“อยากเป็นนักใช่ไหม…นักดนตรีเนี่ย”
ไม่แน่ใจว่าใครเป็นคนเอ่ยประโยคนี้ แต่มันดึงผมให้หลุดจากความเพลิดเพลินในการฟังบทสนทนาแสนเฮฮาแต่จริงจังในทีของกรรมการภาคสนาม THE POWER BAND 2022 ทั้งสามท่าน…หลังการตัดสินครบทุกสนามทั่วประเทศ
ก่อนบทสนทนาจะเกิดขึ้น ในห้องนี้เพิ่งมีบรรยากาศของการถกกันอย่างละเอียดเข้มข้นของกรรมการและผู้จัด ถึงผลตัดสินสำหรับสนามสุดท้ายว่าวงไหนได้ผ่านไปต่อที่รอบ Final
ผมเพิ่งเกิดคำถามใหม่ในใจว่าทำไม…ความอยากเป็นนักดนตรี…มักผุดขึ้นในชีวิตวัยรุ่นมาทุกยุคสมัย
“จริงๆ แพสชันที่ชัดเจนของวงผม คือ โชว์สาวฮะ” เป้ – ไพสิฐ คำกลั่น หรือ Pae-Sax วง Mild ที่ตอนนี้ก้าวมาเป็นศิลปินและโพรดิวเซอร์ ค่าย Melodic Corner เล่าอย่างร่าเริงแบบที่เคยเป็น “สมัยมัธยมเราก็ต้องการเป็น someone ที่คนเขาพูดถึง ไอ้นี่นักร้องนำวงนี้ไง มือกีตาร์วงนี้ไง ไอ้เป้แซกไง ผมเริ่มจากอยากให้เป็นที่สนใจของสาวๆ”
แล้วสำเร็จไหมครับ
“สำเร็จครับ สำเร็จมาก”
ด้าน ติ๊ก – กฤษติกร พรสาธิต นักร้องวง Playground และผู้บริหารค่ายเพลง Home Run Music ตอบคำถามว่าเห็น “ติ๊ก Playground” ในหมู่เด็กที่เข้าแข่งขันบ้างไหม “เห็นครับ แต่อยู่ในวงที่ตกรอบ” เรียกเสียงฮาได้ไม่แพ้กัน “เพราะผมแข่งอะไรก็ตกรอบมาอย่างสม่ำเสมอ แต่ชอบประสบการณ์นะ คือไม่ว่าจะแพ้หรือชนะมันมีถ้วยรางวัลในแบบของมัน ชนะก็ได้รางวัล มีคนมองเห็น ได้ดีใจในวันนั้น คนไม่ชนะก็ได้บทเรียนที่จะเป็นแรงผลักดันในวันพรุ่งนี้ มะรืนนี้ เผลอๆ คนที่ชนะในวันนี้อาจจะเป็นกระต่ายก็ได้…ชนะแล้วเหลิง”
“วัยมัธยมมักอยากรู้อยากเห็น Passion ข้างในสูง บางคนก็มีไอดอล อยากเป็นแบบคนนั้นคนนี้ พยายามฝึกให้ได้” อาจารย์วิโรจน์ สถาปนาวัตร หรือ J-PAP มือเบสวง Infinity และเป็นอาจารย์พิเศษ คณะดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล สาขาดนตรีสมัยนิยม วิเคราะห์จากประสบการณ์
“พอด้วยอายุมากขึ้นเขาอาจจะเริ่มค้นหาตัวตน ซึ่งอาจจะเปลี่ยนไปในทางอื่น บางคนมีไอดอลเป็นเป้าหมาย แต่ยิ่งเดินเข้าใกล้ยิ่งรู้ว่า มันไม่ควรจะมีเราเป็นแบบไอดอลคนที่สอง คือเราก็ควรเลือกทางเดินของเราเอง ผมมีเพื่อนที่เล่นดนตรีเก่งมาก แต่เขาเลือกที่จะเป็นหมอ เขาเจอแพสชันของเขาว่า…ฉันจะรักษาคน ทุกวันนี้เพื่อนคนนั้นเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลแล้ว แต่ก็ยังไปซ้อมดนตรีอยู่นะ”
“มือเบสสมัยมัธยมวงผมก็เป็นหมออยู่เหมือนกัน หมอสูติฯ ด้วย แพสชันล้วนๆ” จบประโยคของคุณติ๊ก เสียงหัวเราะก็ดังลั่นห้องขึ้นอีกครั้ง
พลังเด็กไทย…ไม่ธรรมดา
การคัดเลือกวงดนตรีในปีนี้แบ่งการแข่งขันเป็น 5 สนาม กระจายไปทั่วประเทศ โดยกรรมการทั้งสามได้เดินทางไปพบกับนักดนตรีรุ่นใหม่กันถ้วนหน้า เราก็อดไม่ได้ที่จะถามถึงว่าเด็กไทยวันนี้เป็นอย่างไรกันบ้าง
“บอกตามตรงว่า ว้าววววมากนะ ตั้งแต่วงแรกที่ขึ้นเล่นในเวทีจังหวัดขอนแก่น เหมือนว่าช่วงโควิดเขาคงอัดอั้นน่ะ พอมีโอกาสได้ขึ้นเวทีก็เอาใหญ่เลย” อาจารย์วิโรจน์บอก “อาจเป็นเพราะเทคโนโลยีมันก้าวหน้า การเข้าถึงทรัพยากรต่างๆ ง่ายขึ้น สมัยเราเราต้องแกะเพลงเองด้วยความยากลำบาก จากแผ่นเสียงมาเป็นเทป จนเดี๋ยวนี้มันมาเป็นไฟล์ พอการเข้าถึงเพลงมันง่าย ทักษะและความสามารถก็เพิ่มขึ้น”
คุณติ๊กก็ชื่นชมไปถึงอาจารย์ที่ปรึกษาของวงดนตรีด้วย ว่ามีการจัดการวงที่เป็นระเบียบมากขึ้น ส่งผลให้มาตรฐานการเล่นดีขึ้น “มันดีขึ้นทุกหย่อมหญ้านะ ตอนแรกผมคิดว่าจะรวมหัวกะทิอยู่ตามจังหวัดที่เป็นหัวเมืองของแต่ละภาค แต่กลายเป็นว่ามีทักษะมีมาตรฐานดีแทบทุกจังหวัดเลย”
“ผมมองหาคนที่เสียสละและให้เวลากับดนตรี
เด็กที่มีแพสชัน อยากเป็นนักดนตรีในอนาคต
เชื่อไหมว่าเจอหลายคนเลยนะ”
ไพสิฐ คำกลั่น
ศิลปินและโพรดิวเซอร์ ค่าย Melodic Corner
“สิ่งที่ผมว้าวกว่าในเรื่องฝีมือ คือคนยังให้ความสำคัญกับการแข่งขันอยู่” เพราะในมุมของคุณเป้เขาไม่เชื่อว่าเด็กจะยังให้ความสำคัญกับการแข่งขัน “ถ้ายุคผมอาจต้องลงแข่งเพื่อให้คนได้เห็นฝีมือของเรา แต่ยุคนี้ แค่น้องๆ เล่นดนตรีลง TikTok คนก็เห็นแล้ว นี่คนมาร่วมประกวดเยอะจนแปลกใจ”
ต้องยอมรับว่าดนตรีไม่ใช่เพียงเสียงและคำที่มีความหมายตามตัวอักษรเท่านั้น แต่ยังมีการสื่อสารอารมณ์และความรู้สึกจากนักดนตรีส่งมาปะทะคนฟัง ซึ่งคนฟังจะตีความได้อย่างไรก็ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ชีวิตที่เขาได้เคยสัมผัสมา
“เหมือนหนังเรื่องหนึ่ง หลายคนดูก็รู้สึกต่างกัน ยอมรับเลยว่าแววตาของน้องหลายวงทำให้ผมรู้สึกว่า เฮ้ย…ผมจำแววตาแบบนี้ได้ มันคือแววตาของเรานี่ล่ะ หรือแววตาของเพื่อนเราหรือเพื่อนวงข้างๆ ที่เคยผ่านช่วงเวลาที่สนุกแบบนั้นมาก่อน” แววตาของคุณติ๊กระหว่างที่พูดเหมือนย้อนไปถึงความทรงจำสมัยก่อนมีวง Playground
Suggestion
มองหาอะไรใน New Gen
ถ้าถามในฐานะคนที่ต้องถือแว่นขยายส่องหาหน้าใหม่ในวงการ บรรดากรรมการจะมองที่จุดไหน “ผมมองหาคนที่เสียสละและให้เวลากับดนตรี” คุณเป้ตอบทันควัน “อยากเจอคนที่ให้ค่ากับดนตรีเหมือนกับที่ผมทำ เด็กที่สามารถ take time กับการซ้อม การฝึก การอยู่ร่วมกันในแบนด์ ผมมองหาคนที่มีแพสชันอยากเล่นดนตรี อยากเรียนดนตรี อยากเป็นนักดนตรีในอนาคต ผมมักจะบอกเลยว่า…เฮ้ย…น้องไปเรียนดนตรีนะ ไปเอาปริญญามาให้ได้ เชื่อไหมว่าเจอหลายคนเลยนะ”
เพียงแค่มีแพสชันแล้วจะสมปรารถนากันทุกคนก็จะโลกสวยไปหน่อย อาจารย์วิโรจน์คิดว่าโลกของเด็กเล่นดนตรีมีสองฝั่งเสมอ “บางคนฝึกเล่นดนตรีเพราะพ่อแม่ผลักดัน บางคนขอพ่อแม่เล่นดนตรีแล้วเขาไม่ให้เล่น ผมชอบฟังสำเนียงในดนตรีที่เล่นของเขา ว่าเขาฝึกมาลักษณะไหน คนที่พ่อแม่กดดันให้เล่นมากๆ การสื่อสารของเขาจะไม่ค่อยลื่นไหลและไม่สดใสนัก แต่นักดนตรีหลายคนก็เกิดมาแบบนี้นะ ต้องโดนกด บีบ อัด ให้กลายเป็นเพชร ส่วนพวกที่แพสชันเยอะๆ แล้วต้องหนีพ่อแม่ไปเล่น การสื่อสารอาจนุ่มนวลแต่ก็จะมีสิ่งที่อยู่ลึกๆ ในใจแฝงมาให้เราได้รู้สึก”
อาจารย์เคยเป็นแบบไหน?
“ผมหนีพ่อแม่ไปเล่นดนตรีนะ เขาไม่รู้หรอกว่าผมไปเล่น เพราะถ้าไปขอแล้วจะไม่ได้เล่น” อาจารย์เล่าไปยิ้มไปอีกแล้ว เราจะฮาก็เกรงจะเสียมารยาทมากเกินไป
“แพ้หรือชนะ มันมีถ้วยรางวัลในแบบของมัน
ชนะก็ได้รางวัล มีคนมองเห็น ได้ดีใจในวันนั้น
ไม่ชนะก็ได้บทเรียนที่เป็นแรงผลักดันวันพรุ่งนี้”
กฤษติกร พรสาธิต
ศิลปินและผู้บริหาร ค่าย Home Run Music
คุณติ๊กผู้สวมหมวกหลายใบ ทั้งในสายตากรรมการและสายตาผู้บริหารค่ายเพลงทำให้เขามองไปที่ความลงตัวของดนตรี และ performance บนเวที “ผมคิดว่าทักษะเป็นส่วนหนึ่งและการสื่อสารก็เป็นอีกส่วนหนึ่ง ต้องทำให้มันประสานกันแล้วส่งมาให้ถึงผู้ชม ไอ้ที่ตั้งใจที่ฝึกมา สุดท้ายบนเวทีมันเครียดไปไหมหรือว่ามันสนุก อย่าลืมว่า THE POWER BAND เรามาหาวงดนตรี มันจึงต้องลงตัวทั้งในส่วนของตัวบุคคลและการรวมเป็นวง พร้อมทั้งแอบมองเสมอว่าจะมีสักคนไหมที่ charming พร้อมเป็นอาร์ติสต์ในอนาคตได้ ซึ่งเวทีนี้ก็รู้สึกได้ว่าน้องๆ มี DNA ความเป็นศิลปินอยู่หลายคน”
ถ้าเผอิญน้องๆ ผู้เข้าร่วมแข่งขันผ่านมาได้ยินคงยิ้มแก้มปริไปตามๆ กัน
Suggestion
เสียงจากรุ่นพี่นักดนตรีอาชีพ
“พ่อแม่สมัยนี้ใจกว้างมากขึ้น ถ้าเด็กลองทำแล้วดีจริงๆ เขาก็พร้อมจะสนับสนุนต่อ นั่นแสดงว่าการเล่นดนตรีได้รับการยอมรับจากพ่อแม่ผู้ปกครองมากขึ้น” อาจารย์วิโรจน์ยังคงพูดเหมือนห่วงน้องๆ “อย่างน้อยเปอร์เซ็นต์ที่กล้าบอกพ่อแม่ว่าอยากเล่นดนตรีก็มากกว่าสมัยก่อนล่ะ”
คุณเป้เสริมเหตุผลจากประสบการณ์ตรงของตัวเอง “ผมว่ามันเห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้น อย่างลูกเล่นดนตรีแล้วโพสต์ลงเฟซบุ๊ก มีคนมาคอมเมนต์ มากดไลก์ มันมีผลลัพธ์ให้เห็นเป็นรูปธรรม สมัยก่อนผมจะมาบอกว่าผมเล่นดนตรีที่โรงเรียนมาครับแม่…คนดูเต็มเลย…มันเลื่อนลอยมากนะ ผมไปซ้อมดนตรีก็สงสัยว่าไปเล่นเกมมาหรือเปล่า ก็มันไม่มีอะไรพิสูจน์อย่างเป็นรูปธรรมชัดเจน”
“สมัยก่อนการเป็นนักดนตรีมันเหมือนฝันก้อนใหญ่” ประสบการณ์ของคุณติ๊กก็พรั่งพรูตามมา “กว่าจะผ่านแต่ละด่านไป กว่าจะได้เล่นดนตรีให้คนเห็น มีใครติดต่อเข้าค่ายเพลงหรือยัง เข้าไปแล้วก็ยังโดนดองอะไรอย่างเนี่ย โอกาสเป็นนักดนตรีมันยากมาก ๆ มายุคนี้มันข้ามขั้นตอนหลายขั้นมาก การจะมีผลงานให้คนอื่นได้เห็นไม่ใช่เรื่องยากเลย”
แล้วถ้าเป็นนักดนตรีกันง่ายขึ้น ถ้าอย่างนั้นการจะเป็นนักดนตรีที่ “เจ๋ง” ก็ต้องฝ่าฟันกันยากขึ้นน่ะสิ ในมุมของคุณเป้คิดว่ายุคนี้จะโดดเด่นเหนือใครนั้นยากยิ่ง “นักดนตรีรุ่นใหม่คุณภาพและมาตรฐานจะสูงขึ้นเรื่อยๆ แต่มันก็จะมีคนมากขึ้นนะครับ มีนักดนตรีเยอะขึ้นก็ต้องสู้กันมากขึ้น”
แต่คุณติ๊กเชื่อว่าถ้าคนเก่งจริงยังไงก็เจ๋ง “ผมเชื่อนะว่า ถ้าใครเป็น Head of Pyramid ยังไงก็รอดอยู่ดี จำนวนนักดนตรีจะเพิ่มมากขึ้นมากยังไง แต่ละยุคมันจะมีตัวท็อปของรุ่นอยู่เสมอ” แต่ก็ต้องตั้งใจทำผลงานให้ดี เพราะนั่นคือสิ่งที่จะทำให้ความเก่งของคุณได้รับการยอมรับแบบยาวนาน “ผมเห็นเพลงที่ประสบความสำเร็จแบบร้อยล้านวิวที่ทำกันในห้องนอนหลายเพลงทำด้วย Quality ที่ไม่ได้ตั้งใจให้ร้อยล้านวิว ผมเชื่อนะว่าถ้าเขารู้ว่าวันหนึ่งมันจะร้อยล้านวิว เขาคงตั้งใจทำให้ดีกว่านี้”
“บางคนมีไอดอลเป็นเป้าหมาย
แต่ยิ่งเดินเข้าใกล้ยิ่งรู้ว่ามันไม่ควรมีคนที่สอง
คือ เราก็ควรเลือกทางเดินของเราเอง”
วิโรจน์ สถาปนาวัตร
อาจารย์พิเศษ สาขาดนตรีสมัยนิยม คณะดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ส่วนอาจารย์วิโรจน์ลองใช้ positive thinking “จะบอกว่าทุกปีมีคนจบปริญญาตรีด้านดนตรีเยอะมากนะ จำนวนคนเก่งเพิ่มขึ้น มันจะบังคับให้คุณต้องถีบตัวเองขึ้นมาให้ได้ แต่ถ้ามองในแง่ดี เราจะได้นักดนตรีที่มีความหลากหลาย เพราะในจำนวนคนที่เพิ่มขึ้น แนวดนตรีก็อาจขยายวงมากขึ้นเกินกว่าที่เราจะคาดเดาได้”
จากการตั้งข้อสังเกตของคุณเป้เห็นว่า แม้จำนวนคนเก่งมีเพิ่มขึ้นมากมาย แต่โอกาสที่ศิลปินจะมีชื่อเสียงก็ง่ายขึ้น “เพียงแต่ loop มันจะสั้นลงเรื่อยๆ คือ ความดังของศิลปินที่จะอยู่คงกระพันแทบจะไม่เหลือแล้ว จากที่ผมสังเกตในช่วง 10 ปีหลังเนี่ย ไม่มีใครยืนได้ถึง 10 ปีเลย อย่างในรุ่นพี่ติ๊กถึง 20 ปีแน่นอน อย่างของผม 10 ปี ก็หมดละ แต่ปัจจุบันศิลปินเกิดได้เยอะขึ้น มีโอกาสดังง่าย แต่การยืนระยะจะสั้นลง เพราะคนดูสามารถเลือกได้เยอะ พอเบื่อก็เปลี่ยนเลย”
อืมมม เป็นข้อสังเกตที่น่าสนใจและน่าตกใจไปพร้อมๆ กัน
“ไม่ได้ตั้งใจให้เครียดเลย”
“ผมชอบฟังสิ่งที่น้องๆ เล่น” อาจารย์วิโรจน์ยังยิ้มตลอดการสนทนา “ผมเห็นตั้งแต่คลิปที่เขาส่งเข้ามาคัดเลือก มองในแง่ของอินเนอร์ เขามีเหมือนกับในยุคที่เราอายุเท่าๆ กับเขา แต่เราได้เห็นวิวัฒนาการ เห็นวิธีการเล่นใหม่ๆ การนำเสนอใหม่ๆ มันมีอะไรที่เราทึ่งนะ ผมเคยรู้สึกว่าเราตามหลังประเทศใหญ่ๆ เรื่องดนตรีไปหลายสิบปี แต่ตอนนี้รู้สึกว่าช่องว่างเวลานั้นเริ่มกระชับขึ้น ด้วยความสามารถที่เพิ่มขึ้นนั่นล่ะ”
“ดนตรีเป็นอาชีพเรา เราเล่นเพื่อหากินมาเกือบ 20 ปีแล้ว เราลืมอะไรบางอย่างไป” คุณเป้เอ่ยนิ่งๆ “เราลืมแกนหลักอันเดียวของดนตรี คือ ความสุข ถ้าไม่มีความสุขเวลาเล่นแล้วคนที่รับฟังจะมีความสุขได้อย่างไร สิ่งที่ผมเห็นใน THE POWER BAND คือ เด็กเขามีความสุขในการเล่นดนตรี ยิ่งเป็นการตอกย้ำข้างในผมเลยว่า เฮ้ย อย่าลืมเรื่องนี้นะ…ยิ่งบอกว่าตัวเองเป็นนักดนตรีต้องอย่าลืมเรื่องนี้สิ!!
คุณติ๊กก็เคยมีช่วงที่หมดพลังกับดนตรีมาบ้างเหมือนกัน “หลังจากทำเพลงมาสิบกว่าปี ผมเคยรู้สึกว่า lost กับการเล่นดนตรี ทั้งๆ ที่ยังเล่นคอนเสิร์ตอยู่ทุกวัน จนวันหนึ่งได้ดูประกวดดนตรี ได้เห็นแววตาของน้องๆ ที่ขึ้นเวที ผมเหมือนได้เชื้อเพลิงได้รู้สึกถึงวันที่เราเริ่มต้นเดินทางสายนี้ ทำให้อยากทำดนตรีต่อ อยากแต่งเพลงแบบใหม่ออกมาเรื่อยๆ ในงานนี้ผมก็ได้แรงบันดาลใจจากน้องๆ ทุกภาคเลยด้วย แววตาเหล่านั้นยังส่งมาถึงผมเสมอ”
เสียงหัวเราะยังดังลั่นแทรกกับน้ำเสียงจริงจังของทั้งสามกรรมการ รวม 5 สนามภูมิภาค THE POWER BAND จัดโดยวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ คิง เพาเวอร์ ไทย เพาเวอร์ พลังคนไทย ปากก็บอกว่าไม่ได้ตั้งใจจะคุยเครียด แต่ก็มีมุมที่จริงจังไปเสียทุกประเด็น หลังจากที่จบวงสนทนาอันแสนประทับใจ ผมยังนึกไม่ออกอยู่ดีว่าใครนะที่เอ่ยประโยคนี้ “อยากเป็นนักใช่ไหม…นักดนตรีเนี่ย”
เพราะอยากรู้ว่าเขาถามน้องๆ หรือถามตัวเองอยู่กันแน่