Passion

“เพียงสัมผัสใจคนฟัง”
แก็ป – อรรถพล หมั่นเจริญ
เติมพลังบนเส้นทางดนตรี

ศรัณย์ เสมาทอง 19 Jun 2024
Views: 729

Summary

แม้หนุ่มแจ๊สเสียงใสจะสวมหมวกหลายใบ ทั้งเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย เป็นผู้บริหารสถาบันดนตรีชื่อดัง หรือเป็น   ‘พี่แก็ป’ ของน้องๆ THE POWER BAND แต่สิ่งที่ไม่เคยละทิ้งเลย คือ การร้องเพลง เพราะเป็นสิ่งที่ทำให้เขามีพลังหยัดยืนได้ถึงทุกวันนี้

“คุณมีความสุขไหม สนุกกับสิ่งที่ทำไหม เพลงมัน Touch คนฟังไหม…บางครั้งเราก็ไม่ได้มองหา Perfect Skill จากคุณเลย”

เพียงถามว่าเขามองอะไรในตัวนักดนตรีที่ขึ้นเวทีประกวด คำตอบของ แก็ป – อรรถพล หมั่นเจริญ Music Business Director ของสถาบันดนตรียามาฮ่า ที่ร่วมจัด THE POWER BAND 2024 SEASON 4 เป็นได้สุด เป็นไป ได้ ด้วยพลังแห่งดนตรี” ด้วย พาเรายิ้มได้ เพราะนั่นคือเขามองตัวตนของแต่ละคนมีความหมาย ไม่ใช่มากางตำราวัดผลกันหน้าเวที

เราพบแก็ปในฐานะ ‘ครูแก็ป’ Voice Instructor ของ THE POWER BAND Music Camp คลิกอ่านประสบการณ์และความรู้ดีๆ จาก “THE POWER BAND Music Camp”

ซึ่งน้องๆ นักดนตรีรุ่นใหม่ที่เข้ารอบชิงชนะเลิศ THE POWER BAND 2023 SEASON 3 จัดโดย คิง เพาเวอร์ ไทย เพาเวอร์ พลังคนไทย ร่วมกับ วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับ “รางวัล” เป็นโอกาสดีเข้าร่วมเวิร์กช็อปกับมิวสิกแคมป์ดังกล่าว แต่จริงๆ แล้ว เขามีส่วนร่วมในโครงการนี้มาตั้งแต่ปีแรกที่จัดการแข่งขันแล้ว

ย้อนกลับไปไกลกว่านั้น เรามีโอกาสได้ฟังเขาร้องเพลงสดๆ ตามคอนเสิร์ตและ Jazz Bar มานานแล้ว ความทรงจำที่มีคือเสียงร้องใสๆ (และสูงมาก) กับเสียงปรบมือเกรียวกราวของคนฟังหลังเพลงจบเสมอ

จนอดสงสัยไม่ได้ว่า ‘เส้นทางสายดนตรี’ ของคนที่สามารถสัมผัสใจคนฟังได้นั้น มันเป็นอย่างไร

 

“สำหรับนักดนตรีแล้ว

วันที่ทำเพลงเสร็จไม่ใช่ประสบผลสำเร็จนะ

มันเพิ่งเริ่มต้น…เป็นแค่ก้าวแรกเอง”

อรรถพล หมั่นเจริญ
Music Business Director สถาบันดนตรียามาฮ่า

ภาพจากคุณอรรถพล หมั่นเจริญ

 

หรือดนตรีคือสิ่งที่ใช่

“ผมเริ่มจากการอ่านทำนองเสนาะสมัยประถมครับ” อ้าว…นึกว่าเริ่มจากเรียนเปียโนหรือเรียนร้องเพลง “ผมมาเรียนร้องเพลงจริงจังที่มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งตอนสอบเข้าผมร้องได้ 2 เพลงเองครับ”

ย้อนไปสมัยประถม ด.ช.แก็ป เรียนอยู่ที่โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่ แต่คุณพ่อทำงานสายธุรกิจอยู่ที่นครสวรรค์ ส่วนคุณแม่ลัดฟ้าไปทำงานที่ต่างประเทศ และญาติพี่น้องส่วนใหญ่อยู่ที่ลำพูน เขาจำต้องอยู่หอพักประจำในเมืองเชียงใหม่

“ก่อนที่แม่จะเดินทางไปต่างประเทศ เขาให้ซาวนด์อะเบาท์ผมมาอันหนึ่ง” เจ้าซาวนด์อะเบาท์หรือเครื่องเล่นเทปแบบพกพานับว่าเป็น Gadget ที่เก๋ไก๋มากในช่วงปลายยุค 80s ถ้าวันไหนพ่อมาเยี่ยมเยือนก็มักพาแก็ปไปเที่ยวห้างสรรพสินค้า พร้อมเอาใจลูกชายด้วยการให้เลือกหยิบของที่อยากได้

“ผมก็เลือกแค่เทปคาสเซตต์ครั้งละ 1 ม้วน เพราะไม่รู้จะเลือกอะไร จะได้เอามาเปิดด้วยซาวนด์อะเบาท์ฟัง เป็นอย่างนี้ทุกครั้ง”

กิจกรรมที่เกี่ยวกับเสียงที่จำได้ก็แค่อ่านทำนองเสนาะแบบที่เขาเล่ามา

“พอมัธยมผมสอบเข้าเรียนที่โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเมื่อก่อนไม่มีห้องซ้อมดนตรีในโรงเรียนหรอก เราจะเล่นกีฬากันมากกว่า แต่ก็มีเพื่อนๆ ที่ชอบดนตรีนำอุปกรณ์ของตัวเองมาทิ้งไว้เพื่อซ้อมสนุกๆ แบบไม่มีแอมป์…ผมก็ไปนั่งดู จนวันหนึ่งนักร้องไม่สบายถึงไปขึ้นไปร้องแทน”

ภาพจากคุณอรรถพล หมั่นเจริญ

สมัยนั้นคลื่นวิทยุในเชียงใหม่มีกิจกรรมให้เด็กๆ ส่งเทปคาสเซตต์บันทึกการเล่นดนตรีเข้าไป ถ้าผ่านการคัดเลือกจะได้เข้าไปเล่นในสตูดิโอเพื่อออกอากาศ เมื่ออยากลองส่งต้องทำอย่างไร

ห้องซ้อมไม่มีก็ไปขอซ้อมที่ชมรมดนตรีสากลของมหาวิทยาลัย บางวันก็ซ้อมแบบไม่มีเครื่องขยายเสียงที่โรงเรียน บางวันก็ยกโขยงไปบ้านเพื่อน “ตอนผมอยู่ ม.1 พี่หนึ่ง ETC. (อภิวัฒน์ พงษ์วาท) เขาอยู่ ม.5 สมัยนั้นเขาตีกลอง เราก็ยืมกลองพี่ไปซ้อมกัน”

วงเขาได้รับเลือกเข้าไปเล่นออกอากาศทางคลื่นวิทยุ แม้จะบอกว่าวันนั้นเล่นไม่ได้ดี แต่พวกเขาก็ตื่นเต้นและมีความสุขมาก จนรู้สึกว่า…

“หรือว่าดนตรีจะเป็นสิ่งที่เราชอบ”

 

“เห็นร้องแจ๊ส แต่ผมก็ฟังเพลงแบบทุกคนนะ

พี่เบิร์ดยังคงเป็นนักร้องในดวงใจ

ผมชอบเพลงเธอผู้ไม่แพ้…ไม่รู้ทำไม”

สองเพลงเปลี่ยนชีวิต

เพื่อนคนหนึ่งมาบอกข่าวว่ามีอาจารย์สอนดนตรีท่านหนึ่งจบจากเบิร์กลีย์มาสอนในเชียงใหม่ พอรู้ก็ถึงขั้นยืมกีตาร์เพื่อนไปขอเรียนกันเลย

“ตอนนั้น อ.เต๊ะ – อิทธินันท์ อินทรนันท์ ยังไม่ได้เปิดสตูดิโอ ผมไปนั่งเรียนกับเพื่อนสองคนที่บ้าน บางทียาว 4 ชั่วโมง ท้ายชั่วโมงอาจารย์อัดคาสเซตต์ให้อีกในราคาหลักร้อย อ.เต๊ะเป็นคนทำให้ผมรู้จักดนตรีแจ๊ส”

เขาเริ่มอยากเรียนร้องเพลงแต่ยุคนั้นข้อมูลค่อนข้างหายาก อินเทอร์เน็ตก็ไม่สมบูรณ์นัก “อ.เต๊ะ แนะนำว่าถ้าจะเรียนแจ๊สก็มีศิลปากรกับมหิดลสมัครสอบตรงเลยกับสอบเอนทรานซ์…แต่อันนี้ต้องร้องโอเปร่า ผมก็ไปเรียนโอเปร่าแถวเชียงใหม่นั่นล่ะ แต่ร้องได้เท่าที่ใช้สอบนะ และติวกับเพื่อนๆ เพื่อสอบตรงศิลปากร ตอนนั้นร้องได้ 2 เพลง All of Me กับ My Funny Valentine”

ภาพจากคุณอรรถพล หมั่นเจริญ

ผลของความพยายาม แก็ปสอบติด 2 ที่ อันหนึ่งตามระบบเอนทรานซ์มาสายร้องโอเปร่า อีกอันหนึ่ง ดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร แจ๊สตรงใจ “ผมเห็นนักร้องผู้ชายที่ร้องโอเปร่าเพียบเลย แต่ผมไม่เคยเห็นนักร้องแจ๊สที่เป็นผู้ชาย”

ปัญหามันอยู่ที่ค่าเทอม อันหนึ่งประมาณ 7 พัน อีกอันเกินครึ่งแสน “บ้านเราไม่ได้รวยนะ แต่แม่บอกว่าให้เรียนอะไรที่อยากทำ ที่เหลือแม่จัดการเอง ผมเลยบอกแม่ว่า โอเค งั้นเอางี้ละกัน ผมอยากเรียนแจ๊ส แล้วจะทำทุกอย่างเพื่อพิสูจน์ว่า ไอ้สิ่งที่ผมเลือกเนี่ยมันไม่ผิด” เป็นเหตุให้ช่วงเรียนปี 1 ปี 2 แก็ปจะวุ่นอยู่กับการฝึกร้องเพลงเอาเป็นเอาตาย ไม่ได้ออกไปรับงานร้องเพลงเหมือนที่เพื่อนๆ ทำเลย

“ก็ตอนสอบเข้าผมร้องได้ 2 เพลงเองนะ!!!!”

 

“ทุกวันนี้ที่ผมยังร้องเพลง

เพราะต้องการพลังกลับมาจากคนฟัง

นั่นคือสิ่งที่ผมยังโหยหา”

 

 

จากเด็กแจ๊ส สู่ “ภารกิจคุณครู”

แก็ปเห็นว่าตัวเองมีพื้นฐานน้อยกว่าเพื่อนๆ และฟังเพลงแจ๊สมาน้อยเกินไป จึงต้องทั้งฟัง เรียนรู้ ฝึกร้อง จนเริ่มมั่นใจ

“ประมาณปี 2 เทอม 2 เพื่อนให้ไปร้องเพลงแทนที่ผับเล็กๆ แถว อตก. ร้องเพลง POP นี่ล่ะ” แต่หลังจากนั้นเขาก็ได้ร้องอีกหลายที่ มีทั้งร้องแจ๊ส ร้องเพลงดิสโกกับวงหนึ่ง ร้องแนวโซล ฟังกี้ กับวงดนตรี 9 ชิ้น ซึ่งต้องฝึกฝนตัวเองมากกว่าเดิมและได้ฝึกร้องเสียงหลบ (Falsetto) “วงเขาเล่นเพลงของ Earth Wind & Fire ต้องใช้เสียงหลบให้มันสูง จากไม่เคยร้องเสียงสูงเลยกลายเป็นคนร้องเพลงเสียงสูงไปเลย”

สองภาพจากคุณอรรถพล หมั่นเจริญ

ช่วงพีกประมาณใกล้จบมหาวิทยาลัย แก็ปเซ็นสัญญาร้องเพลงให้กับโรงแรมสามแห่ง พร้อมปิดท้ายที่แจ๊สบาร์อีกแห่งตอนเที่ยงคืน ประสบการณ์ช่ำชองถึงขั้น เมื่อเรียนจบก็ได้รับการทาบทามเข้าไปเป็นอาจารย์ในศิลปากรทันที

“การร้องแจ๊สมันค่อนข้างยาก ถ้าเราเล่นเปียโนเราจะเห็นว่านั่นคือโน้ตอะไรแล้วกดลงไป แต่การร้องเพลงมันใช้เครื่องมือที่อยู่กับตัวเรา มันควบคุมยากกว่าเครื่องดนตรี”

ผ่านการทำงานมาหลายสิ่ง จนวันนี้ที่ต้องดูแลโรงเรียนสอนดนตรีที่มาจากญี่ปุ่น เขาได้พบสิ่งที่เรียกได้ว่าเป็นพื้นฐานของนักดนตรีและนักร้อง เป็นคอร์สชื่อ Junior Music Course เริ่มเรียนตั้งแต่ประมาณสามขวบครึ่ง

ภาพจากคุณอรรถพล หมั่นเจริญ

“มันคือ การฟัง ร้อง เล่น อ่าน เขียน เขาต้องการปลูกฝังให้เด็กฟังก่อนเป็นอันดับแรก ครูร้อง โดๆๆ ให้เด็กฟัง แล้วให้ร้องตาม โดๆๆ พอครูวางมือไปบนเปียโนที่เป็นตัว โด เด็กก็กดจังหวะตามได้ พร้อมมีการเล่นเต้นสนุกทั้งคลาส จากได้ยินมาร้องแล้วก็เล่นสนุกจนชิน การหัดอ่านโน้ตและนำไปสร้างสรรค์มันเป็นขั้นต่อจากนั้น สิ่งที่ได้จากการเรียนรู้แบบนี้ คือเด็กจะมี Perfect Pitch จดจำเสียงโน้ตนั้นได้ ถ้าเรามีหูที่ดี เวลาจะไปเล่นเครื่องดนตรีอื่นมันก็ง่ายขึ้น”

จากการทำงานอย่างหนัก ทำให้เขาเป็น ‘ครูแก็ป’ อย่างสมบูรณ์แบบไปแล้ว

 

“ถึงจะมีพรสวรรค์ มี Perfect Skill

แต่สุดท้ายวัดกันที่ถูกใจคนฟังไหม

เพราะดนตรีมัน คือ รสนิยม”

พรสวรรค์ VS รสนิยม

จากที่ครูแก็ปได้สอนมาเยอะ อดถามไม่ได้ว่า ยุคนี้เด็กๆ หันมาทำเพลงกันมากขึ้น เสร็จหนึ่ง Single ก็ออกสู่ผู้ฟังได้แล้ว โอกาสที่จะประสบผลสำเร็จต้องมากขึ้นกว่าสมัยก่อนใช่ไหม

“ทำเพลงเสร็จไม่ใช่ประสบผลสำเร็จนะ มันเพิ่งเริ่มต้น…เป็นแค่ก้าวแรกเอง ก้าวที่สำเร็จของดนตรี คือ เพลงนั้นส่งไปถึงคนฟัง แล้วมี feedback”

แล้วน้องๆ ที่เดินทางสายประกวด อย่าง THE POWER BAND ที่เคยไปสัมผัสมามีโอกาสจะไปถึงความสำเร็จไหม

“ผมคิดว่าโครงการไม่ได้มองคนที่เก่งสุด แต่อาจจะมองหาคนที่มีความพยายามมากที่สุด คือ สิ่งสำคัญมันคือ first impression คุณควรมีเสน่ห์ ซึ่งไม่ใช่ว่าต้องหน้าตาเพอร์เฟกต์นะ แต่พอคุณจับเครื่องดนตรีแล้วมีเสน่ห์ สิ่งเหล่านี้มันอาศัยความพยายาม ฝึกฝน ทำมันจนอยู่กับเนื้อกับหนัง”

คนที่เกิดมามีพรสวรรค์ก็ได้เปรียบน่ะสิ “มีพรสวรรค์ มีทักษะที่ดี แต่เล่นแล้วคนอาจไม่ชอบก็ได้ เพราะดนตรีมันคือ Taste มันเป็นรสนิยม ต่อให้คุณฝึกมา 10 ปี 20 ปี หรือมีพรสวรรค์ ความสำเร็จมันอยู่ที่คุณจะสื่ออะไร ด้วยเพลงอะไร แล้วคนฟังเขาเข้าใจไหม บนรสนิยมที่หลากหลายของคนฟัง”

เข้าใจละว่า ‘เพลงมัน Touch คนฟัง’ คืออะไร

 

สุขและสนุกบ้างไหม

ทุกวันนี้แม้ครูแก็ปจะมีภารกิจมากมาย แต่ก็ยังคงร้องเพลงเสมอมา

“ผมชอบดูหนังและเห็นหนังหลายๆ เรื่องก็มีการ remake เนื้อเริ่มเดิม เปลี่ยนผู้กำกับ การเล่าเรื่องก็เปลี่ยนไป กลับมาที่การร้องเพลง ผมคิดว่าถ้าเราเข้าใจเนื้อเพลง แล้วตีความเปลี่ยนไปมันอาจจะสนุกได้ เราสามารถร้อง Fly Me to the Moon ที่อารมณ์ไม่เหมือนกันสักครั้งได้ ผมได้มองตาคนที่ฟังผมเล่าผ่านเพลงไปแล้วรู้สึกว่าเขาเข้าใจและส่งพลังกลับมา นั่นคือสิ่งที่ผมยังโหยหา”

รับรู้ได้จากน้ำเสียงว่าครูแก็ปสนุกและมีความสุขกับการร้องเพลงเสมอมา

 

ศิลปินในดวงในตลอดกาลของแก็ป

เห็นใฝ่ฝันเป็นนักร้องแจ๊ส แต่ลึกๆ แก็ปก็ยังคงชอบศิลปินขวัญใจชาวไทย พี่เบิร์ด – ธงไชย แมคอินไตย์ โดยเฉพาะเพลง “เธอผู้ไม่แพ้” มีโอกาสเมื่อไรก็ร้องให้คนอื่นๆ ฟังเสมอ

มีครั้งหนึ่งเพื่อนของเขาเป็น back up ให้พี่เบิร์ด เขาก็ฝากปกเทปคาสเซตต์ไปให้พี่เบิร์ดเซ็น  พอพี่เบิร์ดเข้าสตูดิโอบันทึกเสียง แม้เขาไม่ได้ต้องการคอรัส แก็ปก็ขอเข้าไปตีเพอร์คัชชัน เพื่อให้ได้ใกล้ชิดพี่เบิร์ดตัวจริง!!!

 

งานเบื้องหลังที่เคยทำ

Vocal Trainer  Academy Fantasia Season ที่ 6 และ 7 โดยการชักชวนของ กบ – เสาวนิตย์ นวพันธ์

Vocal Director และ Vocal Trainer ให้ศิลปิน เช่น ป๊อบ – ปองกูล วงอพาร์ตเมนต์คุณป้า โอ๊ต – ปราโมทย์ วงPlayground ฟิล์ม – บงกช ดิม – วงTattoo Colour  เป้ – มือ Sax วงMild

อาจารย์สอนขับร้อง คณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร กว่า 10 ปี  ลูกศิษย์ที่มีชื่อเสียง เช่น กิ่ง – The Star แก้ม -The Star, ฟางข้าว – The Voice เปอร์ติ๊ด – The Voice กานต์ – The Parkinson

 

Author

ศรัณย์ เสมาทอง

Author

นักเขียนและผู้ผลิตรายการเชิงสารคดีอิสระ ชอบตะลอนเวิร์กตามที่ต่าง ๆ พร้อมเล่าเรื่องระหว่างการเดินทาง และบ่อยครั้งก็บันทึกประสบการณ์เป็นบทกวี

Author

บริษัท เอ็กเปิร์ดคิด จำกัด

Photographer

การรวมตัวของคนโปรดักชั่น ที่ยังเชื่อในพลังสร้างสรรค์ เราจึงคิดและผลิตงานศิลปะทุกรูปแบบ