซกโซโฟน)

มีความฝันเป็นเดิมพัน

พูดกันตามความเป็นจริง การที่อยู่ในจังหวัดที่ไกลเมืองหลวง เป็นธรรมดาของสังคมโดยเฉพาะเจเนอเรชันพ่อแม่ที่ไม่เข้าใจฝันของนักดนตรีรุ่นเยาว์  ไม่อยากให้ลูกเป็นนักดนตรี เพราะห่วงเรื่องปากท้องของเขาในวันข้างหน้า เป็นการหวังดีด้วยกันทุกฝ่าย แต่ช่างเหมือนนิยายที่พล็อตซ้ำๆ ได้อ่านกันมาหลายเรื่องแล้ว

แต่ถ้าลูกเขาฝันแรงกล้า…จะห้ามได้อย่างไร

“ตอนมัธยมต้นพ่อแม่ไม่ให้เล่นเลยนะ แม้แต่วงโยธวาทิตก็ไม่ได้เล่น กลัวเสียการเรียน” ท็อปเล่าเส้นทางดนตรีของตัวเอง “แต่พอขึ้น ม.4 ผมก็ดื้อเลย ลุกมาเล่นดนตรีแบบไม่ปิดบังแล้ว แต่แลกกับการต้องเรียนให้ดีด้วย พอผู้ใหญ่เห็นว่าดนตรีก็ไม่ได้ทำให้เรียนตก ผมว่าเพราะเรามีความสุขเลยเรียนดีขึ้นครับ ตอนแรกตั้งเป้าไว้ว่าอยากเป็นครูคณิตศาสตร์ ตอนจะจบ ม.6 เปลี่ยนมาเรียนดนตรีไปเลย อยากอยู่กับสิ่งที่เรารักต่อไป”

 

“เรื่อง แพ้-ชนะ ไม่ใช่สิ่งสำคัญ

เราต้องการนำเสนอความเป็นตัวเอง

การเล่นดนตรีแบบเรา เสียงเพลงแบบของเรา

โอล่า-พงษ์เทพ ศรีวะรา
วง Go on Band (กีตาร์)

 

ทางด้านโอล่าน่าจะหนักหนากว่าเพราะเขาอยู่กับแม่เพียงสองคนและคนรอบข้างมักคิดว่างานดนตรีไม่มั่นคง “ช่วงหนึ่งผมทะเลาะกับแม่หนักเลย แม่ไม่เข้าใจว่าซ้อมอะไรนักหนา เขาไม่รู้ว่าต้องใช้เวลาขนาดไหน คือ ผมเริ่มเล่นดนตรีอาชีพตั้งแต่ ม.4 มาจากลูกทุ่งเลย” แต่การทะเลาะกันก็กลายเป็นโอกาสที่ได้อธิบายทุกสิ่งให้แม่ที่ไม่เข้าใจดนตรีรู้ถึงวิถีของนักดนตรี “จากตอนนั้น ผมหารายได้ส่งตัวเองเรียนเอง เล่นดนตรีมาเป็นสิบปีแล้ว และแม่ผมก็คอยซัปพอร์ตมาตลอด”

“ผมเล่นดนตรีอาชีพอยู่แล้ว ก็จะเข้าใจบริบทว่าคนทั่วไปชอบฟังแบบไหน ถ้าเราเลือกใช้เพลงให้มันถูกที่ เล่นให้ถูกจังหวะ ก็ไม่ค่อยมีปัญหาอะไร” ไอซ์ค่อนข้างมีประสบการณ์สูงจึงผ่านเรื่องเหล่านี้มาสบายๆ แต่โลกยุคนี้ทุกอย่างช่างง่ายขึ้น เขาเหล่านี้ก็มีผลงานในโลกโซเชียลกันเป็นระยะๆ การเสียเปรียบคนในเมืองหลวงในเรื่องโอกาสก็น้อยลง คนอยู่จังหวัดไกลๆ ก็เข้าถึงทุกคนในโลกได้เท่าเทียมกัน

“ผมว่าต้องฝึกฝนไปเรื่อยๆ ต่อให้ใครมีพรสวรรค์แต่ขาดการฝึกฝน ไม่มีวินัย มันก็อยู่แค่นั้นถ้าเราหมั่นฝึกฝนเรื่อยๆ สิ่งที่เราไม่เคยทำได้ก็อาจจะทำได้ ทุกวันนี้ผมยังต้องฝึกทักษะไปเรื่อยๆ ” คือความคิดของโอล่า “ผมว่าต้องฝึกฝนตลอดชีวิต” ไอซ์สำทับ “คนเก่งมันเยอะ แต่ว่าคนเก่งที่ไม่มีความรับผิดชอบก็ทำงานร่วมกันกับคนอื่นยาก ต้องพัฒนาไปเรื่อยๆ ครับ เพราะโลกมันหมุนไปเรื่อยๆ” ท็อปก็มีแนวทางที่คล้ายกัน

คิดแบบนี้นี่เอง ถึงได้ยืนยงในเส้นทางนี้มาได้ยาวนาน

“…ต้องล้มสักกี่ครั้ง จะช้ำสักกี่หน

และแม้จะมืดมน อาจสับสนหมดหนทาง

แต่เพียงไม่นานมันจะผ่านไป…”

วงดนตรีที่เล่นดนตรีด้วยความสุข หวังจะมอบความสุขให้กับผู้ฟัง นำมิตรภาพของคนต่างวัยมาสร้างมิตรภาพใหม่กับผู้ฟัง นำบรรยากาศของบ้านเกิดที่เขารัก มาบอกเล่าให้คนอื่นๆ ได้รู้สึกแบบเขาบ้าง

 

ยอมรับในครั้งแรกที่ได้ยินบทเพลงของเขา

เรารู้สึกได้ถึงความฝันและความสุข…ที่เรียบง่าย แต่งดงาม

 

 รู้จัก Go on Band ให้มากขึ้น

• อยากจะเรียกวงดนตรีสายการศึกษา 

เพราะทุกคนมีความเชื่อมโยงกับโรงเรียนวัชรวิทยา จังหวัดกำแพงเพชร ทั้งเป็นศิษย์เก่า ศิษย์ปัจจุบัน ครูในโรงเรียน ครูฝึกสอน อดีตครูฝึกสอน และอนาคตจะมาฝึกสอนที่นี่ นำทีมโดย ครูแมน-นำพล ธินวล

• ถ้าคุ้นเสียงนักร้องนำ ไอซ์-บุญยกร เถื่อนเครือวัลย์ 

ก็แสดงว่าคุณอาจได้ดูรายการโทรทัศน์ที่เป็นการแข่งขันเงาเสียง ของ อาจารย์ไข่ วงมาลีฮวนน่า ที่ไอซ์ได้เข้าร่วมแข่งขันในครั้งนั้น  ปัจจุบันสามารถติดตามผลงานของเขาได้ ในชื่อ “ไอซ์ ไดโนเสาร์” Facebook และ YouTube

• หากอยากติดตามผลงานของ โอล่า-พงษ์เทพ  ศรีวะรา 

ลองค้นหาใน YouTube ชื่อ Olah John Official จะมีผลงานเพลงนุ่มๆ เพราะๆ ให้ได้ฟังอย่างเต็มอิ่ม

• วง Go on Band มีผลงานมาให้ติดตามได้ 

ใน Facebook/Go.on.Band.Fanpage หรือจะเซิร์จในชื่อ “วงต่อไป – Go on Band” ก็พบได้เช่นกัน

ตามติดผลงานเพลง “เส้นทางฝัน”ของวง Go on Band จากขอบเวทีTHE POWER BAND โดยเฉพาะ ได้แล้วที่ YouTube : Kingpower Thaipower พลังคนไทย

Author

ศรัณย์ เสมาทอง

Author

นักเขียนและผู้ผลิตรายการเชิงสารคดีอิสระ ชอบตะลอนเวิร์กตามที่ต่าง ๆ พร้อมเล่าเรื่องระหว่างการเดินทาง และบ่อยครั้งก็บันทึกประสบการณ์เป็นบทกวี

Author

บริษัท เอ็กเปิร์ดคิด จำกัด

Photographer

การรวมตัวของคนโปรดักชั่น ที่ยังเชื่อในพลังสร้างสรรค์ เราจึงคิดและผลิตงานศิลปะทุกรูปแบบ