Summary
เส้นทางสายดนตรีกว่า 20 ปีของ แฟรงค์ – นัฐพงษ์ สุทธิวิรีสรรค์ ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของศิลปิน แห่งค่ายเพลง What the Duck ที่มีแพสชันเริ่มต้นจากความชื่นชอบในการฟังเพลง จนได้ก้าวเข้าสู่การทำงานบนถนนสายดนตรีในตำแหน่ง AR – Artist Relation กับหน้าที่นี้ที่ต้องพร้อมเดินเคียงบ่าเคียงไหล่ไปกับศิลปินและเฝ้าดูศิลปินเติบโต เราต้องพร้อมรับมือทุกรูปแบบ เพราะศิลปินคืออาร์ติสต์ ไม่ใช่ของสำเร็จรูป ยิ่งศิลปินดังเท่าไร เราต้องอ่อนน้อมเป็นและไม่ก้าวร้าว ถามตัวเองก่อนว่าพร้อมรับมือกับปัญหาหรือเปล่า
กว่า 20 ปีที่ แฟรงค์ – นัฐพงษ์ สุทธิวิรีสรรค์ แห่งค่ายเพลง What the Duck โลดแล่นบนเส้นทางสายดนตรี…แม้ไม่ใช่ศิลปินแต่เป็นยิ่งกว่าครอบครัวที่คอยซัปพอร์ตศิลปินของค่ายในทุกด้าน เป็นผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของศิลปิน ตั้งแต่ด่านหน้าไปถึงหลังบ้าน แบบไม่ว่าจะทุกข์หรือสุข ศิลปินจะมีเขาคนนี้คอยซัปพอร์ตอยู่เสมอ
ใครอยากรู้จักหน้าที่และความหมายของ “ผู้จัดการศิลปิน” ผู้คอยจัดตารางงาน พาศิลปินไปร่วมงาน จนถึงดูแลประสานงานต่างๆ ให้กับศิลปินอินดี้เบอร์ต้นของค่าย ไม่ว่าจะเป็น สครับบ์ สิงโต นำโชค เดอะทอยส์ สตรีท ฟังก์ โรลเลอร์ เดอะพีช แบนด์ โมโนโทน และอีกหลายๆ วง รวมไปถึงศิลปินวาฬแอนด์ดอล์ฟ (Whal & Dolph) ที่เคยมาร่วมเวทีประกวด The POWER BAND ซึ่งจัดโดยวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ คิง เพาเวอร์ ไทย เพาเวอร์ พลังคนไทย และโครงการประกวดปีนี้ยังมีหลายเพลงฮิตจากค่ายนี้ อาทิ “อาหมวยหาย” ของวง เดอะทอยส์ “ลงใจ” ของ Bowkylion เพลง “ยังคงคอย” ของ Hers หรือ “ลาก่อน” ของ YourMOOD เป็นต้น เป็นเพลงโจทย์ให้ผู้เข้าร่วมประกวดเลือกร้องอีกด้วย
Q: ถ้าทุกวันนี้คุณไม่ได้ทำงานในวงการเพลง?
A: ผมอาจจะไปเป็นผู้จัดการทีมฟุตบอลที่ไหนสักที่ครับ
ทำความรู้จัก “แฟรงค์ What the Duck” ใน 5 บรรทัด
• เริ่มต้นจากความชอบฟังเพลง เขาขีดเส้นทางชีวิตเพื่อจะได้เดินไปบนถนนสายดนตรีตั้งแต่เข้าเรียนมหาวิทยาลัย
• เปิดรับทุกโอกาสและได้เข้ามาฝึกงานค่ายเพลงโปรดของเขา
• เมื่อได้เรียนรู้จากสนามทำงานจริงจัง จนตอบตัวเองได้ว่ามันคือ “แพสชัน” ที่จะทำงานด้านดนตรี
• ได้รับการชักชวนเข้าทำงานในค่ายเพลง Black Sheep ทันทีที่เรียนจบ
• ก้าวเข้าสู่การทำงานบนถนนสายดนตรีอย่างจริงจังครั้งแรกในตำแหน่ง AR – Artist Relation
“เริ่มต้นทำงานในวงการเพลง จากตอนเข้ามหาวิทยาลัยเลือกเรียนคณะนิเทศศาสตร์ และวางเป้าหมายในชีวิตว่าอยากทำงานด้านวิทยุโทรทัศน์ บวกกับตอนเด็กๆ ชอบฟังเพลง ตอนเรียนอยู่ปี 3 ผมโชคดีได้เข้าไปฝึกงานที่ค่าย Black Sheep ซึ่งมีพี่รหัสทำงานอยู่ก่อนแล้ว
ได้ฝึกงานจนเรียนรู้ขั้นตอนการทำงานเกือบหมด เวลาพี่เขาถามเกี่ยวกับศิลปินในค่าย เราก็ตอบได้เพราะเราเป็นแฟนเพลง ถามถึงค่ายอื่นๆ เราก็รู้ เพราะเราชอบฟังเพลง ตรงนี้พี่เขาอาจจะเห็นแววอะไรสักอย่างในตัวผม พอเรียนจบเขาเลยรับเราเข้าทำงานในตำแหน่ง AR ทำให้เราได้เงินเดือนจากการทำงานก้อนแรก และมั่นใจว่าอาชีพนี้จะหล่อเลี้ยงชีวิตเราได้ จนทุกวันนี้เราพิสูจน์ได้ว่าเดินมาถูกทาง สามารถส่งเงินให้ที่บ้าน สามารถส่งน้องเรียน อาชีพนี้คือความภูมิใจ ซึ่งต้องขอบคุณความเชื่อในตอนนั้นที่ทำให้เราเดินมาในทางที่ถูกต้อง”
“20 ปีของการทำงานเป็น 20 ปีที่มีความใหม่อยู่ทุกวัน มีโจทย์ใหม่ๆ จากศิลปินตลอด แต่ละคนมาแบบไม่ซ้ำกันเลย ค่ายเชื่อในตัวศิลปิน ศิลปินเชื่อในค่าย
แต่ระหว่างทางจะเดินร่วมกันไปอย่างไร…นั่นละหน้าที่ของเรา”
แฟรงค์ – นัฐพงษ์ สุทธิวิรีสรรค์
A&R Executive แห่งค่าย What the Duck
จาก AR สู่ A&R Executive กับความรับผิดชอบอีกขั้น ตำแหน่งที่ไม่ได้มีหน้าที่เพียงแค่คัดเลือก ส่งเสริม และพาศิลปินไปให้ถึงฝั่งฝันเท่านั้น แต่ยังต้องเป็นผู้ดูแลซัปพอร์ตศิลปินในทุกๆ เรื่องด้วย
“เวลาเราย้ายค่ายเพลง เราจะไปเป็นทีม ผมเองก็ตามทีมไปอีกหลายที่และทำตำแหน่ง AR อยู่หลายปี จนมาทำงานที่ค่าย Believe Records แต่ขยับขึ้นมาทำตำแหน่ง A&R (Artist and Repertoire) จนปัจจุบันผมทำงานที่ What the Duck ในตำแหน่ง A&R Executive เป็นด่านแรกของการคัดศิลปินเข้าค่าย จะได้ฟังเดโม่ของศิลปิน ได้เห็นความฝันของศิลปินที่เขาวาดไว้ ดูว่าจะเดินร่วมกันไปได้ไหม แล้วจึงวางแผนการทำงานต่อในการจะพาเขาไปสุดทาง”
✔ เมื่อไหร่เหนื่อย…ให้ลางานไปพักบ้าง
หน้าที่ของ A&R ยังมีระหว่างทาง
ไม่ใช่แค่ต้นทางคัดสรร
“A&R ไม่ได้ดูแลแค่คัดสรรศิลปินอย่างเดียว เรามีหน้าที่ต้องดูแลไปถึงทุกข์สุข ดูแลใจศิลปินในวันที่เขามีปัญหาด้วย
อย่าง เดอะทอยส์ กว่าจะมาถึงทุกวันนี้ไม่ใช่ว่าปล่อยเพลงแล้วดังเลย หรือโบกี้ไลอ้อน กว่าจะมาถึงทุกวันนี้ระหว่างทางก็จะมีคำถามตลอดว่า ทำไมปล่อยเพลงไปสักพักแล้วเพลงหนูยังไม่มาคะพี่ เราต้องทำความเข้าใจให้กำลังใจเขา
บางวงปล่อยเพลงมาก็ดังเลย บางวงต้องใช้เวลา แต่เราจะให้ศิลปินปล่อยเพลงเพื่อสะสมช่วงเวลาไปเรื่อยๆ ถ้าโชคดีปล่อยแล้วดังเลย ก็ยังต้องขยันทำเพลงต่อไป ไม่ใช่เพลงเดียวแล้วหยุด หน้าที่หลักของเราคือสนับสนุนพัฒนาศิลปิน ถ้าเขามีปัญหาเราต้องพร้อมรับฟัง เป็นหลังบ้านที่คอยฟังศิลปินในทุกเรื่อง ไม่ใช่แค่ศิลปินแต่ยังรวมทีมงานทุกคน หรือแม้แต่ปัญหาหน้างาน เราต้องเป็นคนกลางที่รับฟังทุกฝ่ายแล้วทำให้ทุกฝ่ายพอใจมากที่สุด อีกพาร์ตหนึ่งคือดูแลงานด้านอื่นๆ ของศิลปิน”
✔แยกงานกับชีวิตส่วนตัว ไม่เก็บความเครียดกลับบ้าน
Suggestion
คีย์ความสำเร็จในแบบศิลปิน
สิ่งที่จะทำให้ศิลปินสำเร็จในมุมมองของแฟรงค์
“ข้อแรกศิลปินต้องเชื่อในตัวเองก่อน จริงใจกับสิ่งที่ทำ เชื่อในงานเพลงของตัวเอง ส่วนที่เหลือเราต้องมาช่วยกันคือต่างฝ่ายต่างซัปพอร์ตกัน เพลงจะฮิตหรือไม่ก็็็ต้องทำต่อไป อย่าหยุด เราไม่รู้ว่าโอกาสจะมาตอนไหน ทุกที่มันมีโอกาสครับ
วันนี้คุณอาจยังไม่ดัง แต่วันหนึ่งแฟนเพลงที่เคยเจอคุณตั้งแต่เขาอยู่มัธยม อาจจะเติบโตเป็นคนที่ ซัปพอร์ตคุณก็ได้ ฉะนั้นอีกสิ่งสำคัญคือให้เกียรติผู้อื่น ทั้งลูกค้า ทีม และแฟนเพลง ซึ่งผมบอกเสมอว่าเวลาขึ้นโชว์ให้ทำให้ดีที่สุด แล้วถ้ามีเวลาให้ถ่ายรูปแจกลายเซ็นแฟนเพลงบ้าง เพราะนี่อาจจะเป็นโอกาสเดียวที่เขาได้ดูคอนเสิร์ตของเรา ต้องเคารพในพื้นที่ของกันและกัน
และอย่าหยุดฝัน เพราะ What the Duck เราเน้นสร้างศิลปิน เน้นทำสิ่งใหม่ๆ ศิลปินส่วนใหญ่จึงเป็นศิลปินใหม่ซึ่งต้องเดินคู่กันไปกับเราตั้งแต่วันแรก แต่ระหว่างทางเราจะเดินคู่กันไปได้อย่างไร เพราะทำงานตรงนี้ต้องใช้เวลา”
A&R ในแบบของแฟรงค์
• นึกถึงใจเขาใจเรา และการสื่อสารเป็นสิ่งสำคัญที่จะพาทีมให้รอดได้
อย่ารีบตัดสินใครต้องมีเหตุผลและรับฟังทุกฝ่าย
• รับฟัง ให้คำปรึกษา มีปัญหาคอยแก้ไข
แล้วแก้ให้เร็วไม่ปล่อยปัญหาให้ค้างคา พร้อมรับสายจากศิลปินตลอดเวลา
• ใส่ใจ ตรงต่อเวลา
มีวุฒิภาวะทางอารมณ์
• ให้เกียรติทุกคน
เพราะทุกอาชีพมีความสำคัญในตัวเอง
• ความอ่อนน้อมจะเป็นใบเบิกทางให้ทำงานง่ายขึ้น
โมเมนต์น่ารักๆ ของการทำงาน
“ช่วงที่ เดอะทอยส์ ดังใหม่ๆ มีน้องๆ นักเรียนที่คงกำลังเข้าแถวกันอยู่ที่โรงเรียนโทร.มาแต่เช้าสัก 7 โมงได้ พอผมรับสายเสียงมาเลย…พี่ทอยรับแล้วๆ พี่ทอยหรือเปล่าคะ อารมณ์ดีใจคิดว่าพี่ทอยรับสาย
ถึงจะเช้ามาก ผมก็ไม่ได้ดุอะไรน้องนะ แต่บอกว่านี่เป็นเบอร์สำหรับติดต่องาน อยากฝากบอกอะไรพี่ทอย เดี๋ยวพี่ไปบอกให้เอง
อีกเรื่องหนึ่งคือเราได้ต่อยอดไปรู้จักผู้ใหญ่ในวงการเพลงมากขึ้น อย่างพี่บอย โกสิยพงษ์ หรือวง โมเดิร์นด็อก ที่เราเป็นแฟนเพลง เราไม่คาดคิดว่าจะได้มาดูแลพวกเขา ได้นั่งรถตู้ไปกับเขา ได้ไปส่งเขาที่บ้าน มันไกลเกินความฝันของเด็กคนหนึ่งมาก ทำให้นึกย้อนกลับไปวันที่เข้ามาในวงการเพลงใหม่ๆ ความรู้เราเป็นศูนย์ มีสิ่งเดียวคือชอบฟังเพลง ที่เหลือเรามาเรียนรู้ในระหว่างทาง 20 ปีของการทำงาน
ถามว่าเบื่อไหม ผมไม่เบื่อนะ วงการนี้มีเรื่องใหม่ๆ ให้เรียนรู้ทุกวัน อาจจะเป็นที่เรายังคงรักการฟังเพลง ศิลปินแต่ละคนที่ได้เจอก็ไม่มีใครเหมือนกันเลย เป็นความแปลกใหม่ให้เราได้เรียนรู้ตลอด”
โมเมนต์แห่งโอกาส…ประทับใจไม่ลืม
โมเมนต์จากวันแถลงข่าวโครงการ THE POWER BAND ที่ผมจำได้แม่น คือครั้งหนึ่งที่พี่นะ วง POLYCAT ขึ้นเวที ถามว่าใครเล่นกีตาร์เพลงนี้ได้บ้างมีน้องคนหนึ่งน่าจะอยู่ชั้นมัธยม ยกมือแล้ววิ่งขึ้นมาบนเวทีบอก “ผมเล่นได้ครับ” แล้วน้องได้เล่นกีตาร์กับวงโพลีแคทเชื่อไหมว่าสิ่งนี้มันจะเป็นแรงบันดาลใจและเป็นภาพที่ติดตัวเขาไปตลอด จะเป็นโมเมนต์ที่ฝังใจหล่อเลี้ยงใจเขาได้
Suggestion
ถ้าอยากเป็น A&R ต้องเริ่มต้นจากอะไร
“ให้เริ่มด้วยใจรักจริงๆ เพราะต้องเป็นทั้งด่านหน้า และหลังบ้านคอยซัปพอร์ต แก้ปัญหา และเฝ้าดูศิลปินเติบโต
มีนะคนที่คิดแค่อยากใกล้ชิดศิลปิน พอมาเจอศิลปินจริงๆ เขาอาจเกลียดศิลปินก็ได้ แล้วกลายเป็นว่ารู้งี้เป็นแค่แฟนคลับดีกว่า เพราะศิลปินคืออาร์ติสต์ ผลิตภัณฑ์ของเรามีชีวิต มีอารมณ์ ไม่ใช่ของสำเร็จรูป เราต้องพร้อมรับมือทุกรูปแบบ ยิ่งศิลปินดังเท่าไร เรายิ่งต้องมีเรื่องให้รับมือ ต้องอ่อนน้อมเป็นแต่ไม่ใช่ยอมทุกเรื่อง และไม่ใช่ก้าวร้าว ถามตัวเองก่อนว่าพร้อมรับมือกับปัญหาหรือเปล่า”
✔ ใช้ What the Duck เป็นพื้นที่สร้างและทำอะไรใหม่ๆ
เอ่ยถึงเวที THE POWER BAND ในปีนี้ การประกวด SEASON 3 ที่ What the Duck ได้มีส่วนร่วม
“THE POWER BAND เป็นโครงการที่ดีมากสำหรับวงการเพลง เราไม่ได้เห็นเวทีใหญ่ๆ ที่จัดทุกปีแบบครบทุกภูมิภาคเหมือนอย่างเวทีนี้
ปีนี้เพิ่มการรวมวงข้ามโรงเรียนได้ด้วย เป็นการเปิดโอกาสแบบไม่ปิดกั้นความสามารถ จากที่เราเห็นวิดีโอรีแคปต่างๆ กว่าจะเป็นศิลปิน หลายคนก็เริ่มจากการทำวงกับเพื่อนๆ นี่ละครับ เวทีนี้จะเป็นสิ่งพิสูจน์ถึงความตั้งใจ
ภาพโดย Expert Kit
การประกวดแต่ละครั้งมีวงดนตรีมาเป็นร้อยวง ไม่มีทางที่จะสำเร็จทุกวงเพราะรางวัลมีจำกัด แต่ทุกที่มีโอกาสเสมอ คุณอาจจะไม่ได้รางวัลชนะเลิศ แต่ค่ายพาร์ตเนอร์อาจเป็นบันไดก้าวแรกให้คุณในสายอาชีพดนตรีก็ได้ ให้ถามตัวเองว่าในวันนี้เราจริงจังแค่ไหน ความฝันกับความจริงมันต้องเดินไปพร้อมกัน
ชีวิตจริงไม่ได้ง่ายแต่มันอยู่ที่เรา หรือวงที่ไม่ได้รางวัลก็ไม่ต้องเสียใจ บางวงที่ทุกวันนี้เป็นวงดังระดับประเทศ ก็ผ่านเวทีประกวดมาหลายรอบแบบไม่ได้ชนะ แต่เขายังเชื่อว่าความฝันหล่อเลี้ยงเขาได้ ความเหนื่อยจะหายไปเมื่อเรามองย้อนกลับไปในวันเริ่มแรก แล้วเราไม่ปล่อยโอกาสให้หลุดไป สำหรับ What the Duck เราพร้อมซัปพอร์ตน้องๆ ให้ได้เรียนรู้ หรืออย่างน้อยให้ได้เห็นว่าศิลปินต้องเตรียมตัวอย่างไรก่อนขึ้นแสดง”
เคล็ดไม่ลับ
บริหารชีวิต A&R ของแฟรงค์ – นัฐพงษ์
✔ส่วนตัวผมไม่เก็บความเครียดกลับบ้าน แยกงานกับชีวิตส่วนตัว นั่งฟังเพลง – อ่านหนังสือสักพักเดี๋ยวก็หาย
✔ศิลปินเหนื่อยบอก A&R แต่ถ้า A&R เหนื่อยบ้าง — ผมก็ลางานหนีไปแบ็กแพ็กคนเดียวครับ
✔What the Duck เป็นพื้นที่ของการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน เราอยู่กันเป็นครอบครัว เวลามีปัญหาไม่ต้องผ่านขั้นตอนอะไร เราตัดสินให้ได้เลย เราเน้นการสร้าง ชอบทำอะไรใหม่ๆ ชอบทำอะไรเป็นที่แรก เราไม่รู้หรอกว่าจะขาดทุนหรือเปล่า แต่ถ้าเราได้ลองทำแล้วทีมสนุก เราทำครับ
• “It’s Possible, Music Makes Life Possible” พลังแห่งดนตรี พลังแห่งทุกความเป็นไปได้ THE POWER BAND 2023 SEASON 3 สนามสงขลาเปิดรับสมัครแล้ว จนถึง 14 กรกฎาคม 2566 ส่วนสนามนครปฐมเปิดรับสมัครถึง 4 สิงหาคม 2566 ติดตามรายละเอียดการรับสมัครได้ที่ www.music.mahidol.ac.th/thepowerband / Facebook: thepowerband.mahidol
• การแข่งขันในปีนี้สำหรับ Class A (รุ่นมัธยมศึกษา) ไม่จำเป็นต้องมาจากสถาบันเดียวกันเท่านั้น และ Class B (รุ่นบุคคลทั่วไป)