“เรารู้แล้วว่าความหมายของชื่อเสียงแบบเล็กๆ ของเราแบบนี้ จะต่อยอดไปทำอะไรได้บ้าง
เราเลยลองคิดลองทำกันดู มันเกิดประโยชน์กับคนอื่นจริงๆ เกิดรอยยิ้มจริงๆ
ก็เป็นเหมือนวงจรทำให้เกิดพลังงานดีๆ กับเราทำให้ทำงานต่อได้”
ในก้าวเข้าสู่ปีที่ 21 ของการทำงาน…ถ้านับหนึ่งจาก “BODYSLAM” อัลบั้มแรกของพวกเขา วันนี้ของบอดี้สแลมน่าจะเป็นเหมือนการเดินทางไกลของวง ที่ชีวิตของพวกเขาไม่เพียงแต่จะนำพาให้ได้ “ทำและเล่นเพลง” ที่พวกเขารัก เป็นแรงบันดาลใจให้กับเราในต่างชีวิตต่างแง่มุม ไม่เพียงเท่านั้นดนตรีกับผลงานของบอดี้สแลมยังได้สร้างแรงกระเพื่อมต่อไปยังกิจกรรมที่หลากหลายและส่งผลให้เกิดประโยชน์ต่อผู้คน
เรารู้อยู่แล้วว่าเสียงเพลงไม่ได้สร้างแค่ความเพลิดเพลินยามเปิดฟัง หรือเพิ่มความสนุกสนานกับจังหวะที่คึกคักยามเราสนุกสนานอยู่กับกลุ่มคนรู้ใจ แต่เนื้อหาของบางเพลงนั้น “เล่าเรื่อง” บางอย่าง และยังช่วย “เปลี่ยน” ชีวิตของผู้ฟังในบางเวลาไม่มากก็น้อยอีกด้วย แต่สำหรับศิลปินบางกลุ่ม พวกเขาไม่ได้ใช้แค่บทเพลงเพื่อเปลี่ยนโลก หรือต้องการจะสร้างแรงบันดาลใจต่อแฟนเพลงเท่านั้น แต่ยังตั้งใจอย่างแรงกล้าที่จะทำสิ่งที่เป็นรูปธรรมมากกว่านั้น ด้วยการรวมตัวเพื่อสิ่งที่เป็นประโยชน์แบบยั่งยืน
ชื่อของนักร้องที่นำโด่งในเรื่องงานสาธารณกุศล คงหนีไม่พ้น “ตูน บอดี้สแสม” (อาทิวราห์ คงมาลัย) หนึ่งในผู้ก่อตั้งมูลนิธิก้าวคนละก้าว องค์กรการกุศลที่ช่วยส่งเสริมทั้งงานสาธารณสุข งานด้านการศึกษา โดยมีเพื่อนๆ ในวงที่คอยสนับสนุน ด้วยความยินดีต่อสิ่งที่พวกเขาเรียกว่าเป็น “วงจรพลังงานดี”
จากการแสดง The B Side Sessions เมื่อปลายปี 2565 พื้นที่พิเศษที่วงบอดี้สแลมคัดเพลง “หาฟังยากแบบ B Side” มาแสดงบนเวทีครั้งนั้น “เพราะเวลาในแต่ละโชว์ที่พวกเขาเล่น..มันไม่พอ” เสียงเพลงของวงเล่นจบเพลงต่อเพลง สลับกับเสียง “พี่ตูน” เล่าเรื่องโมเมนต์ในชีวิตของพวกเขาให้เราฟัง ย้อนกลับไปถึงชีวิตเมื่อครั้งเป็นวงประกวดสมัยมัธยม มาจนถึงเบื้องหลังความคิดของแต่ละเพลง การทำเพลง การสร้างสรรค์ดนตรี…ของแต่ละเพลงที่พวกเขาหยิบมาเล่น และการใช้ชีวิตอย่างมีความสุขกับดนตรีที่พวกเขารักมาโดยตลอด คือเนื้อหาของเวที “The B Side” ที่ไม่เหมือนที่ไหน
ล่าสุดปี 2566 ปีนี้เองที่หลังจากวงปล่อยซิงเกิล “วันสิ้นปี” เพลงใหม่ในรอบ 4 ปีที่น่าจะเรียกว่าเป็นเพลงแรกของอัลบั้มชุดที่ 8 หนุ่มๆ บอดี้สแลม…ตูน – อาทิวราห์ คงมาลัย (กีตาร์/ร้องนำ) ปิ๊ด – ธนดล ช้างเสวก (กีตาร์เบส) ยอด – ธนชัย ตันตระกูล (กีตาร์) ชัช – สุชัฒติ จั่นอี๊ด (กลอง) และ โอม – โอม เปล่งขำ (คีย์บอร์ด/ร้องประสาน) ก็พร้อมที่จะขึ้นเวทีคอนเสิร์ตอีกครั้ง กับบทเพลงที่ไม่ค่อยได้เล่น ได้ร้อง แต่อยู่ในใจของแฟนเพลงและสมาชิกวงทุกคน BODYSLAM “พูดในใจ” The B Side Concert คอนเสิร์ตแบบกันเอง เตรียมความพร้อมที่จะนำบรรยากาศแห่งความประทับใจเช่นนั้นให้กลับมาเกิดขึ้นในพื้นที่ของโรงละครขนาดกลางจุผู้ชมจำนวนกำลังพอเหมาะและเพียงพอที่จะสร้างความใกล้ชิดระหว่างวงกับผู้ชมของพวกเขา
ขอบคุณภาพจาก Genie Records
วงบอดี้สแลมยังคงเน้นการต่อส่งต่อเรื่องราวดีๆ เพื่อสร้างประโยชน์กับผู้คน ด้วยการมอบรายได้จากการจัดงานทั้งหมด ให้กับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ในโครงการก้าวเพื่อน้องปีที่ 3 อีกด้วย
เพลงของบอดี้สแลมที่อยู่ในใจบอดี้สแลม
เพลง พูดในใจ จากอัลบั้ม Believe (ปี 2548)
เพลงที่ทำให้ “ตูน บอดี้สแลม” บอกว่าเขาคิดถึงเพลงนี้เสมอ เพราะเป็นเพลงที่ไม่ค่อยถูกเล่น
เพลง ขอบฟ้า จากอัลบั้ม Believe (ปี 2548)
มีสไตล์ที่ “ชัช” ใส่สไตล์เฉพาะตัวลงไปจนกลายเป็นเพลงที่ทำให้ทุกคนรู้จักพวกเขาในฐานะ
“บอดี้สแลม”
เพลง นาฬิกาตาย จากอัลบั้ม Save My Life (ปี 2550)
ที่ทำให้ “ปิ๊ด”…คิดถึงบางอย่างที่ทำให้น้ำตาคลอไปด้วย
เพลง เงา จากอัลบั้ม คราม (ปี 2552)
เป็นเพลงที่ทำให้ “ยอด” นึกถึงช่วงที่วงเล่น Live in ครามคอนเสิร์ตใหญ่ครั้งสำคัญ ที่ราชมังคลากีฬาสถาน
เพลง ความหมาย จากอัลบั้ม วิชาตัวเบา (ปี 2561)
เป็นเพลงที่ “มีหัวใจอยู่ในนั้น” และ “โอม” บอกว่าเพลงนี้เหมือนถูกแต่งมาให้กับพวกเขาโดยเฉพาะ
คอนเสิร์ตที่เกิดจากเพลงที่ตกหล่นระหว่างทาง
“B Side เกิดจากเราได้เล่นคอนเสิร์ตเยอะ ได้ทัวร์เยอะ แล้วในช่วงเวลา 20 ปี กับ 7 อัลบั้ม ระหว่างทางเพลงที่เราเคยเล่นก็ต้องถูกถอดออกไปจากลิสต์ที่เราทัวร์อยู่เป็นประจำ เพราะในการทัวร์แต่ละงานก็มีเวลาไม่เพียงพอที่จะใส่เพลงต่างๆ ทั้งหมดนี้เข้าไป แล้ววงก็มีเพลงใหม่ขึ้นมาเรื่อยๆ เพลงเก่าที่เคยเล่นที่ทุกคนประทับใจ เราประทับใจในฐานะคนเล่นคนร้อง คนดูก็อยากฟังแต่มันเล่นไม่ได้ แต่ก็ยังอยู่ในหัวใจเราเสมอ เราก็เลยคิดว่าอยากทำโชว์สักครั้งหนึ่งที่เราได้เล่นเพลงเก่าๆ หรือเพลงปัจจุบันที่อยู่ในหน้า B ที่เราไม่ค่อยได้เล่น”
คอนเสิร์ตในโรงละครที่ยังคงสีสันของ บอดี้สแลม ที่ ตูน บอกว่า “เราไม่เน้นให้คนนั่งฟังอยู่แล้ว”
“พอเป็น B Side อาจจะจำกัดเรื่องของคนที่เข้ามาดูพอสมควร ไม่ใช่คอนเสิร์ตแบบแสดงที่ราชมังฯ หรือในอิมแพคฯ ที่ทุกคนจะรู้ว่าต้องได้ยินเพลงฮิต ได้ยินเพลงที่เขาอยากจะได้ยินจากบอดี้สแลม พอเป็น B Side จำนวนผู้ชมก็คงไม่ได้เป็นหลักหลายพันหรือหลักหมื่น
คำว่า B Side เราคิดว่าน่าจะเหมาะสำหรับเล่นในที่เล็กสักหน่อย แล้วคนดูที่เป็นแฟนพันธุ์แท้จริงๆ คนดูที่เขาฟังเพลงของบอดี้สแลมทั้งอัลบั้มจริงๆ ไม่ใช่ฟังแต่เพลงโพรโมตที่เป็นซิงเกิล 3-4 เพลง จำนวนอาจจะถูกคัดเลือกลงมาเหลือจำนวนหนึ่งก็เลยคิดว่าอยากจะเล่นที่เล็กๆ ที่อบอุ่น”
Suggestion
ตั้งใจทำกิจกรรมเพื่อประโยชน์ยิ่งใหญ่ การมีพาร์ตเนอร์ดีๆ คือเรื่องที่ไม่ควรลืม
ตูน: “คิง เพาเวอร์ ซึ่งสนับสนุนมูลนิธิก้าวคนละก้าวที่ผมทำอยู่ตลอดเวลา ก็ขอบคุณมากที่เห็นความตั้งใจในสิ่งที่เราตั้งใจทำ ในครั้งนี้นอกจากสถานที่ในการจัดแสดงก็ช่วยอำนวยความสะดวกในหลายเรื่อง ซึ่งคอนเสิร์ต The B Side นี้ รายได้ทั้งหมดทั้งจากการจำหน่ายบัตรหรือขายของที่ระลึกทั้งหมด เราจะส่งต่อให้ กสศ. เพื่อส่งเป็นทุนการศึกษาให้กับน้องๆ ในโครงการก้าวเพื่อน้องปีที่ 3 คิดว่าจะเป็นโพรเจกต์ที่มีความสุขทั้งคนเล่น คนดู แล้วก็ส่งต่อความสุขให้กับคนอื่นด้วย ให้กับน้องๆ (ที่ได้รับโอกาส) ด้วยครับ”
ไม่ใช่แค่ภาพจำในกิจกรรมการกุศลที่สร้างชื่อเสียงด้านดีให้หนุ่มๆ วงร็อก แต่สิ่งที่ได้รับโดยตรง…สำหรับบอดี้สแลมทุกคนคือมวลรวมความสุขที่พวกเขาไม่ได้คาดหวังว่าจะต่อยอดไปทำอะไร ขอแค่ได้ทำแล้วมีความสุขก็พอ
ตูน: “สิ่งที่ได้จากการทำโครงการการกุศลต่างๆ ถ้าสำหรับผมน่าจะเป็นเรื่องของความสุข มวลของความสุขที่เราอยู่ด้วยกันมา 20 ปี เราได้ทำกิจกรรมดีๆ ได้ริเริ่มทำในโครงการนั้นโครงการนี้ ในฐานะที่เรามีเสียงเล็กๆ เราก็ขอใช้ในฐานะนักดนตรีทำให้มันเป็นประโยชน์บ้าง ผมว่ามวลเหล่านี้ต่างหากที่ทำให้เราได้เดินทางในฐานะวงดนตรีแบบที่เราเป็นอย่างนี้ เรารู้แล้วว่าความหมายของการที่เรามีชื่อเสียงแบบเล็กๆ มันจะต่อยอดไปทำอะไรได้บ้าง เราก็เลยลองคิดลองทำกันดู ซึ่งพอมันเกิดประโยชน์กับคนอื่นจริงๆ เกิดรอยยิ้มจริงๆ ก็เป็นเหมือนวงจรทำให้เกิดพลังงานดีๆ กับเราทำให้ทำงานต่อได้”
มุมมองความสำเร็จจากคนภายนอก สำหรับ บอดี้สแลม ก็ไม่ใช่ว่าจะราบรื่น การได้มาอาจจะง่ายแต่รักษาไว้เป็นอีกเรื่องสำหรับ ปิ๊ด มือเบส ที่อยู่กับวงการตั้งแต่เริ่ม “สำหรับผมน่าจะเป็นเรื่องของอายุงานที่มันสอนตัวเรา มองจากที่ตัวผมเองเลย ปกติที่ผ่านมา ผมก็เป็นคนใจร้อน อารมณ์ร้อน แต่พออายุงานมากขึ้นแล้วก็ได้เรียนรู้อยู่ด้วยกันมากขึ้น ทุกๆ อย่างมันก็หล่อหลอมแล้วก็สอนให้ผมใจเย็นลง ปล่อยวางมากขึ้น”
“อุปสรรคส่วนมากจริงๆ แล้วไม่ค่อยมาจากปัจจัยภายนอกเท่าไร หมายความว่า ผมว่ามันเป็นเรื่องธรรมดาอยู่แล้วที่เราทำงาน คนเราอยู่ด้วยกัน เรามีความต่างกันอยู่ ซึ่งในช่วงแรกๆ ของการทำงานมันต้องมีการปรับจูนกัน อาจจะเห็นตรงกันบ้าง ไม่ตรงกันบ้าง แต่ในที่สุดอย่างที่ปิ๊ดบอก เวลามันก็จะหล่อหลอมพวกเราให้มีความเข้าใจกันมากขึ้น ถ้าถามผม ผมว่าอุปสรรคก็เหมือนเรื่องทั่วๆ ไปครับ ก็คือเรื่องของการทำงานที่ความเห็นไม่ได้ตรงกันในทุกเรื่อง แต่สุดท้ายที่สุดแล้วเราก็มานั่งปรับจูนเข้าหากันแล้วก็มีดนตรีนี่แหละครับ ดนตรีที่พวกเราทำด้วยกันเป็นสิ่งที่ยึดเหนี่ยวพวกเราไว้ได้ตลอดเวลา” โอม สมาชิกล่าสุดพูดเสริม
การรักษาความสำเร็จยากกว่าการได้มา ต้องรักษาไว้ดีๆ
ตูน: “การทำงานของเราทุกอัลบั้ม เราตั้งต้นจากความสนุก ความชอบ…ความอยาก(ทำ)ก่อน สมมติว่าเราทำแล้วมันตอบโจทย์ความสนุก ความชอบ ความอยากของเรา เรื่องราวของเรา ที่เราได้ทั้งในแง่ดนตรีเอง ทั้งในแง่เนื้อร้อง เราได้สื่อสารออกไปอย่างที่เราตั้งใจแล้วเนี่ย พอเราปล่อยเพลงออกไป สิ่งที่ตอบรับกลับมามันคือกำไรแล้ว เราชอบมัน เรามีความสุขในฐานะคนเล่นคนร้อง ผมว่ามันก็ที่สุดแล้วในฐานะคนทำงาน…คนดนตรีทำงานเพลง”
“อาจจะเทียบเคียงกับคนเขียนหนังสือหรือคนวาดรูป คนเขียนหนังสือที่เขารัก เขารู้สึกว่าเขาอินกับมันมากแล้วเขาสำเร็จแล้วเนี่ย หรือคนวาดรูป ทำเพนติ้ง หรืออะไรก็ตาม เขาใส่อารมณ์ เขาวาดด้วยหัวใจ เสร็จแล้วเป็นภาพ…แล้วพอเขาให้คนอื่นได้ดู คนอื่นชอบมันแล้วรู้สึกกับมันในแบบที่เขาต้องการเนี่ย ผมว่าเป็นกำไร เป็นสิ่งที่สวยงาม
พวกเราบอดี้สแลมทำงานจากโจทย์นี้ ก็คือเอาแต่ใจตัวเองมาตลอด แล้วก็โชคดีที่หลายๆ คนที่เป็นแฟนเพลงก็เห็นความเอาแต่ใจตรงนี้ แล้วก็เห็นความสนุกตรงนี้ที่เราถ่ายทอดออกไป เห็นความจริงจัง ซีเรียส เห็นเรื่องราวต่างๆ ทุกคนมีจุด ยึดโยงกับมัน”
จากวัยรุ่นมาถึงวัยเข้าเลขสี่ กับการทำงานที่อาจจะเปลี่ยนไปเพราะเรื่องอายุที่มากขึ้น
โอม: “คิดว่ามันคงไม่ได้เรียกว่าผลกระทบขนาดนั้น ผมว่ามันก็เป็นธรรมชาติมากกว่าครับ ธรรมชาติที่เวลาเราผ่านอะไรมาเรื่อยๆ ก็เป็นตามวัย ถ้าเราอายุมากขึ้น สิ่งที่เราพูดก็จะเป็นเรื่องเชิงลึกซึ้งมากขึ้น ไม่ได้ฉาบฉวยพูดในเรื่องความรักตามประสาหนุ่มสาว ผมว่ามันเป็นเรื่องของธรรมชาติของคน ถ้าเราตัดเรื่องดนตรีออกไป หรือตัดเรื่องเนื้อร้องออกไป สิ่งที่เราจะพูดกันในคนวัยนี้ ก็เรื่องลูก เรื่องทำงาน เรื่องครอบครัว เราจะตัดเรื่องความรักป๊อปปี้เลิฟ ก็ไม่ได้พูดถึงมากนัก ผมว่ามันก็คงเป็นธรรมชาติครับ”
“ถ้าจะเปลี่ยนก็คงค่อยเป็นค่อยไป ไม่ได้หน้ามือหลังมือ มันจะค่อยๆ เรื่อยๆ เราก็พูดมาตั้งแต่อัลบั้มต่ออัลบั้มเรื่อยๆ ก็จะเปลี่ยนแปลงทีละเล็กละน้อยตามวุฒิภาวะ ตามวัยของพวกเราครับ”
“ซื่อสัตย์กับสิ่งที่เรามีความสุข แล้วก็เติมในสิ่งที่ข้างนอกเป็นอยู่”
วงบอดี้สแลม
การทำงานในยุคโซเชียลเน้นความเร็ว กระชับ แทบจะไม่มีผลต่องานภาษาสวยๆ สื่อความหมายลึกซึ้งในแบบฉบับของบอดี้สแลม ที่เริ่มทุกการทำงานจากตัวตนของศิลปิน ณ เวลานั้นๆ เป็นหลัก
ตูน: “ก็ยังคงเป็นแบบที่เรามีความสุข วันนี้เรามีความสุขกับแบบนี้ เราไม่เคยเอาโจทย์ของข้างนอกเข้ามาทำงาน ว่าข้างนอกเป็นแบบนี้ เราทำแบบนี้กันเถอะ หรือข้างนอกชอบแบบนี้ เราทำแบบนี้กันเถอะ เราเหมือนขึ้นรูปจากสิ่งที่เราเป็นในแต่ละ พ.ศ. มานั่งคุยกันบ้าง มาสังเกตกันเองบ้าง ว่าเออทุกคนชอบแบบไหนกันแล้ว ไม่ใช่เฉพาะเรื่องการเล่นดนตรี เรื่องการเล่นก็ตาม เรื่องสไตล์เพลงที่ทุกคนชอบมันก็เดินทางกันไป”
“ผมว่าสิ่งเหล่านี้ต่างหากที่มันเป็นสิ่งที่ยั่งยืนในการเป็นวงดนตรี ก็คือการดูว่าทุกคนเป็นยังไงกันบ้าง อยากเล่นอะไร อยากใส่อะไร ไม่อยากใส่อะไร แล้วก็นำเสนอไปแบบนั้น ซื่อสัตย์กับสิ่งที่เรามีความสุขแล้วก็เติมในสิ่งที่ข้างนอกเป็นอยู่ ดูบ้างเพื่อให้มันมีอรรถรสใหม่ๆ ชูรสบ้าง ขออนุญาตใส่ชูรสนิดหนึ่ง ไม่งั้นมันจะเป็นวงจืดชืดไปหน่อย เราก็ร่วมสมัยไปได้ก็ขอเป็นแบบนี้ละกันที่เป็นสิ่งที่เรายึดมั่นอยู่ ก็คือการที่เรามีความสุขกับดนตรี สิ่งที่เราทำในแต่ละช่วงเวลา”
20 ปีในวงการเพลง มีการเกิดขึ้นของแฟนเพลงรุ่นใหม่ๆ ที่มารวมตัวกับแฟนเพลงรุ่นเก่าอยู่ตลอด การทำเพลงโดยยึดความสุขของศิลปินเป็นหลัก ก็คือการย้ำความเป็นเอกลักษณ์ของ บอดี้สแลม ที่ โอม มือคีย์บอร์ด พูดว่าการมองแฟนเพลงไม่ได้แยกว่ารุ่นใหม่หรือเก่า การทำเพลงและสร้างความสนุกบนเวทีก็เพื่อแฟนเพลงทุกคนเท่ากัน
ชัช: “การเปลี่ยนแปลงของพวกผมก็เป็นสไตล์เหมือนที่เพื่อนๆ บอก ทั้งเรื่องเพลง เรื่องความเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละคน เป็นธรรมชาติ”
ปิ๊ด: “บอดี้สแลมไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไร ถ้าจะมีก็คือมีแต่เพิ่ม เพิ่มพี่โอมเข้ามา แล้วอีกเดี๋ยวก็คงต้องไปลดน้ำหนักกัน เพราะอย่างอื่นมันก็เปลี่ยนตามเวลา แต่ว่าเปลี่ยนคือมันดีขึ้น แต่ที่ไม่เคยเปลี่ยนก็คือสมาชิกวง”
ยอด: “เรื่องที่เพื่อนพูดมาก็ถูก แล้วก็ที่ไม่เคยเปลี่ยนและตัวเองทำได้ดีที่สุด ก็คือการเล่นดนตรีก็เป็นสิ่งเดียวที่คิดว่าตัวเองทำดีที่สุดแล้ว แล้วก็ไม่มีแพลนบีที่จะทำอย่างอื่นเลย”
ความจริงจังในเส้นทางนักดนตรีของ ยอด ดูจะเป็นสิ่งที่ทุกคนพอใจ และเห็นไปในทางเดียวกัน
โอม: “ผมว่าทุกคนก็คงคิดคล้ายๆ กัน คือเราก็ยังเป็นตัวของพวกเราอยู่อย่างนี้ ทำเพลงกันอย่างนี้ คือสิ่งที่เราไม่เปลี่ยนและก็ยึดถือมันมาเป็นหลักในการทำงานของพวกเราตลอดมา และก็ต่อไปครับ”
ตูน: “ผมว่ามันน่าจะเป็นเรื่องเดียวกัน คือการที่เรายึดมั่นกับสิ่งที่เราชอบ สิ่งที่เราคิด ว่าเราจะทำเพลงไปเพื่อความสุขของตัวเอง มันจะไปตอบโจทย์ความสุขของใครได้ด้วยก็เป็นเรื่องที่ดี”
โอม: “อีกอย่างหนึ่งที่ว่าพวกเราไม่เคยเปลี่ยน คือเราก็ยังมีความอยากที่จะทำสิ่งที่เรารักเท่าเดิม จริงๆ มากขึ้นด้วยซ้ำ ตั้งแต่วันแรกที่เป็นบอดี้สแลมด้วยกันมาจนถึงวันนี้ ผมว่าเรายังรักที่จะเป็นอย่างนี้ตั้งแต่วันแรกครับ ความตั้งใจอยากทำในสิ่งที่รัก”
ผ่านเรื่องหนักเบา ทั้งในชีวิตนักดนตรี เส้นทางส่วนตัว และเรื่องที่เกี่ยวข้องกับภายนอก มีท้อแท้ เหนื่อยล้า การรักษาพลังนักสู้ คือเรื่องที่สมาชิกทุกคนต้องช่วยกัน
สำหรับ โอม ที่บอกว่าความเหนื่อย ท้อแท้ ก็เกิดขึ้นกับทุกคน บางคนก็บ่อยๆ ไม่ใช่แค่ครั้งเดียว ซึ่งอาจจะผิดคาดว่า ตูน จะบอกว่าในเวลาแบบนั้น อาจจะดีกว่าถ้าให้แต่ละคนได้มีเวลาอยู่กับตัวเองมากขึ้น
“บางทีถ้ามันเกิดอารมณ์นั้นเราก็ห่างๆ กันนะ มีช่วงที่เราไม่ได้เจอกันนานๆ ไม่ได้คุยกันเลยแบบหลายๆ เดือนก็มี เป็นช่วงที่ให้ทุกคนไปใช้ชีวิตของตัวเอง”
ตูน: “มีช่วงพักทัวร์ก็มี ช่วงพักเสียงของผมที่มันก็ต้องพักก็มี เราก็ห่างกันไป พอเจอกันบ่อยๆ เริ่มตึงแล้ว พอไม่เจอกัน ทุกคนได้ไปใช้ชีวิตของตัวเอง พอคิดถึงกันก็กลับมา แล้วมันดีกว่าเดิมด้วยซ้ำ มันไม่ต้องทู่ซี้ในการเพิ่มความรู้สึกไม่ดีรู้สึกหมดแรงอะไรพวกเนี่ย ผมว่าบางทีการที่ไปคะยั้นคะยอจะเอาให้ได้ หรือคาดคั้นก็อาจจะนำมาซึ่งผลเสียมากกว่า”
Suggestion
นักดนตรีที่บำบัดตัวเองด้วยการเว้นระยะห่างเรื่องดนตรี
ตูน: “การพักทัวร์ พักการแสดงคอนเสิร์ตมันเคยเกิดขึ้นตอนอัลบั้ม ดัม-มะ-ชา-ติ (ปี 2556) ที่เราหยุดไปปีหนึ่งแล้วกลับมาทำอัลบั้ม แต่นั่นมันตึงในเรื่องของไม่อยากทำทัวร์แล้ว”
โอม: “คือไม่อยากทำทัวร์ระหว่างทำอัลบั้ม ให้โฟกัสไปที่หนึ่ง แล้วอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้เรามีแรง มีเรี่ยวแรง ก็คือกำลังใจจากคนรอบข้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากแฟนเพลง จากคนที่มาดู เพราะจริงๆ แล้วพวกเรารับพลังจากคนที่มาดูเราเยอะมาก ในวันที่เหนื่อย วันไหนโคตรเหนื่อยเวลาเล่นแล้วออกไปคนยังส่งพลังกลับมาให้เราอยู่ อันนั้นก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เรามีกำลังใจมากขึ้นครับ”
คุยกับ บอดี้สแลม เรื่องการทำอัลบั้มชุดที่ 8 ที่กำลังปั่นงานเพลงในห้องอัดไปพร้อมกับการออกทัวร์ ซึ่งเป็นสิ่งที่มือคีย์บอร์ดเคยไม่ชอบ แต่หลังผ่านช่วงโควิคอันยาวนาน เรียกว่าชีวิตต้องมีการปรับตัวเยอะ ความชอบไม่ชอบหลายอย่างก็ต้องเปลี่ยนไปด้วย รวมถึงวิธีการหาแรงบันดาลใจเพื่อการฝึกซ้อมไม่ให้มาตรฐานตัวเองตกลง
โอม: “ตอนนี้ต้องชอบแล้วครับ สองปีโควิด ลูกก็เข้าเรียนด้วย ต้องชอบแล้ว จะออกทัวร์ จะเข้าห้องอัด โควิดมันส่งผลกระทบกับทุกคน ไม่เฉพาะนักดนตรี ก็เหมือนอาชีพต่างๆ ที่ต้องหยุดอยู่กับบ้านเลย ไม่ได้มีงาน เรียกว่าตัดเวลาช่วงนั้นหายออกไปจากชีวิตเลยครับ หายออกไปจากสารบบการเล่นดนตรี อย่างผมนี่เครื่องดนตรีไม่ได้จับเลยสองปีเหมือนกับแบลงก์ไปเลย”
หลายคนคงคิดว่านักดนตรีว่างเมื่อไหร่ ต้องหยิบจับเครื่องดนตรีคู่ใจมาซ้อมมาเล่นตลอดเวลา ก็อาจใช่แต่ไม่ใช่กับทุกคน
โอม: “สำหรับผมก็มีหยิบจับบ้าง แต่ไม่ใช่ว่างไม่ได้ต้องหยิบมาซ้อม อย่างช่วงโควิดผมก็กำลังมีครอบครัว มีลูก สำหรับผมก็มีเวลาเลี้ยงลูกเต็มที่เลยตอนนั้น แต่เรื่องดนตรีก็ยังมีซ้อมอยู่ แต่ว่าไม่ได้ดุเดือดเลือดพล่านเหมือนตอนวัยรุ่น ไม่สามารถนั่งทีหนึ่ง 6-7 ชั่วโมงแบบนั้นได้แล้ว เต็มที่ครึ่งชั่วโมงก็เก่งแล้วครับ หนักไปทางทบทวนหรือทวนเพลงมากกว่า”
ปิ๊ด: “สำหรับผมเป็นบางช่วงครับ จะรู้ตัวครับว่าช่วงไหนฟอร์มตก นิ้วไม่ไป ก็จะกลับมาซ้อม มีตารางซ้อมให้ตัวเอง แต่ถ้าช่วงไหนที่เหนื่อยจริง ๆ ก็ต้องแอบขี้เกียจบ้าง”
ชัช: “ดูหนังไป ตีกลองไป ถ้าเราไปโฟกัสอยู่แค่เรื่องการซ้อมบางทีเครียดครับ”
หรือจะซ้อมโดยการมองเด็กรุ่นใหม่เป็นแรงบันดาลใจแบบ พี่ยอด… “ตอนนี้ผมกำลังพยายามกลับมาซ้อมหนักเหมือนสมัยวัยรุ่นให้ได้ เพราะตอนนี้กีตาร์เด็กสมัยใหม่เก่งมาก 3-4 ขวบนี่คือแบบสุดมาก”
“จริงๆ ผมอยากรู้ว่าเขาฝึกอะไรกัน ด้วยเทคโนโลยี ด้วยสื่อต่างๆ นี่มันง่ายขึ้นหรือเปล่า พยายามกลับไปฝึกเบสิกทุกอย่าง มีบางทีดูแล้วท้อเหมือนกันนะครับ ดูแล้วแบบเลิกเล่นดีกว่า เก่งจริงๆ และรูปแบบการเล่นกีตาร์เปลี่ยนไปหมดเลยตอนนี้ พวกที่เป็นกีตาร์ฮีโร่ จะมีแนวอีกแนวหนึ่งเกิดขึ้นมา ซึ่งโหหห มันยากจริงๆ ครับ ก็เลยพยายามที่จะฝึก พยายามที่จะทำให้ได้ครับ เพราะที่ผ่านมาก็มีเวลาบ้างที่จะฝึก”
โอม: “จริงๆ ตอนนี้ผมก็เรียนรู้จากยูทูบนะครับ ผมว่าเป็นเรื่องที่ดี อย่างผมเนี่ยเรียนดนตรีจะฝึกเพลงสักเพลงต้องไปหอสมุดแห่งชาติ ไปหาโน้ตแล้วก็ไปซีร็อก หรือบางทีไม่มีก็ต้องสั่งจากไปรษณีย์กลาง สี่พระยา ต้องไปอย่างนั้น กว่าจะได้โน้ตเพลงแต่ละเพลงต้องรอเป็นอาทิตย์ เดี๋ยวนี้ง่ายมาก ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีนะ ผมไม่สงสัยว่าทำไมเด็กสมัยนี้เก่งขึ้น ผมว่าเทคโนโลยีเอย สื่อเอย มันเปิดให้เขาฝึกอย่างถูกต้อง ถูกวิธีมาตลอด”
ถ้าอยากได้เคล็ดลับความสำเร็จ สิ่งหนึ่งที่ บอดี้สแลม บอกได้คือ การไม่ปิดกั้นตัวเอง ไม่เปลี่ยนตัวเองไปตามกระแสแต่ก็ไม่ได้ต่อต้าน โดยเฉพาะเรื่องของดนตรีที่การตามรสนิยมของคนฟังไปพร้อมกับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงก็เป็นการเรียนรู้พัฒนาตัวเองที่ดี
ตูน: “ถามเรื่องกระแสดนตรีในโซเชียล ผมว่ามันก็เป็นรูปแบบการใช้ชีวิตของคนนะครับ ทุกสิ่งมันก็ถูกซอยให้สั้นลงให้เล็กลง สั้นขึ้นเพื่อความสนใจแค่นี้ มันไม่ใช่แค่เพลงอย่างเดียว เรื่องหนัง เรื่องคลิปต่างๆ มันก็ถูกย่นย่อให้สั้นลง ให้น่าสนใจไปเรื่อยๆๆๆๆ ทุกคนจะได้อยู่กับตรงนี้ไปเรื่อยๆ ผมว่าเพลงก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่อยู่ในความสนใจที่ทุกคนจะต้องทำให้มันน่าสนใจภายในสามสิบวิ สี่สิบห้าวิ ผมว่ามันก็เป็นธรรมดาธรรมชาติแหละครับ บางเพลงเขาก็แต่งมายาวๆ แล้วก็ถูกคัดไปใช้แต่ท่อน ฮุคอย่างเดียว ผมว่ามันก็เป็นแค่อีกรูปแบบหนึ่ง (มีเสียงสมาชิกถาม เขาเรียกมีมหรือเปล่าครับ)”
“ผมก็ไม่เห็นถึงข้อเสียนะครับ ผมว่ามันก็เป็นเรื่องดีด้วยซ้ำในแง่คนทำเพลงที่จะได้ทำเพลงที่มีความหลากหลาย เอาไปใช้ในที่ต่างๆ ได้มากขึ้น เปิดโอกาสให้คนทำเพลงปล่อยลงในที่ต่างๆ ไม่ต้องเป็นค่าย มันมีรูปแบบให้เขาได้นำเสนอ ผมว่ามีแต่เรื่องดีๆ นะครับ”
ซบเซากับการอยู่บ้านในช่วงโควิดมานาน ถึงเวลาที่จะปล่อยตัว เปิดใจให้สนุกสนานไปกับคอนเสิร์ตที่เกิดขึ้นเพื่อแฟนพันธุ์แท้ บอดี้สแลม เพลงที่หลายคนคิดถึง เพลงที่อยู่ในใจของหลายคน ในพื้นที่ที่ศิลปินจะได้ใกล้ชิดกับแฟนเพลง คอนเสิร์ต บอดี้สแลม “พูดในใจ” THE B SIDE CONCERT จะเกิดขึ้นที่โรงละครอักษรา คิง เพาเวอร์ รางน้ำ ทั้งหมด 5 รอบ ระหว่าวันที่ 30-31 มีนาคม และ 1-3 เมษายนนี้ จำหน่ายบัตรทาง www.theconcert.com (รายได้จากการจำหน่ายบัตรไม่หักค่าใช้จ่าย มอบให้ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ในโครงการ ก้าวเพื่อน้องปีที่ 3)
พูดดังๆ เกี่ยวกับ บอดี้สแลม
• รายได้จากการจำหน่ายบัตร THE B SIDE CONCERT ไม่หักค่าใช้จ่าย มอบให้ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ในโครงการ ก้าวเพื่อน้องปีที่ 3
• โครงการ ก้าวเพื่อน้อง เป็นโครงการหาทุนการศึกษาให้น้องๆ นักเรียนในโครงการ 2 ปีที่ผ่านมาสนับสนุนการศึกษาให้เด็กๆ ได้เรียนต่อโดยมอบทุนตลอดการศึกษาเป็นเวลา 3 ปี มี “น้อง” ที่ได้รับทุนการศึกษาไปแล้ว 148 ทุน และโครงการยังคงเดินหน้าไปต่อ