Summary
พูดคุยกับกีตาร์ – กมลชนก สีเคน สาวน้อยนักกีฬาเทควันโด อายุเพียง 18 ปี กับความสุขของการได้เป็นนักกีฬาเทควันโดทีมชาติ กีฬาที่แม้จะเหนื่อยและใช้แรงกายแต่ก็เป็นทุกอย่าง ซึ่งอธิบายตัวตนของเธอคนนี้ได้ดีที่สุด
“ด้วยความที่หนูรักในกีฬาชนิดนี้ หนูก็อยากจะพาตัวเองไปถึงจุดที่สูงที่สุดค่ะ”
เสียงของ กีตาร์ – กมลชนก สีเคน นักกีฬาเทควันโดทีมชาติ เอ่ยขึ้นมา ปีนี้เธอเพิ่งจะอายุเพียง 18 ปีเท่านั้น แต่ประสบการณ์ชีวิตด้านกีฬาเรียกว่าโชกโชนคนหนึ่ง เพราะเธอเริ่มต้นเล่นเทควันโดมาตั้งแต่ยังเด็ก และแม้จะผ่านมานาน แต่ความรักในกีฬาเทควันโดก็ไม่เคยจางหายไปเลย
วันนี้เราได้มีโอกาสมาพูดคุยกับกีตาร์ถึงเรื่องราวการเป็นนักกีฬาเทควันโด ซึ่งเริ่มจากความตื่นตาตื่นใจในวัยเยาว์ ซึ่งความสุขสนุกเหล่านั้นพาเธอเดินมาไกล จนได้เป็นนักกีฬาเทควันโดทีมชาติในวันนี้
“การเป็นนักกีฬาทีมชาติมันเป็นสิ่งที่ทำให้หนูรู้สึกภูมิใจมากๆ ค่ะ เป้าหมายตอนที่เป็นนักกีฬาอยากติดทีมชาติ วันนี้หนูติดทีมชาติแล้ว เราได้เป็นกีตาร์ที่อยู่ในนามทีมชาติไทยตามที่เราตั้งเป้า”
กีตาร์ – กมลชนก สีเคน
นักกีฬาเทควันโดทีมชาติ
เด็กหญิงกมลชนกวัยสามขวบครึ่ง
กีตาร์เริ่มต้นเล่นกีฬาเทควันโดตอนไหน?
“ตอนอายุ 3 ขวบครึ่ง หนูไปตลาดกับแม่ แล้วเราขับรถผ่านยิมฝึกสอนเทควันโด มีหุ่นใส่ชุดเทควันโดยืนหน้ายิ้มอยู่ที่หน้ากระจก ตอนกลางคืนก็จะเปิดไฟแสงสีสวยงาม ด้วยความเป็นเด็กก็เลยบอกให้แม่พาเข้าไปค่ะ”
แม้คุณแม่จะบอกว่า ที่นี่เป็นสถานที่ฝึกสอนไม่ใช่ที่เล่น แต่ก็เปลี่ยนใจกีตาร์ในวัยสามขวบครึ่งไม่ได้ วันต่อมาเธอจึงเข้าไปเล่นสนุกในโรงยิม เป็นเด็กน้อยใส่เสื้อยืดกับกางเกงเลกกิ้ง ซึ่งอายุน้อยที่สุดในโรงยิมนั้น เพราะจริงๆ แล้วที่นั่นรับเด็กตั้งแต่อายุ 4 ขวบขึ้นไป เธอจึงกลายเป็นน้องเล็กในนั้น
แปลว่าคุณแม่ซัปพอร์ตเราทางด้านกีฬามากๆ เลยใช่ไหม?
“ใช่ค่ะ เราอยากทำอะไรก็ให้ทำเลย”
หลังลองเล่น ลองฝึกซ้อม กีตาร์ค่อยๆ เริ่มต้นจากการแข่งขันในแมตช์เล็กๆ แมตช์ย่อยๆ มาตั้งแต่ยังเด็ก “หนูได้เหรียญทองมาตลอด มันก็ยิ่งทำให้เราชอบ จากวันที่เราไม่รู้อะไรเกี่ยวกับมันเลยก็รักเทควันโดมาเรื่อยๆ” แต่ในการแข่งขันย่อมมีแพ้ – ชนะ จากเด็กที่ชนะเหรียญทองก็ต้องมีวันที่พบเจอกับความเสียใจเป็นบทเรียนสำคัญ
“จนวันหนึ่งที่หนูแพ้ หนูก็เสียใจมาก ร้องไห้หนักมากๆ ค่ะ ทำให้ท้อไปเลย เคยบอกแม่ว่าไม่อยากซ้อมแล้ว แม่ก็พูดว่าหนูเป็นคนเลือกที่จะมาทางนี้เองนะ แม่ไม่เคยบังคับเลย ก็เลยเริ่มได้สติ หนูว่ามันดีนะ ดีกว่าเราไม่รู้จักแพ้ การแพ้ครั้งนั้นมันก็ทำให้เราได้ข้อคิดอะไรหลายๆ อย่าง”
กีตาร์ กมลชนก
มีคนนี้เป็นไอดอล
1. พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ – 49kg (ประเทศไทย)
2. Kristina Teachout – 63kg (สหรัฐฯ)
3. Cyrian Ravet – 58kg (ฝรั่งเศส)
‘ทีมชาติ’ คำสั้นๆ แต่เป็นจุดสูงสุดของความฝัน
จากยิมแรกที่เริ่มเล่นมาตั้งแต่เด็กๆ กีตาร์ตัดสินใจย้ายไปเรียนที่ยิมแห่งใหม่เพื่อเปิดโอกาสตัวเองให้เข้าใกล้ความฝัน คือการเป็นนักกีฬาทีมชาติมากขึ้น แต่กว่าจะได้มาก็มีเหงื่อตก
“ปกติคนอื่นจะซ้อมช่วงหกโมงหรือหกโมงครึ่ง ถึงประมาณสองทุ่ม หนูก็จะเขายิมเพื่อไปซ้อมก่อนเวลา ซ้อมก่อนคนอื่น หนูก็จะเข้าไปตอนห้าโมงแล้วซ้อมยาวไปจนถึงเลิกเลยค่ะ”
ความฝันของกีตาร์ เส้นทางนักกีฬาทีมชาติเริ่มต้นขึ้นมาได้ยังไง?
“ด้วยความที่หนูรักในกีฬาเทควันโด หนูก็อยากจะพาตัวเองไปถึงจุดที่สูงที่สุดค่ะ อยากไปโอลิมปิก แต่จะเข้ามาในทีมชาติได้มันต้องผ่านแมตช์ใหญ่ๆ อย่างแมตช์ชิงแชมป์ประเทศไทย ซึ่งเราต้องติดอันดับ เราถึงจะมีโอกาสเข้ามาคัดเลือกในทีมชาติได้ ซึ่งปีแรกที่ได้เข้ามาในทีมชาติก็เป็นรุ่นแรกเลย เรียกว่า ‘Cadet’ รับคนเล่นอายุ 12 ถึง 14 ปี ตอนนั้นหนูอายุ 13 ค่ะ”
ตั้งแต่วันนั้นเธอก็เล่นให้กับทีมชาติไทยมาตลอดจนถึงวันนี้เกือบห้าปีแล้ว ไปแข่งแมตช์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งเธอเล่าว่าการเป็นนักกีฬาทีมชาติไม่ใช่แค่การได้ทำเพื่อชาติหรือแค่ต่อยอดจากความสุข สนุกในวัยเด็ก แต่เป็นความภูมิใจของเธอด้วย
“การเป็นนักกีฬาทีมชาติเป็นสิ่งที่ทำให้หนูรู้สึกภูมิใจมากๆ ค่ะ เป้าหมายตอนที่เป็นนักกีฬาอยากติดทีมชาติ วันนี้หนูติดทีมชาติแล้ว เราได้เป็นกีตาร์ที่อยู่ในนามทีมชาติไทยตามที่เราตั้งเป้า”
Suggestion
แมตช์สุดท้าทาย
แม้จะเริ่มต้นแข่งมาตั้งแต่ยังเด็ก รับเหรียญ รับถ้วยมาแล้วมากมาย แต่เมื่อถามถึงแมตช์สุดท้าทาย กีตาร์ก็เล่าให้เราฟังว่า เธอเคยเจอกับนักกีฬาเทควันโดอันดับสองของโลกมาแล้ว..
“แมตช์เทควันโดเวิลด์กรังปรีซ์ เป็นแมตช์ที่เราจะต้องเก็บแรงก์กิ้งไปแข่งโอลิมปิก เราขยับไปเล่นในรุ่นไม่เกิน 49 กิโลกรัม ซึ่งก็ต้องไปเจอกับคนที่อยู่แรงก์กิ้งสูงๆ ในคู่ที่สองต้องเจอกับ Adriana Cerezo Iglesias นักกีฬาเทควันโดชาวสเปน ที่มีแรงก์กิ้งเป็นอันดับสองของโลก และได้เหรียญเงินในโอลิมปิกปี 2020 แต่หนูก็ถือว่าเราได้ท้าทายตัวเองค่ะ ในแมตช์นี้เราแพ้ Adriana ไป”
แต่แม้จะแพ้ในในแมตช์นี้ แต่ก่อนหน้านี้ในปี 2023 ปีเดียวกัน เธอก็ไปคว้าเหรียญเงินกลับมาในการแข่งขันแมตช์ชิงแชมป์โลก รุ่นไม่เกิน 46 กิโลกรัม และเป็นครั้งแรกที่เธอได้ขึ้นมาเล่นในรุ่นประชาชนที่รับตั้งแต่อายุ 18 ปีขึ้นไป ทั้งที่เธอเพิ่งอายุได้เพียง 17 ปีเท่านั้น เธอจึงเป็นนักกีฬาที่อายุน้อยที่สุดในการแข่งขันครั้งนั้นด้วย
นอกจากการแข่งขันในแมตช์ใหญ่ๆ แล้ว กีตาร์ยังได้มีโอกาสไปร่วมทำแชลเลนจ์ในรายการ THE POWER GANG ใน EP.7 พิสูจน์พลังเตะ ‘เทควันโด’ (ด้วยกันกับนักกีฬาเทควันโดอีกคน คือ ฟาอีส – สิรวิชญ์ มะหะหมัด)
“หนูดีใจนะคะที่ได้ไปออกรายการ เพราะว่าเป็นรายการแรกที่หนูได้ไปออกด้วยค่ะ แล้วก็รู้สึกดีใจที่ได้ แสดงศักยภาพให้คนอื่นได้เห็น ว่าเรามีศักยภาพเป็นยังไง แล้วก็ทำให้คนอื่นได้รู้จักว่ากีฬานี้เป็นอย่างไร มีท่าเตะอะไรบ้าง” ซึ่งครั้งนี้กีตาร์ได้รับแชลเลนจ์สุดท้าทายกับการเตะลูกโป่ง 16 ลูก โดยที่เท้าอีกข้างต้องไม่แตะพื้นและต้องทำให้ได้ภายใน 10 วินาทีด้วย
“มันยากนะคะกับแชลเลนจ์ที่หนูทำ หนูรู้สึกตื่นเต้นมากๆ แล้วก็ท้าทายตัวเองมากๆ ด้วย เหมือนได้ดันขีดจำกัดตัวเองขึ้นไปด้วย” อะไรที่ดูเหมือนจะยาก แต่กีตาร์ก็สามารถทำให้เป็นไปได้
คุณสมบัติที่นักกีฬาเทควันโดควรมี และต้องมี!
• ความขยันหมั่นเพียร และต้องเริ่มจากความคิดของตัวเองด้วย
• ถ้าเราคิดที่จะสู้และยังพยายามสู้ เราจะมีกำลังใจในการซ้อมไปเรื่อยๆ
• แต่ตราบใดที่เราคิดว่าเหนื่อย ไม่อยากทำแล้ว
จะให้ไปซ้อมก็ไม่มีความอยากซ้อมแล้ว
เทควันโด กีฬาที่เป็นตัวตนของเธอ
นับตั้งแต่วันที่เดินเข้าโรงยิมฝึกเทควันโด ชีวิตของกีตาร์ก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ในวันที่หลายคนกำลังค้นหาตัวเอง วันนี้เธอเจอตัวตนของตัวเองแล้ว ซึ่งก็เป็นเส้นทางที่เริ่มต้นในวันที่ยังไร้เดียงสาอยู่
“เทควันโดแทบจะเป็นทั้งชีวิตของหนูแล้วค่ะ หนูอยู่กับกีฬานี้มาตั้งแต่เด็กจนอายุเท่านี้ ในชีวิตก็จะมีแต่ซ้อมกับแข่งเป็นมาตั้งแต่เล็ก จนตอนนี้เราซึมซับ อยู่กับกีฬานี้มาทั้งชีวิต”
นอกจากจะเป็นกีฬาที่ดีต่อร่างกายแล้ว ยังเป็นประสบการณ์ชีวิตและเป็นความภูมิใจของเธอด้วย “ได้ไปแข่งต่างประเทศ ได้เหรียญรางวัล ได้พาตัวเองมาอยู่ในจุดที่ตัวเองชอบ ได้ทำตามเป้าหมายตัวเองตั้งแต่ตอนเด็ก สามารถหาเงินให้กับครอบครัวได้”
จนถึงวันนี้ใกล้จะเป็นช่วงที่ต้องเข้าศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาแล้ว กีตาร์ก็ตั้งใจที่สานต่อในเส้นทางสายกีฬา “หนูเป็นคนเรียนไม่เก่ง รู้ว่าเราเรียนเป็นยังไง แต่พอได้มาอยู่ในเส้นทางกีฬาแล้วเราชอบ มาอยู่ในจุดที่ได้ติดทีมชาติ หนูก็อยากเดินไปในเส้นทางนี้ค่ะ”
เธอยังอยากจะเป็นนักกีฬาต่อไปตราบเท่าที่ยังไหว และใครจะรู้วันหนึ่งเราอาจได้เห็นกีตาร์ในบทบาทใหม่ อย่างการผันตัวสู่การเป็นโค้ชกีฬาเทควันโด เส้นทางใดก็ได้ที่ทำให้เธอได้อยู่กับกีฬาเทควันโดนี้ ซึ่งในอนาคตเธอยังมุ่งหวังด้วยว่าในวงการกีฬาประเทศไทยจะได้รับการพัฒนาและสนับสนุนในทุกๆ ด้านมากขึ้น เพื่อเป็นกำลังใจให้กับนักกีฬาไทยทุกคน
แม้ว่าเราจะได้พูดคุยกับกีตาร์ไม่นาน แต่ทุกเรื่องราวของเธอชวนให้เราตื่นเต้นและอยากเห็นอนาคตของเด็กสาวที่ชื่อกมลชนก ซึ่งก็ไม่แน่ว่า ในอนาคตเราอาจได้เห็นเธอในการแข่งขันโอลิมปิกและไต่แรงก์กิ้งไปจนถึงระดับโลก สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยได้ในสักวันหนึ่ง..
กีตาร์ – กมลชนก สีเคน และ ฟาอีส – สิรวิชญ์ มะหะหมัด นักกีฬาเทควันโดทีมชาติไทย
พลังคนไทย พลังแห่งความเป็นไปได้
จากแพสชันด้านกีฬาของกีตาร์ – กมลชนก
• ฝึกซ้อมอย่างสม่ำเสมอและค้นหาความตั้งใจของตัวเองให้เจอ สร้างกำลังใจให้ตัวเองอยู่เสมอ
• เรียนรู้จากความเสียใจ ชีวิตก็เหมือนกีฬา มีแพ้ มีชนะ และไม่มีใครเสียใจไปตลอด
• มีใจที่เปิดกว้างและสนุกไปกับชีวิต ทดลองทำอะไรใหม่ๆ ที่ไม่เคยทำ
• ก้าวผ่านความกลัว การได้ต่อสู้กับคนที่เก่งกว่า คือโอกาสพัฒนาในอนาคต
• ภูมิใจในการเป็นตัวเอง และค้นหาสิ่งที่อธิบายความเป็นตัวเองให้เจอ
THE POWER GANG EP.7 พิสูจน์พลังเตะ ‘เทควันโด’