Passion

ตุล ไวฑูรเกียรติ
ศิลปินผู้คมชัดในความคิด ตัวตน และดนตรี

ณัฐวิมล เศารยะพงศ์ 7 Mar 2023
Views: 573

ฟรอนต์แมนแห่งวง “อพาร์ตเมนต์คุณป้า” ผู้ยืนอยู่ในวงการดนตรีไทยมากว่าสองทศวรรษ ด้วยความเป็นคนที่ชัดเจนในอุดมการณ์ทางความคิด ทำให้ทุกผลงานที่สื่อออกมาเต็มไปด้วย

อัตลักษณ์แห่งตัวตน ไม่ว่าจะดำรงอยู่ในหมวกของ ศิลปิน โพรดิวเซอร์  ดีเจ. กวี นักเขียน หรือ “นักทำศิลปะ” ทุกสิ่งล้วนถูกหลอมรวมออกมาเป็นผู้ชายชื่อ ตุล ไวฑูรเกียรติ อย่างสมบูรณ์แบบ 

จากอดีตเด็กหนุ่มผู้รักการอ่านหนังสือเป็นชีวิตจิตใจ เขาพาตัวเองข้ามกรอบความคิดบางอย่างในสังคม ด้วยการเดินทางไปศึกษายังดินแดนแห่งเสรีภาพอยู่หลายปี การได้ใช้ชีวิตอยู่ในประเทศที่มีความหลากหลายอย่างอเมริกา โดยเฉพาะเรื่องดนตรี ได้กลายมาเป็นแรงบันดาลใจสำคัญ ที่ทำให้ตุลอยากกลับมาทำเพลงร่วมกับเพื่อนๆ ที่เมืองไทยในเวลาต่อมา

แล้วความฝันก็ถูกสานได้สำเร็จ ด้วยการตั้งวงดนตรีวงแรกขึ้นมา ชื่อวง “อะไรจ๊ะ” (สังกัด หัวลำโพงริดดิม ที่มี กอล์ฟ – นครินทร์ ธีระภินันท์ มือกีตาร์ วงทีโบน เป็นเจ้าของค่าย) ก่อนจะส่งไม้มาสู่วง “อพาร์ตเมนต์คุณป้า” (สังกัดค่ายสนามหลวงมิวสิก ภายใต้การดูแลของ จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่) กับไอเดียสร้างสรรค์ที่นำดนตรีหลากแนว (แต่หลักๆ คือ ร็อก) มาผสานเข้ากับบทกวีได้อย่างกลมกลืน จนถูกขนานฉายาให้เป็น  “กวีร็อกแอนด์โรล” ของวงการเพลงไทย

“ดนตรีทุกประเภทมันมีฟังก์ชันของมันนะ…การแข่งขันไม่ได้สำคัญไปมากกว่าประสบการณ์
แน่นอนว่าเรายินดีกับผู้ชนะ แต่ผู้ไม่ชนะก็เก็บประสบการณ์ไป develop ต่อ
ผมว่าตรงนี้สำคัญยิ่งกว่ารางวัลอีกครับ…ไม่ว่าจะชนะหรือไม่”

ตุล ไวฑูรเกียรติ ศิลปิน โพรดิวเซอร์ ดีเจ กวี นักเขียน
กรรมการ THE POWER BAND 2022 Season 2

สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องของโชคชะตา แต่มันคือการรังสรรค์ประสบการณ์ ด้วยวิถีของนักคิดและนักสร้างศิลปะให้เกิดขึ้นบนเสียงเพลงจนกลายเป็นที่ยอมรับ

และด้วยในสถานะคนที่ทำงานทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังในวงการเพลงมายาวนาน ปีนี้จึงมีรายชื่อของ ตุล ไวฑูรเกียรติ มาร่วมเป็นกรรมการตัดสินการประกวดวงดนตรี บนเวที THE POWER BAND 2022 Season 2 จัดโดยวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ คิง เพาเวอร์ ไทย เพาเวอร์ พลังคนไทย เราเลยสบโอกาสชวนตุลมานั่งคุยถึงเส้นทางชีวิต มุมคิดด้านดนตรี พร้อมคำแนะนำดีๆ สำหรับน้องๆ ที่อยากต่อยอดในการเป็นศิลปินในอนาคต

 

TP: เส้นทางการเล่นดนตรีของคุณตุลเริ่มต้นมาแบบไหนคะ?

ตุล: ดนตรีก็เริ่มต้นมาจากความสนุกแน่นอนครับ เวลาเป็นเด็กมีสิ่งที่ทำให้เราสนุกได้ไม่กี่อย่าง ไม่ดนตรีก็กีฬาอย่างนี้ ซึ่งดนตรีก็เป็นสิ่งที่เราได้ใช้เวลากับเพื่อนๆ แล้วเราก็ได้เล่าเรื่องของเรา แล้วยิ่งพอเราแต่งเพลงเป็น ดนตรีมันก็เป็นสิ่งที่เราสื่อสารให้กับคนหมู่มาก เเล้วก็สื่อสารกับตัวเองด้วย

 

TP: จำความรู้สึกตอนที่แต่งเพลงแรกออกมา มันเป็นอย่างไรบ้าง?

ตุล: เพลงชื่อ ‘ชีวิตคือการเดินทาง’ ทุกวันนี้ยังไม่เคยเอาเพลงนั้นมาบันทึกเสียงเลยครับ รอเมื่อถึงวันที่เหมาะสมแล้วผมอาจจะเอาเพลงนี้บันทึกเสียงก็ได้ มันมีแรงดลใจจากการเขียนเพลงมาจาก.. คือผมเป็นแฟนเพลงของ ปฐมพร ปฐมพร พอได้ฟังเพลงชุด “เจ้าหญิงแห่งดอกไม้ เจ้าชายแห่งทะเล” ก็เกิดแรงกระตุ้นให้อยากแต่งเพลงเลย แล้วมันก็หลุดออกมาเอง เพลงมันก็ลอยออกมาจากในหัวคิดของเรา ตอนนั้นก็รีบจดรีบร้อง เเล้วก็บันทึกเสียงเอาไว้ เมื่อก่อนเครื่องอัดมันจะเป็นเทปคาสเซ็ท วอล์กแมน ใช่ไหม นั่นเป็นจุดเริ่มต้น พอมีเพลงแรกมันก็มีเพลงที่สอง ที่สามตามมา

 

TP: พอแต่งเพลงออกมาได้เรื่อยๆ ตอนนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นเริ่มเป็นการบอกเส้นทางการทำงานด้านดนตรีกับตัวเราไหม?

ตุล: บอกว่า เพลงเหล่านี้เราจะต้องนำไปให้ถึงหูคนฟังให้ได้ (หัวเราะ) สักวันหนึ่งเราจะต้องบันทึกเสียงมัน ตอนนั้นตั้งใจไว้แบบนั้น แล้วตั้งแต่แต่งเพลงเป็น ก็รู้สึกว่าจะต้องมาทำอาชีพนี้แล้วล่ะครับ (หัวเราะ)

 

TP: แต่เส้นทางสู่การศิลปินศิลปินในยุคนั้น การต่อสู้ก็เรียกว่าไม่ง่าย…

ตุล: ถือว่าผมเป็นคนโชคดีก็แล้วกันครับ (หัวเราะ) เพราะคนรอบข้างก็เป็นคนมีความสามารถ เลยไม่ต้องใช้ความลำบากอะไรมาก เพื่อนก็เล่นเก่ง คือบางคนต้องใช้เวลาไปลองผิดลองถูกเยอะ แต่ผมได้เจอคนรอบข้างที่มีความสามารถ พอเราแต่งเพลงเสร็จ ไปเล่าไอเดียให้ฟังเขาก็เก็ตเราเลย ฉะนั้นมันเลยเป็นเส้นทางที่ง่ายสำหรับผม ถือว่าโชคดีแล้วก็มีคนให้โอกาส ตอนนั้นก็ไปเจอกับพี่กอล์ฟ ทีโบนด้วย  พอทำเดโมไปส่ง (ค่ายหัวลำโพงริดดิม) ครั้งแรกก็ได้รับโอกาสเลย ซึ่งตอนนั้นเป็นวง “อะไรจ๊ะ” ก็ไม่หวังว่ามันจะดัง แล้วมันก็เจ๊ง (หัวเราะ) แต่พอเป็น “อพาร์ตเมนต์คุณป้า” คิดว่ามันจะเจ๊ง แต่ก็รอดมายี่สิบปี มันประหลาดดีเหมือนกัน เพราะตอนทำ “อพาร์ตเมนต์คุณป้า” ก็ไม่คิดว่ามันจะอยู่มานานขนาดนี้

 

TP: เคยกลับมาวิเคราะห์ไหม ว่าอะไรคือสิ่งที่ทำให้วงยังเดินทางต่อไปได้เรื่อยๆ?

ตุล: ผมว่าคงเป็นเรื่องของโชคชะตาหนึ่งนะ แล้วก็เคมีของแต่ละคน แต่ “อพาร์ตเมนต์คุณป้า” ผมว่าสิ่งหนึ่งที่มันยูนีคก็คือ เราไม่ใช่วงที่ดังที่สุดหรือว่าร่ำรวยมาก แต่เรามีสมาชิกที่ไม่เปลี่ยนกันมายี่สิบ
กว่าปีที่หน้าเดิม (หัวเราะ) หาได้ยากนะ ไม่ใช่เฉพาะในเมืองไทย ต่างประเทศก็ไม่ค่อยเจอ กับวงที่อยู่กันมาได้ยาวๆ แบบนี้ ซึ่งผมคิดว่าไอ้เคมีตรงนี้ พอมันเข้ากันได้ ก็เลยทำให้การทำงานลื่นไหล เเล้วก็วงไม่แตก เราก็เลยอยู่กันมาได้เรื่อยๆ ครับ

TP: ในมุมความคิดของสมาชิกวง มีความแตกต่างกันเยอะไหม?

ตุล: ความคิดแตกต่างเป็นเรื่องของมนุษย์ปกติครับ มีแน่นอน มันเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา

 

TP: บาลานซ์ความคิดและการทำงานกันอย่างไร?

ตุล: ก็มีความคิดอย่างเดียวเลยครับ ว่าเราอยู่กันด้วยดนตรี เรื่องอื่นๆ ปัจจัยอื่นๆ เป็นเรื่องเล็กครับ ตราบใดที่เรายังเล่นดนตรีด้วยกัน เรื่องอื่นที่มันเกิดขึ้นระหว่างทาง เป็นเรื่องเล็กพร้อมที่จะมองข้ามไปได้ครับ

 

TP: ด้วยการทำงานในวงการเพลงที่ผ่านช่วงรอยต่อของแต่ละยุคมา มุมมองเปลี่ยนไปมากน้อยแค่ไหน?

ตุล: ความคาดหวังอาจจะเปลี่ยน อย่างตอนเราเป็นวัยรุ่นเราก็คาดหวังอีกแบบ กลายเป็นว่าช่วงกลางๆ เป็นช่วงที่สับสนที่สุด พอวงมันจะเริ่มมีชื่อเสียงมากๆ นะ เราก็เริ่มรู้สึกว่า ‘มันควรจะไปต่อในรูทไหน?’

เมื่อก่อนเราอยู่อินดี้ แล้วเราก็ก้าวขาเข้าไปเมนสตรีมขาหนึ่งแล้ว แล้วเราจะไปต่อยังไง ตอนนั้นยึกยักยึกยักอยู่ แต่ตอนนี้รู้แล้วว่า เรากลับมาสู่ที่ที่เราถนัดดีกว่า ก็คือใน Niche Market ของเรา กลายเป็นวงดนตรีที่มีคนฟังกลุ่มเล็กๆ แต่เหนียวแน่น แล้วก็ทำดนตรีรสชาติเดิมๆ ที่เราถนัด ตอนนี้กลับมาสู่แบบนั้น

สมมติว่าเราเป็นอาหาร เราก็เป็นร้านข้าวขาหมูเจ้าเก่าแหละ รสชาติเราไม่ต้องเปลี่ยน เราขายของเดิมได้ทุกวัน เพื่อทำให้แฟนคลับของเราแฮปปี้ เพราะเราถนัดแบบนี้จริงๆ ตอนนี้การทำงานก็เลยไม่มีความกดดันเลยครับ

 

TP: เหมือนกับว่าพอเราเจอวัตถุดิบที่ต้องการ เราก็สามารถหยิบมาปรุงเป็นรสชาติในแบบง่ายๆ ของเราได้เลย…

ตุล: ใช่ครับ สามารถกลับมาเหมือนยุคแรกที่เราคิดจะทำแล้วมันเจ๊งก็ได้ (หัวเราะ) ผมคิดว่ามันเป็นอย่างนั้น ตอนเริ่มไม่ได้คาดหวังอะไร เพราะถ้าความสำเร็จมันข้ามมาเยอะๆ มันจะมีความคาดหวังตามมา แต่เราก็เรียนรู้ที่จะโยนความคาดหวังนั้นทิ้งไป แล้วก็กลับมาสู่จุดเดิม คือการทำดนตรีที่เราถนัด

 

“ตอนเป็นวง ‘อะไรจ๊ะ’ ก็ไม่หวังจะดัง แล้วมันก็เจ๊ง (หัวเราะ)
แต่พอเป็น ‘อพาร์ตเมนต์คุณป้า’ คิดว่ามันจะเจ๊ง แต่ก็รอดมายี่สิบปี ประหลาดดีเหมือนกัน”

 

TP: มุมมองการเขียนเพลงในแต่ละช่วงปี แตกต่างกันไหมคะ?

ตุล: แตกต่างครับ ตอนวัยรุ่น เขียนเพลงได้เยอะกว่าตอนอายุเท่านี้นะ เพราะมันเป็นวัยที่เซนซิทีฟ อะไรก็เป็นปัญหาใหญ่ พออายุมากขึ้นเราไม่ตีโพยตีพาย เลยไม่มีอะไรจะไปเขียนเท่าตอนนั้น ชีวิตประจำวันในตอนนี้ก็ค่อนข้างจะเหมือนกัน ตอนวัยรุ่นเลยมีมุมมองการเขียนเพลงที่หวือหวากว่าแน่นอนครับ

 

TP: พออายุมากขึ้น อย่างเรื่องของการใช้คำในเนื้อหาเพลง ต้องระวังมากขึ้นด้วยไหม?

ตุล: ไม่เชิงนะครับ เรามีแมททีเรียลน้อยลงมากกว่า แล้วจิตใจเราไม่เซนซิทีฟเท่าตอนเป็นวัยรุ่นน่ะครับ ความร้อนแรงในการใช้คำเลยไม่เท่าตอนเป็นวัยรุ่น (หัวเราะ) แล้วบทบาทหน้าที่ในชีวิตก็แตกต่าง สิ่งที่ให้ความสำคัญที่สุดตอนนี้เลยไม่ใช่ดนตรีทั้งหมด อาจจะเป็นการดูแลคนในครอบครัว ดูแลพ่อที่ป่วยหรืออะไรอย่างนี้ ผมว่าดนตรีก็ยังอยู่ แต่พอเราโตขึ้น สุขภาพสำคัญกว่า สุขภาพจิตสำคัญกว่า ครอบครัวเพื่อนฝูงสำคัญกว่านะ มันก็จะเป็นมุมมองที่เปลี่ยนไปตามวัยครับ

TP: แสดงว่าเดินมาถึงช่วงที่สามารถวางอะไรหลายๆ อย่างในชีวิตลงได้ เพราะที่ผ่านมาถ้าพูดถึง ตุล อพาร์ตเมนต์คุณป้า เราจะเห็นภาพของศิลปินที่มีความแข็งกร้าวในการแสดงออกผ่านดนตรี ทั้งเรื่องของอุดมการณ์ การเมือง หรือสังคม อยู่ประมาณหนึ่ง

ตุล: ทุกอย่างมันลงได้ครับ แล้วก็กลับมาใช้ชีวิต ยิ่งหลังโควิด มันยิ่งเป็นบทเรียนสอนอะไรหลายๆ อย่างเลยนะว่า ‘เออ ชีวิตก็แค่นี้จริงๆ’ มีแค่เส้นบางๆ ว่าเราจะอยู่หรือจะไป เราได้เห็นคนบางคนเขาที่เขาไม่มีเวลา ที่จะได้ทำในสิ่งที่เขาอยากจะทำแล้วก็ต้องจากไปก่อน

TP: นิ่งขึ้นด้วยไหม?

ตุล: (หัวเราะ) เขาเรียกว่าอะไรล่ะ สุขภาพจิตดีขึ้นดีกว่า ความกังวลในชีวิตน้อยลง แล้วก็ตัดแฟกเตอร์ที่ไม่จำเป็นในชีวิตออก ให้เหลือไม่กี่อย่างในตอนนี้นะครับ เหลือเท่าที่เราจะทำ เหลือเท่าที่เราถนัด อยู่กับวงก็มีความสุขครับ ตอนนี้รู้สึกทุกครั้งที่ได้มาเล่นดนตรี มันคือการพักผ่อนและการสังสรรค์

 

TP: แล้วแนวคิดทางดนตรีในตอนนี้เป็นอย่างไรบ้าง?

ตุล: ตอนนี้ผมจะสนใจในเรื่องของฟิวเจอร์เยอะ สนใจพวกฟิวเจอร์ลิสต์ มองว่าอนาคตมันเป็นยังไง สนใจเรื่องเกี่ยวกับเรื่องปรัชญาสมองคน สนใจเรื่องปัญญาประดิษฐ์ สนใจเรื่องการเมืองในเชิงชีววิทยาด้วยนะ (หัวเราะ) ในเชิงว่าทำไมคนเราถึงมีประสบการณ์ทางการเมืองในแง่ที่เราเป็นสัตว์ชนิดหนึ่ง ในแง่วิทยาศาสตร์ของมันด้วย

 

TP: อย่างนี้ต้องไปลงลึกเพื่อศึกษาข้อมูลเลยไหม?

ตุล: ครับ ช่วงนี้ชอบอ่านเกี่ยวกับเรื่องของ AI แล้วก็ระบบประสาทของมนุษย์เยอะ (หัวเราะ)

 

“ผมว่าการห้ามไม่ให้ลูกเล่นดนตรีก็ไม่ได้ การบังคับให้ลูกเล่นดนตรีก็ไม่ดี
แต่ผมก็อิจฉาเด็กสมัยนี้นะ ในแง่ที่เขามีโอกาสได้เล่น เขาเข้าถึงอุปกรณ์ได้ง่าย เข้าถึงข้อมูลได้ง่าย
แล้วเขาก็มีเครือข่าย มีเวทีให้เขาได้เยอะมากกว่าเดิม”

 

TP: กับบทบาทของการเป็นโพรดิวเซอร์ คุณตุลมีข้อจำกัดในการทำงานให้กับศิลปินไหมคะ?

ตุล: หนึ่ง คือเราต้องเห็นว่าเขาเจ๋ง เก่ง ถ้ามีความเชื่อในตัวศิลปินแล้ว เราจะทำงานกับเขาง่ายมากเลยครับ มันจะโฟลว์เลย หนึ่ง คือเราต้องชอบในผลงานของศิลปินคนนั้น ถ้าเราเริ่มจากตรงนี้ทุกอย่างจะราบรื่น งานก็แฮปปี้ เราก็แฮปปี้ เขาก็แฮปปี้ด้วย

 

TP: แบบไหนที่ทำงานด้วยแล้วรู้สึกสนุกมาก?

ตุล: คือทุกๆ ครั้งที่ทำ มันได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ หมดเลย ผมว่าการเป็นโพรดิวเซอร์ได้เรียนรู้อะไรจากศิลปินรุ่นใหม่มาก เพราะเด็กรุ่นใหม่เขาจะมีวิธีการเล่าเรื่องอีกแบบ แล้วหน้าที่เราก็คือใช้ประสบการณ์มาเสิร์ฟเขานี่แหละ การเข้าห้องอัดทำยังไงให้เขาไม่วิตกจริต ให้เขาไม่เกร็ง (หัวเราะ) ตรงนี้เราในฐานะรุ่นพี่ก็จะทำให้เขาเข้าห้องอัดอย่างมีประสิทธิภาพได้ เสร็จงานได้ตรงเวลาและไม่เครียด และเมื่อมีปัญหาภายในวงเกิดขึ้น หน้าที่เราคือเข้าไปคุย ไปแชร์มุมมองทำให้วงเขาแครี่ต่อไปได้ครับ

TP: เคยเจอศิลปินที่ดื้อไหมคะ?

ตุล: ดีมากที่เขาดื้อ (หัวเราะ) ผมชอบทำงานกับคนที่กล้ามาบอกผมว่าเขาอยากได้อะไร แล้วตรงนั้นแหละที่มันทำให้ทำงานง่ายนะครับ ดีกว่าศิลปินที่ทำงานไปแล้วเขาไม่ได้รู้สึกแบบนั้นน่ะ

 

TP: แล้วเคยเจอเคสแบบนี้ไหม?

ตุล: มีเหมือนกันครับ (หัวเราะ) แต่สุดท้ายเราก็จะบอกเขาว่า งานเพลงเป็นของคุณนะ ฉะนั้นคุณต้องเลือกทำเพลงที่คุณถูกใจ เพราะโพรดิวเซอร์อยู่แค่ 2-3 เดือนหลังจากนี้แล้วจบนะ เพลงนี้คุณยังต้องเอาไปร้องอีก เผลอๆ คุณอายุ 60 แล้ว ยังต้องร้องเพลงนี้อยู่เลยนะ เหมือนผมเองก็มีเพลงเดิมๆ ที่ยังร้องอยู่ ดังนั้นเวลาที่คุณจะเคาะอะไรบางอย่าง พูดออกมาจากใจเลยว่า ชอบ – ไม่ชอบ สำหรับโพรดิวเซอร์บางครั้งถ้ามันรู้สึกขัด มันก็จะเกิดขัดแย้งกันได้อยู่แล้ว ซึ่งเราต้องยอมเขา เพราะว่าเราไม่ได้พกเพลงนี้ไปตลอดชีวิตเหมือนอย่างศิลปินที่ต้องอยู่กับเพลงนี้ไปชั่วชีวิตเลยครับ

 

TP: คิดว่าวงการดนตรีของไทยตอนนี้ ยังมีมุมไหนที่ต้องได้รับการเปลี่ยนแปลงบ้าง?

ตุล: ผมว่าเรื่องสถานที่แสดงดนตรีครับ การเล่นดนตรีของประเทศไทยในผับ ในบาร์มันเป็นคัลเจอร์ที่ควรจะเปลี่ยนได้แล้วนะ เราควรจะมีสถานที่ที่แสดงดนตรีจริงๆ เป็นไลฟ์เฮาส์ ที่คนเข้าไปแล้วก็ได้ไปฟังเพลง ไม่ต้องดื่มก็ได้ จะเข้าไปตอน 2 ทุ่ม 3 ทุ่ม หรือหนึ่งทุ่มก็ได้ คนที่เข้าไปก็ไปฟังเพลงจริงๆ ไม่ใช่ไปนั่งกินแป๊ะซะ กินต้มยำกุ้ง ดนตรีบางประเภทอาจจะเหมาะกับสถานที่แบบนั้น แต่ดนตรีบางประเภทมันเหมาะกับการตั้งใจไปนั่งฟังจริงๆ ครับ แล้วมันจะช่วยให้วงการดนตรีมันพัฒนาไปสู่สิ่งที่ดีขึ้น…ดนตรีทุกแนวจะได้มีที่ของมันในการแสดง

 

TP: คุณตุลมองเรื่องโอกาสของเด็กที่เล่นดนตรียุคนี้อย่างไรบ้างคะ?

ตุล: เขามีโอกาสที่ดีเยอะเลยครับ เดี๋ยวนี้เล่นดนตรีพ่อแม่ไม่ว่าแล้ว ผมเห็นเพื่อนๆ ที่มีลูก เขาบังคับให้ลูกเล่นดนตรีด้วยซ้ำ (หัวเราะ) บางทีเด็กไม่ได้อยากเล่น ซึ่งก็ไม่ดีอีก อันนี้ผมก็ไม่เห็นด้วย ทำไมต้องไปบังคับให้เด็กเล่นดนตรี นี่เขาเรียกว่าคือแพสชันของพ่อแม่

สมัยก่อนพ่อแม่อยากเป็นอะไรก็จะให้ลูกเป็นอย่างนั้น ผมว่าการห้ามไม่ให้ลูกเล่นดนตรีก็ไม่ได้ การบังคับให้ลูกเล่นดนตรีก็ไม่ดี แต่ผมก็อิจฉาเด็กสมัยนี้นะ ในแง่ที่เขามีโอกาสได้เล่น เขาเข้าถึงอุปกรณ์ได้ง่าย เข้าถึงข้อมูลได้ง่าย แล้วเขาก็มีเครือข่าย มีเวทีให้เขาได้เยอะมากกว่าเดิม

 

TP: การได้มาเป็นกรรมการในการประกวด THE POWER BAND ตัดสินของโครงการที่ผ่านมา คุณเห็นศักยภาพของวงที่มาประกวดอย่างไรบ้าง?

ตุล: เราดูอย่างนี้ครับ วงดนตรีที่ประกวดมันจะมีวงดนตรีที่ชนะเลิศ แต่วงที่ชนะเลิศอาจจะเหมาะแค่ชนะเลิศ แต่อาจจะไม่เหมาะกับการไปทำอัลบั้มต่อก็ได้ ยังมีวงดนตรีบางวงที่ไม่ได้ชนะ แต่เขามีเพลงที่ดี ซึ่งเพลงนี้อาจจะนำไป release ออกวิทยุได้ ฉะนั้นดนตรีทุกประเภทมันมีฟังก์ชันของมันนะ ไม่ใช่ว่าผู้ชนะเท่านั้นถึงจะได้ไปต่อ ผมยังคุยกันกับคณะกรรมการเลยว่ามีเพลงบางเพลงที่เพราะมากเลย เขาก็ไม่ได้ชนะเลิศแต่เพลงนี้นำไป develop ต่อได้เลยนะ

 

TP: แสดงว่าทุกวงสามารถนำเอาของที่มีไปต่อยอดในเส้นทางของตัวเองได้

ตุล: ใช่ครับ การประกวดก็เป็นแค่การประกวดแหละครับ วงที่ได้รางวัลก็ยินดีด้วย แต่ดนตรีมันก็มีฟังก์ชันของมันในอีกหลายๆ อย่าง อย่างน้อยมันคือประสบการณ์ไง ทุกคนที่มาเวทีนี้ก็ได้แสดงออก แล้วก็ได้เพื่อนนะ ผมมองว่าเขามารู้จักกัน ได้ทำเน็ตเวิร์กกิ้งไว้ เขาก็ได้เครือข่ายทางดนตรี

 

“ผมชอบทำงานกับคนที่กล้ามาบอกผมว่าเขาอยากได้อะไร งานเพลงเป็นของคุณนะ
ศิลปินที่ต้องอยู่กับเพลงนี้ไปชั่วชีวิต โพรดิวเซอร์อยู่แค่ 2-3 เดือนแล้วจบ
พูดออกมาจากใจเลยว่า ชอบ – ไม่ชอบ”

TP: ในฐานะทั้งกรรมการ โพรดิวเซอร์ และศิลปินรุ่นพี่ มีคำแนะนำสำหรับเด็กที่มาประกวดดนตรี แล้วอยากจะต่อยอดโอกาสให้กับตัวเองไหมคะ?

ตุล: หนึ่ง จะต้องไม่กลัวนะ เพราะดนตรีไม่มีผิดไม่มีถูก แล้วอีกเรื่องที่ผมยังคุยกับคณะกรรมการเลยว่า ทำไมวงดนตรีของเรา เวลาขึ้นมาแสดงต้องพูดว่า ‘โทษทีนะคะ เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา…’ คุณไม่ต้องขอโทษนะ การมาแสดงดนตรีมันไม่มีใครทำให้ใครเสียเวลา ใช่ไหม? มันเป็นเรื่องสนุก มันเป็นเรื่องดี แล้วก็ไม่ใช่เรื่องน่าอาย ดังนั้นทุกคนควรจะเล่นอยางที่ตัวเองเป็น ไม่ต้องกลัวว่าใครจะมองว่าเก่งหรือห่วย มันน่าจะเป็นแบบนั้น

ผมรู้สึกเลยว่า ทำไมวงดนตรีหรือการแสดงดนตรีเราจะได้ยินคำนี้เสมอ ‘ขอโทษนะคะ เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา เชิญไปฟังเพลงต่อไปเลยดีกว่า’ มันไม่เสียเวลาหรอก คุณจะเล่นเพลงนี้ให้ยาวกว่าเดิมก็ได้ (หัวเราะ)

 

TP: มันไม่ต้องมีแพทเทิร์นการพูดแบบนั้น

ตุล: ใช่ครับ เราต้องมั่นใจในตัวเอง เมื่อเรามาแสดง ทุกคนก็พร้อมที่จะฟัง ไม่ว่าดนตรีแนวไหน ไม่ว่าดนตรีแบบไหน ไม่มีผิดไม่มีถูกอยูแล้ว

 

TP: อยากฝากอะไรกับน้องๆ ที่มาแข่งขัน ซึ่งอาจจะมีทั้งสมหวังและผิดหวังกลับไป สำหรับการแข่งขันที่จะเกิดขึ้นในปีหน้าต่อไปอีกบ้าง?

ตุล: วงที่ไม่ได้รางวัลก็อย่าเสียใจนะ การแข่งขันมันไม่ได้สำคัญไปมากกว่าประสบการณ์ แน่นอนว่าเรายินดีกับผู้ชนะ แต่ผู้ไม่ชนะก็เก็บประสบการณ์ไป develop ต่อ ผมว่าตรงนี้สำคัญยิ่งกว่ารางวัลอีกครับ…ไม่ว่าจะชนะหรือไม่

 

TP: กลับมาอัปเดตงานของวงอพาร์ตเมนต์คุณป้าสักนิดค่ะ

ตุล: ตอนนี้กำลังปล่อยซิงเกิ้ลใหม่ครับ จะมี 2 เพลง ชื่อเพลง ‘สามัญ’ ซึ่งปล่อยไปแล้ว แล้วอีกเพลงที่จะตามาเป็นเพลงแนวฮาร์ดร็อก รสชาติเดิมๆ แหละครับ ฟังก็จะรู้ว่าเป็นเพลงของ อพาร์ตเมนต์คุณป้าเจ้าเก่าครับ (หัวเราะ)

 

5 เรื่องหลังไมค์ของ ตุล อพาร์ตเม้นต์คุณป้า

• สมัยเรียนมัธยมปลายที่โรงเรียนสาธิตฯ ปทุมวัน ตุลเคยเป็นนักเรียนทุนแลกเปลี่ยน AFS ไปเรียนที่สหรัฐอเมริกามาก่อน

• หลังกลับมาเมืองไทย ตุลไม่อยากเอนทรานซ์เข้าระแบบการเรียนมหาวิทยาลัยในเมืองไทย ด้วยความคาดหวังของคำว่า “โตไปเป็นอะไร?” เขาจึงขอครอบครัวไปหาประสบการณ์ชีวิตประเทศนิวซีแลนด์อยู่ 6 เดือน และเป็นครั้งแรกที่ได้ตั้งวงดนตรีเล่นกับเพื่อนฝรั่ง และเริ่มแต่งเพลงเก็บไว้

• หลังตัดสินใจไปเรียนด้านเศรษฐศาสตร์ ที่แคลิฟอร์เนียได้เพียงปีเดียว ตุลได้ย้ายไปเรียนด้าน Business Management ที่นิวยอร์กแทน เพราะคิดว่านำมาต่อยอดในเรื่องดนตรีได้ และที่อยากไปอยู่นิวยอร์กเพราะทำให้เขาได้ดูคอนเสิร์ตเยอะขึ้น

• นอกจากบทบาทของศิลปินเพลง ในฐานะนักเขียน ตุลออกหนังสือกวีมาแล้วหลายเล่ม อาทิ ไม่รู้จักเธอไม่รู้จักฉัน, สิ่งที่อยู่นอกใจ, หลบเวลา, เพลงที่คุณไม่เคยฟัง และ นิทราชั่วนิจนิรันดร์ ความทรงจำไม่อาจลบ ซึ่งผลงานแต่ละเล่มล้วนสะท้อนตัวตนของคนที่รักการอ่านภาษาไทยอย่างเข้าเส้นออกมาได้หมดจด

• ปี 2563 ตุลจัดนิทรรศการศิลปะส่วนตัว ภายใต้ชื่อ “X the Xhibition by slowmotion x Tul Witoolkiat” กับคอนเซปต์ที่ต้องการเปลี่ยนให้บทกวีที่เคยอยู่ในกระดาษ มาเป็นวัตถุทางศิลปะในแกลเลอรีแทน เพื่อที่ทุกคนที่มาชม สามารถอ่าน สัมผัส มีปฏิสัมพันธ์กับผลงาน รวมถึงเป็นเจ้าของผลงานได้ ถือเป็นการสื่อสารทางศิลปะที่สะท้อนตัวตนของตุลออกมาอย่างแท้จริง

 

Author

ณัฐวิมล เศารยะพงศ์

Author

นักเขียนที่นอกจากจะทำตัวเป็นทาสแมวตัวยง ยังชอบเอาเวลาว่างจากการเขียนงานไปเสาะหาเรื่องกิน เรื่องเที่ยว แล้วทำให้เป็นเรื่องเดียวกัน

Author

บริษัท เอ็กเปิร์ดคิด จำกัด

Photographer

การรวมตัวของคนโปรดักชั่น ที่ยังเชื่อในพลังสร้างสรรค์ เราจึงคิดและผลิตงานศิลปะทุกรูปแบบ