หลายคนอาจคุ้นหน้าคุ้นตากันดีกับบทบาทในวงการบันเทิงของ มาร์ช – ภูบดินทร์ ภู่สุวรรณ หรืออาจจะคุ้นเคยกับการเป็นหนึ่งในนักวิ่งร่วมกับทีมก้าวคนละก้าว ที่มาร่วมกิจกรรมฟุตบอลนัดพิเศษอยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งครั้งสำคัญที่เพิ่งมาร่วมกิจกรรมเตะบอลนัดพิเศษเพื่อมอบสนามฟุตบอลหญ้าเทียมภายใต้ “โครงการ 100 สนามฟุตบอล สร้างพลังเยาวชนไทย” โดย ‘คิง เพาเวอร์ ไทย เพาเวอร์ พลังคนไทย’ มอบสนามฟุตบอลแห่งที่ 88 ให้กับโรงเรียนบ้านแซววิทยาคม จังหวัดเชียงราย
เรากำลังจะพาคุณไปรู้จักกับแพสชันด้านกีฬาของผู้ชายคนนี้กับบทบาทล่าสุดของการเป็นผู้ถ่ายทอดเทคนิคการวิ่งในโปรเจกต์ JM Running Club ที่มาร์ชทำร่วมกับนักวิ่งมาราธอนชาวญี่ปุ่น เพื่อนำเทคนิคการวิ่งแบบญี่ปุ่นมาให้กับเยาวชนไทยและคนรักการวิ่งได้เรียนรู้แบบหมดเปลือก!
“กีฬาไม่ใช่แค่สร้างให้คนแข็งแรง แต่เป็นจุดเริ่มต้นของสังคมที่ดี
ที่จะสร้างให้คนมีคุณภาพ มีความรับผิดชอบ และห่างไกลจากยาเสพติด”
มาร์ช – ภูบดินทร์ ภู่สุวรรณ นักแสดง
เคยฝันทำอาชีพนักกีฬา
จากความชอบในกีฬาฟุตบอลที่หยั่งรากลึกมาตั้งแต่วัยเรียน จนครั้งหนึ่ง มาร์ช – ภูบดินทร์ ภู่สุวรรณ เคยฝันอยากเป็นนักกีฬาอาชีพ แต่ฝันนั้นต้องสะดุดจากการบาดเจ็บตอนเล่นกีฬา ทำให้ต้องผ่าเข่าในยุคที่วิทยาศาสตร์การกีฬายังไม่ก้าวหน้าเหมือนทุกวันนี้ ทำให้เล่นฟุตบอลได้ไม่เต็มที่ จึงเป็นอันต้องพับโครงการไปเหลือไว้เพียงเพื่อการออกกำลังกาย
แม้จะต้องเดินอีกทาง แต่แพสชันในกีฬาของเขายังคงไหลวนอยู่ในสายเลือด และในวันนี้ฝันนั้นเติบใหญ่กว่าเดิม เพราะเขาอยากให้กีฬาได้เป็นส่วนหนึ่งของสังคมและพร้อมพาทุกคนออกวิ่งไปด้วยกันผ่านเทคนิคระดับโลกที่เขาได้เรียนรู้
3 ทีมฟุตบอลที่เชียร์สุดใจ
อันดับ 1 แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด
ทีมที่ผมชอบตั้งแต่เด็ก ตั้งแต่ก่อนเขาจะเป็นแชมป์อีกนะ
อันดับ 2 บาร์เซโลนา
ผมมองในเรื่องการสร้างอะคาเดมีแล้วสร้างเยาวชนที่มีประสิทธิภาพ เพราะต้องยอมรับว่าเมสซี่มาจากทีมบาร์เซโลนา
ทั้งพรสวรรค์ทั้งกระบวนการทำให้เราได้เห็นนักกีฬาที่ดีที่สุดในโลกคนหนึ่งจากทีมบาร์เซโลนา
อันดับ 3 เลสเตอร์ซิตี้
เป็นทีมที่ทำให้คนไทยมีความสุข ให้คนไทยเป็นส่วนหนึ่งจริงๆ ของฟุตบอลอังกฤษ
และทำให้ได้รู้ว่าถ้าคนไทยตั้งใจทำอะไร เราก็ทำได้ เป็นสิ่งหนึ่งที่คนไทยเวลาไปอยู่แล้วไม่ได้ทำแค่ทีมฟุตบอล
แต่ทำให้สภาพแวดล้อมเมืองนั้นมีความสุขไปด้วย
ได้แรงบันดาลใจจากเทคนิควิ่งแบบญี่ปุ่น
“ผมกำลังทำโปรเจกต์เกี่ยวกับการวิ่งอยู่ครับ จากแพสชันส่วนตัวที่ผมอยากวิ่งมาราธอนให้ดีที่สุด กับอีกส่วนหนึ่งคือผมอยากถ่ายทอดเทคนิคการวิ่งแบบญี่ปุ่นที่ผมได้เรียนรู้ให้กับน้องๆ เยาวชนในเรื่องวิ่งให้ถูกต้อง เร็วขึ้น และมีประสิทธิภาพขึ้น
ผมเลยทำคลับชื่อ JM Running Club (Japanese Marathon Running Club) ขึ้นมา เพื่อให้เทคนิคการวิ่งแบบญี่ปุ่นกับคนไทย ซึ่งเป็นโปรเจกต์ที่ผมทำร่วมกับ โจ ฟุคุดะ (Jo Fukuda) นักวิ่งมาราธอนชาวญี่ปุ่น นักวิ่งเอเชียคนแรกที่เป็นสมาชิก NN Running Team ทีมเดียวกับเอเลียด คิปโชเก (Eliud Kipchoge) สุดยอดนักวิ่งมาราธอนชาวเคนยา เจ้าของสถิติโลกหลายรายการ หรืออีกนัยหนึ่ง JM Running ยังหมายถึงชื่อ Jo March ได้ด้วยครับ
ผมคุยกับโจว่าเราอยากให้ความรู้คนไทยในเรื่องการวิ่งในแบบฉบับของคนญี่ปุ่น เพราะตอนนี้มีคนสนใจวิ่งเยอะมาก จริงๆ ผมเคยเปิดกิจกรรมคลินิกรันนิ่งที่กรุงเทพฯ ไปแล้วครั้งหนึ่ง มีคนให้ความสนใจเยอะมาก ผมเลยจะเปิดกิจกรรมนี้อีกครั้งในช่วงเดือนกรกฎาคมและช่วงปลายปีครับ”
ทำไมต้องเป็นเทคนิคญี่ปุ่น?
มาร์ชอธิบายว่า จากการที่เขาเล่นฟุตบอลได้ไม่เต็มที่เหมือนเดิม จึงหาวิธีการออกกำลังกายอื่นทดแทน เขายังคงเล่นฟุตบอลเพื่อออกกำลังกายและได้ร่วมงานการกุศลอยู่เสมอ
เมื่อมีโอกาสได้มาร่วมกับโครงการของก้าวคนละก้าวฯ ทำให้ยิ่งสนใจการวิ่งมากขึ้น และยังเริ่มสนใจนักวิ่งประเทศอื่นๆ และได้เห็นว่าเวลามีแข่งมาราธอนรายการใหญ่ๆ มักจะเห็นนักวิ่งญี่ปุ่นติดระดับท็อปเสมอ จึงเกิดความสงสัยจนถึงขั้นเอาตัวเองออกไปเรียนรู้
“ผมเห็น โจ ฟุคุดะ จากรายการแข่งใหญ่ๆ และเกิดสงสัยว่าคนไทยกับญี่ปุ่นสรีระไม่ได้ต่างกันมาก แต่ทำไมเขาวิ่งมาราธอนได้เร็วกว่าเรา ผมเลยส่งข้อความไปหาโจแบบที่เราไม่เคยรู้จักกันมาก่อน ซึ่งเขาก็คงงง แต่ผมบอกว่า ผมชื่นชมเขา อธิบายให้ฟังว่า ผมเป็นคนสนใจเรื่องการวิ่งและอยากหาความรู้ ซึ่งเขาก็โอเคให้ผมมาเจอเขาที่ญี่ปุ่นได้เลย ผมเลยไปเรียนกับเขา เห็นกระบวนการซ้อม การฝึกที่ทำให้เขาเร็วขึ้น เลยอยากเอาสิ่งนั้นมาให้น้องๆ คนไทยวิ่งได้มีประสิทธิภาพที่ดีขึ้นในแบบญี่ปุ่นซึ่งผมได้เรียนรู้เทคนิคมาบ้าง อยากให้นักวิ่งไทยวิ่งเร็วขึ้นดีขึ้น อยากให้โลกรู้ว่าคนไทยเก่งและทำได้ เลยเป็นแรงไดร์ฟให้ผม”
เมื่อลงมือทำก็ย่อมคาดหวัง มาร์ชก็มองตัวเองเป็นส่วนเล็กๆ แต่คาดหวังยิ่งใหญ่กับโปรเจกต์ที่ทำและวงการกีฬาของไทยในอนาคต
“ผมเป็นส่วนเล็กๆ ที่มาเป็นทางเลือกหนึ่งในการพัฒนาตัวเอง ผมอยากให้น้องๆ และคนเล่นกีฬาใช้มันเป็นอาชีพสำหรับหาเลี้ยงครอบครัวได้ อยากให้กีฬากับการเรียนทำควบคู่กันไปได้ อยากให้พวกเขามีโอกาสและได้รับการยอมรับ สิ่งที่ผมได้เห็นจากญี่ปุ่นคือนักวิ่งที่วิ่งได้ดีเขาจะได้เรียนมหาวิทยาลัยฟรี ไปเป็นนักกีฬามหาวิทยาลัย และเมื่อเรียนจบจะมีบริษัทที่รับไปทำงาน เพราะเกือบทุกบริษัทเขาจะมีทีมกีฬาด้วย อาจแบ่งเวลาทำงานกับเล่นกีฬาให้ไปด้วยกันได้ แล้วชีวิตก็มีความสุข เสาร์อาทิตย์ก็อาจไปสอนเด็กๆ ที่ต่างจังหวัด ทำเป็น CSR ต่อไปเรื่อยๆ ซึ่งตรงนี้เมืองไทยยังไม่มีจริงจัง
อย่างน้อยผมอยากให้กีฬาเป็นส่วนหนึ่งของสังคม อยากเห็นการสนับสนุนของหน่วยงานต่างๆ เพราะผมว่ากีฬาไม่ได้แค่สร้างให้คนแข็งแรง แต่ยังสร้างให้คนมีคุณภาพ อย่างน้อยก็ห่างไกลจากยาเสพติด แล้วเราจะเป็นสังคมที่ดี มีสุขภาพดี เด็กๆ มีความรับผิดชอบมากขึ้น ผมว่ามันจะเป็นจุดเริ่มต้นของวงจรที่ดีของการพัฒนาคน ไม่ใช่ว่าผมเก่งหรืออะไรนะ ผมแค่ถ่ายทอดสิ่งที่ผมเห็นว่าที่ญี่ปุ่นเขาทำมาแล้ว”
แน่นอนว่าหลายคนคงมีคำถามว่า “ทำแล้วได้อะไร” และนี่คือคำตอบ
“ผมแค่อยากให้ความรู้ อยากแบ่งปันสิ่งที่ผมได้เห็น ผมทำแล้วได้ความสุขเป็นความสุขของเราข้างใน เหมือนเวลาเห็นนักกีฬาเราไปแข่งต่างประเทศและสู้เขาได้ครับ อีกอย่างผมอยากให้ทุกคนได้เรียนรู้ อย่างน้อยได้ออกกำลังกาย มีสุขภาพดี คือความตั้งใจที่ผมเห็นแล้วมีความสุขครับ”
นอกจากพรสวรรค์และโอกาสแล้ว สิ่งสำคัญที่ทำให้นักกีฬาประสบความสำเร็จได้คือวินัย ซึ่งมาร์ชได้พิสูจน์แล้วจากการฟิตหุ่นลงประกวดในกีฬาเพาะกายที่ต้องทุ่มเททั้งกายและใจ ซึ่งต้องเคร่งครัดชนิดไม่มีพักกันเลยทีเดียว
“ความที่ผมชอบเล่นกีฬา พอเล่นไปก็จะอิน แรกๆ ก็เข้ายิมปกติแล้วเราไปเจอโค้ชหนึ่ง วรกร ที่มาเป็นโค้ชฟิตเนสให้ผม เขาเป็นนักเพาะกายทีมชาติ เราเห็นเขาไปประกวดกัน ก็พูดเล่นๆ ขำๆ ถามอาจารย์ ผมพอจะไปประกวดได้ไหม โค้ชหนึ่งบอก…ลองดูเผื่อมันได้ ผมเลยเล่นไปเรื่อยๆ จนวันหนึ่งก็ลองสมัครดู คิดว่าเป็นครั้งหนึ่งในชีวิต แล้วไปประกวดเลยครับ (หัวเราะ)
ตอนนั้นประกวดในงาน Sport Expo 2017 ที่อิมแพ็ค อารีน่า มีผู้เข้าประกวด 50-60 คน ผมเข้ารอบ 15 คนสุดท้าย ก็ภูมิใจและคือที่สุดของผมแล้ว เพาะกายมันยากมาก มีสิ่งที่เราไม่เคยรู้มาก่อนเลยหลายอย่าง เข้าใจเลยว่ามันไม่ง่าย ต้องใช้เวลา มีกระบวนการที่ซับซ้อน ทั้งการกินการดูแลร่างกายที่ต้องมีวินัยมาก ตอนนี้เวลาเห็นคนไปประกวดเรารู้แล้วว่าเขาต้องทุ่มเทขนาดไหน ซึ่งผมก็ว่ากีฬาทุกประเภทต้องทุ่มเท แต่เพาะกายนี่สุดจริงๆ”
สุดท้ายแล้วไม่ว่ากีฬาชนิดไหน ความมีวินัย ความทุ่มเท และความสม่ำเสมอ ก็เป็นสิ่งสำคัญที่สุด แต่ถ้าหากอยากเรียนรู้เทคนิคการวิ่งแบบญี่ปุ่นที่มาจากนักวิ่งชาวญี่ปุ่นจริงๆ ก็ลองไปติดตามกิจกรรมนี้ได้
“สำหรับผู้ที่สนใจ JM Running จะมีกิจกรรมอยู่เรื่อยๆ แล้วก็อยากให้น้องๆ ที่สนใจเรื่องการวิ่งแบบญี่ปุ่น ก็อยากให้มาเรียนรู้ด้วยกันหรือจะมาคุยกันก็ได้ ตอนนี้ติดตามได้จากอินสตาแกรมส่วนตัวของผมชื่อ marchpubadint ซึ่งผมจะอัปเดตเรื่อยๆ ครับ”
เรื่องวิ่ง มาร์ช จริงจัง
สนามวิ่งมาราธอนที่อยากไปที่สุด
อันดับ 1 – โตเกียว มาราธอน
อันดับ 2 – ชิคาโก มาราธอน
อันดับ 3 – เบอร์ลิน มาราธอน
มาราธอนประทับใจที่สุด
โอซากา มาราธอน เพราะเป็นมาราธอนแรกในชีวิตและทำเวลาได้ดี
วิธีออกกำลังกายง่ายๆ สไตล์มาร์ช
ทุกเช้า วิ่งบนลู่ 30 นาที โหนบาร์ดึงข้อ ยกดัมเบล