Horwang Music Academy วงดนตรีจากต่างที่มา ต่างชื่อ ต่างชั้น ต่างความสามารถ แต่รวมพลังฝ่าฟันเพื่อทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่ บนเวทีการแข่งขันที่ใหญ่ยิ่ง THE POWER BAND การประกวดวงดนตรีสมัยนิยมผสมเครื่องเป่า ประจำปี 2564 จัดโดย คิง เพาเวอร์ ไทย เพาเวอร์ พลังคนไทย ร่วมกับ วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล
การแสดงที่กล้าจะแตกต่างก็ส่งให้พวกเขาทั้ง 11 คน ได้สร้างประวัติศาสตร์หน้าสำคัญของตัวเองขึ้นมา เมื่อคว้ารางวัลชมเชยรุ่นมัธยมศึกษา (Class F) มาครองได้อย่างเต็มภาคภูมิ
เส้นทางสู่ความสำเร็จของพวกเขาจะสุข สนุก หรือสมบุกสมบันขนาดไหน ขอเชิญล้อมวงมาอ่าน..ผ่านทุกตัวอักษรที่ถ่ายทอดทุกความรู้สึกจาก 4 สมาชิกของวง ใบเฟิร์น – เฌอมินทร์ พิริยาวรวงศ์ (ร้องนำ) ช่อชมพู – ขวัญชนก ฤทธิเรือง (คอรัส) เท็นเท็น – จินห์จุฑา ตันธราพรฤกษ์ (คีย์บอร์ด) และ โอ๊ค – คณพศ หว่างตระกูล (คีย์บอร์ด)
“ห้องเรียนดนตรี” จุดนัดพบของความแตกต่าง
ความรักในเสียงดนตรี สารตั้งต้นที่ทั้งวงมีเหมือนกัน
โอ๊ค ผู้สอบเข้ามาด้วยการเล่นเปียโนย้อนเล่าเรื่องราวความรักในเสียงดนตรีของตัวเองให้เราฟังก่อนใคร
“ผมชอบเล่นดนตรีตั้งแต่เด็ก ชอบจากคอนเสิร์ต ไม่สิ ไม่รู้ว่าเรียกคอนเสิร์ตดีหรือเปล่า มันเป็นเวทีที่ตอนเด็กๆ เดินผ่านทุกห้างก็จะเจอ เขาเล่นดนตรี กีตาร์ ร้องเพลง แล้วมีแสงส่อง ผมรู้สึกว่ามันเท่ รู้สึกอยากขึ้นไปอยู่บนนั้นบ้าง เวลาเขาเล่นจบผมก็ขึ้นไปบนเวที ไปเดินเล่นอยู่บนนั้น มันให้ความรู้สึกเท่ดี…ว่าคนบนเวทีเขามีความรู้สึกแบบนี้เองเหรอ
ผมไปบอกแม่ว่าผมอยากอยู่บนเวทีบ้าง แม่เลยพาไปเรียนดนตรี ตอนนั้นป. 3 ครับ ผมเริ่มเรียนกีตาร์ เปียโน และ ร้องเพลง ตอน ป. 5 ก็เหลือเรียนแค่เปียโน ตอนนั้นแม่ผมจะพาไปออดิชันละครเวทีบ่อยครั้ง แล้วที่นั่นจะมีเด็กที่เรียนเปียโนจากอีกสถาบันที่เขาเก่งมาก ผมไปบอกแม่ว่าเขาเก่งมากเลย อยากไปเรียนสถาบันนั้นบ้างแต่โรงเรียนนั้นอยู่ไกลไป ถ้าจะเรียนก็ต้องอยู่หอ แม่เลยไม่ให้ไป แต่พอดีรู้ว่าที่หอวังมีห้องที่เรียนดนตรีอยู่ แม่เลยถามว่าลองสมัครดีมั้ย แม่ให้ผมไปติววิชาวิทย์ คณิต …วิชาสามัญทั่วไป แล้วซ้อมเปียโนเอง
ตอนมาสมัครเรียน ยังไปไหว้พระด้วย แล้วพอสอบเข้าหอวังได้ แม่ผมดีใจมาก ส่วนผมได้เข้ามาเรียนห้องดนตรีก็รู้สึกว่าเข้ามาได้ทั้งทีต้องเรียนให้คุ้ม ต้องเก็บความรู้ให้คุ้มค่า ส่วนที่เลือกมันเป็นห้องเรียนเฉพาะ”
ในขณะที่ เท็นเท็น อีกหนึ่งเด็กสาวที่หลงรักในเสียงแว่วหวานของเปียโนขอเล่าบ้าง
“หนูชอบเสียงเปียโนตั้งแต่เด็ก คือพ่อกับแม่ก็ชอบพาไปหากิจกรรมให้ทำ จะได้หาว่าตัวเองชอบทำอะไร หนูมาจบที่เปียโน
ตอนแรกเรียนกับครูที่โรงเรียน เรียนไปแป๊บเดียวครูก็พาไปเข้าวงโรงเรียน หนูก็อยู่ที่วงโรงเรียนมาเรื่อยๆ ตั้งแต่ประถม จน ม.1 ย้ายโรงเรียนก็อยู่วงโรงเรียนที่ย้ายมาต่ออีก แต่หนูเพิ่งมาเล่นดนตรีจริงจังตอนม. 4 ที่มาเข้าโรงเรียนหอวังนี่ เพราะพ่ออยากให้เรียนโรงเรียนในกรุงเทพฯ มากกว่าที่ต่างจังหวัด ถ้าไปโรงเรียนอื่นก็จะเลือกเป็นวิทย์-คณิต แต่เรียนที่นี่มีห้องดนตรีที่จะทำให้หนูได้เรียนดนตรีที่ชอบ ก็เลยมาสอบโดยใช้วิชาเปียโน จนได้เรียนห้องดนตรีซึ่งก็สนุกกว่าที่คาดหวังไว้”
สำหรับสมาชิกของวงอีกคนในตำแหน่งคอรัส คือช่อชมพู เธอเป็นผู้ค้นพบความชอบของตัวเองก่อนใคร…ตั้งแต่ตอนอยู่อนุบาล
“หนูชอบร้องเพลงตั้งแต่ประมาณ 5 ขวบ ตอนนั้นเป็นวันเกิดแล้วแม่พาไปเที่ยวห้าง หนูเห็นสถาบันสอนร้องเพลงแห่งหนึ่งที่ใหญ่มาก มีเด็กวิ่งไปมา มีโปสเตอร์ดาราแปะอยู่ หนูเลยบอกแม่ว่าอยากเรียนเพราะเห็นเด็กเยอะดี พ่อกับแม่ก็ให้เรียนเป็นของขวัญวันเกิด ตอนนั้นก็ยังไม่ได้จริงจัง แต่ที่ไปบ่อยๆ เพราะได้ไปอยู่กับเพื่อนแล้วสนุกดี แต่หนูก็ได้ร้องเพลงและประกวดมาเรื่อยๆ และยังได้ลองเล่นละครเวทีด้วย ก็เลยรู้ตัวเองว่าชอบอะไรแนวนี้มาก ชอบเวลาที่ไปร้องเพลงบนเวทีแล้วคนดูสนุกไปกับเรา มันเลยเป็นความสามารถพิเศษประจำตัว
หนูเรียนม.ต้นที่หอวังอยู่แล้ว เวลามีงานก็ไปร้องเพลงด้วยกันกับใบเฟิร์น จนเขามีโครงการห้องเรียนดนตรี หนูเลยเรียนต่อม.ปลายต่อในสายนี้ และตั้งแต่เข้าห้องเรียนดนตรีมาไม่เคยรู้สึกเลยว่าตัดสินใจผิด เพราะคิดว่าถ้าเป็นสายอื่นไม่น่าจะสนุกกับการเรียนขนาดนั้น จะต้องมานั่งเครียดกับการบ้าน เรียนทางดนตรีนี่ก็มีการบ้านนะคะ แต่พอเลิกเรียนแล้วเราต้องไปเล่นดนตรี ไม่ต้องไปเรียนพิเศษวิชาการเหมือนคนอื่น ไม่ต้องไปแข่งขันด้านอื่นกับเขา แล้วก็มีเพื่อน มีรุ่นพี่ มีครูที่คุยกันในเรื่องเดียวกับที่เราชอบได้ อย่างตอนม.ต้น หนูชอบร้องเพลงมากถึงขั้นร้องในห้องเรียน เพื่อนก็บ่นว่าจะร้องอะไรนักหนา แต่พอมาเรียนอยู่ห้องนี้ ร้องเพลงก็ไม่มีคนว่า”
“ได้อยู่กับเพื่อนแล้วสนุกดี
หนูรู้ตัวเองว่าชอบเวลาที่
ไปร้องเพลงบนเวทีแล้วคนดูสนุกไปกับเรา
มันเลยเป็นความสามารถพิเศษประจำตัว”
ช่อชมพู – ขวัญชนก ฤทธิเรือง
Horwang Music Academy (คอรัส)
ระหว่างที่ตัวแทนสมาชิกวงจาก Horwang Music Academy ผลัดกันพูดคุยถึงจุดเริ่มต้นของแต่ละคนในเส้นทางดนตรี ใบเฟิร์นมาร่วมบทสนทนาพร้อมพลังเสียงที่เธอมีมาตั้งแต่ยังเล็ก
“ดนตรีสำหรับหนูมันเป็นเพื่อนคนหนึ่ง ไม่ว่าจะรู้สึกเศร้าหรือมีความสุข หรืออะไรก็ตามก็จะมีดนตรีอยู่ในทุกเหตุการณ์ แม้แต่เข้าห้องน้ำก็จะเปิดเพลงเต้นในห้องน้ำ…ร้องเพลงไปด้วย ระหว่างเดินทางไปไหนมาไหนก็เปิดเพลงฟัง
ตอนอยู่อนุบาลเวลาปิดเทอม หนูต้องไปอยู่บ้านคุณย่าบ้างคุณยายบ้าง แล้วคุณยายชอบดูละคร หนูก็ดูด้วย แล้วก็ฟังเพลงประกอบละครบ่อย เลยร้องตามแล้วก็กลายเป็นชอบร้องเพลง หนูร้องเพลงเล่นๆ แบบนั้นมาเรื่อยๆ จึงอยากเป็นนักร้อง พอม.2 เริ่มเรียนร้องเพลงจริงจังแล้ว ม.4 ก็มาสอบเข้าห้องเรียนดนตรีของหอวัง ทุกวันเรียนวิชาอื่นๆ เสร็จแล้วก็ไปซ้อมร้องเพลง นักดนตรีก็ต้องซ้อม ถ้าหยุดซ้อมคือเราเดินถอยหลัง ตัวหนูคิดอยากศึกษาการร้องเพลงคลาสสิกต่อด้วย เพราะตั้งแต่ที่มาเรียน เสียงของหนูพัฒนามากขึ้น พวกช่องเสียงยากๆ ก็ได้ฝึกและพัฒนาด้านการร้องเพลงที่ร้องอยู่ด้วย ทำให้อยากศึกษาต่อ ตั้งใจจะเรียนเกี่ยวกับ Voice Classic ต่อไปค่ะ”
“ดนตรีสำหรับหนูเป็นเพื่อนคนหนึ่ง
ไม่ว่าจะรู้สึกเศร้าหรือมีความสุข…
ก็จะมีดนตรีอยู่ในทุกเหตุการณ์”
ใบเฟิร์น – เฌอมินทร์ พิริยาวรวงศ์
Horwang Music Academy (ร้องนำ)
Suggestion
ความเหมือนที่แตกต่าง
ถ้าจะบอกว่าสมาชิกทั้ง 11 คนของ Horwang Music Academy นี้คือที่สุดของเหล่านักเรียนจากโครงการห้องเรียนดนตรีของโรงเรียนหอวังในทุกระดับชั้น ก็คงไม่ผิดความจริงไปไกลนัก เพราะวงนี้ไม่ได้เกิดขึ้นมาด้วยการชักชวนกันมาเล่นดนตรีในแบบธรรมดา แต่พวกเขาต้องแข่งขันกันตั้งแต่ออกสตาร์ทสำหรับการคัดเลือกเข้าสู่วงอย่างจริงจัง ตอนก่อนลงสนามจริงบนเวทีประกวด THE POWER BAND ก่อนใครๆ เลยทีเดียว
ใบเฟิร์น นักร้องนำยืนหนึ่งของวงขอเล่าถึงความตื่นเต้นตั้งแต่เริ่ม “ตอนที่ได้ยินว่าจะต้องมีออดิชันเพื่อเข้ามาในวง หนูก็ตื่นเต้นแล้วว่าเราจะติดมั้ยนะ”
ช่อชมพู ผู้รับหน้าที่คอรัสก็ต้องคัดตัวเช่นเดียวกัน “เอกขับร้องก็ออดิชั่นกันเอง ซึ่งปกติเราเรียนคลาสสิก แต่ต้องมาออดิชันร้องเพลงป๊อป ทุกคนก็ได้มาดูกันหน้างานเลยค่ะ ว่าแต่ละคนขนาดไหน”
ส่วนโอ๊คมือคีย์บอร์ด ผู้ครองตำแหน่งสมาชิกที่อายุน้อยที่สุดในวง อายุน้อยขนาดที่ว่ายังมาพร้อมคำนำหน้าว่าเด็กชายอยู่ เลยอาจดูจะงงกว่าพี่ๆ เขา “ตอนนั้นผมลืมว่าจะมีออดิชันวันไหน มารู้อีกทีถึงวันแล้วแต่ผมอยากเข้าวงมาก คืนนั้นก็ซ้อมเพลง แล้วไปออดิชันวันรุ่งขึ้นเลย”
เช่นเดียวกับ เท็นเท็น อีกหนึ่ง “เด็กคีย์บอร์ด” ของวง ก็มีเวลาเตรียมตัวไม่มากไปกว่ากัน “หนูตื่นเต้นมากค่ะ เพราะก่อนจะสมัครหนูเหลือเวลาอยู่ แค่3 วัน แล้วอยู่หอหนูไม่มีเปียโน…ไม่มีคีย์บอร์ด เลยต้องนั่งแกะเพลงที่เป็นโจทย์ในการประกวดที่ครูให้มาด้วยแอปในโทรศัพท์ นั่งแกะอย่างนั้นอยู่ตลอด 3 วันเลยค่ะ”
เรียกว่าได้เป็นการออดิชันอย่างรีบเร่ง รวมวงอย่างเร่งรีบ เพื่อทำเพลงและส่งคลิปเข้าประกวด THE POWER BAND ก่อนที่ทั้งวงจะต้องหยุดยาวเพราะติดโควิด…คือติดจริงๆ ที่ไม่ใช่ติดขัดกับสถานการณ์การโรคระบาด แต่ทั้งวงติดโควิดกันเกือบยกวงถึง 8 คน!
สิ่งที่พวกเขาทำได้ในเวลานั้นจึงเป็นต่างคนต่างซ้อม กับประชุมทางออนไลน์ ก่อนจะได้รวมตัวกันแบบตัวเป็นๆ เพื่อซ้อมก่อนขึ้นแสดงในรอบรองชนะเลิศ ก็เหลือเวลาแค่ 3 วัน ซ้ำยังติดขัดสิ่งต่างๆ อีกหลายอย่างจนทำให้การซ้อมรวมจริงมีเวลาเพียง 2-3 ชั่วโมงในแต่ละวันเท่านั้น แต่ถึงจะเป็นอย่างนั้นทุกคนก็รวมพลังกายพลังใจสู้อย่างเต็มที่
โอ๊คย้อนไปถึงวันที่เกือบถอดใจให้เราฟัง “ตอนนั้นรู้สึกสิ้นหวังครับ ในใจคิดว่า คงมาได้เท่านี้สินะ ที่คิดแบบนี้เพราะเราซ้อมกันน้อยจริงๆ ถึงจะกลับไปซ้อมที่บ้านกันเอง ต่อให้เราทำให้ดีที่สุดก็รู้สึกสิ้นหวังแล้วครับ (หัวเราะ)
แต่พอแข่งเสร็จรู้สึกดีมากครับ โล่ง ที่ทำมาทั้งหมด ได้ปลดปล่อยในเวทีนี้แล้ว และกลับรู้สึกมีหวังครับ จนพอเราได้รางวัล ผมไม่รู้จะรู้สึกยังไง คือดีใจ…แต่ไม่รู้จะรู้สึกยังไง (หัวเราะ) สมองโล่ง”
เรื่องรางวัลที่ได้รับเท็นเท็นกลับคิดต่างออกไป “หนูไม่เคยคาดหวังว่าจะแข่งแล้วได้ต้องชนะรางวัลอะไร แค่อยากเข้าแข่งขันมากกว่า เลยไม่ได้กดดันอะไร”
ในขณะที่ใบเฟิร์นเองก็นับถอยหลังรอวินาทีที่ได้ขึ้นโชว์บนเวทีอีกครั้ง “หนูตื่นเต้นจนนอนไม่หลับเลยค่ะ เพราะไม่เคยประกวดแบบรูปแบบใหม่อย่างนี้มาก่อน และหนูก็ไม่ได้ขึ้นเวทีมานานเป็นปีแล้ว ตอนอยู่บนเวทีก็ตื่นเต้นมาก เห็นทีมงานก็ตื่นเต้นแล้ว แต่เราก็ทำเต็มที่สุดแล้วและมีความสุขกับผลงานของวง
ตอนที่ติด 10 วงสุดท้าย ก็ดีใจแล้ว ในใจคิดว่า…ว้าว เราติดด้วยแหละ แต่พอผลการแข่งขันออกมา คือเกินคาดค่ะ เพราะคนเก่งๆ ที่มาประกวดก็มีเยอะเลย”
เรื่องนี้ช่อชมพูยังแอบเซอร์ไพรส์กับผลงานของตัวเองที่ได้ร่วมสร้างไว้กับวง “ตอนที่ประกาศผล หนูหันไปคุยเล่นกันอยู่กับเพื่อนๆ พอเขาประกาศชื่อหอวัง หนูหันไปถามเพื่อนว่าเขาเรียกเราทำไม เพราะไม่คิดว่าพวกเราจะได้รางวัล จากนั้นก็แบลงค์ๆ งงๆ ไปเลย แต่ก็ดีใจค่ะ”
“วงนี้คือครอบครัว คือพี่น้อง
ผมไม่อยากให้พี่ม. 6 ทุกคนเรียนจบเลย
อยากจะเล่นและร้องเพลงไปด้วยกันต่อ
ตอนนี้เราผูกพันกันมาก”
โอ๊ค – คณพศ หว่างตระกูล
Horwang Music Academy (คีย์บอร์ด)
“พวกเราไม่ได้แตกต่างแค่แนวเพลงที่ชอบ
เรามีนิสัยแตกต่างกันในแบบที่ไม่น่าเข้ากันได้
แต่ก็มารวมกันได้ สมาชิกในวง
กลายเป็นเหมือนเพื่อนร่วมชะตา และหนูมีความสุข”
เท็นเท็น – จินห์จุฑา ตันธราพรฤกษ์
Horwang Music Academy (คีย์บอร์ด)
Suggestion
จับความแตกต่างมาผสมอย่างกลมกล่อม
ใบเฟิร์นเป็นคนเฉลย…เผยสูตรพิเศษสู่ความสำเร็จเอาไว้ว่า “พวกเรามีความแตกต่างกันหมดเลย แตกต่างทั้งแนวเพลงที่แต่ละคนชอบ อย่างโอ๊คก็สายแจ๊ส เพื่อนอีกหลายคนมาจากสายคลาสสิก บางคนก็ป็อป เหมือนจับมายำๆ กัน และพวกเราแต่ละคนก็ไม่ได้ชอบอะไรอย่างเดียว หนูเองถึงแม้จะอยากเรียนรู้เรื่องคลาสสิกแต่ก็ชอบดนตรีป็อปมากกว่า ส่วนตัวหนูเป็นนักร้องก็แฮปปี้หมด หนูมีความสุขที่ได้ร้องเพลง”
สำหรับเท็นเท็นเองก็มีช่วงเวลาที่ดีร่วมกับเพื่อนๆ ในวง “เพลงที่พวกเราทำเพื่อเข้าประกวด เราก็อาจจะไม่ได้ชอบแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่พอมาซ้อมรวมกันมันก็มีปรับๆ เข้ามา ใส่นู่นใส่นี่เติมเข้ามาก็ดีขึ้น แล้วพวกเราก็ไม่ได้แตกต่างแค่แนวเพลงที่ชอบ คือถึงทุกคนจะรู้จักกันอยู่แล้วก่อนจะมารวมวง เคยเล่นดนตรีกันบ้าง แต่เรามีนิสัยแตกต่างกันในแบบที่ไม่น่าเข้ากันได้ แต่ก็มารวมกันได้ สมาชิกในวงกลายเป็นเหมือนเพื่อนร่วมชะตา พอมารวมกันก็เหมือนได้มาอยู่ด้วยกัน และหนูมีความสุข”
อย่างไรก็ดีช่อชมพูเองก็คิดว่าอีกสิ่งสำคัญในการมาเล่นดนตรีที่เธอรัก คือการได้ถักทอสายใยแห่งมิตรภาพร่วมกับเพื่อนๆ ในวง “ตอนแรกหนูไม่ค่อยสนิทกับคนอื่นเท่าไหร่ เพราะหนูมาจาก ‘เอก Voice’ แต่พอมาอยู่ในวงนี้เราก็ได้คุยกับคนอื่น กับเพื่อนที่เรียนเครื่อง(ดนตรี)อื่นมากขึ้น ได้คุยกับคนที่ไม่ค่อยได้คุย หรือได้เรียนรู้จากคุณครูที่ไม่เคยได้เรียนด้วย กลายเป็นหนูมีความรู้สึกว่าอยากไป…อยากไปเจอเพื่อน อยู่บ้านแล้วเหงา ไม่รู้จะทำอะไร ไปเจอทุกคนดีกว่า เหมือนเราได้มิตรภาพที่น่ารัก เรายังผ่านจุดที่ติดโควิดด้วยกันมาแล้ว ถ้าจบออกไป วงนี้ก็จะเป็นวงในความทรงจำ”
แนวคิดการประกวดวงดนตรีสมัยนิยมผสมเครื่องเป่าที่จัดแข่งขันเป็นปีแรก ยังสร้างความ “ใหม่” ในหลายแง่มุมให้ผู้เข้าแข่งขันได้เป็นอย่างดี
ใบเฟิร์นก็เป็นคนหนึ่งที่รู้สึกอย่างนั้น “สำหรับหนู หนูได้ประสบการณ์และแนวเพลงใหม่ๆ หนูไม่เคยเล่นในวงที่ผสมเครื่องเป่ามาก่อนเลย พอได้มาอยู่เลยรู้ว่า เขาเล่นกันแบบนี้ รู้สึกว่าเพลงมัน full ขึ้นมากเลย และได้ประสบการณ์ในการทำงานกับเพื่อนคนอื่นๆ อย่างเช่น เพื่อนกลุ่มที่เป็นนักดนตรีเครื่องเป่า และหนูก็มีความสุขกับการที่ได้เล่นกับเพื่อนวงนี้ หลังจากที่ไปแสดงบนเวที่ THE POWER BAND มา แอบน้ำตาซึมอยู่ ไม่รู้ว่าจะได้เล่นด้วยกันอีกหรือเปล่า”
เท็นเท็นเองก็รักช่วงเวลาดีๆ แบบนี้ไม่น้อยไปกว่ากัน “หนูรู้สึกคล้ายๆ ช่อ คือนี่จะเป็นวงที่อยู่ในใจไปตลอดกาล เพราะรู้สึกว่าเราเดินทางมาด้วยกัน ผ่านความเกือบตายมาด้วยกัน ผ่านโควิดมาด้วยกัน โดนกดดัน ก็ผ่านด้วยกันมาแล้ว”
ส่วนโอ๊คที่ถึงแม้จะงงไปหลายเรื่อง แต่กับความรู้สึกที่มีต่อทุกคนในวงของเขากลับชัดเจน “วงนี้คือครอบครัว คือพี่น้อง ผมไม่อยากให้พี่ใบเฟิร์นจบม. 6 ไปเลย ไม่อยากให้พี่ม. 6 ทุกคนเรียนจบเลย อยากจะเล่นและร้องเพลงไปด้วยกันต่อ ตอนนี้เราผูกพันกันมาก”
ก่อนที่ช่อชมพูจะให้คำตอบที่ทุกคนคิดอยู่ในใจเหมือนกัน “การที่ได้ไปแข่งต่อด้วยกันก็โอเคแล้ว เราแค่อยากกลับมาซ้อมเหมือนปกติ อาจจะซ้อมหลังเลิกเรียนหรือซ้อมช่วงเสาร์อาทิตย์ก็ได้ แล้วก็นัดกันไปแข่ง ได้แข่ง…ได้อยู่ด้วยกันมันก็มีความสุขดี”
เราได้ฟังเรื่องราวความสุข และความผูกพันทางดนตรีของพวกเขาแล้ว มั่นใจว่าหลังจากนี้จะยังมีอีกหลายเวทีที่รอให้ Horwang Music Academy ได้ขึ้นไปรวมพลังแห่งความต่าง แล้วส่งเป็นคลื่นพลังแห่งความสุขไปยังผู้ชมและผู้ฟังทุกคนอย่างแน่นอน
หลังเวทียังมีเรื่องราว “หลังไมค์”
ของพวกเขาให้เราอ่านต่อ
• เรื่องตื่นเต้นสุดก่อนเข้าแข่งของพวกเขาคือ…
ด่านตรวจ ATK ของงาน เพราะทั้งวงและครูผู้คุมวงเคยติดโควิดรวมกันแล้วทั้งหมด 11 คน เลยลุ้นกันสุดตัวว่าอย่าได้มีใครมีผลตรวจเป็นบวกเลย ไม่อย่างนั้นได้ยกวงกลับบ้าน
• คติประจำวงคือ…
“ลื่นไหลดั่งสายน้ำ” เพลงที่ทุกคนอิมโพรไวส์ จะออกมาดีเสมอ แล้วก็เล่นไม่เคยซ้ำ เพราะจำโน้ตไม่ได้ (ฮา)
• ศิลปินในดวงใจของพวกเขาคือ…
อิ้งค์ วรันธร ที่พวกเขาตกหลุมรักในเสียงดนตรีอันสดใสและเสน่ห์ของเครื่องดนตรีที่เต็มเปี่ยมด้วยสีสันอย่างซินธิไซเซอร์
• โจทย์ยากที่พวกเขาเจอคือ…
เพลง ต้องมีสักครั้ง ของศิลปิน ETC เป็นโจทย์ยากที่ใช้เป็นเพลงออดิชันเพื่อเข้าเป็นสมาชิก Horwang Music Academy
ขอชวนทุกคนไปจุดประกายความสดใส กับการแสดงที่กล้าจะไม่เหมือนใครของ
Horwang Music Academy ได้ที่