ทำเอาเวทีสะเทือนอยู่ไม่น้อยกับการแสดงของ The Piclic Band วงดนตรีรุ่นคลาส A ระดับมัธยม จากโรงเรียนวชิราลัย จังหวัดเชียงใหม่ ที่เพิ่งผ่านสนามภาคเหนือเข้าไปสู่รอบชิงชนะเลิศการประกวด THE POWER BAND 2022 Season 2 จัดโดยวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ร่วมกับ คิง เพาเวอร์ ไทย เพาเวอร์ พลังคนไทย
เดอะ ปิ๊กลิ๊ก แบนด์ คือวงเกิร์ลแบนด์ที่เปิดตัวมาด้วยภาพลักษณ์ของเด็กหญิงหน้าตาน่าเอ็นดู 5 คน ถักเปีย สวมยูนิฟอร์มโรงเรียน พอได้จับเครื่องดนตรีเท่านั้น ต่างก็พากันซัดโน้ตบนเวทีแบบไม่ยั้ง ทำเอาคณะกรรมการและคนดูอึ้งทึ่งไปกับลีลาร็อกสุดเหวี่ยงของพวกเธอ
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นวันนั้นปฏิเสธไม่ได้ว่า ผู้รับบท “ครูผู้คุมวง” คือคนที่มีบทบาทต่อวงดนตรีวงนี้ไม่ใช่น้อย เพราะเขาสามารถเรียบเรียงโชว์ให้ออกมาได้อย่างสนุกสนาน ซึ่งคนที่ทำหน้าที่อยู่ตรงนั้น สมาชิกชาว เดอะ ปิ๊กลิ๊ก แบนด์ ต่างเรียกเขาว่า ครูแตน – ฐิติพงศ์ วงศ์ชัย ครูผู้ทำหน้าที่ลมใต้ปีกส่งลูกศิษย์ตัวน้อย บินสู่ความสำเร็จในสนามประลองเพลง
“เด็กๆ เขามีความมุ่งมั่นมากนะครับ เรียกซ้อมก็จะมาตามเวลานัดเลย
ด้วยความเป็นเด็กไง ต้องไปซ้อม…เขาจะรู้หน้าที่รู้เวลา แต่เวลาเล่นเขาก็ไปเล่นของเขา”
ครูแตน – ฐิติพงศ์ วงศ์ชัย ผู้ดูแลวง เดอะ ปิ๊กลิ๊ก แบนด์
“เรื่องดนตรีนี่เป็นความชอบของผมมาตั้งแต่เด็กๆ ด้วยความที่ผมเรียนไม่ค่อยเก่ง เลยจะไปทำกิจกรรมมากกว่า ตอนเรียนประถมที่โรงเรียนอนุบาลเวียงแก่น ผมไปเข้าวงดุริยางค์ของโรงเรียน” นั่นคือจุดเริ่มต้นในเส้นทางการเล่นดนตรี “พอเข้ามัธยมที่โรงเรียนเวียงแก่นวิทยาคม ผมก็ไปอยู่วงดุริยางค์เหมือนเดิม ด้วยที่ว่าโรงเรียนแถวบ้านไม่ค่อยมีเรื่องของวงดนตรีเท่าไร พวกอุปกรณ์ซ้อมค่อนข้างหายาก ห้องซ้อมนี่แทบจะไม่มีเลย ก็เลยไม่มีโอกาสในเรื่องของดนตรี ช่วงเรียนมัธยมเลยจะเล่นแค่ดุริยางค์” ครูแตนมาเปิดเผยเรื่องราวและหน้าที่ของ “ครูผู้คุมวง” ให้เราได้ฟังช่วงเวลาหนึ่ง หลังผ่านการประกวดที่สนามเชียงใหม่ได้ไม่นาน
คนที่อยากเล่นดนตรีขอให้ฟังครูแตนตรงนี้
• คนที่เก่งหรือไม่เก่ง ตรงนี้มาพัฒนากันได้ ขอแค่ใจเราก่อน ใจต้องตั้งมั่น
• ลองมาทำ แล้วไปให้สุด กล้าฝัน กล้าทำ
อย่างผมเองเคยมีความฝัน ในการเปิดโรงเรียนดนตรี ตอนนี้ก็ได้เปิดโรงเรียนดนตรี แตน มิวสิคเฮาส์ แล้วนะครับ (ใครสนใจก็เข้าไปดูได้ทางเฟซบุ๊กหรือทางเพจ Tan Music รับสอนดนตรีที่ อ.สารภี เชียงใหม่) ใครสนใจอยากจะเรียนฟรีก็ได้นะครับ ขอแค่มีใจอยากเรียน
ผมจะสอนให้!
ครูแตนเล่าต่อเนื่องว่า ในช่วงนั้นความฝันที่อยากเล่นดนตรีสากลก็เริ่มมีเข้ามาบ้าง แต่การจะหาอุปกรณ์มาเอื้ออำนวยชีวิตที่ดำเนินอยู่ในพื้นชนบทก็ไม่ใช่เรื่องง่าย สิ่งที่ทำได้ก็คือพยายามครูพักลักจำ การเล่นดนตรีของกลุ่มครูผู้คุมวงดุริยางค์ของโรงเรียน และเครื่องดนตรีชิ้นแรกที่พอจะหามาซ้อมเล่นได้ตอนนั้นคือกีตาร์โปร่งของพี่สาว
ในวัยเด็ก ภาพความฝันของการเป็นนักดนตรียังไม่เกิดขึ้นชัดเจนนัก เพราะครูแตนมีฝันเผื่อเลือกไว้อีกทาง “ถ้าฝันอันดับหนึ่งตอนนั้น คืออยากเป็นช่างซ่อมรถมอเตอร์ไซค์ ซ่อมรถยนต์ (หัวเราะ) ก็เลยคิดว่าเราจะไปด้านวิศวะฯ พอตอนไปสอบเข้ามหาวิทยาลัยสายวิศวะฯ ก็ไม่ติด เลยกลับมาคิดกับตัวเองว่า เรายังมีความฝันอีกอย่างคืออยากเป็นครูสอนดนตรี ตอนนั้นก็เลยไปสมัครโดยยื่นพอร์ต (portfolio) ในรอบโควต้า ก็ติด เลยเป็นจุดเริ่มต้นว่าเราจะมาสายนี้”
หลังได้โควต้าเข้าเรียนดนตรีที่มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ชีวิตจากนักเรียนดุริยางค์ ก็พลิกสู่การเรียนดนตรีสากลแบบเต็มตัว นอกจากการเลือกเรียนวิชาเอกทรัมเป็ตและวิชาโทคีย์บอร์ดแล้ว ครูแตนยังได้ฝึกฝนเล่นเครื่องดนตรีสากลอีกหลายชิ้นเพิ่มเติม ต่อมาเขาได้ตั้งวงดนตรีกับเพื่อนๆ และเริ่มออกหาประสบการณ์จริง ด้วยการไปเล่นดนตรีตามร้านอาหารกลางคืน พร้อมความตั้งใจบางอย่างที่คิดไว้ “ก็มีช่วงที่อยู่ปี 1 ปี 2 ผมทำงานหารายได้เสริมไปด้วย ก็คือเป็นเด็กเสิร์ฟอยู่ร้านของไม้เมือง ที่ไปสมัครร้านนี้เพราะเราตั้งใจอยากไปดูเอกลักษณ์ในการร้องเพลง เล่นกีตาร์ ก็ไปอยู่ตรงนั้นประมาณปีกว่าครับ”
หลังสะสมประสบการณ์จนชำนาญ บวกกับเรียนจบมหาวิทยาลัยพอดี ความคิดในเรื่องการทำงานก็เริ่มต้นขึ้นทันที ด้วยความมีใจที่จะเป็น “ครูสอนดนตรี” ทำให้ครูแตนไปสมัครเป็นครูที่โรงเรียนวชิราลัย เพราะเคยมีโอกาสได้ร่วมงานกับทางโรงเรียนมาก่อน
“ตอนเรียนมหาวิทยาลัย ผมเคยมาเป่าทรัมเป็ตร่วมกับวงซิมโฟนีของโรงเรียนมาตลอด ตั้งแต่ปี 1 ปี 2 ปี 3 พอเรียนจบใน 4 ปี ก็มีครูที่ควบคุมวงดุริยางค์ เขาลองแนะนำให้มาคุยกับผู้จัดการโรงเรียน เขาก็บอก ‘โอเค เคยเห็นเธอมาร่วมงานกับโรงเรียนอยู่ประจำ’ ผมก็เอาพอร์ตที่เคยมาเล่นให้เขาดู พอเขาเห็นภาพต่างๆ ก็จำได้ เจ้าของเขาเลยรับผมเข้าทำงานประจำในตำแหน่งครูสอนภาควิชาอิเล็กโทนครับ” สอนไปได้สัก 2 ปี ครูแตนก็ตัดสินใจไปเรียนเอาวุฒิด้านครุศาสตรบัณฑิต ที่มหาวิทยาลัยฟาร์อีสเทอร์นเพิ่มเติม เพราะวุฒิปริญญาตรีที่เขาจบมาคือสาขาศิลปศาสตรบัณฑิต
“เพราะเราอยากเป็นครู เราเลยต้องมีใบประกอบวิชาชีพนะถึงจะได้เป็นครูเต็มตัว !”
ในช่วงแรกๆ ของการเรียนการสอน โรงเรียนวชิราลัยยังไม่มีชมรมดนตรีสากลเป็นเรื่องเป็นราว มีเพียงแค่ชมรมดุริยางค์และดนตรีไทยเป็นหลัก ด้วยความที่ช่วงนั้นเครื่องดนตรีอูคูเลเล่กำลังเป็นที่นิยม ครูแตนจึงเปิดสอนพิเศษอูคูเลเล่ในช่วงหลังเลิกเรียนให้กับเด็กๆ ที่สนใจ และเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ครูได้เห็นพรสวรรค์ของลูกศิษย์ตัวน้อยกลุ่มหนึ่ง
“ตอนผมสอนพิเศษ ยังไม่ได้เปิดโรงเรียนสอนดนตรีของตัวเอง ก็จะมีการซ้อมกันตอนเที่ยง แล้วก็ตอนเย็นนิดๆ หน่อยๆ ก็มีกลุ่มมาเรียนอูคูเลเล่เยอะเหมือนกัน เผอิญวันนั้นวงปิ๊กลิ๊กมาเรียนเสริมเหมือนกัน เห็นเป็นวงผู้หญิงตัวน้อยๆ พอมาเล่นแล้วก็มีความชื่นชอบ แต่ละคนก็เอาอูคูเลเล่ของใครของมันมา แล้วก็มานั่งเล่นด้วยกัน พอเล่นไปเรื่อยๆ เด็กกลุ่มนี้ก็เริ่มจะมีแววออกมา เล่นไปด้วย ร้องไปด้วย ‘เฮ้ย จังหวะดีนะ’ ก็คือโดดเด่นกว่ากลุ่มอื่นๆ เราก็มองแล้วว่าเขาน่าจะไปได้ไกล ก็พยายามเอาออกเล่นตามงานโรงเรียน เล่นโชว์อูคูเลเล่ตอนพักเที่ยงบ้าง ก็เลยเป็นจุดเริ่มต้นของปิ๊กลิ๊ก คือเล่นเป็นวงอูคูเลเล่มาก่อน”
Suggestion
เมื่อแววการเล่นดนตรีของเด็กๆ เริ่มชัดขึ้น ครูแตนจึงคิดเปลี่ยนภาพวงอูคูเลเล่ให้เป็นวงสากลนิยมแทน เขาเริ่มไปเสาะหาเครื่องดนตรีที่มีขนาดเล็ก เพื่อให้เข้าสรีระการเล่นของเด็กๆ พร้อมจับศักยภาพว่าใครเหมาะสมกับการเล่นเครื่องดนตรีชิ้นไหน เมื่อทุกอย่างพร้อม สมาชิกทั้ง 5 ก็เปิดตัวอย่างเป็นทางการในนาม เดอะ ปิ๊กลิ๊ก แบนด์ “ตอนนั้นเด็กๆ เขาก็ขึ้น ป.4 ป.5 กันแล้ว เขามีความมุ่งมั่นมากนะครับ เวลาเรียกซ้อมก็จะมาตามเวลานัดเลย ด้วยความเป็นเด็กไง ซ้อมก็ต้องไปซ้อม เขาจะรู้หน้าที่รู้เวลาของเขา แต่เวลาเล่นเขาก็ไปเล่นของเขา แต่ผมก็พยายามจัดสรรเวลาว่าเวลานี้เราซ้อมนะ เวลาที่ไปเล่นก็ไป แล้วช่วงที่เดอะ ปิ๊กลิ๊ก แบนด์ เริ่มเป็นวง เป็นช่วงที่ในหลวง รัชกาลที่ 9 สวรรคต วงก็เริ่มมีการแสดงที่เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ ก็จะมีกิจกรรมในโรงเรียน เราก็พยายามเล่นเพลงเกี่ยวกับในหลวงเยอะขึ้น…เริ่มไปออกงานช่วงนั้น”
จากก้าวแรกวันนั้น ครูแตนมองเห็นถึงก้าวกระโดดของลูกศิษย์ที่ดีขึ้นตามลำดับ ด้วยหน้าที่ของ “ครูผู้คุมวง” เขาจึงพยายามอย่างมาก ในการช่วยส่งพัฒนาการให้เด็กๆ ได้ทำความเข้าใจกับมู้ดการเล่นดนตรีในรูปแบบแบนด์ “เวลาจะเล่นเพลง ผมก็จะมีการเปิดคลิปให้ดู เพลงที่เราจะเล่นจะมีอารมณ์ประมาณนี้นะ ด้วยความที่เขาเด็ก เขาก็อาจจะยังไม่รู้อารมณ์เพลง แต่เราก็พยายามอธิบายไปก่อนด้วยภาษาที่เขาพอจะเข้าใจง่ายๆ เปิดคลิปแล้วก็อธิบายเป็นเรื่องราว แล้วตอนนี้พอให้โจทย์ไป เขาก็คิดได้ละ แต่เราก็ต้องไปอธิบายเพิ่มว่า เพลงที่เราจะเล่นมันอารมณ์ประมาณนี้ แบบนี้นะ ต้องเล่าให้เห็นเป็นภาพมาก่อน พอเวลาเล่นจริงอินเนอร์เขาจะออกมาเอง”
ในส่วนของเป้าหมายที่วางกันไว้ และสนามประกวดที่เพิ่งผ่านกันมา “ตอนนี้เด็กทุกคนก็พัฒนาขึ้นเยอะตามเวลานะครับ แล้วก็มีเทคนิคในการเล่นเพิ่มขึ้น ส่วนตัวผมเองผมก็จะทำการบ้านเหมือนกัน ผมจะช็อตโน้ตว่าปีนี้เราจะมีเป้าหมายยังไง ปีหน้าเราจะมีเป้าหมายยังไงบ้าง เพื่อจะได้รู้พัฒนาการ พอเรากลับไปย้อนดูโพรไฟล์ในเฟซบุ๊กที่เราเคยไปเล่นงานต่างๆ ‘เออ ปีนี้มันกระโดดขึ้นมาเยอะพอสมควร’” ครูแตนพูดถึงเป้าหมายที่วางไว้ และเล่าถึงการเตรียมตัวสำหรับการเข้าประกวดเวทีประกวดในเวที THE POWER BAND 2022 Season 2 ด้วย
“ตั้งแต่ช่วง 2 ปีที่แล้วที่โควิดมาแรง เราก็แทบจะไม่ค่อยได้เล่นกันเลย แต่ก็พยายามให้โจทย์เขาพยายามได้ซ้อมกันตลอดเวลา ยิ่งโควิดมายิ่งไม่ค่อยได้เจอกัน ยิ่งพอเขาโตขึ้น ถ้าไม่ได้เล่นด้วยกัน พัฒนาการเขาก็จะยิ่งลดลง
ช่วงแรกก็เลยจะเป็นการซ้อมแบบออนไลน์ ผมพยายามหากิจกรรมเกี่ยวกับออนไลน์ให้เขาทำ แล้วก็ให้ติดตามข่าวสารเกี่ยวกับการประกวด พอ THE POWER BAND มา เราก็เริ่มมาวางแผนกันว่าจะเอายังไง จะเล่นยังไง คือผมจะให้โจทย์เขาเลยว่า ‘เราผ่านการประกวดมาเยอะแล้ว ตอนนี้เรามาช่วยกันคิดสิ’ ให้เขาวางแผนกันเอง แต่ผมก็จะให้คำปรึกษาตั้งแต่ ‘อะ ไปดูกติกามา หาเพลงที่จะเล่น เขากำหนดเพลงอะไร ก็ลองทำกันดู’ ผมก็จะมีหน้าที่เรคคอร์ดให้อย่างเดียว แล้วก็ตัดต่อคลิปส่ง ก็คือในช่วงแรกเขาก็จะวางแผนกันเอง ตั้งแต่แกะเพลง อะเรนจ์เพลงกันเอง”
“คือโชว์ที่เด็กๆ เขาทำ ผมมองทางด้านดนตรีหรือด้านโชว์มันก็ยังธรรมดาไป เพราะฉะนั้นเมื่อเราผ่านจากรอบออดิชันด้วยคลิปวิดีโอแล้วไปรอบแสดงสด ผมว่ามันต้องเอามาทำอะไรอีกหน่อย ผมก็มาตั้งโจทย์ว่า เพลงที่เขาเลือก ‘เจ็บน้อยที่สุด’ เนี่ย ถ้าฟังตามต้นฉบับผมว่ามันยังชิลไป ผมก็เลยเอาเพลงนี้มาทำอีกรูปแบบหนึ่ง ก็คือให้อารมณ์เจ็บน้อยที่สุดมาเป็นเจ็บมากที่สุด ด้วยอารมณ์เพลงของวงซีลต้นฉบับ จะมีอารมณ์ประมาณนี้อยู่เกือบทุกเพลงอยู่แล้ว ก็คือคีย์นี้ปกติมันจะเป็นเมเจอร์ ซึ่งอารมณ์มันจะชิลมาก เลยลองปรับ ลองไปหาคลิป แล้วเจอว่ามีเวอร์ชันหนึ่งที่วงซีลเขาเล่นกับวงอินดิโก แล้วทำมาเป็นไมเนอร์ เออ…มันเลยแปลก พอขึ้นไมเนอร์แล้วอารมณ์มันได้ ผมก็เลยมาปรับดนตรี แล้วก็ไล่เรียงอารมณ์ว่าเราจะเล่นกันแบบนี้ๆ ให้เขาฟังไปด้วย ตรงนี้ผมก็สอนเขาแล้วก็ปรับกันขึ้นมา”
การแข่งขันรอบชิงชนะเลิศกำลังงวดเข้ามาทุกที ครูแตนบอกว่า ขณะนี้วงกำลังฝึกซ้อมและวางแผนทำโชว์กันเองอย่างขะมักเขม้น ส่วนตัวครูแตนเองยังเป็นกองหนุนสำคัญ ที่คอยซัปพอร์ตในทุกๆ เรื่องให้กับลูกศิษย์เหมือนเดิม และไม่ว่าผลการแข่งขันในรอบสุดท้าย เดอะ ปิ๊กลิ๊ก แบนด์ จะพากันเดินไปสุดทางได้แค่ไหน การช่วยผลักดันให้เด็กๆ กล้าเดินออกไปต่อสู้กับความฝันของตัวเองได้สำเร็จ นั่นคือความสุขในฐานะของครูแล้ว
“เราก็จะพยายามดันให้เขาไปถึงที่สุด ไปก่อน ทำก่อน แล้วการทำวงในรุ่นถัดไปผมคิดว่า… คืออันนี้ถือเป็นต้นแบบวงที่เราทำเลย รุ่นต่อไปเราอยากจะดันให้เขามีโอกาสในด้านดนตรีแบบนี้ขึ้นมาอีก ซึ่งเด็กๆ เรามีเก่งเยอะ แต่อาจจะยังดันไปไม่สุด เลยคิดว่าเจเนอเรชันต่อไปก็น่าจะมีโอกาสแบบนี้อีกครับ”