People

ลงทะเบียน 1 วินาที เต็ม!!
ค้นความคิดครูณัฐวุฒิ มังกรกิ่ง
“อย่ามาเรียนเลย…ไปทำอย่างอื่นเถอะ”

ศรัณย์ เสมาทอง 7 Feb 2024
Views: 1,846

Summary

ตลอดเวลา 3 ซีซันของ THE POWER BAND วงดนตรีจากโรงเรียนโยธินบูรณะ I Love Wednesday  ที่มีแนวสดใสวัยรุ่น ไม่ได้ฮาร์ดคอร์ระเบิดพลังเหมือนที่นิยมนำเสนอในการแข่งขันดนตรี กลับได้เข้ารอบชิงชนะเลิศตลอดมา มันต้องมีอะไรอยู่เบื้องหลังแน่ๆ ลองมาค้นลึกในวิธีคิดของอ.แอนท์ – ณัฐวุฒิ มังกรกิ่ง ผู้คุมวง น่าจะได้ข้อมูลที่ exclusive บ้าง

“อย่ามาเรียนเลย…ดนตรีเนี่ย ไปทำอย่างอื่นเถอะ”

อ.แอนท์ ตอบแบบนี้กับนักเรียนเสมอ ถ้านักเรียนที่ยังไม่รู้ว่าจะเรียนอะไรดีเดินมาถามว่าเลือกเรียนวิชาดนตรีดีไหม “จะมาเรียนดนตรีเพราะไม่รู้จะเรียนอะไร แค่คิดก็ผิดแล้ว”

แม้จะตอบปัดเด็กๆ ไปหลายคน แต่วิชาเลือกทางด้านดนตรีในการดูแลของ อ.แอนท์ – ณัฐวุฒิ มังกรกิ่ง ครูดนตรีของโรงเรียนโยธินบูรณะ ก็ยังคงติดอันดับวิชาเต็มเร็ว

“เปิดให้ลงทะเบียนปั๊บ 1 วินาที เต็มแล้ว” หืออออออ!!! “เทอมหนึ่งผมรับได้แค่ 25 คนต่อชั้นปีเท่านั้น”

“ถ้าเด็กถามว่าเรียนดนตรีดีไหม

มองแววตาและฟังคำพูด ถ้าขาด Passion

ก็จะบอกว่า…ไปเรียนอย่างอื่นเถอะ

                                  อ.แอนท์ – ณัฐวุฒิ มังกรกิ่ง
ครูดนตรีสากลผู้ดูแลควบคุมวงโยธวาทิต
และวงสตริง โรงเรียนโยธินบูรณะ

 

ตัวตนนั้น…สำคัญไฉน

พ.ศ. 2545 หลังจากจบปริญญาตรีด้านดนตรี จากสถาบันราชภัฏสวนสุนันทา (ชื่อสถาบันในขณะนั้น) อ.แอนท์ในวัยเพิ่งบรรลุนิติภาวะได้มาเป็นครูดนตรีที่โรงเรียนโยธินบูรณะ ตลอดเวลาการเป็นครูกว่า 20 ปี เขาเห็นการพัฒนาของเด็กที่เล่นดนตรีมาหลายยุคสมัย

 “อ.แอนท์” คนสวมเสื้อสีเข้มสุด

 ภาพจากครูณัฐวุฒิ

“ต้องใช้คำว่าก้าวกระโดดเลยล่ะ นึกย้อนไปสมัย ม.ปลาย ผมยังเป่าทรอมโบนในวงโยธวาทิตอยู่เลย ปริญญาตรีก็เรียนทรอมโบน แต่คิดว่าน่าจะหาเงินได้ยาก เลยหันมาจับเบสแล้วรวมวงไปเล่นดนตรีตามร้านอาหาร เด็กยุคนี้ฝีมือดีขึ้น อุปกรณ์ก็ราคาถูกลง เทคโนโลยีก็ดีขึ้น เด็กประถมก็รวมวงเล่นดนตรีกันได้แล้ว”

พอคนทำเพลงกันได้ง่ายขึ้น นักดนตรีก็เลยเยอะ หาที่โดดเด่นจากคนอื่นยาก

“ถ้ามีคนมาบอกว่าหนูอยากเป็นนักร้อง หนูอยากเป็นศิลปิน  ผมจะแนะนำให้สร้างตัวตนของตัวเองก่อน คุณต้องนำเสนอคาแรกเตอร์ตัวเองให้ชัด ต้องรู้ว่ามีช่องทางนำเสนอตัวเองยังไงให้คนมาเห็นคุณเยอะๆ ผมเห็นหลายๆ คน หลายๆ วงก็มีเพลงของตัวเอง มีช่อง YouTube ของตัวเอง โพสต์เพลงของตัวเอง เดี๋ยวก็มีคนผ่านมาเห็นและซื้องานเอง”

ภาพจากครูณัฐวุฒิ

✔️ ค้นหาตัวตน

สร้าง Character ให้ชัดเจน

แต่ก็มีเด็กรุ่นหลังบางคนเข้าใจว่าการมียอดวิวผลงานของเขาสูงๆ เรียกว่าเป็นผลงานที่ดี อ.แอนท์ก็ยังคงยืนยันว่าตัวตนเป็นสิ่งสำคัญ แม้จะมีรายได้จากยอดวิวเหล่านั้น แต่บางทีก็ไม่คุ้มกับการปล่อยให้สังคมมีภาพจำเกี่ยวกับเราแย่ๆ

“แม้แต่การประกวดร้องเพลง ประกวดดนตรีก็ต้องเลือก ผมเคยนับนิ้วเล่นๆ เคยมีถึง 13 รายการบนทีวี ผมรู้สึกว่า หลายการประกวดไม่ได้มีอะไรให้คนจดจำเท่าไรนัก”

อ้าว…แล้วที่มาแข่ง THE POWER BAND ล่ะ

“วงโรงเรียนเราลงแข่งมา 3 ซีซันแล้ว และเข้ารอบชิงชนะเลิศมาตลอด เวทีนี้ให้เราได้แสดงตัวตนของเราเต็มที่ ไม่ใช่แค่การโชว์ฝีมือและสกิลแล้วล่ะ”

 

✔️ เรียนรู้และฝึกฝนให้มีทักษะทางดนตรี

นักเรียนดนตรี VS นักดนตรี

“ตอนเด็กอยากเป็นดีเจ เพราะฟังวิทยุบ่อย”

รู้สึกได้ถึงความสุขขณะที่ อ.แอนท์เล่า “เปิดเพลง มีสตอรีมาเล่ามาคุย อยู่เป็นเพื่อนเราได้ตลอดเวลา ในช่วงปี 2537-2538 ยังเป็นดีเจที่ใช้เสียงจริงๆ ยังไม่ใช่วีเจที่เห็นหน้า เราก็คิดว่า การเป็นดีเจ…น่าจะต้องเล่นดนตรีเป็น”

เป็นแรงขับให้ฝึกเล่นดนตรี แต่สุดท้ายก็ไม่ได้ลองเป็นดีเจสักครั้ง เพราะแค่พูดกับเพื่อนๆ ก็มักติดอ่างและพูดไม่ค่อยรู้เรื่อง แต่ก็ทำให้เข้าใจว่าการทำงานที่เกี่ยวข้องกับดนตรีไม่ได้มีแค่เป็นนักดนตรีเท่านั้น

จาก ‘เด็กวงโย’ เป่าทรอมโบนมาตั้งแต่มัธยม มหาวิทยาลัยก็ร่ำเรียนเอกทรอมโบน พร้อมกับเป็นมือเบสในวงที่เล่นตามร้านอาหารยามราตรีมาตั้งแต่สมัยนั้นจนถึงปัจจุบัน ประสบการณ์ชีวิตที่ผ่านมาบวกกับความพยายามตามโลกให้ทันเพื่อเก็บเกี่ยวความรู้มาถ่ายทอดสู่คนรุ่นใหม่ ทำให้ชีวิตการเป็นครูดนตรีมีสีสัน

“โยธินบูรณะมีวิชาธุรกิจดนตรี สอนให้รู้ว่าจะนำดนตรีไปใช้งานต่ออย่างไร เช่น นำไปใช้ประกอบหนัง นักเรียนไม่จำเป็นต้องเป็นนักดนตรีก็ได้  มีวิชาการจัดการแสดงดนตรี ฝึกเป็นออร์แกไนเซอร์ทั้งงานบนเวทีและล่างเวที อีกอันคือวิชาเทคโนโลยีดนตรี เป็นเรื่องโปรแกรมต่างๆ อุปกรณ์ดิจิทัลต่างๆ รวมถึงช่องทางสตรีมมิงด้วย เป็นวิชาเลือกเรียนสัปดาห์ละ 2 คาบ”

✔️ ต้องมีใจรักและมี Passion

ในดนตรีอย่างแท้จริง

ภาพโดย Expert Kits

ฟังดูแล้ววิชาเหล่านั้นสามารถนำไปต่อยอดในอนาคตได้ โดยไม่ต้องไปฟาดฟันกันในตำแหน่งนักดนตรีเท่านั้น

“นักดนตรี เปิด YouTube ฝึกก็ยังเล่นเป็นได้ แต่วิชาแบบที่เราสอน เด็กหาจาก YouTube ไม่ได้ ไม่มีอุปกรณ์หรือใครจะมาบอกว่าต้องทำอะไร 1-2-3-4 ก่อน-หลัง ไม่มีใครคอยมา recheck ว่าคุณทำอะไรถูกไหม ต้องแก้ไขตรงไหน”

ไม่แปลกใจ ที่เด็กจะตั้งตาออนไลน์รอลงทะเบียนจนเต็มใน 1 วินาที

 

เราแค่ฟันเฟืองเล็กๆ

ความเปลี่ยนแปลงของนักดนตรีรุ่นใหม่ๆ พัฒนาขึ้นมากขนาดนี้ ถ้าถามว่ามีโอกาสเกิดเป็น T-POP ขึ้นมาได้ไหม อ.แอนท์นิ่งคิดไปครู่หนึ่ง

“ผมมองว่ายาก!! บ้านเราเหมือนกำลังมองคนที่อยู่ข้างหน้าเราว่าเขาทำอะไร แล้วทำตามเขา คนที่อยู่หน้าเราเขาก็ทำต่อไปเรื่อยๆ เราก็ได้แต่ตามเขาไป อีกอย่างหนึ่งประเทศไทยต้องหา Signature ให้เจอ ว่านี่คือ T-POP”

ฟังแล้วก็เข้าข่าย soft power ที่ได้ยินคนพูดกัน ซึ่งยากเกินกว่าที่คนคนเดียวจะทำได้

✔️ เรียนรู้เทคโนโลยีที่ใช้สร้างสรรค์และเผยแพร่ผลงาน

✔️ สร้างช่องทางการนำเสนอผลงานให้เป็นที่ประจักษ์

 

“แล้วไม่ใช่แค่ไปเอาวัฒนธรรมมาใส่ในเพลงแค่นั้น อย่างของเกาหลี…เปิดเพลงพื้นเมืองดั้งเดิมเกาหลีไม่มีใครรู้จักเลยนะ แต่พอเล่น K-POP โห…รู้จักกันหมด นั่นคือเขาสร้าง signature ใหม่ของเขาขึ้นมาสำเร็จ แล้วเราก็ตามเขาไป จะให้เกิดความเป็นตัวเรามันถึงยาก”

เกาหลีเป็นตัวอย่างที่แสนดี ทันได้เห็นความพยายามสร้าง K-POP ตั้งแต่เริ่มต้นจนฉุดไม่อยู่แล้ว แต่สำหรับเมืองไทยนอกจากผลักดันคนรุ่นใหม่ให้สร้างตัวตนของตนเอง คงต้องสร้าง passion ให้เกิดกับคนรุ่นใหญ่ด้วยกระมัง

“เรื่องนี้มันต้องระดับชาติครับ”

ความคิดชีวิตครู

ถ้าถามจริงๆ ว่าเรียนดนตรี เล่นดนตรี และเป็นครูดนตรีมาตลอดชีวิต คิดว่าตัวเองคิดถูกไหมที่เดินทางสายนี้ อ.แอนท์นิ่งไปอีกครู่หนึ่ง ก่อนจะค่อยๆ ระบายความรู้สึก

“มันมีบางช่วงอยากสอนวิชาดนตรีเฉยๆ ได้ไหม ไม่ต้องมาสอนตอนเย็น” เพราะหลังจากสอนในคาบเรียน ตอนเย็นคือการสร้างนักดนตรีสร้างวงอย่างแท้จริง ทั้งวงโยธวาทิตและวงสตริง

ภาพจากครูณัฐวุฒิ

“ไม่ต้องมาสอนเด็กทำดนตรีได้ไหม…คือ..บางทีผมจัดการชีวิตตัวเองได้ไม่ดี เพราะผมใช้ชีวิตค่อนข้างโหดอยู่นะ กลางวันสอนกลางคืนเล่นดนตรี ทำแบบนี้มายี่สิบกว่าปี

พอตอนเย็นก็ต้องทำวงโยธวาทิตลงเดินสนามเพื่อประกวด ต้องทำวง wind band ประกวดแบบคอนเสิร์ต  พอโควิด-19 ระบาดก็เลิกวงเหล่านั้น มาทำวง I Love Wednesday เพื่อประกวด THE POWER BAND บางเวลาก็ เฮ้ย อยากทำวะ บางเวลาก็อยากสอนหนังสือเสร็จแล้วกลับบ้านเหมือนคนอื่นเขาบ้าง”

ช่วงอายุ 20-30 ปี อ.แอนท์มีความสุขเต็มที่กับดนตรี แต่พอผ่านเข้าสู่ช่วงวัยที่สูงขึ้นภาระเพิ่มขึ้นตามไป แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ดนตรีจะไม่สามารถสร้างความมั่นคงให้กับชีวิตได้

“จริงๆ มันทำได้นะ แต่ผมยังทำไม่ถึงจุดนั้นมากกว่า”

เด็กวัยรุ่นที่ไม่รู้จะเรียนอะไรแล้วเดินมาถามเรื่องเรียนดนตรีกับ อ.แอนท์ แล้วได้รับคำตอบไปว่า “อย่ามาเรียนเลย…ดนตรีเนี่ย ไปทำอย่างอื่นเถอะ”

ถ้าได้ฟังอาจารย์พูดถึงตรงนี้แล้วคงเข้าใจ

 

ถอดรหัสเส้นทางนักดนตรียุคใหม่

ในทัศนะของ อ.ณัฐวุฒิ มังกรกิ่ง

✔️ ต้องมีใจรักและมี Passion ในดนตรีอย่างแท้จริง

✔️ เรียนรู้และฝึกฝนให้มีทักษะทางดนตรี

✔️ ค้นหาตัวตน สร้าง Character ให้ชัดเจน

✔️ เรียนรู้เทคโนโลยีที่ใช้สร้างสรรค์และเผยแพร่ผลงาน

✔️ สร้างช่องทางการนำเสนอผลงานให้เป็นที่ประจักษ์

 

Author

ศรัณย์ เสมาทอง

Author

นักเขียนและผู้ผลิตรายการเชิงสารคดีอิสระ ชอบตะลอนเวิร์กตามที่ต่าง ๆ พร้อมเล่าเรื่องระหว่างการเดินทาง และบ่อยครั้งก็บันทึกประสบการณ์เป็นบทกวี

Author

อำพน จันทร์ศิริศรี

Photographer

ช่างภาพอิสระมากว่า 30 ปี...ที่คร่ำหวอดกับการถ่ายภาพรายการทีวีต่างๆ เช่น The Voice, The Rapper, The Stars Idol เป็นต้น และถ่ายภาพคอนเสิร์ตต่างๆ