People

“ครูเสือ” วง Hidden Track
ส่งต่อความรู้ ความรัก และแรงบันดาลใจให้ศิษย์

ภัทรามน ผุดเพชรแก้ว 12 Sep 2024
Views: 1,608

Summary

ทำความรู้จัก “ครูเสือ” ปกาศิต ศรแก้ว เล่าเรื่องความสุขของคนเป็นครู…ครูผู้คุมวง Hidden Track วงดนตรีระดับมัธยมที่น่าจับตามอง เพราะก้าวเข้าสู่รอบลึกๆ ของ THE POWER BAND ได้ทุกปีที่มาแข่ง ครูเสือมีเทคนิคอะไรให้วง Hidden Track นำเสนอดนตรีมีเสน่ห์และลีลาเด็ด กุญแจสำคัญอยู่ในบทความนี้

Hidden Track วงดนตรีระดับมัธยมศึกษา โรงเรียนศรีสะเกษวิทยาลัย ที่น่าจับตามองอีกครั้งในปีนี้ เมื่อวงได้รับรับคำชื่นชมจากคณะกรรมการและชิงตั๋วเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศซ้ำอีก ใน THE POWER BAND 2024 SEASON 4 เวทีประกวดวงดนตรีสากลคุณภาพระดับประเทศ จัดโดย คิง เพาเวอร์ ไทย เพาเวอร์ พลังคนไทย ร่วมกับ วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล และอีก 6 ค่ายเพลงชั้นนำ ภายใต้คอนเซปต์ “Let The Music Power Your World เป็นได้สุด เป็นไปได้ ด้วยพลังแห่งดนตรี”

คงไม่ใช่ความโชคดีหรือเรื่องบังเอิญ แต่มาจากฝีมือและความตั้งใจของทุกคน แน่นอนว่าการซัปพอร์ตจากครูผู้ควบคุมวงก็มีส่วนไม่น้อย เราอาสาพาไปทำความรู้จักและสำรวจแพสชันของ ครูเสือ – ปกาศิต ศรแก้ว ผู้ดูแลวงดนตรีของโรงเรียนศรีสะเกษวิทยาลัย มาตั้งแต่ครั้งเป็น Little Wings พร้อมขอเคล็ดลับสำหรับเทคนิคในการพาวงลงสู่สนามที่ไปได้ไกลทุกครั้ง อ่านเรื่องวง Little Wing เมื่อ SEASON ที่ 2 คลิก

“ความสุขของผมคือการหาประสบการณ์ทางดนตรีให้เด็กๆ หรือใช้ดนตรีเพื่อเสริมสร้างทักษะ…ขอแค่ให้เขามีความสุขกับการเล่นดนตรี”

 

“ครูเสือ” ปกาศิต ศรแก้ว
ครูผู้คุมวง Hidden Track
โรงเรียนศรีสะเกษวิทยาลัย ศรีสะเกษ

 

มุ่งมั่นจะเป็นครู (ให้ได้)  

“จะว่าไปผมเริ่มเป็นครูตั้งแต่ ม.ปลายเลยนะ” เพราะครูเสือได้รับโอกาสจากครูที่โรงเรียนให้ไปสอนพิเศษเด็กประถมเพื่อทำวงเมโลเดี้ยน “มันเลยกลายมาเป็นความฝันเพราะผมได้รับโอกาสให้ไปสอน ผมเลยชอบการสอนและการถ่ายทอดเป็นพิเศษ” นั่นคือแรงบันดาลใจของครูเสือที่ฝันอยากเป็นครูตั้งแต่ตอนนั้น

เมื่อค้นพบสิ่งที่ฝันตั้งแต่เด็กครูเสือจึงมาเรียนต่อด้านดนตรี “ผมสอบเข้าเรียนเอกฟลูต ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา” แต่ขณะที่เรียนอยู่ก็ได้รับโอกาสอีกครั้งให้กลับมาดูแลวงโยธวาทิตของโรงเรียนศรีสะเกษวิทยาลัย “ตั้งแต่ตอนเรียนมหาวิทยาลัยทางโรงเรียนก็ให้ผมกลับมาช่วยวงโยธวาทิต โดยทางโรงเรียนจะส่งค่าตั๋วรถทัวร์มาให้ เพื่อที่เราจะได้ผูกพันกับวง เราทำวงดนตรีมาอย่างต่อเนื่อง”

ในที่สุดก็ทำสำเร็จ เย้ !

พอเรียนจบครูเสือก็ไปเป็นครูอยู่ที่ขอนแก่น แต่เกิดเหตุไม่คาดฝันที่ครูคนเก่าในตำแหน่งเสียชีวิต โรงเรียนศรีสะเกษวิทยาลัยจึงติดต่อให้ครูเสือกลับมาเป็นครูที่นี่อีกครั้ง “เมื่อประมาณปี 2545 ผมมาเป็นครูอัตราจ้างอยู่ 3 ปี พอสอบข้าราชการได้ ผมก็ไปสอนอยู่โรงเรียนประถมที่ต่างอำเภอ พอครบกำหนดผมก็ย้ายมาอยู่ที่ศรีสะเกษวิทยาลัย และอยู่มาจนถึงตอนนี้” 20 กว่าปีที่ความฝันของครูเสือไม่เคยเปลี่ยนไปเลย

“ผมตั้งใจแต่แรกเลยว่าจะมาเป็นครูดนตรีและกลับมาพัฒนาจังหวัดศรีสะเกษ เพราะมีช่วงหนึ่งที่ไปออกงานแล้วมีวงโยธวาทิต ชนะเลิศถ้วยพระราชทาน พวกผมยืนมอง…แล้วก็ร้องไห้ อยากเป็นแบบนั้นบ้าง อยากทำให้วงตัวเองมีโอกาสไปแข่งระดับประเทศ เลยอยากกลับมาเป็นครูเพื่อพัฒนาที่นี่”

 

พาเด็กเรียนรู้โลกกว้าง

นอกจากการสอนให้เด็กรู้จักและเล่นดนตรีอย่างถูกต้องแล้ว อีกหนึ่งภารกิจที่ครูเสือตั้งใจมากก็คือ  การพาเด็กเข้าแข่งขันและได้ไปเล่นดนตรีตามที่ต่างๆ ให้มากที่สุด “การเข้าประกวดหรือการไปเล่นดนตรีตามที่ต่างๆ ให้ประสบการณ์ในการเจอผู้คนที่หลากหลาย เจอเพื่อนใหม่ เจอปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างการแข่งขันหรือการแสดง ซึ่งแต่ละที่ก็มีปัญหาต่างกันไป เด็กจะได้ประสบการณ์ที่นอกเหนือจากห้องเรียนหรือห้องซ้อม ได้เรียนรู้ว่าทุกอย่างมันไม่ได้เป็นไปอย่างที่คิด เขาต้องเรียนรู้การแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น”

 

เพลงเสริมเสน่ห์ของ Hidden Track

ครูเสือมั่นใจ ใครๆ ก็ต้องตกหลุมรัก

เพลง ยายแล่ม  (ศิลปิน ลำไย ไหทองคำ)

เพลง สัญญาเดือนหก (ศิลปิน โจอี้ ภูวศิษฐ์)

เพลง ยาพิษ (ศิลปิน Bodyslam)

“ผมจะสนับสนุนและหาโอกาสให้เด็กทุกทาง เพื่อให้เขาได้ทำตามความฝันทางด้านดนตรีและด้านอื่นๆ ด้วย” ตลอดชีวิตการเป็นครูความสุขและความภูมิใจก็คงหนีไม่พ้นการได้เห็นเด็กๆ เติบโต เจริญก้าวหน้า และมีความสุข “ผมภูมิใจและดีใจกับเด็กทุกคนที่ไปถึงฝั่ง อย่างเด็กที่ผมส่งไป ตอนนี้เขาก็เห็นผมเป็นไอดอล บางรุ่นไปเรียนต่อด้านดนตรีเป็นสิบคน เหตุผลคืออยากเป็นเหมือนผม ผมก็บอกเขาว่า เป็นครูนี่เหนื่อยนะ แต่เขาก็บอกว่าเมื่อเขาได้มาสัมผัสการเป็นครูแล้ว เขาก็อยากถ่ายทอดให้คนอื่นเหมือนที่ผมถ่ายทอดให้เขา”

“ความสุขของผมคือ การหาประสบการณ์ทางดนตรีให้เด็กๆ แล้วก็ส่งเด็กๆ ให้ไปศึกษาต่อด้านดนตรี หรือว่าใช้ดนตรีเพื่อเสริมสร้างทักษะ ไม่ว่าเขาจะเรียนสาขาไหนก็ตาม ขอแค่ให้เขามีความสุขกับการเล่นดนตรี”

 

เรื่องเมาท์ชาว Hidden Track

“เรื่องสนุกของเด็กๆ มีทุกวัน เขาจะมาปรึกษาผมทุกเรื่อง เรื่องปัญหาชีวิต
เรื่องแฟนมั่ง หรือเรื่องส่วนตัว ก็มาเล่าให้ฟัง เช่น ทะเลาะกับเพื่อน
หรือเวลาซ้อมก็แกล้งกันจนร้องไห้ก็มี ผมก็ต้องคอยปลอบ
ทุกวันนี้ก็แทบจะเป็นเพื่อนกันอยู่แล้ว ส่วนเรื่องเครียดๆ ก็มี
อย่างเรื่องพวกเขาไม่ทำการบ้าน ไม่ฝึกซ้อมมา ก่อนซ้อมทุกคนต้องแกะเพลงกันมาก่อน
บางคนไม่ทำมาเพื่อนก็ต้องนั่งรอจนกว่าจะเล่นได้”

ผลักดันพลังของเด็กให้ถึงที่สุด

ครูผู้ควบคุมวงนอกจากดูแลเรื่องการเล่นดนตรี สอนเรื่องการใช้ชีวิต หรือเพิ่มพูนประสบกาณ์ให้ลูกศิษย์แล้ว ยังคอยมองหาโอกาสและช่องทางดีๆ เพื่อให้ศิษย์บินได้ไกลและสูงขึ้น “เป้าหมายของผมคือ ให้เด็กๆ ทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด ยกระดับความสามารถ และแก้ไขข้อผิดพลาดในแต่ละปีที่แข่งมา และนำความรู้มาพัฒนาให้แข็งแรงขึ้น ถ้ามีโอกาสคว้าชัยชนะก็เป็นเรื่องที่ดี”

ครูเสือก็ตั้งเป้าที่จะพาเด็กๆ มาลงสนามประกวด THE POWER BAND ทุกปีเพราะเชื่อว่าช่วยให้เด็กค้นหาความฝันของตัวเองและเพิ่มพูนประสบการณ์ได้

“THE POWER BAND เป็นรายการประกวดดนตรีที่ดี มีมาตรฐาน และมีคุณภาพ ความใฝ่ฝันหนึ่งของเด็กๆ หลายคนอยากเรียนต่อที่ดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผมเลยส่งพวกเขาประกวดทุกซีซันเพื่อให้เด็กได้ค้นหาตัวเองในการเป็นศิลปิน หรือถ้าเขาไม่ได้เป็นศิลปิน ไม่ได้รางวัล แต่เขาก็ยังได้ประสบการณ์ในการเข้าแคมป์ดนตรีซึ่งรายการอื่นไม่มี เป็นประสบการณ์ที่เด็กๆ สามารถเอาไปพัฒนาตัวเองได้ในอนาคต ทั้งในการศึกษาต่อด้านดนตรี หรือเอาไปใช้ในชีวิต เรื่องมุมมองและทัศนคติ”

“อย่างปีก่อนที่เขาได้ไปฟังพี่โบกี้ไลอ้อน เล่าเรื่องกว่าที่เขาจะได้เป็นศิลปิน น้องๆ ก็ได้แรงบันดาลใจ ยังกลับมาเล่าให้ผมฟังเลยว่า หนูเพิ่งรู้ว่าการเป็นศิลปินมันยากขนาดนี้ คลิกอ่านบทสัมภาษณ์โบกี้ไลอ้อนเก็บตกจากที่มิวสิกแคมป์ฯ ปีแรก กว่าเขาจะดัง เขาต้องผ่านความผิดพลาดหรือความท้อแท้ขนาดไหน หรือที่ไปเจอนนท์ ธนนท์ เขาก็ได้ข้อความที่นนท์พูดบนเวทีแล้วเขาประทับใจ หรืออย่างเพลงที่ใช้ประกวดในปีนี้ เด็กๆ ก็เรียบเรียงกันเอง โดยใช้ความรู้ที่ได้จากแคมป์ ผมแค่ขัดเกลาและชี้แนะในส่วนที่ไม่ค่อยสมบูรณ์เท่านั้น”

 

เทคนิคในการพาเด็กไปให้ถึงเป้าหมาย

ฉบับ “ครูเสือ”

“เทคนิคคือให้เขาตั้งใจฝึกซ้อม รู้หน้าที่ และรับผิดชอบตัวเอง
ทำความเข้าใจในการเล่นเครื่องดนตรีของตัวเอง
ต้องพัฒนาทักษะของตัวเองก่อนที่จะมารวมกันเป็นวง และส่งความสุขให้ผู้ชมให้มากที่สุด”

 

โลกเปลี่ยนไปเมื่อได้มาเป็นครูดนตรี

คำกล่าวที่ว่า ‘โลกเปลี่ยนไปเมื่อได้รู้จักดนตรี’ คงไม่เกินไปนัก เพราะครูเสือและเด็กๆ เป็นอีกเสียงที่ยืนยันคำนี้

“โลกของผมเปลี่ยนไปเมื่อได้มาเป็นครูดนตรี ได้สอนเด็กๆ และมีโอกาสเห็นการเจริญเติบโตของเด็กแต่ละรุ่น ที่ก้าวไปสู่สายอาชีพต่างๆ หรือใช้ดนตรีในการพัฒนาตัวเอง ส่วนโลกของเด็กๆ ก็น่าจะเป็นความฝันที่เขาอยากเป็นศิลปิน พอเขามีแรงบันดาลใจจากศิลปินคนโปรด เขาก็เกิดพลังบวกที่จะสร้างสรรค์ ฝึกซ้อม ค้นหาตัวเอง หรือทำวงเข้าแข่งขัน เพื่อเก็บประสบการณ์ เพราะท้ายที่สุดแล้วเด็กๆ ก็อยากเป็นศิลปิน”

 

Q: ครูเสือคิดว่า ‘จุดเด่นและจุดที่ยังต้องพัฒนา’
ของวง Hidden Track คืออะไร?

A: จุดเด่นคือความสามัคคีเล่นกันเป็นทีม
ทุกคนเข้าใจกันซึ่งกันและกัน ส่วนจุดด้อยก็น่าจะเป็นสมาธิ
น้องๆ สมาธิยังไม่ค่อยนิ่งเท่าไร ยังมีพลาดอยู่บ้าง

วงพี่วงน้อง…วง “เพื่อนบ้าน” ศรีสะเกษ – อุดรฯ

THE POWER BAND ปีนี้ เราเจอครูเสือครั้งแรกในสนามภูมิภาคที่ 2 สนามขอนแก่น และเมื่อสนามภูมิภาคที่ 3 สนามเชียงใหม่ เราได้เจอครูเสืออีกครั้งแต่เป็นภารกิจผู้คุมวง Target Band (จากโรงเรียนอุดรพิทยานุกูล) ครูเสือเลยเล่าให้ฟังชัดเจนถึงความผูกพันทั้งเพื่อน พี่น้อง และคู่แข่งที่น่ารักจัง

“ครูเสือ” กับวง Target Band (จากอุดรธานี) ที่สนามเชียงใหม่

“ผมสนิทกับคุณครูที่ดูแลวง Target Band เคยช่วยกับทีมอุดรพิทยานุกูล มาตั้งแต่ 10 ปีที่แล้ว ก็มีความผูกพัน มีโอกาสได้ช่วยสอนทุกรุ่น ไปเทรนให้นักร้อง ไปมาหาสู่กันเหมือนครอบครัว Hidden Track ก็เคยไปเยือนที่อุดรพิทยานุกูล ไปเล่นคอนเสิร์ตด้วยกัน เด็กๆ แต่ละรุ่นก็สนิทกัน เราได้ไปแข่ง ไปเจอกัน บางทีก็ไปเล่นดนตรีด้วยกัน” คลิกอ่านเรื่องของวงอุดรพิทยานุกูล สุดท้าย ครูเสืออยากฝากถึงเด็กๆ ที่อยากเล่นดนตรีว่า “ดนตรีเป็นสิ่งที่ดี สามารถพัฒนาเราในทุกด้าน ทั้งจิตใจ ทั้งเรื่องความรับผิดชอบ การทำงานเป็นทีม ถ้ามีโอกาสได้เล่นดนตรีแล้ว โดยเฉพาะการเล่นเป็นวงเราจะยอมรับความคิดเห็นจากคนอื่นได้มากขึ้น”

 

รายการ MUSIC SCHOOL EP. 16 วง HIDDEN TRACK

The Power Band 2022: Dream it, Do it Ep 2

Author

ภัทรามน ผุดเพชรแก้ว

Author

นักเล่าเรื่อง ผู้มีหนังสือและการเดินทางเป็นดั่งลมหายใจ นิยมชมชอบท้องฟ้า กาแฟ และแมว

Author

อำพน จันทร์ศิริศรี

Photographer

ช่างภาพอิสระมากว่า 30 ปี...ที่คร่ำหวอดกับการถ่ายภาพรายการทีวีต่างๆ เช่น The Voice, The Rapper, The Stars Idol เป็นต้น และถ่ายภาพคอนเสิร์ตต่างๆ