Passion

“คิดอย่างเช่” อัคราวิชญ์ พิริโยดม
พลังผลักดันสู่ฝันสวยงาม

ศรัณย์ เสมาทอง 2 Aug 2022
Views: 607

กรอบความคิด หรือ Mindset ที่สำคัญอย่างพวก Growth Mindset อะไรพวกนั้น มันทำให้เด็กมีความยืดหยุ่นทางความคิด ทำให้มีทักษะการคิด หรือ EF (Executive Function) ขึ้นอยู่กับสมองส่วนหน้า แล้วไอ้สมองส่วนหน้าเนี่ย มันจะพัฒนาได้ก็ต่อเมื่อ ตอนเด็ก ๆ พ่อแม่หรือครอบครัวได้ช่วยกระตุ้น…”

เดี๋ยวววววว ใจเย็นๆ ครับ!!!!

แค่คำถามทักทายสั้น ๆ ของผมว่า “ช่วงนี้อาจารย์เช่งานเยอะเหรอครับ” อ.เช่-อัคราวิชญ์ พิริโยดม มือเบส The Richman Toy ก็พรั่งพรูไปถึงพัฒนาการทางสมองของเด็ก เชื่อละว่างานเยอะจริงๆ เพราะนอกจากบทบาทนักดนตรีดัง เขายังรับหน้าที่หัวหน้าสาขาดนตรีสมัยนิยม (Popular Music) วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล บวกตำแหน่งคุณพ่อที่กำลังพยายามพัฒนาสมองของลูกสาววัย 5 ขวบ ให้พร้อมที่จะมีทักษะการคิดที่ดีในอนาคต

“เป็นศิลปินมาตั้งแต่เด็ก ผมผ่านการสัมภาษณ์ผ่านช่วงเวลาที่พูดเอาหล่อมาเยอะ” ยังพูดติดตลกให้บรรยากาศผ่อนคลาย “พูดเท่ๆ แล้วมันไม่ได้ประโยชน์อะไร  ช่วงนี้พยายามมาดูชีวิตจริงๆ พยายามพูดเรื่องที่เป็น fact จริงๆ ไม่เอาหล่อแล้ว”

ก็ลองคุยกันสักหน่อย อยากรู้ว่า “คิดอย่างเช่” มันทิ้งความเท่ไปได้…จริงหรือ!?!

“คนที่อยากเป็นแค่ศิลปินไม่ต้องมาเรียนก็ได้

เราต้องการคนที่จบไปแล้วแน่นทฤษฎีดนตรี

เพราะถ้ามีทักษะความรู้แล้ว การสร้างผลงานก็ไม่ใช่เรื่องยาก”

อ.เช่ อัคราวิชญ์ พิริโยดม
หัวหน้าสาขาดนตรีสมัยนิยม Popular Music
วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล

 

1st Passion : ภารกิจคุณพ่อ

แรงผลักดันที่ใกล้ตัวที่สุดในยามนี้คงไม่พ้นเรื่องครอบครัว อย่างน้อยที่สุดก็ทำให้ ‘เช่ The Richman Toy’ เป็นคนที่ใช้ชีวิตอยู่กับบ้านมากขึ้นกว่าที่เคยเป็น

“เหมือนดูหนังเยอะ ดูโบรชัวร์ขายรถบ่อย ก็จะมีภาพบ้านในฝัน ภาพคู่รักวิ่งเล่นกันริมทะเลกับหมาพุดเดิ้ลมีความสุขมาก แต่ในความจริงพอมีลูก นี่เหรอวะ…จะตายอยู่แล้ว เหนื่อยมากเลย” ภาพพุดเดิ้ลวิ่งเล่นชายทะเลค่อยๆ เลือนหายไป การที่ต้องดูแลลูกเล็กที่ยังช่วยตัวเองไม่ได้ ถ้าใครไม่เจอกับตัวเองคงยากที่จะเข้าใจ “แรกๆ ลูกร้องทุกวัน คนเป็นแม่เครียดมาก น่าเห็นใจมาก เพราะเขาอยู่กับลูกตลอด พูดแบบ fact เลยนะ ผมเคยมองลูกแล้วคิด มึงเป็นใครเนี่ย ทำไมต้องทำอะไรให้ขนาดนี้”

นั่นทำให้เขาต้องเปลี่ยนนิสัยใหม่ ตื่นเช้าขึ้น กินข้าวพร้อมหน้ากัน กินข้าวเที่ยงพร้อมกัน ทำงานก็รีบกลับ “มันดีมาก อยู่ไปเรื่อยๆ แล้วดีมาก ไม่ค่อยไปไหนดึกๆ เหมือนสมัยก่อน เริ่มอยู่ติดบ้าน”

เขาและภรรยาก็เริ่มหาข้อมูลเรื่องการพัฒนาการทางสมอง อยากให้ลูกเติบโตขึ้นมามีกรอบความคิด (Mindset) ที่ดี พอเริ่มเข้าใจว่าสมองของมนุษย์จะเริ่มพัฒนาจากส่วนหลังในช่วงประมาณ 7 ปีแรก แล้วจะมาพัฒนาสมองส่วนหน้า ซึ่งเป็นตัวที่จะทำให้กรอบความคิดยืดหยุ่นได้ สามารถปรับตัวและพัฒนาต่อไปในอนาคตได้ดี ซึ่งถ้าสมองส่วนหลังได้รับการพัฒนามาดี ก็จะส่งผลให้สมองส่วนหน้าเติบโตได้ดีตามไปด้วย

“ต้องมีกิจกรรมเยอะ ต้องกระตุ้นด้วยสายตาบ้าง มีการอ่านนิทานให้ฟังบ้าง กระตุ้นให้เกิดอารมณ์ความรู้สึกผ่านนิทาน พาไปเคลื่อนไหวร่างกายปีนป่ายด้วย มีไปเข้าคอร์สแบบญี่ปุ่นที่เขาวิจัยมาแล้ว พ่อแม่ต้องเข้าไปเรียนด้วย ฝึกการร้องเพลงกับเปียโนบ้าง กับการ์ตูนบ้าง เพลงก็จะยากขึ้นเรื่อยๆ” ในคลาสแบบนี้เด็กบางคนสามารถจำเสียงได้ แม้ว่าจะได้ยินจากสื่ออื่นที่ไม่ใช่บทเพลง คือ เขาจำย่านความถี่เสียงได้ บอกได้ว่านี่คือโน้ต A B C C#  “บทเรียนมันสนุก เด็กจะเกิดศักยภาพเพิ่มขึ้นโดยไม่รู้ตัว บางทีเรียนกับเราไปเรื่อยๆ อยู่ดีๆ เขาเก่งไปแล้ว”

เขาไม่ได้คาดหวังให้ลูกเป็นนักดนตรี แค่อยากให้เซลล์ประสาทที่เป็นเหมือนโครงข่ายประจุไฟฟ้าในสมองเชื่อมต่อกันอย่างมีประสิทธิภาพและมีพัฒนาการต่อไปตอนโต

ดูซีเรียสขนาดนี้ ทำให้นึกถึงช่วงที่เขายังเป็น ดช.เช่ ได้ผ่านกระบวนการแบบนี้มาบ้างไหม

 

2nd Passion : วงอินดี้สุดเท่

“ตอนเด็กผมวาดรูปบ่อย คือพ่อมีพรสวรรค์ในการตัดเสื้อผ้า เคยไปเรียนออกแบบที่ฝรั่งเศสด้วย พี่ชายผมอายุห่างกัน 6 ปี เขาได้การวาดรูปมาจากพ่อ พี่เขาก็จะมาบังคับผมวาดด้วย เล่นเลโก้เขาก็จะถามว่าจะต่อเป็นรูปอะไร ต่อเป็นรถ รถทรงไหน แล้วเขาไปเรียนไทยวิจิตรศิลป์ ก็เอาการวางคอนเซปต์มาสอนอีก เราก็ไม่รู้เรื่องอะไรหรอกก็วาดไปเรื่อย แต่ที่ได้เต็มๆ คือพี่เขาฟังเพลงพวกวง Nirvana วง Blur เราก็ฟังกับเขาด้วย”

ช่วงเรียนประถมเขาก็ได้เรียนตีกลองและรวมวงกับพี่ชาย แล้วพอชั้นมัธยมก็รวมวงกับเพื่อน “พอเพื่อนรู้ว่าผมฟังเพลงแบบที่พี่ชายฟัง ผมดูเท่ไปเลย”

เพื่อนมัธยมในตอนนั้นจะรู้จักเขาในฐานะมือกลอง แต่ในช่วง ม.6 มีอาจารย์ที่ตีกลองเก่งมาตีกลองให้ดูที่บ้าน “โหหหห เขาตีละตินด้วย เจ๋งมาก เขาก็ชวนผมรวมวงประกวด ให้ผมเล่นเบส ซึ่งที่บ้านก็มีเบสและผมก็เล่นอยู่แล้ว ตอนนั้นเล่นแนว Acid Jazz พี่เขาบอกว่าผมมีศักยภาพจะไปสอบเรียนต่อได้ ก็เลือกที่มหิดล และช่วงกำลังจะเข้ามหาวิทยาลัย พี่แจ๊ป (วีรณัฐ ทิพยมณฑล) มาชวนไปทำวง The Richman Toy ก็เลยตามน้ำมาถึงตอนนี้”

ต้นทุนที่ฟังวงเมืองนอกมาเยอะ นักดนตรีมีฝีมือกันทั้งวง มีความกล้าในการแต่งตัว บวกกระแสอินดี้ที่มาแรง ส่งผลให้ The Richman Toy โด่งดัง มีแฟนเพลงมากมาย

“ช่วงนั้นก็คิดแบบเด็กๆ อยากเป็นเหมือนศิลปินบางวง อยากมีเงิน อยากดัง อยากจะเล่นให้สาวๆ ชอบ ผมเคยคิดว่าผมจะเปลี่ยนแปลงวงการ เวลาจะขึ้นเล่นจะมี energy แบบ เฮ้ย…เดี๋ยวเจอกู…กูใหม่กว่า อะไรแบบนั้น เวลาเราเหวี่ยง เราทำหน้าซีเรียส คนดูที่อยู่ในวัยยังไม่บรรลุนิติภาวะก็จะรู้สึกว่าเท่ว่ะ แต่คนที่โตแล้วก็จะ…อืมมมมม (หัวเราะหนักมาก) นึกออกใช่ไหมครับ มันก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ”

แม้จะทำงานในสไตล์อินดี้ เป็นตัวของตัวเองและมีอิสระในการแสดงออกสูง แฟนคลับช่วงแรกๆ ก็เป็นเด็กแนว “แต่ผมอยากให้คนฟังกว้างกว่านั้น เราทำเพลง อ๊อด อ๊อด เพลงกระเป๋าแบนแฟนยิ้ม ที่ลงไปถึงกลุ่มแม่บ้าน…เด็กอนุบาลได้ ไม่ใช่แค่กลุ่มเด็กแนว เริ่มงานแบบอินดี้ ค่ายอินดี้ แต่เพลงมันไปดังในตลาด mainstream ได้”

จากประสบการณ์อันโชกโชน “เช่ The Richman Toy” ก็ก้าวสู่บทบาท “อาจารย์เช่” แห่งดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล

3rd Passion : หลักสูตรเพื่อ…ผม

“ถ้าเรามีเครื่องสแกนสมอง เออ..คนนี้ดีอยู่แล้วไม่ต้องไปสนใจมันมาก ไอ้คนนี้แย่ ไอ้คนนี้ไม่เอาทฤษฎี ถ้ามีเครื่องสแกนรู้เลยก็คงจะดี”

เครื่องมือแบบนั้นไม่มีแน่นอน เด็กที่จะเข้ามาเรียนที่นี่จึงผ่านการทดสอบพื้นฐานมาในระดับหนึ่ง แต่ในฐานะหัวหน้าสาขาดนตรีสมัยนิยม (Popular Music) อ.เช่ ก็ยังบอกว่าการสอนคนให้เก่งมันยาก “อีกไม่นานหอแสดงแห่งใหม่ก็จะเสร็จแล้ว อาคาร อุปกรณ์ เทคโนโลยีเราพร้อมเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ สิ่งที่อาจารย์ต้องทำก็คือ คุยกันครับ ต้องคุยกันว่าด้วยเรื่องหลักสูตรและพัฒนาการทางสมองของเด็กไทย”

เราเคยเข้าใจว่าการมาเรียนในวิทยาลัยดนตรีก็เพื่อเป็นศิลปินดัง แต่อาจารย์บอกว่าศิลปินเพลงหลายคนอ่านโน้ตไม่ได้หรอก วงดนดรีหลายวงทำไลน์ประสานเองไม่ได้หรอก “เราต้องการคนที่จะไปช่วยตรงนี้ อยากสร้างคนที่แน่นวิชาการ ถ้ามาด้วยวิสัยทัศน์อยากเป็นศิลปินดัง…ไปเรียนอะไรของยู เดี๋ยวยูก็ดังได้ ไม่ต้องมาดังที่นี่หรอก”

“การเรียนให้ถึงแก่นหรือว่าทฤษฎีที่เป็นสากล ความซีเรียสมันเท่ากับการเรียนหมอเรียนวิศวะเลยนะ ดนตรีมันเกิดมานานแล้ว เขาค้นพบมาแล้วว่ามนุษย์ได้ยินเสียง 12 คีย์ มีการเรียบเรียงเชิงตรรกศาสตร์มาเป็นทฤษฎี อยากให้เด็กลงลึกในรายละเอียดให้ได้มาตรฐาน สิ่งเหล่านี้เป็น Material หรือวัตถุดิบที่สำคัญมาก ๆ และยากกว่าเรื่องความคิดสร้างสรรค์”

ไม่ใช่ว่าไม่ให้เด็กดุริยางค์มหิดลเป็นศิลปินนะ แต่เมื่อทฤษฎีแน่น แล้วทางสถาบันมีเทคโนโลยีมีความทันสมัย บวกกับไอเดียและความคิดสร้างสรรค์ของเด็ก วัตถุดิบพร้อมขนาดนี้เดี๋ยวผลงานก็จะเกิดขึ้นมาเอง การเป็นศิลปินไม่ใช่เรื่องยากเลย

ภาพรวมการเรียนตามหลักการของวิทยาลัยเขาแบ่งเป็นสามส่วน ส่วนแรกเป็นการเรียนภาษาหลัก มีทั้งภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ประวัติดนตรีตะวันตก ทฤษฎีตะวันตก พื้นฐานเปียโน และโสตทักษะ  ส่วนที่ 2 คือ ความสัมพันธ์ของร่างกายและสมองหรือการปฏิบัติเครื่องมือเอก เรียนกันตัวต่อตัวเลย

“มันเหมือนวัดเส้าหลินน่ะครับ เราต้องสร้างความสัมพันธ์ระหว่างสมองและร่างกาย เล่นเร็วที่สุดให้ได้ เล่นช้าที่สุดให้ได้ หนักเบาสั้นยาว การเล่นเสียงยาวๆ ดีดยังไง สั้นมากๆ ดีดยังไง ต้องแม่นยำ ฟังแล้วรู้สึกไหลลื่นไม่เพี้ยน คุณต้องทำโน้ตได้ เขียนโน้ตให้ศิลปินคนอื่นได้ เป็นทักษะล้วนๆ ไม่เกี่ยวกับความคิดสร้างสรรค์”

การเรียนดนตรีของ อ.เช่ คือการสำรวจข้างในตัวเองว่าเราทำอะไรได้บ้าง ฝึกฝนตั้งแต่เรื่องง่ายที่สุดไปถึงยากที่สุด ให้เจอวัตถุดิบใหม่ๆ ในตัวเรา แล้วค่อยเลือกสิ่งที่ชอบไปบวกกับประสบการณ์ชีวิตที่ผ่านมาสร้างสรรค์ขึ้นมาเป็นผลงาน

สรุปสั้นๆ แต่เรียนกันหลายปีเลยล่ะ

“พอผ่านวัดเส้าหลินฝึกความสัมพันธ์ของร่างกายและสมองแล้วค่อยเข้าส่วนที่สาม คือ ภาษาสำเนียง ที่แยกไปแต่ละสาขา คลาสสิก แจ๊ส ของผมก็เป็นป็อป Popular Music ที่มีทั้งทฤษฎีสมัยนิยม แต่งเพลง รวมวง เรียบเรียงเพลง ทำอัลบั้ม คอมพิวเตอร์มิวสิกก็มี”

วิธีคิดหนึ่งที่ อ.เช่ นำมาใช้กับการวางแผนการเรียนการสอน คือ การสร้างให้เด็กมี “ศ-ม-อ” ซึ่งย่อมาจาก ศิลปะ ความมั่นคง และอาชีพ “ในห้องเรียนบางวิชาที่ conservative มากๆ ทฤษฎีมากๆ เราต้องประเมินว่ามันเกิด  ศ-ม-อ ขึ้นในใจเด็กหรือเปล่า เช่น พอเรียนไปแล้วเด็กมีความอยากเขียนเนื้อเพลงอยากแต่งเพลงแบบนี้ ศิลปะเกิดขึ้นแล้ว เขารู้มากพอที่จะเกิดความมั่นคงในใจเขาหรือเปล่า แล้วเขาเริ่มมองเห็นไหมว่าสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปจะนำไปทำอาชีพในอนาคตได้ไหม ประเมินจากแววตา จากการซักถาม หรือจากผลงานที่เขาสร้างในวิชาเรียนก็ได้”

ผลที่ต้องการให้เกิดกับเด็กอยู่ในระดับนี้ ผู้สอนต้องปรับบทเรียนหรือวิธีการสอนเพื่อเอื้อต่อการเข้าใจให้มากที่สุด ใช้จิตวิทยาให้มาก กำจัดสิ่งที่น่าเบื่อให้เหลือน้อยที่สุด “ซึ่งมันยากสำหรับอาจารย์รุ่นอย่างเรา แต่เพราะมันสำคัญ เราก็ควรจะคุยกันบ่อยขึ้น วางแผนร่วมกันบ่อยขึ้น ถ้าสอนทฤษฎีดนตรีเด็กก็บ่นก็เบื่อ ลองกระตุ้นด้วยการเอาวงดนตรีดังๆ ที่เขาชอบมาสิ มาวิเคราะห์ให้เห็นว่าชั้นเชิงเพลงป็อปมันต่างจากบีโธเฟนหรือบาคยังไง ดนตรีคลาสสิกเขาละเอียดกว่าเยอะ ดนตรีสมัยนิยมมันมีเรื่องวัฒนธรรมสังคมอีกหลายอย่างที่เป็นเปลือกปกคลุมศิลปินอยู่อีก เราต้องทำให้เขารู้แม้ในสิ่งที่เขาไม่ชอบ พัฒนาเขาในสิ่งที่เขาไม่มี”

ตัวอย่างชัดๆ พื้นฐานมีวิชาภาษาไทยอยู่แล้ว ถ้าครูภาษาไทยคุยกับครูวิชาเขียนเนื้อเพลง แล้ววางตารางเรียนให้วันจันทร์เป็นภาษาไทย สอนไวยากรณ์แม่นๆ สอนวิธีการสื่อสาร ความหมายการสื่อสาร แล้ววันอังคารมาเรียนสารสร้างสรรค์เนื้อเพลง ประสิทธิภาพการเรียนรู้จะดีขึ้นกว่าเดิมแน่

“ไม่ได้อยากพูดเอาหล่อนะ แต่บอกเลย การออกแบบหลักสูตรต้อง…ผม…เช่ – อัคราวิชญ์ เป็นคนทำ เพราะผมแม่งโง่ ผมเรียนอยู่ท้ายตารางมาตลอด เชื่อไหมว่าผมเกือบโดนรีไทร์  ผมเข้าใจแล้วว่าหลักสูตรมันต้องรองรับคนอย่างผมนี่ล่ะ คือถ้าหลักสูตรมันทำให้คนอย่างผมเข้าใจไม่ได้…ก็เจ๊ง”

สถาบันที่ประกอบไปด้วยอาคาร มนุษย์ และคัมภีร์ การใช้คนให้เหมาะกับหน้าที่และความสามารถเป็นเรื่องสำคัญ การมองเด็กแต่ละคนเป็นตัวของเขาเอง สอนให้พัฒนาแบบตัวเขาเอง ไม่ได้มองเป็นรูปแบบเดียวกันทั้งหมดก็สำคัญไม่แพ้กัน

“แต่มันยากไง ผมถึงบอกว่าครูทุกคนจำเป็นต้องคุยกัน”

4th Passion : ตามหาดาวดวงใหม่

ยังมีอีกเรื่องที่เป็นแรงขับดันในใจของ อ.เช่ คือ อยากลองทำงานร่วมกับอุตสาหกรรมดนตรีสร้างซูเปอร์สตาร์ขึ้นมา “เดี๋ยวหอแสดงเรากำลังจะเสร็จ มีเวที มีระบบแสงเสียงระดับโลก ก็จะออดิชั่นคนเข้ามา ดูหมดเลยตั้งแต่รูปร่าง หน้าตา แววตา ที่เหมาะจะเป็นซูเปอร์สตาร์ มาสอนร้องเพลง สอนกายภาพ ทฤษฎี การแสดงบนเวทีแบบนักดนตรี ให้ค่ายเพลงมาออกแบบท่าเต้น สอนเต้น สอนการแสดง การให้สัมภาษณ์สื่อ ซ้อมในเวทีของเราได้ทุกวัน ขนาดศิลปินใหญ่ๆ ยังต้องรอมีคอนเสิร์ตถึงจะได้ขึ้น”

ฝันไกลว่าจะมีค่ายเพลงสนใจคนที่เขาสร้าง ก็จะผลักดันให้เป็นศิลปินจริง หรือพาไปต่อยังต่างประเทศ ไปเวิร์กช็อปที่เกาหลี เป็นต้น ซึ่งโครงการในฝันนี้ต้องร่วมมือกันหลายฝ่าย คงต้องมีภาครัฐเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ต้องติดตามกันต่อไป

แต่โครงการไม่ไกลในปีนี้เอง ทางวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ก็จับมือกับ คิง เพาเวอร์ จัดการประกวดวงดนตรีสากล THE POWER BAND 2022 ด้วยแนวคิดเท่ๆ “DREAM IT, DO IT กล้าฝัน! กล้าทำ!” ซึ่งเป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้แสดงฝีมือ

“ปีที่แล้วเรายังมีข้อกำหนดว่าในวงต้องมีเครื่องเป่าทำให้มีวงเข้าประกวดน้อย แต่ปีนี้ง่ายขึ้น มีสมาชิกอย่างน้อย 3 คน กีตาร์ เบส กลอง ก็ประกวดได้แล้ว” ลงสมัครง่ายๆ นั่นหมายความว่าคู่แข่งที่เก่งๆ ก็เยอะกว่าเดิมมากนะครับ บอกไว้ก่อน เปิดรับสมัครทั้งระดับมัธยมศึกษา บุคคลทั่วไป

“ที่สนุกกว่าเดิม คือ เรามีประเภทดนตรีสร้างสรรค์ไร้ขีดจำกัด สมาชิก 1-12 คน เป็นแนวทดลองเลย มาคนเดียวก็ได้ เปิดลูฟ เล่นกับระนาด อยากทำอะไรก็ทำ สร้างสรรค์ได้สุดขั้ว ห้ามเปิด track ที่อัดมาจากบ้านเท่านั้นเอง”

ถามถึงอนาคตของดนตรีไทย อ.เช่ คิดว่าน่าจะดีขึ้น เพราะโซเชียลมีเดียนำคนสมัยนี้เข้าถึงแนวเพลงต่างๆ ได้มากขึ้น อย่างแร็ปที่ดนตรีที่ใช้ภาษาพูดตรงไปตรงมา พูดแบบไม่มีเมโลดี้ มีการรวมตัวกันเป็นวัฒนธรรมแร็ป และยังมีดนตรีอีกหลายแนวที่มีกลุ่มสนใจใหญ่ๆ เหมือนกัน เป็นตัวสร้างให้ศิลปินในวงการชัดเจนกับตัวตนมากขึ้น

“แต่ถ้าพ่อแม่รุ่นผมหันมาสนใจเรื่องพัฒนาการทางสมองของลูก คิดดูว่าอีก 20 ปีข้างหน้า เด็กจะมีกรอบความคิดที่ดี สามารถลงลึกเรื่องครีเอทีฟได้มากขึ้น แต่ตั้งอยู่บนความแม่นยำทางทฤษฎี มันต้องดีมากแน่ๆ” แววตาของ อ.เช่ มีความมุ่งมั่นอย่างเห็นได้ชัด

จากคำถาม “ช่วงนี้อาจารย์เช่งานเยอะเหรอครับ” เราพากันมาไกลเชียวล่ะ วันข้างหน้าจะเป็นอย่างไรยังไม่อาจรู้ แต่วันนี้รู้เพียงว่า “คิดอย่างเช่” ยังคงเท่จริงๆ นะ

 

“กล้าฝัน! กล้าทำ!” การประกวด The Power Band 2022

• #Class A รุ่นมัธยมศึกษา สมาชิกต้องอยู่ไม่เกินชั้น ม.ปลาย ในสถาบันเดียวกัน จำนวน 3-12 คน และมีตำแหน่งนักร้องอย่างน้อย 1 คน
• #Class B รุ่นบุคคลทั่วไป ไม่จำกัดอายุและสัญชาติ สมาชิกมีจำนวน 3-12 คน และมีตำแหน่งนักร้องอย่างน้อย 1 คน
• #Class C ประเภทดนตรีสร้างสรรค์ไร้ขีดจำกัด สมาชิก 1-12 คน ทดลองดนตรีได้อิสระ ไม่ต้องมีนักร้องก็ได้ ต้องผสมเสียงอย่างน้อย 2 เสียงขึ้นไป แต่ห้ามเปิดแทร็คที่บันทึกมาล่วงหน้า
• สมัครแข่งขันรอบคัดเลือกได้ 5 สนามแข่ง คือ ขอนแก่น ชลบุรี เชียงใหม่ สงขลา และกรุงเทพมหานคร
• มีรายละเอียดเพิ่มเติมอยู่ที่ คลิก : The Power Band 2022

Author

ศรัณย์ เสมาทอง

Author

นักเขียนและผู้ผลิตรายการเชิงสารคดีอิสระ ชอบตะลอนเวิร์กตามที่ต่าง ๆ พร้อมเล่าเรื่องระหว่างการเดินทาง และบ่อยครั้งก็บันทึกประสบการณ์เป็นบทกวี

Author

บริษัท เอ็กเปิร์ดคิด จำกัด

Photographer

การรวมตัวของคนโปรดักชั่น ที่ยังเชื่อในพลังสร้างสรรค์ เราจึงคิดและผลิตงานศิลปะทุกรูปแบบ