Passion

‘พีระพงษ์’ ลาหนองแคน’
คนรุ่นใหม่ที่ตั้งใจนำผ้าไทย เป็นแบรนด์สากล

บงกชรัตน์ สร้อยทอง 14 Apr 2023
Views: 574

“นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของผมเท่านั้น ที่ได้นำผ้าไหมลายทองสู่สายเวทีลอนดอนแฟชั่นวีก” 

เสียงที่ได้รับรู้ถึงความตั้งใจและมุ่งมั่นหลังได้พูดคุยกับ พีระพงษ์’ ลาหนองแคน ทายาทรุ่นที่ 3 ของ ‘ผ้าไหมลายทอง Gold Silk by Art’ ที่บุรีรัมย์ ฟังเรื่องราวเริ่มต้นของผ้าไหมลายทองในรุ่นคุณยายว่าน่าสนใจแล้ว การที่เขาพาผ้าไหมไทยๆ ไปให้โลกรู้จัก…น่าตื่นเต้นยิ่งขึ้นไปอีก ด้วยมุมมองต่อยอดผ้าไทยไปในทิศทางเทรนด์แฟชั่น!

กว่าเราจะได้โอกาสเหมาะๆ ในการสนทนาจริงจัง ก็อยู่ในช่วงที่พีระพงษ์มีคิวออกแบบแฟชั่นเพื่อประกวดผ้าไหมทั้งในประเทศ และต่อด้วยการได้รับโอกาสให้นำผ้าไหมไทยลายทองโชว์สู่สายตาเวทีโลกที่ต่างประเทศเป็นครั้งแรกในงาน London Fashion Week Spring Summer 2023 เมื่อกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

“โฟกัสเป้าหมายให้ชัดและทำทุกวินาทีที่ได้โอกาสอย่างเต็มที่
การเรียนรู้ต้องมาจากลงมือทำ แล้วจะเห็นว่าชอบหรือไม่ชอบอะไร…
เชื่อว่า ยังมีคนรุ่นใหม่อีกหลายคนที่รักและศรัทธางานผ้าไทยอยู่ ขอแค่รักและทำด้วยหัวใจ
สุดท้ายต้องส่งผลกลับมาให้เราไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง”

พีระพงษ์ ลาหนองแคน
ทายาทรุ่นที่ 3 ของ ‘ผ้าไหมลายทอง Gold Silk by Art’

 

 

รุ่น 3 ที่พร้อมต่อยอด

พีระพงษ์เป็นทายาทรุ่น 3 ต่อจากคุณยายที่ทำกลุ่มสตรีทอผ้ากลุ่มบ้านโนนเขวา อ.แคนดง จ.บุรีรัมย์ ได้คลุกคลีการปีนป่ายกี่ทอผ้า เฝ้ารอกินตัวดักแด้จากไหมที่เลี้ยงไว้ และเห็นคุณยายสาวไหมมาตั้งแต่เด็กน้อย จนเติบโตพอรู้เรื่องเห็นคุณยายแต่งตัวนุ่งผ้าห่มสไบจากผ้าไหมแล้วรู้สึกว่าสวยดี จึงเริ่มหัดวาดลวดลาย และที่บ้านพร้อมสนับสนุน

พอสมัยคุณน้าซึ่งเป็นรุ่นที่ 2 มีการต่อยอดการทำผ้าไหมด้วยการนำทองคำเปลวมาเพนต์ลวดลายบนผ้า ที่มีแรงบันดาลใจจากการลงรักปิดทองเวลาไปไหว้พระ เท่ากับเป็นการยกระดับผ้าไหมที่ทำให้แตกต่างจากการทอผ้าไหมทั่วไป จนกลายเป็นอัตลักษณ์ของ ‘ผ้าไหมลายทอง Gold Silk by Art’

ผ้าไหมลายทองนับจากเมื่อสมัยรุ่นที่ 2 เป็นต้นมาก็ได้รับการตอบรับดี จนได้เป็นสินค้า OTOP และมีโอกาสได้ส่งผ้ามาจำหน่ายให้เป็นที่รู้จักยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกลุ่มนักท่องเที่ยว ผ่านช่องทางต่างๆ ของ คิง เพาเวอร์  ถือเป็นการเปิดประตูอีกหนึ่งบานที่สำคัญทำให้ผ้าไหมลายทองมีโอกาสโชว์ให้ทั้งคนไทยและชาวต่างประเทศได้เห็นศิลปะหัตถศิลป์ของไทย ที่สร้างความประทับใจด้วยลายผ้าและลายเส้นสีทองงดงาม

 

ลดข้อจำกัดและเพิ่มรายได้เชิงพาณิชย์

เมื่อพีระพงษ์เริ่มเข้ามาช่วยงานที่บ้านมากขึ้นทำให้เห็นข้อจำกัดและปัญหาการขายผ้าที่ต้องรอลูกค้ามาตัดเย็บเท่านั้น ทั้งที่ความจริงสามารถทำให้เกิดวอลุ่มได้มากกว่านี้ ถ้ามีการออกแบบและปรับการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการและพฤติกรรมของลูกค้าในปัจจุบัน เขาจึงแตกแบรนด์ใหม่ที่ชื่อว่า “AMATAR” ด้วยแนวคิด “จากผืนผ้าสู่การตัดเย็บเสื้อผ้าแบบสำเร็จรูป” โดยยังใช้วัตถุดิบจากต้นทางที่คุณยายทำมา พร้อมกับต้องการขยายการใช้วัตถุดิบในชุมชนอื่นเพิ่มอีก

“อยากแก้จุดอ่อนหรือ Pain Point ที่คนใช้ฝีมือทำผ้าไหมลายทองมาแล้วไม่รู้ไปทำอะไรต่อ จึงคิดว่าต้องพัฒนาการผลิตออกมาสำเร็จรูปให้สมบูรณ์ สิ่งสำคัญคือต้องออกแบบให้ตอบโจทย์กับไลฟ์สไตล์คนที่ต้องการสวมใส่ และควรทำเป็นรูปแบบแฟชั่นที่มีคอลเลกชัน ไม่ต้องรอตัดใส่เฉพาะโอกาสในงานวันสำคัญเท่านั้น ขณะที่ด้านหนึ่งก็จะทำให้สามารถดูแลบริหารจัดการการผลิตผ้าตั้งแต่ต้นน้ำไปสู่ปลายน้ำได้ดีขึ้น”

AMATAR มาจากคำว่า “อมตะ” ที่ขอเติมตัว R อ่านว่า อมตาร์ เพื่อให้ดูเป็นสากล สิ่งที่ต้องการสื่อสาร คือ Fashion Never Dies เพราะเชื่อว่าแฟชั่นจะไม่มีวันตาย เหมือนที่เราทำผ้าไหมจากรุ่นสู่รุ่นผ่านมาหลายสิบปีก็ยังมีความคลาสสิกอยู่เสมอ แต่ AMATAR ขอเติมความมีจริตและความเซ็กซี่ของผู้หญิงลงไปในการดีไซน์ มีเอว มีสะโพก ที่จะทำให้ผู้หญิงดูอ่อนหวานแต่แอบเซ็กซี่ และมีเสน่ห์เมื่อได้ใส่ รวมทั้งพัฒนารูปแบบให้ออกแนวแฟชั่นที่สามารถใส่ได้ในไลฟ์สไตล์ที่หลากหลายในชีวิตประจำวัน

Passion นำมาสู่การเรียนรู้ได้ทุกอย่าง 

‘พีระพงษ์’ ออกตัวว่า แม้เขาเป็นทายาทรุ่น 3 แต่ทำทุกอย่างมาจากความรักและแพสชัน ที่ต้องการมาช่วยที่บ้านเพื่อทำให้ผ้าไหมไทยเข้าถึงคนส่วนใหญ่ โดยสามารถใส่ได้ในทุกโอกาส แต่การจะทำให้เป็นสินค้าแฟชั่นได้ ควรมีกลยุทธ์ในการเดินจึงตัดสินใจเลือกเรียนคณะบริหารธุรกิจ ภาคพิเศษ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มากกว่าจะเรียนด้านการออกแบบดีไซน์โดยตรง เพราะคิดว่าการทำธุรกิจในช่วงเริ่มต้นอาจใช้เซนส์หรือสัญชาตญาณได้ แต่จะต่อยอดได้ลำบากหากไม่มีการวางกลยุทธ์หรือการบริหารจัดการที่ดีไว้ตั้งแต่แรก

“ปัจจุบันผมอายุ 25 ปี และยังเรียนไม่จบ แต่นี่คือสิ่งแผนที่เตรียมไว้อยู่แล้ว เพราะต้องเรียนไปด้วยและช่วยที่บ้านวางแผนการทำงานด้วย ทำให้ต้องบริหารจัดการเวลาดีๆ แต่การเรียนบริหารทำให้รู้จักจัดการต้นทุนตั้งแต่ต้นน้ำไปยังปลายน้ำ การจัดหาและกระจายความเสี่ยงของวัตถุดิบ ส่วนเหตุผลที่ไม่เลือกเรียนด้านช่างศิลป์หรือทางศิลปะไปเลย เพราะมองว่าเรื่องศิลปะมาจากแพสชันที่อยากเรียนรู้ได้ โดยหัวใจสำคัญคือ ประสบการณ์ที่ได้สัมผัสโดยตรงจากชีวิตประจำวัน และสิ่งที่เราเติบโตจนเป็นเราทุกวันนี้ได้กลายเป็นแรงบันดาลใจในการขับเคลื่อนตัวเราอยู่แล้ว แต่สิ่งที่ต้องเพิ่มเติมคือการเทกคอร์สเรื่องการออกแบบดีไซน์”

 

ก้าวแรกในฐานะดีไซเนอร์ 

เริ่มต้นจากศูนย์เรื่องการดีไซน์โดยไม่เคยรู้ว่าการตัดเย็บกว่าจะได้ชุดหนึ่ง ต้องมีการวางแพตเทิร์นก่อน พร้อมกับเลือกใช้เวทีการประกวดเพื่อเก็บพอร์ตและสะสมประสบการณ์เป็นบันไดสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้

โชคดีได้รู้จักพี่ที่จบแฟชั่นโดยตรงและเห็นว่าเราสนใจมาทางด้านนี้จริงจังช่วยสอนและแนะนำเรื่องการฟิกเกอร์หุ่น พร้อมแนะนำวิธีการการจัดลำดับความคิดในการหาข้อมูลทำวิจัยเพื่อสร้างคอลเลกชันหนึ่้งว่าต้องอาศัยองค์ประกอบอะไรบ้าง เหมือนเป็นการเทกคอร์สย่อมๆ ทำให้เรามีองค์ความรู้เรื่องพวกนี้เข้าไปใช้ในโครงการประกวดครั้งแรกของกรมอุตสาหกรรม Thai Designer Academy 2562 (TDA) ซึ่งเป็นก้าวแรกที่ทำหน้าที่การออกแบบหรือเป็นดีไซเนอร์จริงๆ โดยเลือกใช้ผ้าไทยกับผ้าบาติกของปัตตานีให้ออกมาเป็นชุดโทนสีฟ้า เพราะได้รับแรงบันดาลใจจากทะเลอันดามัน โดยมี 3 ชุด เป็นสีน้ำทะเลใน 3 ช่วงเวลา เช้า กลางวัน และตอนกลางคืน และยังคงรักษา DNA ของผ้าไหมไทยลายทอง นั่นคือ การเขียนทองคำเปลวหรือเงินไปด้วย

 

โอกาสจากเวทีประกวดคือบันไดของประสบการณ์

เมื่อประสบการณ์ยังน้อย หนทางที่ทำให้ตัวเองเรียนรู้ได้เร็ว คือการเก็บพอร์ตจากการเข้าร่วมประกวดโครงการต่างๆ เพราะรู้สึกว่าการแข่งขันเหมือนได้ท้าทายตัวเอง เพราะช่วงเวลาหรือข้อจำกัดตามโจทย์ที่ให้มาจะช่วยสอนให้เรารู้จักสู้กับปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างทางอยู่ตลอดเวลา ที่สำคัญข้อจำกัดต่างๆ ได้กลายเป็นตัวกระตุ้นและผลักดันให้เกิดการขัดเกลาทักษะต่างๆ ได้เร็วที่สุดบนเส้นทางนี้

อย่าง 2 ปีที่ผ่านมาก็เข้าร่วมประกวด งานประจำปี Fashion Week International เส้นทางผ้าไทย  เป็นการแข่งขันที่รวมนักศึกษาทั่วประเทศให้เหลือ 30 ทีมสุดท้าย โดยมีกรรมการจากดีไซเนอร์ระดับประเทศเป็นผู้ตัดสิน ปี 2564 ผ้าไหมลายทอง Gold Silk by Art ได้อันดับที่ 7 และการแข่งขันของปีล่าสุดเมื่อเดือน ธันวาคม ปี 2565 ได้อันดับดีขึ้นคือที่ 5 ทำให้รู้เลยว่าการเก็บเกี่ยวประสบการณ์มีความสำคัญมาก เพราะได้นำประสบการณ์จากปีแรกมาปรับปรุง คือการบริหารจัดการเวลาให้ดี

สิ่งที่ยากสุดสำหรับผมคือต้องวิ่งขึ้นลงระหว่างบุรีรัมย์กับกรุงเทพฯ เพราะทีมที่ช่วยกันทำผ้าอยู่กรุงเทพฯ และยังต้องเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยด้วย แต่พอมีประสบการณ์จะทำให้รู้ขั้นตอนและสามารถจัดลำดับงานได้ให้เข้ากับเวลาได้ดีขึ้น

 

โกอินเตอร์ครั้งแรก

ถือเป็นเรื่องที่เกินความคาดหมายมาก หลังกรมหม่อนไหมเห็นโชว์จากการประกวดเมื่อปลายปีที่ผ่านมา ถามว่าสนใจไปเทศกาลแฟชั่น London Fashion Week Spring Summer 2023 ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษหรือไม่ ซึ่งถือเป็นโอกาสที่ไม่คิดจะปฏิเสธสำหรับการเปิดโลกใบใหม่เลย โดยใช้แบรนด์ AMATAR นำเสนอคอลเลกชันทั้งหมด 10 ชุด จากแรงบันดาลใจจากการลงรักปิดทองคำเปลวในการทำบุญ

โทนสีที่เน้นคือ สีดำ สีทอง หรือโทนสีร้อน และใช้เทคนิคการลงเส้น ลายสีทอง ปาดทอง หรือการปาดบาติก ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของเรานั่นคือ การลงทองคำเปลว

“เป็นโอกาสที่ก้าวกระโดดมาก จากตลอด 3 ปีที่ได้ทยอยเก็บพอร์ตเข้าประกวดและสั่งสมประสบการณ์ เพราะถือเป็นการโชว์การออกแบบดีไซน์ผ้าไทยสู่ระดับสากลที่ต่างประเทศครั้งแรก กระบวนการวางแผนและบริหารจัดการอาจไม่ได้แตกต่างมากกับทำประกวดในประเทศ แต่สิ่งที่ต้องปรับคือ มุมมองความคิดที่ต้องกว้างขึ้น ไม่ใช่เจาะกลุ่มเพียงเฉพาะคนในประเทศดู ที่ต้องใช้ความวิจิตรประณีต ดูอลังการหรือเป็นแนวดรามาติก

เมื่อไปต่างประเทศต้องทำออกมาในลุกที่พร้อมสวมใส่ หรือ Ready to Wear ซึ่งเป็นแบบธุรกิจที่ต้องสามารถไปต่อยอดหรือขายได้ และสำคัญที่สุดคือกระบวนการคิดทำให้ทุกอย่างอยู่บนความถูกต้อง ไม่เกิดความคลาดเคลื่อนในข้อมูลด้านการวิจัย เพราะเรื่องผ้าแต่ละแหล่งล้วนมีที่มาและอัตลักษณ์อยู่ มีความละเอียดอ่อนมากในเรื่องของวัฒนธรรม ประเพณี และประวัติศาสตร์ แม้ต่างชาติอาจไม่ได้รู้รายละเอียดของสิ่งที่ทำ แค่รู้ว่าสวย แต่เราในฐานะคนไทยต้องให้ความสำคัญกับความถูกผิดที่ควรเป็นไปตามความถูกต้องของวิถีหรือจารีตที่เราเคยทำมา ถือว่าได้รับการตอบรับดีจากช่างภาพและสื่อที่นั่น”

Brand Identity 3 รุ่นต้องอยู่ด้วยกันอย่างร่วมสมัย

ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ยุคกี่สมัยอัตลักษณ์ผ้าไหมไทยที่ส่งต่อมา 3 รุ่นยังต้องอยู่ นั่นคือ การผลิตผ้าไหมที่ส่วนหนึ่งมาจากแหล่งชุมชนดั้งเดิมกลุ่มสตรีทอผ้ากลุ่มบ้านโนนเขวา อ.แคนดง รวมทั้งการลงทองลายทองที่เป็นเทคนิคพิเศษของเราที่ผ่านการวิจัยและพัฒนา (R&D) ปรับสูตรร่วมกันกับมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ จนได้รับการพิสูจน์ว่า ผ้าไหมลายทองของเราไม่มีการหลุด ลอก สามารถซักรีดได้ตามปกติ

แม้ทุกวันนี้จะมีหลายแห่งที่ทำผ้าลักษณะเดียวกันเพิ่มขึ้น แต่ไม่ได้มองว่าเขาคือคู่แข่ง เนื่องจากเรามีเป้าหมายและจุดยืนของตัวเองชัดเจนว่า ต้องตอบโจทย์ลูกค้าที่มาตัดเสื้อผ้ากับเรา หรือมีความเป็น Loyalty สูง ทั้งแบรนด์ผ้าไหมลายทอง Gold Silk by Art ที่พร้อมยืนหยัดการเป็น One Stop Service และแบรนด์ AMATAR  ที่จากผืนผ้าสู่การตัดเย็บเสื้อผ้าแบบสำเร็จรูป

“ปัจจุบันต้องปรับวิธีคิดที่ต้องเน้นเรื่องการออกแบบลวดลายและสีสันให้ร่วมสมัยมากขึ้น โดยยึดความต้องการของผู้บริโภคเป็นหลัก และผมยังมีหน้าที่ออกแบบลวดลายและช่วยการผลิตให้ Gold Silk by Art อยู่ แต่พอเป็น AMATAR จะไม่ได้เขียนลายเต็มผืนผ้า รวมถึงมีการใช้ผ้าอื่นๆ ตามเทรนด์แฟชั่นมาประยุกต์เข้ากับคอลเลกชันได้หมด เช่น ความนิยมในผ้าครามกำลังมา หรือลูกค้าต้องการใช้ฝ้ายผสม หรือใช้ผ้าไหมที่มาจากการมักโคลน ก็พร้อมประยุกต์ลวดลายการออกแบบและตัดเย็บให้ตอบโจทย์ ซึ่งในอนาคต AMATAR จะออกเป็นคอลเลกชัน เช่น มีทั้งหมด 20 ชุด ประมาณ 10 – 15 ชุด จะมีพื้นฐานผ้าหลักเป็นผ้าไหม ส่วนที่เหลือก็สามารถนำผ้าทุกอย่างมาออกแบบดีไซน์ในสไตล์เรา ทั้งหมดนี้เพราะต้องรักษาความเป็นตัวตนของแบรนด์ไว้ แต่ขณะเดียวกันก็ต้องตามกระแสที่สวมใส่ได้ง่ายเพื่อให้ธุรกิจดำเนินไปได้”

 

อนาคตกับเส้นทางผ้าไหมลายทอง

ผมยังอายุน้อยและมีโอกาสเก็บเกี่ยวประสบการณ์อีกหลายอย่าง แต่ตอนนี้ก็รู้สึกภูมิใจที่ได้สานต่อภูมิปัญญาที่ทำมาตั้งแต่รุ่นคุณยาย คุณน้า และสามารถช่วยแก้ข้อจำกัดให้กับการขายผ้าไหมลายทองให้ค่อยๆ เป็นที่รู้จักมากขึ้น พร้อมกับพยายามดูแลเรื่องต้นน้ำตั้งแต่การเลือกผ้าที่มาใช้ผลิต

นอกจากใช้ผ้าไหมจากชุมชนบ้านโนนเขวา อ.แคนดง แล้ว ก็ขยายการรับผ้าที่อยู่ในชุมชนอื่นด้วย เพราะเชื่อว่าถ้าจะทำให้ผ้าไทยเติบโตต้องไม่มีการแบ่งแยกกัน อีกทั้งเป็นคนมองภาพรวมเป็นหลักว่า ถ้าต้องการผลักดันงานหัตถศิลป์ของไทยไปให้ไกลต้องดีไซน์และผลิตออกมาให้ตอบโจทย์ตามความต้องการของลูกค้าหรือเทรนด์แฟชั่นเป็นหลัก ถ้าช่วยกันคิดและทำอย่างนี้ เชื่อว่าผ้าไทยไม่มีคำว่าเจอทางตันแน่นอน และตอนนี้มีเป้าหมายที่อยากทำให้ผ้าไทยเป็นสินค้าที่เทียบเท่าผลิตภัณฑ์แบรนด์สากลชื่อดัง เพราะจากที่ได้สัมผัสมาเกือบตลอดชีวิตนี้ เชื่อว่างานหัตถศิลป์ผ้าไทยของเราไม่ได้มีคุณค่าด้อยไปกว่าที่อื่น

เชื่อได้ว่าเราต่างได้รับพลังงานบวกและความมุ่งมั่นจากเขาไม่น้อย มาคอยส่งพลังเชียร์คนไทยที่เป็นคนรุ่นใหม่ที่มีเป้าหมายนำผ้าไทยก้าวเป็นแบรนด์ระดับโลกกัน

 

5 แนวคิดในการพาผ้าไหมลายทองโกอินเตอร์
ของ ‘พีระพงษ์’ ลาหนองแคน’

ต้องโฟกัสเป้าหมายให้ชัด
แม้จะมีเรื่องราวระหว่างทางที่ทำให้ท้อใจ แต่การโฟกัสชัดจะทำให้พร้อมลุกขึ้นมาสู้ได้เร็ว

อย่ากลัวการแข่งขันหรือการที่ใครเลียนแบบ
เป็นเรื่องปกติถ้าคิดอะไรใหม่มาจะมีคนทำตาม สิ่งที่ดีสุดคือแข่งกับตัวเอง

ทำมากกว่าพูดและให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์
เหมือนตอนแรกที่หลายคนไม่เชื่อแนวทางทำผ้าไหมสำเร็จรูปและดีไซน์ที่แตกต่าง
แต่สุดท้ายก็นำรายได้สู่ชุมชน

อย่ากลัวการเริ่มต้นใหม่คิดอะไรให้ลงมือทำเลย
เพราะไม่ว่าทุกคนจะเริ่มต้นทำอะไร ต้องมีก้าวแรกเสมอ

ทำให้สุดและเต็มที่จนวินาทีสุดท้าย
เพราะจะเป็นประสบการณ์และบทเรียนที่มีคุณค่าเสมอ
เมื่อผิดหวังก็จะไม่เสียใจเพราะถือว่าทำเต็มที่แล้ว

 

ผ้าไหมลายทอง Gold Silk by Art

ที่ตั้ง: 97 ม.11 ต.ลำนางรอง อ.โนนดินแดง จ.บุรีรัมย์ 31260

 

ข้อมูลสินค้าเพิ่มเติมที่ตลาดพลังคนไทย

คลิก: GOLD SLIK BY ART 

 

สนับสนุนสินค้าฝีมือคนไทยที่คิง เพาเวอร์ทุกสาขา 

Author

บงกชรัตน์ สร้อยทอง

Author

อดีตผู้สื่อข่าวผันตัวเป็นฟรีแลนซ์คอนเทนท์ที่ขอมีวิถีเกษตรควบคู่ไปด้วย มีฝันสร้างคลังอาหารให้กับสิ่งมีชีวิตบนโลกเพราะมองเป็นความยั่งยืนที่แท้จริง