Passion

ชีวิตที่มี Stacking หมุนวนอยู่รอบตัว
ของ น้ำหอม พัชรพร

วรากร เพชรเยียน 25 Jun 2024
Views: 556

Summary

พูดคุยกับคุณน้ำหอม – พัชรพร พ่อค้าชำนาญ หญิงสาวมากความสามารถที่เป็นทั้งนักกีฬาสแต็คทีมชาติ โค้ช อาจารย์มหาวิทยาลัย และผู้ก่อตั้ง STACKDIO Thailand กับเรื่องราวการเป็นนักกีฬาสแต็คและแนวคิดการเปลี่ยนกีฬาชนิดหนึ่งให้เป็นอะไรมากกว่าที่คิด

“ถ้าไปแข่งแล้วได้รางวัลก็ดีใจ แต่คนไม่ได้รางวัลเขาจะเฟล… เรามองว่ามันเป็น pain point ของเด็ก การไม่ได้รางวัลไม่ใช่จุดบอดของชีวิต เราเอาสแต็คมายกระดับในเรื่องสุขภาวะ มันเป็นขั้นกว่าอีก

เราได้มีโอกาสมาพูดคุยกับ “โค้ชน้ำหอม” พัชรพร พ่อค้าชำนาญ นักกีฬา Stacking ทีมชาติและโค้ช Stacking ที่เก็บเกี่ยวประสบการณ์การเล่นกีฬาสแต็คมาตั้งแต่สมัยเรียนมัธยม จนถึงวันนี้ที่ต่อยอดความรู้ของตัวเองสู่การเป็นผู้อำนวยการพรอสเพอร์ เวล อะคาเดมี และผู้ก่อตั้ง STACKDIO Thailand (กลุ่มกิจการเพื่อสังคม) องค์กรที่มุ่งส่งเสริมสุขภาวะให้กับคนทุกช่วงวัย โดยมีสารตั้งต้นจากกีฬาสแต็ค กีฬาที่เส้นชัยกับความพ่ายแพ้อยู่ห่างกันเพียงเสี้ยววินาที…

เป็นคนชอบเล่นกีฬาตั้งแต่เด็กๆ อยู่ไม่นิ่ง

วันที่ลองไปเล่น Sport Stacking มันรู้สึกท้าทายกับเวลา อยากเอาชนะเวลา

น้ำหอม – พัชรพร พ่อค้าชำนาญ
นักกีฬา โค้ช และครูสอน Sport Stacking

 

“เด็กหญิงน้ำหอม” ผู้รักกีฬา

“เป็นคนชอบเล่นกีฬาตั้งแต่เด็กๆ อยู่ไม่นิ่ง” ไม่ว่าจะแบดมินตัน ปิงปอง บาสเกตบอล กีฬาบนบก    คุณน้ำหอมเล่นมาหมด จนกระทั่งวันจัดกิจกรรมวิชาการของโรงเรียนมาถึงจึงเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญสู่การเป็นนักกีฬาสแต็ค

“วันนั้นมีบูทสแต็คของสมาคมสแต็คประเทศไทยมาตั้งที่โรงเรียน เราก็เลยลองไปเล่น ณ วันนั้นมันรู้สึกท้าทายกับเวลา อยากจะเอาชนะเวลา จนทางสมาคมฯ มาบอกว่าจะมีแข่ง อยากลองไปดูไหม ก็เลยตัดสินใจลอง”

ขอบคุณภาพจากโค้ชน้ำหอม

แมตช์แรกคือแมตช์ชิงแชมป์ประเทศไทย ซึ่งตัวเธอในวัยเด็ก ตอนอยู่ ม.2 สามารถคว้าอันดับสามมาครอง จนทางสมาคมฯ ติดต่อมาเพื่อให้ไปแข่งแมตช์ใหญ่ที่อเมริกา แต่เธอก็ต้องปฏิเสธไป แล้วใช้เวลาฝึกฝนให้มากขึ้นกว่าเดิม ลงแข่งอยู่เป็นนิจ

จนกระทั่งในปี 2011 เธอก็เข้ามาเป็นนักกีฬาสแต็คทีมชาติเต็มตัวจึงได้โอกาสไปลงแข่งที่สหรัฐอเมริกาอีกหน และคราวนี้เธอติดท็อป 10 ในรุ่นอายุ การได้ไปลงแข่งในต่างประเทศ เปิดโลกสแต็คไปอีกระดับ

“สมัยนั้นแข่งโหดมาก การแบ่งช่วงอายุค่อนข้างกว้าง เราไม่มีประสบการณ์ในเวทีนานาชาติพอไปถึงเราก็ใส่เต็มตั้งแต่แรกในรอบคัดเลือกเข้ามาเป็นอันดับ 2 หรือ 3 นี่แหละ แต่พอมาวันรอบชิงฯ คนที่เขาอยู่อันดับ 5 หรือ 6 ในรอบคัดเลือกได้คะแนนขึ้นมาเป็นอันดับต้นๆ คนที่ได้อันดับ 10 ในรอบคัดเลือกก็จะขึ้นมาแข่งอันดับแรกในรอบชิงฯ ก็จะมากดดันคนที่ได้อันดับ 1 ในรอบคัดเลือกที่ต้องเล่นเป็นคนสุดท้าย”

 

รู้หรือไม่? กีฬาสแต็คไม่ใช่กีฬา

แต่เป็นกิจกรรมทางกายอย่างหนึ่งที่มีกฎ กติกา และการประเมินผลชัดเจน

ขอบคุณภาพจากโค้ชน้ำหอม

เกมสุดเข้มข้นของน้ำหอม

กีฬาสแต็คไม่ใช่แค่การเรียงแก้วแต่เข้มข้นตั้งแต่การวางแผนไปจนถึงการฝึกซ้อม “ช่วงที่เริ่มเล่นแรกๆ เราซ้อมเป็นบ้าเป็นบอ วันละสองถึงสามชั่วโมง เล่นได้ไม่มีเบื่อ เหมือนต้องค้นหาเทคนิค แทคติกใหม่ๆ มาเติมให้ตัวเอง”

กว่าจะครบสองถึงสามชั่วโมง คุณน้ำหอมก็เล่นไปแล้วเป็นร้อยเป็นพันรอบ และการซ้อมที่เข้มขึ้นหลายครั้งก็นำมาซึ่งความกดดัน

“เล่นแล้วหงุดหงิดเพราะเราต้องการให้มันได้เวลา จนเรียนรู้ว่าเราจะต้องควบคุมอารมณ์ยังไง ในการแข่งมันต้อง The show must go on โฟกัสกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้า ซึ่งสิ่งที่มักจะกวนใจคือสถิติเวลา เราจะอยากรู้ว่าคนนั้นเล่นได้กี่วินาที แต่ยิ่งตั้งเป้าแบบนั้นมันยิ่งกดดันเรา เราทำให้ดีที่สุดและต้องมีการวางแผนการเล่น”

เกมสแต็คแต่ละครั้งจะมีกติกาให้นักกีฬาสามารถวอร์มได้สองครั้ง และเล่นจริงสามครั้งเพื่อเก็บเวลาที่ดีที่สุดมารวมคะแนน ซึ่งผู้เล่นต้องฝึกซ้อม จำลองสถานการณ์จริงไม่ให้กดดันในการเล่นแต่ละครั้ง และต้องดูภาพรวมแข่งขันด้วย “ถ้าการแข่งขันแจกเหรียญเป็นท่า ก็ใส่เต็มที่ในการเล่นท่า แต่ถ้าเป็นการแข่งเอาคะแนนมารวม จะมีสามท่าแล้วนำสถิติเวลาของสามท่ามารวมกัน ต้องมองว่าแมตช์นั้นเป็นแบบไหน”

นอกจากเธอยังจะลงเล่นทั้งในประเทศและต่างประเทศ มีประสบการณ์แข่งขันมาหลายแมตช์ แต่ก็มีแมตช์การแข่งขันหนึ่งที่คุณน้ำหอมบอกว่าภูมิใจที่สุด คือวันที่ได้ชิงแชมป์ประเทศไทย ในปี 2011

“แมตช์ชิงถ้วยกรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เป็นการแข่งขันที่ประสบความสำเร็จที่สุดแล้ว เราเป็นทีมหญิงล้วนจากเซนต์โยเซฟคอนแวนต์แข่งกับทีมชายล้วนจากโรงเรียนอัสสัมชันศึกษา เราเป็นไม้สุดท้าย วันนั้นไม้หนึ่ง สอง สามส่งมาดี ไม้สี่เลยสบาย เราเล่นตามเกมที่วางแผนมา มันกดดันเพราะเป็นการแข่งขันแบบ Head to Head คือฝั่งอัสสัมชันฯ อยู่ข้างขวา เซนต์โยเซฟฯ อยู่ข้างซ้าย ใครเล่นเสร็จ ถูกต้องก็เป็นผู้ชนะ”

อยากเป็นนักกีฬาสแต็คที่ดี

ต้องมีคุณสมบัติอะไร?

1. ความมุ่งมั่นในการฝึกซ้อม
ต่อให้มีเทคนิคแต่ถ้าไม่ซ้อมก็ไม่มีประโยชน์

2. จิตใจ เท่าที่สังเกตเด็กๆ จะมีสองกลุ่ม
คือกลุ่มที่ไม่รู้สึกอะไร ให้ไปเล่นก็เล่นตามซ้อมกับกลุ่มที่ขึ้นไปเล่นแล้วตื่นเต้นคุมอารมณ์ไม่อยู่
ต้องฝึกความแข็งแกร่ง พร้อมที่จะรับมือกับแรงกดดันต่างๆ

3. ความรับผิดชอบ ความสม่ำเสมอ
ในการฝึกซ้อมและพัฒนาตนเอง

4. การได้รับแรงสนับสนุนจากครอบครัว โรงเรียน

5. การได้รับโอกาสให้พัฒนาสู่ความเป็นเลิศ

ขอบคุณภาพจากโค้ชน้ำหอม

ช่วงเวลาที่ผันตัวมาเป็นโค้ช

จากนักกีฬาทีมชาติ คุณน้ำหอมค่อยๆ ผันตัวเข้ามาเป็นโค้ช ตอนเริ่มเข้าเรียนปี 1 ที่มหาวิทยาลัยมหิดล ด้านวิทยาศาสตร์การกีฬา ซึ่งเธอต้องเผชิญความท้าทายในรูปแบบใหม่ๆ

“เด็กก็อาศัยกระบวนการการเรียนรู้ที่แตกต่างกัน ความสนุกสนานมันต่างกัน เราเคยสอนเด็กอายุสามขวบ ครั้งแรกเขาอยู่กับเราได้สิบนาที แต่หลังจากเรียนไปเรื่อยๆ น้องก็อยู่กับเราได้ครึ่งชั่วโมง หลังจากนั้นพัฒนามาเป็นชั่วโมง รูปแบบการจัดการเรียนการสอนให้เด็กแต่ละช่วงวัยต่างกันมาก”

ไม่ว่าจะเป็นการสอนพัฒนาให้เป็นนักกีฬา หรือสอนเพื่อพัฒนาพัฒนาการ สิ่งสำคัญคือการทำให้นักเรียนมีความภาคภูมิใจในตัวเอง โดยที่ไม่กดดันจนสร้างแผลใจ

“เด็กบางคนเล่นไม่ได้ หรือร้องไห้ โค้ชบางคนกดดันเด็ก พอเป็นโค้ชเราจะไม่กดดันเด็กขนาดนั้น เด็กต้องมีความภาคภูมิใจที่จะกล้าออกไปยืนอยู่ในสนาม ส่วนรางวัลจะได้รับหรือไม่อีกเรื่องหนึ่ง” ซึ่งคุณน้ำหอมเตรียมพร้อมเด็กตั้งแต่การเล่น ท่าทาง เทคนิค ไปจนถึงซัปพอร์ตทางด้านจิตใจให้สามารถรับมือกับสถานการณ์ ความกดดันได้แม้จะไม่มีโค้ชอยู่ด้วย รวมถึงการสร้างความเข้าใจให้ผู้ปกครองให้สามารถสนับสนุนในทิศทางสร้างสรรค์และมีประสิทธิภาพ

ในช่วงที่คุณน้ำหอมยังเป็นโค้ชให้กับสมาคมฯ อยู่ เธอยังได้มีโอกาสไปร่วมรายการ The Power Gang EP.6 เป็นตอน Sport Stacking ร่วมกับน้องๆ นักกีฬาสแต็คด้วย ในมุมของคนที่อยู่ในวงการกีฬา เธอก็มีมุมมองที่คาดหวังให้คนเข้าใจกีฬาและสุขภาพมากขึ้น “เราคาดหวังในเรื่องของความเข้าใจด้านกีฬา ณ ตอนนี้คนส่วนมากยังไม่ได้มองในเรื่องสุขภาพเป็นสิ่งสำคัญ คนมักจะเห็นความสำคัญเมื่อเกิดปัญหา แต่ไม่มองย้อนกลับว่าควรเสริมสร้างสุขภาพไว้ก่อน”

 

Stacking and Beyond ส่งเสริมสแต็คให้เป็นมากกว่ากีฬา

แม้ว่าคุณน้ำหอมในวันนี้จะไม่ได้เป็นโค้ชให้กับสมาคมฯ แล้ว แต่เธอก็เก็บเอา pain point ต่างๆ ที่ได้จากการพาน้องนักกีฬาไปแข่งในประเทศเกาหลีในปีที่ผ่านมา มาเป็นแรงบันดาลใจสำคัญในการจัดตั้งกลุ่มกิจการเพื่อสังคม STACKDIO Thailand ส่งเสริมสุขภาวะให้กับคนทุกช่วงวัย เพราะสแต็คสามารถเป็นมากกว่ากีฬาเรียงแก้ว..

“ปีที่แล้ว เราเห็นว่าตัวน้องๆ ที่เล่น กายเขาได้แต่ใจไม่ได้ เขายังไม่รู้วิธีที่จะควบคุมอารมณ์ของตัวเอง ก็เป็น pain point ว่าจะทำยังไงให้ใจเขาได้เหมือนกาย เราเลยมุ่งเน้นในเรื่อง Well Being เรื่องสุขภาวะ โดยมีกีฬาสแต็คเป็นตัวกระตุ้นหนึ่งที่ทำให้เกิดสุขภาวะที่ดีทั้งร่างกาย จิตใจ สังคม และสติปัญญา”

จนถึงวันนี้นอกจากจะเป็นนักกีฬา โค้ช เป็นอาจารย์ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์สอนเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์การเคลื่อนไหวและสุขภาพแล้ว เธอยังมีบทบาทเป็นผู้อำนวยการพรอสเพอร์ เวล อะคาเดมี และผู้ก่อตั้ง STACKDIO Thailand ซึ่งได้รับการจดให้เป็นกลุ่มกิจการเพื่อสังคม ซึ่งเธอนำเอาวิทยาศาสตร์สุขภาพ และวิทยาศาสตร์การกีฬามาปรับใช้อย่างเต็มที่ โดยมีกีฬาสแต็คเป็นส่วนสำคัญ

STACKDIO Thailand จัดตั้งแต่กิจกรรมสำหรับเด็กเล็ก เด็กโต คลาสสำหรับผู้ปกครอง ไปจนถึงห้องเรียนสำหรับคนสูงอายุ “เด็กก็จะเน้นความสนุกสนานเป็นหลัก มีการเคลื่อนไหวร่างกาย ส่วนของผู้สูงอายุก็จะเป็น Senior brain exercise เพื่อกระตุ้นการทำงานของสมอง การหยิบจับสิ่งของ”

เธอยังบอกด้วยว่าพวกเรากำลังอยู่ในสังคมผู้สูงอายุ และอัตราการเกิดของเด็กยังน้อยลง ซึ่งเธอตั้งใจจะทำให้คนเห็นความสำคัญของสุขภาวะมากขึ้น สร้างเด็กที่เกิดในอัตราที่น้อยนิดนี้ให้เป็นผู้ใหญ่ที่มีประสิทธิภาพในวันข้างหน้า

จากนักกีฬาที่จับพลัดจับผลูจากบูทสแต็คในโรงเรียน วันนี้คุณน้ำหอมมีกีฬาสแต็คหมุนวนรอบตัวและสร้างแรงบันดาลใจให้เธอทำสิ่งดีๆ เพื่อผลักดันให้คนพัฒนาคุณภาพชีวิตและสุขภาวะที่ดีไปพร้อมกัน

มุมมองหนึ่งที่เราได้จากการได้พูดคุยกับเธอเป็นชั่วโมงคือ แม้ว่ากีฬาสแต็คจะเป็นกีฬาที่เอาชนะกันเพียงแค่เศษเสี้ยววินาที แต่ในชีวิตจริงเรามีเวลามากกว่านั้น และเราไม่จำเป็นต้องกดดันเหมือนอย่างเกมการแข่งขันก็ได้ ขอแค่เซฟใจ เซฟกายตัวเองให้เป็นด้วยก็พอ

ขอบคุณภาพจากโค้ชน้ำหอม

 

ชมความสนุกจากรายการ THE POWER GANG EP 6 ‘Sport Stacking’

 

 

 

Author

วรากร เพชรเยียน

Author

อดีตแอร์โฮสเตสผันตัวมาเป็นนักเขียน ผู้หลงใหลศิลปะและการเดินทาง นิยมการบอกรักประสบการณ์ผ่านตัวหนังสือ

Author

บริษัท ยานแม่ จำกัด

Photographer

เป็นโปรดักชั่น เฮาส์ ที่ไม่ได้คิดนอกกรอบ เเต่คิด...นอกโลก