การแข่งขันดนตรีเป็นวิธีค้นหาพรสวรรค์และส่งเสริมความสามารถทางดนตรี เพื่อเข้ามามีส่วนร่วมในการแข่งขัน ทุกคนและทุกวงดนตรีต้องเริ่มต้นจากการฝึกฝน ซึ่งต้องการแรงจูงใจในระดับสูงและสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวย สำหรับเยาวชนแล้ว ครอบครัวและโรงเรียนมีความสำคัญต่อการพัฒนาความสามารถทางด้านดนตรี เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการขึ้นเวทีแข่งขันของพวกเขา
“ลิตเติ้ลวิงส์” (Little Wings) หนึ่งในวงดนตรีที่การผ่านการคัดเลือกของ THE POWER BAND 2022 SEASON 2 สนามจังหวัดขอนแก่น จัดโดยวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ คิง เพาเวอร์ ไทย เพาเวอร์ พลังคนไทย และได้รับสิทธิ์เข้าแข่งขันสุดเข้มข้นในรอบชิงชนะเลิศที่กรุงเทพฯ เด็กๆ ที่มีความสามารถกลุ่มนี้ ได้รับการสนับสนุนอย่างดีจากโรงเรียนศรีสะเกษวิทยาลัย จังหวัดศรีสะเกษ
วงดนตรีที่อบอุ่นด้วยสมาชิกถึง 12 คน คือ นิภารัตน์ ศาลางาม, คณาธิป ห่มสมบัติเจริญ, นนท์ปวิธ นามพันธ์, กัญจน์ณัฏฐ์ ขันติวงค์, กัฑภฉา โพชัยพัช, พลกฤต สงโสด, จตุพงศ์ สุขศรี, บวรวิชร์ ตางาม, ภูเบศ สุขสำอางค์, ฐานิศ กิ่งแก้ว, โชคภูชิต ไชยสิน และ ศิริวรรณ นามวงศ์ เป็นการรวมตัวที่ลงตัวของวงดนตรีสากลและวงโยธวาทิต ประกอบด้วย 2 นักร้องนำ, กีตาร์, เบส, 2 คีย์บอร์ด, กลอง, เพอร์คัชชัน, ทรัมเป็ต, 2 แซกโซโฟน และทรอมโบน
“วงนี้เป็นการรวมตัวของเด็กตั้งแต่ชั้น ม.1 ถึง ม.6 มีความหลากหลายมีรุ่นพี่รุ่นน้อง มันก็จะวุ่นวายนิดหนึ่ง” อาจารย์ศตวรรษ ไชยพัฒน์ ผู้ควบคุมดูแลวงเล่าพร้อมเสียงหัวเราะ “ลิตเติ้ลวิงส์เป็นวงมีความเป็นทีมเวิร์ก มีความสดใสร่าเริง แต่ละคนก็มีบุคลิกแตกต่างเฉพาะตัว มีจุดเด่นในการเล่นเวลาอยู่บนเวที”
ชื่อ ลิตเติ้ลวิงส์ เป็นชื่อวงดนตรีที่ครูดนตรีของโรงเรียนคนก่อนตั้งไว้และถูกใช้ต่อมาหลายปี โดยที่สมาชิกวงได้เปลี่ยนไปตามรุ่นของนักเรียน “ลิตเติ้ลวิงส์ คือ ปีกเล็กๆ ที่จะคอยเติมเต็ม คอยพัฒนาศักยภาพทางด้านดนตรี พัฒนาทักษะทางด้านดนตรี” อาจารย์ศตวรรษบอก
แม้สมาชิกจะหลากหลาย แต่ลิตเติ้ลวิงส์ทุกคนต่างมีความฝันและเป้าหมายเดียวกันคือ ดนตรี!
ก่อนหน้าที่จะมายืนบนเวทีในวันนั้น วงดนตรีสากลซึ่งเป็นสมาชิกส่วนหนึ่งของลิตเติ้ลวิงส์ ผ่านประสบการณ์การเดินสายแข่งขันมาไม่น้อย แต่หลังจากการระบาดของโควิด-19 จึงต้องหยุดไป ก่อนจะกลับมาอีกครั้งกับการประกวดที่งาน THE POWER BAND 2022 SEASON 2 สนามจังหวัดขอนแก่น จึงเป็นครั้งแรกของการประกวดในเวทีใหญ่ระดับประเทศ ทั้งยังเป็นครั้งแรกที่วงดนตรีสากลกับวงโยธวาทิต มารวมตัวกัน
หลังการแสดงบนเวทีภายในมหาวิทยาลัยขอนแก่นวันนั้นจบลง โดม – ฐานิศ มือเบส ฟลุก – โชคภูชิต มือคีย์บอร์ด แบม – ศิริวรรณ มือเบส และ ฟาง – กัญจน์ณัฏฐ์ นักร้องนำ เป็นตัวแทนของลิตเติ้ลวิงส์มานั่งพูดคุยแบ่งปันประสบการณ์เรื่องการฝึกซ้อมอย่างเข้มข้นก่อนขึ้นเวทีแข่งขัน โดยใช้เวลาทั้งก่อนเข้าชั้นเรียนในตอนเช้า ช่วงพักกลางวัน และหลังเลิกเรียน
ลมใต้ปีกของ ลิตเติ้ลวิงส์
ในฐานะผู้ควบคุมวงและดูแลวง อาจารย์ศตวรรษ ไชยพัฒน์ หรืออาจารย์เสือ เป็นเหมือนกับลมใต้ปีกที่ช่วยให้ลิตเติ้ลวิงส์ได้โบยบิน
• การสนับสนุนกิจกรรมดนตรีของโรงเรียนศรีสะเกษวิทยาลัยด้วยเห็นถึงความสำคัญที่เด็กๆ
จะได้พัฒนาทักษะหลายด้านเมื่อเข้าแข่งขันครั้งนี้
• ผู้ดูแลวง คาดหวังเพียง “ให้ทุกคนทำเต็มที่ ให้ทุกคนไปสนุกกันบนเวที
ผลแพ้ชนะจะเป็นยังไงไม่เป็นไร ขอให้ได้ใจผู้ชมและคณะกรรมการ เล่นยังไงให้มีความสุขที่สุดบนเวที อย่าคิดว่าไปแข่งแต่ไปแสดงผลงานของเราที่เราฝึกซ้อมมา ไปนำเสนอดนตรีในรูปแบบของวง จะได้รางวัลที่เท่าไหร่ไม่สำคัญ ถ้าเล่นแล้วมีคนชื่นชอบ แค่นั้นก็รู้สึกว่าคุ้มแล้วสำหรับทุกคนที่เรามีโอกาสได้พื้นที่แสดงบนเวทีใหญ่ระดับประเทศ”
เมื่อพูดถึงลิตเติ้ลวิงส์ เหล่าสมาชิกต่างเห็นพ้องต้องกันว่า จุดเด่นของพวกเขาคือ ทีมเวิร์ก อีกทั้งสีสันลีลาและแนวทางของบทเพลงที่นำเสนอบนเวทีก็น่าสนใจไม่น้อย
บนเวทีที่ขอนแก่นวันนั้น วงนำเสนอบทเพลงในแนวทางฟิวชันป็อป เป็นเพลงป็อปผสมผสานกลิ่นอายฟังก์และแจ๊ส ซึ่งถูกเรียบเรียงให้สมาชิกทุกคนได้แสดงความสามารถในท่อนโซโล่ของตัวเอง โดยเพลงที่พวกเขานำมาแสดงคือ บานปลาย ของศิลปินโบกี้ไลอ้อน และ เหงาเท่าอวกาศ ของวงซีซันไฟฟ์
ด้วยความหลากหลายของสมาชิกและเครื่องดนตรีเป็นสิ่งท้าทาย ทุกคนต้องฝึกฝนให้เกิดความชำนาญในเครื่องดนตรีของตัวเองก่อนจะมารวมวงเพื่อที่ให้ทุกเครื่องดนตรีสามารถประสานสอดคล้อง ยิ่งคนในวงยิ่งเยอะ ก็ต้องทำงานหนักมากยิ่งขึ้น ต่างต้องให้ความสนใจซึ่งกันและกัน รวมทั้งฟังกัน ก็จะทำให้วงสามารถดำเนินไปได้
หลังซ้อมอย่างหนักและเตรียมตัวมาอย่างดี เมื่อถึงเวลาขึ้นแสดงบนเวทีจริงๆ อะดรีนาลินหลั่งไหลครอบงำทั้งวงดนตรี (รวมไปถึงผู้ชมด้วย) ตัวแทนสมาชิกวงต่างบอกเหมือนกันว่า ตื่นเต้นมาก! แม้แสดงทั้ง 2 เพลงจะจบลงแล้วก็ตาม “ตื่นเต้นมากค่ะ ตอนเล่นอยู่ใจมันเต้นตุบๆ เลย” แบมบอก
Suggestion
แม้จะตื่นเต้นแต่ก็สนุกอย่างที่โดมบอกว่า “ตอนแรกก็ตื่นเต้น แต่พอทุกคนเริ่มคุ้นเวที เริ่มรีแลกซ์ก็เริ่มไม่ตื่นเต้นแล้ว อยากโชว์เต็มที่แล้ว”
“พวกเรามาด้วยความกระหาย” อาจจะสั่นในช่วงแรก แต่ฟลุกก็บอกว่าเขาผ่านจุดนั้นมาได้เมื่อ “เอาตัวเองเข้าไปในเพลง”
“หนูก็ตื่นเต้น กลัวทำไม่ได้อย่างที่ซ้อมมา แต่พอร้องไปแล้วมันก็ทำได้ ความรู้สึกมันดีนะคะ” ฟางยังบอกอีกว่าการแสดงในวันนั้น “ขาด” อะไรไปอีกเพียงนิดเดียวก็จะแตะถึงจุดที่เธอตั้งเป้ากับตัวเองไว้
สำหรับลิตเติ้ลวิงส์บนเวทีในวันนั้นการเริ่มต้นเป็นสิ่งสำคัญและตอนจบที่ยอดเยี่ยมสร้างความประทับใจและจดจำ ช่วงโซโลของสมาชิกเป็นช่วงเวลาที่น่าตื่นเต้นสำหรับนักดนตรี ในขณะที่เดียวกันก็เป็นช่วงเวลาที่เพลิดเพลินสำหรับคนดูคนฟัง
“ผมว่าแนวเพลงมันมีเอกลักษณ์ อาจารย์ทำมาให้วงมีสไตล์ของตัวเองชัดเจน” โดมยังบอกต่อว่า หลังจากเล่นบนเวทีวันนั้นแล้วยังมีบางอย่างต้องปรับปรุง “เรื่องที่ต้องปรับปรุงเรื่อยๆ ก็คือบางทีผมอาจจะลกเกินไป…แบบรีบ ผมก็ควรจะไปปรับเรื่องใจร้อนของตัวเอง”
การรวมตัวกันเพื่อสร้างวงของลิตเติ้ลวิงส์ นอกจากจะได้พัฒนาทักษะทางด้านดนตรีแล้ว พวกเขายังได้สร้างความสัมพันธ์ระหว่าง เพื่อน พี่น้อง ด้วย และเมื่อได้มาประกวดพวกเขาก็ได้รู้จักกับเพื่อนต่างวงและต่างโรงเรียน การเล่นดนตรีกับวงเปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้เชื่อมต่อกับเด็กคนที่มีความคิดเหมือนๆ กัน พวกเขาเป็นวงดนตรีและเติบโตไปด้วยกัน เป็นช่วงเวลาการเชื่อมต่อที่แท้จริง แตกต่างไปจากโซเชียลมีเดียและมิตรภาพออนไลน์
“ดนตรียังสามารถเอาไปต่อยอด ไปหาเงินได้ ไปออดิชันเข้าค่ายได้ ตอนเด็กๆ ผมก็โดนห้ามเรื่องนี้ แต่ผมก็ทำให้เขา (ครอบครัว) เห็นเรื่อยๆ เขาก็สนับสนุนมากขึ้นแต่ว่าตอนนี้ก็ยังไม่ 100% ที่บ้านอยากให้ไปเป็นครูสอนดนตรี ซึ่งผมก็ไม่อยากเป็น อยากเป็นศิลปิน” โดมบอก
ส่วนฟลุก เขารู้สึกว่า ดนตรีคือสะพาน “ดนตรีมันสร้างคอนแท็กต์ มอบความสุขให้คนดู เป็นการผ่อนคลาย รีแลกซ์ เมื่อได้ดื่มด่ำกับดนตรี แล้วก็สร้างมิตรภาพเพื่อนต่างวง”
ขณะที่แบมเองก็มีประสบการณ์ดีๆ “ดนตรีให้ความสนุกและได้ลองอะไรใหม่ๆ ไปเรื่อยๆ”
“เราได้รู้เรื่องดนตรี เรื่องเทคนิคการร้องมากขึ้น ดนตรีมันไม่ง่าย แต่พอเราได้มาทำ ได้มาร้องเพลงก็รู้สึกดี” ฟางเล่า
การได้ร่วมวงหรือร่วมบรรเลงกับนักดนตรีอื่นๆ นอกจากจะเป็นความพึงพอใจสนุกสนานแล้ว ยังเป็นวิธีที่ยอดเยี่ยม ซึ่งทำให้แต่ละคนเป็นนักดนตรีที่ดีขึ้นด้วย โดมบอกว่า “การเป็นวงดนตรีหลักๆ ก็คือ การอยู่ร่วมกัน ต้องคุยกัน เราซ้อมตรงนี้ เราพลาดตรงไหน เราก็ต้องแชร์ เรื่องดนตรีไม่เคยทะเลาะกัน จะบอกกันมากกว่า พลาดตรงไหนจะบอกกัน ปรับกันตรงไหน ถ้ามันไม่ใช่ก็บอกกัน”
หลังผ่านการคัดเลือก ลิตเติ้ลวิงส์จะได้ไปแสดงความสามารถของพวกเขาที่สนามในกรุงเทพฯ สิ่งที่ทำให้ลิตเติ้ลวิงส์เดินทางมาถึงวันนี้ ส่วนหนึ่ง คือ ความกล้าที่จะฝัน กล้าที่จะเปิดโอกาสให้กับตัว และกล้าที่เปิดรับสิ่งใหม่ๆ ให้กับตัวเองและทุกๆ คนในวง
Suggestion
“สำหรับเพื่อนๆ อยากให้มาลองเลยครับ อย่าไปกลัว ถ้าเรามีของ ต้องเอาออกมาโชว์ ฝึก อยู่กับมันเยอะๆ แล้วก็ออกมาลุย” – โดม
“ถ้าเรามีความชอบด้านนี้ เราก็ต้องกล้าที่จะออกมา แสดงศักยภาพของเราให้ได้มากที่สุด ถึงแม้ว่ามันจะผิดพลาดหรือว่าจะเกิดอะไรขึ้น อย่าไปกลัว ชีวิตมันผิดพลาดได้เสมอ” – ฟลุก
“ถ้าไม่ลอง เราก็ไม่รู้ว่ามันจะเป็นยังไง ในการแข่งจะได้รู้ทักษะตัวเองด้วยว่าได้หรือไม่ได้” ฟาง นักร้องนำ ซึ่งผ่านประสบการณ์การประกวดมาตั้งแต่เรียนชั้นประถมปีที่ 4 จนอยู่ชั้นมัธยมปีที่ 3 ในปัจจุบันให้มุมมองที่น่าสนใจ จากเริ่มกับการร้องเพลงลูกทุ่งมาจนร้องเพลงป็อปร่วมสมัยอย่างในปัจจุบัน “ในอนาคตหนูอยากเรียนดนตรี อยากพัฒนาตัวเองไปเรื่อยๆ ถ้าเป็นไปได้ก็อยากเรียนร้องเพลง เพราะหนูยังทำได้ไม่ดีเท่าไร”
ส่วนแบมและโดมต่างก็ฝันอยากเป็นศิลปิน “ผมอยากเล่นกีต้าร์อยากมีค่าย ตอนนี้มีแต่งเพลงไว้ แต่ยังไม่ให้ใครฟัง” โดมบอก ขณะที่ฟลุกเองค้นพบว่า ความสนใจทางด้านวิทยาศาสตร์ คอมพิวเตอร์ และดนตรีอาจจะไปด้วยกันได้ จากนักร้องนำของวงที่เพิ่งจะหันมาเล่นคีย์บอร์ดได้เพียงไม่กี่เดือน ฟลุกอยากเป็นคนทำดนตรีประกอบภาพยนตร์ “พอถูกจับมาเล่นคีย์บอร์ดผมก็พยายามที่จะเรียนรู้ อยู่บ้านผมก็จะเปิด YouTube แล้วฝึกตาม ผมเน้นลีลาไม่เน้นสกิล (หัวเราะ)”
ไม่ว่าหลังจากนี้ “ปีกเล็กๆ” จะพาพวกเขาบินไปสู่ความฝันบนเส้นทางสายใด แต่ประสบการณ์การร่วมวง การฝึกซ้อม การประกวดดนตรี และกิจกรรมต่างๆ ได้เปิดโอกาสให้พวกเขาได้เรียนรู้บทเรียนล้ำค่ามากมาย ทั้งหมดจะช่วยให้ทุกคนเติบโต … และความทรงจำดีๆ ในช่วงเวลาเหล่านั้นจะยังคงอยู่ตลอดไป
ไปทำความรู้จักกับนักดนตรีและเรื่องราวแห่งการเดินทางตามทางฝันของหนึ่งในตัวแทนจากสนามที่ 1 ขอนแก่น กับวง “Little Wings”