Summary
“คลั่งรัก” อาการของคนตกหลุมรักอย่างถอนตัวไม่ขึ้น มีระดับของความรักชอบที่มากชัดเจน เกินการควบคุมของตัวเอง ไม่สามารถยับยั้งความนึกถึงนั้นได้ นี่คงเป็นคำนิยามง่ายๆ ในแบบฉบับของวง “Boy in Love” เพราะสมาชิกทั้ง 8 คนจะมาถ่ายทอดความรู้สึกผ่านบทเพลง ที่แม้ว่าคุณจะไม่มีแฟนก็สัมผัสถึงอารมณ์ “อินเลิฟ” ได้ง่ายๆ ไปพร้อมกัน
“ถ้าเล่นดนตรีแล้วอยากดัง (ต้องเปิดลำโพง)”
“เจ็บกว่าถูกหลอก คือเชื่อมาตลอดว่าถูกรัก”
“สกิลดนตรีก็เหมือนกับการเล่นเซิร์ฟ บางครั้งโดนเนิร์ฟ* แต่บอยอินเลิฟไม่เคยหวั่น”
*เนิร์ฟ (Nerf) คือ การปรับให้ตัวเกมหรือบางอย่างในเกมมีประสิทธิภาพลดลง เพื่อให้เกิดความสมดุลในเกมมากขึ้น
แค่ให้พูดเกริ่นแนะนำวงตัวเอง ยังเปิดตัวมาพร้อมความเปรี้ยวถึงใจขนาดนี้ เชื่อว่าทุกคนคงเห็นภาพคาแรกเตอร์ที่ชัดเจน (มากๆ) ของวง Boy in Love โดยไม่ต้องมีคำอธิบายอะไรเพิ่มเติมอีกแล้ว ซึ่งสมาชิกทั้ง 8 คน ประกอบด้วย เดย์ – ภัคธร ราชฉวาง (นักร้องนำ) เฟิร์ส – ธนัทชัย สกุลโรจนวงศ์ (กีตาร์) โมเดล – ธนวัฒน์ แก้วบวร (กีตาร์) โฟกัส – จิรพันธุ์ เพ็ชร เอี่ยม (เบส) โอม – คุณานนท์ ฤทธิ์ศร (กลอง) ไอซ์ – ธนกร เกาะกลาง (คีย์บอร์ด) จีน – ชัญญา ศรีธวัชพงศ์ (คีย์บอร์ด) ปิดท้ายด้วย เปา – ภูมิพัฒน์ ประเสริฐลักษมี (แซกโซโฟน) กับ เวทีการประกวดวงดนตรีสากลคุณภาพระดับประเทศ THE POWER BAND 2024 SEASON 4 สนามนครปฐม ซึ่งเดินทางมาถึงสนามภูมิภาคสุดท้าย ภายใต้คอนเซปต์ “เป็นได้สุด เป็นไปได้ ด้วยพลังแห่งดนตรี จัดโดย คิง เพาเวอร์ ไทย เพาเวอร์ พลังคนไทย ร่วมกับ วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล
“ก่อนที่เราจะเป็นนักดนตรีที่ดี เราต้องเป็นผู้ฟังที่ดีด้วย”
วง Boy in Love (กรุงเทพฯ)
รุ่นบุคคลทั่วไป เส้นทางสู่ศิลปินมืออาชีพ (Professional Class : Road to Artist)
THE POWER BAND 2024 SEASON 4 สนามนครปฐม
ไอซ์ – จีน (คีย์บอร์ด) – เดย์ (ร้องนำ)
เฟิร์ส (กีตาร์) – โมเดล (กีตาร์) – โฟกัส (เบส)
เปา (แซกโซโฟน) – โอม (กลอง)
Avengers Assemble
ใครที่เคยชมภาพยนตร์แนวซูเปอร์ฮีโรเรื่อง อเวนเจอร์ส คงคุ้นกันดีกับความเก่งกาจของตัวละครอันหลากหลายที่มารวมตัวกันเพื่อทำภารกิจพิทักษ์โลก หากจะลองนำมาเปรียบเทียบกับฝีมือของสมาชิกแต่ละคนในวง Boy in Love นี่ก็คือ การรวมตัวของเหล่าอเวนเจอร์สทางด้านดนตรีดีๆ นี่เอง เพราะนอกจากจะมีความจี๊ดจ๊าดจัดจ้านในแต่ละเครื่องดนตรีแล้ว แต่ละคนยังมีความสามารถอันโดดเด่นที่พร้อมจะปล่อยหมัดเด็ดให้ทุกคนได้อึ้งทึ่งไปพร้อม ๆ กัน
“พวกผมรู้จักกันอยู่แล้วครับ จากชมรม TU Folk Song ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” โอม มือกลอง เริ่มเล่าถึงความเป็นมาในการรวมตัวของเหล่าผู้มากความสามารถ “ตอนแรกวงจะไม่เกิดขึ้นแล้วด้วยซ้ำ แต่ด้วยความรั้นของพี่เดย์ที่อยากจะมาแข่งขันที่รายการ THE POWER BAND SEASON 4 ให้ได้ เลยทำให้ทุกคนมารวมตัวกัน”
Q: รู้หรือไม่? วง Boy in Love เดิมจะใช้ชื่อวงว่าอะไร
A: “ชาย 7 หญิง 1” แต่ดูกำปั้นทุบดินไปหน่อย เลยเปลี่ยนมาเป็น Boy in Love แทน
เมื่อหันไปถามถึงสาเหตุของความดึงดัน เดย์ นักร้องนำ กล่าวด้วยน้ำเสียงเรียบๆ แต่คงความเท่ว่า “เมื่อก่อนตอนพวกเราเด็กๆ ก็เคยผ่านการประกวดกันมาบ้าง เช่น ตอนประถม ตอนมัธยม แต่หลังจากนั้นก็ไม่ได้ประกวดอีกเลย ผมแค่รู้สึกว่าอยากสนุกกับเพื่อนๆ ครับ อยากเล่นดนตรีกับเพื่อนๆ กลุ่มนี้ด้วยกันสักครั้งบนเวทีการประกวด เท่านั้นเอง”
“ตอนแรกสมาชิกจะมีแค่ 7 คน แต่วันนั้นผมไปนั่งเล่นเกมที่ห้องพี่เปา ก็เลยหันไปถามว่า ‘พี่ไปแข่งดนตรีกับผมป่าว’ พี่เปาก็คือตอบตกลงทันที” โอม มือกลอง เล่าต่อด้วยน้ำเสียงร่าเริง “จริงๆ แล้ววันนั้นที่ตอบตกลงด้วยความไวแสง ก็เพราะความว่างเป็นเหตุครับ พอดีช่วงนั้นไม่ค่อยมีอะไรทำ เบื่อๆ ก็เลยตอบตกลงไป (หัวเราะ)” เปา มือแซกโซโฟน ตอบแบบติดตลก
Q: รู้หรือไม่? ใครคือสมาชิกของวง
ที่เคยคว้าแชมป์ประกวดดนตรีเวทีใหญ่เวทีหนึ่งมาก่อน
A: เปา มือแซกโซโฟน จากวง Full Feel Ska โรงเรียนพระหฤทัยนนทบุรี
Q: แล้วรู้หรือไม่? สมาชิกคนไหน
เคยคว้ารางวัลชนะเลิศ THE POWER BAND เมื่อ SEASON 1
A: โฟกัส มือเบส รุ่นมัธยมศึกษา Class F วง Sixth Floor
Suggestion
เล่นของยาก แต่ย่อยง่าย
ด้วยคาแรกเตอร์ของวงที่ชัดเจน บวกกับทักษะทางด้านดนตรีของสมาชิกแต่ละคนที่ค่อนข้างมีสไตล์ใกล้เคียงกัน ทำให้วง Boy in Love มีความโดดเด่นและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวสูง จนได้รับคำชมจากคณะกรรมการว่า “เป็นวงที่มีจุดแข็งคือ ใช้ของยากได้เก่ง เล่นของยากแต่ทำออกมาแล้วเข้าใจง่าย ย่อยง่าย ไม่ซับซ้อน”
ซึ่งพอได้จับเข่าคุยกันในรายละเอียดก็พบว่าจุดร่วมหนึ่งของวง Boy in Love คือ “วงเรามีความชอบแนวดนตรีคล้ายๆ เพลงที่เรียบเรียงขึ้นมาใหม่ก็เลยออกมาเป็นอย่างที่ทุกคนได้ฟังไปตอนแข่งขัน พวกเราขอเรียกรวมๆ ว่า เป็นดนตรีป็อปแบบบอยอินเลิฟละกันครับ มันจะมีกลิ่นอายของโซล อาร์แอนด์บี มีความกรูฟนิดๆ ฟังก์หน่อยๆ ฟิวชันเยอะๆ ครับ” โมเดล มือกีตาร์ เริ่มต้นอธิบายถึงแนวดนตรีแบบ Boy in Love โดย เดย์ นักร้องนำ ช่วยเสริมว่า “พวกเราพยายามส่งต่อพลังงานของพวกเราให้กลมกล่อม เพื่อส่งไปให้ถึงคนดูให้ได้มากที่สุด พวกเราไม่มีความคิดที่อยากจะมาเพื่อโชว์สกิล เพื่อใช้ของยากอะไรเลย แต่ผมคิดว่าทุกอย่างน่าจะเป็นไปเองมากกว่า อย่างที่โมเดลพูดเมื่อกี้ เพราะพวกเราชอบฟังเพลงแนวเดียวกัน ก็เลยอาจจะซึมซับเทคนิคต่างๆ จากศิลปินหรือนักดนตรีที่พวกเราชอบ เข้ามาโดยไม่รู้ตัวครับ”
“อีกอย่างหนึ่งคือ วงพวกเราไม่มีลีดเดอร์ค่ะ ไม่มีใครเป็นคนตัดสินใจหลัก เวลามีอะไรเราจะแชร์ไอเดีย แชร์ความรู้ให้กันตลอดเวลา คอยถามอยู่เสมอว่ามันโอเคแล้วหรือยัง มีใครยังติดอะไรตรงไหนอีกไหม ถ้าที่เล่นมาแล้วมีคนไม่โอเค ก็จะขอเปลี่ยนกันตรงนั้นเลยค่ะ” จีน มือคีย์บอร์ด ช่วยขยายความ “เพราะก่อนเราจะเป็นนักดนตรีที่ดี เราต้องเป็นผู้ฟังที่ดีด้วย” ไอซ์ มือคีย์บอร์ด อีกคนหนึ่งของวงกล่าวปิดท้ายว่า “ไม่มีมาแอบโกรธหรือผิดใจกันทีหลังนะครับ เพราะตอนนั้นได้เปิดใจคุยกันตรงๆ ไปหมดแล้ว เป็นการติเพื่อก่อครับ”
“ดนตรีเป็นทั้งสิ่งที่ ‘กดดัน’ และ ‘ผลักดัน’ ตัวเราได้ในเวลาเดียวกัน
อยู่ที่มุมมองของเราที่มีต่อดนตรีมากกว่า
ว่าจะเอนเอียงไปทางฝั่งไหนมากกว่ากัน”
วง Boy in Love
ซ้อมน้อย…แต่ซ้อมนะ แฮร่!
คำว่า “รู้ตัวเมื่อเกือบสาย” ใช้อธิบายสถานการณ์ของวง Boy in Love ได้เป็นอย่างดี เพราะกว่าพวกเขาจะรวมตัวได้ครบทั้ง 8 คน และตัดสินใจเข้าร่วมแข่งขันรายการ THE POWER BAND 2024 SEASON 4 ก็พบว่าเหลือเวลาแค่สองอาทิตย์เท่านั้น ซึ่งสนามนครปฐมถือเป็นตั๋วใบสุดท้ายก่อนเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศแล้ว อุปสรรค ปัญหา และโมเมนต์ความฮา เลยถือกำเนิดขึ้น
ไอซ์: “จริงๆ พวกเราฟอร์มวงได้ประมาณหนึ่งเดือนก่อนแข่ง แต่ด้วยความที่ทุกคนยุ่งมากๆ กว่าจะได้วันซ้อมที่ตรงกันว่ายากแล้ว พอถึงวันจริง สมาชิกก็มาป่วยบ้าง รถพังบ้าง เครื่องดนตรีพังบ้าง อุปสรรคเยอะไปหมด เลยต้องเลื่อนการซ้อมออกไปเรื่อยๆ ดูเป็นสัญญาณไม่ค่อยจะดีเนอะ (หัวเราะ)”
โอม: “แถมเพลงที่ใช้แข่งยังเรียบเรียงไม่เสร็จ ก็ต้องเข้าห้องอัดแล้ว เพราะใกล้กำหนดส่งคลิปเข้าประกวด เลยต้องอัดไป ปรับแก้ไขไปตอนอยู่ในห้องอัดเลย”
Q: รู้หรือไม่? สมาชิกคนไหน มีดีกรีหมอฟัน
และกำลังศึกษาปริญญาโท ด้าน Data Science
A: จีน มือคีย์บอร์ด หญิงเดียวในวง
เดย์: “อย่างเพลง ‘บันไดสีแดง’ คือ คีย์ที่สูงที่สุดในชีวิตของผมแล้ว พอร้องท่อนไหนไม่ได้ ผมจะบีบน้ำผึ้งเข้าปากเลย ช่วยให้ชุ่มคอมากขึ้น บีบปุ๊บร้องแตะโน้ตสูงได้ปั๊บ แต่ด้วยความที่พวกเราซ้อมกันน้อย พอไปอัดจริงๆ มันก็เลยต้องร้องหลายเทค เสียงอาจจะดรอปไปบ้าง ร้องได้ไม่ดีเท่าที่ควร แต่ก็ต้องเลือกเทคที่ดีที่สุดมาใช้แล้ว วันนั้นพออัดคลิปเสร็จ ต้องตัดขาทิ้งนะ น้ำตาลขึ้นไม่ไหว น้ำผึ้งเกือบหมดหลอด (หัวเราะ)”
โมเดล: “ผมขอสปอยนิดหนึ่งได้ไหม ตอนแรกที่เลือกเพลงกัน จริงๆ แล้วมีอีกเพลงหนึ่งที่อยากเอามาเล่นในรอบนี้มากกว่า ผมก็ถามว่าแล้วทำไมไม่เลือกเพลงนั้นที่ชอบมากกว่ามาแข่ง เดย์ตอบว่ายังไงรู้ไหมครับ มันตอบว่า เดี๋ยวเอาไว้เล่นรอบชิงชนะเลิศ ตอบอย่างมั่น แบบไม่เผื่อใจว่าจะตกรอบเลย (หัวเราะ)”
เดย์: “อย่าไปบอกความจริงเขาดิ”
โอม: “ที่บอกว่าอยากมาสนุกกับเพื่อนๆ ประกวดขำๆ เมื่อตอนต้น คือโกหกนะครับ อันนี้เรื่องจริงเน้นๆ”
เปา: “พวกผมวางแผนไว้หมดแล้ว ไม่ได้มาเล่นๆ นะครับ (พร้อมใช้นิ้วชี้เคาะเบาๆ ที่ขมับด้านขวา)”
จากคำถามง่ายๆ ที่ว่า ‘ซ้อมบ่อยไหม’ ทำให้เกิดบทสนทนาที่ลื่นไหล ไม่สะดุด และดูเป็นธรรมชาติมากๆ ถึงแม้อุปสรรคปัญหามากมายหลากหลายสิ่งจะเกิดขึ้นระหว่างการซ้อม แต่ในความโชคร้ายก็ยังมีความฮาซ่อนอยู่ ไม่ใช่สิ! มีสิ่งที่ดีซ่อนอยู่ เพราะมันทําให้เห็นว่า พวกเขากำลังทำในสิ่งที่รักอย่างแท้จริง แม้จะมีเวลาซ้อมไม่มาก แต่ทุกครั้งที่เจอกันก็ยังจูนกันติดแล้วเดินหน้าต่อไปได้ ด้วยหัวใจที่ “อินและเลิฟ” ในสิ่งที่คล้ายๆ กัน
Suggestion
[X] ฟินคนเดียว
[✓] ฟินหมู่
นักวิทยาศาสตร์พบว่าเสียงดนตรีจะกระตุ้นการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย เช่น อัตราการหายใจ การเต้นของหัวใจ ความดันโลหิต ฯลฯ ส่วนผลทางจิตใจก็คือ ดนตรีสามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ สติ และความนึกคิด สำหรับสมาชิกวง Boy in Love ที่มีอาการคลั่งรักในเสียงดนตรี ก็รู้สึกว่าดนตรีทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภายในตัวของพวกเขาแต่ละคนเช่นเดียวกัน
โมเดล เริ่มเล่าถึงความคิดของตัวเองในฐานะที่ไม่ได้เรียนดนตรีมาโดยตรง แต่เล่นดนตรีเพราะความชอบส่วนตัวล้วนๆ “ผมมองว่าดนตรีเป็นทั้งสิ่งที่ ‘กดดัน’ และ ‘ผลักดัน’ ตัวเราได้ในเวลาเดียวกัน อยู่ที่มุมมองของเราที่มีต่อดนตรีมากกว่า ว่าจะเอนเอียงไปทางฝั่งไหน อย่างตัวผมที่บ้านอาจจะไม่ได้ซัปพอร์ตขนาดนั้น ดนตรีเลยกลายเป็นความกดดันที่เกิดขึ้นลึกๆ ภายในตัวเราเอง แต่ในอีกมุมหนึ่ง ดนตรีก็เป็นแรงผลักดันให้เราลองเดินไปให้สุดทาง ถ้ารู้สึกโลเล หรือทำอะไรครึ่งๆ กลางๆ ผมทำไม่ได้ รู้สึกว่ามันไม่เต็มที่ ดนตรีเลยพาผมมาไกลจากจุดเริ่มต้นมากๆ หลังจากเล่นดนตรีแล้ว ผมได้ทั้งสังคมที่ดี ได้เจอเพื่อนฝูงที่น่ารักและมีความรักในสิ่งที่ทำเหมือนๆ กัน การเล่นดนตรีมันไม่ใช่ว่าเราเล่นแล้วจะฟินอยู่คนเดียว มันคือ “การฟินหมู่” ครับ อาจจะฟังดูแปลกๆ นิดหนึ่ง แต่ผมรู้สึกว่ามันเป็นแบบนั้นจริงๆ มันคือ การฟินหมู่ จริงๆ ครับ”
Q: รู้หรือไม่? เพลงที่เดย์ Boy in Love เก็บไว้ใช้แข่งขัน
ตอนรอบชิงชนะเลิศ คือเพลงอะไร
A: ต้องรอติดตาม ! การแข่งขัน(รอบชิงชนะเลิศ) ในวันที่ 19 – 20 กันยายน 2567
ณ โรงละครอักษรา คิง เพาเวอร์ รางน้ำ กัน