Summary
- วงเตรียมอุดมศึกษา เดิมชื่อ ณัฐชัยธัช วงดนตรีไทยร่วมสมัย แต่เนื่องจากอาจารย์หัวหน้ากลุ่มสาระฯ ก่อนแข่งขันใน THE POWER BAND 2023 SEASON 3 ผ่านการมูหาชื่อใหม่เพื่อเอาฤกษ์เอาชัย เลยนำชื่อโรงเรียนมาตั้งชื่อวง เพื่อความเป็นสิริมงคลแข่งขันราบรื่น ลื่นไหล ผ่านฉลุย
- น้องจีนส์ มือกลอง มาจากวง Sixth Floor – THE POWER BAND SEASON 1
- น้องแชร์ ทรัมเป็ต มาจากวง I Love Wednesday – THE POWER BAND SEASON 2
เชื่อว่าหลายๆ คนน่าจะเคยได้ยินชื่อวงดนตรีไทยร่วมสมัย ‘ณัฐชัยธัช’ จากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา มาบ้างไม่มากก็น้อย เพราะไม่ว่าจะเข้าประกวดรายการไหน ก็สามารถสร้างชื่อเสียงจนคว้ารางวัลติดไม้ติดมือกลับไปได้เสมอ สำหรับการประกวด THE POWER BAND 2023 SEASON 3 จัดโดยวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ คิง เพาเวอร์ ไทย เพาเวอร์ พลังคนไทย สนามกรุงเทพฯ
พวกเขากลับมาในชื่อใหม่ ‘วงเตรียมอุดมศึกษา’ แต่แน่นอนว่าฝีไม้ลายมือยังคงแน่นเหมือนเดิม แถมยังเพิ่มเติมความแปลกใหม่ด้วยการผสมผสานเครื่องดนตรีสากลกับเครื่องดนตรีไทยได้อย่างลงตัว
แค่น้องๆ “วงเตรียมอุดมศึกษา” ก้าวเข้ามาครบทั้ง 12 คน ก็ทำให้ห้องสัมภาษณ์ดูเล็กไปทันตาเห็น สมาชิกทั้งหมดประกอบด้วย นักร้องนำ เหม่ยหลิน – ศุภภร บารมีแสงเพชร และ บาร็อก – ชลธาร เซ็นเชาวนิช เครื่องดนตรีสากล โชกุล – ไกรวี หิรัญกุล (กีตาร์) หนูมา – ศศิมา เกลี้ยงเกิด (เบส) วินเทอร์ – วชิรวินท์ เจตนาเจริญชัย (เปียโน) เฟรม – กฤษณรัตน์ ก๋งเกิด (คีย์บอร์ด) และ จีนส์ – จีนส์ วิชญาพร (กลอง) เครื่องเป่าทองเหลือง กาย – จิรภัทร ทองสุกนอก (ทรอมโบน) แชร์ – ศุภรัชญา แพร่แสงเอี่ยม (ทรัมเป็ต) และ ตี้ – ปณิธิ อัมพรสิทธิกุล (แซกโซโฟน) เครื่องดนตรีไทย เจสัน – ปัณณทัต นราแก้ว (ซอด้วง) และ เจมส์ – ณปวริศร์ วิรัตน์สกุลชัย (ระนาดเอก)
|
“ดนตรีทำให้เราโตเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น และมอบโอกาสหลายๆ อย่างให้เกิดขึ้น จีนส์ มือกลอง วงเตรียมอุดมศึกษา |
มูไม่มู มาดูกัน
ทำไมตั้งชื่อวงแบบ…กำปั้นทุบติดขนาดนี้?
“ไม่นะครับ อันนี้คือชื่อที่ผ่านการมูมาเรียบร้อยแล้ว”
แค่เริ่มต้นบทสนทนาก็น่าสนใจแล้ว
บาร็อก นักร้องนำเกริ่นถึงที่มาที่ไปของชื่อวง “อย่างที่บอกไปว่าอาจารย์หัวหน้ากลุ่มสาระฯ เป็นสายมูตัวจริง เขาไปหาชื่อใหม่ก่อนมาแข่งขันครั้งนี้ แต่สุดท้ายก็ใช้ชื่อของโรงเรียนเพราะเชื่อว่าเป็นสิริมงคลที่สุดแล้ว” จากนั้นบาร็อกก็เริ่มเล่าเรื่องฮาประจำวง “มีอยู่ครั้งหนึ่งผมเป็นตัวแทนไปแข่งร้องเพลงแล้วได้ที่ 2 กลับมา อาจารย์เขาก็ให้เหตุผลว่า ที่ผมไม่ชนะเป็นเพราะผมไม่ยอมไปไหว้พระพิฆเนศก่อนแข่งขันตามคำแนะนำของแก แล้วอาจารย์ก็ส่งคลิปมายืนยันว่า เห็นไหม? วงที่ได้ที่ 1 เขาไปไหว้กันมาก็เลยชนะ
โดยส่วนตัวผมไม่ได้เชื่ออะไรแบบนี้เท่าไร แต่บางครั้งก็ยอมทำตามบ้างเพื่อความสบายใจของทุกคน แต่ที่ฮาไปกว่านั้นคืออะไรรู้ไหมครับ ผมเป็นมุสลิมไง จะให้ผมไหว้พระพิฆเนศ คิดยังไงก็ฮาอยู่ดี” กาย มือเป่าทรอมโบนกล่าวเสริมว่า “เมื่อ 2 วันก่อนจะแข่งขัน ระนาดที่ใช้ซ้อมจู่ๆ ก็ตกลงมาจนพื้นกระเบื้องแตกกระจาย พวกเราในวงก็ซุบซิบกันว่า ลางไม่ดีแล้วแบบนี้ เลยชวนกันสวดมนต์ขอให้การแข่งขันราบรื่น มูกันไปโดยไม่รู้ตัวสงสัยได้รับอิทธิพลมาจากอาจารย์” เจสัน ปิดท้ายเพื่อตอกย้ำสายมูด้วยอีกคน “ถ้าใครเดินผ่านไปมาด้านนอกสนามแข่งแล้วเห็นพานดอกไม้ธูปเทียนตั้งอยู่ ไม่ต้องแปลกใจนะครับ ของไหว้ที่อาจารย์พวกผมเตรียมมาเอง เพื่อให้วงพวกเราแข่งขันได้แบบผ่านฉลุย ผ่านเข้ารอบอะไรแบบนี้”
บาร็อก – เหม่ยหลิน (ร้องนำ)
ฟังอะไร? “เพื่อ build ตัวเอง”
• บาร็อก: “เสน่หา” (แซม ยุรนันท์)
“ผมประกวดร้องเพลงลูกกรุงมาก่อน ฟังเวอร์ชันนี้แล้วมันเฟี้ยวดี มีทั้งบอสซ่าปนแจ๊สอยู่ในนั้น เก๋ดีครับ”
• เหม่ยหลิน: “Better Now” (Post Malone)
“รู้สึกชอบบีทและชอบเพลงของ Post Malone เป็นทุนเดิมอยู่แล้วด้วย เพลงนี้ชอบเนื้อเพลงมากค่ะ”
• จีนส์: “Love’s Train (Silk Sonic) & Understand (Keshi)”
“ผมจะมีเพลย์ลิสต์ 2 แบบคือ แบบคึก & แบบซึม ฟัง Silk Sonic แล้วรู้สึกหรู รู้สึกรวยดี แต่ถ้า Keshi จะชอบคอร์ดเพลงเขาหรือรายละเอียดดนตรี”
วินเทอร์ (เปียโน) – เฟรม (คีย์บอร์ด) โชกุล (กีตาร์) – หนูมา (เบส)
Suggestion
Learn Hard, Play Harder
แม้น้องๆ สมาชิกวงเตรียมอุดมศึกษาจะพยายามบอกว่า ทั้งหมดเป็นเพราะสายมูจึงทำให้การแข่งขันออกมาราบรื่นเป็นไปอย่างที่ตั้งใจ แต่ถ้าใครได้ชมการแสดงสดบนเวทีในวันนั้น คงบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า วงเตรียมอุดมศึกษาไม่ได้ผ่านเข้ารอบมาเพราะโชคช่วยแน่ๆ แต่เป็นเพราะฝีมือการเล่นดนตรีที่หนักแน่น มั่นคง ควบคุมบาลานซ์ของวงได้เป็นอย่างดี ทำให้สัดส่วนของดนตรีไทย ดนตรีสากล เครื่องเป่า และเสียงร้องของนักร้องนำ พอดิบพอดีไม่มีขาดหรือเกิน จนได้รับเสียงชื่นชมมากมายจากกรรมการทุกคน
เจสัน เล่าถึงการผสมผสานดนตรีทั้ง 2 แนวเข้าด้วยกัน “ดนตรีไทยกับดนตรีสากลจะมีความยากง่ายกันคนละแบบครับ อย่างดนตรีไทยปกติจะมีประมาณ 7 โน้ต แต่พอต้องมาเล่นกับดนตรีสากล จะกลายเป็น 12 โน้ต มีพวกตัวชาร์ปกับแฟลชเพิ่มเข้าไป ทำให้ต้องตั้งสายซอด้วงแบบกลางๆ เอาไว้ แต่พอเล่นจริงเราต้องเปลี่ยนนิ้วไปเป็นคีย์ต่างๆ อีก 3-4 คีย์ด้วยตัวเอง เลยต้องใช้การฝึกซ้อมกับเพื่อนๆ ในวง เวลาอยู่บนเวทีจะได้ทำออกมาได้ดี ไม่มีข้อผิดพลาดครับ”
เจมส์ (ระนาดเอก) – เจสัน (ซอด้วง) ตี้ (แซกโซโฟน) – แชร์ (ทรัมเป็ต) – กาย (ทรอมโบน)
กาย เล่าถึงพาร์ตของเครื่องเป่าทองเหลืองบ้าง “อย่างของผมจะค่อนข้างชิลล์หน่อย เพราะตอนที่เล่นในวงโยธวาทิต ทรอมโบนจะเล่นออกแนวออร์เคสตรา ฟังแล้วกลมๆ เบลนๆ เนียนๆ ไม่หวือหวา แต่ตอนที่เล่นให้วงประกวดครั้งนี้ เครื่องเป่าจะต้องแป๊ดๆ เด่นๆ นิดหนึ่ง เป็นแค่การใช้โทนเสียงที่แตกต่างออกไปครับ”
พวกเขาฟังอะไร? “เพื่อ build ตัวเอง”
• เจสัน: “Like Someone in Love” (Bill Evans)
“ผมค่อนข้างหลงใหลแนวดนตรีแจ๊ส แม้จะเล่นไม่ได้ แต่ในอนาคตอาจจะเปลี่ยนจากซอด้วงมาสู่ดนตรีแจ๊สก็ได้ครับ”
• กาย: “Seasons” (Wave to Earth)
“ชอบดนตรีแนวที่ฟังแล้วลอยๆ ฟุ้งๆ รู้สึกว่าเพลงนี้ฟังแล้วหลุดไปออกไปอีกที่หนึ่งดีครับ”
ทางด้าน เหม่ยหลิน นักร้องนำ มองว่าโครงสร้างของเพลงก็เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดความแปลกใหม่และนำเสนอความคิดสร้างสรรค์ลงไปได้ “ถ้าเพลงที่มีโครงสร้างดีมากอยู่แล้ว พอนำมาทำใหม่มันอาจจะไม่ได้รู้สึกแตกต่างมาก หรืออาจจะไม่ดีเท่ากับต้นฉบับจริง ในขณะที่เพลงที่มีโครงสร้างง่ายๆ เวลานำมาทำใหม่ มันจะดูมีอิมแพ็คมากกว่าเดิม พวกเราเลยเลือกเพลงที่สามารถสร้างอิมแพ็คให้กับผู้ฟังได้ มีจุดที่รู้สึกว้าว มีช่วงปล่อยของ พาร์ตโชว์เครื่องดนตรี พยายามทำบาลานซ์ให้เกิดขึ้นเพื่อสร้างสมดุลทางด้านดนตรี ซึ่งอาจารย์ประจำวงของเราเก่งค่ะ ต้องยกความดีความชอบทั้งหมดให้กับอาจารย์เลย”
จีนส์ มือกลอง เสริมถึงจุดแข็งของวงว่า “ผมคิดว่าพวกเรามาแบบ Full Band เป็นวงที่นำเสนอแนวดนตรีร่วมสมัย ฟิวชันระหว่างดนตรีไทยและดนตรีสากลที่ไม่เหมือนใคร ขึ้นชื่อว่าเตรียมอุดมศึกษา หลายคนก็คิดว่าต้องเรียนหนัก ใช่ครับ แต่ตอนเล่น พวกเราก็เล่นให้หนักมากกว่าครับ เพราะอยากโชว์ความสามารถ โชว์ของที่พวกเราซ้อมกันมาเป็นอย่างดีให้ทุกคนได้เห็น”
“แค่ทำในสิ่งที่รักก็พอ ถ้าวันนี้ทำแล้วยังรู้สึกว่าไม่เห็นผล ให้ลองไปให้สุดทางก่อน
ผลลัพธ์จะบอกเราเองควรไปต่อหรือว่าพอแค่นี้ก่อน แต่อย่างน้อยที่สุดเราก็ได้ลองดูแล้ว”
บาร็อก นักร้อง วงเตรียมอุดมศึกษา
โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา
Suggestion
ดนตรี…ประตูสู่โอกาสใหม่
ปฏิเสธไม่ได้ว่าการมีสิ่งที่รักและอินกับสิ่งนั้นมากๆ เราจะดั้นด้นพยายามหาทางเพื่อมุ่งตรงไปยังจุดหมายอย่างไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคใดๆ สำหรับน้องๆ วงเตรียมอุดมศึกษา การเล่นดนตรีก็เป็นเหมือนกุญแจที่เปิดประตูไปสู่โอกาสและความเป็นไปได้ต่างๆ ในอนาคต
เหม่ยหลินพูดด้วยน้ำเสียงจริงจังว่า “ตั้งแต่ได้รู้จักกับดนตรี ได้มาร้องเพลงประจำวง ก็รู้สึกว่าได้ คอนเน็กชันเยอะมากๆ จากหลากหลายที่ เราสามารถสร้างคอนเน็กชันผ่านเสียงเพลง ทำให้เราเรียนรู้เรื่องการทำงานร่วมกับคนอื่น สร้างประสบการณ์ด้วยค่ะ” จีนส์ พยักหน้าเห็นด้วยพร้อมกับเสริมว่า “ดนตรีทำให้เราโตเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องความรับผิดชอบและความคิด ผมว่าผมโตขึ้นมากตั้งแต่ได้มาเล่นดนตรี นอกจากนี้ดนตรียังมอบโอกาสหลายๆ อย่างให้เกิดขึ้น ดนตรีจึงแทบจะเป็นร้อยเปอร์เซ็นต์ในชีวิตผมเลยก็ว่าได้ครับ”
“ผมคิดว่าทำในสิ่งที่รักก็พอครับ ถ้าวันนี้ทำแล้วยังรู้สึกว่าไม่เห็นผล ให้ลองไปให้สุดทางก่อน ผลลัพธ์จะบอกเราเองว่าควรไปต่อหรือว่าพอแค่นี้ก่อน แต่อย่างน้อยที่สุดเราก็ได้ลองดูแล้ว อย่างผมตอนแรกก็ไม่ได้ชอบร้องเพลงมาก แต่พอร้องไปเรื่อยๆ ประกวดไปเรื่อยๆ ก็เริ่มรู้สึกรักโดยที่ไม่รู้ตัว แถมเวลาไปประกวดแล้วได้เงินรางวัลก็รู้สึก เออ…ประกวดก็ดีเหมือนกันนะ ได้ตังค์มากินขนมด้วย ภูมิใจด้วยที่เราใช้ความสามารถของตัวเองหาเงินมาได้ เป็นเพราะดนตรีเลยครับที่ทำให้ผมมีโอกาสอย่างทุกวันนี้”
วงเตรียมอุดมศึกษา วงที่รวมเด็กเทพไว้ที่เดียวกันเพื่อตามหาฝัน แสดงพลังแห่งความเป็นได้ รับชม THE POWER BAND 2023 THE SERIES EP. 2
พี่เต๋าพาไปบุกถึงถิ่นว่าวงเตรียมอุดมศึกษามีอะไรดี Music School EP. 14