เพียงแค่ตอนเริ่มต้นเพลง…กลองก็รัวยับ!
ใช้คำนั้นได้เลยกับลีลาการตีกลอง เพราะน้องๆ เขาเลือกเล่นแนว Progressive Rock โชว์ลวดลายดนตรีและพลังของการร้อง ถึงขั้นเราต้องพลิกกลับไปดูชื่อวงอีกที
“หางนกยูง” ชื่อวงภาษาไทยวงเดียว (แต่พยายามนำสไตล์อังกฤษบวก J-Rock มานำเสนอ) ในการประกวดดนตรีรอบคัดเลือก THE POWER BAND 2022 SEASON 2 จัดโดยวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ คิง เพาเวอร์ ไทย เพาเวอร์ พลังคนไทย สนามกรุงเทพฯ และปริมณฑล…สนามภูมิภาคท้ายสุดสำหรับรอบคัดเลือกจากการแสดงสดสู่รอบตัดสิน
“หนักแน่น ทำได้ดี มีทักษะ มีตัวตนชัดเจน ดูเป็นร็อกเกอร์ มี DNA เป็นของตัวเอง” คือเสียงสะท้อนจากกรรมการที่ได้ฟังการเล่นสดของพวกเขาทั้ง 7 คน
พอมีโอกาสพูดคุยกับตัวแทนของวง เฟม – ภูรินท์ เมืองอุดม มือกีต้าร์โซโล นาย – ณัฐกรณ์ พลนาการ และน้ำหวาน – จิรัชสา จันทร์เกตุ นักร้องสายร็อก ทั้งสองกลับบอกพวกเราว่าพวกเขาจริงจังและมีความสุขในการซ้อม แต่ไม่ได้มีฝันถึงเส้นทางดนตรีกันทุกคนนะ
“หนูอยากเป็นทหาร จบ ม.6 ก็คิดว่าจะสอบเข้าทหารค่ะ”
เหมือนเสียงกลองรัวยับอยู่ในหัวอีกครั้ง…ทำไมอย่างนั้นล่ะน้อง!!!!!
ก็วัยรุ่น…จะ “ร็อก”
ชื่อวง “หางนกยูง” มาจากดอกไม้ประจำโรงเรียนศรียาภัย จังหวัดชุมพร เป็นที่น่าสงสัยทำไมต้องเดินทางขึ้นมาประกวดที่เมืองกรุง ทั้งที่สนามแข่งภูมิภาคของภาคใต้ก็จัดกันที่สงขลา นักดนตรีหน้าใสวัยยังไม่บรรลุนิติภาวะเล่าว่า เราเป็นวงของโรงเรียนประจำจังหวัดต้องทำภารกิจเพื่อโรงเรียนและสังคม เดินสายเล่นงานสารพัดที่มีหน่วยงานติดต่อมาจนพลาดเวทีสงขลา
“จากที่เคยเห็นการประกวดมา วงภาคกลางส่วนใหญ่จะเล่นเพลงป็อปแต่พวกเราเล่นร็อก” เฟมเล่าให้ฟัง “ความเป็นร็อกคือไม้เด็ดเลย ไม่ได้บอกว่าเราเก่งกว่าคนอื่นนะ แต่เราแตกต่าง หวังว่าคงเข้าตากรรมการบ้าง”
จะบอกว่าหางนกยูงทำเพื่อการประกวดเสียทีเดียวก็คงไม่ใช่ เพราะเท่าที่มองตาน้องๆ ผู้มีวง Dream Theater และ X Japan เป็นไอดอล ถ้ากรรมการบังคับให้เล่นเพลงเอาปากกามาวงแบบน่ารักตามต้นฉบับ น้องคงไม่ยอมแน่ๆ
“เราชอบเล่น Progressive Rock จะได้โชว์ทักษะและเทคนิคบ้าง อย่างปกติเพลงเขาใช้ time signature เดียวยาว เราอยากลองเล่นแบบเปลี่ยนสัดส่วนจังหวะไปมา 4/4 บ้าง 6/8 บ้าง 3/4 บ้าง” ก็เห็นแล้วว่าทำแบบนั้น ผู้ที่ต้องทุ่มแรงกายเยอะสุดเห็นจะเป็นมือกลอง เพราะลงจากเวทีมาไม่ทันไรก็ฟุบหลับไปเสียแล้ว
“กลองกับกีตาร์เล่น Progressive Rock ด้วยกันมาก่อนคนอื่นจึงหนักแน่น” นาย นักร้องนำอธิบายแทน “นอกจากกลองแน่นแล้วเรามีมือกีตาร์สองคน ระหว่างกีตาร์กำลังโซโลเราจะมีไลน์กีตาร์ประสานด้วย ทำให้เสียงมีมิติน่าฟังมากขึ้น”
วงหางนกยูงเป็นวงที่เริ่มต้นมาตั้งแต่มัธยมต้น เคยชนะเลิศเหรียญทองประกวดดนตรีระดับภาคใต้ ในงานศิลปหัตถกรรมนักเรียนระดับชาติ ครั้งที่ 69 ปีการศึกษา 2562 มาแล้ว แต่พอก้าวมาถึงมัธยมปลายสมาชิกในวงที่เหลือแค่เพียงเฟมมือกีตาร์และโดนัทมือกลองสายร็อกคนนั้น
สมาชิกที่เข้ามาใหม่…ก็หนักใจมิใช่น้อย
โรงเรียน = โอกาส
โรงเรียนศรียาภัยแม้จะไม่มีห้องเรียนพิเศษดนตรี แต่ที่โรงเรียนมีวงโยธวาทิต วงดนตรีไทย วงดนตรีลูกทุ่ง และวงดนตรีสากลมากถึง 4 วง หลังเลิกเรียนเด็กๆ เดินเข้าห้องซ้อมกันเป็นประจำ โดยเฉพาะวงดนตรีสากลของที่นี่มีห้องซ้อมพร้อมเครื่องดนตรีอยู่ถึง 3 ห้อง
น้ำหวาน นักร้องสาวตอบความสงสัยของผมว่าทำไมมีห้องซ้อมเยอะขนาดนั้น “ครูจอม (ครูผู้คุมวงของพวกเขา) พยายามทำให้มีห้องซ้อมให้เยอะที่สุด เพื่อเปิดโอกาสให้กับนักเรียนที่อยากเล่นดนตรี เวลาพี่รุ่นก่อนๆ ไปแข่งชนะมา พวกเขาก็เก็บสะสมเงินรางวัลไว้ทำห้องซ้อมและซื้อเครื่องดนตรี”
“ครูจอม” ของเด็กๆ หรือ อาจารย์จอม กรองเห็น ดูแลชุมนุมดนตรีเห็นนักดนตรีรุ่นเยาว์มาหลายรุ่น “เราพยายามให้เด็กมีโอกาสเยอะๆ ในชุมชุมดนตรีสากลก็มีประมาณ 4 วงเป็นหลัก ครบทุกชั้นปี ถ้าเด็ก ม.1 มาออดิชันผ่าน ผมก็จัดการฟอร์มวงให้ได้ลองเล่นกัน” นอกจากวงหางนกยูง ก็มีวงรุ่นน้องชื่อ “ช่อยูงทอง” วง “226” ซึ่งมาจากหมายเลขห้องซ้อม วง “SYP” ตัวย่อภาษาอังกฤษของโรงเรียนศรียาภัย…ฟังดูแล้วโรงเรียนนี้ท่าทางจะมีเพลงฟังอย่างรื่นรมย์อยู่เรื่อยๆ
และครูจอมนี่ล่ะคือผู้เป็นต้นกำเนิด Progressive Rock ของเด็กๆ “ผมชอบ Progressive Rock อยู่แล้ว เด็กหลายรุ่นได้ฟังตามผมเขาก็ชอบ เลยเป็นแนวนี้มาสักพักแล้ว เด็กที่จะเข้ามาใหม่พอรู้ข้อมูลก่อน ก็เหมือนกรองคนชอบแนวนี้มาอยู่รวมกัน”
Suggestion
แต่อีกมุมหนึ่งก็สร้างความกังวลให้สมาชิกเช่นกัน “ตอนแรกนายเป็นนักร้องเดี่ยวก่อนครับ เสียงเราอาจจะเหมาะกับการร้องเดี่ยวมากกว่า” นักร้องนำเอ่ยช้าๆ “เสียงผมอาจไม่มี power มากพอที่จะคุมวงทั้งวงได้ เพราะวงมีเครื่องดนตรีหลายอย่าง แต่เราต้องแบกหน้าที่แม่ทัพของวง ยิ่งเป็นวงร็อกมันต้องใช้ power…ยากนะครับ”
เดิมทีนายเป็นนักร้องลูกทุ่งเสียงหวานถึงขั้นเข้ารอบไมค์ทองคำและเป็นหนึ่งใน 40 ของ TO BE NUMBER ONE IDOL ปี 2564 มาแล้ว ส่วนน้ำหวานก็เป็นเพื่อนร่วมเวทีประกวดลูกทุ่งกับนายสมัยประถม พอเข้ามัธยมก็จับมือกันมาเข้าชุมนุมดนตรีสากล
“อารมณ์และพลังเสียงขึ้นอยู่กับเพื่อนด้วย
ถ้าเพื่อนเล่นหนัก ตีหนัก เราก็ร้องต้องเต็มที่
ต้องก้าวไปให้ถึงพลังดนตรีของเพื่อนๆ”
น้ำหวาน-จิรัชสา จันทร์เกตุ
ร้องนำ วงหางนกยูง
“ตอนแรกหวานก็ร้องลูกทุ่ง พอมาอยู่ไปเรื่อยๆ ครูก็ให้เปลี่ยนเป็นแนวร็อกขึ้นทีละน้อยๆ จนวันนี้หวานกลับไปร้องลูกทุ่งไม่ได้แล้ว” น้ำหัวเราะแบบรู้เลยว่าหลงรักเพลงร็อกเข้าไปเต็มๆ “มันคนละอย่างเลย เราต้องใส่อารมณ์และพลังเสียงเข้าไป ให้เข้าถึงพลังดนตรีของเพื่อน เพื่อนเล่นหนักตีหนักเราเป็นนักร้องที่ก็ต้องเต็มที่”
ไม่น่าแปลกใจที่กรรมการเอ่ยปากชมว่าลีลาเหมือนร็อกเกอร์สาว
เลือกทางเดินของตัวเอง
ปกติซ้อมกันบ่อยๆ อยู่แล้ว พอต้องเตรียมตัวมาประชันที่สนาม THE POWER BAND ก็ซ้อมกันถี่ขึ้น เสาร์-อาทิตย์ บางทีก็ซ้อม จากซ้อมถึงเย็นก็อาจเลยไปถึง 2-3 ทุ่ม
เฟมบอกเขาจะแยกกันไปทำการบ้าน ไปแกะเพลงมาก่อน “ครูให้ฟังออริจินอลแล้วลองมาเล่นรวมกัน ช่วยกันคิดว่าจะปรับเปลี่ยนไปทิศทางไหน และเปลี่ยนไอเดียกัน”
ครูจอมก็จะช่วยออกไอเดีย แล้วให้กลับไปคิดกันอีกทีว่าจะไปทางไห น “ข้อดี คือ เขามีความตั้งใจเล่นสูงมาก ถ้าถามถึงทักษะกีตาร์กับกลองที่เป็นสมาชิกดั้งเดิมของวง ค่อนข้างมีฝีมือ เราเลยเลือกทำเพลงที่ชูสองไลน์นี้ให้เด่น แต่คนอื่นๆ เราก็ให้ช่วยกันออกไอเดีย ไม่รีบไปครอบเขา
ดนตรีนี่มันแปลก ถ้าเราเข้าไปใส่อะไรกับเขามากในช่วงเด็กวัยรุ่นขนาดนี้ มันจะกลายเป็นเพลงของครูหมดเลย เขาจะไม่ได้ครีเอตอะไรเลย ผมเลยต้องฟังว่าเขาคิดอะไร อยากเป็นแบบไหน ก่อนจะมาปรับจูนให้เข้ากัน”
สุดท้ายหางนกยูงก็เลือกนำเสนอ “ลบไม่ได้ช่วยให้ลืม” ของ อิ้งค์ – วรันธร ให้ออกมาเป็นเพลงร็อกแน่นๆ “แต่เอาปากกามาวง ของ เบล – วริศรา เป็นเพลง POP และเป็นคีย์ major มีความฟรุ้งฟริ้ง จะเป็นร็อกที่พวกผมเล่นได้ยังไง คิดกันไม่ออกเลยต้องปรึกษาครูจอมและคุยกับมือกลอง จึงได้ลองเล่นเป็นร็อกแบบญี่ปุ่น-เกาหลี แนวๆ วง X Japan เราพยายามให้เป็นแบบนั้นครับ” เฟมพูดจริงจัง
ร็อกเต็มที่กันทุกคนจน “หางนกยูง” ชนะใจกรรมการผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศ THE POWER BAND 2022 จากสนามกรุงเทพฯ เรียบร้อยแล้ว
Rockers’ Dream
“ผมเห็นพ่อเล่นกีตาร์สังสรรค์ในวงเพื่อนมาตั้งแต่ ป.2 ผมก็อยากเล่นบ้าง พ่อเลยสอนให้ พอ ป.4-ป.5 ก็ฟอร์มวงกัน” โหหห เฟมมีวงตั้งแต่อยู่ชั้นประถมเลยเหรอ “ผมเริ่มต้นด้วยการเล่นเพื่อความสุขของตัวเอง อยากใช้เวลาให้เป็นประโยชน์”
ในชุมพรแม้จะมีวงในโรงเรียนอยู่หลายวงด้วยกัน ประกอบกับร้านอาหารและผับที่มีดนตรีเล่นก็เยอะ แต่สไตล์การเล่นจะเป็นในทิศทางเดียวกัน คือฟังสบายๆ ให้ลูกค้ารื่นรมย์ แต่นักดนตรีที่กระหายการพัฒนาอาจหาโอกาสได้ยาก
“พอดูจริงจังขึ้นกลายเป็นว่าพ่อห่วงว่าจบไปจะทำอะไร” เฟมพูดไม่ทันจบ นายรีบเสริมประสบการณ์ตัวเอง “ผมเจอคำถามว่าร้องเพลงอยู่เนี่ยจบไปจะเป็นนักร้องเหรอ แล้วจะไม่ตกงานเหรอ เป็นนักร้องนักดนตรีจะมีงานไปตลอดเหรอ เพราะชุมพรนักร้องเยอะ แต่ที่ประสบผลสำเร็จมันไม่ค่อยมีให้เห็น”
“ความสุขในการเล่นดนตรีของเรา
คือการได้ปลดปล่อย ได้สื่ออารมณ์
และพยายามทำสิ่งที่ท้าทายขึ้นไปเรื่อยๆ”
เฟม-ภูรินท์ เมืองอุดม
กีตาร์โซโล่ วงหางนกยูง
Suggestion
คำถามยอดนิยมอันเกิดจากความเป็นห่วงในอนาคตของวัยรุ่น แต่ก็เป็นเหมือนตัวคัดกรองว่าคุณตั้งใจจริงไหม พร้อมจะฝ่าฟันไหม
“ผมไม่สามารถชี้ให้เขาดูได้เลยว่าจะเป็นแบบไหน มันไม่มีตัวอย่างเลยในชุมพร” เฟมยังคงจริงจังเรื่องการเล่นดนตรี ตั้งใจจะไปให้ถึงการเป็นเบื้องหลัง ทำงานแต่งเพลงและโพรดิวซ์ “เขาก็กลัวว่าเราจะเล่นเรื่อยเปื่อยไม่มีเป้าหมาย ก็ต้องทำให้ครอบครัวเราเห็น ตอนมัธยมต้นวงหางนกยูงชนะรางวัลงานศิลปหัตถกรรมนักเรียน เขาก็เห็นว่าเราเอาจริง เห็นว่ามีรางวัลแม้ว่าจะไม่ได้เข้ามาเป็นของส่วนตัว ก็เริ่มเห็นว่ามีทางหารายได้ได้”
ก่อนนักดนตรีจะผ่านสิ่งเหล่านี้ไปได้ บาดเจ็บกันมาไม่น้อย นักดนตรีรุ่นพี่ก็โอดครวญให้ได้ยินเสมอ…แต่ถ้าเป็นตัวจริง เขาก็จะได้ทำ!
“เราต้องสวมวิญญาณนักแสดงด้วย
เพลงร็อกต้องเข้มแข็ง ลูกทุ่งต้องนนุ่มนวล
แนวเพลงเปลี่ยน การแสดงอารมณ์ก็เปลี่ยน”
นาย-ณัฐกรณ์ พลนาการ
ร้องนำ วงหางนกยูง
“ผมร้องเพลงเพื่อความสุขครับ” นายเปิดเผยความฝัน “แต่ผมฝันอยากเป็นครู ไม่ใช่ครูดนตรีด้วยนะ (อ้าวเหรอออ) อยากเป็นข้าราชการเพื่อเป็นเสาหลักให้กับที่บ้าน ผมอยากเป็นครูภาษาไทย” เสียงเฟมแทรกมาบอกว่าในงานสุนทรภู่ กิจกรรมขับเสภา อ่านทำนองเสนาะ นายเป็นคนทำหมดเลย “และแม้จะชอบร็อกสาดพลัง แต่ก็ชอบเพลงลูกทุ่งที่มีอารมณ์มากกว่า”
เอ้า…ความฝันก็คือความฝัน เราจะบังคับใจกันไม่ได้
“หนูอยากเป็นทหารค่ะ” ฝันสุดเซอร์ไพรส์ของน้ำหวาน “จบ ม.6 ก็คิดว่าจะสอบเข้าทหาร จริงๆ อยากเรียนดุริยางค์ทหารบกตั้งแต่ช่วงจบ ม.3 แต่สอบไม่ทันแล้ว จบ ม.6 ต้องลองดูอีกที” นี่ไม่ใช่ร็อกเกอร์สาวธรรมดา ดูท่าทางจะมี DNA ชาวร็อกอยู่ในสายเลือดแบบที่กรรมการมองเห็นแน่ๆ
แต่ความฝันระยะใกล้ของทุกคนในวง คือ “ตั้งแต่ฟอร์มวงขึ้นมาเราแข่งหลายที่มาก ยังไม่เคยได้แชมป์สักครั้ง เคยได้รางวัลแต่ยังไม่ถึงที่สุด เราเลยฝันจะมาถึงที่สุดกับเวทีนี้ครับ”
มองแววตามุ่งมั่นของเด็กรุ่นใหม่แล้วอดยิ้มไม่ได้ อนาคตเราอาจมีคนทำเพลงเก่งๆ ครูภาษาไทยเสียงดี หรือนายพลหญิงสายเลือดร็อกเกอร์ ที่เคยชนะเลิศการแข่งขัน THE POWER BAND ก็เป็นได้…ใครจะไปรู้