Summary
วงเจ้าถิ่นในสนามออดิชันภาคใต้นาม นีโอ แบนด์ จากโรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัย 2 กับสมาชิก 12 คน ที่ต่างนิสัย ทิศทางดนตรี และชั้นเรียน มารวมตัวเล่นดนตรี เพื่อค้นหา “ประสบการณ์ใหม่ๆ” บนเวที THE POWER BAND 2023 SEASON 3 “It’s Possible, Music Makes Life Possible…พลังแห่งดนตรี พลังแห่งทุกความเป็นไปได้” โดย วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ และ คิง เพาเวอร์ ไทย เพาเวอร์ พลังคนไทย
ความที่ นีโอ แบนด์ เป็นวงที่ลงแข่งในคลาส A และได้รับคำชมจากคณะกรรมการอย่างมาก เราถึงได้เห็นว่าเด็กๆ วงนี้ “มีของ” โดยเฉพาะนักร้องของวง ที่เห็นแววของนักร้องแนวดีวาทาบร่างมาแต่ไกล
แม้ผลการแข่งขันจะทำให้เด็กๆ พลาดตั๋วไปกรุงเทพฯ ด้วยยังเป็น “มือใหม่” แต่ด้วยเอนเนอร์จีล้นเหลือๆ นั้น มีเรื่องราวระหว่างทางที่ทำให้เราต้องพา นีโอ แบนด์ มาทำความรู้จักผ่านสมาชิกทั้ง 5 ประกอบด้วย ออม – พิชญาภา เหล็มรุย (นักร้อง) เธียร – พีรพัชร์ แพทย์พงศ์ (กลองชุด) ลีโอ – พีรภัทร์ รักนิ่ม (ทรัมเป็ต) การ์ตูน – ณัฏธิดา ขุมเงิน (คอรัส) มะเหมี่ยว – ศศิฉาย ไชยฤทธิ์อ (คีย์บอร์ด) และ โฟล์ค – ชวกร ปิยภาณีกุล (เบส) เป็นตัวแทนวงมาพูดคุยกัน
“ดนตรีทำให้เรามีเพื่อน ทำให้เราเปิดกว้าง เราเคยไม่มีเป้าหมายชีวิต ไม่มีความฝัน
แต่พอได้เล่นดนตรีเลยรู้ว่าเราชอบดนตรีแล้วเราอยากทำอะไร”
วง Neo Band โรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัย 2 (สงขลา)
THE POWER BAND 2023 สนามสงขลา
การ์ตูน: นีโอ คือคำว่า “ใหม่” พวกเรา 12 คนเพิ่งได้รวมตัวกันในปีนี้เป็นครั้งแรกเลยฟอร์มวงใหม่เลยใช้ชื่อนี้ค่ะ
Thaipower.co: ด้วยวัยที่ต่างกัน ปรับตัว หรือละลายพฤติกรรมเข้าหากันยังไง?
การ์ตูน: เวลาซ้อมเสร็จ วงจะคุยกันว่าวันนี้ใครเล่นเป็นยังไง ภาพรวมซ้อมเป็นยังไง ทำให้เรากล้าที่จะ คอมเมนต์เพื่อนในแต่ละเซ็กชัน กล้าพูดคุยกันมากขึ้น
ออม: การปรับตัวเข้าหาเพื่อนๆ มันทำให้ออมก้าวข้ามความเป็นอินโทรเวิร์ตของตัวเอง การได้ละลายพฤติกรรม มันทำให้หนูกล้าพูด กล้าให้ความคิดเห็น กล้าที่จะไปทักทายกับเพื่อนมากขึ้น ได้ปรับตัวเองเข้าสังคมไปด้วยค่ะ
เธียร: ผมเคยมาจากวงโรงเรียนอื่น พอมาเข้าโรงเรียนนี้ก็ต้องปรับตัวหลายอย่าง เพราะแนวการเล่นดนตรีหลายๆ อย่างไม่เหมือนกัน แต่ผมเป็นคนชอบเข้าสังคมอยู่แล้วก็เลยไม่มีปัญหาครับ
ลีโอ: ผมเคยอยู่วงลูกทุ่งมาก่อน พอมาอยู่ นีโอ แบนด์ มันก็เป็นความแปลกใหม่ สนุกดีครับ
การ์ตูน: ตอนเข้ามา หนูกังวลว่าจะเข้ากับเพื่อนไม่ได้ หนูก็พยายามที่จะสนิทให้ครบทุกคน มีอะไรก็เลยจะพูดกันเลย หรือวิธีร้องเพลง ใครเรียนมาก็จะเอามาแชร์กันค่ะ
มะเหมี่ยว: อย่างที่รู้ว่าพี่ออมเป็นอินโทรเวิร์ต หนูเลยต้องพยายามสนิท เพื่อจะได้คุยกับพี่เขาตรงๆ ให้ได้ เพราะมีท่อนที่หนูต้องเล่นกับพี่เขาสองคน เราเลยต้องคุยให้เข้าใจกัน
Neo Band ชอบฟังเพลงอะไรกัน
ออม: “Glimpses Of Us” และ “Slow Dancing In The Dark” ของ Joji…
เป็นเพลงสื่ออารมณ์ที่ฟังแล้วอยากจะจับไมค์ขึ้นมาร้องเดี๋ยวนั้นเลย
เธียร: “ขี้หึง” ซิลลี่ ฟูลส์…โซโลกีตาร์เพลงนี้ฟังแล้วมันได้ฟีลไปกับเพลง
ลีโอ: “รักเก่าๆ” Soul After Six …ชอบที่สเตปโซโลของเพลง
[suggestion]
เชื่อมมิตรภาพและการเดินทางของวงด้วยคำว่าดนตรี
ในความเป็น “เพื่อนร่วมวงใหม่” เรื่องยากสุดคือเปิดใจรับนิสัยของกันและกัน ถ้าไม่มี “ดนตรี” คงยากที่จะคลิกกันขนาดนี้
ออม: เมื่อก่อนหนูบั่นทอนตัวเองมากๆ ไม่กล้าสร้างความแปลกใหม่ในโลกของตัวเอง แต่หนูมีอายุ 14 15 16 แค่ครั้งเดียว เลยอยากจะก้าวข้ามความกลัว ให้มันสร้างอนาคตให้หนูดีกว่าจะมานั่งนิ่งๆ ร้องเพลงเก็บตัวอยู่คนเดียวค่ะ
ลีโอ: ตอน ป.4 ผมก็เริ่มเล่นทรัมเป็ต ก็เล่นทั้งกับวงลูกทุ่ง แล้วก็วงโยธวาทิต พอขึ้น ม.1 รู้สึกไม่อยากจะเป่าแล้ว รู้สึกว่าจะเป่าไม่ได้อีกแล้ว พอได้เห็นวงเล่นกันสนุกเลยอยากสมัคร พอได้มาอยู่ที่วงก็รู้สึกดีเพราะปรึกษากันได้คุยกันได้หมด
โฟล์ค: แรกๆ ผมก็ไม่ได้สนใจเรื่องดนตรีอะไรมาก อยากเล่นบอลไปเรื่อยๆ พอเพื่อนมาชวนผมก็ลองไปเล่นดู ตอนแรกไม่มีพื้นฐานการเล่นเบสเลย แต่อ่านโน้ตได้ ครูเลยจับมาปั้นครับ
หลอมทีมเวิร์กให้แข่งแกร่งด้วยการเปิดใจ
เมื่อสมาชิกครบ สิ่งที่จะทำให้วงกลายเป็นทีมเวิร์กให้เร็วที่สุดคือการ “เปิดใจคุยกัน” พวกเขาใช้ระยะเวลาราว 2-3 เดือน หลอมลมหายใจให้เป็นหนึ่งเดียว จากนั้นก็คือการมุ่งมั่นกับการซ้อมจนฝีมือเข้าล็อก
ออม: ในจุดที่รวมกันเป็นหนึ่ง ครูจะใช้วิธีให้พวกเราวิจารณ์กันเองค่ะ
เธียร: ถ้าพูดแล้วต้องรับฟังกันได้ ถ้าฟังกันไม่ได้วงก็จะไปต่อไม่ได้
TP: พอมันคลิกกันแล้ว ความสนุกในบรรยากาศการเล่นดนตรีเป็นยังไงบ้าง?
เทียน: มันสนุกมากขึ้นครับ เรากล้าเล่นอะไรมากขึ้น
ออม: กล้าเต้นด้วยค่ะ
เธียร: คือเราไปโฟกัสกับเรื่องโน้ตมากจนลืมสนใจเรื่องเอนเตอร์เทน
การ์ตูน: มันเลยขาดฟีลลิ่งในการเล่น ครูเลยมาจับเขาคุย มีเป็นการคุยส่วนตัวกับบางคนบ้าง แล้วก็ให้มาคุยกันต่อหน้าในวง ใครรู้สึกยังไงอยากจะพูดอะไรบ้าง พูดเลย
Neo Band ชอบฟังเพลงอะไรกัน
การ์ตูน: “นิทาน” มัสคีเทียร์ …ถ้ามีฝันทำยังไง เราต้องคว้ามาให้ได้
มะเหมี่ยว: “นอนหน่อยไหม” ของ Anatomy Rabbit”… ฟังแล้วรู้สึกรักตัวเอง
โฟล์ค: “รักแรกพบของ” วง Tattoo Colour และ “คุกเข่า” วง Cocktail …ฟังแล้วสบายหู
Suggestion
กายพร้อม ใจพร้อม ฝีมือพร้อม แล้วมุ่งหน้าสู่การประกวดเวที THE POWER BAND 2023
ถึงจะประกวดเป็นปีแรก แต่ นีโอ แบนด์ ก็เตรียมตัวกันมาอย่างดี
เธียร: อันดับแรกเราก็จะเลือกเพลงกันก่อน ครูก็จะแนะนำเพลงแล้วก็เลือกโน้ต โน้ตบางตัวที่เล่นไม่ได้เราก็พยายามอะแด็ปให้มันง่ายขึ้น เพื่อให้เข้ากับเพลงอะไรอย่างนี้ครับ
TP: เพลง Lavender (แพทริคอนันดา) กับ รักโกรธ (Season Five) เลือกมาประกวดด้วยเหตุผลอะไร?
ออม: ความหมายของดอกลาเวนเดอร์ เขาว่าเป็นดอกไม้แห่งการรอคอย พอต้องการเป็นเพลงช้า ก็พยายามคิดว่าเพลงไหนจะช่วยบิลต์อารมณ์ หรือเข้ากับการใช้ชีวิตประจำวันของแต่ละคนได้ดีที่สุด เลยเลือกเป็นเพลงนี้
มะเหมี่ยว: ส่วนเพลง รักโกรธ เป็นเพลงที่สนุกแต่อกหัก เป็นเพลงเร็วที่น่าจะใส่เรื่องของอารมณ์ได้ แล้วเป็นเพลงที่แต่งใหม่ได้ง่าย พอเล่นด้วยกันแล้วมันเป็นทีมเดียวกันค่ะ
เธียร: เราอะเรนจ์ให้โซโลมันมีความแปลกใหม่มากขึ้นด้วยครับ เน้นคีย์บอร์ดกับพวกเครื่องเป่าที่เป็นตัวชูโรงของวงเรา เพลงจะได้มีไดนามิกมากขึ้น
ให้ดนตรีพาไปสู่ความเป็นไปได้ในชีวิต
ชัยชนะในการแข่งขันอาจะเป็นเรื่องของกำไรที่ปลายทาง แต่เรื่องราวระหว่างทางคือสิ่งที่ นีโอ แบนด์ กอบโกยความสุขจากการรวมตัวกันได้เป็นกอบเป็นกำ และประสบการณ์ในวัยนี้ ใครก็พรากเอาไปจากพวกเขาไม่ได้
Suggestion
ประสบการณ์ดีๆ จากเวทีประกวดนี้
• จะเพิ่มไลน์คอรัส และไลน์การร้อง
ให้มีความกลมเกลียวมากขึ้น จะได้ดียิ่งขึ้นไปอีก
• จะกล้าขอกับทีมผู้จัดมากขึ้น
เพราะจูนเสียงมอนิเตอร์ยังไม่เข้าที่ ทำให้เสียงกลองไม่ดัง
• จะฝึกเอนเตอร์เทนมากขึ้น
ไม่โฟกัสแค่การเล่นดนตรีอย่างเดียว ภาพรวมการเล่นจะได้สนุกสนานและเป็นหนึ่งเดียว
• จะนำคำแนะนำจากกรรมการไปใช้
ปรับปรุงแล้วมาแข่งใหม่ในปีหน้า
ออม: ดนตรีพาหนูไปเจอกับคำว่าเพื่อนค่ะ ยอมรับว่าหนูเป็นคนมีเพื่อนน้อย แต่ตอนนี้หนูรู้สึกว่าหนูไม่ได้อยู่คนเดียวแล้ว
เธียร: ผมเคยไม่มีเป้าหมายชีวิต ไม่มีความฝัน ไม่มีอาชีพที่ชอบ แต่พอได้เล่นดนตรีเลยรู้ว่าเราชอบดนตรีเราอยากทำอะไร
ลีโอ: ดนตรีทำให้ผมเปิดกว้าง ยังมีวงอื่นๆ ที่เก่งกว่าเรา และทำให้รู้ว่าเรามีความสามารถพิเศษอย่างหนึ่งที่เราทำได้
การ์ตูน: หนูได้ติดตามผลงานของนักร้องที่บังเอิญว่ามาแข่งในรายการนี้ด้วย ก็คือ ปิ๊งปิ๊ง (รัสริณณ์ พัฒนพล) วง I Love Wednesday หนูดูเขามานานมาก ชอบเขามาก มันทำให้หนูได้มีโอกาสรู้จักเพื่อนต่างโรงเรียน
มะเหมี่ยว: หนูมีโอกาสได้รู้จักกับเพื่อนต่างวงหลายคนที่มาจากโรงเรียนอื่น พอมาเจอกันในรายการนี้ก็เหมือนเขาก็เชียร์วงเรา เราก็เชียร์เขาด้วย มันเป็นการเปิดประสบการณ์ใหม่ๆ ทำให้รู้ว่านี่คือตัวเราที่สนุกกับการเล่นดนตรี
โฟล์ค: ดนตรีทำให้ผมเจอโอกาสหลายๆ อย่างในชีวิตเลยครับ