“Umbrella Down” วงดนตรีที่เกิดจากการรวมตัวของ ‘เพื่อนร่วมคลาสดนตรี’ ของนักศึกษาชั้นปี 1 และปี 2 สาขาดนตรี จากมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต จนกลายมาเป็น ‘เพื่อนร่วมวงเฉพาะกิจ’ โดยมีเป้าหมายคือการพิชิตภารกิจ ‘Dream it, Do it! กล้าฝัน! กล้าทำ!’ เพื่อคว้าชัยในสนามแข่งขัน THE POWER BAND 2022 ซีซั่น 2 การประกวดวงดนตรีสากลประจำปี 2565 จัดโดยวิทยาลัย ดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ คิง เพาเวอร์ ไทย เพาเวอร์ พลังคนไทย
ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ ว่าพวกเขาทั้ง 6 คน ฟลุ๊ค – ณัฐพงศ์ ทองเลื่อน (กลอง) หมวย – ปรางชนก ปรางทอง (แซกโซโฟน) จีย์ – เมธา พัชรวังสกุล (กีตาร์) ดีน – วารุตดีล ม้องพร้า (เบส) เก้า – แก่นนคร แก้วบัวรบัติ (คีย์บอร์ด) และ ฟ้า – ศศิพิชญ์ ส่งเสริม (นักร้อง) (ตามลำดับในภาพจากซ้ายคือฟลุ๊ค / หมวย / เก้า / ฟ้า / จีย์ / ดีน) จะไม่เคยร่วมวงเพื่อขึ้นเวทีประกวดที่ไหนมาก่อนเลย นี่เป็นเวทีแรกที่พวกเขาทั้ง 6 ได้แสดงให้เห็นถึงความสามารถที่น่าจับตามอง จนกรรมการต้องหันมองและมอบรางวัลชมเชย Class B (รุ่นบุคคลทั่วไป) ในการประกวด THE POWER BAND 2022 ของซีซั่น 2 นี้ไปครอง
“ถึงเราจะเริ่มต้นด้วยความไม่พร้อมเท่าไร แต่เชื่อว่าทุกคนมีดี…ผมคิดเสมอว่าการเล่นดนตรีเหมือนการเล่าเรื่องครับ มาทีละนิดๆ แล้วไปจบท่อน”
วง Umbrella Down ภูเก็ต รางวัลชมเชย (Class B)
“Umbrella Down” เรียกได้ว่าเป็นวงดนตรีที่มีทักษะทางดนตรีสูง ทำให้แนวเพลง ‘ฟิวชันแจ๊ส’ ที่พวกเขาเลือกเล่น ลูกเล่นที่สนุกขึ้นกว่าแจ๊สทั่วๆ ไป และยังใช้ “Unison” หรือการเล่นพร้อมกันด้วยโน้ตเดียวกันทั้งสองเครื่องดนตรี ที่อยู่ในสัดส่วนเดียวกัน เอามาใช้เป็นเทคนิคเฉพาะของวง เพราะเป็นเทคนิคที่มีความซับซ้อน ซึ่งต้องอาศัยการฝึกซ้อมและความสามารถ พร้อมทั้งยังต้องเชื่อใจกันเองในวงอีกด้วย
จุดเริ่มต้นของการร่วมวงเฉพาะกิจ
ฟลุ๊ค มือกลอง คือตัวตั้งตัวตีที่เอาข่าวดีมาบอก พร้อมทั้งชวนเพื่อนร่วมคลาส แต่ไม่เคยรวมวงกันมาก่อนให้ลองประกวดด้วยกัน
“พอเห็นประกาศก็สนใจเลยครับ เลยลองมาชวนเพื่อนๆ ดู พอทุกคนตอบตกลงก็เริ่มจัดตารางซ้อมกัน เพราะแต่ละคนว่างไม่ตรงกัน ส่วนมากจะซ้อมหลังเลิกเรียน บางคนซ้อมเสร็จก็ต้องไปทำงานต่อ เพราะหลายคนต้องทำงานไปด้วยเรียนไปด้วย”
จีย์ มือกีตาร์ เลเวลเทพที่เล่นดนตรีมาตั้งแต่ ม. 2 แม้จะเคยผ่านสนามแข่งขันมาอย่างโชกโชน แต่นี่ก็เป็นการขึ้นเวทีครั้งแรกกับวงใหม่ “ผมอยากลองครับ อยากรู้ว่าดนตรีจะพาผมไปได้ไกลแค่ไหน”
หมวย แซกโซโฟน ที่แม้ตอนแรกจะแอบหวั่นใจเพราะไม่มั่นใจว่าจะทำได้หรือไม่ แต่กลายเป็นหนึ่งจุดเด่นของวงที่กรรมการยังเอ่ยปากชม “อยากประกวดมากๆ ค่ะ ตอนที่ฟลุ๊คมาชวน แต่ตอนนั้นก็นึกไม่ออกว่าวงดนตรีที่มีเครื่องเป่าตัวเดียวจะเล่นได้ยังไง ลึกๆ ก็ไม่มั่นใจว่าตัวเองเก่งขนาดนั้น กลัวจะทำให้เพื่อนๆ พลาดโอกาสดีๆ แต่ทุกคนก็เชื่อว่าเราทำได้ ก็เลยอะ! ลุย เราอยากมีประสบการณ์ดีๆ กับเพื่อนๆ ด้วย”
ดีน มือเบส หนุ่มพูดน้อยแต่ฝีมือดีใช่ย่อยก็เคยรวมวงประกวดดนตรีกับเพื่อนๆ ตั้งแต่สมัยมัธยม แต่เรียกว่าร้างเวทีไปนาน การประกวดครั้งนี้เหมือนได้ปลุกพลังให้เขาอีกครั้ง
ในขณะที่ เก้า คีย์บอร์ด ผู้กวาดรางวัลมาแล้วหลายเวที รู้ว่าการประกวดครั้งนี้จะทำให้เขาได้โชว์ของอีกครั้ง แต่เจ้าตัวบอกว่า “แอบเกรงใจนะ กลัวเราจะเป็นภาระ เพราะผมยุ่งสุดในวงแล้วครับ เรียนไปด้วย ทำงานไปด้วย ออกแนวมาสายกลับก่อนตลอด (หัวเราะ) ซ้อมกับวงน้อยมาก แต่ก็คิดว่าความสามารถของผมน่าจะช่วยให้วงไปได้”
ส่วน ฟ้า นักร้องสาว เสียงสวยตาคมบอกว่าหลังจากประกวดร้องเพลงเวทีสุดท้ายตอน ม.4 ก็ยังไม่เคยขึ้นเวทีไหนอีกเลย “พอทุกคนบอกว่าจะประกวด ก็ไม่ลังเลเลยค่ะ คิดถึงการประกวดด้วย และก็เชื่อว่าถ้าได้ทำกับเพื่อนถึงไม่ชนะก็สนุกค่ะ”
จุดเด่นที่ทำให้วงกวาดคำชม จนคว้า “รางวัลชมเชย” มาเชยชม
บนเวทีสนามสงขลา “Umbrella Down” เรียกคำชมและคะแนนความประทับใจจากคนดูได้ไม่น้อย พวกเขาพกพาความเชื่อมั่นนั้นมาปล่อยอีกครั้งในรอบตัดสิน แต่ครั้งนี้ไม่ได้รับเพียงคำชมเชย แต่ยังได้ถ้วย “รางวัลชมเชย” กลับมาเชยชม!
“ไม่คิดว่าจะเข้ารอบคัดเลือกด้วยซ้ำ” ฟลุ๊คบอกเมื่อเราถามว่า “อะไรคือจุดเด่นของวงที่เอาชนะใจกรรมการได้”
“อยากชนะนะครับ แต่ไม่คิดว่าจะชนะ เพราะพวกเราเริ่มต้นกันแบบฉุกละหุกมาก ตั้งแต่ตอนอัดเพลงส่ง เสร็จปุ๊บก็ส่งเลย ไม่คิดว่าจะเข้ารอบคัดเลือกด้วยซ้ำ มาถึงสงขลาก็ไม่คิดว่าจะได้ไปกรุงเทพฯ แต่ขอตอบแบบไม่อายเลยนะครับ ถึงเราจะเริ่มต้นด้วยความไม่พร้อมเท่าไร แต่ผมเชื่อว่าทุกคนมีดี อย่างผมเนี่ยก็จุดเด่นของวงเลยนะ (ทุกคนฮาครืน) เอ้าจริง! (เสียงสูง) จริงๆ แล้วผมเรียนแจ๊ส อาจารย์จะชอบให้เราอิมโพรไวส์ ซึ่งผมก็คิดเสมอว่าการเล่นดนตรีมันเหมือนการเล่าเรื่องครับ มาทีละนิดๆ แล้วไปจบท่อนของหนัง”
สำหรับ จีย์ มือกีตาร์ เห็นด้วยกับฟลุ๊คที่ว่าสมาชิกทุกคนมีพื้นฐานดนตรีที่ดีมากๆ ถึงจะไม่เคยร่วมวงเพื่อขึ้นประกวด แต่บางคนก็มีประสบการณ์บนเวทีมาแล้ว พอมาร่วมตัวกันเลยทำให้ภาพรวมออกมาดี “ผมว่าถึงจะมีแผลนิดๆ หน่อยๆ แต่ทุกคนก็มาช่วยกันผยุงจนผ่านมาได้”
“ถ้าเราเล่นดนตรีแบบไม่มีความสุข คนฟังจะมีความสุขได้อย่างไร” หมวยบอกว่า เธอจำคำสอนของอาจารย์ได้เสมอ ทำให้เวลาที่ขึ้นโชว์บนเวที สิ่งเดียวที่เธอทำ คืออินกับเพลงให้มากที่สุดและเล่นให้มีความสุขที่สุด “คนที่เขาฟังจะได้มีความสุขไปกับเรา เราอินกับเพลง ยังไงก็อยากให้คนฟังอินไปกับเรา”
ฝัน…ที่เกือบจะไม่กล้าฝัน
ฟลุ๊คบอกกับเราว่าความที่พวกเขารู้สึก “ไม่พร้อม” นี่เองที่เกือบจะทำให้พวกเขาไม่กล้าลงมือทำ “ต้องเล่าว่าจริงๆ แล้วผมเริ่มเล่นกลองในวงโยธวาทิตครับ พอไปเห็นเพื่อนแข่งดนตรี โห…ตีกลองเพลงร็อกมันโคตรเท่เลย ดูมัน ดูสนุก พูดไม่อายก็อยากโชว์สาวแหละครับ (หัวเราะ) ก็เลยไปลองเล่นดูตอนมัธยมแล้วก็ไม่ได้เล่นอีกเลย จนเข้ามหาวิทยาลัย มันไม่มีวงโยธวาทิตให้เล่น แล้วต้องเล่นกลองชุดเท่านั้น เลยต้องหัดซ้อมกลองชุดจนถึงตอนนี้ แต่สำหรับผม ความฝันคือการได้เป็นครูฝึกสอนวงโยธวาทิตครับ การประกวดมันทำให้ผมมีประสบการณ์ และก็คงจะเอาประสบการณ์นี้ไปสอนให้น้องๆ”
“ตอนเด็กๆ พ่อพาไปเรียนกีตาร์ เรียนๆ ไปก็รู้สึกชอบ ตอนนี้ความฝันของผมคือ ได้ทำเพลงโซโลอัลบั้มเดี่ยวครับ แต่ก็ยังไม่เห็นภาพตัวเองชัดเจนขนาดนั้น ตอนนี้คงต้องซ้อมบ่อยๆ และหาประสบการณ์ไปเรื่อยๆ” จีย์เล่าบ้าง
สำหรับหมวย เธอมองตัวเองแตกต่างไป แต่ยังยืนพื้นที่ทำด้วยความสุข “นิยามตัวเองว่าเป็นลูกเป็ดค่ะ เรียนได้ทุกอย่างแต่เหมือนจะเก่งไม่สุดสักอย่าง แต่พอเป็นเรื่องดนตรีมันต่างไปเลยค่ะ ถึงจะยังไม่ค่อยเชื่อมั่นว่าทำได้ดีที่สุด แต่เป็นสิ่งที่ทำแล้วมีความสุขที่สุดที่ได้ทำ พอมาเรียนเอกดนตรีก็รู้เลยว่าเราถนัดทฤษฎีมากกว่า เลยอยากจะเรียนต่อด้านดนตรีไปเรื่อยๆ ความฝันคืออยากเป็นอาจารย์ดนตรีค่ะ อยากถ่ายทอดโอกาสที่ตัวเองเคยได้รับเหมือนที่เราเคยได้รับจากอาจารย์ เพราะถ้าไม่มีอาจารย์เราทุกคนคงไม่ได้มายืนจุดนี้”
“ผมเป็นคนสมาธิสั้นครับ” ดีนร่วมเล่าต่อจากเพื่อนๆ ที่บ้านก็เลยพาผมไปเข้าวงดนตรีให้ผมลองฝึก ลองเล่นมาเรื่อยๆ พอเข้ามหาวิทยาลัย ผมได้ลองฝึกเล่นเบส ก็ชอบเลยครับ ทำให้ผมฝันอยากทำวงดนตรีของตัวเองไปแข่งกันเพื่อนๆ หรือไม่ก็เป็นครูสอนดนตรี”
ส่วนเก้าก็แบ่งปันตอนที่เริ่มต้นรู้จักกับเสียงดนตรีของเขาให้ฟังบ้าง “ผมรู้จักดนตรีครั้งแรกตอน ม.1 เพื่อนชวนไปอยู่กับวงดนตรี แต่ไม่ได้เข้าไปเล่นนะครับ เหมือนเข้าไปแฮงก์เอาต์กับเพื่อนๆ ในวงมากกว่า ระหว่างนั้นเพื่อนก็ให้ผมลองเล่นคีย์บอร์ด ผมก็แบบ เฮ้ย! เท่วะ ชอบๆ เลยเริ่มฝึกมาเรื่อยๆ ต้องขอบคุณเพื่อนที่ทำให้ผมได้รู้จักคีย์บอร์ด เพราะตอนนี้การเล่นดนตรี คือการหารายได้เพื่อส่งตัวเองเรียนครับ ความฝันของผมไม่ได้จำกัดว่าต้องเป็นศิลปินมีชื่อเสียง ทำอะไรก็ได้ที่ได้อยู่กับดนตรีไปตลอดชีวิต แต่มีดนตรีอยู่ข้างๆ ก็โอเคแล้วครับ”
“พ่ออยากให้ร้องเพลงค่ะ เมื่อก่อนพ่อจะส่งไปประกวดเพลงลูกทุ่ง แต่มันไม่ได้ค่ะ ไม่เคยติด 1 ใน 3 เลย” ฟ้าเล่าเรื่องของตัวเอง “ตอนนั้นเลยรู้สึกไม่ชอบร้องเพลงเลยเหมือนพยายามไปก็ไม่มีประโยชน์ พอเข้า ม.1 เริ่มรู้ตัวเองว่าชอบเพลงสตริง เพลงป็อป จนตอน ม.2 ตัดสินใจเข้าชมรมดนตรีเลยได้มีโอกาสเข้าไปเป็นนักร้องและได้ร้องเพลงแนวสตริง พอเราเจอทางของตัวเองทำให้ชอบร้องเพลงมากๆ จนอยากเป็นศิลปิน และอยากเข้าห้องอัด หรือไม่ก็โรงเรียนสอนดนตรี”
“ถ้าเราเล่นดนตรีแบบไม่มีความสุข คนฟังจะมีความสุขได้อย่างไร…
คนที่เขาฟังจะได้มีความสุขไปกับเรา
เราอินกับเพลง ยังไงก็อยากให้คนฟังอินไปกับเรา”
วง UMBRELLA DOWN ภูเก็ต รางวัลชมเชย (Class B)
ความกล้าในแบบของวง ที่พาไปสู่ความสำเร็จ
พวกเขาทั้ง 6 คน เชื่อเหมือนกันว่า ที่วงสามารถผ่านทุกด่านจนมาถึงวันนี้ได้ เพราะกล้าที่จะใส่สัดส่วนทางดนตรีที่ท้าทาย ทลายกรอบทฤษฎี และกล้าที่จะสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ นั่นคือความกล้าที่ทั้ง 6 คน รวมพลังกัน แต่เมื่อถามถึงความกล้าในใจ แต่ละคนที่ทำให้ลุกขึ้นมาทลายกรอบความกลัว
หมวย: ถ้าไม่ลองก็ไม่รู้ค่ะว่าจะเป็นอย่างไร ถ้าพยายามเต็มที่แล้วแต่ไม่สำเร็จ แปลว่าเราเองยังไม่พร้อมก็แค่กลับไปซ้อมใหม่ เราเชื่อว่าถ้าทุกคนพยายามใครก็ทำได้ สิ่งที่ยากที่สุดและพวกเราทำได้ คือการจะให้ทุกคนในวงเต็มที่ไปพร้อมๆ กัน แต่วันนี้พวกเราทำได้แล้ว สำหรับเราถือว่าสุดยอดมาก
จีย์: ก็ยังกลัวทุกครั้งที่อยู่บนเวทีนะครับ เพราะยังจำได้เลยว่าตอนขึ้นไปโชว์บนเวทีครั้งแรก ขนาดว่าซ้อมมาดี แต่ก็มือสั่น คิดอะไรไม่ออก ใจเต้นแรงมาก พอเล่นมาเรื่อยๆ ก็เริ่มชิน สุดท้ายแล้วเราก็แค่เล่นไปตามความรู้สึก ความกลัว ความตื่นเต้นมันก็หายไปเองครับ”
ฟลุ๊ค: ผมเป็นพวกต้องมีเดดไลน์ครับ ถ้าไม่มีก็จะใช้ชีวิตเรื่อยเปื่อย การประกวดมันมีเวลาแน่นอนว่าต้องเสร็จภายในวันนี้ ต้องแข่งแล้วนะ ต้องเอาจริงแล้ว นั่นเป็นแรงกระตุ้นให้ผมไม่ลืมว่าตัวเองต้องการอะไร และไม่ลืมว่าเรายังต้องพัฒนาอีก ถ้าไม่มีสนามแข่งเราไม่มีทางรู้เลยว่าฝีมือเราเป็นยังไง
ฟ้า: เราอยากลบคำสบประมาทของคนอื่นที่คิดว่าเราทำไม่ได้ บางคนบอกว่าฟลุ๊คร้องแบบนี้ได้รางวัลได้ยังไง โดนมาเยอะตั้งแต่เด็กๆ เลยอยากจะพิสูจน์ตัวเองว่า เราทำได้ เรามีความสามารถ การขึ้นเวทีทำให้เรามั่นใจขึ้นมาก
เก้า: ผมไม่อยากมาเสียดายทีหลังว่าทำไมตอนนั้นไม่ทำ มันเป็นคติประจำตัวครับ ถ้าทำต้องทำให้ดีที่สุด ไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไรก็ยอมรับมัน เลยทำให้ไม่กลัวครับว่าจะพร้อมหรือไม่พร้อม
ดีน: ผมเคยแข่งดนตรี มีประสบการณ์แบบนี้ ตอนเวทีแรกๆ ไปเจอวงใหญ่ก็ถอดใจตั้งแต่ก่อนขึ้นเวทีแล้ว แต่พอขึ้นไปจริงๆ ก็ทำได้นะ เลยใช้ความคิดนี้มาตลอด ไม่ต้องไปกลัว ใครจะเก่งก็อย่าไปกลัว ทำให้เต็มที่พอ ถึงจะประหม่าว่าเราจะทำได้ดีกว่ามือเบสวงอื่นไหม ผมก็เอาความประหม่านั่นแหละมาเป็นพลังครับ ยิ่งกลัวพลังยิ่งเยอะ
ในฐานะวงร่วมกันเฉพาะกิจที่สามารถพิชิตภารกิจ ‘Dream it, Do it! กล้าฝัน! กล้าทำ!’ ได้สำเร็จ พวกเขาฝากถึงคนที่มีฝันแต่ยังไม่กล้าว่า “ประกวดสิครับ อย่าไปรอ ได้…ไม่ได้ก็ประกวดไปก่อน มันจะได้อะไรจากการประกวดเยอะ พวกเราได้ประสบการณ์จากเวทีนี้เยอะมากๆ เพราะเป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้คนมีฝัน มีศักยภาพ ได้มาแสดงฝีมือ” เก้าบอกแทนทุกคนในวงที่คิดเหมือนๆ กัน
“ถ้าคุณอยากรู้ว่าตัวเองเก่งแค่ไหน เวทีนี้จะทำให้คุณเห็นครับ อยากฝากถึงคนที่อยากแข่งแต่ยังไม่กล้า ถึงจะแพ้แต่ก็ได้ประสบการณ์ ได้รู้จักตัวเอง ได้เห็นเพื่อนๆ วงอื่นว่าเขามีเทคนิคอะไร มันคือการเปิดโลกครับ” ดีน กล่าว
หมวยพูดทิ้งท้ายว่า “ไม่มีอะไรทำแล้วมีความสุขเท่าสิ่งที่ตัวเองชอบ” และความสุขจะเป็นสารตั้งต้นชั้นดีที่จะทำให้ทุกความฝันเป็นจริง นั่นคือสิ่งที่พวกเขาเชื่อ!