Passion

พีรพงค์ ‘ตุ๊กตาไม้นายโถ’
ใช้ความสุขและความเศร้าเป็นแรงขับ

ภิรญา นริศชาติ 4 Dec 2024
Views: 515

Summary

“หนุ่ย” คือชื่อเล่นที่ได้มาแต่กำเนิด ส่วน “โถ” คือชื่อเรียกในคณะวิจิตรศิลป์และเป็นที่คุ้นชินคนทั่วไปของ พีรพงค์ บุญจันทร์ต๊ะ ผู้เปลี่ยนเศษไม้ในบ้านให้กลายเป็นตุ๊กตาน่ารักที่เต็มไปด้วยเรื่องราวและความรู้สึก จนเป็นที่รู้จักในนาม “ตุ๊กตาไม้นายโถ”

เห็นผลงานจากฝีมือ ‘แกะ’ และ ‘เสก’ ให้ไม้ท่อนกลายเป็น ‘บันทึก’ ความทรงจำอันมีค่า…ในรูปแบบของตุ๊กตาหลากหลายรูปแบบ ถ่ายทอดความปรารถนาดีและมีบุคลิกร่าเริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ่ายทอด “พลังคนไทย” ภายใต้วิถีชีวิตของชาวเหนือด้วย

Thaipower.co เลยอยากชวนทุกคนมาคุยกับ ‘พี่โถ’ – พีรพงค์ บุญจันทร์ต๊ะ แห่งกลุ่มตุ๊กตาไม้ บ้านลวงเหนือ (Ban Wooden Dolls) ที่เชียงใหม่ หนุ่มเหนือผู้ขอเรียกตัวเองว่าเป็น ‘ช่างไม้’ กับทางเดินที่เลือกแล้ว

“สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการทำงานไม้

คือผมมองหาสิ่งที่ดีที่สุดในสิ่งที่ธรรมดาที่สุด”

พีรพงค์ บุญจันทร์ต๊ะ
ผู้ประกอบการ ตุ๊กตาไม้นายโถ
กลุ่มตุ๊กตาไม้บ้านลวงเหนือ จ.เชียงใหม่

 

ต้นทุนศิลปะ

พี่โถเล่าย้อนไปในวัยเด็กที่เติบโตมาในชุมชนไทลื้อบ้านลวงเหนือ หลังเลิกเรียนต้องกลับมาช่วยครอบครัวเลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ ทำนา ทำสวน ด้วยความเป็นลูกคนเดียว เขาจึงมีต้นไม้และสัตว์เลี้ยงเป็นเพื่อน

“ตอนเด็กไม่ได้ชัดเจนว่าชอบอะไร แต่ชอบอิสระ พอโตมารู้สึกว่าชอบศิลปะเพราะวาดรูปแล้วได้เงิน  ได้เห็นพ่อแม่ทำงานเหนื่อย เสียเปรียบพ่อค้าคนกลาง เราก็อยากทำอะไรของเราเองด้วย”

เส้นทางสายอาร์ตของพี่โถเริ่มจริงจังตอนเรียน ม.3 มีรายได้พิเศษจากการรับร่มบ่อสร้างมาวาด ก่อนตัดสินใจเรียนต่อสาขาศิลปกรรม สถาบันเทคโนโลยีราชมงคลในขณะนั้น และสาขาประติมากรรม คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทางบ้านไม่ได้ขัดที่จะเรียนด้านนี้ ขอแค่เรียนให้จบ เพราะเมื่อเทียบกับหนุ่มๆ ซิ่งรถแถวบ้านแล้ว ทางนี้น่าจะดีกว่า พี่โถบอกว่าเขาไม่ใช่เด็กเรียน แต่รักเรียน รับผิดชอบกับการเรียนไปพร้อมๆ กับการทำงานพิเศษด้านศิลปะสำหรับไว้ใช้จ่ายโดยไม่เดือดร้อนครอบครัว หลังเรียนจบ พี่โถไปทดลองใช้ชีวิตอย่างคุ้มค่า เปิดใจทำงานทุกสายอาชีพ จนกระทั่งเผชิญประสบการณ์เฉียดตาย สิ่งสุดท้ายที่คิดถึงคือพ่อแม่ จึงตัดสินใจกลับบ้าน แล้วเริ่มมองหาอะไรทำ

“อาจารย์เคยสอนว่า ให้เริ่มจากสิ่งที่เรามี มีอะไรใช้สิ่งนั้น บ้านเรามีไม้เพราะเป็นบ้านสวน ไม้ที่เขาตัดทิ้ง กิ่งขนุน กิ่งมะขาม อุปกรณ์ก็มีเลื่อย สิ่ว สว่าน บางอย่างก็ดัดแปลงเองจากร้านวัสดุก่อสร้างแถวบ้าน พอเริ่มตัดๆ ขัดๆ ออกมาเป็นรูปเป็นร่าง ก็ทำบ้านให้เป็นสตูดิโอเล็กๆ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของตุ๊กตาไม้นายโถ”

 

ตัวแทนแห่งความทรงจำ

ความน่ารัก เป็นมิตร ยิ้มแย้มแจ่มใส ตัวอ้วนกลมน่าเอ็นดู คือจุดเด่นของผลงานจากตุ๊กตาไม้นายโถ

“มันเป็นมุมมองที่เรามองสัตว์เลี้ยง เราไม่ได้หวังอะไรมาก แค่อยากให้มันมีชีวิตอยู่ ไม่เจ็บป่วย ตัวอ้วนๆ สมบูรณ์แข็งแรง อยู่เป็นเพื่อนกันไปนานๆ วิธีที่เรามองมันหรือมันมองเรา มันเป็นแบบเดียวกัน คือเฟรนด์ลี่…ผมเลี้ยงสัตว์ ผมรักสัตว์ แต่มันคือความเจ็บปวด เวลาเห็นมันป่วย ตาย เห็นลูกหมูที่ผมเลี้ยงแล้วพ่อเอาไปขาย มันคือความคิดถึง กลายเป็นแรงขับทำให้เราสร้างตัวแทนของสัตว์เลี้ยงให้มันยังอยู่ มันคือสิ่งที่อยู่ในใจ ซึ่งคนทั่วไปไม่รู้ มันคือเรื่องเศร้ามาก เป็นมิตรภาพ ความรัก ได้เจอกัน มีความสุข แล้วพลัดพราก วนเวียนอยู่แบบนี้ ผมเพิ่งเข้าใจว่า ความสุขอยู่ไม่นาน ความเศร้าอยู่นานกว่าเพราะเราจดจำเรื่องเศร้าได้มากกว่า” คลิกอ่านเรื่องราวของตุ๊กตาไม้บันทึกความทรงจำดีๆ จากตุ๊กตาไม้นายโถได้ที่

 

เดินไปข้างหน้าพร้อมกองหนุน

พี่โถเริ่มแกะไม้ทำเป็นรูปร่างสัตว์ใกล้ตัวก่อน พวกสัตว์เลี้ยงในบ้าน โดยเฉพาะสุนัข แมว ควาย แล้วพาผองสัตว์ก่อตั้งแบรนด์ “ตุ๊กตาไม้นายโถ” พร้อมกับจดลิขสิทธิ์น้องๆ ทุกตัวและเพิ่มขึ้นทุกปีที่มีดีไซน์ใหม่ๆ ไม่นานตุ๊กตาไม้นายโถได้แจ้งเกิดด้วยผลงาน “วันเกิดลูกลิง” การันตีความน่ารักของเหล่าฝูงสัตว์น้อยใหญ่ด้วยการเป็นสินค้า OTOP ระดับ 5 ดาวในครั้งแรกที่ส่งประกวด การไปออกร้านที่เมืองทองธานีทำให้พี่โถรู้ว่า ลูกค้าที่แท้จริงของเขาอยู่ที่กรุงเทพฯ “ขายดีจนตกใจ ทำไปเท่าไรก็ไม่พอขาย”

“แบบแรกๆ ที่ทำ ตั้งใจแกะมาก ทำออกมาดูสมจริง ตุ๊กตาดูเครียดๆ และรายละเอียดเยอะ ตอนหลังได้ตั้งเป็นกลุ่มตุ๊กตาไม้บ้านลวงเหนือ มีลุงๆ ป้าๆ มาช่วย พอสังเกตว่าถ้าตัวที่ 2 – 3 เริ่มไม่เหมือนต้นแบบ แสดงว่ายากเกินไป ต้องปรับแบบไปเรื่อยๆ ให้เหมาะกับสกิลของสมาชิก”

สมาชิกของกลุ่มตุ๊กตาไม้บ้านลวงเหนือ มีกันประมาณ 10 กว่าคน หมุนเวียนกันมาทำงานยามว่างจากการทำนาทำสวน คุณสมบัติไม่มีอะไรมากเพียงแต่ต้องปรับมุมมองให้เข้าใจตรงกัน ซึ่งผู้ชายส่วนใหญ่จะมีต้นทุนทักษะงานไม้อยู่บ้างจากการเหลาคันเบ็ดและทำเครื่องมือการเกษตร

 

ทำความรู้จักกับตุ๊กตาไม้นายโถ

• ไม้ที่ใช้ส่วนใหญ่มาจากต้นพญาสัตบรรณหรือต้นตีนเป็ด
เนื้อไม้หยาบสีอ่อนสม่ำเสมอ ไม้เนื้ออ่อนแต่เหนียว ง่ายต่อการทำงาน

• กว่าจะเป็นตุ๊กตาไม้: ร่างแบบลงบนไม้ ฉลุ เลื่อย ตัด
ขัดผิวให้เนียนเรียบ ทำความสะอาดพื้นผิวก่อนลงสีพื้น
ระบายสีตามคาแรกเตอร์ของแต่ละตัว

• ตุ๊กตาสัตว์เกือบทุกตัวจะประกอบด้วย หัว ตัว และหาง
โดยทั้ง 3 ส่วนจะมีข้อต่อสามารถหมุนได้

งานทำมือที่ต้องทำความเข้าใจ

ในยุคที่คนหันมาสนใจงานคราฟต์มากขึ้น พี่โถมองว่างานคราฟต์คือส่วนผสมที่พอเหมาะพอดีระหว่างเครื่องมือที่ไม่ได้ไฮหรือโลว์เทคมากนัก คือความจำเพาะของแต่ละพื้นที่ในเรื่องของวัตถุดิบและเครื่องมือ แล้วถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกของช่างไม้ออกมา “ตราบใดที่มันคือความพอดี เรามีแรงทำและลูกค้ายังต้องการซื้องานเราอยู่ ก็จะทำไปเรื่อยๆ”

แต่การทำงานคราฟต์ที่มีปริมาณเยอะต้องอาศัยความเข้าใจกันทั้งสองฝ่ายระหว่างคนทำและคนซื้อ  พี่โถบอกว่างานแฮนด์เมดหรืองานคราฟต์ต้องใช้เวลาและการรักษาคุณภาพไปพร้อมๆ กัน ปัญหาเรื่องทีมงานที่มีความหลากหลายของอายุและทักษะ บางครั้งทำไม่ทัน หลุด Quality control เพราะเราไม่ใช่งานแมส บางครั้งออร์เดอร์เข้ามาหลายราย ซึ่งสำคัญหมด จึงต้องต่อรอง พูดคุยกันตรงๆ สุดท้ายคือการเรียนรู้และปรับตัวเป็นกรณีไป

 

วิธีเติมไฟในการทำงาน

และหาแรงบันดาลใจฉบับนายโถ

• เวลาเหนื่อยหรือคิดอะไรไม่ออก
แค่นั่งพัก คุยกับตุ๊กตาของเราบ้าง
หรือหลับไปก่อน ตื่นแล้วค่อยลุยต่อ

• ดูงานคนอื่นได้ แต่ไม่ลอกเลียนแบบ
เพียงแต่ต้องรู้จักหยิบจับของบางอย่างจากหลายๆ แหล่ง
มาผสมกันอย่างละนิดละหน่อยในสัดส่วนที่ไม่มากเกินไป

• การเข้าโครงการอบรมพัฒนาต่างๆ ช่วยได้มาก
นำโจทย์ที่ได้รับผสานกับต้นทุนที่เรามี
เกิดเป็นความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ ขึ้น

หนึ่งในโจทย์ที่ได้รับคืออัตลักษณ์ล้านนา เป็นที่มาของตุ๊กตาไทลื้อเพนต์ลายผ้าสีดำแดงลงบนตัวตุ๊กตา แล้วพัฒนามาเป็นช้างสวมชุดไทลื้อซึ่งเข้าตา คิง เพาเวอร์ ตั้งแต่นั้นมา ตุ๊กตาไม้นายโถก็ได้ออกไปเฉิดฉายให้คนทั่วโลกได้ซื้อกลับไปเป็นของฝากของที่ระลึก นอกจากตุ๊กตาไม้นายโถจะมีช่องทางการจัดจำหน่ายเพิ่มมากขึ้นแล้ว พี่โถยังบอกอีกว่าเหมือนตัวเองมี “สังกัด” แถมส่งเสริมภาพลักษณ์ให้ดูดี เพราะ คิง เพาเวอร์ ช่วย    โพรโมตเต็มที่ ทำให้เป็นที่รู้จักมากขึ้นไปอีก

สิ่งที่ได้จากการทำงานไม้

“เสน่ห์ของงานไม้ มันมีสัมผัส มีอารมณ์ของเครื่องมือ เป็นเสน่ห์ของงานคราฟต์ งานแต่ละที่มี DNA ของตัวเอง เราเองก็มีคาแรกเตอร์ของเรา”

ประสบการณ์การทำงานไม้มากกว่า 20 ปี พี่โถบอกว่า เวลาได้ไม้ซุงมา 1 ต้น ต้องหาไม้เกรด A ก่อน ซึ่งหมายถึงเนื้อทางตรง ไม่มีตำหนิ ไร้รอยแยก หลังจากนั้นค่อยไล่ระดับความสวยรองลงมา ขนาดจะเล็กลงตามลำดับ “สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการทำงานไม้คือ มองหาสิ่งที่ดีที่สุดในสิ่งที่ธรรมดาที่สุด ผมมองหาคุณค่าของชีวิต เริ่มฟังธรรมะ เริ่มแกะไม้ที่เฉพาะมากขึ้น ล่าสุดผมแกะท่านพุทธทาส ในหลวง อนาคตก็อยากจะแกะบุคคลสำคัญๆ”

ภาพจาก ตุ๊กตาไม้นายโถ

 

พี่แนะน้อง สไตล์นายโถ

• เทคนิคงานไม้ของพี่โถไม่ได้พิเศษไปกว่าช่างไม้ทั่วไป
แต่ความใส่ใจมาอันดับต้นๆ

• ใช้ไม้อย่างคุ้มค่า เศษไม้ทุกชิ้นที่เหลือจากการประกอบร่างแล้ว
รวมทั้งขี้เลื่อย ยังสามารถเก็บไว้ใช้กับงานชิ้นต่อๆ ไปได้อีก

• สำหรับคนที่กำลังมองหาแพสชัน อาจไม่ต้องหาสิ่งที่ชอบ
แต่ให้ตัดสิ่งที่ไม่ใช่ออกไปก่อน

• รู้จักเครื่องมือของตัวเองให้ดี รู้ว่ามีอะไรแล้วใช้ให้เป็น

• หาคาแรกเตอร์ของตัวเองให้เจอ เพราะมันคือตัวตนของเรา

 

ตุ๊กตาไม้นายโถ (กลุ่มตุ๊กตาไม้บ้านลวงเหนือ) MR.THOW WOOD CRAFT DOLLS

83 หมู่ 4 บ้านลวงเหนือ ตำบลลวงเหนือ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ 50220
โทร. 06-1810-9993

 

FACEBOOK: MR.THOW WOOD CRAFT DOLLS 

INSTRGRAM: MR.THOW WOOD CRAFT DOLLS 

 

ข้อมูลสินค้าเพิ่มเติมที่ตลาดพลังคนไทย

คลิก: MR.THOW WOOD CRAFT DOLLS

 

สนใจสินค้าพลังคนไทย สามารถสนับสนุนได้ที่ คิง เพาเวอร์ ทุกสาขา

Author

ภิรญา นริศชาติ

Author

นักเขียนอิสระที่โตมากับนวนิยายของแก้วเก้า ยังคงจดบันทึกลงสมุด และทำงานกล่องดนตรีที่รัก เพราะเชื่อว่าแรงบันดาลใจสำคัญพอๆ กับจินตนาการ

Author

ภูมิ นริศชาติ

Photographer

อดีตรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิตที่จับกล้องมากกว่าจับปากกา เป็นช่างภาพอิสระตั้งแต่ยุคฟิล์มและแมกกาซีนรุ่งเรืองในขีดสุด