Summary
ความภูมิใจในชาติพันธุ์คือแรงบันดาลใจให้ดีไซเนอร์เชื้อสายม้งพาผ้าเขียนเทียน วัฒนธรรมบรรพบุรุษออกมาให้คนเมืองและชาวโลกได้รู้จัก ความยั่งยืนของการใช้ชีวิตคือสิ่งที่ ชง – อรทัย อินรัง มองหาจากสิ่งใกล้ตัว และค้นพบว่าการออกแบบเสื้อผ้าคือสิ่งที่เธอหลงใหลโดยไม่รู้ตัว
วัยเด็กของคุณอรทัยนั้นเรียบง่าย คุณพ่อรับราชการทหารพบรักกับสาวชาวม้งที่บ้านป่ากลาง อ.ปัว จ.น่าน หลังจากย้ายครอบครัวมาอยู่ลพบุรี คุณแม่ก็รับจ้างเย็บผ้าโดยมีเด็กหญิงอรทัยเคียงข้าง ช่วยตัดเล็มเศษด้ายให้เป็นประจำ แม้งานจะเล็กน้อยแต่ก็ซึมซับมาแบบไม่รู้ตัว เธอเลือกเรียนคหกรรมแทนการตามความฝันที่อยากจะเป็นช่างเสริมสวย
หลังคุณพ่อเกษียณจึงย้ายครอบครัวกลับมาอยู่ที่บ้านป่ากลาง คุณอรทัยเบื่อหน่ายงานผ้าจึงขอไปทำงานเป็นสาวห้างนั่งคิดเงิน แล้วความคิดก็เปลี่ยนไป “ลูกทำให้คิดถึงความยั่งยืนในชีวิต” จึงหันมามองสิ่งรอบตัว เห็นแม่ผู้รับจ้างตัดเย็บ ซ่อมผ้าให้คนในหมู่บ้าน เธอจึงเริ่มจากช่วยเข้าเมืองไปซื้ออุปกรณ์งานผ้ามาให้แม่ เอาผ้าพื้นเมืองมาขายพร้อมกับดูแลลูกไปด้วย
“พี่สำเร็จมาได้เพราะสิ่งที่คลุกคลี ทำจนชอบและใจรัก
กลายเป็นตัวตนของเรา จะอยู่ได้ยั่งยืน”
อรทัย อินรัง
ผู้ประกอบการ ฝ้ายเงินฝ้ายทอง
เพื่อนใหม่ของคุณอรทัยคือคนม้งที่ร่วมโดยสารนั่งรถมาเชียงใหม่ด้วยกัน ความที่เป็นคนช่างคุย ช่างถาม ช่างสังเกต ทำให้รู้ว่าหมู่บ้านของเธอมีของดีซ่อนอยู่ นอกเหนือจากเครื่องเงินและผ้าทอแล้ว ยังมีผ้าเขียนเทียนอีกด้วย จึงเกิดไอเดียติดผ้าเขียนเทียนมาขายในเวลาที่ต้องมาซื้ออุปกรณ์ให้แม่ทุกครั้ง เป็นแบบนั้นมาจนกระทั่งเศรษฐกิจไม่ดี ทำให้ต้องเลิกไปขาย
ทำความรู้จักผ้าเขียนเทียน
• ศิลปะจากภูมิปัญญาดั้งเดิมของชนเผ่าม้ง
สืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น ใช้ในโอกาสสำคัญ โดยเฉพาะวันปีใหม่และงานแต่งงาน
• ลายเส้นบนผืนผ้าเกิดจากการวาดด้วยปากกาที่ทำขึ้นเฉพาะ
จุ่มปากกาในหม้อต้มเทียนที่หลอมละลาย แล้ววาดลงบนผ้า นำผ้าที่วาดลายแล้วไปแช่น้ำสะอาดให้สีติดดีขึ้น ก่อนไปย้อมสีครามที่ได้จากต้นครามหรือต้นห้อม ผึ่งให้แห้ง เทียนที่เกาะบนผ้าจะกั้นไม่ให้สีติด นำผ้าไปต้มทั้งผืนเพื่อให้เทียนละลายออก ส่วนที่เขียนเทียนจะเป็นลวดลายสีขาว ส่วนที่ไม่ได้เขียนจะเป็นสีคราม
• บางแห่งลายเขียนเทียนเกิดจากแม่พิมพ์ที่ดัดจากขดลวดเส้นใหญ่
ประทับลงบนผ้าแทนการวาดมือ ช่วยลดเวลาการทำงานลง
อุปสรรคและโอกาสมักจะมาคู่กันเสมอ
28 ปีแล้วที่คุณอรทัยเริ่มทำงานผ้าอย่างจริงจัง ทุกครั้งที่ติดขัดจะมีทางออกเสมอ เธอเล่าเรื่อง “เจ๊ง” ให้เราฟังอย่างสนุกสนาน แต่เราก็รู้ว่ากว่าจะผ่านมาได้ ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย แรงฮึดเดียวที่มีคือกองผ้าที่วางสุมอยู่ที่บ้าน ซึ่งหมายถึงครอบครัวของเธอและคนในหมู่บ้านป่ากลาง อันประกอบไปด้วยช่างเขียนเทียน ช่างตัดเย็บ และอีกหลายชีวิต
“เจ๊งแรกคือวิกฤตต้มยำกุ้ง ผ้าที่เอาไปขายเริ่มไม่เหลือกำไร เลยย้ายมาวางขายตรงหน้าบ้าน เอาผ้าเขียนเทียนมาตัดเย็บเป็นเสื้อผ้าสำเร็จ เพราะเห็นว่ามีนักท่องเที่ยวผ่านเข้าออกหมู่บ้านทุกวัน จึงจัดบ้านให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและวิถีชีวิต จับคุณตาใส่ชุดม้งเป่าแคน เล่นเพลงม้ง จับคุณยายและลูกสาวใส่ชุดม้งรอถ่ายรูปกับฝรั่ง ส่วนพี่นั่งเขียนเทียนโชว์ พอมีโครงการ OTOP ก็ส่งสินค้าไปคัดสรร ตอนคิดชื่อร้าน คำแรกที่คิดได้คือเราขายผ้าฝ้าย นึกถึงเงินทอง เลยรวมกันเป็น “ฝ้ายเงินฝ้ายทอง”
การเข้าโครงการของ OTOP เปิดโลกให้เธอมาก นอกจากจะมีรายได้จากการออกร้านแล้ว การได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ อย่างไม่ย่อท้อของเธอ ทำให้เธอตระเวนเข้าอบรมเกือบทุกโครงการที่รัฐจัด เกิดมุมมองและความคิดเปลี่ยนไปมาก เพราะแต่ละโครงการมีอาจารย์ที่ปรึกษามืออาชีพคอยแนะนำ ช่วยออกแบบ ที่สำคัญยังมีช่างตัดเย็บคู่ใจอย่างคุณแม่คอยสนับสนุน
สิ่งที่คุณอรทัยชอบมากที่สุดเห็นจะเป็นการส่งผลงานการออกแบบเข้าประกวด โดยเฉพาะงานแรก ชื่อชุดฟองคราม ได้รับรางวัลรองชนะเลิศ เป็นชุดทรงปล่อยที่แม่ทำขายอยู่แล้ว ใช้เทคนิคผสมผสานระหว่างการเขียนเทียนและการมัดย้อม โดยแรงบันดาลใจมาจากฟองอากาศในหม้อครามของชาวม้งนั่นเอง หลังจากนั้นก็มีรางวัลอื่นๆ ตามมาอีกหลายรายการ
คิดนอกกรอบ ออกไปหาตลาดไกลตัว
“ม้งทุกที่ก็ทำผ้าเขียนเทียน แต่จะทำอย่างไร ให้เขามาซื้อผ้าเขียนเทียนที่น่าน พี่อยากจะทำให้ผ้าเขียนเทียนน่านเป็นที่รู้จักเหมือนกับผ้าทอน่าน การประกวดเลยเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ผ้าเขียนเทียนน่านเป็นที่รู้จัก อยู่ในจังหวัดไม่ดัง เราไปดังจากข้างนอก ให้คนที่อื่นรู้จัก เวลาเขามาน่าน เขาก็จะได้มาตามหาผ้าของเรา”
คุณอรทัยได้ชื่นชมความสำเร็จไม่ถึงไหน เจ๊งที่ 2 ก็มาแบบไม่ทันตั้งตัว ช่วงที่มีปิดสนามบิน งาน OTOP ถูกยกเลิกและคนเริ่มไม่ออกจากบ้าน ประกอบกับผ้าพิมพ์ลายเขียนเทียนออกมาตีตลาด งานอุตสาหกรรมราคาถูกกว่างานทำมือหลายเท่าตัว คุณอรทัยจึงหันมามองตลาดชาวต่างชาติและนักท่องเที่ยวจีน โชคดีที่มีโครงการจับคู่ธุรกิจกับ คิง เพาเวอร์ เธอเล่าว่าเอางานไปเสนอหลายรอบแต่ไม่ผ่านสักครั้งจนท้อ
“ทุกครั้งที่ไปเจอฝ่ายจัดซื้อ เขาจะให้โจทย์มา เขายังไม่ซื้อแต่เขาสอน เราต้องเอาโจทย์มาแก้ทีละข้อ ตั้งแต่เรื่องสีตก เนื้อผ้า แบบเสื้อ เสื้อของเราราคาสูงเพราะเขียนเทียนทั้งตัว พี่เลยทำไซซ์เล็กไปส่ง เขาบอกว่าลูกค้าของ คิง เพาเวอร์ ไม่มีคนตัวเล็กนะ”
คอลเลกชัน “ฟองคราม” การประกวดครั้งแรกของฝ้ายเงินฝ้ายทอง
จากขดลวดที่ประยุกต์ลวดลายเอง
คุณอรทัยกลับมาทำการบ้านอย่างหนัก เธอใช้เวลานั่งสังเกตนักท่องเที่ยวต่างชาติในห้างฯ ต่างๆ จนได้คำตอบมาเป็นคอลเลกชันเสื้อคลุมมีฮูดตัวโคร่งใช้กันร้อนกันฝนได้ดีเวลาเดินทาง และเสื้อคลุมยูกาตะสไตล์ญี่ปุ่น เลือกใช้ผ้าพื้นมากขึ้น ปรับลายเขียนเทียนให้น้อยลง ตอบโจทย์และขายดีจนทุกวันนี้
ส่วนปัญหาผ้าสีตกแก้ด้วยการซักหลายรอบ เมื่อได้ผ้าเขียนเทียนมา จะนำมาซักก่อน 3 รอบ และซักอีก 2 รอบหลังจากตัดเย็บเสร็จ ตรวจความเรียบร้อย เช็กตะเข็บ เล็มด้าย ส่งรีดแล้วจึงแพ็กขาย สีที่ได้จะซีดขัดใจม้งที่นิยมสีน้ำเงินเข้มๆ แต่ถูกใจฝรั่งมาก แถมยิ่งซักยิ่งนิ่ม
คำถามคือ เราต้องทำขนาดนั้นเชียวหรือ “เขาซื้อไปฝากคนที่ประเทศเขา เขาใส่ที่ประเทศอื่น มันจะเสียชื่อ คิง เพาเวอร์ ความยั่งยืนจะไม่กลับมาสู่เรา ถ้าเขาขายไม่ได้ เราก็ไม่ได้ขาย แล้วชาวบ้านที่บ้านเราล่ะ ทำให้ต้องทำให้ดีที่สุด กำไรช่างมันก่อน ฉันอยู่ได้ ชาวบ้านอยู่ได้ อนาคตมันจะมาถึงลูกฉัน มันจะส่งต่อเป็นรุ่นๆ ไป”
และเจ๊งล่าสุดคือโควิดที่ใครๆ ก็ต้องเจอ คุณอรทัยต้องปิดร้านพร้อมกับขนผ้ากองโตกลับบ้าน เธอบอกว่าเงินที่ช่วยชีวิตครั้งนี้มาจาก คิง เพาเวอร์ และการขายออนไลน์ของลูกๆ รวมทั้งไลฟ์ขายของ
Suggestion
คลื่นลูกใหม่ที่ผลักให้คลื่นลูกเก่าไปไกลขึ้น
คราวนี้คุณอรทัยหยิบชุดสวยที่เพิ่งตัดเย็บเสร็จออกมาให้เราดู ชุดบอดี้สูทเกาะอกทำจากผ้าไทยและลายเขียนเทียน เธอเล่าด้วยความภูมิใจว่าช่วยกันออกแบบกับ จอย – อรุโณทัย อินรัง ลูกสาวคนโตผู้มาพร้อมกับการปรับลุคใหม่ให้ฝ้ายเงินฝ้ายทอง ขยายฐานลูกค้าไปในกลุ่มคนอายุน้อยลง เพิ่มช่องทางออนไลน์มากขึ้น และดูแลในส่วนลูกค้าต่างประเทศ
คุณจอยเลือกเรียนเทคนิคการแพทย์ แม้จะขัดใจแม่ แต่สุดท้ายก็ค้นพบว่าชอบงานอิสระมากกว่า และงานช่วยแม่จึงตอบโจทย์มากที่สุด ซึ่งช่วยให้คุณอรทัยมีเวลามากขึ้น จากเดิมต้องทำงานทุกอย่างคนเดียว ก็ลดเหลือเพียงงานออกแบบและคุมช่างในขั้นตอนการผลิต ส่วนที่เหลือยกให้ผู้ช่วยมือใหม่ทั้งหมด
โจโจ้ ลูกสาวคนเล็กที่มาช่วยเป็นแบบใส่ชุด – กับจอย ลูกสาว
ชุดที่ได้แรงบันดาลใจจากลิซ่าและเทย์เลอร์ กับมุมมองของคนรุ่นใหม่
คุณจอยบอกว่าทำงานผ้าได้เพราะเธอเองก็เติบโตมากับกองผ้าเช่นกัน “จอยช่วยแม่ออกแบบบางชุดในสไตล์ที่เราชอบ แนววัยรุ่น เสื้อเชิ้ต ชุดกระโปรง เสื้อเกาะอก บางแบบได้แรงบันดาลใจมาจากเจ้าหญิงและบาร์บี้ที่ได้ดูตอนเด็กๆ รู้สึกว่ามันสวยดี ยิ่งเป็นผ้าของเรายิ่งไม่เหมือนใคร”
ก่อนนี้คุณจอยเล่าถึงชุดที่ได้แรงบันดาลใจมาจากลิซ่า วงแบล็กพิงก์ เสื้อแจ็กเกตทะมัดทะแมงพร้อมบูตเท่ๆ และล่าสุดชุดเซ็กซี่ที่เราได้เห็นก็มาจากเทย์เลอร์ สวิฟต์ แม้ชุดจะยังไม่เคยส่งถึงคนทั้งคู่ แต่สองแม่ลูกก็ทำให้ผู้คนหันมามองผ้าไทยลายเขียนเทียนใหม่เสียแล้ว
เคล็ดลับความสำเร็จของ อรทัย อินรัง
หัวเรือ แห่ง ฝ้ายเงินฝ้ายทอง ในมุมมองของลูกสาว
•ไม่หยุดเรียนรู้ เชื่อว่าไม่มีใครแก่เกินเรียน
•ไขว่คว้าหาโอกาสและประสบการณ์ให้กับตัวเองอยู่เสมอ
• ค้นหาแรงบันดาลใจ มีจินตนาการที่ล้ำเลิศ
• ได้ครูและที่ปรึกษาที่ดี
แพสชันใกล้ตัวที่ไม่ควรมองข้าม
สำหรับคนรุ่นใหม่ที่กำลังมองหาแพสชัน คุณอรทัยบอกว่าให้มองดูสิ่งรอบตัว โดยเฉพาะที่บ้าน มีอะไรให้ทำสิ่งนั้น ศึกษาจากภูมิปัญญาที่เราคลุกคลีอยู่ทุกวัน “พี่มักจะบอกคนในหมู่บ้านว่าให้กลับบ้าน เหมือนครั้งหนึ่งพี่เคยไปทำงานที่อื่น มันไม่ยั่งยืน มันไม่ใช่ของเรา เราเจริญได้ด้วยภูมิปัญญาของคนเฒ่าคนแก่ พี่มีความศรัทธา เชื่อว่าภูมิปัญญาไม่มีวันตาย ทุกอย่างเริ่มจากไม่มีอะไร คนม้งทำเองในหมู่บ้าน เขียนลายเอง ขึ้นโครงขดลวด ย้อมผ้า ผ้าพวกนี้มันอยู่ในหมู่บ้าน คนอื่นก็เอาสิ่งนี้ไปไม่ได้”
มาถึงคำถามสุดท้าย ถ้าเจ๊งอีกคิดจะไปขายอย่างอื่นไหม คุณอรทัยนิ่งแล้วตอบด้วยน้ำเสียงหนักแน่นว่า “มันซึมซับอยู่ในจิตวิญญาณไปแล้ว ผ้าทำให้พี่เจริญ ลูกพี่ก็เจริญ มีอยู่ มีกิน มีใช้ จะทิ้งไม่ได้ มันเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตไปแล้ว”
ฝ้ายเงินฝ้ายทอง (FAINGERNFAITHONG)
ที่ตั้ง: 167 หมู่ 1 บ้านน้ำเปิน ต.ป่ากลาง อ.ปัว จ.น่าน 55120
ข้อมูลสินค้าเพิ่มเติมที่ตลาดพลังคนไทย
คลิก: FAINGERNFAITHONG
สนใจสินค้าพลังคนไทย สามารถสนับสนุนได้ที่คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ
ชมความสนุกในรายการผจญไทย EP.34 แบบเต็ม ๆ