Passion

จากกองเชียร์มืออาชีพสู่ล่ามทีมชาติ
มิว – สุวธิดา วุฒิจารีเลิศสกุล

เพ็ญแข สร้อยทอง 25 Jul 2024
Views: 753

Summary

แฟนฟุตบอลพันธุ์แท้ ผู้กลายมาเป็นล่ามให้วอลเลย์บอลทีมชาติไทย ด้วยการอุทิศตน ทำสิ่งที่เธอตัวรักจึงชนะอุปสรรคและสร้างความเป็นไปได้ใหม่ๆ การเดินทางแห่งการเรียนรู้และเติบโตครั้งนี้ยังเป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้อื่น แสดงให้เห็นถึงพลังแห่งความมุ่งมั่นและผลกระทบของกีฬาที่มีต่อการพัฒนาส่วนบุคคล

‘น้องผู้หญิงที่เป็นล่ามวอลเลย์บอลทีมชายคือใครเหรอ ดูสนุกสนานเฮฮามีส่วนร่วมกับเกมมาก แบบไม่ได้แค่มาแปลอย่างเดียว แต่มีให้กำลังใจ ช่วยเชียร์สุดๆ เลย’

แฟนวอลเลย์บอลทีมชาติไทยที่มีโอกาสได้เห็นเธอคนนี้ผ่านการถ่ายทอดสดการแข่งขันระดับนานาชาติหลายแมตช์ในช่วงปี 2566 ต่างอดใจไม่ไหวต้องไปโพสต์ถามในโซเชียลมีเดีย

และหญิงสาวที่พวกเขาอยากรู้จัก ผู้ซึ่งเปรียบเป็นสะพานเชื่อมความเข้าใจระหว่างโค้ชชาวเกาหลีกับนักกีฬาทีมชาติไทยคนนั้นคือ…

“มิว สุวธิดา วุฒิจารีเลิศสกุล”

สาวเมืองชล วัย 25 ปี ปัจจุบันกำลังศึกษาระดับปริญญาโท สาขาเศรษฐศาสตร์ประยุกต์ อยู่ที่มหาวิทยาลัยบาธ ประเทศอังกฤษ

มิวเป็น “พลังคนไทย” คนหนึ่งที่เคยอยู่ในรอยต่อสำคัญระหว่างโค้ชต่างชาติและนักกีฬาทีมชาติไทยในครั้งนั้น เปิดวาร์ปตัวเธอเอง…เป็นคนรักกีฬาอย่างแท้จริง แม้จะไม่ใช่นักกีฬา แต่เธอก็พบวิธีที่จะถ่ายทอดความหลงใหลและความกระตือรือร้นของเธอผ่านบทบาทของกองเชียร์ ทั้งยังได้นำพลังเดียวกันนั้นไปสู่งานในฐานะล่ามให้กับวอลเลย์บอลทีมชาติไทย

เส้นทางของเธอคนนี้แสดงให้เห็นว่า มีหลายหนทางในการเชื่อมโยงและมีส่วนร่วมในโลกแห่งกีฬา

 

“หนูเป็นคนชอบกีฬา แต่ไม่มีความสามารถทางด้านกีฬา

สิ่งที่หนูสามารถทำให้ส่วนรวมประเทศชาติได้ก็คือ

การเอาความรู้ความสามารถของหนูมาสนับสนุนวงการกีฬา

หนูอยากทำงานให้ประเทศชาติ”

มิว – สุวธิดา วุฒิจารีเลิศสกุล
อาสาสมัครล่ามทีมชาติ

 

ครอบครัวแฟนกีฬาพันธุ์แท้

ความรักในกีฬาของมิวเริ่มต้นข้างสนามฟุตบอล โดยมีพ่อแม่เป็นผู้หว่านเมล็ดพันธุ์

บ้านวุฒิจารีเลิศสกุลเป็นแฟนตัวยงของสโมสรฟุตบอลชลบุรี การติดตามสนับสนุนทีมเป็นกิจกรรมที่ทั้งครอบครัวทำร่วมกันอย่างสม่ำเสมอตลอดมาตั้งแต่มิวอายุได้ราว 9 – 10 ขวบ ไม่เฉพาะเกมในสนามเหย้า แต่หลายๆ ครั้งพ่อแม่และลูกๆ ยังตามไปเชียร์ทีมรักไกลถึงบุรีรัมย์ เชียงราย เป็นต้น

พอโตขึ้น มิวก็เริ่มติดตามเชียร์ฟุตบอลทีมชาติไทย เธอและน้องชายเดินทางไปชมการแข่งขันของทีมช้างศึกในต่างประเทศหลายครั้ง

“หนูชื่นชอบบรรยากาศทุกช่วง” มิวเล่า “ก่อนเกมก็ได้เจอกับลุงๆ ป้าๆ พี่ๆ ข้างสนาม ทั้งกองเชียร์ของทีมเราและกองเชียร์ฝั่งตรงข้าม ทุกคนมาจากต่างที่เพื่อมาเชียร์ทีมเดียวกัน คุยเรื่องเดียวกัน เข้าใจกัน โดยไม่ต้องพูดอะไร แม้ว่าในเกมจะเดือด จะทะเลาะกัน แต่ว่าหลังเกมทุกคนก็กลับมาเป็นเพื่อนกัน

“มันเป็นความสัมพันธ์ที่เหนียวแน่น เป็นความสัมพันธ์ที่ไม่ได้มีผลประโยชน์ มีแค่เรื่องของกีฬา เรื่องของความชอบที่เรามีเหมือนๆ กัน ซึ่งผูกพันเราไว้ด้วยกัน เป็นอะไรที่น่าประทับใจมาก”

 

บทบาทของแฟนกีฬาในมุมมองของมิว

การเป็น “แฟนกีฬา” เป็นมากกว่าการส่งเสียงเชียร์อยู่ข้างสนาม แต่เกี่ยวกับการสนับสนุน การวิจารณ์อย่างสร้างสรรค์ รวมทั้งการเคารพซึ่งกันและกันด้วย

นอกจากจะเป็น “คนคอยให้กำลังใจและสนับสนุน” แล้ว แฟนกีฬาอาจให้คำติชม คำแนะนำหรือชี้ให้เห็นปัญหาบางอย่างที่นักกีฬาหรือทีมงานอาจมองไม่เห็น

“แต่ต้องอยู่ในขอบเขต เราต้องไม่ลืมว่า นักกีฬาก็เป็นมนุษย์ที่มีชีวิตจิตใจ มีความรู้สึก คำพูดเล็ก ๆ ของเราที่พูดไปแล้วก็ลืม แต่สำหรับคนฟังคือ นักกีฬาและทีมงาน มันอาจจะกลายเป็นเรื่องที่ฝังใจเขาไปตลอดเลยก็ได้

“มิวเชื่อว่าคำวิจารณ์ที่สร้างสรรค์จากแฟน ๆ อาจเป็นประโยชน์ได้ แต่ต้องแสดงออกมาอย่างรอบคอบและให้เกียรติ

“บางครั้งมีบางอย่างที่คนข้างในมองไม่เห็น แต่ทีมงานก็สามารถรู้ได้จากแฟนกีฬา การเป็นแฟนกีฬาที่ดี ไม่ใช่ว่าจะต้องชมอย่างเดียว แต่สามารถการช่วยชี้ให้เห็นปัญหาหรือช่วยทำให้ทีมสามารถแก้ไขปัญหาได้ถูกจุด”

จากฟุตบอลสู่วอลเลย์บอล

ในช่วงการแข่งขันซีเกมส์ปี 2566 ที่ประเทศกัมพูชา ​มิวเพิ่งเรียนจบปริญญาตรี สาขาธุรกิจระหว่างประเทศ มาจากมหาวิทยาลัยแอปพาเลเชียน สเตต ประเทศสหรัฐอเมริกา ในช่วงที่รอไปเรียนต่อ เธอสมัครเข้าเป็นอาสาสมัครทำหน้าที่ประสานงานระหว่างทีมนักกีฬากับฝ่ายจัดงาน โดยเลือกไปช่วยดูแลกีฬาฟุตบอล แต่เมื่อถึงหน้างาน มิวกลับจับพลัดจับผลูได้ไปช่วยดูแลทีมวอลเลย์บอลทีมชาติไทย

เริ่มต้นจากไปรับทีมนักกีฬาที่สนามบิน รวมทั้งติดต่อประสานงานต่างๆ และในเวลาต่อมา มิวยังได้ใช้ทักษะภาษาอังกฤษช่วยเป็นล่ามให้กับโค้ชชาวเกาหลี (ปาร์คกีวอน) ในช่วงแรกมิวแปลภาษาเฉพาะในห้องประชุมทีมก่อน ต่อมาจะลงไปทำหน้าล่ามริมสนามแข่งด้วย

ความเต็มร้อยในการทำหน้าที่ของมิวถูกจับตามอง หลังจบซีเกมส์ เธอได้เข้าไปเป็นสตาฟให้กับสมาคมกีฬาวอลเลย์บอลแห่งประเทศไทย ติดตามไปดูแลทีมชาติไทยที่เดินทางแข่งขันในหลายทัวร์นาเมนต์ ทั้งที่ไต้หวัน กาตาร์ อินโดนีเซีย อิหร่าน ฯลฯ

นอกจากทำหน้าที่ล่ามแล้ว มิวยังช่วยงานผู้จัดการทีมด้วย จากแฟนกีฬาฟุตบอลที่ต้องมาทำงานร่วมกับทีมวอลเลย์บอล ทำให้มิวต้องศึกษาเรียนรู้หลายอย่างในเวลาที่ค่อนข้างจำกัด

“ทุกๆ อย่างในวอลเลย์บอลใหม่สำหรับหนูมาก หนูต้องเรียนรู้ ต้องทำความเข้าใจ สิ่งที่โค้ชคุยกับนักกีฬา ศัพท์ที่เขาใช้ไม่ใช่ภาษาอังกฤษทั่วไป แต่เป็นศัพท์เทคนิคที่คนดูวอลเลย์บอลเดือนเดียวแบบหนูไม่มีทางที่จะเข้าใจ เราต้องนั่งดูวิดีโอ แล้วให้นักกีฬาหรือผู้ช่วยโค้ชอธิบาย รวมทั้งต้องหาความรู้เพิ่มเติมเอง”

การเป็นล่ามที่ดีไม่ใช่แค่มีทักษะทางด้านภาษาเท่านั้น “สกิลที่สำคัญก็คือการสื่อสาร ในฐานะล่ามกีฬา หนูรู้สึกว่าพลังงานที่โค้ชส่งมาถึงเรา และจากเราไปถึงนักกีฬา เราจะส่งยังไง ทั้งสารและพลัง ไม่ให้ขาดตกบกพร่อง ทำให้นักกีฬารู้สึกเหมือนว่าเขาฟังจากโค้ชเอง

“ล่ามต้องมีทักษะการเข้าสังคม เพราะเราทำงานเป็นทีม ยิ่งเราเป็นตัวกลางระหว่างโค้ชกับนักกีฬา บางครั้งเราก็ต้องเป็นกาวใจ คอยต่อรองและประนีประนอมทั้งสองฝ่าย เวลาไปเจอฝ่ายจัดการแข่งขันแต่ละประเทศก็มี​วัฒนธรรมที่ไม่เหมือนกัน ต้องมีการปรับตัว จะพูดว่าเพื่อประโยชน์สูงสุดของทีมก็ได้

“ในบางประเทศ หนูเป็นผู้หญิงที่ทำงานให้กับทีมชายก็ไม่ค่อยได้การยอมรับ แล้วหนูเป็นคนตัวเล็ก อายุน้อย ขออะไรไปเขาก็จะไม่ค่อยสนใจ เวลามีปัญหาจะโดนอิกนอร์ (ignore) ตลอด ก็ต้องพยายามแสดงว่า หนูไม่ได้มาในฐานะของผู้หญิง แต่มาในฐานะของตัวแทนของประเทศ ในบางประเทศ ถ้าเราอ่อนก็คือจะเสียเปรียบ”

บทเรียนนอกเกม

ในช่วงปี 2566 มิวทำงานให้กับทีมชาติไทยอยู่นานหลายเดือน ก่อนจะเดินทางไปเรียนต่อที่ประเทศอังกฤษ

ด้วยประสบการณ์การทำงานเป็นล่ามให้ทีมชาติไทยที่มีส่วนสร้าง รวมทั้งเปลี่ยนแปลงมุมมองและเป้าหมายส่วนตัวของมิวเอง ในอนาคตเธอหวังจะได้มีส่วนในการช่วยเหลือสังคมเท่าที่จะทำได้ และถ้ามีโอกาสเธออยากจะทำงานในฐานะทีมงานของทีมชาติไทย

“หนูเป็นคนชอบกีฬา แต่ไม่มีความสามารถทางด้านกีฬา สิ่งที่หนูสามารถทำให้ส่วนรวมประเทศชาติได้ก็คือ การนำความรู้ความสามารถของหนูมาสนับสนุนวงการกีฬา หนูอยากทำงานให้ประเทศชาติ”

เพราะว่ากีฬาสำหรับเธอคือ “แรงผลักดันที่ทำให้เราตื่นเช้าขึ้นมา มันเป็นสิ่งที่เราชอบ เป็นสิ่งที่เรารัก ทุกเช้าที่เราตื่นขึ้นมาทำงาน เรายังมีไฟ อยากจะสู้ อยากจะทำให้ดีขึ้นไปอีก”

ความที่ชอบติดต่อสื่อสารกับคนอื่นๆ ทำให้มิวคิดว่า อาชีพสอนหนังสืออาจจะเหมาะกับตัวเอง “หนูอยากเป็นอาจารย์ อยากเอาประสบการณ์ไปแชร์ให้นักเรียนได้รับรู้ อย่างน้อยอาจจะมีสักหนึ่งคนที่ได้รับแรงบันดาลใจจากเรื่องของเรา โค้ชปาร์คสอนหนูว่า เราไม่จำเป็นจะต้องเจ็บเอง เราสามารถเรียนรู้ประสบการณ์จากเรื่องราวของคนอื่นได้

“โค้ชปาร์คทุ่มเทให้กับนักกีฬาในทุกมุม สอนแม้กระทั่งการใช้ชีวิต เมื่อเลือกทางเดินแล้วให้นักกีฬามองยาวๆ เขาไม่อายที่จะแชร์สิ่งที่เขาเคยผิดพลาดมาแล้วให้คนในทีมได้รับรู้ เพื่อที่จะต้องไม่ผิดพลาดซ้ำ”

ระหว่างการทำงานให้กับทีมชาติ มิวรู้สึกว่า “หนูได้เติบโตขึ้นทุกวัน ได้เรียนรู้ปัญหาและรู้จักแก้ปัญหา บางเรื่องหนูไม่จำเป็นจะต้องเจ็บเอง แต่สามารถเรียนรู้จากประสบการณ์ที่โค้ชสอนหรือเล่าให้ฟัง เหมือนหนูได้เติบโตจากประสบการณ์ที่เขาถ่ายทอดมา”

 

แฟนพันธุ์แท้ … ตลอดไป

มิวก็เช่นเดียวกันกับคนทั่วโลกที่ตื่นเต้นและรอคอยมหกรรมกีฬานานาชาติอย่างโอลิมปิกฤดูร้อนปารีส 2024 ซึ่งจะเริ่มต้นในเดือนกรกฎาคมนี้

“หนูมีแผนที่จะไปดูการแข่งขันที่ฝรั่งเศส อยากไปดูบรรยากาศ อยากดูน้องเทนนิส (พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ) แข่งเทควันโด อยากไปดูกีฬายกน้ำหนัก มวย และทุกรายการแข่งขันของทีมชาติไทย มีธงไตรรงค์ติดที่อกข้างซ้าย ไปเป็นคนให้กำลังใจ ให้พวกเขารู้ว่ายังมีคนไทยตามมาเชียร์”

แม้จะไม่ได้ทำงานร่วมกับวอลเลย์บอลทีมชาติไทยแล้ว แต่วันนี้มิวยังคงติดต่อสื่อสารกับนักกีฬาและทีมงาน ในฐานะเพื่อนพ้องน้องพี่ และยังจะเป็นแฟนพันธุ์แท้ของทีมวอลเลย์บอลตลอดไป

สำหรับสโมสรฟุตบอลชลบุรี ที่ปัจจุบันลงไปเล่นในไทยลีก 2 มิวบอกว่า ยังคงรักไม่เปลี่ยน “ยังเชียร์เหมือนเดิม รวมถึงชลบุรีบลูเวฟ (สโมสรฟุตซอล) เพราะว่าเราไม่ได้เป็นคนเลือกทีมเชียร์ แต่ทีมเป็นคนเลือกเรา”

สำหรับมิว​ ความรักในกีฬาไม่ใช่แค่งานอดิเรก แต่เป็นวิถีชีวิต เป็นแหล่งที่มาของแรงบันดาลใจ ทั้งยังเป็นวิธีการเชื่อมต่อกับผู้อื่นในรูปแบบที่มีความหมาย

เส้นทางของเธอคนนี้ทำหน้าที่เป็นเครื่องเตือนใจถึงบทบาทสำคัญของแฟนๆ หรือผู้สนับสนุนซึ่งมีต่อนักกีฬา ทีมกีฬา และชุมชนกีฬาในวงกว้าง

Author

เพ็ญแข สร้อยทอง

Author

เชื่อในพลังของตัวอักษรและการเล่าเรื่องเพื่อสร้างแรงบันดาลใจ นอกเหนือจากบ้านแล้ว ใช้เวลาส่วนใหญ่ในร้านกาแฟ ชอบเที่ยว ชิมอาหาร อ่านหนังสือ ดูซีรีส์ ฟังเพลง แคคตัส และแมว