Passion

ETC. กับความสำเร็จ
บนสองทศวรรษแห่งการสร้างตัวตน

ณัฐวิมล เศารยะพงศ์ 29 Dec 2023
Views: 1,431

Summary

รู้เรื่องนี้แล้ว เราจะรู้จัก ETC. มากขึ้น!

• ในอัลบั้มชุดแรก “ETC.” หนึ่ง อภิวัฒน์ คือสมาชิกที่เข้าวงเป็นคนสุดท้าย โดยควบตำแหน่งมือกลองและร้องนำ

• พออัลบั้ม “เปลี่ยน” ชุดที่ 2 วงให้ ดั๊ก (สุทธิพงษ์ ปานคง) อาจารย์แห่งวงการกลอง มาช่วยซัปพอร์ตตำแหน่งกลองแทน และหนึ่งก็ขยับไปร้องนำเต็มรูปแบบ

เราอยากพาทุกคนไปทำความรู้จัก ETC. ให้ใกล้ชิดยิ่งกว่านี้…

กลุ่มนักดนตรีอาชีพที่อยู่ทั้งเบื้องหน้าเบื้องหลังทางดนตรีมากว่าสองทศวรรษ แต่กว่าจะมายืนบนความสำเร็จได้แบบนี้ ครั้งหนึ่ง ETC. ก็เคยแบกความฝัน พากันนั่งรถไฟจากเชียงใหม่มาประกวดดนตรีที่กรุงเทพฯ ใครจะนึกว่า อีก 20 ปีให้หลัง รถไฟขบวนนั้นจะพาเด็กหนุ่มที่อินกับการเล่นดนตรีกลุ่มหนึ่ง มาเป็นวงดนตรีชื่อก้องนาม “ETC.” ในวันนี้

เราชวนพวกเขาแชร์เรื่องราวสนุกๆ สมัยประกวดดนตรีมาให้อ่านกันเต็มรสชาติแบบที่วงเล่าว่า ‘ไม่มีการประกวด…คงไม่มีวง ETC.’ กันเลย

 

ศิลปิน ETC. : โซ่ – บี – โอเล่ – หนึ่ง – มิ้นท์

นับเป็นหนึ่งในวงดนตรีแถวหน้าของเมืองไทย ที่แสดงสดแล้วสะกดคนดูได้อยู่หมัด เลยเป็นความตั้งใจที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ และ คิง เพาเวอร์ ไทย เพาเวอร์ พลังคนไทย ชวนวง ETC. มาร่วมส่งมอบความรู้ดีๆ ให้วงทั้งหมดที่ผ่านเข้ารอบ final ในกิจกรรม “THE POWER BAND 2023 Music Camp” ที่ผ่านมา

หลังคลาสสุดท้ายกับเซกชันเจาะลึก “การเล่นรวมวงแบบศิลปิน” (Ensemble Workshop) ของพวกเขา ไม่เพียงแต่ตั้งใจให้วงดนตรีรุ่นใหม่ได้นำไปติดอาวุธบนเวทีรอบสุดท้ายอย่างมีประสิทธิภาพ ยังให้นำความรู้นี้ก็ติดตัวไปใช้ทำงานดนตรีที่รักได้ ไม่ว่าพวกเขาจะชนะหรือไม่ก็ตาม

ETC. แบบครบวง แวะมาคุยกับเราถึงการสร้างตัวตนแบบล้นคุณภาพ โดยสมาชิกทั้ง 5 ที่ประกอบด้วย หนึ่ง – อภิวัฒน์ พงษ์วาท (ร้องนำ) โซ่ – แมนลักษณ์ ทุมกานนท์ (คีย์บอร์ด) บี – โสตถินันท์ ไชยลังการณ์ (คีย์บอร์ด) มิ้นท์ – ปรชญา รามโยธิน (เบส) และ โอเล่ – ไพโรจน์ ธรรมรส (กีตาร์)

 

“การใช้ดนตรีนำทางในวัยเรียน เป็นกิจกรรมที่ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ที่ดีมาก

ช่วงแข่งขันอาจจะอยู่บนเรือกลางมหาสมุทรที่ยังไม่เห็นฝั่ง แต่ถ้าตั้งใจและหันเข็มทิศไปถูกทาง

ขอให้เดินไปเรื่อยๆ มันจะถึงฝั่งสักวัน”

ศิลปินวง ETC.
วิทยากรที่มิวสิกแคมป์ (THE POWER BAND 2023)

 

ประกอบร่างสร้างวงที่เวทีประกวด

“สิ่งที่ทำให้วง ETC. มารวมวงกันได้ ก็คือการ “ประกวดดนตรี” ถ้าไม่มีงานประกวดฯ เราก็คงไม่มีที่เล่น เพราะตอนนั้นเรายังเป็นเด็กนักศึกษา ฝีมือมันก็ยังไม่ดีพอที่จะไปเล่นหาเงินกลางคืน ฉะนั้นสิ่งเดียวทำได้ก็คือ มาลองประกวดดนตรีกัน โซ่เล่าถึงเป้าหมายแรกของการรวมวง

ซึ่งตอนนั้นสนามแรกที่ไปคือเวทีของมหาวิทยาลัย “ตอนนั้นแค่เล่นเอง ดูกันเองในมหาวิทยาลัยก็สั่น ก็ตื่นเต้นมากแล้วครับ (หัวเราะ) จากนั้นก็ขยับไปเวทีจังหวัด ซึ่งโจทย์มันก็เริ่มยากขึ้นเรื่อยๆ”


เรื่องเบื้องหลัง
ที่ทำให้รู้จัก ETC. มากขึ้น!

• มิ้นท์ – ปรชญา มือเบส ถูกยกให้เป็น “บิดาของ ETC.” เพราะเป็นคนตั้งวงขึ้นมาเพื่อประกวดดนตรี

• โซ่ – แมนลักษณ์ คีย์บอร์ด หัวหน้าวง ETC.

• นักร้องคนแรกช่วงทำวงประกวด คือ เดียร์ (นักรบ รามณรงค์) วง Acappella 7

• ETC. คือการรวมตัวของกลุ่มนักศึกษา 5 คน จากคณะดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยพายัพ

เรียนรู้ระบบ “เล่นแบบรวมวง” ด้วยประสบการณ์จริงบนเวที

“ผมว่าการทำวงประกวด ถือเป็นการทดลองครั้งแรกๆ ในชีวิตของพวกเราเลยครับ การเรียนดนตรีในยุคนั้น น้อยมากที่จะมีครูมาสอนให้ เลยเป็นการลองผิดลองถูก มีไปถามรุ่นพี่บ้าง เรียนรู้เองบ้าง ลองเลือกเพลงมาเล่นกันเอง ยิ่งการบาลานซ์เสียงบนเวทีอะไรนี่ไม่รู้เรื่องเลย (หัวเราะ) คือไปว่ากันข้างหน้า”

ซึ่งการเรียนรู้มันสอนพวกเขาก็ตอนนี้แหละ “เวลาขึ้นเวที เพื่อนๆ ในคณะจะเฮกันไปช่วยเชียร์ ไปช่วยฟัง ซาวนด์เอนจิเนียร์ประจำวงก็ไม่มี เพื่อนก็จะไปอยู่ตรงคนดูแล้วคอยส่งสัญญาณมาว่า กีตาร์เบาไป เบสดังไป เราก็จะเดินไปปรับตู้ ผมว่ายุคนั้นมันอนาล็อกมาก ท้าทาย แล้วก็คลาสสิก ด้วยความที่อุปกรณ์หรือความเข้าใจในเทคโนโลยีวันนั้นมันไม่มีไง ทำให้เราเล่นดนตรีด้วยความบริสุทธิ์ ด้วยความไม่รู้ ได้เริ่มลองผิดลองถูก แล้วก็เรียนรู้ทุกก้าวมาจากวันแรกจริงๆ” โซ่เล่าถึงบรรยากาศเก่าๆ

โอเล่บอกตาม “มันคือสิ่งที่เราได้ทำแล้วชอบไงครับ นั่นคืออันดับแรกที่ทำให้รู้สึกดี ตื่นเต้น…ประหม่ามันก็มีเป็นธรรมดา ประสบการณ์จากวันนั้นมันก็ค่อยๆ สอน ค่อยๆ กลั่นกรองให้เรามาเรื่อยๆ”

 

เปิดโลกประลองฝีมือในสนามแข่งที่กรุงเทพฯ

หลังชนะจากเวทีจังหวัดกับฝีมือที่เริ่มมีพอตัว ความมุ่งมั่นต่อมาก็อยากลองไปวัดฝีมือในสนามกรุงเทพฯ ดูบ้าง “มันเหมือนเป็นก้าวกระโดดเลย ว่าเราออกจากภาคเหนือแล้วนะ ตื่นเต้นกันสุดๆ เรานั่งรถไฟมาเมืองหลวงที่ไม่ค่อยจะได้มากัน ต้องมาประกวดกับใครก็ไม่รู้  แต่ก็คิดกันว่า วงจากเชียงใหม่มันต้องเจ๋งแหละ! (หัวเราะ) พอมาเจอของจริงแบบทั่วไทย โห วงอะไรต่ออะไรไม่รู้ โคตรเก่งเลย” ยิ้มที่ฉายมาพร้อมตาเปล่งประกาย ทำให้โซ่นึกไปถึงตอนที่ ETC. ตัดสินใจข้ามกรอบความกล้า ออกมาท้าฝัน “ให้เป็นไปได้” ในเมืองใหญ่

 

ETC. กับรางวัลความสำเร็จสมัยประกวดวงดนตรี

• รางวัลชนะเลิศ Chiang Mai Music Award

• รางวัลชมเชย ITV shure music award

• รางวัลชนะเลิศ Nescafe’ Open up music challenge 2000


พบเป้าหมายในเส้นทางที่มาด้วยฝีมือล้วนๆ

ถ้าวันนั้น ETC. ไม่ก้าวออกมาค้นหาสิ่งใหม่ๆ บนโลกกว้าง โอกาสในการเดินเข้าสู่เส้นทางศิลปินคงไม่เกิด หลังพลาดแชมป์จากเวทีแรกที่กรุงเทพฯ อะไรที่เป็นจุดอ่อนก็ถูกแก้ไข และนำกลับไปสู้ต่อจนสำเร็จ

“คือวงเราก็ไม่ได้ชนะตั้งแต่ครั้งแรกที่สัมผัสเวทีนะครับ เราก็เคยได้รับความผิดหวังมา ตอนนั้นก็รู้สึกท้อแท้บ้าง แต่โชคดีที่ระหว่างทางเราพบว่า ชีวิตไม่จำเป็นต้องมุ่งไปที่เป้าหมายเดียว ถ้าเรามีเป้าหมายที่สอง เราข้ามไปตรงนั้นแล้วทำให้ดีขึ้นเรื่อยๆ ได้” บีให้ความเห็น

โซ่ยังเล่าเพิ่มเติมถึงเป้าหมายใหม่นั้นต่อ “ประกวดเสร็จ มีกรรมการท่านหนึ่ง เดินมาถาม เฮ้ย น้องเป็นใคร มาจากไหน พี่ขอเบอร์หน่อยอยากรู้จัก คนนั้นก็คือ พี่โก้ “Mr.Saxman” เขาคงเห็นแววบางอย่างของพวกเราและกลัวว่าพอกลับไปเรียนแล้ววงจะแตก พี่เขาก็พยายามติดต่ออยู่ตลอดเพื่อให้เราไม่เลิกเล่นดนตรี จากนั้นอีกสัก 3-4 ปี เรียนจบกันเรียบร้อย พี่โก้ก็เป็นหนึ่งในคนที่ช่วยหางานในกรุงเทพฯ ให้เราได้เข้ามาเล่นดนตรีกลางคืน เพื่อจะเริ่มเป็นศิลปินกันครับ”

 

ผ่านทุกอุปสรรคด้วยมิตรภาพที่แข็งแกร่งและไม่หยุดพัฒนาตัวเอง

หนึ่งเล่าถึงความ “ไม่ง่าย” กับการเล่นดนตรีในยุคนั้น “พอมากรุงเทพฯ ก็มาเช่าบ้านอยู่รวมกัน เวลาไปเล่นดนตรีที่ไหน technical วงก็ไม่มี เล่นเครื่องใคร แบกเครื่องมัน ผมเป็นมือกลอง-ร้องนำ ก็เซตอัปเอง แล้วเวลาไปเล่น ETC. ไม่ใช่วงที่ถือไม้กลองเดินออกมาเท่ๆ ขึ้นเวทีแล้วตีเลย แต่ ETC. ขึ้นเวทีมา ทุกคนต้องเซตอัปเครื่องของตัวเอง (หัวเราะ) ต้องมีคนพูดถ่วงเวลาจนกว่าผมจะเซตกลองเสร็จ ถึงเริ่มเข้าเพลง”

เกือบยอมแพ้แต่ไม่ยอมหมดหวัง

เมื่ออัลบั้มชุดแรกสำเร็จออกมา แต่กระแสกลับไม่เปรี้ยงอย่างที่ควร อุปสรรคในเส้นทางหลายเรื่องยังเริ่มถาโถม แต่ละคนจึงถึงจุดที่อยากถอดใจ “เราเลิกวงกันเถอะ มันเป็นไปไม่ได้แล้ว กลับบ้านกันดีกว่า!” พวกเขาคุยกันอย่างนั้น… แต่ท้ายที่สุด ก็ไม่มีใครอยากทิ้งฝันในงานดนตรี เลยกอดคอมาลุยด้วยกันต่อ!

“นึกย้อนถึงสมัยที่เราเล่นดนตรีด้วยกันแรกๆ กับทุกวันนี้ รู้สึกเลยว่าเราเล่นดีขึ้นเรื่อยๆ  มันตกตะกอนขึ้นเรื่อยๆ มันดีกว่าสมัยก่อนซะอีก เพราะเราพยายามพัฒนาตัวเองขึ้นเรื่อยๆ เลยเป็นความรู้สึกว่า ถ้าอยู่ด้วยกันแล้วมันดี ก็อยากเล่นดนตรีด้วยกันต่อครับ” หนึ่งเล่าถึงการตัดสินใจครั้งนั้น

ส่วนมิ้นท์ช่วยเสริม “ถ้าไม่มีพื้นฐานจากที่เราอยู่ด้วยกันมานาน แบบมองตาก็รู้ว่าคิดอะไร เราคงจะเดินมาไม่ถึงวันนี้ด้วยครับ”

 

จุดเปลี่ยนที่ทำให้เป็นวง ETC. ที่สมบูรณ์

แล้วความทุ่มเทก็ให้ออกดอกออกผลตอนอัลบั้ม “เปลี่ยน” เพราะมัน “เปลี่ยนความเป็นไปได้” ให้เกิดขึ้นแบบพลิกฝ่ามือ อัลบั้มนี้ให้ชื่อเสียงและเริ่มเห็นลายเซ็นวงที่ชัดขึ้น ซาวนด์อันเป็นอัตลักษณ์จึงถูกสร้างขึ้นให้คนฟังจดจำและเข้าถึง “เสียงของ ETC.”  ในทุกผลงานที่ผ่านมา

“สิ่งที่ยากมากของการทำเพลงตอนนี้ คือการผสมซาวนด์ไม่ให้ล้าสมัย เราพยายามทำเพลงออกมาเรื่อยๆ พยายามดูโลกใหม่ว่าเขาไปถึงไหนกันแล้ว จะได้ไม่ย่ำอยู่แต่ในโลกของตัวเองครับ” มิ้นท์บอกความตั้งใจ

ครั้งแรก!! แห่งวงการประกวดดนตรีระดับประเทศ..กับการจัดแคมป์ทางดนตรี เพื่อส่งมอบประสบการณ์แห่งความ เป็น ไป ได้ ในการพัฒนาทักษะทางดนตรีครอบคลุมทุกมิติ สำหรับวงดนตรีที่ผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศ THE POWER BAND 2023 Season 3

 

Author

ณัฐวิมล เศารยะพงศ์

Author

นักเขียนที่นอกจากจะทำตัวเป็นทาสแมวตัวยง ยังชอบเอาเวลาว่างจากการเขียนงานไปเสาะหาเรื่องกิน เรื่องเที่ยว แล้วทำให้เป็นเรื่องเดียวกัน

Author

บริษัท เอ็กเปิร์ดคิด จำกัด

Photographer

การรวมตัวของคนโปรดักชั่น ที่ยังเชื่อในพลังสร้างสรรค์ เราจึงคิดและผลิตงานศิลปะทุกรูปแบบ