Passion

ภาฬ (Paraa) จอมเซอร์ไพรส์
กับภารกิจกลางสายลมหนาว

ศรัณย์ เสมาทอง 6 Dec 2022
Views: 476

“Sky is so beautiful today
And the clouds are painted away
On I love you, Mr.Sun…”

บทเริ่มต้นเพลงที่ใช้ประกวดของ “ภาฬ” (Paraa) วงดนตรีที่พลังในตัวล้นเหลือจากจังหวัดเชียงใหม่ เล่าถึงความหม่นเศร้าของดอกทานตะวันผู้หลงรักแสงตะวัน

“แต่งมาเยอะมาก เขียนมาประมาณ 10 รอบได้ แล้วก็มาจบเนื้อเพลงที่ตรงนี้” เฟธ – เนตรชนก วุฒิวิชัย นักร้องนำ ผู้สวมบทคนเขียนเพลงเล่าให้ฟัง “ดอกทานตะวันกับดวงอาทิตย์เหมือนจะเป็นเพลงที่ให้พลังแก่กัน แต่เฟธชอบเพลงที่หม่นๆ จึงเขียนเป็นเพลง Sunflower in Winter ดอกทานตะวันในฤดูหนาวที่ไร้แสงแดด”

เฟธเขียนเนื้อพร้อมทำนองการร้อง ยึดแนว Jazz ผสม R&B ที่ตัวเองถนัด ส่งไม้ต่อให้ เกื้อ – พศิน  นันสว่าง มือกีตาร์ ผู้เป็นเสาหลักในการทำโน้ต ทำคอร์ด และวางทิศทางดนตรีของวงมาตั้งแต่ยุคแรกเริ่ม “อยากให้เพลงออกทางยุโรปหน่อย ดูโมเดิร์นๆ ได้ไอเดียจากตอนดูรายการทีวีเกาหลี ซึ่งมักจะมีดนตรีบางช่วงที่แปลกจากดนตรีปกติในรายการ รู้สึกว่ามันเซอร์ไพรส์คนดูมากๆ ผมชอบครับ ชอบทำอะไรที่เซอร์ไพรส์คนฟัง”

เสียงจากเพื่อนในวงดังแทรกขึ้น “เพิ่งทำดนตรีท่อนสุดท้ายเสร็จสองวันสุดท้ายนี่เอง”  โอ…ท่าทางจะเซอร์ไพรส์ตั้งแต่คนในวงแล้วละนะ

 

การกลับมาของ “ภาฬ”

ชื่อวงภาฬ ซึ่งออกเสียงเหมือนคำว่า พาล แต่เขาตั้งใจให้อ่านว่า พา-ระ จึงใช้ภาษาอังกฤษกำกับลงไปเป็น “ภาฬ” (Paraa) เป็นวงที่หลายคนอาจคุ้นหน้า เพราะลงสนามแข่ง THE POWER BAND ตั้งแต่ปีแรก 2564 และคว้ารางวัลรองชนะเลิศในปีนั้นไปครอง

“ภาฬ” เริ่มต้นจากเพื่อนรักวงโยธวาทิต ของโรงเรียนยุพราชวิทยาลัย 5 คน มันนี่ – อัครนิติ เพ็ชรเจริญ (ทรอมโบน)   ดาต้า – วรนันท์  ดวงงาม (เทนเนอร์ แซกโซโฟน)  เกื้อ – พศิน นันสว่าง (กีตาร์)  ปอน – สุภกิจ ประทุม (ทรัมเป็ต)  และ นนท์ – ชญานนท์ สิงหธนากร (อัลโต แซกโซโฟน) นึกสนุกตั้งวงเปิดหมวกที่ริมรั้วโรงเรียน ได้รับความสนใจจนทำให้เกิดแพสชันในการสร้างเป็นวงดนตรีมาถึงทุกวันนี้

การแข่งขัน THE POWER BAND 2022 SEASON 2 จัดโดยวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ คิง เพาเวอร์ ไทย เพาเวอร์ พลังคนไทยในปีนี้ “ภาฬ” มีสมาชิกวงเพิ่มเติมจากผู้ก่อการและนักร้องนำ คือ เกียร์ – กฤษ หน่อจีนา (เบส)  แฟรงค์ – ศิวกร กาวิเต (เพอร์คัชชัน)  โฟล์ค – ภาณุพงศ์ ดวงทิพย์ (กลองชุด) และยุ้งข้าว – พุทธวงศ์ เอกพจน์ (คีย์บอร์ด) ร่วมกันสร้างสรรค์สีสันบนเวทีใหญ่ประจำปีของงานในซีซัน 2

การได้รางวัลรองชนะเลิศไปเมื่อครั้งที่แล้วทำให้พวกเขามีประสบการณ์มากขึ้น แม้ว่าครั้งนี้ข้อกำหนดในการแข่งขันจะเปลี่ยนไปเป็นวงดนตรีที่ไม่จำเป็นต้องมีเครื่องเป่าแบบครั้งก่อน พวกเขาก็กลับไปทำการบ้าน ถอดบทเรียนที่ผ่านมากันอย่างจริงจัง

“ปีที่แล้วเราดีดกันมากครับ” แฟรงค์พูดติดตลก “แต่ละคนมีของอะไรก็ปล่อยออกมากันเต็มที่ แต่พอดูของวงอื่นๆ รู้สึกได้ว่าเพลงเขาฟังง่าย เข้าถึงง่าย” หลายคนในวงยอมรับว่าครั้งก่อนเขาแต่งเพลงยังไม่เก่ง พอได้ลองทำออกมาจริงๆ ก็เห็นข้อผิดพลาด คราวนี้จึงช่วยกันเกลาเพลงให้ลงตัวมากขึ้น มันนี่ถึงขั้นเอ่ยปาก “เรารู้สึกชอบเพลงรอบนี้มากกว่ารอบที่แล้วด้วยซ้ำ เพราะอย่างน้อยเรามีประสบการณ์มากขึ้น มันเรียบง่ายขึ้น ฟังสบาย แม้เนื้อหาจะเศร้าหน่อยแต่ก็ยังได้ความรู้สึกอบอุ่น”

ปีที่แล้วการแข่งขันเป็นแบบออนไลน์ การเล่นในฮอลล์ของเขา คือการเล่นให้กรรมการฟังเป็นหลัก แต่ครั้งนี้มีผู้ชมเต็มฮอลล์ เขาจึงอยากให้เพลงฟังง่ายขึ้น ให้เข้าถึงคนฟังก่อนเลย แต่ในรายละเอียดเกื้อก็ยังไม่ทิ้งลาย “ดีนะครับที่มีเวลาน้อย ถ้าเกิดมีเวลาเยอะก็คงจะใส่อะไรไปมากกว่านี้” เสือยิ้มยากบนเวทีแบบเกื้อพูดพร้อมตบท้ายด้วยเสียงหัวเราะ คิดว่าเหตุผลหนึ่ง คือ น้องเฟธ นักร้องนำ ที่คุมโทนซอฟต์ๆ เรียบร้อยๆ ไว้ด้วยล่ะ

เพียงอยากให้ได้ฟัง

การมีคนดูจริงๆ กับการเล่นเพื่อบันทึกเทปย่อมแตกต่างกันอยู่แล้ว แต่คนดูอย่างเราๆ อาจไม่เคยรู้ว่าคนบนเวทีเขารู้สึกอย่างไร “ปีที่แล้วโควิดมันทำให้เราไม่สามารถเจอใครๆ ได้ เพื่อนๆ วงอื่นก็ไม่ได้เจอ คนเชียร์ก็ไม่มี รู้สึกเหงาๆ” เกียร์เอ่ย “ปีนี้มีชีวิตชีวามากครับ ญาติพี่น้อง คนรู้จักเต็มไปหมด เวลาเราเห็นคนดูที่เอนจอยกับเรา ยิ่งได้เห็นรอยยิ้ม ได้ยินเสียงตบมือของคนดู ยิ่งรู้สึกดี” เช่นเดียวกับดาต้าที่พอได้เงยหน้าขึ้นมาเจอคนดูแล้วรู้สึกดีมาก “ปีที่แล้วเราเงยหน้ามาเห็นเก้าอี้ว่างๆ มันก็รู้สึกแปลกๆ อยู่นะ” แต่เกื้อก็ยังไม่ยิ้มบนเวที!!

“ปกติผมโฟกัสกับการเล่นครับ ต้องตั้งสมาธิ แต่ถ้าใครหลุดผมก็ขำนะ” แบบนี้ถ้าเพื่อนเล่นผิดก็รู้หมดเลยละสิ “มันจับได้ตลอดละครับ แค่หันมามองก็รู้แล้วว่าเราเล่นผิด” เพื่อนๆ เอ่ยพร้อมๆ กัน “แต่ผมก็ไม่ได้ว่าอะไรนะ แค่บอก..เออ…เล่นช้าไปนะ” เกื้อหันมาแก้ตัวกับเพื่อนๆ คราวนี้ เกื้อยิ้มกว้างมากครับ ความสุขของคนเล่นดนตรีก็คงอยู่ที่ได้ทำเพลงได้เล่นกับเพื่อนแบบนี้สินะ

“เราอยากมาร่วมงาน อยากมาโชว์เพลงให้ทุกคนดู เพราะตั้งใจจะทำเพลงเป็นของวงตัวเอง” ดาต้าแอบหวังลึกๆ เพราะรู้ว่าครั้งนี้ถ้าชนะเลิศทางผู้จัดจะให้โอกาสทำเพลงออกมาจริงๆ เลยถ่ายทอดออกมาเป็นคำเมืองแบบนั้น “เพลง..เมื่อปีที่แล้วเราก็อยากทำ ปีนี้ก็อยากทำ คือเรามีแต่เพลงแต่ขาดปัจจัย  ก็พยายามเอาเงินมาฮอมๆ กันไว้ ยังไม่สำเร็จเลย” เอ่ยคำว่า ฮอม เป็นคำเมือง หมายถึง เก็บหอมรอมริบ แล้วนึกภาพออก “ได้แต่เล่นดนตรี แต่เราก็ยังไม่มีโพรดิวเซอร์ที่จะมาเกลาเพลงให้สมบูรณ์ อยากเข้าห้องอัด อยากได้อุปกรณ์ดีๆ ก็ใช้เงินทั้งนั้นละครับ”

but now you are leaving me away
and winter has replaced instead
oh dear don’t leave me

แหม เนื้อเพลงของเฟธช่างเข้าบรรยากาศ มีเพลงแต่ยังไม่สามารถทำให้สมบูรณ์พอที่จะเผยแพร่ให้คนอื่นได้ฟังกัน ก็เหมือนเหมันต์ฤดูที่พรากแสงสุรีย์ไปจากดอกทานตะวัน “ก็อยากจะเติบโตในด้านนี้จริงๆ” คำนี้ของดาต้าพาผมเหงาตามไปด้วย

 

ดนตรีเปลี่ยนแปลงโลก

“ชนใดไม่มีดนตรีกาล ในสันดานเป็นคนชอบกลนัก ตามนั้นเลยครับ” มันนี่ตอบคำถามที่ว่า ดนตรีสำคัญอย่างไร เปลี่ยนแปลงโลกได้ไหม (มาแนวคำถามรอบสุดท้ายเวทีนางงามเลย) แฟรงค์รีบเอ่ยยืนยันคำตอบเพื่อน “ขนาดชนเผ่าที่เขาอยู่ในป่าเขายังมีดนตรีเลย ดนตรีมันเกิดจากการเลียนแบบธรรมชาติ เกิดจากความกลัว และอีกหลายๆ อย่าง มันสามารถสร้างสังคมบางแบบขึ้นมาได้ เล่นดนตรีเรียกร้องสันติภาพก็ได้ หรือจะใช้ดนตรีฆ่าคน…ลองแต่งเพลงด่าใครสักคนสิ ทั้งโลกอาจจะดิ้นด้วยเพลงเดียวก็ได้”

แหม อยากสวมมงให้ตรงนี้เลย “เฟธร้องเพลงมานานมากๆ ค่ะ จำความได้ก็เริ่มร้องเพลงแล้ว  ตอนเด็กๆ พ่ออยากให้เล่นเปียโน โดนกดดันมาตลอด ก็พอเล่นได้แต่ไม่ได้รู้สึกอยากอยู่กับมันขนาดนั้น” อันนี้อาจเป็นเพราะพ่อของเฟธเป็นครูดนตรีและเป็นนักเปียโนที่มีชื่อเสียงในวงการแจ๊ส “เรามีความสุขกับการร้องเพลงมากกว่า แต่ซ้อมร้องทุกครั้งก็โดนดุทุกครั้ง แต่การโดนดุถือว่าดีนะ เพราะมันทำให้เราพัฒนา เหมือนเป็นแรงกดดัน ทำให้เราตั้งใจซ้อมเพื่อทำให้ดีขึ้นให้ได้” วันนี้คุณพ่อก็มาฟัง ก็หวังว่าก้าวมาถึงบนเวทีนี้แล้ว กลับบ้านไปคงไม่โดนดุนะเฟธ

หันมาถามปอนมือทรัมเป็ตบ้าง “เล่นดนตรีเพราะสนุก ได้อยู่กับวงที่เก่งขนาดนี้ก็ยิ่งรู้สึกมีความสุขมาก เพื่อนๆ เก่งกันทุกคน เราก็รู้สึกเก่ง รู้สึกว่าเท่ไปกับเขาด้วย”

“อยากให้ดนตรีพาเราไปไกลๆ ไกลที่สุดเท่าที่จะพาเราไปได้” มันนี่พูดมาน่าจะแทนใจ “ภาฬ” ได้ทั้งวง

 

ติดนิสัยชอบเซอร์ไพรส์

ว่าไปแล้วการทำดนตรียุคนี้ง่ายขึ้น ช่องทางเข้าถึงคนฟังก็ง่าย ไปออนไลน์ได้หลายทาง การเป็นศิลปินก็ไม่น่าจะยากเกินไป เกียร์มีสีหน้าหนักใจก่อนตอบ “ผมว่าบางทีมันก็ซ้ำแนวเดิม เอา reference ของคนนี้มาเปลี่ยนแปลงนิดหนึ่ง ก็ออกเป็นเพลงใหม่ เหมือนยุคนี้มันตันกันแล้วครับ แต่วงเก่าๆ ก็มีที่เก๋าๆ อยู่นะ มีอะไรออกมาให้เซอร์ไพรส์เรื่อยๆ แต่วงหน้าใหม่ก็ก๊อบกันมาเล่น คนนี้เล่นดีก็ก๊อบสไตล์กันมาเล่น เราเองก็เลยพยายามหลีกหนีออกจากตรงนั้น”

คำถามใหม่ผุดขึ้นทันที…การพยายามหนีมันยากไหม “ยากกกมาก” ดูเหมือนทั้งวงจะพร้อมใจกันตอบ เฟธพยายามให้ความกระจ่าง “คนฟังแบบที่เราทำมีน้อย ส่วนใหญ่เขาฟังเพลง POP เพลงตลาด แบบที่ฟังแล้วติดหูเป็นกระแสพักหนึ่งแล้วก็ไป จะหาที่อยากฟังแนวนี้จริงๆ มันก็ยาก มันเฉพาะกลุ่มจริงๆ”

แนวที่ว่า เราเข้าใจว่ามาทาง Fusion Jazz และ City Pop “ใช่ครับ ซึ่ง “ภาฬ” เราพยายามทำให้แตกต่างจากคนอื่น” เกื้อพูดจริงจัง “ผมก็ต้องศึกษาเพิ่ม เก็บเกี่ยวประสบการณ์เพิ่ม เพราะบางทีผมก็ตันเหมือนกัน ทำอะไรออกมาก็ไอเดียเดิมๆ ไม่ค่อยเซอร์ไพรส์เท่าไร”

มิน่า ถึงพยายามทำเพลง “เวลาเธอยิ้ม” ของ Polycat ให้ออกมาแบบแตกต่างจากต้นฉบับ กะสร้างเซอร์ไพรส์ให้คนสายดนตรีได้ตื่นตา

โฟล์ค – มือกลอง ขอเป็นคนพูดบ้าง “เท่าที่ผมฟังและเห็นโน้ต บวกตัวตนเกื้อ ก็เป็น City Pop กลิ่นอายญี่ปุ่นยุค 80-90 มีความ Retro หน่อย แต่เพลง Sunflower in Winter เราผสมผสานหลายอย่าง ให้ฟังดูโมเดิร์น”

นี่เกื้อเขียนโน้ตมาหมดเลยเหรอ!! “ครับ เกื้อเขียนโน้ตมาให้ทุกเครื่องมือเลย แต่พอเข้าซ้อม ลองเล่นดูแล้วฟังไม่เวิร์กก็ปรับกันในห้องซ้อม วงนี้ทุกคนต้องเป็นมัลติฟังก์ชัน คอยช่วยกันฟัง ช่วยกันปรับครับ”

เราหันไปถามเกื้อว่าเป็นจริงแบบที่โฟล์คว่าไหม เกื้อก็ตอบยิ้มๆ  “สนอง need ตัวเองครับ อย่างที่บอกว่าชอบเซอร์ไพรส์ อยากได้แบบไหนก็ทำโน้ตไปให้เล่นกันแบบนั้น อยากให้คนฟังประหลาดใจ เฮ้ย ทำไมเพลงนี้มีแบบนี้ด้วย อย่างเพลงของ Polycat จาก Time Signature 4-4 ก็มีช่วงเปลี่ยนเป็น 12-8 มันจะเร็วขึ้นแต่ยังอยู่ในจังหวะเดิม…ร้อนวิชาครับ เรียนมาแล้วก็อยากเอามาใช้ ปกติไม่ค่อยเห็นเพลงไหนทำ”

แม้ว่าเพลงจะดูเรียบง่าย แต่ในรายละเอียดดนตรีก็สามารถโชว์ศักยภาพผู้เล่นได้ด้วย

 

Waiting for Sunshine 

ผลการแข่งขัน THE POWER BAND 2022 SEASON 2 “ภาฬ” (Paraa) คว้ารางวัลชนะเลิศชมเชย Class B (รุ่นบุคคลทั่วไป) โดยรวมแล้วพวกเขาคิดคล้ายกัน “ทีแรกคิดว่าจะมุ่งหน้ามาเพื่อแชมป์ แต่ก่อนขึ้นเวทีเราเปลี่ยนไปหมดแล้วครับ เหมือนตกผลึกขึ้นเรื่อยๆ เราอยากมีเพลงให้คนได้ฟังเราเล่นมากกว่า” ผมทักไปว่าให้เร่งมือหน่อย เพราะเวลาผ่านไป เราโตขึ้น ความคิดจะเปลี่ยนประสบการณ์ที่เพิ่มขึ้นอาจทำให้เรารู้สึกว่าที่ผ่านมางานของเราดูเด็กเกินไป

“มีเหมือนกันครับ ที่เคยกลับไปมองแล้ว…เล่นไปได้ไงตอนนั้น” เกื้อเอ่ย และกลับมาหน้านิ่งอีกครั้งแล้ว

I am sunflower and you’re the sun
who gave me sunshine to warm my soul
Until winter has come. I need your hold
get thru this cold with me

จากท่อนฮุกเพลง Sunflower in Winter ของวง “ภาฬ” และบทสนทนาอย่างผ่อนคลายหลังการแข่งขัน รู้สึกได้ว่าปีนี้เมล็ดพันธุ์ดนตรีจากเมืองเหนือได้เติบโตเป็นหนุ่มสาว จากนี้พวกเขาคงต้องกอดคอกันไว้ให้ดี เพื่อต้านทานสายลมหนาวอันเยียบเย็น แล้วอีกไม่นาน ตะวันคงสาดแสงอุ่นมาอีกครา

ชวนอ่านเรื่องราวของวง Paraa กับ THE POWER BAND  2021

Author

ศรัณย์ เสมาทอง

Author

นักเขียนและผู้ผลิตรายการเชิงสารคดีอิสระ ชอบตะลอนเวิร์กตามที่ต่าง ๆ พร้อมเล่าเรื่องระหว่างการเดินทาง และบ่อยครั้งก็บันทึกประสบการณ์เป็นบทกวี

Author

บริษัท เอ็กเปิร์ดคิด จำกัด

Photographer

การรวมตัวของคนโปรดักชั่น ที่ยังเชื่อในพลังสร้างสรรค์ เราจึงคิดและผลิตงานศิลปะทุกรูปแบบ