นับเป็นปรากฏการณ์สำหรับวงประกวด THE POWER BAND 2022 Season 2 การประกวดวงดนตรีสากล ประจำปี 2565 จัดโดยวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ คิง เพาเวอร์ ไทย เพาเวอร์ พลังคนไทย ของสนามชลบุรี…สนามประกวดที่ 2 ของปีนี้อยู่เหมือนกัน ที่มีวงจากจังหวัดบุรีรัมย์ผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศถึง 2 วง และทั้งสองวงนั้นเป็นวงจากโรงเรียนเดียวกัน…แต่แยกกันชนะการประกวดจากคนละ Class การประกวด 1 ใน 2 ยังไม่นับเรื่องที่เป็นวงข้ามภาคจากอีสานมาประกวดที่โซนภาคตะวันออก…วงนั้นก็คือ วงตัณหา นี่เอง
แม้ชื่อวงนี้จะพาให้สงสัย ชวนให้เดาที่มาที่ไปของชื่อต่างๆ นานา แต่เมื่อได้มีโอกาสมาพูดคุยกับสมาชิกตัวแทนวงทั้ง 3 คน อย่าง ลัคกี้ – ชินโชติ ผลบุญ (กลองชุด) ปัญ – ปัณณวิชญ์ บุญยะนิวาสน์ (กีตาร์) และนนท์ – ณัฐชนน พิทักษ์ตระกูล (คีย์บอร์ด) แล้ว ถึงรู้ว่าชื่อวงตัณหา กลับมีที่มาที่แสนเรียบง่ายและถูกขยายมาจากความหลงใหลในดนตรีที่เอ่อล้นของทุกๆ คนในวง
“โรงเรียนเราเล่นเพลงหลายเพลงและหลายแนวมาก สำหรับการประกวดการแข่งขันในหลายๆ ปีที่ผ่านมา ก็เลยหาเเนวเพลงที่ลงตัวไม่ได้ว่าเราจะเล่นเพลงเเนวไหนที่ยึดเป็นแกนหลักของวงดี อาจารย์ก็เลยแซวว่า ทำเหมือนเล่นดนตรีแค่สนองตัณหาตัวเองไปได้ พวกเราก็เลยตั้งชื่อวงว่า ตัณหา เพราะพวกเราจะเล่นดนตรีเพื่อสนองตัณหาตัวเองตามที่อาจารย์บอกจริงๆ นั่นแหละครับ” ลัคกี้ตอบด้วยท่าทางที่สบายๆ ปนขำเล็กน้อย ดูเหมือนนี่คงจะไม่ใช่ครั้งแรกที่มีคนถามที่มาของชื่อวงกับพวกเขาแน่ๆ
“สำหรับคนที่มีความฝัน ลงมือทำไปเลย ไม่ต้องกลัวว่าจะไม่เก่ง
ไม่มีใครเก่งตั้งแต่เกิดแน่นอน ทุกคนต้องฝึกซ้อม ทุกคนต้องเรียนรู้พัฒนาตัวเองไปเรื่อยๆ
แค่กล้า แล้วลงมือทำมัน และห้ามรอ”
ลัคกี้ – ชินโชติ ผลบุญ (กลองชุด)
“พวกผมมีความสนใจทางด้านดนตรี ซึ่งเป็นสิ่งที่พวกเราก็ชอบอยู่แล้วครับ ทีนี้ด้วยความที่ว่าเราอยากออกงานหลายๆ อย่างเพื่อหาประสบการณ์ด้านดนตรี จะได้อัปสกิลตัวเองให้เก่งขึ้น และอยากแก้ไขจุดบกพร่องของตัวเอง ก็เลยตัดสินใจมาลงประกวด”
นอกจากชื่อวงที่น่าสนใจแล้ว อีกหนึ่งสิ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กัน คือสมาชิกในวงตัณหายังเรียนชั้นมัธยมปลายอยู่เลย แต่กลับเลือกลงสมัครเข้าแข่งขันในรอบของ Class B ซึ่งเป็นรุ่นสำหรับของบุคคลทั่วไปที่มีทั้งนักศึกษามหาวิทยาลัย และวงดนตรีอิสระมืออาชีพที่ลงสมัครกันมากมาย เรียกได้ว่าถ้าเลือกลงประกวดคลาสนี้แล้ว อาจจะเสียเปรียบ…มีโอกาสที่จะไม่เข้ารอบสูงมาก เพราะเหมือนเป็นการต่อยมวยข้ามรุ่นยังไงยังงั้นเลย
“คือโรงเรียนบุรีรัมย์พิทยาคม ส่งประกวดอยู่ 2 วง ได้แก่ วงเพี้ยน และวงตัณหาของพวกเราครับ ก็เลยอยากให้วงรุ่นน้องได้ไปลุยแข่งใน Class A ส่วนพวกเราที่มีประสบการณ์มากกว่าให้มาลุย…มาเจอของจริงที่ Class B เลย เราก็แบกน้ำหนักความยากอยู่เหมือนกันครับ แต่คิดว่าเราใช้ซ้อมให้มันหนักกว่าคนอื่นเขา คูณ 2 คูณ 3 ไปเรื่อยๆ ต้องทำให้เต็มที่ที่สุด ซ้อมมายังไงต้องเล่นอย่างนั้นให้มันเป๊ะ ถามว่ากังวลไหม ก็กังวลนิดหน่อยครับ แต่ว่าเราก็มั่นใจเวลาเล่นครับ”
เส้นทางที่เปลี่ยนไป จากสนามบุรีรัมย์สู่สนามชลบุรี
ปัญเล่าว่า การเดินทางของพวกเขา มาพร้อมกับปัญหาและความเหนื่อยล้าที่ต้องเจอระหว่างทางด้วย “การเดินทางใช้เวลานานครับ ตอนที่มารถเสีย แอร์พัง เมื่อนั่งมา 13 ชั่วโมงจากบุรีรัมย์ ถึงที่พักประมาณตีหนึ่งกว่าๆ แล้วเช้าวันนั้นก็ต้องมาขึ้นเวทีประกวดเลยต่อเนื่องจากการเดินทาง เหนื่อยมากครับ”
“อยากให้ลองทำดูก่อน ลองทำตามที่ตัวเองคิดภาพไว้
มันอาจจะไม่ใช่ก้าวที่ประสบความสำเร็จภายในเร็วๆ นี้
อาจจะเป็นก้าวเล็กๆ ที่เราค่อยๆ ทำไปแล้วส่งผลให้เราสำเร็จในอนาคต”
ปัญ – ปัณณวิชญ์ บุญยะนิวาสน์ (กีตาร์)
Suggestion
วงตัณหารวบรวมความหวังและความสามารถด้านดนตรีอัดแน่นใส่กระเป๋า ออกเดินทางไกลจากบุรีรัมย์เข้ามายังสนามชลบุรี แต่ทำไมล่ะ.. ทำไมต้องเป็นสนามชลบุรี ในเมื่อสนามขอนแก่นในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือน่าจะเป็นทางเลือกแรกของพวกเขาเสียมากกว่า
“ช่วงที่มีเปิดรับสมัครสนามที่ขอนแก่น พวกผมติดแข่งรายการหนึ่งอยู่ครับ แล้วก็เป็นช่วงพักซ้อม ทำให้ไม่ได้สมัครสนามขอนแก่น เลยมาลงประกวดที่สนามชลบุรีแทน อีกเหตุผลหนึ่งก็คืออาจารย์อยากให้ลองสนามในต่างภาคบ้างครับ เพราะโรงเรียนเราจากที่รวมตัวกันหลายๆ รุ่นแล้ว เราก็จะแข่งแค่ในบริเวณทางภาคอีสานอยู่บ่อย”
ในช่วงการระบาดของโรคโควิดที่ผ่านมา ไม่ค่อยมีงานประกวดมากนัก ทำให้ต้องมีการพักวงยาวนับปี และการกลับมาเริ่มเดินสายประกวดดนตรีในปีนี้ เป็นอีกช่วงเวลาหนึ่งที่พวกเขาต้องเริ่มจุดไฟในตัวเองขึ้นมาใหม่อีกครั้ง
“หลังจากที่รุ่นผมรวมตัวกันมา ปีล่าสุดไม่มีงานประกวดเลยครับ ตั้งแต่มีโควิดมางานนี้น่าจะเป็นงานที่ 2-3 เลยที่ได้ออกมาเริ่มเดินสายประกวด เดิมวงของเราเป็นวงประจำโรงเรียนที่มีอยู่แล้ว แต่จะเปลี่ยนรุ่นไปเรื่อยๆ เพราะว่ารุ่นพี่ก็พากันจบไป แอบกังวลเหมือนกันครับ เพราะเราเป็นทีมที่ต้องรวมตัวกันใหม่ ส่วนตัวผมผมว่าในวงก็มีการเตรียมตัวมาดี เราก็ซ้อมมาดีในระดับหนึ่ง ก็ค่อนข้างคาดหวังเลยครับ แบบคาดหวัง 2 วงเลย…ทั้งวงเราและวงน้อง อยากเข้าไปรอบชิงฯ อยากเข้าไปเจอกับวงอื่นๆ บ้าง อยากลองเข้าไปดูสนามที่มันใหญ่ขึ้นครับว่าในระดับประเทศแล้ววงอื่นๆ เขาเล่นกันยังไงบ้าง”
วงตัณหามีสมาชิกทั้งหมด 12 คน นับว่าเป็นวงที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่ ทำให้เวลารวมตัวกันเพื่อนัดซ้อมทำได้ค่อนข้างยาก ถึงกับต้องใช้คำว่าวุ่นวายเลยทีเดียวเชียว “วงของเรามีทั้งเครื่องเป่า Brass Section (ทรัมเป็ตและทรอมโบน) มี Sax Section (เครื่องดนตรีในตระกูลแซกโซโฟน) แล้วก็ Rhythm Section (กลุ่มเครื่องดนตรีที่ให้จังหวะ) ของพวกผมที่เป็น Rhythm Section ก็จะรวมตัวง่ายหน่อยเพราะว่าซ้อมกันตลอดอยู่แล้ว ส่วน Brass Section เขาต้องไปซ้อมกับทางวงโยฯ ก่อน แล้วค่อยมาซ้อมรวมวงกับพวกเราต่อ”
“พวกเรามีเวลาเตรียมตัวกันประมาณ 2 ถึง 3 สัปดาห์ประมาณนั้นครับ ไม่ค่อยเยอะเท่าไร ใช้หลังเลิกเรียนก็ซ้อมไปเรื่อยๆ มีวันหยุดก็ซ้อม เรียกว่าซ้อมทุกวันแบบไม่หยุดเลย ซ้อมหนักกว่าเดิมครับ เพราะว่าการประกวด THE POWER BAND เป็นงานใหญ่และมีคุณภาพมาก เราก็ต้องทำให้ดีสมกับที่เป็นงานใหญ่ขนาดนี้ครับ”
อย่างไรก็ดีช่วงเวลาฝึกซ้อมของวงมักจะเกิดขึ้นช่วงหลังเลิกเรียน ไปจนถึงตอนดึกของวัน ซึ่งช่วงเวลาที่สมาชิกในวงต้องใช้ด้วยกัน คือต้องคุยกันให้มากขึ้นเพื่อปรับทิศทางของวงให้เป็นภาพเดียวกัน เพราะถึงแม้ทุกคนจะมีตัณหาด้านดนตรีเหมือนกัน แต่เรื่องการสื่อสารก็ยังสำคัญกับวงด้วย
“สิ่งที่เราต้องปรับกัน คือเรื่องความเข้าใจผิด ความสับสนเวลาการสื่อสารกัน เวลาคนหนึ่งอยากให้เล่นแบบนี้ อีกคนอยากให้เล่นแบบนี้ พอสื่อสารออกมาเเล้วเราเข้าใจไม่ตรงกันอะไรประมาณนี้ครับ เราก็จะมาจูนกันอีกทีว่าเราควรจะทำไปในทิศทางไหนเพื่อมันมาบรรจบในที่เดียวกัน”
ปรับจูนกันมากไปก็ดูจะเครียดไปนิด ก็เลยต้องมีกิจกรรมกระชับมิตร แกล้งนิดๆ หยอกหน่อยๆ “ผมชอบแกล้งครับ” ลัคกี้หัวเราะเบาๆ ก่อนจะเล่าต่อ “ผมเนี่ยเป็นหัวหน้าวง เป็นมือกลอง อยู่ในวงมานานสุด ผมชอบหยอกชอบแกล้งน้องๆ บ่อยๆ คือพวกผมบ้านไกล ก็จะนอนค้างโรงเรียนกันอยู่ตลอดเพราะซ้อมดึกมาก ผมว่ามันก็ช่วยให้ความสัมพันธ์ของวงดูแน่นแฟ้นมากขึ้น…สนิทกันมากขึ้นครับ ได้แกล้งกัน”
เมื่อลัคกี้เริ่มเปิดประเด็น นนท์ก็ขอมีส่วนร่วมเล่าด้วย “พอเริ่มสนิทกัน เรื่องแกล้งเรื่องหยอกกันนี่ผมว่า มันเป็นเรื่องธรรมดาอยู่แล้วครับ ถามว่าสนุกไหมเรื่องแกล้งกัน ก็สนุกอยู่ครับ”
ปัญเล่าว่าตัวเขาเคยเจอวงตัณหา และมีความประทับใจกับวงนี้มาก่อนที่จะเข้ามาอยู่ในวง วันนี้ที่ได้เป็นหนึ่งในสมาชิกวงแล้ว เขากลับต้องพยายามให้ตัวเองเก่งขึ้นเพื่อเป็นหนึ่งเดียวกับวงให้ได้ “ผมเข้าวงนี้จากการที่ผมจบ ม.ต้นจากโรงเรียนอื่นแล้วมาต่อ ม.ปลายที่นี่ ผมเคยเห็นวงนี้ไปประกวดหลายงานมากครับ เคยไปเจอกันในงานประกวด ชื่นชมวงนี้มากครับ แล้วมาวันหนึ่งเราได้เข้าไปอยู่ในวง ตอนที่เข้าไปตอนแรกก็รู้สึกกดดันตัวเองเหมือนกันครับ เพราะตอนนั้นฝีมือในการเล่นของผมอยู่ในระดับแค่พอเล่นได้ เลยคิดว่าต้องกระตือรือร้นมากกว่านี้ ต้องพยายามฝึกเพื่อที่จะอยู่กับเขาให้ได้ อยู่กับวงให้ได้”
“ทุกอย่างเริ่มต้นจากศูนย์ การที่เราจะมาได้ถึงขนาดนี้เราก็ต้องผ่านอะไรมาเยอะเหมือนกัน มันอาจจะลำบาก มันอาจจะต้องพยายาม แต่ถ้าเราพยายามขึ้นอีกกว่าคนอื่นสักนิดหนึ่ง เราก็อาจจะประสบความสำเร็จอย่างที่เราหวังก็ได้” นนท์พูดให้กำลังใจทิ้งท้าย
“ทุกอย่างเริ่มต้นจากศูนย์ จะมาได้ถึงขนาดนี้ ต้องผ่านอะไรมาเยอะเหมือนกัน
ถ้าพยายามกว่าคนอื่นสักนิดหนึ่ง เราก็อาจจะประสบความสำเร็จอย่างที่เราหวังก็ได้”
นนท์ – ณัฐชนน พิทักษ์ตระกูล (คีย์บอร์ด)
เรียนรู้ และสู้ต่อ
กับ THE POWER BAND ในรอบถัดไป “รอบชิงชนะเลิศ”
ตามที่พวกเขาหวังไว้ วงตัณหาได้เป็นหนึ่งในวงที่ผ่านเข้ารอบ เป็นตัวแทนของสนามชลบุรีเข้าไปลุยต่อในรอบชิงชนะเลิศแล้ว! “พวกเราพอมีความสามารถทางด้านดนตรีแล้วก็อยากจะแสดง อยากมาแข่งขัน พอมาเจอว่ามีเวทีประกวดแบบนี้ เราก็ตัดสินใจลงสมัครทันทีเลยครับ”
“เวที THE POWER BAND ให้ประสบการณ์และยังให้เราได้รู้จักจุดบกพร่องกับสิ่งที่ทำพลาดไปด้วย ทำให้เรานำคำติชมจากกรรมการ รวมทั้งความเห็นของกรรมการที่วงอื่นๆ ได้รับ เอาทั้งหมดไปใช้ปรับปรุงแก้ไขพัฒนาฝีมือตัวเองให้ดีกว่านี้ พวกเราก็จะพัฒนาตัวเองเพื่อไปเป็นวงที่ดีกว่านี้ในอนาคตครับผม”
มาร่วมให้กำลังใจและพบกับพวกเขาได้ในรอบชิงชนะเลิศระดับประเทศ ที่ THE POWER BAND 2022 SEASON 2 รอติดตามกันได้เลยนะ!