Summary
เสียงดนตรีหนักแน่นคู่กับเสียงร้องหวานๆ ของนักดนตรีหนุ่มสาวจากจังหวัดอุดรธานีตรึงใจคนทั้ง ‘สนามขอนแก่น’ ของ THE POWER BAND ให้ฟังจนจบสองเพลง สมความตั้งใจของการประกวด “คิง เพาเวอร์ ไทย เพาเวอร์ พลังคนไทย จับมือพันธมิตรส่งเสริมให้นักดนตรีรุ่นใหม่ได้พัฒนาศักยภาพทางดนตรี เดินหน้าสานโครงการ ปีที่ 4” จนเราอดใจไม่ไหว ต้องไปสืบความมาเล่าให้ฟังว่า…พวกเขาเป็นใครกัน
ต้น (เบส) – เอิร์ธ (กีตาร์) -บอส (กีตาร์) – โย (กลอง) – อาย (ร้องนำ)
สมาชิกวง SIRO
เมื่อ “เด็กอุดร” ล้อมวงคุยกับ Thaipower.co…
เอิร์ธ: เพลงที่ประกวด ผมมีเวอร์ชันรถแห่ด้วยนะ
Thaipower.co: ยังไง ยังไง
อาย: ก็ไหลลายพิณใส่เข้าไป
เอิร์ธ: พิณโมเดิร์นเลย แต่เพื่อนมันชอบบูลลี่ที่ผมไปเล่นดนตรีรถแห่
Thaipower.co: มันก็ได้นะ ซาวนด์ใหม่ๆ
ต้น: พี่อย่าพูดอย่างนั้น งานหน้ามันจะเอาจริง !!
อาย: ไปเลย…ชอบทำร้ายจิตใจกันอยู่เรื่อย
เสียงเฮฮาดังลั่นตลอดช่วงเวลาสั้นๆ ที่เราคุยกัน เสียงพูดแทรกจนหลายครั้งไม่รู้ว่าใครเป็นคนพูด ห้าคนนี้คือสมาชิก SIRO วงดนตรีที่วาดลวดลายบนเวที THE POWER BAND 2024 SEASON 4 เวทีประกวดวงดนตรีสากลคุณภาพระดับประเทศ จัดโดย คิง เพาเวอร์ ไทย เพาเวอร์ พลังคนไทย ร่วมกับ วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ภายใต้คอนเซปต์ “Let The Music Power Your World: เป็นได้สุด เป็นไปได้ ด้วยพลังแห่งดนตรี” ที่สนามภูมิภาคขอนแก่น
น้องๆ SIRO มาจากอุดรธานี พื้นที่ดนตรีสนุกสนาน “อีสานมักม่วน” พวกเขาบอกไว้แบบนั้น
“ผมรู้สึกว่าพวกผมไม่เหมือนใคร” เอิร์ธ – อภิวัฒน์ เหลาทอง มือกีตาร์เอ่ย “ไม่เหมือนตรงนักร้องครับ นักร้องวงเราเสียงหวาน…กับคอนเซปต์ไม่ร็อกนะ”
อย่ามาหลอกกันเลย เราเพิ่งได้ฟังมา มันไม่ร็อกตรงไหน!!!
“รวมตัวกันด้วยความชอบแนวเพลงเหมือนกัน
แถวอุดรชอบฟังวาไรตี้หมอลำ
อยากเล่นแนวอินดี้ที่เราชอบก็ต้องตั้งวง”
วง SIRO (อุดรธานี)
รุ่นบุคคลทั่วไป (เส้นทางสู่ศิลปินมืออาชีพ)
THE POWER BAND 2024 SEASON 4 สนามขอนแก่น
“SIRO…No Rock”
ความฮา (…หรือจะไม่ฮาดีนะ) เริ่มตั้งแต่ทำเพลงละ
เอิร์ธ กับ ต้น – ฉัตรชัย ลุนนิมิตร มือเบสไปหา อาย – ศิโรรัตน์ ดวงพรม นักร้องนำ แล้วพบว่าอายเลือกเพลง TOY ของ The TOYS กับโจทย์ ไม่ร็อกนะ “มีอายคนเดียวที่เคยฟังเพลงนี้” ต้นพูดนิ่งๆ “เราก็เลย arrange เพลง ที่รู้แค่เนื้อร้องกับคีย์ที่อายจะร้องเท่านั้น”
นึกภาพตามนะ…อายร้องเพลงให้เพื่อนฟัง แล้วบอกว่าทำดนตรีกันหน่อย
เบสกับกีตาร์ก็จัดให้สิ “อยากให้เพลงดาร์กนิดหนึ่ง แรงบันดาลใจมาจาก back up ของวง Black Pink ที่ตอนเขาเล่นสดจะใส่ความดาร์ก ใส่คอร์ดที่หนักแน่นหน่อย เล่นให้แรงขึ้นได้อารมณ์ดาร์กๆ”
ส่วนนักร้องอยากให้เพลงฟังสบายๆ แต่แอบซ่อนลูกเล่นไว้ “เราแอบช่วงเล่น unison เอาไว้ ซ่อนคอร์ดแปลกๆ ในบางจุด อายไม่อยากร้องเพลงแข่งกับดนตรี” เผอิญนักดนตรีเป็นขาร็อก “อายบอกว่าไม่ร็อก พวกผมก็ไม่ร็อก”
หืออออ…นักร้องบ่นว่าคอจะแตก
Suggestion
“นักดนตรีเป็นแล้วไม่หาย”
อย่าแปลกใจ ว่าทำไมวงนี้แค่ฟังเพื่อนร้องแล้วทำเพลงกันได้ ก็สมาชิกในวง 4 คนเรียนสาขาวิชาดนตรีที่มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี อายเรียนขับร้อง ต้นเรียนเบส เอิร์ธกับ บอส – สุรพัฒน์ ขอดดนุ เรียนกีตาร์ บวกเพื่อนสาขานิเทศศาสตร์ (วิทยุโทรทัศน์) โย – ภราดร ศิริมนตรี มาตีกลอง “เด็กนิเทศฯ ม.ราชภัฏอุดรฯ เป็นมือกลองกันหมดเลย ไม่รู้ทำไมเหมือนกัน” โยพึมพำ “ต้นเขาช่วยคิดไลน์กลองช่วยผมครับ คือเขาบอกว่าให้เล่นประมาณนี้ แต่ผมเป็นคนลงไม้”
ต้นมือเบสเคยฝันเป็นมือกลอง “ที่บ้านสนับสนุนเรื่องดนตรี แต่มีแค่กำลังใจ” พูดขำๆ แต่แอบขื่นในใจ “ไม่มีทุนนั่นละครับ ตอนเด็กก็เอาถังกับกะละมังมาวางเรียงตีเป็นกลอง” โอ้ใจรักสุดๆ “เข้าวงโรงเรียนเจอเพื่อน…ไอ้คนนี้อยากเป็นนักร้อง คนนี้จองกีตาร์ อีกคนเรียนตีกลองมา มันก็ได้ตีกลอง เหลือว่างแค่เบส…อะ…เล่นเบสก็ได้”
“ไม่ใช่ตัวเองถนัดซ้ายแล้วตีส่งไม่ได้เหรอ” ใครช็อตฟิลมาเนี่ย…ต้นรับว่าจริงตามนั้น แต่พอคนถนัดซ้ายมาจับเบสกลับเล่นได้แข็งแรงดี จึงยืนยงตำแหน่งนี้มาตลอด “มือกลองเขาเลิกซ้อมปุ๊บ ผมก็ยังไปนั่งตีกลองนะ”
โถถถถถถถถ
ฝ่ายนักร้องเสียงหวาน “ตอนแรกไม่กล้าร้องเพลงให้ใครฟัง” อายเริ่มเส้นทางดนตรีด้วยการเป่าบาริโทนกับตีสแนร์อยู่ในวงโยธวาทิต “พอดีมีงานประกวดร้องเพลงในโรงเรียน ลงแข่งแล้วได้ที่ 2 เริ่มมีคนชมว่าเสียงเพราะ รู้สึกมั่นใจเลยเริ่มร้องเพลงจริงจัง”
จนเข้ามหาวิทยาลัยสายดนตรีได้เจอกับบอสที่มาจากสกลนคร “ผมเล่นกีตาร์มาตั้งแต่มัธยม มาเรียนกีตาร์ไฟฟ้าตรงสายเลย” อายก็ไม่ได้อยู่ในตัวเมืองอุดรธานี จึงชวนเพื่อนเช่าบ้านอยู่ด้วยกันและสุดท้ายก็จับมือกันรับเล่นดนตรีตามงานต่างๆ “แล้วคนมาจ้างเลยค่ะ แต่ไม่ได้เล่นตามร้านตอนกลางคืนเหมือนอีกสามคนนั่น”
‘สามคน’ ที่ถูกพาดพิงยิ้มกริ่ม
“รู้สึกดีมากที่ได้เล่นดนตรีกับเพื่อน
เล่นสดย่อมมีผิดพลาดเป็นธรรมดา
แต่ผิดแล้วยังไปต่อ อันนี้ให้คะแนนเพื่อนเต็ม”
วง SIRO (อุดรธานี)
“วงรถแห่…แล้วไง”
รู้มาว่าสมาชิกวงนี้อายุ 23-24 ปีเท่านั้น เลยชวนคุยกันถึงทัศนคติของผู้ปกครองสักหน่อย
“เห็นเด็กบางคนอยากเล่นดนตรีมาก แต่พ่อแม่ไม่ให้เล่น” เอิร์ธเอ่ย นึกว่าหมดยุคที่พ่อแม่กลัวลูกเต้นกินรำกินไปแล้ว “นักดนตรีไส้แห้งทุกวันนี้ก็ยังมีอยู่จริงครับพี่” เอิร์ธ-ต้น-โย ต้องรวมวงเล่นตามร้านหารายได้ “ร้านส่วนใหญ่ให้เล่นวาไรตี้หมอลำ คนแถวนี้เขาชอบ ร้านที่เล่นเพลงแบบที่เราชอบก็มี แต่วงที่ต่อคิวเล่นที่นั่นก็แน่นมาก”
นี่ไง…ไม่อยากไส้แห้งก็ต้องเล่นได้ทุกรูปแบบ
โย :บางทีก็ไปเล่นดนตรีเคลื่อนที่
อาย : รถแห่ก็บอกรถแห่ จะอ้อมค้อมไปทำไม
เอิร์ธ : เป็นการสืบสานวัฒนธรรมประเพณีดนตรีเคลื่อนที่ครับ
ต้น : นั่งเล่นบนรถสิบล้อขับไปเล่นไป ลำโพงหันหาคนดูตั้งเป็นแผง เราเล่นหลังลำโพง
โย : มีมอนิเตอร์เล็กๆ เก่าๆ ไม่ค่อยได้ยินเสียง เวลาเหยียบกระเดื่องมีดีเลย์นิดหนึ่ง
เอิร์ธ : ไม่ได้ชอบนะครับ แต่ว่ามันได้ตังค์ นักดนตรีเป็นวงเดิมๆ แต่นักร้องแทบไม่ซ้ำหน้า
พวกนายไม่ธรรมดา!!! มองในความเก่งกาจส่วนบุคคล วงรถแห่ตามเทศกาลงานใหญ่ๆ ที่หน้างานจะเขียนเพลงขึ้นกระดานแล้วต้องเล่นเลย พอจะจบก็เขียนเพลงใหม่ให้เล่น ติดต่อกัน 3-4 ชั่วโมง
“เราต้องมีลิสต์เพลงไว้ประมาณ 200-300 เพลง ก็เป็นเพลงหมอลำซะเยอะ” สามหนุ่มช่วยกันเล่าประสบการณ์ “หนักสุดเล่นติดกัน 5 ชั่วโมง สงกรานต์ที่ผ่านมาเราเล่นรถแห่เช้า 3 ชั่วโมง บ่ายอีก 3 ชั่วโมง ตอนกลางคืนขึ้นเวทีอีก 3 ชั่วโมง”
น่าสนใจอยู่นะ เอามาปรับลงประกวดก็น่าสนุก “พี่อย่าพูด เดี๋ยวมันจะเอาจริง” สองคนที่ไม่เคยขึ้นรถแห่รีบตัดบท
สมาชิกวง SIRO ช่วงเป็น “วงรถแห่” และย้อนไปเมื่อตอนวัยรุ่นวัยเรียน
“ขอเวทีที่ไม่มีหมอลำ”
เมื่อต้องเล่นดนตรีหนักหนาสาหัสเพื่อเลี้ยงชีพ พอเจอกลุ่มคนที่ชอบแนวทางเดียวกันจึงจับมือรวมเป็น SIRO ออกอาละวาดมาแล้วหลายงาน
เจอประกาศ “THE POWER BAND เวทีประกวดวงดนตรีสากลคุณภาพระดับประเทศ ที่สร้างแรงบันดาลใจ และเปิดโอกาสให้นักดนตรีรุ่นใหม่ มีพื้นที่ในการแสดงความสามารถ” มีหรือจะพลาด
“ผมเตรียมตัวมาเกินร้อยครับ แต่…” มือกลองสารภาพ “ผมหักคะแนนตัวผมหมดเลย เพราะว่าผมตื่นเต้นมาก ตีเร่งจังหวะมากเลย” นักร้องบ่นเบาๆ ว่าคนร้องเกือบตาย
ด้วยไม่คุ้นกับเวที มือกีตาร์อย่างบอสก็มีปัญหา “ตรงที่ผมอยู่มอนิเตอร์ไม่ค่อยได้ยิน และไม่ค่อยได้ยินกลอง แล้วบางช่วงผมก็ไม่ได้เล่นแบบที่ซ้อม”
ที่จริงไม่มีอะไรถูก-ผิด การเล่นสดแต่ละวันก็ย่อมไม่เหมือนกันอยู่แล้ว
“ความเจ๋ง” ของวงนี้อีกอย่าง…คือขยันมาก มีวินัยในการซ้อมและซ้อมแบบไม่มีใครเหมือน พวกเขาซ้อมกับแบบเงียบ…เงียบ อย่างนี้ไง
เอิร์ธ: พวกเราไม่ได้ยืนซ้อมนะ เรานั่งซ้อมอยู่ที่บ้าน ใส่เอียร์มอนิเตอร์
Thaipower.co: เฮ้ย เหรออออ ทุลักทุเลมากนะ
อาย: กลัวเพื่อนบ้านรำคาญค่ะ
โย: เราซ้อมกับ drum pad ได้เข้าห้องซ้อมไม่กี่วัน
บอส: ไม่ใช่ไม่ซ้อมนะ แต่ว่าวันนี้เรารนกันมาก
ต้น: ผมว่าสุดๆ แล้วนะวันนี้ สำหรับทุกคน
มือเบสตบท้ายให้กำลังใจทุกคนรวมถึงตัวเอง
ภาพ FC วันแข่ง และภาพเมื่อช่วงซ้อมแบบเงียบๆ (ใส่เอียร์มอนิเตอร์) ก่อนมาแข่ง จากวง SIRO
Suggestion
รู้จัก SIRO ตัวกลั่นอุดรธานี
สมาชิกของวงเรียนสาขาวิชาดนตรี คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี 4 คนด้วยกัน คือ
อาย – ศิโรรัตน์ ดวงพรม (ขับร้องสากล) เอิร์ธ – อภิวัฒน์ เหลาทอง (กีตาร์)
บอส – สุรพัฒน์ ขอดดนุ (กีตาร์) ต้น – ฉัตรชัย ลุนนิมิตร (เบส)
มีเพียง โย – ภราดร ศิริมนตรี เรียนสาขาวิชานิเทศศาสตร์ (วิทยุโทรทัศน์)
คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี
ภาพโดย Expert Kits
“ที่ยังเล่นเพราะสนุก”
แม้จะยังไม่ใช่วันของเขาที่จะไปโลดแล่นต่อในรอบชิงชนะเลิศ แต่วันนี้ SIRO วาดลวดลายได้น่าประทับใจ หลายคนเอ่ยชมว่าวงมีเอกลักษณ์ โดยเฉพาะนักร้อง ‘เสียงหวาน’ แบบที่เพื่อนเขาบอกไว้จริงๆ
“รู้สึกสนุกทุกครั้งเวลาได้เล่นกับเพื่อน เหมือนเราได้ปลดปล่อย ถึงจะมีพลาดไปบ้าง แต่มันก็ยังสนุก ถ้าถามว่าเราทำได้อย่างที่คิดไหม…สำหรับผมคิดว่า มันเกินกว่าที่เราคาดไว้อีก”
หลังจากนี้ SIRO เตรียมทำเพลงลงช่องทาง YouTube ของตัวเอง หลังจากยื้อกันมานาน เพราะต้องการคุณภาพ “ไม่อยากแค่ทำอะไรถูกใจคนส่วนมาก เท่านั้นค่ะ”
รู้ใช่ไหม…ใครเป็นคนพูด (เราอมยิ้ม)