Passion

สุนันทา หอมหวล
พลิกปมในอดีต สู่เส้นทางสายกีฬาหนังสติ๊กไทย

วรากร เพชรเยียน 19 Aug 2024
Views: 581

Summary

พูดคุยกับคุณนัน – สุนันทา หอมหวล นักกีฬายิงหนังสติ๊กคนไทย คนรุ่นใหม่ที่ยังคงสืบสานกีฬาพื้นบ้านกับความรักในกีฬายิงหนังสติ๊กที่เริ่มต้นจากปมตอนเด็กหญิงผู้เคยทำง่ามไม้สำหรับยิงหนังสติ๊กหัก…สู่การเป็นนักกีฬาเต็มตัว

มือหนึ่งจับง่ามไม้ อีกมือดึงสายหนังสติ๊กให้มั่น เล็งให้แม่นแล้วปล่อยมือ เป้าที่ล้มลงแต่ละแผ่นคือสัญญาณของความสำเร็จที่ใกล้เข้ามา ท่ามกลางสายตาผู้ชมนับร้อย ผู้ที่เตรียมพร้อมมากที่สุดในวันนั้นคือผู้ชนะ.

วันนี้เราได้มีโอกาสมาคุยกับคุณนัน – สุนันทา หอมหวล นักกีฬายิงหนังสติ๊ก ที่ล่าสุดเธอได้ไปร่วมรายการ The Power Gang EP. 8 ตอน “เจอ 2 เซียนหนังสติ๊กขั้นเทพ…สุดแม่น!” ที่พาเราไปทำความรู้จักกีฬายิงหนังสติ๊ก กีฬาที่หลายคนเคยเห็นเวลาไปเที่ยวงานวัดหรืองานประเพณีต่างๆ แต่น้อยคนจะรู้ว่า “หนังสติ๊ก” เป็นกีฬา! โดยกีฬาชนิดนี้มีการแข่งขันจริงจังและอบอวลไปด้วยเสน่ห์ในทุกแง่มุม และแม้จะเป็นกีฬาที่สวยงามเพียงใด ก็ยังขาดสิ่งที่สำคัญ คือผู้เล่นรุ่นใหม่ เพื่อขับเคลื่อนให้กีฬายิงหนังสติ๊กนี้ได้รับความสนใจและยังคงอนุรักษ์ต่อไป…

 

“ตราบใดที่เรายังไม่ลอง จะไม่รู้ว่าเราชอบหรือไม่ชอบ

เราไม่รู้คำตอบหรอกว่าสิ่งนั้นเหมาะกับเราหรือเปล่า

มันใช้ได้ในทุกๆ เรื่องของชีวิตเลย ไม่ใช่แค่เรื่องการยิงหนังสติ๊ก

สุนันทา หอมหวล
นักกีฬายิงหนังสติ๊ก

 

ตะกร้าละ 10 บาท จุดเริ่มต้นสู่กีฬายิงหนังสติ๊ก

ก่อนจะมาเป็นนักกีฬายิงหนังสติ๊ก คุณนันเล่าว่าเธอไม่ได้เล่นกีฬาชนิดไหนจริงจังมาก่อนเลย แต่สิ่งที่ทำให้หันเข้าหากีฬาชนิดนี้คือตอนที่เธอได้ไปงานวัดและเห็นซุ้มยิงหนังสติ๊กในงาน ลูกกระสุนที่ชาวบ้านปั้นถูกจับใส่ตะกร้าขายตะกร้าละ 10 บาท

“จุดเริ่มต้นคือเราอยากทำบุญ เห็นเขาขายตะกร้าละ 10 บาท แล้วก็เอาเงินเข้าวัด เราก็เลยไปยิง แต่พอยิงโดนเรารู้สึกว่าเราทำได้ เราสะใจแล้วมันก็สนุก ก็เลยเป็นจุดเริ่มต้นของการไปยิงทุกวัน” จากตะกร้าละสิบบาท เธอเสียเงินไปราววันละประมาณ 500 บาท ไปทุกวันรวม 5 คืน

หลังจากลองเล่นแล้วติดใจเธอจึงเริ่มตามหากลุ่มคนที่ชอบยิงหนังสติ๊ก จนไปเจอกลุ่มน้าๆ ลุงๆ ที่ชอบเล่นจึงไปเรียนรู้ เก็บเทคนิคเรื่อยมาจนเริ่มลงแข่งจริงจังช่วงอายุ 29 ปี “ตอนนั้นเราลงแข่งแล้วรู้สึกสนุก พอเราทำได้ เราได้เงิน ก็เลยเริ่มที่จะหาที่ลงแข่งมาเรื่อยๆ” แต่ละครั้งที่จะลงแข่ง คุณนันจะใช้เวลาประมาณหนึ่งสัปดาห์เพื่อฝึกซ้อมเสมือนจริง ฝึกยิงเป้าในระยะต่างๆ ตามกติกาของการแข่งขันนั้นๆ

ภาพจากคุณสุนันทา

 

 อะไรคือสิ่งที่เป็นความกดดันที่สุดของกีฬาชนิดนี้?

“เวลาซ้อม เราจะรู้สึกว่าตัวเองแม่นมาก 15 เป้าเรายิงได้หมดเลย แต่พอเราไปแข่งจริงๆ มันมีสายตาของคนรอบข้างทุกคนจ้องมาที่เราคนเดียว และผู้แข่งขันจะต้องยิงทีละคน ในสิ่งที่เราคิดว่าตัวเองทำได้แล้ว คนที่ลงแข่งเขาก็ทำได้เหมือนกัน เลยเป็นความกดดันที่สามารถทำให้เรายิงพลาดได้”

ชวนนักกีฬาคุย

อธิบายการแข่งขันที่เคยเล่นสั้นๆ:

ในการแข่งขันจะมีให้ยิงสามระยะแล้วแต่การแข่งขันนั้นๆ อาจจะเป็น 6-7-8 หรือ 8-10-12 เมตร ซึ่งการแข่งขันที่จังหวัดชลบุรีจัดจะเป็นการยิงระยะละ 5 เป้า รวม 15 แต้ม ใครยิงได้คะแนนมากที่สุดก็จะเป็นผู้ชนะ”

ภาพจากคุณสุนันทา

 

กีฬาไทยๆ ที่มีเสน่ห์ทุกแง่มุม

ปัจจุบันกีฬายิงหนังสติ๊กไม่ได้ถูกจัดเป็นการแข่งขันในการแข่งขันรายการใหญ่ๆ แต่ก็ยังมีการแข่งขันที่คนจากกลุ่มคนรักการยิงหนังสติ๊กจัดขึ้นตามสถานที่ จังหวัดต่างๆ มีถ้วยรางวัลและเงินรางวัล นอกจากนี้ยังมีการแข่งออนไลน์ให้คนรักกีฬายิงหนังสติ๊กจากทั่วโลกเข้าร่วมได้

“จะมีการยิงแบบออนไลน์ จากเวียดนามหรือฝรั่งแถบยุโรปเข้าร่วม และมีคนไทยซึ่งยังถือว่ามีจำนวนน้อยอยู่ แต่ละประเทศก็จะเอาง่ามของตัวเองมาลงแข่ง มีโจทย์ กติกา ระยะยิง และขนาดเป้า” คุณนันยังเล่าให้ฟังด้วยว่า ง่ามไม้แต่ละแบบก็มีวิธีและระยะหวังผลต่างกัน ง่ามไทยระยะยิงปกติที่หวังผลได้จะอยู่ที่ 8 เมตร หากไกลกว่านั้นต้องใช้การกะระยะโค้งให้ลูกโดนเป้าพอดี

นอกจากความท้าทายแล้ว กีฬายิงหนังสติ๊กยังมีเสน่ห์อีกหลายมุม “ไม่ว่าจะท่ายืนหรือการเล็ง ร่างกายของเราคือปืน เวลาที่เราปล่อยลูกกระสุนออกไป ถ้าเราไม่นิ่ง มือไม่นิ่งมันก็ออกไม่โดนเป้า เพราะฉะนั้นเวลาเรายิงต้องมีสมาธิกับมันมากๆ”

อีกหนึ่งเสน่ห์ของกีฬาชนิดนี้ยังเป็นการที่คนทุกรุ่น ทุกอายุ และทุกเพศสามารถเล่นได้ สิ่งสำคัญที่ผู้เล่นจะได้รับและต้องมีการสมาธิ เป็นเหตุผลที่ทำให้คุณนันอยากส่งเสริมให้กีฬาชนิดนี้เป็นที่รู้จัก จนเธอลงมือทำสนามฝึกซ้อมยิงหนังสติ๊กเอง

ภาพจากคุณสุนันทา

“พอรู้สึกว่าเราทำได้ เราคิดว่าคนอื่นก็ทำได้เหมือนกันก็เลยลงทุนทำสนาม แต่ว่าไปขอใช้พื้นที่ของทางวัดราษฎร์ศรัทธา (วัดท้ายดอน) เพื่อให้เด็กได้มีโอกาสมาเล่น อย่างน้อยเด็กๆ จะได้ไม่ต้องติดเกม มั่วสุมกัน”

การส่งเสริมให้กีฬายิงหนังสติ๊กเป็นที่รู้จักมากขึ้นยังส่งผลดีไปถึงการสนับสนุนผลงานง่ามไม้ทำมือของช่างทำง่ามไทยด้วย ซึ่งง่ามแต่ละง่ามมีรายละเอียดที่แตกต่างกันและสามารถมีราคาสูงได้ถึงหลักพันหรือหลักหมื่นเลย

 

ชวนนักกีฬาคุย

คุณสมบัติที่นักยิงหนังสติ๊กที่ดีควรมี:

“หนึ่ง คือ การฝึกฝน สอง คือ ความสม่ำเสมอในการซ้อม
แล้วถ้าเป็นในมุมของที่เราอยากจะถ่ายทอดให้คนอื่น
นันคิดว่าอย่างแรกเลยคือไม่ควรหวงวิชา การแชร์ข้อมูลของนันไม่ได้บอกว่าคนอื่นเอาไปทำ
แล้วเค้าจะทำได้เหมือนร้อยเปอร์เซ็นต์ เขาอาจจะทำได้ดีกว่านันก็ได้”

เกมสุดท้าทายใน The Power Gang

“สาเหตุที่ตกลงไปร่วมรายการทันทีเพราะว่าเราจะได้ลูกบอลเป็นรางวัลมามอบให้เด็กๆ ด้วย ซึ่งในเขตชลบุรีจะมีโรงเรียนที่ค่อนข้างต้องการการสนับสนุนเรื่องลูกบอล ราคาลูกบอลดีๆ ก็ค่อนข้างสูงก็เลยตัดสินใจตกลง ประกอบกับทาง King Power สนับสนุนในเรื่องกีฬาให้กับเด็กๆ อยู่แล้วด้วย”

การไปร่วมรายการ The Power Gang ในครั้งนี้เธอเป็นตัวแทนนักกีฬาหนังสติ๊กแบบไทย อีกทั้งยังได้ทำชาเลนจ์สุดท้าทาย คือการยิงหนังสติ๊กให้โดนลูกโป่ง ซึ่งเป็นเกมที่เธอบอกว่ายากมากๆ “เวลาที่ยิงออกไป ลูกกระสุนค่อนข้างลื่นแล้วก็เม็ดใหญ่ ฉะนั้นเวลายิงออกไปมันไม่เจาะลูกโป่ง ต้องเน้นมากๆ ที่ตรงกลางลูกที่มันโป่งมากที่สุดเพื่อให้แตก” นอกจากนี้เธอยังได้ลองท้าทายตัวเองด้วยการยิงเป้าขนาดเล็กในระยะ 7 เมตรด้วย

“เราเห็นง่ามเวียดนามทำได้ ง่ามไทยก็ต้องทำได้สิ เราเลยได้ยิงในระยะ 5-6-7 เมตร ไล่ระยะมาจากปากกามาร์กเกอร์ ยางลบ และอันสุดท้ายคือคลิปหนีบประดาษ เรายิงเป้าขนาดที่เล็กหมดเลยแล้วมันก็ทำได้จริงๆ ขอแค่เราเข้าใจมัน”

คุณนันเล่าว่านี่เป็นอีกครั้งหนึ่งที่สานต่อความตั้งใจที่อยากเผยแพร่ให้คนรุ่นใหม่ได้รู้จักกีฬาพื้นบ้านเช่นนี้ เพราะถึงแม้จะเป็นกีฬาที่ยังไม่มีในรายการแข่งขันใหญ่ๆ แต่ก็เป็นกีฬาที่ผู้เล่นจะได้อะไรดีๆ อีกมากจากการเล่น และที่สำคัญคือไม่ทำให้กีฬานี้สูญหายไปด้วย

 

 ชวนนักกีฬาคุย

นักกีฬายิงหนังสติ๊กจะเป็นนักกีฬาเต็มตัวได้ไหม:

“มองให้เป็นการเล่นแบบงานอดิเรกดีกว่า
เพราะยังไม่มีการรองรับว่ากีฬานี้เป็นกีฬาที่ลงแบบทีมชาติได้”

 

ลบล้างปมของตัวเองให้ได้

“มันเป็นปมของเราตอนเด็ก”

สมัยยังเด็กอายุ 14-15 เธอเคยลองยิงหนังสติ๊กมาแล้ว แต่ตอนนั้นเธอทำง่ามไม้หัก เล่นกี่อันก็หักจนเธอเล่าว่ากลายเป็นปมของตัวเอง จนกระทั่งเดินเข้างานวัดครั้งนั้น คำพูดของคนดูแลซุ้มฉุดเธอขึ้นมาให้กล้าลองยิงอีกครั้ง

คำพูดเลยที่ฉุดเราเข้าไปยิงได้คือ เขาบอกว่าหักไม่เป็นไรไม่คิดตังค์เพิ่มหรอก หักก็ช่างมัน งานวัดนี้ เขาใช้ไม้มะขามธรรมดา เราก็เลยรู้สึกว่าช่างมัน เรากล้าพอเข้าไปยิง จากที่เหมือนเรามีปมมันปลดล็อก แล้วเรารู้สึกว่ากลับมาทำจริงๆ แล้วเราก็ทำได้ แล้วมันก็สามารถที่จะต่อยอดได้”

ภาพจากคุณสุนันทา

ความตั้งใจอย่างหนึ่งที่สำคัญที่สุดคือ คุณนันไม่อยากให้ผู้คนลืมกีฬาชนิดนี้ กีฬาไทยๆ ที่มีเสน่ห์ และอยากให้คนได้ลองเล่น… มันไม่ใช่แค่กีฬาที่อยู่ตามซุ้มกิจกรรมในงานวัด

“คน 100 คนอาจจะกล้าลองเล่นสัก 20 คนแล้วอาจจะลองจริงๆ สัก 10 คน แต่อาจจะชอบมันแค่ 5 คนก็ได้ แต่ตราบใดที่เรายังไม่ลอง เราก็จะไม่รู้ว่าเราชอบหรือไม่ชอบ”

แนวคิดนี้สามารถนำมาปรับใช้ได้กับชีวิตคนจริงๆ เหมือนกันนะ..

“มันใช้ได้ในทุกๆ เรื่องของชีวิตเลย ในแง่ของการทำอะไรบางอย่าง ต่อให้ไม่ใช่แค่เรื่องการยิงหนังสติ๊ก ถ้าเรายังไม่ได้ลองทำ เราไม่รู้คำตอบหรอกว่าสิ่งนั้นเหมาะกับเราหรือเปล่า

กีฬายิงหนังสติ๊กที่หลายคนอาจรู้สึกห่างไกลและได้เห็นก็ต่อเมื่อได้เดินในงานวัด วันนี้หลังจากได้พูดคุยกับคุณนันแล้วเราถึงได้รู้ว่ากีฬานี้เป็นมากกว่านั้น ไม่ใช่แค่ง่ามไม้ที่ถูกเหลา ยางที่ถูกยืด และดินที่ถูกปั้นเป็นกระสุน แต่คือทุกๆ อย่างที่สะท้อนถึงวิถีชีวิตและศิลปะ เป็นสิ่งที่ต้องการสายตาคนรุ่นใหม่ให้จับจ้อง เพื่อให้กีฬาชนิดนี้พัฒนาไปอีกขั้น และไม่ถูกปล่อยไว้ให้เป็นเพียงแค่งานอดิเรกของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

 

THE POWER GANG EP 8 เจอ 2 เซียนหนังสติ๊กขั้นเทพสุดแม่น!

Author

วรากร เพชรเยียน

Author

อดีตแอร์โฮสเตสผันตัวมาเป็นนักเขียน ผู้หลงใหลศิลปะและการเดินทาง นิยมการบอกรักประสบการณ์ผ่านตัวหนังสือ

Author

บริษัท ยานแม่ จำกัด

Photographer

เป็นโปรดักชั่น เฮาส์ ที่ไม่ได้คิดนอกกรอบ เเต่คิด...นอกโลก