หลายครั้งที่งานปั้นดินที่มีขนาดเล็กจิ๋ว เรียกร้องให้เราหยุดมอง พลางสาวเท้าก้าวไปดูใกล้ๆ และทึ่งกับความพยายามของคนปั้น งานจำลองอาหารหลากหลายเมนูล้วนแล้วแต่มีรายละเอียดสมจริงจนเผลอคิดไปถึงรสชาติ
ยอมรับเลยว่า เรากำลังอมยิ้มให้กับงานของ “สานฝัน” แบรนด์งานปั้นดินไซส์มินิ โดย คุณปกรณ์ กุลทอง ผู้ย่อส่วนทุกสิ่งเอาไว้ด้วยสองมือและหัวใจ
…ชอบศิลปะและงานประดิษฐ์… …เรียนปั้นของจิ๋วจนทำได้ดี… …นำไปออกร้านแล้วผลตอบรับดีมาก…
|
ปั้นเรื่องราวใส่ใจรายละเอียด
คุณปกรณ์ กุลทอง ผู้ก่อตั้งสานฝัน เล่าย้อนไปถึงจุดเริ่มต้นของสานฝันเมื่อ 18 ปีก่อนว่า เขาและภรรยาชอบทำงานศิลปะและงานประดิษฐ์ จนมีโอกาสได้เรียนปั้นทำของจิ๋วและรู้สึกชอบ เมื่อมีโอกาสนำของที่ทำไปออกร้าน ผลตอบรับดีมาก ทำให้เปิดเป็นร้านตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
“งานของสานฝันจะเน้นความเสมือนจริงและใส่ใจคุณภาพ จึงเป็นที่จดจำด้วยไอเดียที่มีเรื่องราว แปลกใหม่ และเก็บรายละเอียดได้ครบถ้วน เวลาปั้นเราจะทำเหมือนปั้นให้ตัวเราเอง เราใช้ดินไทยกับดินโพลิเมอร์ เดิมจะทำเป็นของฝากของที่ระลึกสำหรับวางโชว์เป็นส่วนใหญ่ ตอนหลังเราเพิ่มประโยชน์ใช้สอยเข้าไป เป็นเครื่องประดับ ต่างหู เข็มกลัดมากขึ้น ขยายกลุ่มลูกค้าที่มีตั้งแต่เด็กจนถึงผู้ใหญ่ เป็นกลุ่มที่รักงานประเภทนี้และกลุ่มของนักสะสม”
ส่วนงานปั้นย่อส่วนที่เป็นร้านค้าหรือชุดอาหารนั้นมีรายละเอียดสมจริง คนจะทึ่งกับชุดเครื่องปรุง กุ้งแห้งของร้านผัดไทย ส่วนร้านข้าวแกงหม้อ…ร้านซีฟูด ก็จะมีกุ้งเผาที่เห็นรอยไหม้ชัดเจน คุณปกรณ์เล่าว่าเคยทั้งปั้นงานย่อส่วนยังมีโอกาสได้ปั้นงานขนาดเท่ากับของจริงด้วย โดยเป็นงานลักษณะทำเลียนแบบจานอาหารแต่ละเมนูสำหรับวางหน้าร้านอาหาร
“ผมไม่ใช่คนทำงานเก่ง แต่เป็นคนทำงานเรื่อยๆ” แก้ไขข้อผิดพลาด ลองผิดลองถูก เล่นกับความคิดของตัวเอง แล้วจับเอาจินตนาการนั้นออกมาปั้นให้จับต้องได้”
ผลงานที่ “สานฝัน” พอใจ
งานท้าทายที่สุด: ของที่ระลึกเกี่ยวกับอุปกรณ์ปรมาณูกับเครื่องวัดความดันสูง
งานชิ้นภูมิใจ: ของที่ระลึกให้กับประธานบริษัทโค้กที่แอตแลนต้า งานปั้นให้วง Maroon5 และทีมฟุตบอลเชลซี
งานยากที่สุด: งานถุงปลาทอง สำหรับแสดงในงาน Tokyo Fair ที่ญี่ปุ่น
“เดิมเป็นงานเป่าแก้วเหมือนปลาอยู่ในโหลแก้ว แต่ข้อเสียคือแก้วเป่ามีเนื้อบาง แตกร้าวได้ง่าย ทำให้เกิดไอเดียจับปลาใส่ถุง ผ่านการทดลองทำอยู่ 3 เดือนกว่าจะทำให้ถุงพองสวย คงรูป และจัดท่าทางปลาให้พลิ้วไหวสมจริง เป็นงานยากด้วยการคิดหาวิธีทำงาน” เขาเล่าถึงงานยากชิ้นดังกล่าว
“ความสำเร็จไม่มีเคล็ดลับอะไรพิเศษ แค่เราทำในสิ่งที่เรารัก ถ้าเรารักเท่ากับว่าเรามีต้นทุนสูงแล้ว ปกรณ์ กุลทอง
|
Suggestion
ปั้นดินให้เป็นเทรนด์
ไอเดียการปั้นของสานฝันมาจากสิ่งรอบๆ ตัว แต่จะเพิ่มเรื่องราวเข้าไปให้คนดูได้คิดตาม นอกจากนี้ยังอิงกระแสความนิยมของกลุ่มลูกค้า ทั้งรูปแบบและสีสัน คุณปกรณ์ยังเล่าถึงงานถุงปลาทองอีกครั้งว่า เป็นเรื่องของความผูกพัน ทำให้นึกถึงตอนเด็กๆ ที่พ่อแม่พาไปซื้อจากสนามหลวง
แม้แต่คนต่างชาติเองก็นึกถึงตอนไปงานสุดสัปดาห์กับพ่อแม่แล้วซื้อปลากลับมาเลี้ยง หรืองาน ต่างหูที่ข้างหนึ่งเป็นไก่ ส่วนอีกข้างเป็นไข่ แทรกความคิดเรื่องไก่ออกไข่ หรือไก่ออกมาจากไข่ “ช่วงที่กระแสนักท่องเที่ยวชาวจีนเข้ามา เขาชอบทุเรียน เราก็ปั้นต่างหูข้างหนึ่งเป็นลูกทุเรียน ส่วนอีกข้างเป็นทุเรียนผ่าซีกมองเห็นเนื้อใน หรือเราเห็นว่าน้ำมะพร้าวปั่นขายดี เราก็ปั้นต่างหูข้างหนึ่งเป็นลูกมะพร้าวน้ำหอม อีกข้างเป็นแก้วน้ำมะพร้าวปั่น พอให้เขาเห็นภาพและนึกถึงประเทศไทย”
“นักท่องเที่ยวมองงานเราเป็นศิลปะ ต้องยอมรับว่าเขาเข้าถึงงานศิลปะและให้ค่างานคราฟต์มาก โดยเฉพาะในเรื่องต้นทุนเวลา ราคา คุณภาพของงานที่เราแตกต่าง
งานปั้นของเรามีรายละเอียดและซับซ้อน เป็นงานที่เครื่องจักรทำไม่ค่อยได้ เราเลือกใช้วัสดุอย่างดี เพราะเราแข่งด้วยคุณภาพกับความรู้สึกของลูกค้าที่เขาสนใจงานมากกว่า ลูกค้าเองก็รู้สึกได้ ช่วงหลังสังเกตได้ว่าพฤติกรรมการซื้อเปลี่ยนไปซื้อของจากความรู้สึกมากกว่าเรื่องราคา รู้สึกชอบแล้วซื้อ แม้จะซื้อในจำนวนที่น้อยลง แต่จะซื้อเพราะชอบจริงๆ”
ทำ “ของจิ๋ว” ด้วยแพสชัน
แบบปกรณ์ “สานฝัน”
• ทำในสิ่งที่รัก เพราะสิ่งนั้นจะกลายมาเป็นต้นทุนในการทำงาน
• ทำงานให้เหมือนกับทำใช้เอง เพราะเราจะใส่ใจคุณภาพและรายละเอียด
• ฟังฟีดแบ็กแล้วนำมาปรับปรุง อย่าหยุดพัฒนาตัวเอง
Suggestion
ปั้นสุขกับรอยยิ้ม
ผ่านสถานการณ์โควิดมาได้ สานฝันเลือกที่จะปรับเปลี่ยนตัวเองมาทางออนไลน์มากขึ้น “กลุ่มลูกค้าของเรายังคงเหนียวแน่น เราคอยดูว่าลูกค้าต้องการอะไร ก็ทำไปเสริม ช่วงนั้นเราออกสินค้าเป็นสายคล้องแมสก์ ร้อยด้วยเม็ดคริสตัลผสมผสานชิ้นงานเข้าไป ส่วนที่เกี่ยวสายแมสก์จะห้อยงานปั้นซึ่งดูแล้วเหมือนเป็นตุ้งติ้ง คล้ายเราใส่ต่างหู ข้างหนึ่งอาจจะเป็นรูปเบอร์เกอร์อีกข้างจะเป็นเฟรนช์ฟรายส์ หรือข้างหนึ่งเป็นน้องหมาอีกข้างเป็นรูปกระดูก แล้วแต่ลูกค้าจะเลือกตัวห้อย ผมมองว่ามันช่วยลดความเครียดจากสถานการณ์ ช่วยผ่อนคลาย เห็นแล้วอมยิ้ม มีความสุขเล็กๆ น้อยๆ ได้”
คุณปกรณ์ยังเล่าว่านอกจากจะขายบนสื่อโซเชียลและเปิดหน้าร้านแล้ว ยังมีวางจำหน่ายที่ คิง เพาเวอร์ อีกด้วย ลูกค้าต่างชาติจะชอบงานคราฟต์ มักซื้อไปเป็นของฝาก ของที่ระลึก ที่ คิง เพาเวอร์ งานปั้นถุงปลากับแก้วชานมขายดีที่สุด รองลงมาเป็นงานย่อส่วนที่อยู่ในโดม เช่น งานส้มตำ งานข้าวเหนียวมะม่วง น้ำพริกปลาทู งานเครื่องประดับก็ไปได้ดี
สิ่งที่ผลักดันให้คุณปกรณ์และทีมงานยังทำงานมาจนทุกวันนี้คือ รักในสิ่งที่ทำ “ผมชอบทำงานที่ไม่มีในท้องตลาดและคิดนอกกรอบเสมอ ถือเป็นความท้าทาย แล้วนำคำติชมมาปรับปรุงให้ดีขึ้น
ผมชอบเวลาลูกค้าเห็นงานเรา อาจไม่ได้ซื้อทุกคนแต่เขาหยุด…ยืนมองแล้วอมยิ้ม หรือเดินเข้ามาดูใกล้ๆ แล้วคิดเรื่องราวตาม อันนี้เป็นข้าวมันไก่ที่ประตูน้ำ อันนี้เป็นปาท่องโก๋ที่กินตอนเด็กๆ เราภูมิใจ เหมือนเป็นการส่งต่อแรงบันดาลใจให้ลูกค้าต่อไปได้ด้วย”
ปั้นความสำเร็จและไม่หยุดพัฒนา
“เคยมีท้อบ้าง โดยเฉพาะเวลาเห็นการเลียนแบบงาน เนื่องจากงานเราไม่ได้มีลิขสิทธิ์ บางงานเราจ้างทำของประกอบที่ไม่ใช่งานปั้น เขาก็เอาไอเดียของเราไปขายต่อ ตอนหลังอันไหนเราทำเองได้ก็จะพยายามทำเอง และทำในลักษณะทำเลียนแบบได้ยาก คือดูเราเป็นไกด์ไลน์ได้นะ แต่ไม่ใช่เหมือนเรา 100 เปอร์เซ็นต์”
แต่สิ่งที่คุณปกรณ์กำลังกังวลกลับไม่ใช่ยอดขาย การเลียนแบบ หรือของถูกจากต่างประเทศ แต่เป็นเรื่องของงานฝีมือ “ห่วงว่าจะสูญไปเนื่องจากเป็นงานฝีมือค่อนข้างเฉพาะทาง คนปั้นที่มีอยู่รวมทั้งตัวผมอายุก็มากขึ้น ต้องอาศัยความละเอียดและใจรัก ต้องใช้เวลาอยู่กับมันนานกว่าจะได้มาแต่ละชิ้นงาน เด็กรุ่นใหม่อาจจะไม่ลึกซึ้งเท่ากับที่เราทำมา พอมีเรื่องผลประโยชน์อาจจะรีบทำรีบขาย ลืมใส่ใจ งานต่อๆ ไปของสานฝันอาจจะเป็นงานประยุกต์ ใส่อย่างอื่นเสริมเข้าไป หรือเพิ่มสินค้ามากขึ้น เช่น เสื้อผ้า กระเป๋า โดยผสมผสานงานปั้นเสริมเข้าไปเพื่อให้มีจุดเด่น”
ความสำเร็จของสานฝัน ในแง่ของแบรนด์และรูปแบบงาน คุณปกรณ์คิดว่าประสบความสำเร็จแล้ว แต่ยังต้องพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ ต้องคอยฟังฟีดแบ็กลูกค้าแล้วเอามาปรับใช้ คุณปกรณ์เข้าร่วมหลายโครงการเพื่อพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ ยอมรับว่าไอเดียของคลื่นลูกใหม่นั้นดี แต่ต้องแข่งกันด้วยฝีมือ ไม่ใช่โจมตีกัน หรือการลอกเลียน
“ความสำเร็จไม่มีเคล็ดลับอะไรพิเศษ แค่เราทำในสิ่งที่เรารัก ถ้าเรารักเท่ากับว่าเรามีต้นทุนสูงแล้ว ผมทำงานปั้นจิ๋ว ผมมีแล้ว 70 – 80 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือก็แค่เพิ่มไอเดียเสริมเข้าไป เพิ่มความใส่ใจ ทำให้มันดีที่สุด ผมทำธุรกิจ ธุรกิจต่างจากการค้าขายตรงที่ การค้าขายนั้นของไปเงินมาแล้วจบกันไป แต่การทำธุรกิจคือทำอย่างไรให้ได้ใจลูกค้า ถ้าได้ใจลูกค้าเมื่อไหร่ เราอยู่เฉยๆ เขาก็จะมาหาเราเอง ผมจึงให้ความสำคัญกับคุณภาพ งานทุกชิ้นต้องผ่านมาตรฐานการตรวจเช็ก ทำเหมือนเราทำให้ตัวเราเอง”
สานฝัน (SANFAN)
ที่ตั้ง: 150 ซอยกาญจนาภิเษก008 แขวงบางแค เขตบางแค กรุงเทพฯ 10160