วง 1 Day เกิดจากการรวมตัวของเพื่อนๆ ที่เรียนในสาขาวิชาเดียวกัน นั่นก็คือ คณะครุศาสตร์ สาขาวิชาดนตรีศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ทุกคนอยากใช้ทักษะทางด้านดนตรีของตัวเองและเพื่อนร่วมสาขาที่มีอยู่ มาร่วมกันทำตามความฝัน และลองทำอะไรใหม่ๆ ด้วยกัน เพราะมีความรักในการเล่นดนตรีเหมือนกัน
จนวันหนึ่งได้เห็นประกาศรับสมัครของการประกวด THE POWER BAND 2022 SEASON 2 จัดโดยวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ คิง เพาเวอร์ ไทย เพาเวอร์ พลังคนไทย ซึ่งมาเปิดสนามภูมิภาคกันถึงที่ “บ้านเรา” ทุกคนจึงอยากมาลงแข่งในสนามที่ท้าทายนี้ดูสักครั้ง และมองว่านี่คือหนทางที่จะเดินทางเข้าใกล้ความฝันไปอีกก้าวหนึ่ง แต่กว่าที่จะได้เข้าร่วมการประกวดครั้งนี้สำหรับวง 1 Day แล้ว พวกเขาต้องผ่านด่านอุปสรรคไม่ใช่น้อยเลย
กล้าฝัน กล้าทำ
ในช่วงเวลาที่จะต้องส่งคลิปเพื่อเข้าคัดเลือกนั้น เป็นช่วงที่ต้องสอบกลางภาค เป็นช่วงที่มีงานและภาระทางด้านการเรียนที่หนักหนาของทุกคน ทำให้แทบไม่มีเวลาซ้อมเลย จนเกือบจะพลาดส่งคลิปเพื่อเข้าประกวดแล้ว ที่สุดแล้วทุกคนก็ร่วมแรงร่วมใจกัน เพราะอยากทำตามความฝัน และมองว่าการจะทำงานนี้ให้สำเร็จได้ ต้องใช้ความกล้าหาญมาก
“นิยามคำว่ากล้าฝัน กล้าทำของวงเรา ก็คงจะเป็นในเรื่องของเวลา ทั้งๆ ที่รู้ว่าตอนนั้นพวกเราไม่ค่อยมีเวลาที่จะทำ แต่เราก็กล้าที่จะฝัน กล้าที่จะลอง กล้าที่จะลงมือทำ เพราะคิดว่าลองทำไปดีกว่าที่จะกลับมานั่งเสียใจและเสียดายทีหลังว่า ทำไมวันนั้นเราไม่ทำ”
และอีกหนึ่งปัญหาใหญ่ที่ทางวงต้องประสบก่อนการประกวดครั้งนี้ก็คือ นักร้องนำมีปัญหาจนต้องถอนตัวออกจากวงก่อนที่จะถึงเวลาอัดคลิปเพียง 1 วัน ทำให้วงต้องควานหาตัวนักร้องคนใหม่ในเวลาเพียงวันเดียวที่เหลืออยู่ เอ๊ะ นั่นเป็นที่มาของชื่อวงหรือเปล่านะ ทำให้เราอดสงสัยอยู่ในใจไม่ได้
เจอความฝันตั้งแต่ยังเด็ก
เรามีโอกาสได้คุยกับสมาชิกบางส่วนของ 1 Day …ป้าง – ณัฐดนัย องค์ชัย (แซกโซโฟน)
บุ๊ค – ขวัญชัย ชาน (คีย์บอร์ด) ฟิล์ม – สุกิจ แซ่ลี (ทรอมโบน) นัท – อรรถพล ลบทอง
(เพอร์คัชชัน) และแนท – ชาลิสา เครือมาส (เบส) จากวงใหญ่ทั้งหมดที่มีสมาชิก 10 คน ทุกคนพูดเหมือนกันว่าการเล่นดนตรีนั้นเป็นความฝันมาตั้งแต่เด็ก แต่ละคนรู้ตัวว่าชอบและอยากเรียนด้านดนตรีกันมาตั้งแต่เด็กๆ แล้ว จึงตัดสินใจเรียนสาขาดนตรีอย่างจริงจังในระดับอุดมศึกษา และหลายคนก็มีโอกาสได้ร่วมวงดุริยางค์ วงโยธวาทิตของโรงเรียนมาตั้งแต่เด็ก
ป้าง แซกโซโฟนหนึ่งเดียวของวงเริ่มต้นเล่าให้เราฟัง “ผมรู้ตัวว่าชอบดนตรีมาตั้งแต่ประถม เพราะได้เข้าวงดุริยางค์ พอขึ้นมัธยมก็มาสมัครวงโยธวาทิต และรู้ว่าชอบด้านดนตรีที่สุดในศาสตร์ทั้งหมด หลังจากนั้นก็มุ่งมั่นมาตลอดว่าอยากเป็นครูดนตรี”
“เริ่มตั้งแต่อนุบาลเลยค่ะ ไม่ค่อยชอบทำกิจกรรมอะไรเลย กีฬาก็ไม่ชอบ วาดรูปก็ทำได้ไม่ดี เวลาที่มีงานโรงเรียนก็อยากจะช่วย แต่ก็ไม่เก่งอะไรเลยสักอย่าง แต่พอมาเริ่มเล่นดนตรี ได้เข้าวงดุริยางค์ก็รู้สึกว่าตัวเองมีตัวตนขึ้นมา รู้สึกว่าได้ช่วยโรงเรียน พอขึ้นมัธยมก็เข้าวงโยธวาทิต และเล่นดนตรีมาเรื่อยๆ ค่ะ” แนท มือเบสสาวของวงเสริมด้วยที่มาของความชอบดนตรีของตัวเองบ้าง ในขณะที่สมาชิกบางคนอย่าง ฟิล์ม ตำแหน่งทรอมโบนก็เริ่มเล่นเพราะเพื่อนชวน “เพื่อนผมชวนให้มาเล่นดนตรีด้วยกัน ตอนแรกผมก็ไม่ได้ชอบ แต่ว่าพอเราฝึกจนพอเล่นได้แล้วความชอบก็เพิ่มขึ้น เพราะจะมีเพลงใหม่ๆ ให้เราได้เล่นเรื่อยๆ การเล่นดนตรีมันเลยสนุกขึ้น”
“สำหรับใครที่ยังไม่รู้ว่าตัวเองชอบอะไร อยากให้ลองมาเล่นดนตรีดู
อาจจะเป็นทางออกที่ดีสำหรับการค้นหาตัวเอง
เราอาจจะมีความสามารถทางด้านดนตรี แต่ยังไม่เคยได้ลอง
อย่าไปรอ ถ้าสนใจ ถ้าเป็นสิ่งที่เราชอบ ลงมือทำเลย ถ้าเจอก็ดี ไม่เจอก็แค่เปลี่ยน”
วง 1 Day (เชียงใหม่)
1 ใน 3 วงผู้ผ่านเข้ารอบ Final (Class B) จากสนามเชียงใหม่
Suggestion
ก้าวไปข้างหน้าพร้อมๆ กัน
ถึงแม้ว่าสมาชิกทุกคนจะเรียนสาขาดนตรีศึกษาเหมือนกัน แต่ก็มีทักษะและความถนัดในการเล่นเครื่องดนตรีไปคนละอย่าง เวลาที่ทำวงหรือทำเพลงกันก็จะช่วยๆ กันเสริมในส่วนที่ตัวเองถนัด ประชุมแลกเปลี่ยน และช่วยกันให้เพลงและการแสดงออกมาดีที่สุดในทุกเวที
“ตอนแรกใครเล่นอะไรได้ก็มาเล่นเครื่องดนตรีนั้น เพื่อให้เราได้มีประสบการณ์มากขึ้น จากนั้นก็มาพูดคุย เลือกเพลง วางรูปแบบเพลง และทำเพลงด้วยกัน เราอยากให้วงของเราแตกต่างจากวงอื่น ก็เลยใส่เครื่องเป่าเข้ามาเสริม เพราะว่าวงอื่นอาจจะไม่มี” นั่นคือการเตรียมตัวขั้นแรกสำหรับการลงสนามประกวดในครั้งนี้
แต่ปกติเวลาที่วง 1 Day ทำเพลงเพื่อเข้าประกวดหรือซ้อมดนตรีทุกคนก็จะช่วยกัน “ทุกคนจะเวียนหน้าที่กันทำไปเรื่อยๆ เช่น เลือกเพลงมาแล้วก็นั่งฟังด้วยกัน ช่วยกันลงความเห็นว่าเราควรทำแบบไหน ได้แรงบันดาลใจจากเพลงไหน คุยและออกแบบเพลงด้วยกัน ไม่ได้แบ่งหน้าที่ชัดเจนว่าใครทำตำแหน่งไหน”
และไม่ใช่แค่เรื่องของดนตรีเท่านั้นที่สมาชิกทุกคนในวงต่างคอยช่วยเหลือกัน แต่ยังมีเรื่องเรียนอีกด้วย “เรื่องการเรียนพวกเราก็ช่วยๆ กัน ช่วยกันเรียนจะได้แบ่งเบาภาระตรงนี้ไป” เพื่อให้ทุกคนมีเวลามาทำในสิ่งที่รักด้วยกันได้ ให้สมกับเป็นการ Work hard, Play hard ทำเต็มที่ในทุกอย่าง และใช้ชีวิตให้คุ้มในช่วงวัยรุ่น วัยแห่งพลังและการเรียนรู้
มากกว่ารางวัลคือประสบการณ์
วง 1 Day เป็นอีกวงหนึ่งที่เดินสายประกวดมาไม่น้อย แต่สิ่งที่ทางวงคาดหวังทุกครั้งอาจไม่ใช่ตำแหน่งหรือรางวัลการันตี แต่เป็นคำแนะนำหรือคำติชมจากคณะกรรมการผู้มีประสบการณ์มากกว่า เพราะนั่นคือสิ่งล้ำค่าที่หาไม่ได้ง่ายนัก
“ในวันแข่งเราไม่ได้คาดหวังมากไปกว่าความรู้จากคณะกรรมการมากกว่า ชอบที่ได้รับความรู้จากกรรมการ ซึ่งสิ่งที่กรรมการคอมเมนต์ นั่นคือเรื่องจริง กรรมการเขามีประสบการณ์มาก และเขารู้ว่าเราซ้อมน้อยเพราะเราเพิ่งสอบกลางภาคกันมาและยังมีงานของมหาวิทยาลัยอีก เลยไม่ค่อยมีเวลาซ้อม แต่ก็ดีใจที่กรรมการไม่ได้ติพวกเราเรื่องการเล่นดนตรี ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี”
ไม่เพียงแต่หวังจะพัฒนาตัวเอง แต่พวกเขายังคงมีอีกหนึ่งความคาดหวังคือประสบการณ์ที่วงมีร่วมกันเป็นหนึ่งเดียว “ผมหวังให้เพื่อนๆ ขึ้นมาเล่นบนเวทีแล้วมีความสุขด้วยกัน เพราะเราได้ทำอะไรใหม่ๆ อยากให้ทุกคนมีความสุข ไม่ต้องมาเครียดว่าเล่นผิดเล่นถูก ให้มองว่ามันเป็นประสบการณ์ที่ผ่านเข้ามาที่จะทำให้เราพัฒนาขึ้น และอยากให้คนดูเห็นว่าวงเราเป็นเด็กนักศึกษากลุ่มหนึ่งที่อยากเล่นดนตรีและมีความสุข รวมถึงทำให้ทุกคนมีความสุขด้วยวิธีการของเรา ด้วยการเล่นดนตรีในแนวของเรา ให้คนฟังมีความสุขไปกับเรา”
ส่งต่อความฝันไปยังอนาคต
สมาชิกในวงนอกจากจะรักดนตรี เรียนดนตรีเหมือนกันแล้ว ทุกคนก็ยังมีความฝันและความมุ่งหวังในอนาคตที่เหมือนกันอีกด้วย นั่นก็คือการเป็นครูดนตรี เพื่อที่จะได้สอนให้เด็กรุ่นต่อไปได้รู้จัก ได้เรียน และได้รักดนตรีเหมือนอย่างที่พวกเขาเป็นในวันนี้
“ที่พวกเรามาเรียนดนตรีเพราะชอบการเล่นดนตรีและอยากเป็นครูสอนเด็กๆ ให้เรียนและรักดนตรีเหมือนอย่างที่เราเป็น” นัทบอกกับเราแบบนั้นเกี่ยวกับมุมมองในการมาประกวดของเธอ ในขณะที่ป้างก็เช่นกัน “ในอนาคตผมอยากรับราชการเป็นครูดนตรี และทำงานดนตรีควบคู่ไปด้วย หรือปั้นวงเด็กๆ ส่งประกวดให้เขาได้ทำตามความฝันของตัวเอง”
แนทและฟิล์มก็ไม่ต่างกัน นี่เป็นการส่งต่อความฝันจากเด็กวัยรุ่นปัจจุบันสู่คนรุ่นใหม่ในอนาคต
“หนูเดินสายประกวดมาตั้งแต่มัธยม รู้สึกว่ามันสนุก หนูเลยอยากเป็นครูและมาสนุกไปกับเด็กๆ ที่เราสอน และพาเขาไปแข่งขันเหมือนที่เราเคยแข่งมา”
“ผมก็อยากเป็นครู อยากสอนให้เด็กได้เล่นดนตรีเหมือนเรา” ทั้งคู่ช่วยกันเล่าถึงประสบการณ์จากเวทีการประกวดดนตรีที่พวกเขาได้รับ
และสิ่งที่วง 1 Day อยากบอกกับทุกคนที่มีความฝัน ความสนใจและรักทางด้านดนตรีว่า “ถ้าชอบดนตรีก็เริ่มได้เลย เพราะดนตรีมันไม่มีคำว่าเดี๋ยวก่อนหรือเดี๋ยวค่อยทำ อายุขนาดไหนก็เล่นได้ เพราะดนตรีมีแพลตฟอร์มที่เหมือนเดิม อีกร้อยปีก็ไม่ได้แตกต่างไปจากนี้”