Summary
• เขาทิ้งร่องรอยไว้ในวงการเพลงไทยตลอดสามทศวรรษ โดยเป็นผู้อยู่เบื้องหลังเพลงดังมากมาย ชายคนนี้ยังหลงใหลโลกภาพยนตร์ซึ่งกลายมาเป็นงานประจำของเขาในปัจจุบัน
• จากนักเรียนหัดเขียนเพลง ฝึกฝนพัฒนาสู่เส้นทางมืออาชีพ วันนี้เขาได้นำประสบการณ์ทั้งหมดมาถ่ายทอดให้กับศิษย์ รวมทั้งเป็นที่ปรึกษาชี้แนะผู้ดูแลสนับสนุนคนรุ่นใหม่ต่อไป
ขอบคุณภาพจากอาจารย์เชาวเลข
ชื่อของ “เชาวเลข สร่างทุกข์” ปรากฏอยู่ในแวดวงดนตรีไทยมานาน 3 ทศวรรษแล้ว
เขาเป็นคนเขียนเนื้อเพลง (Lyricist) ผู้อยู่เบื้องหลังผลงานดังมากมาย เช่น ที่ว่าง, มีเพียงเรา (พอส), อยากหลับตา (พี.โอ.พี.), ความรู้สึกของฉันที่มีเธออยู่ด้วยกันอีกหนึ่งคนบนโลกใบนี้ Minute of Love (ซูเปอร์เบเกอร์), อบเชย (อาร์มแชร์), เซโรงัง (สเลอ), แม่เกี่ยว (ปาล์มมี่), อ๊อดอ๊อด (เดอะริชแมนทอย) และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง กระเป๋าแบนแฟนยิ้ม (เดอะริชแมนทอย) เพลงยอดฮิตที่ผู้ประกวด THE POWER BAND หยิบมาใช้เป็นเพลงประกวดกัน ซึ่งเขาเขียนเนื้อร้องร่วมกับทีมแต่งเพลง (นักแต่งเพลงนี้ ได้แก่: Ruzz Pikatpairee / Chaowalek Srangtook / Prapop Chomthaworn / Akarawit Piriyodom / Wiranattha Thipphayamonthon / Ruzzy Ruzzyหรือ Ruzzy Tattoo Colour) คลิกดูรายชื่อเพลงที่เราจะได้ยินบนเวทีประกวด THE POWER BAND SEASON 4
“ถ้ารอให้พร้อมเราจะไม่มีวันได้ทำสิ่งนั้น เพราะเราจะไม่มีวันพร้อม
เหมือนเด็กหัดเดิน เขารอให้พร้อมหรือเปล่า ไม่ ก้าวเดิน ล้ม แล้วก็ร้อง แล้วหัดเดินอีก”
เชาวเลข สร่างทุกข์
โปรเจกต์ เมเนเจอร์ สหมงคลฟิล์ม
นักแต่งเพลงและอาจารย์พิเศษ
วิชา “การเขียนเนื้อเพลงดนตรีสมัยนิยม (Pop Lyrics)” วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ขอบคุณภาพจากอาจารย์เชาวเลข
เริ่มต้นที่แกรมมี่โดยมี ดี้ – นิติพงษ์ ห่อนาค เป็นครูสอนแต่งเพลงคนแรก ก่อนจะมาสร้างเสริมประสบการณ์เรื่องการเขียนเพลงที่เบเกอรี่มิวสิค ของ บอย โกสิยพงษ์ และผองเพื่อน ผ่านการทำงานกับ โซนี่ มิวสิค กลายเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งค่ายเพลงสมอลล์รูม พันธมิตรร่วมจัด THE POWER BAND 2024 SEASON 4 “Let the Music Power Your World เป็นได้สุด เป็นไปได้ ด้วยพลังแห่งดนตรี” จัดโดย คิง เพาเวอร์ ไทย เพาเวอร์ พลังคนไทย ร่วมกับ วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งส่งเพลงมาเป็น List สำหรับส่งเข้าประกวด
ในอีกด้านหนึ่ง อดีตนักศึกษาจากรั้วช่างศิลป์และศิลปากรคนนี้มีความฝันที่อยากจะเป็นผู้กำกับหนัง ในช่วงอายุ 20 จึงได้พาตัวเองไปเป็นคนเบื้องหลัง จนมีเครดิตอยู่ในผลงานหลายๆ เรื่อง และปัจจุบัน คุณเชาวเลข สร่างทุกข์ ทำงานในตำแหน่ง โปรเจกต์ เมเนเจอร์ มีหน้าที่ดูแลเรื่องเพลงให้กับภาพยนตร์ของบริษัทผู้สร้างและจัดจำหน่ายภาพยนตร์ไทยชั้นนำอย่างสหมงคลฟิล์ม
เขียนเพลงเป็นงานอดิเรก สอนเขียนเพลงเป็นงานพิเศษ
ในวัยสี่สิบเศษ เขาใช้ชีวิตในวันทำงานที่กรุงเทพฯ ใช้เวลาที่เหลือกับครอบครัวที่บ้านสวนในชลบุรี
ปัจจุบันเขาเรียกการเขียนเพลงตัวเองว่าเป็น “งานอดิเรก” และนำประสบการณ์ 30 ปีไปถ่ายทอดให้กับคนรุ่นใหม่ในฐานะอาจารย์พิเศษวิชา “การเขียนเนื้อเพลงดนตรีสมัยนิยม (Pop Lyrics)” วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา นักศึกษาทุกรุ่นจะได้รับคำแนะนำจากอาจารย์เชาวเลขว่า ถ้าอยากจะเป็นคนเขียนเนื้อเพลงให้ไปอ่านหนังสือ!
ตัวของอาจารย์เชาวเลขเอง เป็นนักแต่งเนื้อเพลงที่เล่นดนตรีไม่เป็น ไม่ถนัดเรื่องตัวโน้ตหรือทฤษฎีดนตรี แต่มีความโดดเด่นในเรื่องการใช้ภาษา การเล่าเรื่อง หรือพล็อตที่น่าสนใจ
ในการเขียนเนื้อเพลง อาจารย์เชาวเลขได้รับแรงบันดาลใจที่ยิ่งใหญ่มาจาก “การอ่าน” เขามีคลังคำศัพท์ที่สามารถนำมาใช้ได้มากมาย หนังสือที่เป็นแรงบันดาลใจในการแต่งเพลงของเขามีตั้งแต่ ปรัชญาชีวิต ของ คาลิล ยิบราน, โจนาธาน ลิฟวิงสตัน นางนวล โดย ริชาร์ด บาค, พระอภัยมณี โดย สุนทรภู่ หรือแม้แต่ กลอนจากสำนักพิมพ์ใยไหม
“การเขียนเนื้อเพลงคือภาษา ถ้อยคำ คนเขียนเพลงคือนักเขียนประเภทหนึ่ง ถ้าจะเขียนให้ได้ดีเราก็ต้องอ่านเยอะ ๆ ถ้อยคำดี ๆ มันก็จะอยู่ในหนังสือ”
นักแต่งเพลงควรเปิดใจให้กับศิลปะประเภทอื่นๆ ด้วย “ศิลปะจะส่องทางให้แก่กัน ไม่ใช่สนใจแต่เพลง ควรจะเปิดประตูไปสู่ศิลปะทุกๆ อย่าง มันจะส่งเสริมกัน”
ประสบการณ์ชีวิตและการเฝ้าสังเกตเรื่องราวรอบตัว ทั้งหมดเป็นวัตถุดิบชั้นดีสำหรับการเขียน
“เพลงคือการเล่าเรื่อง เอาเรื่องมาเล่า แล้วเรื่องที่เอาออกมาเล่าง่ายที่สุดก็คือ เรื่องของคนเขียนเอง ไม่ว่าจะเป็นการงาน อาชีพ ความรัก”
ขอบคุณภาพจากอาจารย์เชาวเลข
หนึ่งในบทเรียนที่มีค่าซึ่งอาจารย์เชาวเลขสอนกับ “น้องๆ” คือ “ทุกครั้งที่เขียนเพลง ทำยังไงให้คนที่เป็นเจ้าของงานชอบก่อน เราจะต้องชอบมันก่อน คนอื่นจะชอบไหมมันเป็นอีกเรื่องหนึ่ง
“เพลงก็คือจดหมายชนิดหนึ่ง มันคือการเล่าเรื่องจากคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่ง เขียนถึงเธอ เล่าให้เธอฟังว่าเรารู้สึกยังไง เล่าให้คนๆ นั้นฟังคนเดียว เล่าให้เขาประทับใจ ให้เขารู้สึกสะเทือนอารมณ์ ถ้ามันเศร้าก็เล่าเรื่องให้เศร้า
“เวลาเขียนเพลง อย่าไปคิดถึงว่า คนทั้งราชมังคลากีฬาสถานจะเปิดไฟโทรศัพท์แล้วโบกเป็นทะเลดาวหรือคนทั้งผับร้องเพลงนี้พร้อมกัน ขอให้โฟกัสกับคนๆ เดียว
“เมื่องานอยู่ในมือ เราสามารถคอนโทรลได้ จงใช้วิญญาณของนักเขียน แต่ถ้าไปอยู่ในบริษัทที่เขาจ่ายเงินเดือนเพื่อมาให้เขียนเพลง จงเขียนเพลงให้คนจ่ายสตางค์เขาชอบ ต้องเข้าใจบริบทนี้
“มันก็เป็นศิลปะอย่างหนึ่ง เราต้องค้นหาความชอบของเขา รสนิยมความชอบมันไม่มีถูกมีผิด ความชอบของแต่ละคนมันก็ต่างกัน ต้องเรียนรู้คนที่เราทำงานให้เขาด้วย”
เพลงลูกรักของ เชาวเลข สร่างทุกข์
1. อยากหลับตา (ศิลปินนภ พรชำนิ)
2. แต่งงาน (ศิลปินวงมัวร์)
3. Minutes of Love (ศิลปินซูเปอร์เบเกอร์)
“ลูกรัก 3 คน เป็นเพลงไตรภาค เพลงแรกคือ “อยากหลับตา” (ขับร้องโดย นภ พรชำนิ) แล้วภาคต่อก็คือ เพลง “แต่งงาน” (ซิงเกิลของวงมัวร์ รวมอยู่ในอัลบั้ม Smallroom 001) ภาคต่อมาคือ “Minutes of Love” (เพลงของวงซูเปอร์เบเกอร์)
“ทั้ง 3 เพลงมีสตอรีเดียวกัน เป็นเรื่องราวความรักเรื่องเดียวกัน มีตัวละครจริงอยู่ในนั้นตัวเดียวกัน เป็นจดหมายรักที่เขียนถึงผู้หญิงคนเดียวกัน ต่างเวลากัน เรื่องได้พัฒนาขึ้นมา
“มันเหมือนเป็นไดอารีของชีวิตเราด้วย เป็นบันทึกในช่วงเวลาที่ผ่านมา”
ขอบคุณภาพจากอาจารย์เชาวเลข
Suggestion
เมโลดี้ของเมนเทอร์
วันที่เราได้พูดคุยกับอาจารย์เชาวเลข เขากำลังดูแลโปรเจกต์ภาพยนตร์ไทยสยองขวัญแห่งปี “เทอม 3” (Haunted Universities 3) ซึ่งได้ชักชวนเกิร์ลกรุ๊ปสุดฮอตอย่าง 4EVE (1 ใน 2 ศิลปินที่มาเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้ประกวดของโครงการ THE POWER BAND 2024 SEASON 4) มาร้องเพลงประกอบภาพยนตร์ครั้งแรก คลิกอ่านเรื่องของ 4EVE และ THE POWER BAND ส่วนหนึ่งของทีมงานเป็นลูกศิษย์ของอาจารย์เชาวเลข ผู้นั่งแท่นเป็นเอกซ์คลูซิฟ โพรดิวเซอร์ คอยควบคุมกระบวนการผลิต นอกจากนี้แล้ว อาจารย์เชาวเลขและทีมยังร่วมทำเพลงประกอบให้กับนวนิยาย Girl Love/Yuri และอื่นๆ
จากการพูดคุยกับเขา เราพบว่า การทำงานสนับสนุนส่งเสริม เป็น “เมนเทอร์” หรือที่ปรึกษาหรือ พี่เลี้ยงให้กับคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่เป็น “แพสชัน” หรือไม่ต่างกับเป็นภารกิจชีวิตของอาจารย์เชาวเลข สร่างทุกข์
การได้คลุกคลีกับคนเจนเนอเรชันหลังๆ ให้มุมมองที่สดใหม่ เต็มไปด้วยพลัง “เด็กๆ มีพลังงาน มีความตั้งใจ มีคนบอกว่าเด็กเจนซีเป็นพวกอินโทรเวิร์ต มีโลกส่วนตัวไม่คุยกับใคร ไม่สื่อสาร ผมว่าเด็กๆ อาจจะไม่รู้จะคุยอะไร หรืออาจจะคุยไปแล้ว แต่บางทีก็ไม่ฟังเขา ผมอยู่กับพวกเขาก็คุยกันเฮฮา สื่อสาร ไม่ได้ปิดตัวเอง พวกเขาก็เด็กปกติเหมือนที่พวกเราเคยเป็น ทุกเจนมันก็มีเด็กดีและเด็กไม่ดี”
การได้มีปฏิสัมพันธ์กับคนหนุ่มสาวให้ได้เข้าถึงกระแสปัจจุบันและสัมผัสรับรู้รสนิยมต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้เขาได้เรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในภูมิทัศน์ความคิดสร้างสรรค์
“หัวใจของเด็กก็คือกล้าทำในสิ่งที่แตกต่างออกไป อีกจุดเด่นก็คือ เขาไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย อย่างเช่น หนังเรื่องหนึ่งต้องทำเพลงทั้งหมด 7 เพลง ต้องทำเสร็จภายใน 15 วัน ถ้าไม่ใช่เด็กก็ทำไม่ได้
“เด็กๆ อายุ 22-23 ปี ทุกอย่างเป็นความสดใหม่ในโลกของเขา เขาจะมอบสิ่งใหม่ๆ ให้กับเรา สิ่งที่เขาขาดก็คือ เรื่องของการใช้ชีวิต การมองโลก”
วันนี้ คุณเชาวเลขกำลังอยู่ระหว่างการสร้างบริษัทบันเทิง เพื่อสนับสนุนส่งเสริมและให้โอกาสเด็กๆ ได้ทำงาน “เราจะสร้างบุคลากรบันเทิงขึ้นมา ไม่ได้จำกัดอยู่แค่หนังหรือเพลง สิ่งที่ผมมองหาก็คือ ศักยภาพ ซึ่งมีอยู่ในตัวของทุกคน
“ผมเชื่อในเรื่องศักยภาพของคน ถ้ารักและหลงใหลในสิ่งนั้นจริงๆ หรือรู้กระจ่างเพียงอย่างเดียว มันก็จะนำพาไปสู่สิ่งอื่นได้ด้วย ถ้าเขารักจริงพยายามหาแก่นของมันให้เจอ”
เขาเป็นคนหนึ่งที่เชื่อในพลังของ ‘ความเป็นไปได้’…“ทุกคนทำได้ แต่ที่ทำไม่ได้อาจเพราะไม่ตั้งใจ ไม่พยายามถึงที่สุดมากกว่า ไม่มีคำว่าเป็นไปไม่ได้ ทุกอย่างเป็นไปได้ถ้ามุ่งมั่นมากพอ”
หากคิดฝันอยากจะเป็นนักแต่งเพลงก็ต้องลงมือทำเลยไม่ต้องรอ “ถ้ารอให้พร้อมเราจะไม่มีวันได้ทำสิ่งนั้น เพราะเราจะไม่มีวันพร้อม เหมือนกับเด็กหัดเดิน เขารอให้พร้อมหรือเปล่า.. ก็ไม่นะ ก้าวเดิน ล้ม แล้วก็ร้อง แล้วหัดเดินอีก เจ็บตัวไหม เจ็บตัว แต่ไม่เลิก จะเดินให้ได้ ถ้าอยากเดินก็เดิน เจ็บนิดเดียวเดี๋ยวก็หาย อายุยังน้อย”
Outro…!
ในช่วงเวลา “ขาขึ้น” อีกครั้งของวงการหนังไทย ทำให้ทุกวันนี้ คุณเชาวเลข สร่างทุกข์ มีเวลาที่บ้านสวนในชลบุรีน้อยลง ต้องมาอยู่ที่กรุงเทพฯ เพื่อทำงานยาวนานขึ้น
“ก่อนหน้าที่จะมาทำสหมงคลก็คือ กลับไปอยู่บ้านอยู่นิ่งๆ ประมาณ 3-4 ปี รวมช่วงโควิดด้วย ผมติดซีรีส์เกาหลีมาก แล้วที่ดูมาทั้งหมดก็ถึงเวลาได้ใช้
“โลกสมัยใหม่ช่วยให้เราทำงานที่ไหนก็ได้ ถึงอย่างนั้นก็ยังวุ่นวายอยู่ แต่ก็วุ่นวายน้อยกว่าที่คิด ถ้าเราขาดคนทำงานที่มีฝีมือมันจะเหนื่อยมาก แต่เราหาเจอแล้ว ความเหนื่อยจะน้อยลง
“ตอนนี้เรื่องเพลง ผมสบายใจ เพราะว่ามีเด็กๆ เกือบ 20 คนมาช่วย เด็กๆ เขาถูกสอนมาดี ส่วนเรื่องหนังผมก็อยู่ในบริษัทที่เก่าแก่ซึ่งเขามีโนว์ฮาวต่างๆ เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่ามันจะดูวุ่นวาย แต่การที่ได้มาเจอกับคนทำงานเก่งๆ เราจะเหนื่อยน้อยลง”
เมื่อถูกถามถึงสิ่งที่อยากจะทำในอนาคต คุณเชาวเลข นึกถึงแค่ค่ายหรือบริษัทที่กำลังอยู่ในช่วงของการก่อร่าง เพื่อสร้างบุคลากรใหม่ๆ ทางอุตสาหกรรมบันเทิง “ในอนาคตอีก 10 ปีข้างหน้า ผมคงแก่มากแล้วก็จะส่งให้พวกเขาดูแลไป
“ตอนนี้ไม่มีอะไรที่อยากจะทำ…สำหรับผม เด็กต่างจังหวัด เกิดที่ระยอง เรียนโรงเรียนวัดจนจบ ม. 6 มาได้ถึงแค่นี้มันก็เกินกว่าที่เราจะคิดและฝันแล้ว อะไรที่อยากทำก็ได้ทำทุกอย่างจนครบแล้ว”