Summary
เรื่องน่าทึ่งของกัปตันฟุตซอลจอมเก๋ากับภารกิจทำฝันให้เป็นไปได้! ตัวจริง!! กฤษดา วงษ์แก้ว โดดเด่นบนสนามฟุตซอลมานาน 16 ปี ในฐานะนักกีฬาทีมชาติไทยและทีมชลบุรีบลูเวฟ ในวัย 35 เขาตัดสินใจเดินตามความหลงใหลวัยเยาว์ ย้ายไปเล่นให้สโมสรฟุตบอลนครปฐม ยูไนเต็ด
บทใหม่ในชีวิตของกฤษดา วงษ์แก้ว หรือ “กัปตันช้าง” นี้เน้นย้ำถึงความแน่วแน่ เปิดรับความท้าทาย และยังก้าวข้ามข้อจำกัดเพื่อไล่ตามฝัน เป็นเรื่องที่ให้แรงบันดาลใจด้วยชีวิตระหว่างสนามฟุตบอลและสนามฟุตซอลของเขาไม่ธรรมดา และไม่ธรรมดาขึ้นอีก เมื่อมันเริ่มต้น…สนามปิงปอง
แชมป์ปิงปองสู่สิงห์นักเตะ
หนุ่มราชบุรีคนนี้มีใจรักในกีฬามาแต่เด็กๆ เคยเป็นแชมป์เทเบิลเทนนิสสมัยประถม ก่อนเปลี่ยนไปเล่นฟุตบอลเมื่อย้ายสู่โรงเรียนมัธยม ด้วยความสามารถโดดเด่น กฤษดาถูกดึงตัวไปทดสอบฝีเท้าคัดตัวนักฟุตซอลและได้เป็นตัวแทนจังหวัด เพื่อร่วมแข่งกีฬาเยาวชน เขายังใช้ช่วงวันหยุดเดินสายแข่งขันฟุตบอล 7 คน นอกจากได้เล่นสนุกแล้ว “ยังได้สตางค์ด้วย”
“ผมเป็นคนที่สู้ตลอดเวลา เป็นผู้กล้า เป็นผู้นำ
จุดนี้ที่ทำให้ผมพาทีมไปได้ คอยสู้ คอยวิ่ง
ถ้าผมเป็นกัปตันทีมแล้วผมไม่วิ่ง ผมไม่สู้ ลูกทีมก็จะไม่ทำตามเหมือนเรา”
กฤษดา วงษ์แก้ว (กัปตันช้าง) นักกีฬาทีมชาติไทย
หลังจบมัธยม กฤษดาเดินสายไปเล่นฟุตบอลที่เกาะพะงัน สุราษฎร์ธานี ระหว่างนั้น เขาได้ดูถ่ายทอดสดการแข่งขันระหว่างชลบุรีบลูเวฟกับแคทเทเลคอมในฟุตซอลไทยลีกซึ่งเพิ่งเริ่มปีแรก ไม่กี่วันถัดมาเขามีโอกาสไปคัดตัวเป็นนักกีฬาของทีมซึ่งเพิ่งได้เห็นในโทรทัศน์ ไม่นานหลังจากนั้น เขากลายเป็นส่วนหนึ่งของสโมสรฟุตซอลชลบุรีบลูเวฟ “ผมได้รู้จักฟุตซอลลีก ได้เซ็นสัญญา ได้เงินเดือนตอนนั้น”
ตั้งแต่ปี 2550 กฤษดาไต่เต้าจากทีมชุดเล็ก จนเป็นตัวจริง ได้สัมผัสถ้วยแชมป์ร่วมกับเพื่อนๆ และด้วยความสามารถ เขาได้เป็นนักกีฬาฟุตซอลทีมชาติไทย เริ่มจากทีม U23 และในปีถัดมา “ในรายการเอเชียนอินดอร์เกมส์ (การแข่งขันกีฬาในร่มแห่งเอเชีย) ผมติดเป็น 14 คนสุดท้ายของชุดใหญ่ หลังจากนั้นผมก็ติดชุดใหญ่มาตลอด”
กฤษดาโดดเด่นทั้งกับ “ฉลามชล โต๊ะเล็ก” ชลบุรีบลูเวฟ ทีมดีกรีแชมป์ไทยแลนด์ฟุตซอลลีก 11 สมัย และแชมป์ ฟุตซอลสโมสรเอเชีย 2 สมัย ในนามทีมชาติไทย เขามีส่วนให้ทีมเข้ารอบ 2 ในฟุตซอลชิงแชมป์โลก 2012 เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์
Suggestion
จากฟุตซอลไปฟุตบอล
นักกีฬาอาชีพส่วนใหญ่จะถึงจุดสูงสุดในช่วงอายุ 20 และเมื่อขึ้นวัยเลข 3 หลายคนอาจเตรียมตัวเกษียณ แต่ “ฮีโร่ฟุตซอล” คนนี้ตัดสินใจว่า อายุไม่ควรเป็นข้อจำกัด ด้วยไฟในหัวใจที่มี กฤษดาเลยออกเดินทางเพื่อพิชิตสนามฟุตบอล
ต้นปี 2566 กฤษดาย้ายจากชลบุรีบลูเวฟด้วยสัญญายืมตัวไปเล่นให้ทีมนครปฐม ยูไนเต็ด ก่อนทีมจะได้แชมป์ลีก 2 และเมื่อฤดูกาลใหม่เริ่ม เขากลับลงสนามใส่เสื้อหมายเลข 7 ของทีมนครปฐม ยูไนเต็ด อีกครั้ง เมื่อทีมเลื่อนชั้นกลับมาแข่งขันในลีกสูงสุดของประเทศในฤดูกาล 2566-67
“เด็กๆ ผมฝันจะเป็นนักฟุตบอลทีมชาติ ซึ่งก็คงยากแล้วสำหรับผม แต่สักครั้งหนึ่ง ผมอยากจะเล่นฟุตบอลในไทยลีก ผมเล่นฟุตซอลมายาวนาน จนวันหนึ่งช่วงเวลามันเหมาะเจาะได้ไปเล่นฟุตบอล ต้องขอบคุณประธาน (ธัชพัทธ์ เบ็ญจศิริวรรณ ประธานสโมสรชลบุรี บลูเวฟ) ที่มอบโอกาสนี้ให้กับผมมาสานฝัน”
หลังจบการแข่งขันของทีมนครปฐม ยูไนเต็ด แมตช์แรกในไทยลีกฤดูกาล 2566-2567 เมื่อสิงหาคมที่ผ่านมา กฤษดา วงษ์แก้ว โพสต์ข้อความลงในโซเชียลมีเดียส่วนตัวของเขาว่า
‘ผมไม่มีอะไรติดค้างกับชีวิตตัวเองอีกแล้ว’
แม้ว่าฟุตบอลและฟุตซอลจะเป็นกีฬาที่ดูคล้ายกัน แต่ผู้เล่นต้องการชุดทักษะที่แตกต่าง รวมทั้งคุณลักษณะทางกายภาพและยุทธวิธีการเล่น นักเตะคนนี้ยอมรับความท้าทายด้วยการเปิดใจพร้อมปรับตัวและเรียนรู้
ไม่มีวันแมนโชว์ในฟุตซอล
ในสนามแข่งขันฟุตซอลอันน่าตื่นเต้น “ผมเป็นคนวิ่ง สู้ จะไม่ยอมให้ใครมายิงประตูได้ง่ายๆ ผมต้องการทำลายเกมรุกของฝั่งตรงข้ามเพื่อตัดบอลแล้วเอาไปให้เพื่อนยิงประตู” กฤษดาพูดถึงสไตล์ส่วนตัว นอกจากนี้ “กีฬาฟุตซอลเล่นแบบ One Man Show ไม่ได้” กฤษดาบอก “คนเดียวหรือต่างคนต่างเล่นไม่สามารถชนะได้ ถ้าเราเล่นไม่เป็นระบบ ไม่รู้วิธีการโจมตีร่วมกัน การสื่อสาร การเล่นด้วยกันเป็นทีม ใครเตรียมทีมมาดี เล่นเป็นทีมได้มากกว่า ทั้งลูกสูตร ทั้งในเกมรุกเกมรับ ในการโจมตี จะได้เปรียบสำหรับกีฬาฟุตซอลมากๆ”
นักกีฬาแต่ละคนจำเป็นต้องดูแลตัวเองและรักษาระเบียบวินัย “เรื่องเวลาสำคัญมากในการอยู่ร่วมกัน ตอนเป็นเด็ก เวลามาซ้อมผมก็ไม่ได้มาก่อนเวลาหรือมาสายบ้าง พี่ๆ ก็สอนว่าควรต้องมาก่อน มาเตรียมร่างกาย เรื่องนี้สำคัญ
“แล้วก็เรื่องวินัยในตัวเอง นักกีฬาต้องดูแลตัวเอง เรื่องพักผ่อน ออกกำลังกาย ฟิตเนสต่างๆ มันสำคัญมาก เพราะถ้าร่างกายไม่ดี เราไม่สามารถจะปะทะกับเขาได้ เป็นข้อเสียเปรียบสำหรับกีฬา”
เพื่อที่จะเล่นเคียงบ่าเพื่อนร่วมทีมหรือแข้งกับทีมตรงข้ามที่อายุน้อยกว่า กฤษดาตระหนักถึงความจำเป็นในการผลักดันตัวเองให้หนักขึ้นกว่าเดิม “ด้วยวัยของเราที่เพิ่มขึ้นก็ต้องดูแลตัวเองมากเป็นพิเศษ อาจมากกว่ารุ่นน้องๆ ซึ่งก็มีเรื่อง ฟิตเนสต่างๆ เข้ามาช่วย พยายามเข้ายิมให้บ่อย ดูแลเรื่องโภชนาการมากขึ้น”
Suggestion
กัปตันและความเป็นผู้นำ
นอกจากจะเป็นผู้เล่นที่ทรงคุณค่าแล้ว ที่ผ่านมา กฤษดายังทำหน้าที่กัปตันให้กับทีมชาติไทยและทีมชลบุรีบลูเวฟด้วย
ในโลกกีฬา ปลอกแขนกัปตัน หมายถึง การเป็นผู้นำซึ่งรวบรวมหัวใจและจิตวิญญาณของทีม เพื่อขับเคลื่อนสู่ชัยชนะ
ครั้งแรกที่กฤษดามารับหน้าที่กัปตันทีมชาติไทยโดยเพื่อนๆ รวมใจโหวตให้และรับรองโดยโค้ช “ผมรู้ว่าตอนนั้นเป็นกัปตันทีมไม่ได้ เพราะดูแลตัวเองก็ยังไม่ดี ปฏิบัติตัวไม่ดี แต่สุดท้ายเมื่อเขาให้เรามาแล้ว เราก็เลยต้องปรับตัวเอง
“ในฐานะกัปตัน ช่วงแรกผมบอกตัวเองว่า ผมด้อยมาก ผมไม่รู้จะทำอะไร ผมไม่กล้าสั่ง ผมรู้สึกว่าตอนนั้นยังไม่ใช่ หลังจากนั้นผมก็ต้องปรับตัว เริ่มพัฒนาตัวเองขึ้น ผมเป็นคนที่สู้ตลอดเวลา เป็นผู้กล้า เป็นผู้นำ ผมคิดว่า ผมทำตรงนี้ได้ จุดนี้ทำให้ผมพาทีมไปได้ คอยสู้ คอยวิ่ง ถ้าผมเป็นกัปตันทีมแล้วผมไม่วิ่ง ผมไม่สู้ ลูกทีมก็จะไม่ทำตามเหมือนเรา”
ครั้งหนึ่ง สุทิน บัวตูม ผู้จัดการทีมฟุตซอลทีมชาติไทย เคยให้สัมภาษณ์ถึงกัปตันช้างว่า เขามีความสำคัญกับทีมชาติไทยและเป็นตำนาน ไม่เพียงแต่มีผลงานในสนาม แต่นอกสนามยังดูแลภาพลักษณ์ให้ทีมฟุตซอลไทย เช่น เมื่อไปแข่งต่างประเทศ กัปตันช้างจะออกจากห้องอาหารและห้องแต่งตัวของทีมสุดท้ายเสมอ เพื่อให้แน่ใจว่าทุกอย่างสะอาดเรียบร้อย
‘เขามีความเป็นผู้นำทั้งในและนอกสนามสูงมาก’
สนามกีฬากับสนามชีวิต
สำหรับกฤษดา ฟุตซอลไม่ได้เป็นเพียงเกมกีฬา แต่ยังเป็นสิ่งที่มีคุณค่าและมีอิทธิพลต่อชีวิต ทั้งยังเป็น “ครู” ผู้มอบบทเรียนต่อการเติบโตด้วย
“ฟุตบอลกับฟุตซอลเป็นกีฬาที่เล่นเป็นทีม ทำให้เรารู้จักสามัคคี ซึ่งเราต้องมีในการใช้ชีวิต ถ้าเราตัวคนเดียวไม่มีใคร เราก็จะใช้ชีวิตลำบาก ในการเล่นกีฬาฟุตบอลหรือฟุตซอลเราจะได้เจอผู้คนหลายแบบ เราสามารถนำมาปรับใช้ในชีวิตได้”
ในกีฬาและชีวิต มีแพ้มีชนะเป็นเรื่องธรรมดา “ถ้าแพ้แล้วเราจะรู้สึกเฟลไม่ได้ แมตช์นี้แพ้ก็ไม่เป็นไร เราต้องมองเกมต่อไป ควรทำยังไงให้ดีกว่า ถ้าเราเจอคู่แข่งลักษณะนี้ควรจะทำยังไง เน้นตรงไหน ทำไมเราถึงแพ้ ทำไมเราถึงสู้เขาไม่ได้ มาคิดแก้ไขดีกว่ามาโทษว่าเราผิดพลาด แพ้ก็คือแพ้ บางทีเราเล่นดี แต่เราก็แพ้ได้ เกมกีฬามันเป็นไปได้แบบนี้”
ระหว่างสนามกีฬากับสนามชีวิต กัปตันช้างบอกว่าที่ผ่านมาเขาสร้างสมดุลได้ค่อนข้างดี “ผมได้เป็นแชมป์ลีก ได้แข่งทีมชาติ เข้ารอบตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ทุกรายการ ในช่วงเกือบ 10 ปีที่ประสบความสำเร็จ หลังซ้อมเสร็จผมก็ไปรีแลกซ์ ไปเที่ยว ไปคาเฟ่ กินข้าว ตื่นเช้ามาก็ซ้อมบอล จบฟุตซอลลีกผมก็ไปเล่นทีมชาติ ถ้าปีที่เป็นแชมป์ฟุตซอลลีกก็ไปเล่นในทัวร์นาเมนต์ของชิงแชมป์อาเซียน เราได้เข้ารอบไปฟุตซอลโลก ผมมีช่วงเวลาที่ดีตลอดมา”
ส่งผ่านแรงบันดาลใจ
เช่นเดียวกับที่รุ่นพี่ทีมชาติได้สร้างแรงบันดาลใจให้กับเขา ในวันนี้ชีวิตและเรื่องราวของกัปตันช้างก็เป็นแรงบันดาลใจสำหรับคนรุ่นต่อๆ ไปได้ “เด็กๆ ผมอยู่ต่างจังหวัด สมัยยังไม่รู้จักฟุตซอล ผมดูพวกพี่ๆ นักฟุตบอลทีมชาติในทีวี อย่าง พี่ตะวัน สีปาน พี่ซิโก้ – เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง… พวกเขาเป็นไอดอลทำให้เราอยากทำ อยากเป็นเหมือนเขา อยากเดินตาม อยากประสบความสำเร็จตามเขา อยากเป็นนักกีฬาทีมชาติ
“ตอนนี้เราก็น่าจะเป็นไอดอลของน้องหลายๆ คน ที่เขาชอบฟุตซอล ชอบในตัวเรา ผมสามารถเอาความรู้ที่เก็บเกี่ยวประสบการณ์จากการได้เจอโค้ชดีๆ ได้เล่นลีกหรือในต่างประเทศไปถ่ายทอดให้กับน้องๆ”
เมื่อมีโอกาส กฤษดาอยากแบ่งปันประสบการณ์ให้เป็นประโยชน์กับเยาวชนคนรุ่นใหม่ เช่นที่เขาไปสอนเทคนิคการเล่นให้กับน้องๆ ในโครงการ “ล้านลูก ล้านพลัง สร้างฝันเด็กไทย” โดยกลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ ที่ โรงเรียนเทพศิรินทร์พุแค จังหวัดสระบุรี
“ผมพยายามสอนเขาในเทคนิคที่ผมได้เรียนรู้มาจากฟุตซอลไปใช้กับฟุตบอลได้ เป็นพื้นฐานของฟุตซอลที่สามารถไปต่อยอดกับฟุตบอลได้”
นอกจากสอนเทคนิคต่างๆ แล้ว เขายังมีกำลังใจให้กับน้องๆ ทุกคน “ขอให้น้องอดทน ตั้งใจ และสู้ฝึกฝนต่อไป ผมเองก็ไม่ได้มีพรสวรรค์มาตั้งแต่เด็ก แต่ผมใช้พรแสวงของผม เรียนรู้และฝึกฝนมา ผมชอบเรียนรู้ สู้ตั้งแต่เด็ก
“น้องๆ ต้องอดทนมุ่งมั่นตั้งใจซ้อม วันหนึ่งถ้ามีจังหวะโอกาสเหมาะสม เราก็ไขว่คว้าไว้ ทำให้ได้ เก็บโอกาสนั้นแล้วเรียนรู้และลงมือทำ วันหนึ่งก็จะประสบความสำเร็จ”
ยังไม่แน่ว่าอนาคตเขาจะสวมเสื้อแข่งลงสนามต่อหรือไปแบ่งปันความรู้ให้เด็กๆ อยู่ข้างสนาม แต่ที่แน่นอนคือ เรื่องราวที่ผ่านมาของกัปตันช้างนับตั้งแต่วันแรกในสังเวียนฟุตซอลสู่เส้นทางสู่ฟุตบอลไทยลีก เป็นเครื่องพิสูจน์ถึงพลังแห่งความมานะและความเชื่อที่ว่าอายุไม่ใช่ข้อจำกัด เมื่อหัวใจยังมีไฟลุกโชน ทุกสิ่งเป็นไปได้ หากกล้าฝันและลงมือทำ