People

คุยกับ ครูโน้ต – ครูไอซ์ – ครูดรีม – ครูนิว
4 ครู 3 วง ของ 2 โรงเรียนจากราชบุรี

ภัทรามน ผุดเพชรแก้ว 14 Jan 2025
Views: 541

Summary

THE POWER BAND 2024 SEASON 4 เราได้พบวงจากราชบุรีผ่านเข้ารอบมาแสดงสดที่เชียงใหม่ถึง 3 วงโดยมิได้นัดหมาย (วง Kamen Vii วง The Last Minute และ วง Pongzun (ป๋องสั้น)) บังเอิญ ? หรือตั้งใจ ? Thaipower.co อาสาพาไปหาคำตอบจาก “รวมพลครูคนเก่ง” ที่พาเด็กๆ มาเปิดประสบการณ์บนเวทีจริง

เวทีประกวดวงดนตรีคุณภาพระดับประเทศ อย่าง THE POWER BAND 2024 SEASON 4  จัดโดย คิง เพาเวอร์ ไทย เพาเวอร์ พลังคนไทย ร่วมกับ วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ 6 ค่ายเพลงคุณภาพ เปิดโอกาสให้วงดนตรีทั่วประเทศในการคว้า “ตั๋ว” เข้าสู่รอบชิงชนะเลิศ

ที่สนามเชียงใหม่ เราได้เจอกับวงจากจังหวัดราชบุรี ผ่านเข้าสู่รอบแสดงสดถึง 3 วง โดยมิได้นัดหมาย !!?!

หรือนี่จะเป็นแผนการแข่งที่ถูกวางมาเป็นอย่างดี ? เป็นเทคนิคพิเศษที่เตรียมการมาก่อน ? หรือจริงๆ แล้วคุณครูผู้คุมวงของต่างวงต่างโรงเรียนกัน…เอ่อ แค่ (ช่วยกัน) วางแผนค่าใช้จ่ายแชร์ค่าเดินทางกันเท่านั้นเอง ? เราเลยถามเพื่อให้สิ้นสงสัย จนครูทุกคนได้ฟังถึงกับหัวเราะ แล้ว ครูโน้ต (ผู้คุมวง Kamen Vii) ก็เฉลยกับ Thaipower.co ก่อนใคร

“พวกเราไม่ได้คุยกันเลยครับ วง Kamen Vii กับ วง The Last Minute อยากมาเที่ยวเชียงใหม่ ก็เลยส่งคลิปเข้ามาประกวดที่สนามเชียงใหม่นี้กันต่อ หลังจากที่ไปประกวดขอนแก่นมาแล้ว พอเด็กๆ ในวงส่งคลิปเข้าประกวด ครูถึงได้มาคุยกันแล้วถึงรู้ว่า อ้าว! ครูดรีม (ผู้คุมวง Pongzun) ก็ส่งคลิปไปด้วยเหรอ แล้วเราก็ไม่คิดว่าจะผ่านเข้ารอบมาเจอกันทั้ง 3 วง”

ครูโน้ต – ครูดรีม – ครูนิว – ครูไอซ์
ครูผู้คุมวงต่างโรงเรียนซึ่งมาจากราชบุรีเหมือนกัน
ที่ THE POWER BAND 2024 SEASON 4 สนามเชียงใหม่

เราขอพาทุกคนไปทำความรู้จักกับครูผู้คุมวงทั้งหมด 4 ท่าน เป็นผู้ดูแล 3 วงดนตรีประกวด THE POWER BAND ที่มาจาก 2 โรงเรียนของราชบุรีกันแบบข้ามภาคมาที่เชียงใหม่กันเลย โดยมี ครูโน้ต – มารุต ยอแซฟ ผู้คุมวง Kamen Vii (คาร์เมน เซเว่น) ประกวดในรุ่นมัธยมศึกษา (High School Class) ครูไอซ์ –    สุจินดา พูนผล ผู้คุมวง The Last Minute ประกวดรุ่นบุคคลทั่วไป: เส้นทางสู่ศิลปิน (Professional Class: Road to Artist) ทั้งสองวงมีสมาชิกมาจาก โรงเรียนดรุณาราชบุรีวิเทศศึกษา เข้าประกวดต่างรุ่นกัน ครูโน้ตกับครูไอซ์เป็นครูโรงเรียนเดียวกัน

ส่วน ครูดรีม – วินิธธา ทรัพย์เห็นสว่าง และ ครูนิว – เลิศวิชญ์ มีศิริ สองผู้คุมวง Pongzun (ป๋องสั้น) จากโรงเรียนดรุณาราชบุรี ประกวดในรุ่นมัธยมศึกษา (High School Class) และผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศ อ่านเรื่องของวง Pongzun ที่นี่ คลิก

 

“เหมือนเราปลูกต้นไม้สักต้น พอเราเห็นต้นไม้เติบโต

ออกดอกออกผลสวยงาม เราก็ชื่นใจ”

 

บนเส้นทางกว่าจะมาเป็นครู

ครูทั้ง 4 ท่าน ต่างสนใจดนตรีกันมาตั้งแต่เด็ก ถึงวันนี้จะเป็นครูดนตรีเหมือนกัน แต่เดินมาบนเส้นทางที่ต่างกัน ครูโน้ต ผู้คุมวง Kamen Vii เล่าให้เราฟังเป็นคนแรก “ผมซึมซับมาจากดนตรีในโบสถ์ ชอบดนตรีคลาสสิก พอเริ่มมาเป็นครูดนตรีก็ปรับความชอบจากดนตรีในโบสถ์มานำเสนอในแบบที่ตลาดและคนฟังต้องการ ผมไม่ได้เรียนดนตรีมาเฉพาะทาง ถึงวันนี้เป็นครูมา 16 ปีแล้ว ความฝันของผมไม่ได้อยากเป็นนักดนตรี เคยลองบ้างแล้วแต่ผมสนุกกับการถ่ายทอด (เรื่องดนตรี) มากกว่า”

ครูโน้ต – มารุต ยอแซฟ และวง Kamen Vii
จากโรงเรียนดรุณาราชบุรีวิเทศศึกษา

ส่วนครูดรีม หนึ่งใน 2 ผู้คุมวง Pongzun เป็นรุ่นน้องครูโน้ตที่เรียนด้วยกันมา แต่ก็เรียกว่ามีองค์ความรู้คนละด้านที่ร่วมความสนใจเรื่องดนตรีเหมือนกัน “ผมจบเกี่ยวกับการจัดการมา แต่ชอบดนตรี ชอบสอนเด็ก ครูนิวก็เป็นลูกศิษย์ผมมาก่อน ก็ชวนมาช่วยสอนน้อง ให้คอยคุมเด็ก ผมเป็นครูมา 12 ปี ทุกวันนี้ผมเป็นนักดนตรีอาชีพด้วย เล่นอยู่ร้านอาหารที่ราชบุรี หรือบางทีก็เป็นมือปืนรับจ้างไปแทนรุ่นพี่วง No One Else บ้าง”

ครูนิว ผู้คุมวง Pongzun อีกคน กำลังเรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยรังสิต “ผมเหมือนมาช่วยเป็นพี่เลี้ยงมากกว่า ผมไปรับมาจากข้างนอกแล้วมาปรับให้เข้ากับน้องๆ ผมก็ยังมีความฝันที่จะเป็นศิลปินอยู่ แต่ตอนนี้สนุกกับงานตรงนี้มากกว่า”

ครูดรีม – วินิธธา ทรัพย์เห็นสว่าง และ ครูนิว – เลิศวิชญ์ มีศิริ
กับ วง Pongzun (ป๋องสั้น) จากโรงเรียนดรุณาราชบุรี

ครูไอซ์ – สุจินดา พูนผล กับวง The Last Minute
จากโรงเรียนดรุณาราชบุรีวิเทศศึกษา

สำหรับครูไอซ์ ผู้คุมวง The Last Minute นั้นชอบดนตรีมาตั้งแต่เด็ก เพราะได้รับอิทธิพลมาจากพ่อ “ผมเข้าวงโยฯ ตอน ม.4 แล้วก็เล่นดนตรีมาเรื่อย เล่นตามร้านอาหารบ้าง แล้วก็ไปเรียนต่อด้านดนตรีที่สวนสุนันทา (มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา) จากนั้นไปเป็นติวเตอร์ด้านดนตรี ที่ Pop Up Music แล้วก็ศูนย์รวมครูสอนกีตาร์แห่งประเทศไทย ก่อนจะย้ายมาสอนที่ดรุณาราชบุรีวิเทศศึกษา”

นอกจากสอนดนตรีแล้วครูทุกคนทำหน้าที่อื่นในโรงเรียนคล้ายกัน คือ ดูแลวงโยฯ ดูแลด้านเสียงทั้งหมดของโรงเรียน ผลิตสื่อ / มีเดีย อัดคลิปและตัดต่อคลิปให้กลุ่มสาระวิชาอื่นๆ ปลูกต้นไม้ ไปจนถึงซ่อม ห้อง !!! “ผมให้เขาช่วยเรื่องเด็กเวลามาซ้อมดนตรี ผมก็ช่วยเขาเรื่องอื่น ถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน” ครูดรีม ผู้คุมวง Pongzun (ป๋องสั้น) ช่วยให้ภาพของการ ‘ช่วยกัน’ ทำงานครูทั้งสองคนที่โรงเรียน

 

Favorite Songs

เพลงในดวงใจของครูๆ

ครูโน้ต ผู้คุมวง Kamen Vii:
Forsaken, Under a Glass Moon, Constant Motion (Dream Theater)

ครูไอซ์ ผู้คุมวง The Last Minute:
เพลง I SEE STARS (SRIRAJAH ROCKERS) – รักในวันลา (Lower Mansion)

ครูดรีม ผู้คุมวง Pongzun:
เจ็บละชินไปเอง เจ้าชายนิทรา ETC. รัก (ปุ๊ อัญชลี)

ครูนิว ผู้คุมวง Pongzun:
วันครบเลิก ฝืนตัวเองไม่เป็น รักแรก (NONT TANONT)

“ดนตรีเป็นเพื่อนที่ดีที่สุด

ดนตรีเยียวยาเรา ช่วยเรื่องพัฒนาการ

ไม่ต้องทำเป็นอาชีพ เป็นงานอดิเรกก็ได้ แต่อย่าทิ้งดนตรี”

พาเด็กๆ เรียนรู้โลกกว้าง

หลังจากสอนให้นักเรียนรู้จักดนตรี รู้จักการฟอร์มวงดนตรีแล้ว ขั้นตอนต่อไปก็คือ การพาวงเดินทางไปหาประสบการณ์และเรียนรู้จากสนามจริงที่ครูของทุกวงต่างมี “มิสชัน” นี้

ครูโน้ตบอกกับวง Kamen Vii เสมอ “ผมไม่ได้สอนให้เขาต้องชนะ ก่อนขึ้นเวทีผมบอกเด็กๆ ว่า ทำสิ่งที่เรามีให้กรรมการเห็น ทำหน้าที่ของตัวเองให้ดี ทุกอย่างเป็นประสบการณ์ วันหนึ่งโตขึ้นเขาจะเอาไปสอนคนอื่นได้ว่า บนเวทีต้องจัดการตัวเองอย่างไร และบอกว่าคุณต้องมี 120 พอขึ้นไปบนเวทีมันจะเหลือร้อยเสมอ”

“The Last Minute วงก็ไม่ได้หวังรางวัลขนาดนั้น เราแค่อยากให้เด็กได้แสดงศักยภาพ มาโชว์เพาเวอร์ของตัวเองให้มากที่สุด เข้ารอบหรือไม่…เป็นเรื่องของกำไรมากกว่า” ครูไอซ์เฉลยถึงความตั้งใจที่ได้บรรลุเป้าหมายแล้ว

สำหรับ Pongzun ครูนิวบอกว่า หวัง…แต่ไม่มากไปกว่าประสบการณ์ “ก็คาดหวังบ้าง แต่เมื่อไม่ติด 1 ใน 3 ก็ไม่เป็นไร แค่อยากให้เด็กได้โชว์ความเป็นตัวเองบนเวทีนี้ ให้พวกเขาได้เพิ่มศักยภาพของตัวเอง” แต่ในที่สุดวง Pongzun ก็คว้าตั๋วไปสู่รอบชิงชนะเลิศได้

ส่วนการเตรียมตัวสำหรับเวที THE POWER BAND ครูทุกคนพูดตรงกันว่า แผนก็คือซ้อมให้เยอะ “ที่เหลือก็เป็นความเห็นชอบของกรรมการแล้ว เราปรุงอาหารมาจานหนึ่ง เขาจะชอบกินของเราไหมเท่านั้นเอง” ครูโน้ตสรุปสั้นๆ อย่างเข้าใจ

วง Pongzun กับการแสดงในรอบตัดสิน ที่โรงละครอักษรา คิง เพาเวอร์

 

พาวงมาลงสนาม ต้องมี “กลเม็ดเด็ด”

ผ่านเข้ารอบแสดงสดมาได้ แน่นอนว่าแต่ละวงต้องมีของดีที่ไม่ธรรมดาเป็นแน่ เราเลยถามครูถึงเทคนิคการทำวง การวางแผน และการทำงานสำหรับความพร้อมในการขึ้นเวทีประกวด

ครูไอซ์พูดถึงการส่งวงเด็กมัธยมอย่าง The Last Minute ได้น่าสนใจ “ผมส่งวงเข้าประกวดรุ่นบุคคลทั่วไป ก็จะเซตคาแรกเตอร์การแสดงของวงให้เล่น ‘หนัก’ ไปเลย เป็นร็อกจ๋า…ครั้งนี้เราเล่นใหญ่ มีใช้ดาต้ามาเสริมในการแสดง กีตาร์มีสกิลที่ดีก็เลยใส่เข้าไปในเพลงให้มีความหนักเบา ช่วยทำให้คาแรกเตอร์ของเครื่องดนตรีแต่ละคนชัดเจนขึ้น โดยผมจะทำเพลงก่อนแล้วให้เด็กๆ ช่วยกันฟังว่าพวกเขาชอบไหม ค่อยๆ เจียระไนกันไปทีละท่อน โดยเจาะไปที่การเล่นของเด็กแต่ละคน”

ส่วนแผนของครูโน้ตให้กับวง Kamen Vii เป็นแบบสองวงมาจากโรงเรียนเดียวกันที่นำเสนอแตกต่าง “ผมกับครูไอซ์ก็คุยกัน เพราะทั้ง 2 วงแตกต่างกันที่รุ่นแข่งขัน กรรมการก็จะมองคนละแบบ ผมเลยจินตนาการถึงการแสดงที่หน้าเวทีว่า เครื่องเสียงและซาวนด์ทั้งหมดจะออกมาในมวลแบบไหน ยึดเกณฑ์การตัดสินเป็นหลักว่ากรรมการอยากเห็นอะไร เพราะมีกรรมการตัดสินที่เป็นโพรดิวเซอร์ เขาจะมองภาพลักษณ์ของดนตรีหรือความแปลกใหม่ของเพลง คิดว่าอยากจะให้การแสดงของวงเป็นบรรยากาศแบบไหน ก็เน้นให้นักร้องถ่ายทอดมาแบบนั้น”

“ทาง Pongzun ไม่ได้เซตอะไรเลยครับ ให้เล่นแบบที่เป็นตัวเองมากที่สุด ให้คิดคาแรกเตอร์ของตัวเองในเพลงว่าเป็นแบบไหน” นี่คือแผนของครูนิว โดยมีครูดรีมช่วยกันสนับสนุนตัวตนที่วงเป็นอยู่ “เราให้เด็กคิดว่าอยากเล่นเพลงไหน แล้วให้ไปทำกันเอง ผมแค่เสริมหรือเน้นบางอย่าง เช่น อยากให้โซโลเด่นกว่านี้ ให้บางท่อนพุ่งขึ้นมาชัดเจน แล้วผมก็ขอผู้ปกครองว่าให้เด็กมานอนที่โรงเรียน แต่เป็นเหมือนบทลงโทษมากกว่า เด็กกลัวจะไม่ได้กลับบ้าน ในการซ้อมพวกเขาเลยดีดตัวเองขึ้นมา ต้องทำให้ได้”

 

หากเปรียบแต่ละวงกับรสชาติ

ครูๆ ว่า…จะเป็นอย่างไ?

วง The Last Minute: น่าจะรสชาติเผ็ด

วง Kamen Vii: กลมกล่อม แต่ติดเผ็ดนิดๆ

วง Pongzun: รีเจนซี่เพียว

ความสุขของคนเป็นครู  

อาชีพครูเป็นอาชีพที่ได้รับสิทธิพิเศษบางอย่าง ที่เพียงแค่ได้เห็นศิษย์ประสบความสำเร็จ หรือได้เดินไปในทางที่ฝัน ก็เหมือนได้รับรางวัลเป็นความสุขและความภูมิใจแล้ว

“ชีวิตของครูเราเห็นเด็กหมุนเวียนผลัดเปลี่ยนไป เห็นเขาเติบโตมามีคุณภาพ ไปทำงานที่ดี ช่วยเหลือครอบครัวได้ ก็เป็นความชื่นใจ บางครั้งเราพาเด็กไปแข่ง เห็นเขาอยู่บนเวทีแล้วเรายืนอยู่มุมหนึ่งตรงนั้น ยิ้มกับสิ่งที่เด็กทำออกมา เราไม่จำเป็นต้องขึ้นไปอยู่ตรงนั้นก็ได้ แค่พาเขามาอยู่ตรงนั้น” นี่คือความรู้สึกของครูโน้ตที่เป็นครูมานาน

“ก็เหมือนเราเลี้ยงน้อง ว่าเราจะทำอย่างไรให้ผู้ปกครองเขาภูมิใจ ไม่ให้น้องไปเกเรก็ภูมิใจแล้วครับ” ครูมือใหม่อย่างครูนิวแสดงความรู้สึกกับทุกวง

“มีความสุขที่เห็นเด็กไปต่อได้ เห็นเขามีจุดมุ่งหมายที่ชัดเจนก็มีความสุข” ครูดรีมบอกสั้นๆ ด้วยรอยยิ้ม

ส่วนเรื่องของความประทับใจน่ะเหรอ

ครูโน้ตเล่าติดตลกว่า “สอนเด็กก็ประทับใจทุกวันนะ ถ้าเขาซ้อมมา”

ในขณะที่ครูไอซ์รู้สึกว่าหลายครั้งก็ได้แรงบันดาลใจใหม่ๆ จากลูกศิษย์ “บางทีเด็กก็ทำให้เราว้าว แบบตรงนี้ยาก เขาก็ไปซ้อมมา ตอนมาเจอกันเล่นด้วยกัน ก็ อ้าว เล่นได้แล้วเหรอ…เราก็รู้สึกภูมิใจ”

สำหรับครูนิวไม่หวังอะไรไปมากกว่าวินัยที่ลูกศิษย์ได้เรียนรู้ควบคู่ไปกับเรื่องดนตรีด้วย “แค่มาซ้อมตรงเวลาครูก็ประทับใจแล้ว” อ้าว เป็นอย่างนั้นไป

ไม่เพียงเท่านั้นเวทีแห่งนี้ยังเป็นประสบการณ์เป็นปีที่ 2 สำหรับพวกเขา เพราะเมื่อตอน THE POWER BAND 2023 SEASON 3 มีน้องๆ หลายคนมาลงสนามแข่งในนาม วง BUSSOAP จากโรงเรียนดรุณาราชบุรีวิเทศศึกษา อ่านเรื่องของวง BUSSOAP ที่นี่ คลิก  …มาปีล่าสุด สมาชิกของวงนั้นยังมีแยกย่อยออกมาเป็น 2 วง แต่ละวงเสริมสมาชิกต่างรุ่นเพิ่มเข้ามา ครูโน้ตเลยพูดถึงเวทีนี้ให้โอกาสพวกเขาได้เติบโต “เวทีนี้พัฒนาขึ้นด้วย กรรมการก็มองหาศิลปินตั้งแต่เด็กๆ ทำอะไรออกมามันเป็นเรื่องของความชอบ เป็นไปได้หมดครับ”

.”ผมชอบ…มันทำให้มีแรงผลักดันดี” ครูดรีมร่วมแสดงความเห็น

ท้ายที่สุดแล้วครูทุกคนยืนยันว่าจะยังคงสอนให้เด็กๆ รู้จักและรักในเสียงดนตรี จะพานักดนตรีตัวน้อยเดินทางไปเรียนรู้เรื่องราวใหม่ๆ และเก็บประสบการณ์เสมอ ไม่แน่ว่าในปีนี้ของการแข่งขันซีซันใหม่เราอาจจะได้เจอวงเจ๋งๆ จากราชบุรีอีกก็เป็นได้

Author

ภัทรามน ผุดเพชรแก้ว

Author

นักเล่าเรื่อง ผู้มีหนังสือและการเดินทางเป็นดั่งลมหายใจ นิยมชมชอบท้องฟ้า กาแฟ และแมว

Web Editor

ปิ่นอนงค์ วัชรปาณ

Web Editor

บรรณาธิการเว็บ Thaipower.co อดีตบรรณาธิการบางสำนัก นักข่าวและคอลัมนิสต์จำเป็น โกสต์ไรเตอร์...ผู้รักการเดินทาง หลงใหลกลิ่นกาแฟ และเป็นมูฟวีเลิฟเวอร์

Author

อำพน จันทร์ศิริศรี

Photographer

ช่างภาพอิสระมากว่า 30 ปี...ที่คร่ำหวอดกับการถ่ายภาพรายการทีวีต่างๆ เช่น The Voice, The Rapper, The Stars Idol เป็นต้น และถ่ายภาพคอนเสิร์ตต่างๆ