นับเป็นอีกหนึ่งวงตัวเต็ง ที่ทำโชว์ได้สะกดหูกรรมการมาตั้งแต่รอบคัดเลือกที่สนามกรุงเทพฯ จนผ่านเข้าไปสู่รอบชิงชนะเลิศ พวกเขาคือ วง ArtRig (อาร์ทริก) ที่มีความโดดเด่นในเรื่องฝีมือดนตรี สามารถเรียบเรียงเพลงออกมาได้ไพเราะแปลกหู ทั้งโจทย์เพลงบังคับและเพลงที่แต่งขึ้นใหม่ตามกติกา
ในที่สุดพวกเขาก็คว้าชัยชนะบนเวทีประกวด THE POWER BAND 2022 SEASON 2 จัดโดยวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ คิง เพาเวอร์ ไทยเพาเวอร์ พลังคนไทย มาได้สำเร็จกับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ของ Class B รุ่นบุคคลทั่วไป
ArtRig คือการรวมตัวกันของเหล่านักดนตรีแบ็กอัป 5 คน ประกอบด้วย โฟน – ธนวิชญ์ ปลื้มใจ (ร้องนำ – คนกลางในภาพ) วิน – คณิน ทองทับ (กีตาร์ – คนซ้ายสุดในภาพ) วา – วริทธิ์ ชีพลือศักดิ์ (คีย์บอร์ด – คนที่ 4 ในภาพ) มิกซ์ – นิตินัย อิษวาส (กลอง – คนที่ 2 ในภาพ) และ นิว – หิรัณย์ ลือชา (เบส – คนขวาสุดในภาพ) ซึ่งการมาเยือนเวที THE POWER BAND 2022 ปีนี้ วงอาร์ทริกมีความมุ่งมั่นที่แตกต่างจากวงดนตรีอื่นๆ ตรงที่ “ชัยชนะไม่ใช่เป้าหมายใหญ่ แต่การได้มารวมรุ่นเพื่อทบทวนความหลังสมัยเรียน เพื่อสร้างความทรงจำแสนพิเศษครั้งใหม่ในนามวง อาร์ทริก คือเป้าหมายหลัก!”
เรื่องราวในขวดโหลความทรงจำ
แม้จะรวมตัวกันมาแบบเฉพาะกิจ แต่ถ้าย้อนเวลากลับไปสู่ช่วงเรียนชั้นมัธยม ที่โรงเรียนอัสสัมชัญ สมุทรปราการ สมาชิกทั้ง 5 ของอาร์ทริกล้วนเป็นเพื่อน พี่ น้อง ที่ผูกพันกับการเล่นดนตรีมาด้วยกันมานาน และในช่วงเวลานั้น ต่างคนต่างก็มีแรงบันดาลใจในการเริ่มเล่นดนตรีเป็นของตัวเอง
“ที่อยากเล่นดนตรีก็เพราะตอนเด็กๆ ผมเห็นนักดนตรีต่างประเทศเขาเล่นแล้วมันเท่ครับ ก็เลยอยากเล่นบ้าง” วา มือคีย์บอร์ด น้องเล็กสุดในวงบอกกับเรา ซึ่งการ “เล่นดนตรีแล้วดูเท่!” ในความรู้สึกของมิกซ์ เกิดขึ้นด้วยเหตุผลที่ไม่ต่างจากของวานัก ในขณะที่ด้านของวินเริ่มมาจากคุณพ่อเป็นคนชอบฟังดนตรีและมักจะเปิดเพลงให้เขาฟังเสมอ บวกกับพี่ชายก็เป็นนักดนตรีด้วย “การเล่นดนตรีของผมมันคงได้อิทธิพลมากจากตรงนั้นครับ”
“เราอยากกลับมาย้อนบรรยากาศเก่าๆ
เพื่อดื่มด่ำความสนุกในการเล่นดนตรี ให้เหมือนตอนเป็นเด็กอีกครั้ง!”
วง ArtRig
แต่กับนิว แรงบันดาลใจแรกที่อยากเล่นดนตรี มาด้วยความที่อยากเข้าไปเล่นในวงดนตรีกับเพื่อนๆ สมัย ป.6 เขาจึงพยายามพัฒนาตัวเอง จนสามารถเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในวงได้ สำหรับโฟน มีต้นทุนมาจากการได้รับเลือกให้เข้าไปอยู่ในวงโยธวาทิตของโรงเรียน เลยได้ซึมซับความชอบดนตรีมาตั้งแต่นั้น ก่อนจะผันตัวเองมาเล่นดนตรีสากลภายหลัง แล้วชีวิตก็เดินอยู่ในสายการเรียนและทำงานด้านดนตรีมาตลอด
ณ ชมรมดนตรี โรงเรียนอัสสัมชัญ สมุทรปราการ จึงกลายเป็นศูนย์รวมและจุดกำเนิดแห่งมิตรภาพทางดนตรี ที่สมาชิกทั้ง 5 ร่วมก่อร่างสร้างฝันมา “ตอนนั้นก็จะมีมิกซ์กับวินที่อยู่วงเดียวกัน ส่วนผมจะอยู่อีกวงหนึ่ง แต่พวกเราก็เป็นแก๊งที่จะเจอกันบ่อย ส่วนน้องวานี่จะมาตอนหลัง ซึ่งวาเขาเป็นรุ่นน้องของเราสี่ปี พอพวกเรามาเจอก็เหมือนกับคลิกกันด้วยครับ จากนั้นก็เล่นดนตรีด้วยกันมาตลอด คือจริงๆ เหตุการณ์มีเยอะกว่านี้ แต่สรุปประมาณนี้ก็แล้วกันครับ” นิว ย้อนช่วงเวลาให้ฟังสั้นๆ และจบเรื่องเอาดื้อๆ พร้อมกับเสียงหัวเราะของเพื่อนๆ
ซึ่งการเดินทางของพวกเขาที่ช่วยกันเล่าหลังจากนั้น ก็เป็นไปตามครรลองชีวิตวัยรุ่นวุ่นดนตรี ท่ามกลางบรรยากาศที่อบอวลไปด้วยความสนุกของมิตรภาพ ก่อนจะแยกย้ายกันไปเดินสู่เข็มทิศชีวิตของตัวเอง
…อารมณ์ขันกวนๆ ของวง ArtRig…
ความหมายของชื่อวง อาร์ทริก เป็นการนำเสียงพ้องของคำว่า “ริก” ในภาษาใต้
ที่เป็นคำเรียก “คนอ้อล้อ” มาตั้งชื่อวง ให้มีใจความประมาณว่าอยากได้รางวัลจนตัวสั่น
Suggestion
แยกไปตามฝัน…จะได้พบเจอกัน(อีก)บนถนนดนตรี
หลังเรียนจบชั้นมัธยม เหล่าสมาชิกอาร์ทริก ยังมีชีวิตที่คลุกคลีกับการเล่นดนตรีอยู่ตลอด แม้ต่างแยกย้ายกันไปเรียนมหาวิทยาลัย และมีหน้าที่การงานด้านดนตรีในวิถีของแต่ละคน (มีแต่วาที่ยังเรียนอยู่ปี 2 แต่ก็รับอาชีพเป็นนักดนตรีแบ็กอัปควบคู่การเรียนไปด้วย) มิตรภาพของทุกคนยังแน่นแฟ้น และอัดแน่นด้วยภาพจำดีๆ
จนเมื่อการประกวดวงดนตรี THE POWER BAND 2022 เปิดรับสมัคร ทุกคนจึงคิดเห็นตรงกันว่า “อยากกลับมาย้อนบรรยากาศเก่าๆ เพื่อดื่มด่ำความสนุกในการเล่นดนตรีให้เหมือนตอนเป็นเด็กอีกครั้ง!”
มิกซ์เผยความรู้สึกในช่วงเวลานั้นว่า “บรรยากาศตอนนั้น โห…นี่พูดอย่างซึ้งๆ เลยนะ คือมันมีอะไรมากกว่าการเล่นดนตรี แล้วมาแข่งกันอะไรอย่างนี้นะครับ อย่างผม พี่นิว พี่วิน อยู่ด้วยกันมาเป็น 10 ปี เหมือนกับเราเริ่มดนตรีมาใกล้ๆ กัน จากที่เล่นไม่เป็นเหมือนกัน จนขยับๆๆ ขึ้นมาเรื่อยๆ ซึ่งจริงๆ มันมีเรื่องอื่นเยอะแยะมากมาย แต่เหตุผลเท่านี้ ผมว่ามันน่าจะพอกับการที่เราอยากกลับมาเล่นด้วยกัน ด้วยความที่เราโตมาด้วยกัน เลยจูนกันง่ายที่สุดแล้ว ถึงตอนโตจะมีเรื่องเถียงกันบ้าง ซึ่งเราเคยแยกกันไปช่วงหนึ่ง แต่สุดท้ายก็กลับมา เพราะมันมีตรงกลางให้เราลง ว่าเราอยากมาเล่นด้วยกันอีก”
จัดกระบวนทัพ…ตั้งรับความสนุกครั้งใหม่
เมื่อตัดสินใจจะเข้าแข่งขันในสมรภูมิดนตรีร่วมกัน อาร์ทริกต้องมาวางแผนการทำเพลงเพื่อประกวดกันใหม่ แม้พวกเขาจะมีอาวุธในมือ คือเรื่องความเป็นมืออาชีพกันอยู่แล้ว แต่ด้วยความที่ไม่ได้เล่นดนตรีด้วยกันมานาน จึงต้องมีการปรับจูนกันในหลายๆ เรื่อง โดยเฉพาะเรื่องของเวลาที่ไม่ตรงกัน
“คือพอต่างคนต่างเติบโต ต่างวัฒนธรรม ต่างแนวเพลง หรือวิธีการคิด มายด์เซตต่างๆ มันก็ไม่เหมือนกันอยู่แล้วตั้งแต่แรก แต่สุดท้าย ก็จะมีจุดที่ยังมีความเชื่อมโยงกันอยู่แหละ แค่ว่าเราต้องใช้เวลาตรงนั้นในการหา ซึ่งพอหาเจอ เราก็จะได้แนวเพลงหรือสไตล์เพลงที่จะเป็นตรงกลาง…ที่ไม่เหมือนใครด้วย เพราะเราไม่ได้ล็อกว่า ‘เฮ้ย เพลงต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้จากความคิดของคนใดคนหนึ่ง’ แต่เป็นการเอาทุกอย่างมารวมกัน แล้วสร้างเพลงออกมาในแบบที่เป็นเรา” นิวบอก
ดังนั้นเพลงที่อาร์ทริกเรียบเรียงออกมาเพื่อใช้ในการประกวด จึงมีส่วนผสมมาจากความถนัดในทางดนตรีของสมาชิกแต่ละคน ที่มาช่วยกันปรุงรสชาติ เพื่อให้ได้เพลงที่ออกมามีซาวนด์แตกต่างไม่เหมือนใคร อย่างที่ทุกคนต้องการ โดยมอบหมายให้โฟน ซึ่งปกติเป็นนักดนตรีแบ็กอัปขึ้นมารับหน้าที่ถ่ายทอดเสียงร้องเพราะๆ ในวง
มิกซ์เล่าถึงแผนที่วางกันไว้ “คือเราจะวางแผนเหมือนสมัยก่อนไม่ได้แล้ว ที่มารวมตัวที่ห้องซ้อม แล้วก็ยำๆๆ พอถึงจุดหนึ่งที่เรามีหน้าที่การงานต้องรับผิดชอบ เรามีเวลาน้อยลง ก็ต้องมาวางแพลนกันมากขึ้น จะเอาเพลงอะไร ทำเป็นสไตล์ไหนได้บ้าง อยากได้โทนประมาณไหน เราจะวางท่อน A ประมาณไหน ให้ดูโหดร้ายหรือน่ารัก (หัวเราะ)
ต้องมาวางแพลนกันด้วยว่า เพลงแรกกับเพลงสองจะต้องต่างกันยังไง เราจะไม่พยายามทำเหมือนสมัยก่อน ที่มาถึงปุ๊บ เล่นเเต่เพลงยากๆ แต่เราอยากทำให้เหมือนเป็นมินิคอนเสิร์ตที่เรามาโชว์เขามากกว่า ว่านี่คือช่วงเวลาของเรานะ ใน 20 นาทีนี้ นี่คือศิลปินวงหนึ่งที่มาลงประกวด คุณต้องรู้สึกว่านี่คือศิลปิน ไม่ได้มาแข่ง นั่นคือสิ่งที่เราวางแผนกันตั้งแต่เนิ่นๆ อยู่แล้ว ที่เหลือก็เป็นรายละเอียดการอะเรนจ์เพลง การทำสไตล์ต่างๆ วิธีการร้อง ทำยังไงให้ทุกคนเด่นพอๆ กัน ไม่มีใครเด่นมากกว่าใคร”
จากคำ “ติเพื่อก่อ” สู่การพัฒนาวงในอีกก้าว
แม้ค่อนข้างมั่นใจการสร้างงานในพาร์ตดนตรีกันพอสมควร แต่ตอนแข่งในรอบคัดเลือกสำหรับการประกวดในภูมิภาคกรุงเทพฯ และปริมณฑล อาร์ทริกก็ยังได้รับคอมเมนต์จากกรรมการในเรื่อง “ความนิ่งในโชว์”
“เรื่องเพอร์ฟอร์มในวันแข่งรอบนั้น เห็นได้ชัดว่าแต่ละคนมันนิ่งจริงๆ คือมันเคยชินด้วยแหละครับ (พวกเขาเลยช่วยกันขยายให้เข้าใจในคำว่า “ชิน” ในที่นี้ ก็คือชินจากที่เล่นเป็นวงแบ็กอัป นักดนตรีเบื้องหลังจะต้องมีแอ็กชันบนเวทีที่ไม่เด่นเกินหน้าศิลปิน ทุกคนเลยชินกับวิธีเล่นบนเวทีแบบนั้นมา)
แล้วเราพยายามทำตัวให้นิ่งด้วยแหละ เพื่อไม่ให้เกิดข้อผิดพลาด แต่สิ่งที่เราลืมไปก็คือ ‘อินเนอร์’ ที่มันต้องมีในการประกวด ซึ่งถ้าเป็นในเรื่องของอะเรนจ์ เราสามารถสวิตช์ได้ทันที เพราะรู้ตัวเองอยู่แล้วว่าเราคืออะไร…ชอบอะไร เราก็ดึงมันออกมาได้อย่างง่ายดาย ภาษายุคใหม่เขาเรียกว่า ‘เต็มข้อ’ กันเลยแหละ” หนุ่มๆ ช่วยกันบอกพร้อมเสียงหัวเราะ
และมีอีกเรื่องที่ถูกวงพูดถึง ในเรื่องเสียงร้องและคาแรกเตอร์ของโฟน ที่ไปละม้ายกับศิลปินเดี่ยวท่านหนึ่งในวงการ นักร้องนำวงอาร์ทริกบอกความรู้สึกตรงนี้ว่า “ถ้าเป็นก่อนหน้านี้ ผมก็จะอยู่กับมันไม่ได้ มันบั่นทอนความรู้สึกพอสมควรครับ เพราะว่าเราพยายามกับเรื่องนี้มา ก็ใช้เวลานาน แต่ก็ไม่ได้ทำให้เขามองเราเปลี่ยนไป ผมก็เลยกลับมาคิดได้อย่างหนึ่งก็คือ สิ่งที่เราทำไปนั้น ไม่ได้ทำให้ทุกคนมาคิดเหมือนกับเรา 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ละคนมีความคิดที่แตกต่างกัน แต่สิ่งสำคัญก็คือเราทำอะไร เรารู้อยู่แก่ใจแหละ ว่าเราต้องการนำเสนอความเป็นเราในแบบไหน เราไม่ได้อยากทำให้เหมือนเขา เราแค่ทำในสิ่งที่เราชอบ ทำในสิ่งที่เราอยากจะนำเสนอแค่นั้นก็พอ”
Suggestion
เรียบเรียงใหม่ ทำเพลงในแบบ อาร์ทริก
แม้ตอนนี้พวกเขาจะยังไม่มีคำนิยามชัดเจนกับสไตล์ดนตรีที่สร้าง แต่หนุ่มๆ อาร์ทริก ก็พอจะมีคำจำกัดความให้ได้เข้าใจอยู่บ้างว่า เพลงที่เรียบเรียบออกมา มีโครงสร้างทางดนตรีในแบบเพลงของคนผิวสีที่เรียกว่า Strange Arrange
“พอในรอบชิงชนะเลิศ เราเลยพยายามตีกรอบเพลงให้อยู่ในโทนที่เราอยากจะเป็น คือผมน่ะ อยากทำแจ๊ส ก็เลยเอาเพลงของวง Silly Fools (แพ้ความอ่อนแอ) มาทำเป็นแจ๊ส ซึ่งที่ทำออกมามันก็ไม่ใช่ฟิวชันแจ๊ส แล้วมันเลยป้ายไปมาก (หัวเราะ) เพราะพอเจอโน่นเจอนี่เราก็แวะใส่ แล้วทำออกมาจนเป็นสิ่งที่เราชอบจริงๆ มันเลยเกิดเป็นสิ่งใหม่ขึ้นมา จะเป็นนีโอ แจ๊สก็ไม่เชิง เป็นเทรดดิชันแนลเลยก็ไม่ใช่อีก” มิกซ์เล่าถึงโจทย์เพลงแรก ที่ต้องนำทำนองมาเรียบเรียงใหม่ พวกเขาเลยใช้วิธีฉีกกฎเกณฑ์การอะเรนจ์แบบเดิมๆ และตีความเพลงออกมาให้มีสีสันใหม่ๆ
“เหมือนคนที่มีงานศิลปะน่ะครับ คนอื่นอาจจะแค่วาดรูปเพิ่ม แต่เราอยากจะเปลี่ยนทั้งรูป แต่ยังคง คาแรกเตอร์เดิมไว้อยู่ครับ” นิว อธิบายเพื่อให้เห็นภาพที่ชัดขึ้น
ส่วนเพลงที่สอง “ในเวลาตอนนี้” กับโจทย์ที่วงต้องประพันธ์เอง โฟนเล่าว่า เขาแต่งเพลงนี้ไว้นานแล้ว และเหตุผลที่เลือกมาใช้แข่งขัน เพราะเพลงมีเนื้อหาในมุมอกหักที่สอดคล้องกับเพลงแรก แค่นำมาปรับดนตรีให้หม่นลงในรูปแบบของเพลงช้า เพราะต้องการให้อารมณ์ตัดกับเพลงแรก ซึ่งมีสีสันที่สนุกสนานเพื่อเกิดมิติในโชว์ ซึ่งสิ่งที่พวกเขาคิด ถือเป็นการวางแผนที่มาถูกทางมาก เพราะนั่นทำให้การแสดงของอาร์ทริกในรอบชิงชนะเลิศวันนั้น โดดเด่นและชนะใจกรรมการไปในที่สุด !
ได้ Reunion กับสหายศึกอีกครั้ง
ความสนุกของการประกวดบนเวทีที่ผ่านไป นอกจากวงอาร์ทริกจะได้กลับมาเติมความทรงจำครั้งใหม่กับเพื่อนร่วมวง อีกหนึ่งความสุขของชาวอาร์ทริก ที่ได้รับจากการแข่งขันครั้งนี้ คือการได้กลับมาเจอกับวงคู่ปรับเก่า ซึ่งเคยผ่านสมรภูมิแข่งด้วยกันมาหลายเวทีตอนสมัยเรียน นั่นก็คือวง CUT-TO แม้ระหว่างเส้นทางในตอนนั้น อาจมีสลับแพ้ สลับชนะกันบ้าง แต่สุดท้ายพวกเขาบอกว่า “ทุกคนคือเพื่อนที่คิดถึง”
“กับ CUT-TO เราเจอกันมาตลอดในงานประกวด งานสุดท้ายที่เขาแข่งคือ Silpakorn Youth Music Award ครับ ซึ่ง CUT-TO ชนะไป (หัวเราะ)
จริงๆ ที่เคยแข่งกันมา CUT-TO ไม่เคยได้แชมป์เลย ไม่ค่อยติด 1 ใน 3 ด้วย (น้ำเสียงขิงคู่ต่อสู้เล็กน้อย จนเรียกเสียงหัวเราะจากเพื่อนๆ) แต่ปีนั้นเขาได้รางวัล เขาท็อปฟอร์มจัด แล้วอยู่ดีๆ ก็โผล่มาอย่างเก๋า เฮ้ย แชมป์เฉย (หัวเราะ) แต่วันนั้นเขาก็เล่นดีจริง
แล้วพอมาเวทีนี้ เหมือนวันที่เขาประกาศผ่านเข้ารอบการเล่นสด ผมน่ะเห็นชื่อวงละ CUT-TO ! คือผมก็คุยกับโอที (ธิติวัฒน์ คฑาวัฒน์วีระเกตุ) นักร้องนำเขาอยู่เรื่อยๆ ผมกำลังจะทักไปหา พอหยิบโทรศัพท์ขึ้นมา ก็ ติ๊ง! โอทีทักมา ‘วงมึงใช่ไหม’ (หัวเราะ) คือเขาจำชื่อวงผมไม่ได้ เพราะผมเปลี่ยนชื่อวง ไม่ได้ใช้ชื่อเดิมเหมือนตอนมัธยม
พอรู้ก็ดีใจมาก เหมือนเราได้เจอเพื่อนที่เจอกันมานาน เหมือนได้กลับมาเจอแก๊งประกวด อย่างแก๊งประกวดผมก็ได้เจอข้างนอก ไปเล่นแบ็กอัปก็ได้เจอ เราก็เป็นเพื่อนกันหมด พอมาเจอแก๊งนี้เขาอยู่ชลบุรีด้วย ไม่ค่อยได้เจอกัน มันเลยเหมือนได้มารียูเนียนกันเลยครับ” คำพูดของมิกซ์ น่าจะแทนความรู้สึกของทุกคน ที่ได้กลับมาแข่งดนตรีกันอีกครั้งเป็นอย่างดี
“การได้รับรางวัลจากการประกวดในครั้งนี้ มันเกินสิ่งที่เราคาดหวังอยู่แล้วครับ แต่สิ่งที่คุ้มค่ากว่าการได้รับรางวัล คือการได้ดูโชว์ของวงอื่นๆ ด้วย ไม่ใช่จะหาโอกาสง่ายๆ ที่เขาจะมาเล่นกันให้ฟัง ส่วนในแง่ผลงาน…รางวัลที่วงได้รับมาน่าจะมีผลกับการทำงานของวงต่อไป ไม่ว่าจะเป็นความเข้มข้นของดนตรี หรือการมองแนวทางที่ชัดขึ้น เฉพาะการแข่งขันทำให้พวกเราได้เรียนรู้อะไรหลายๆ อย่างในการทำตรงนี้ให้ดีขึ้น”
แม้เป้าหมายแรกของการมาประกวด พวกเขาแค่อยากจะมารวมตัวกันเปิดขวดโหลความทรงจำเก่าๆ เพื่อเติมเต็มความสุขให้กับชีวิต แต่กำไรจากรางวัลที่ได้รับมา อาจจะกลายเป็นคำตอบใหม่ให้กับอาชีพนักดนตรีเบื้องหลังของวงอาร์ทริก ในอนาคตข้างหน้าก็เป็นได้…ใครจะรู้