Summary
The Humble วงดนตรีที่มีชื่อแปลว่า “อ่อนน้อมถ่อมตน” แต่ตัวจริงเขาสู้แบบไม่ยอมแพ้ใคร เลยชวนมาย้อนเล่าถึงโอกาสที่ได้เข้าร่วม The Power Band Music Camp เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เสริมแรงบันดาลใจจากศิลปินรุ่นพี่ และมีเพื่อนใหม่ๆ ที่รักในเสียงดนตรีเหมือนกัน กลับมีความผูกพันและพร้อมจะเชียร์เพื่อน (ซึ่งจริงๆ คือคู่แข่ง) หน้าเวที แต่ถ้าถึงเวลาที่เขาได้ก้าวขึ้นเวทีบ้าง “เต็มพลัง ไม่ยอมใครเหมือนกันครับ”
“มีเพื่อนใหม่ เพราะเรามา The Power Band Music Camp”
ตัวแทนของวง The Humble เอ่ยขึ้นมา เพื่อเล่าถึงสิ่งที่พวกเขาได้รับกลับไปมากกว่าคำว่า แพ้-ชนะ จากเวที THE POWER BAND
“ที่แคมป์เราได้เพื่อนจากต่างจังหวัด ต่างโรงเรียน ต่างวงเยอะเลย เราได้คุยกันว่าแต่ละวงใช้เครื่องแบบไหน เล่นแบบไหน มาแชร์ความแตกต่างกัน รอบชิงฯ เรามาเจอกันอีกครั้ง มาผลัดกันเชียร์เพื่อน” เป็นมิตรภาพที่หาได้ยากยิ่ง…ยิ่งกว่าชัยชนะ รางวัลบนเวทีอาจมีเพียงไม่กี่รางวัล แต่ความรู้ที่แคมป์มอบให้ทุกวงที่ผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศสิ นับเป็นรางวัลสำหรับทุกคนและทุกวงจริงๆ
ชีวิตวัยหนุ่มสาวของน้องนักเรียนมัธยม โรงเรียนมหาวชิราวุธ จังหวัดสงขลา ได้วิ่งตามความฝันมาไกลถึงรอบชิงชนะเลิศ THE POWER BAND 2023 Season 3 จัดโดย คิง เพาเวอร์ ร่วมกับ วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้คนรอบข้างต่างพร่ำบอกว่า “ทุกความฝันนั้นเป็นไปได้” แต่ศิลปินวัยรุ่นก็ยังถ่อมตน ดังความหมายของชื่อวง The Humble ที่แปลว่า “อ่อนน้อมถ่อมตน”
“เป้าหมายก็อยากชนะล่ะ แต่ชนะไม่ได้หมายถึงอยากให้วงอื่นมาบอกว่าเราเก่ง เราแค่อยากจะปลด ล็อกตัวเอง ว่าครั้งหนึ่งเราก็ทำได้ รางวัลเป็นแค่เครื่องยืนยันว่าเราทำได้นะ ถ้าทำเต็มที่แล้ว เราจะไม่เสียดาย”
วันนี้น้องๆ กำลังเขียนประวัติศาสตร์หน้าสำคัญให้กับตัวเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการได้นำสิ่งที่ได้จากการอบรมไปพัฒนาการเล่นดนตรีของวงกัน
“ไม่ได้อยากให้คนอื่นมาบอกว่าเก่ง
แต่อยากให้แนวดนตรีแบบที่เราคิดว่าใช่
มันใช่…สำหรับใครอีกหลายคน”
วง The Humble (Class A) รุ่นมัธยมศึกษา
THE POWER BAND 2023 Season 3
“จุดเริ่มฝัน”
ในปีนี้โรงเรียนมหาวชิราวุธ มีห้องเรียนดนตรี แต่จำนวนนักดนตรีก็ไม่มากนัก อีกทั้งสมาชิกเดิมของวง The Humble ที่เคยพาเข้ารอบคว้ารางวัลชมเชย บนเวที THE POWER BAND 2022 บางคนก็จบการศึกษาไปแล้ว จึงต้องทำการออดิชันเพิ่ม (คลิกอ่านเรื่องของวง The Humble เมื่อปีที่แล้ว) เราชวนสมาชิก 4 คนเป็นตัวแทนของเพื่อนๆ ในวงมานั่งคุยกัน
“นักดนตรีในชมรมที่โรงเรียน มีประมาณ 20 คน ส่วนใหญ่เป็นนักร้องหญิง” กร – ฐิติพงศ์ ช่องชะงัก หนุ่มนักร้องนำของวงพูดเสียงนุ่มๆ ทางมือกีตาร์ ชิคเก้น – ณภัทร ล่องเซ่ง รีบเสริม “กีตาร์รองลงมาครับ มือเบสน้อย มือกลองน้อย แรกสุดผมตีกลอง เพราะผมเห็น พี่ชัช มือกลอง Bodyslam ในคอนเสิร์ตแล้วเท่มาก แต่อยู่ๆ ก็เปลี่ยนมาเล่นกีตาร์ ไม่รู้ทำไม อาจคิดว่ากีตาร์มันได้ยืนแถวหน้า มีคนเห็น”
มือเพอร์คัชชัน ไกด์ – อนิวัตติ์ หมื่นเดช รีบเอ่ย “แต่ผมน่ะตีกลองและเล่นเพอร์คัชชันด้วย ไม่ได้เล่นอย่างอื่น เล่นมาตั้งแต่ประถม ตอนแรกยังไม่คิดอะไรมาก แต่ช่วงมัธยมนี่อยากเท่เลยกะเข้ามาอวดสาวนี่ล่ะ ไปๆ มาๆ ก็อยู่กับมันทุกวัน”
หันมาหา อาซา – อาซา เทวรักษ์ มือคีย์บอร์ดบ้าง “ที่จริงผมเคยเป็นนักร้องครับ แต่พอเสียงเริ่มแตก control เสียงยาก แล้วตอนนั้นมือคีย์บอร์ดในวงไม่มีพอดี ก็ไปเลยเล่นคีย์บอร์ด เล่นไปมาแล้วชอบก็…ยาวเลย”
ทางนักร้องมาแปลกกว่าคนอื่น เพราะเริ่มจากความฝันของแม่ “แม่ผมอยากเป็นนักร้อง แต่ยุคนั้นไม่มีโอกาส ไม่มีใครสนับสนุน พอมีผมเข้ามาแม่ก็…เออเนี่ย…ร้องเพลงนะ แรกๆ ก็ไม่ได้สนใจมาก แต่ตอนนี้รู้สึกว่ามีความสุข” พอถามถึงไอดอล กรตอบเร็วมาก “พี่หนึ่ง ETC. นี่ล่ะ ที่เป็นแรงบันดาลใจในหลายด้านของผม”
มิน่าล่ะ ตอนที่วง ETC. มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในชั้นเรียน The Power Band Music Camp ถึงดูสนใจมากเป็นพิเศษ
Suggestion
“ยังไง…ก็พยายาม”
เห็นนักเรียนจากจังหวัดสงขลาเข้ารอบกันมาหลายวง แต่พอถามถึงโรงเรียนที่เรียนดนตรีในจังหวัดแล้วกลับไม่ค่อยมี “ส่วนใหญ่ต้องขวนขวายกันเอง” น้ำเสียงชิคเก้นยังดูสดใส ในขณะที่คนฟังอย่างเรารู้สึกเหนื่อยแทน…มีตังค์เรียนก็ไม่มีที่สอนให้เหรอ “ใช่ครับ ถ้าในอำเภอเมืองมีที่เดียวครับ แล้วก็มีที่หาดใหญ่”
“คนเก่งดนตรีมีเยอะนะครับ” กรดูจริงจังมากขึ้น “แต่เกิดจากความพยายามของตัวเองเสียเป็นส่วนใหญ่ คนเก่งๆ ไม่ค่อยอยู่สอน ส่วนใหญ่เขาไปเล่นที่อื่น ไปเล่นเป็น Back up ทำนองนั้น”
โอกาสที่จะได้พบผู้รู้ อย่าง พี่แก๊ป – อรรถพล หมั่นเจริญ นักร้องรุ่นพี่ที่มาสอนใน Voice Clinic คงไม่มากนัก “พี่แก๊ปอาจไม่ได้สอนพื้นฐานอะไรมาก เพราะพี่เขาคิดว่าเราคงมีพื้นฐานกันอยู่แล้ว” ซึ่งความจริงน้องก็ยังไม่ได้มีพื้นฐานที่แน่นนัก “แต่ฟังพี่แก๊ปอธิบายว่าจะทำยังไงให้เข้าใจความหมายของเพลง เรื่อง dynamic ในเพลงอะไรพวกนั้น มันช่วยได้เยอะเลยครับ ผมคงต้องกลับไปทำความเข้าใจเนื้อหาของเพลงให้มากกว่านี้ แล้ว dynamic ในการร้องก็น่าจะดีขึ้น”
ในการแข่งขัน กรต้องร้องเพลงของ BOWKYLION พอได้มาเจอตัวจริงพี่โบกี้และฟังวิธีคิดของเธอแล้ว มีผลต่อตัวเขาไม่น้อย “พี่โบกี้เขามี mindset ที่ดี การทำงานของเขาเหมือนงานศิลปะ มี emotional ใส่อารมณ์ความรู้สึกเข้าไปในชิ้นงาน งานบางชิ้นในรายละเอียดไม่ได้หวือหวา แต่พอใส่อารมณ์เข้าไป มันเข้มข้นมากครับ”
ถามถึงอนาคต กรยังอยากเดินทางสายดนตรีต่อ แต่จะเป็นศิลปินหรือเป็นครูดนตรียังคงต้องดูกันต่อไป
เพลงที่ฟังได้ทั้งปี
กร (ร้องนำ): “สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าหัวใจ” ของ ETC.
เพลงอื่นๆ กราฟของเพลงอาจขึ้นๆ ลงๆ แต่เพลงนี้ เริ่มต้นจากศูนย์ แล้วก็ไม่ได้กลับลงไปอีกเลย “
เพลงมันกลมกล่อม ผมชอบอะไรที่อยู่รวมกันแล้วพอดี”
อาซา (คีย์บอร์ด): “กล่อม” ของ ASIA7 ดีมากๆ สำหรับเขา ถึงขั้นเป็นแรงบันดาลใจของชีวิตเลย
“ผมชอบฟังดนตรีที่มี Tension chord แล้วเพลงนี้มีทั้งเพลงเลยด้วย”
เครื่องดนตรีก็หลากหลาย เครื่องดนตรีไทยก็มี แซกโซโฟนก็มี แต่สามารถเรียบเรียงได้ลงตัว
“อยากขึ้นเวทีใหญ่ๆ”
Music Camp นอกจากกระตุ้นในด้านความคิด บทเรียนในด้านทักษะก็มีเหมือนกัน “ใน Keybord Clinic ในใจผมเตรียมจะได้ทฤษฎีใหม่ๆ หรือคอร์ดใหม่ๆ เพราะผมชอบ Tension chord พวกคอร์ดยากๆ” อาซาเอ่ยถึงความคาดหวัง “แต่เขาสอนสิ่งที่ผมไม่คาดคิด คือ สอนการผสมเสียง การใช้เสียง การปรับ Sound ให้เข้ากับวง”
คนสอนน่ะ พี่เอม Aimzillow ที่เคยอยู่ในวงชนะเลิศ Class B ในซีซันแรกเลยนะ ย้อนกลับไปอ่านเรื่องวงถุงเท้าแดงไม่แรงได้ไง “จริงๆ ก็เคยสนใจอยู่แต่ไม่ได้ลงลึกเท่ากับที่เขาสอน ที่ผ่านมาผมไม่เคยสนใจเรื่องการใช้เสียงให้เข้ากับเพลงมากเท่าไร เขาสอนว่าแต่ละเสียงต้องเล่นคนละสไตล์ เช่น เราจะเล่นไลน์สตริงให้เหมือนเล่นเปียโนไม่ได้ แต่ละเสียงต้องมีวิธีเฉพาะ” ก็จะได้เอาไปปรับใช้ต่อไป
“ก่อนหน้านี้ผมกับอาซาต่างคนต่างใส่เลย” ชิคเก้นพูดติดตลก “ไลน์คีย์บอร์ดกับไลน์กีตาร์คิดมายากๆ ทับกันมั่ว ฟังไม่ออกเลย คงต้องไปวางแผนให้ดีขึ้น”
ด้านมือเพอร์คัชชัน เมื่อผ่าน Drum Set Clinic ก็เหมือนเพิ่มเทคนิคให้ตัวเอง “ที่พี่ Action Jay Jackson สอนเป็นเทคนิคที่เรายังไม่รู้ อย่างเรื่องการเหยียบกระเดื่อง การใช้ไฮแฮท ว่าเราควรใช้และควรใส่เข้าไปตรงไหน คิดว่าเอาไปปรับใช้ได้” แล้วเรื่องการรวมวงที่พี่ ETC. สอนล่ะ “อันนั้นต้องเอาไปปรับใช้เวลาซ้อมได้เลยครับ”
“เหมือนมีแรงส่งให้เราไปต่อได้ไกลมากๆ” กร frontman พูดเสียงนุ่มเหมือนเคย “สามวันสองคืนที่เรามาอยู่ด้วยกันรู้สึกมั่นใจมากขึ้น ได้ฟังพี่ๆ ศิลปินที่เขามองลงมาจากมุมของเรา คือ เราเดินทางมาเส้นทางเดียวกัน ปลายทางเราอาจจะยังมองไม่เห็น พี่ๆ ก็มาเล่าว่าเขาใช้วิธีไหน เขาทำยังไง มันเหมือนเป็นคู่มือบอกว่าเราควรจะไปทางไหน แม้ไม่รู้ว่ามันจะสำเร็จจริงๆ หรือเปล่า แต่มันทำให้เรากล้าที่จะเดินต่อ”
ไกด์ยิ้มกว้าง…ยังไงล่ะเรา “ตอนนี้อยากเป็นแบบพี่ดั๊ก (สุทธิพงษ์ ปานคง – มือกลอง ETC.) อยากขึ้นเวทีใหญ่ๆ คนดูเยอะๆ”
แว่วเสียงแซวมาจากข้างหลัง “ฝันเป็นคนเก็บของบนเวทีครับ” ใครพูดเนี่ย!!!!
เพลงที่ฟังได้ทั้งปี
ชิคเก้น(กีตาร์): ตอนนี้นึกเพลงไม่ออกแต่อยากฟังเพลงสนุกๆ
เพื่อนแซวว่า เพลงรำวงดาวพระศุกร์ พร้อมฮัมทำนองให้ด้วยชิคเก้นยิ้มอ่อน พอถามว่า…เอกชัย ศรีวิชัย ไปเลยไหม “ใช่ๆ เพลงหมากัด แบบนั้นเลย”
ไกด์(เพอร์คัชชัน): “รักแรกพบ” ของ Tattoo Colour ฟังแล้วรู้สึกสบายใจ
“ช่วงโซโลก็ไม่ได้เยอะ ผมชอบเพลงช้า ๆ ที่มีโซโลคีย์บอร์ดด้วย ชอบเพลงแทตทูอยู่แล้ว” ตีเพอร์คัชชันมาเยอะสินะ ถึงชอบเพลงที่สวยงามแบบเรียบง่าย
Suggestion
“คู่แข่งที่ไม่ได้แข่งกัน”
เด็กมัธยมเดินทางมาเข้า The Power Band Music Camp สามวันสองคืน คนรักดนตรีเหมือนกัน ได้มากินนอนด้วยกันมิตรภาพย่อมบังเกิด
“ที่แน่ๆ ได้รู้จักกับวง The Abstract จากลำปาง คลิกอ่าน กับ วงสกลพัฒน์ จากสกลนคร คลิกอ่าน นั่งคุยกันทุกคืนเลย เพราะนอนห้องเดียวกัน” ดีจังเด็กปักษ์ใต้แบบไกด์ได้มีเพื่อนร่วมทางดนตรีเป็นเหนือกับอีสานด้วย “เอาความรู้เรื่องดนตรีมาแลกเปลี่ยนกัน คุยถึงเรื่องในวงว่าอยากจะไปทางไหนกันต่อ”
“พูดจริงๆ เขาก็คือคู่แข่งเราล่ะ” กรพูดถึงเพื่อนต่างวงบ้าง “แต่ในความรู้สึกผม ถึงจุดนี้แล้วเขาชนะผมยินดีด้วยนะ เราก็เล่นดนตรีเหมือนกัน ต่อให้เขารู้ว่าเราทำอะไร เขาก็จะทำมาอีกแบบ เขามีทางแบบเขา เราก็มีทางแบบเรา สุดท้ายเราทุกวงไม่เหมือนกันแน่ๆ ลึกๆ ผมรู้สึกว่าเราไม่ได้แข่งกัน แค่วันชิงฯ ใครทำออกมาได้โอเคที่สุดเท่านั้นเอง”
พอถามว่าสักวันมีโอกาสจะไปรวมกับวงอื่นๆ มาลงแข่งไหม กรหันไปมองเพื่อนครู่หนึ่ง “ตอนนี้ยังครับ แต่ถ้าผมโดนไล่ออกจากวงนี้ก็ไม่แน่ อาจจะไปอยู่กับวงอื่น” เสียงหัวเราะของเพื่อนๆ เหมือนยืนยันว่า…เอ็งไม่ได้ไปไหนหรอก!!!!
ทำวันนี้ให้ดี…เพื่อจะได้มีประวัติศาสตร์ที่ดีในวันพรุ่งนี้ครับ
สมาชิกทั้งหมดวง The Humble ปี 2023 (Class A สนามสงขลา) 1. กัน – พันธุ์พิศิษฐ์ อ่อนคล้าย (อัลโตแซกโซโฟน) / 2.นนท์ – นนทชาติ นุ้ยกลั่น (ทรัมเป็ต) / 3. เพลง – รินรดา กาเลี่ยง (นักร้อง) / 4. กร – ฐิติพงศ์ ช่องชะงัก (นักร้อง) / 5. ปุ๋มปิ๋ม – กานดิศา มานีมาน (นักร้อง) / 6. กี้ – รติการ จันทชาติ (เทนเนอร์แซกโซโฟน) / 7.บอส – นพรุจ ตันชะโร (ทรอมโบน) / 8.ณัฐ – เมธาสิทธิ์ สินหอยราก (เบส) / 9.ชิคเก้น – ณภัทร ล่องเซ่ง (กีตาร์) / 10.ไกด์ – อนิวัตติ์ หมื่นเดช (เพอร์คัชชัน) / 11.คิม – นฤภัททร์ รัตนี (กลอง) / 12.อาซา – อาซา เทวรักษ์ (คีย์บอร์ด)