Passion

E.H.C.B
ในสำเนียง “เชียงใหม่ซาวนด์”

ณัฐวิมล เศารยะพงศ์ 14 Aug 2024
Views: 945

Summary

พวกเขาบางส่วนเคยมาประกวดในชื่อวง “การันต์” เมื่อ SEASON 3 หลังพ่ายในรอบโซนนิ่งที่สนามเชียงใหม่ เหล่าสมาชิกที่กลายเป็นพี่ ม.6 ในปีนี้ไปชวนรุ่นน้องมารวมตัวตั้งวงใหม่ในชื่อสุดเฟี้ยวว่า E.H.C.B กับเป้าหมายแก้มือใน SEASON 4 และอยากทิ้งทวนความสนุกในการเล่นดนตรีด้วยกันเป็นครั้งสุดท้ายก่อนเรียนจบ

ความเฟี้ยวมันอยู่ที่ชื่อที่พวกเขาช่วยกันตั้งว่า “E.H.C.B” นี้ หยิบมาจาก Elephant.Horse.Cow.Buffalo…ช้าง ม้า วัว และควาย! แบบที่ใครก็เดาไม่ได้ว่า ทำไม?! แต่บทความนี้…มีคำตอบ

บนเวที THE POWER BAND 2024 SEASON 4 “เป็นได้สุด เป็นไปได้ ด้วยพลังแห่งดนตรี” เวทีประกวดวงดนตรีสากลคุณภาพระดับประเทศ จัดโดย คิง เพาเวอร์ ไทย เพาเวอร์ ร่วมกับ วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในธีม “Let The Music Power Your World” …E.H.C.B เป็นอีกวงตัวแทน “จาวเหนือ” ที่มาลงแข่งแบบอิสระ แล้วทำโชว์ออกมาได้สมศักดิ์ศรีความเป็นเจ้าถิ่น ที่ผ่านเข้ารอบ Final ได้สมความตั้งใจ ภายใต้การรวมตัวของ 9 สมาชิก จากโรงเรียนยุพราชวิทยาลัย และ โรงเรียนยุวฑูตศึกษาพัฒนาราชพฤกษ์ จ.เชียงใหม่

ถ้าเป็นเรื่องของดนตรี เราไม่ต้องกังวลว่าเราจะเล่นแย่ไหม หรือจะมีอะไรที่ผิดพลาด

เราเกิดมามีชีวิตเดียว อยากทำอะไรทำเลย  ดีกว่ามานั่งเสียดายทีหลัง”

วง E.H.C.B
โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย และ โรงเรียนยุวฑูตศึกษาพัฒนาราชพฤกษ์ (เชียงใหม่)
High School Class THE POWER BAND 2024 SEASON 4 สนามเชียงใหม่

 

ใครเป็นใครใน E.H.C.B มารู้จักพวกเขากัน!!

เปปเปอร์ – ธัญพิสิษฐ์ ฉนวนจิตร (ร้องนำชาย) แรกๆ ก็เป็นสายกีฬา แต่ไปๆ มาๆ อยากเป็นนักร้องเฉย “ผมเริ่มคิดได้ว่าชอบร้องเพลงก็ตอน ม.4 ม.5 ก็เลยอยากเรียนต่อมหาวิทยาลัยทางด้าน Voice ครับ”

กันกัน – ธนัชภัค ตันสุภายน (ร้องนำหญิง) เด็กสายกิจกรรมที่ชอบร้อง เต้น และมีฝันไกล “หนูผูกพันกับดนตรีมาแต่เด็ก แต่หนูฝันเป็นนักแสดงละครเวทีค่ะ”

เปปเปอร์ – กันกัน (สองนักร้องนำ)

เมฆ (ซัปพอร์ตกีตาร์) – มิค (ลีดกีตาร์) – ฟาง (เบส)

เมฆ  – นพรัตน์ อินทวงค์ (ซัปพอร์ตกีตาร์) มีคุณพ่อที่ส่งเสริมการเล่นดนตรีมาตั้งแต่เด็ก เลยมาสอบเข้ายุพราชฯ ด้วยความสามารถพิเศษ “ผมก็รู้สึกชอบดนตรีมาก ดีใจที่เข้ามาเรียนตั้งแต่ ม.1 เลยเล่นดนตรีมาจนถึงทุกวันนี้”

มิค – เสฏฐวุฒิ ปานนาค (ลีดกีตาร์) นักเรียนห้องธรรมดาที่ชอบฟังดนตรีหลากแนว พอได้มารู้จักกับฟาง กลายเป็นคู่หูทางดนตรีกันเหนียวหนึบ “ผมชอบวง Queen เหมือนกับฟาง ชอบ ไบรอัน เมย์ เพราะรู้สึกว่า อยากเล่นได้แบบนี้จังเลย พอขึ้น ม.1 ม.2 ก็ซื้อกีตาร์ไฟฟ้ามาเล่น”

ฟาง – มัชฌิมา ขำเนตร (เบส) ตอน ม.ต้น เคยอยู่ห้องเด็กเรียน แต่ย้ายมาเรียนศิลป์ดนตรีตอน ม.ปลาย เพราะรักดนตรีมากกว่า “ตอนเด็กๆ พ่อผมชอบเปิดเพลงวง Queen ให้ฟัง ผมเลยไปขุดทุกอัลบั้มมาฟังแล้วศึกษาชีวิตสมาชิกในวงเพราะชอบมาก”

โดนัท – ธรรมภูมิ รินแก้ว (เพอร์คัชชัน) หนุ่มผู้หลงใหลเสียงเพอร์คัชชันจนเข้าเส้น “เพอร์คัชชันนี่สเปกผมเลยครับ (ฮากันสนั่น) มันมีกำลังใจในการเล่นครับ เหมือนเราได้อยู่ในที่ที่ชอบ เล่นแล้วมีความสุข”

ออกัส – ณกรณ์ คู่เจริญถาวร (กลอง) น้องเล็กของวงจากต่างโรงเรียน “พ่อเห็นผมชอบเคาะเลยพาไปเรียนกลอง เรียนได้สักพักก็ขี้เกียจซ้อม พ่อก็เลยจับไปเล่นเปียโน พอเล่นเปียโนไม่สนุก กลับไปเล่นกลอง เลยเล่นยาวมาได้ 12 ปีแล้วครับ”

ออกัส (กลอง) – โดนัท (เพอร์คัชชัน)

เอิร์ธ (คีย์บอร์ด) – พร้อม – พร้อมรัก ยี่เมา (แซกโซโฟน)

เอิร์ธ – ธนวัชร ปิงวัง (คีย์บอร์ด) เพิ่งมาหัดเล่นดนตรีก่อนเข้า ม.1 แค่ปีเดียว แต่พอได้ลองแล้วก็ยาว “ป.6 ผมเป็นนักฟุตบอล พี่ผมอยู่ที่ยุพราชฯ ม.1 ผมก็ไปเฝ้าพี่เล่นดนตรีทุกวัน มันก็เหมือนซึมซับ ก็เลยอยากเล่นเหมือนเขา”

พร้อม – พร้อมรัก ยี่เมา (แซกโซโฟน) สมัยเด็กๆ เห็นพี่ซ้อมแซกโซโฟนเลยอยากเล่น “ก็อยากจะเท่บ้าง พอเข้าวงดุริยางค์ เลยไปขอครู ได้ตำแหน่งแซกโซโฟน จากนั้นมาตลอดครับ”

เพลง Boost พลังของชาว E.H.C.B

เขาฟังอะไรกัน !

• กันกัน: “เดียวดายกลางสายลม”
ของ นรีกระจ่าง คันธมาส

• เปปเปอร์: “ตัดใจ”
ของ วง วีนัส

• พร้อม: “เพียงแค่ถามเธอดู”
ของวง AYLA’s

• เอิร์ธ: “Daily Magic” ของ บิวกิ้น

• เมฆ: ทุกเพลงสนุกๆ ของ ลำไย ไหทองคำ

• ฟาง: “Good Old-Fashioned Lover Boy”
ของ วง Queen

• มิค: ทุกเพลงที่เป็นแนว อาร์ แอนด์ บี

• โดนัท: “นาฬิกาเรือนเก่า”
ของ ปาล์มมี่ feat. อัตตา

• ออกัส: “Follow The Light”
ของ วง Dirty Loops

 

ช้าง ม้า วัว ควาย งานรวมมิตร “ฟาร์ม” สนุก

วงดนตรีที่รวมตัวจากความเป็นเพื่อน พี่ น้อง ใช้มิตรภาพเชื่อมกันด้วยพลังดนตรี ทุกคนมีฝันเดียวกันในการสร้างความสนุกบนเสียงเพลง แม้วันแข่งขันอาจมีน้ำตาของความกดดันหล่นมาบ้าง แต่มันก็ปนไปกับความภูมิใจที่ได้เข้ารอบ

“ปีที่แล้วหนูร้องคนเดียว ก็เลยรู้สึกว่ายังทำได้ไม่ดี เลยต้องพยายามมากขึ้น ปีนี้ก็เลยเครียดหน่อย พอมาถึงสนามแข่ง เราเล่นเป็นวงที่ 5 พอเจอ 4 วงก่อนหน้า เราก็รู้สึกแบบ… ปกติหนูจะเป็นคนที่พยายามเก็บฟิล เก็บอารมณ์ได้ แต่เหมือนเราเก็บจนมันสั่นค่ะ จนพอร้องเสร็จกรรมการก็ชมอย่างเดียวเลย มันเลยทั้งโล่ง ทั้งดีใจ ตอนนี้ความเครียดหายไปแล้ว” กันกันบอกความรู้สึกที่ขึ้นเกิดหลังลงเวที

แล้วใครเป็นคนตั้งชื่อวงเนี่ย ?!

“มันเป็นคำสร้อยของภาษาไทยครับ” มิคเฉลย “ตอนคิดชื่อนี้ขึ้นมาหัวกำลังโล่งๆ เลย (หัวเราะ) ผมนั่งอยู่ดีๆ แล้วมันก็ผุดขึ้นมาในหัว ก็พูดเล่นเล่นขึ้นมา เอา E.H.B.C. ไหม ช้างม้าวัวควาย แล้วพวกนี้ก็บ้าจี้”

”หนูเพิ่งรู้ตอนรอบออดิชันนี่แหละค่ะ ว่าวงเราชื่อ E.H.C.B” กันกันบอก

“ยกสัตว์มาทั้งฟาร์มเลยครับ” เสียงใครสักคนพูดขึ้นมา

 

ตัวตนในดนตรีของ E.H.C.B

ด้วยความที่สมาชิกกว่าครึ่งวง เล่นอยู่ในวงดุริยางค์และเป็นนักเรียนศิลป์ดนตรีกันอยู่แล้ว พวกเขาเลยนำทักษะนี้มาช่วยกันอะเรนจ์เพลง โดยมีฟางกับมิคเป็นตัวหลักในการทำโน้ต

“พอรู้ว่าผ่านรอบออดิชัน ผมก็นั่งทำโน้ตกับฟางถึงเที่ยงคืนทุกวันเลยครับ ที่เลือกเพลง Lies ของ ETC. เพราะเป็นเพลงที่ใส่อะไรได้เยอะ ด้วยทางเพลงมันดราม่า ก็เลยไปเอาพวกเพลง K-Drama ลองเอามาใช้ดู แล้วปรากฏว่ามันก็เข้ากัน อีกเพลง คบแล้วห้ามเลิก ของ นนท์ ธนนท์ เพลงนี้เป็นเพลงที่ใส่อะไรได้เยอะเหมือนกัน มีคีย์ที่สนุก สามารถใส่ความสร้างสรรค์ พวกส่วนของเพลง element ต่างๆ แล้วก็พวกคอร์ด ซึ่งคอร์ดจะเหมือนต้นฉบับมากขนาดนั้น”

ส่วนวัตถุดิบที่ฟางเลือกมาใช้ “ผมจะไปหาอะไรดีๆ จากแหล่งเสียงที่มันดีๆ พวกเพลงที่เขาอะเรนจ์ดีๆ ผมชอบไมเคิล แจ็กสัน ก็เลยเอามาใช้เป็นแนวหลักในการทำเพลง เพราะเขาเป็นศิลปินที่ประสบความสำเร็จ”

“เพลงของไมเคิล แจ็กสัน มันมีอะไรบางอย่างที่ฟังติดหู ฟังเพลิน ผมเลยไปไล่ฟังทั้งอัลบั้ม เลือกเพลงมา แล้วเอาไอเดียมาปรับนิดหนึ่ง ไม่ได้เอามาทั้งหมด แล้วก็เอาดนตรีแนวอื่นมาผสมด้วย เป็นพวกโซล กอสเปล หรือไม่ก็แจ๊ส แต่หลักๆ ที่ใช้ก็จะเป็นเพลงแบบ ไมเคิล แจ็กสัน ครับ” มิคบอกโครงสร้าง

กันกันเสริมในเรื่องการวางแผนหลังบ้าน “คือเราทำกันเองในหมู่เพื่อนๆ ไม่ได้มีครูผู้ควบคุมเป็นหลักขนาดนั้น ในเรื่องของดนตรีหรือว่าการซ้อม เลยไม่ได้มีกระบวนการวางแผนอะไรจริงจัง แต่ว่าในทุกๆ วัน ทุกๆ คืน เพื่อนๆ ที่ทำโน้ต หนูก็เชื่อมั่นว่าเขาก็คงมีแนวทางในการที่จะใส่สไตล์หรืออะไรต่างๆ ลงไป ก็คิดว่าจุดเด่นของวงเราที่ทำให้กรรมการโอเค ก็น่าจะเป็นเรื่องของสไตล์ที่ไม่เหมือนใคร แล้วก็ความเป็นตัวของตัวเองของพวกเรานี่แหละค่ะ”

กันกัน – เปปเปอร์ คู่หู คู่ – เปิง ส่วนผสมการร้องสุดลงตัว

นอกจากจะมีพาร์ตดนตรีเจ๋งๆ พาร์ตการร้องก็เป็นอีกส่วนที่น่าจดจำ “หนูกับเปปเปอร์ร้องเพลงด้วยกันมาตั้งตั้งแต่ ม. 1 คือจริงๆ เราร้องอยู่ในวงลูกทุ่งด้วยกันมาก่อน วงสตริงก็ร้อง ก็คืออยู่ด้วยกันทุกวงน่ะค่ะ (หัวเราะ) มันก็เลยมีเคมีที่เข้ากัน เหมือนมองตาก็รู้แล้วว่า ซีนต่อไปหยุดนะ เต้นนะ เปปเปอร์เขาเอนเตอร์เทนเก่ง เล่นหูเล่นตาเก่ง (หัวเราะ) ก็ช่วยกันใส่แอดลิปในการร้องบ้าง เพื่อเข้ากับคาแรกเตอร์ของเปปเปอร์ มันก็เลยดูเป็นธรรมชาติ ซึ่งตรงนี้ก็ไม่ได้วางแผนอะไรเยอะ มันไปเอง มันมาจากแอดติจูด” กันกันบอกด้วยเสียงหัวเราะ

“เราจะวางการร้องให้เป็นภาพของผู้ชายผู้หญิง ถ้าเอามาร้องทีละเพลงมันไม่เข้าครับ มันดูไม่มีอะไร ไม่อย่างนั้นมันก็ต้องมีคอรัส หรือมีแร็ป เพื่อชูให้การร้องสองคนที่ต่างประเภทกันดูเด่นในโชว์ขึ้นมา เพลงที่ผมร้องมันจะมีท่อนที่ผมคิดว่าใส่ไปแล้วมันจะเปิง เอ๊ย น่าจะเข้ากันครับ (เพื่อนฮากันตึง) มันจะร้องแหบๆ หน่อย เป็นเสียงแบบกระซิบ ก็จะใส่เป็นแบบนี้ของตัวเอง พอร้องมันก็จะเปิงครับ”เปปเปอร์หัวเราะเขินๆ

 

“เชียงใหม่ซาวนด์“ เสียงที่คิดถึง…

การได้รับคำชมแบบจุกๆ จากกรรมการ ที่บอกว่าโชว์มีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ และอุดมความเป็น “เชียงใหม่ซาวนด์” คือกำลังใจที่ทำให้เหล่าสมาชิก E.H.C.B ได้พลังดีๆ ทีจะไปแข่งในสนามหน้าอีกเท่าตัว ซึ่งทุกคนบอกถึงการเตรียมตัวจากนี้ว่า “พร้อมมาก !!”

ว่าแต่เด็กๆ รู้จักเชียงใหม่ซาวนด์กันไหมนะ ?

“ผมรู้จักคำว่าเชียงใหม่ซาวนด์ครับ แต่ไม่รู้จักนิยามของมันว่าคืออะไรกันแน่” มิคตอบ

“มันอาจจะเป็นเรื่องของความรู้สึกเวลาฟัง หรือว่าการใช้เครื่องดนตรีแต่ละชิ้น หรือว่าการเรียบเรียงในแต่ละท่อน มันอธิบายไม่ถูกจริงๆ ค่ะ มันไม่มีคำจำกัดความเชียงใหม่ซาวนด์คืออะไร บางทีฟังเราก็ฟังออกว่า นี่คนเชียงใหม่แน่เลย” กันกันวิเคราะห์

ไม่ว่าจะนิยามที่ถูกต้องคืออะไร ที่แน่ๆ วง E.H.C.B จะนำความเป็น เชียงใหม่ซาวนด์ ไปพัฒนาตามคำแนะนำของกรรมการแน่นอน “เราโดนชมมาอย่างนั้นเราก็จะสู้ไม่ถอย อยากให้คนที่มาดูเอนจอยกับโชว์ของพวกเรา ปล่อยจอย ไม่ต้องคิดอะไรมาก เพราะเราตั้งใจทำเพลงให้ทุกคนสนุกเองครับ” พวกเขาบอกความตั้งใจหนักแน่น

 

ถาม ‘โซ่ ETC.’ ถึง “เชียงใหม่ซาวนด์”

 

 

 

 

“พี่โซ่รู้แต่ว่ามันคือความเป็นนักดนตรีรุ่นพี่รุ่นน้องน่ะ เมื่อรุ่นน้องเริ่มทำเพลงก็จะซึมซับแรงบันดาลใจจากรุ่นพี่ ก็เอามาต่อยอด แล้วใส่สิ่งที่ตัวเองประสบพบเจอลงไปในเพลง

อย่าง ETC. ฟังอะไรมา ETC. ก็เอามาใส่ แต่เรามีเชื้อเดิม เราฟังจรัล มโนเพ็ชร เราฟังเพลงเพราะๆ เราฟังเพลงจากรุ่นพี่นักดนตรีกลางคืนที่เล่นเพลงยุค 80‘s พอเราตีความเพลงในแบบของเรา วงอื่นๆ ที่เป็นพี่น้องเรา อย่าง วงฮัม วงมายด์ วงซิกตี้ ไมล์ ที่เป็นศิลปินเชียงใหม่ ก็จะต้องฟังงานของเพื่อนเชียงใหม่ก่อน พี่เชื่อว่าสิ่งเหล่านี้มันคือการส่งแรงบันดาลใจให้กันและกัน จนคนทั่วไปฟังแล้วรู้สึกจำแนกได้ว่า อ๋อ ไอ้คนกลุ่มนี้ที่มันมาจากเมืองเชียงใหม่ มันมีอะไรบางอย่างที่คล้ายๆ กัน เป็นเชียงใหม่ซาวนด์ละมั้ง อันนี้คือข้อสันนิษฐานของพี่นะครับ เพราะตัวพี่เองไม่เคยมองตัวเองว่าเป็นเชียงใหม่ซาวนด์ แต่เป็นคนอื่นที่มองเข้ามา เขาจำกัดความให้เราว่าเราคือเชียงใหม่ซาวนด์”

โซ่ – แมนลักษณ์ ทุมกานนท์
(วง ETC.ที่มีแบ็คกราวด์จากเชียงใหม่) คลิกอ่านเรื่องราวของ ETC.

 

รู้จักตัวตนของวง E.H.C.B ให้มากยิ่งขึ้น THE POWER BAND 2024 SEASON 4 THE SERIES EP.6 ‘Pongzun – E.H.C.B’ สองความสร้างสรรค์ที่แตกต่าง

Author

ณัฐวิมล เศารยะพงศ์

Author

นักเขียนที่นอกจากจะทำตัวเป็นทาสแมวตัวยง ยังชอบเอาเวลาว่างจากการเขียนงานไปเสาะหาเรื่องกิน เรื่องเที่ยว แล้วทำให้เป็นเรื่องเดียวกัน

Author

อำพน จันทร์ศิริศรี

Photographer

ช่างภาพอิสระมากว่า 30 ปี...ที่คร่ำหวอดกับการถ่ายภาพรายการทีวีต่างๆ เช่น The Voice, The Rapper, The Stars Idol เป็นต้น และถ่ายภาพคอนเสิร์ตต่างๆ