Summary
Sisweet วงม้ามืดสนามกรุงเทพฯ จากชมรมดนตรีโรงเรียนศรีสุวิช ที่ได้คำชมจากคณะกรรมการอย่างเป็น เอกฉันท์ว่า “ทำโชว์เหมือนเล่นเพลงตัวเอง” ถึงจะเจนจัดเวทีประกวด แต่ THE POWER BAND คือเวทีท้าทายที่สุด เพราะเป้าหมายวงคืออยากเป็นศิลปิน ถ้าคิดจะไปให้ไกลจึงตัดสินใจงัดกับรุ่นใหญ่ซะเลย
“เราไม่ได้อยากเป็นแค่แชมป์ในเวทีการประกวดแต่เราอยากเป็นศิลปิน” พวกเขาจึงเลือกลงสมัคร Professional Class แทนที่จะงัดข้อกับรุ่นเดียวกันใน High School Class เพราะเป้าหมายวงคือ อยากเป็นศิลปิน ถ้าคิดจะไปให้ไกลจึงตัดสินใจงัดกับรุ่นใหญ่ซะเลย
ถ้านี่คือเป้าหมายของทีม Sisweet การสอบผ่านสนามแข่งกรุงเทพฯ เข้าสู่รอบชิงชนะเลิศ THE POWER BAND 2024 SEASON 4 “เป็นได้สุด เป็นไปได้ ด้วยพลังแห่งดนตรี” จัดโดย คิง เพาเวอร์ ไทย เพาเวอร์ พลังคนไทย ร่วมกับ วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ก็พิสูจน์ได้ว่าพวกเขามาถูกทางและเสริมความเชื่อมั่นไปอีก เมื่อคณะกรรมการเห็นตรงกันว่า “เหมือนดูโชว์ของพวกเขาจริงๆ ไม่ใช่การเอาเพลงคนอื่นมารีอะเรนจ์”
(ซ้ายไปขวา) จักร (เบส) / อะตอม (กีตาร์) / วิป (กลอง) / อั้ม (กีตาร์)
(หน้า) อิง (ร้องนำ)
“นี่แหละแนวทางของวง ซึ่งเป็นสิ่งที่พวกเราต้องการให้คนดูสัมผัส ทุกคนต้องสนุกเหมือนดูคอนเสิร์ตของศิลปิน ไม่ได้มาดูการประกวด” อั้ม – พิมพ์สุวิช คงสอาด (กีตาร์) พี่ใหญ่ของวงบอก เมื่อเราถามว่า ฟังคอนเมนต์คณะกรรมการแล้วรู้สึกอย่างไร
“เป็นจุดแข็งของวงเลยครับ” จักร – จักรินทร์ มงพลเมือง (เบส) เล่าเสริมพร้อมบอกว่า “ตอนที่เรารีอะเรนจ์จะฟังต้นฉบับแค่ครั้งเดียวแล้วยกเครื่องใหม่หมด อย่างเพลง ‘จงเรียกเธอว่านางพญา’ มันต้องสนุกได้มากกว่านี้และปรับเป็นแนวดนตรีของพวกเรา และใส่ความเป็นตัวเองเข้าไปในเพลง สิ่งที่ทุกคนเห็น มันคือตัวเรา”
อิง – มนัสนันท์ อิทธิกรณ์วรกิจ (ร้องนำ) เสริมว่า “เวลาโชว์บนเวทีเราแค่จินตนาการว่านี่คือผลงานของเรา มีเท่าไรใส่ให้หมด อยากให้คนดูรับรู้ถึงสิ่งที่อยู่ในใจเราให้มากที่สุด อย่างเพลง ‘จงเรียกเธอว่านางพญา’ ที่ถือโทรโข่งได้ไอเดียจากสิ่งที่เราชอบ และอยากให้เป็นไอคอนิกของตัวเราว่า นักร้องวง Sisweet ต้องถือโทรโข่ง”
“อยากแสดงตัวตนเต็มที่โดยไม่แคร์ว่าจะแพ้หรือชนะ”
อิง – มนัสนันท์ อิทธิกรณ์วรกิจ นักร้องนำ
อายุวงแค่ 1 ปี แต่ลุยมาแล้วกว่า 20 สนามแข่ง
ที่ทรงอย่างเซียนเบอร์นี้ เพราะเดินสายประกวดมากกว่า 20 สนาม และเก็บแต้มประสบการณ์บนเวทีต่างๆ อาทิ Siam Square Walking Street หรืองาน The Voice Foundations และเคยเป็นตัวแทนภาคตะวันออกเข้ารอบชิงชนะเลิศ หลังจากที่เพิ่งฟอร์มวงได้เพียง 3 เดือน!
อั้มเล่าว่า ชมรมดนตรีโรงเรียนศรีสุวิช เพิ่งมีเมื่อปีที่แล้ว (ปี 2023) “ผอ.คงเห็นว่าพวกเราตั้งใจจริงก็เลยสนับสนุนเต็มที่ ทำห้องซ้อมดนตรีให้ และได้ครูจุ้ย – ศุภกร รอบรู้ มาเป็นครูที่คอยสอนและผลักดันให้พวกเราไปประกวด”
“ครูจุ้ยเคยบอกว่า นอกจากอยากผลักดันให้ฝันของทุกคนเป็นจริง อีกเหตุผลหนึ่งคือ อยากผลักดันน้องวิป เพราะศักยภาพของน้องเกินกว่าที่จะเล่นโชว์แค่ในโรงเรียน” อิงเสริม
วิป – ด.ช.วัชรพงศ์ นิตย์ใหม่ (กลอง) น้องเล็กของวงเล่าว่า ตั้งแต่เด็กมีคุณพ่อเป็นแรงบันดาลใจ นั่งตักพ่อตีกลองตั้งแต่ 3 ขวบ เล่นจริงจังตอน 7 ขวบ และส่งคลิปแข่งประกวดกลองเดี่ยวตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา “ผมอยากเป็นแบ็กอัป พอพี่ๆ ชวนร่วมวงก็ตกลงทันที เพราะอยากหาประสบการณ์ใหม่ๆ”
ส่วน อะตอม – ณัฐวัฒณ์ สรงเนย (กีตาร์) จากเด็กที่ไม่เคยคิดว่าจะเล่นดนตรีได้ ดันโดนลีลาการเล่นดนตรีของอั้มตกจนอยากเล่นตาม “พี่อั้มคือคนที่ทำให้ผมอยากเล่นดนตรี ผมได้ดูพี่เขาเล่นในงานแฟร์ของโรงเรียน ความรู้สึกแรกคือ โครตรเท่! หลังจากนั้นก็ฟอร์มวงเลยครับ”
“ผมนี่แหละที่ยืนดูข้างอะตอม” จักรเล่าต่อ “ตั้งวงแบบมั่วๆ มีแค่กีตาร์กับเบส แล้วครูจุ้ยก็ชวนพี่อั้มกับวิปมาร่วมวง ส่วนอิงมาคนสุดท้าย”
“อิงเคยทำวงกับพี่อั้มตอนอิงอยู่ ม.ต้น แต่พอดีมีเหตุให้ต้องย้ายโรงเรียนเลยออกจากวงไป พอ ม.ปลาย กลับมาเรียนที่เดิม พี่อั้มกับครูจุ้ยก็ชวนกลับมา ต้องขอบคุณทั้งสองคนมากๆ เพราะเคยเกือบหมดหวังกับเส้นทางนี้และคิดจะทิ้ง แต่เหมือนมีคนจุดประกายให้เรามีโอกาสอีกครั้ง และลึกๆ เหมือนเรายังโหยหามันอยู่ ยังคิดถึงช่วงเวลาที่เรามีความสุขกับมันเลยตัดสินใจกลับมา” อิงเล่า
เพลงปลุกพลังฟังแล้วพร้อมจะ ‘ไปต่อให้สุด’
• อั้ม (กีตาร์): คู่ชีวิต (Cocktail)
• อิง (ร้องนำ): ain’t it fun (Paramore)
• อะตอม (กีตาร์): ทุกซิงเกิลของวง Potato
• จักร (เบส): ปลายสายรุ้ง (Paradox)
• วิป (กลอง): ซ้ำซ้ำ (Paper Planes)
Suggestion
เวทีประกวด = พื้นที่สร้างประสบการณ์จริง
4 วันต่อสัปดาห์ อย่างต่ำ 4 ชั่วโมงต่อวัน คือเวลาที่พวกเขาทุ่มเทให้กับการซ้อมนับตั้งแต่วันแรกที่ฟอร์มทีมจนถึงวันนี้ พวกเขาบอกว่า ช่วงไหนที่ต้องประกวดจะซ้อมหนักขึ้น เหนื่อยแต่ไม่ท้อเพราะเป้าหมายเดียวในตอนนี้คือ ‘เก็บประสบการณ์ให้มากที่สุด’
“ครูบอกเสมอว่า ให้มองการประกวดเป็นประสบการณ์” พวกเขาบอกว่าถึงแม้ยุคนี้ใครก็สามารถเป็นศิลปินได้ ทำเพลงเอง ทำช่องเอง แต่เวทีการประกวดเป็นพื้นที่ที่จะสร้างประสบการณ์ที่หาจากที่ไหนไม่ได้
“สมมติเราทำเพลงเองแล้วดังแต่ไม่เคยแสดงจริงบนเวทีเลย ถ้ามีคนมาจ้างงานเราไม่มีทางเอาคนดูอยู่เพราะเราไม่มีประสบการณ์บนเวทีจริง เราไม่สามารถออกแบบโชว์ให้คนดูสนุกกับเราตลอดการแสดง และถ้าเจอปัญหาเฉพาะขึ้นมาพังแน่นอน เพราะทุกเวทีไม่มีทางเดาได้เลยว่าจะเจอกับอะไร” อั้มบอก
อะตอมเล่าว่า “ผมเคยสายกีตาร์ขาด แอมป์ชอร์ต แรกๆ ช็อตฟีลไปเลย หลังๆ นิ่งขึ้นเยอะ” ส่วนอิงบอกว่า “ลืมเนื้อนี้ประจำ”
วิปเองก็ชอบการประกวด “นอกจากจะได้เพื่อนใหม่ยังทำให้เห็นว่ามีคนเก่งกว่าเราอีกเยอะเราจะหยุดพัฒนาไม่ได้”
“การประกวดทำให้เราได้ฟังคอนเมนต์จากคณะกรรมการ ทำให้เรารู้ว่าอะไรคือจุดอ่อนที่ทีมต้องปรับและอะไรคือจุดแข็งที่เราต้องรักษามันไว้ อีกอย่างคือ เราได้ฐานแฟนคลับเพิ่มขึ้นหลายคนตามไอจีเราหลังจากเห็นเราบนเวทีประกวด” จักรปิดท้าย
“ที่เลือกสมัคร Class B แทนที่จะงัดข้อกับรุ่นเดียวกันใน Class A ได้
เพราะเป้าหมายวงคือ อยากเป็นศิลปิน ถ้าคิดจะไปให้ไกลต้องงัดกับรุ่นใหญ่ไปเลย”
อั้ม – พิมพ์สุวิช คงสอาด (กีตาร์)
ขอบคุณนะ…ที่ทำให้เรามีวันนี้
ถ้าให้เลือกขอบคุณหนึ่งคนสำคัญที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จ “คุณพ่อคุณแม่ครับ” วิปตอบอย่างรวดเร็ว “ท่านคอยสนับสนุนผมมาตลอด และเชื่อว่าผมจะเป็นอะไรก็ได้ที่อยากเป็น”
เช่นเดียวกับอะตอม “พ่อกับแม่พูดเสมอว่าพร้อมสนับสนุนเต็มที่แค่ขอให้ไปให้สุด ผมอยากขอบคุณพี่อั้มด้วยที่เป็นแรงบันดาลใจให้ผมอยากเล่นดนตรี ครูจุ้ยที่ทำให้ผมเล่นกีตาร์เก่งขึ้นและรู้อะไรเกี่ยวกับดนตรีมากขึ้น”
ส่วนอั้ม พี่ชายคือคนที่เขาอยากขอบคุณเพราะเป็นคนแรกที่ซื้อกีตาร์ให้ “อีกคนที่อยากขอบคุณคือครูจุ้ย ถ้าครูไม่ผลักดันพวกเราคงไม่มาถึงจุดนี้”
อิงเสริมว่า “พวกเราโชคดีมากที่มีโรงเรียนสนับสนุน มีครูคอยผลักดัน และพ่อแม่ของพวกเราทุกคนที่สนับสนุนเต็มที่ ขอบคุณทุกคนที่อยู่รอบตัว ถึงพวกเราจะไม่รู้ว่าในอนาคตแต่ละคนจะเดินเส้นทางนี้ต่อไหม แต่ถ้าวันนี้เราไม่เคยได้โอกาส คงไม่มีทางรู้ว่า นี่คือทางที่พวกเราอยากเดินต่อหรือเปล่า”
จักรเห็นด้วยว่าทุกคนรอบตัวคือคนที่พวกเขาอยากขอบคุณ “ผมชอบที่ครูจุ้ยบอกว่า วงเราเน้นสุด! ต่อให้มีคนดูแค่คนเดียวก็ต้องเล่นให้สุด ขอบคุณที่ครูคอยดึงสติและผลักดันพวกเรา ที่ลืมไม่ได้คือขอบคุณเพื่อนในวงที่ช่วยกันเต็มที่ ส่วนพ่อแม่ก็บอกว่า ‘ไปให้สุดอย่าหยุดนะ’ และสุดท้ายขอบคุณเวที THE POWER BAND ด้วยครับ ที่ทำให้เราเห็นโอกาสบนเส้นทางนี้มากขึ้น
Let The Music Power Your World
เมื่อถามว่า ‘ดนตรี’ พาพวกเขาไปเจอความเป็นไปได้อะไรบ้าง อั้มเล่าว่า เด็กชายอั้มเคยคว้าที่ 1 แข่งขันดนตรีไทยระดับเขต เก่งจนได้ไปแข่งระดับภาค “ตอนนั้นครูบอกว่า ถ้าเราให้ความสำคัญกับดนตรี ทุ่มเทและเชื่อมั่น สักวันมันจะพาเราไปในที่ที่เราไม่เคยไป ตอนเด็กๆ ผมไม่เข้าใจ แต่วันที่ผมยืนอยู่บนเวที THE POWER BAND ผมเชื่อหมดใจเลยว่ามันจริง ใครจะเชื่อว่าพลังดนตรีจะพาให้ผมมายืนบนเวทีใหญ่ขนาดนี้”
อะตอมสารภาพว่า เคยคิดว่าตัวเองเล่นดนตรีไม่รอด แต่พอเปิดใจและอยู่กับมันจริงๆ ถึงได้พบว่าดนตรีคือความสุข “ผมยังไม่เชื่อเลยว่าการที่ผมทุ่มเทฝึกซ้อมกีตาร์จะทำให้ผมมาได้ไกลขนาดนี้”
“ดนตรีทำให้ผมค้นพบตัวเอง ไม่งั้นผมก็คงจะเป็นแค่เด็กธรรมดาที่ใช้ชีวิตไปวันๆ” จักรเล่าว่าตั้งแต่เด็กชีวิตผูกพันกับดนตรีตลอด ตั้งแต่ไปนั่งดูพี่ชายซ้อมดนตรี อยู่ชมรมดนตรีไทย ย้ายไปเล่นวงโยธวาทิต แล้วก็หันมาลองคีย์บอร์ดและกีตาร์ สุดท้ายก็มาจบที่เบส และพาเขามาถึงวันนี้
วิปเล่าว่า มีอยู่ช่วงหนึ่งเขาท้อจนเกือบจะเลิก เพราะเจอกับโจทย์ที่ยากมาก “เราเดินมาไกลขนาดนี้แล้วถ้าล้มเลิกที่ทำมาก็เสียเปล่า พอตั้งสติได้ก็คิดใหม่ว่า เรามาไกลขนาดนี้ถ้าเลิกตอนนี้ที่ทำมาก็เสียเปล่า ก็เลยตั้งใจมากขึ้น ซ้อมมากขึ้น สุดท้ายผมก็เอาชนะตัวเองได้ ยิ่งทำให้มั่นใจว่า ถ้าเรามุ่งมั่นไปจะเป็นอะไรก็ได้
เห็นพลังเยอะและดูมาดมั่นบนเวที แต่อิงบอกว่า จริงๆ แล้วเธอเป็นคนไม่มีความมั่นใจในตัวเองเลย แต่สิ่งที่ทลายกรอบนั้นได้ก็คือ ‘ดนตรี’ “ถ้าเรารักมัน เต็มที่กับมัน ต่อให้มันเป็นสิ่งที่ทำให้เราผิดหวัง สุดท้ายเราจะเจอความเป็นไปได้ในเส้นทางของเรา”
ชมความสนุกจากรายการ Music School EP.24‘SISWEET’ ร็อกหวานเจี๊ยบ!