Summary
ครูสอนวิชาการประพันธ์เพลง ที่ต้องอยู่ท่ามกลางวัยรุ่นพลังเยอะ ที่มีความสามารถทางดนตรีสูงแทบทุกวัน พยายามผลักดันให้ลูกศิษย์ไปถึงเป้าหมายตนเอง จนถึงขั้นเอ่ยปาก “ซ้อมเสร็จก็หมดแรง!!!” บทสนทนากับ อ.ปิญชาน์นันท์ ใจประสงค์ ผู้ดูแลวงไข่ดาว คงเติมพลังให้คนที่ฝันไกล พร้อมสร้างความเป็นไปได้ใหม่ๆ…ได้แน่ๆ
“เด็กสมัยนี้เก่งกว่าสมัยปริญญ์ เรียกได้ว่าพัฒนาขึ้นมาเยอะ”
ได้ยินคำตอบจากครูสอนดนตรีแล้วยิ้มได้ เหมือนย้ำความเชื่อของเราว่าโลกสมัยนี้มันเรียนรู้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะดนตรี เนื่องจากมีตัวอย่างในโลกอินเทอร์เน็ตมากมาย คงกระตุ้นแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นใหม่ได้ดี
“ทักษะดีขึ้น แต่อาจจะขาดความพยายามและความอดทน สมัยเราฝึกไล่สเกลถึงเหนื่อยก็ต้องฝึกกันอย่างหนัก แต่เด็กบางคนมีไอดอล เพียงฝึกหัดให้เล่นเป็นแบบไอดอล…แค่นั้นล่ะ…ไม่ได้อยากเล่นมากกว่านั้น”
จากที่ยิ้มๆ ต้องนิ่งฟัง อ.ปริญญ์ – ปิญชาน์นันท์ ใจประสงค์ อาจารย์วิชาการประพันธ์เพลง วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ต้องเจอกับเด็กทั้งในระดับเตรียมอุดมดนตรี (YAMP-Young Artists Music Program) และปริญญาตรีมามากมาย จนพอจะเข้าใจวิธีคิดของเด็กๆ “เขามีเป้าหมายสูงสุดนะ อยากจะไปอยู่จุดนั้นด้วย แต่ขาดความความพยายามที่จะไปให้ถึงจุดนั้น”
ด้วยความเป็นครู อ.ปริญญ์ ก็ยังทุ่มพลังผลักดันเด็กรุ่นใหม่ๆ ออกเดินไปให้ถึงจุดที่วาดหวัง บทสนทนาต่อไปนี้เหมาะยิ่ง สำหรับช่วงที่ THE POWER BAND โครงการครั้งใหม่ใกล้จะเริ่มต้นขึ้นอีก เพราะนอกจากจะได้ทำความรู้จักอาจารย์ผู้อยู่เบื้องหลังวงเข้ารอบและคว้ารางวัลจากเวทีประกวดล่าสุดแล้ว ยังได้ “How to” สำหรับคนดนตรีที่มุ่งสู่สายอาชีพที่ท้ายบทความนี้ด้วย
“ก่อนหน้านี้จะสอนทักษะดนตรีหนักๆ
แต่ตอนนี้นอกจากทักษะดีแล้ว
ต้องเน้นเรื่องการนำไปประกอบอาชีพด้วย”
อ.ปริญญ์ – ปิญชาน์นันท์ ใจประสงค์
อาจารย์วิชาการประพันธ์เพลง
วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Passion+Energy
“คนเล่นดนตรีจะต้องเก่งขนาดไหน” คือประเด็นที่เราสนใจและมาขอคำตอบผ่านประสบการณ์ของ อ.ปริญญ์ ซึ่งเป็นผู้ควบคุมและเรียบเรียงเสียงประสานหลักของ “วงไข่ดาว” ที่ลงแข่งขัน THE POWER BAND 2023 และคว้ารางวัลชมเชยไปครอง คลิกอ่านเรื่องของวง
“เราสอนดนตรีก็เชิงลึกเลยค่ะ โรงเรียนทั่วไปอาจเป็น General Music ทฤษฎีกับปฏิบัติรวมอยู่ในวิชาเดียวกัน แต่ที่นี่จะแบ่งเป็นรายวิชาแยกกัน เช่น การฝึกโสตทักษะ ต้องเรียนกันทุกคนไม่ใช่แค่นักร้อง ให้รู้ว่าร้องโน้ตตรงไหม ตบจังหวะตรงหรือเปล่า มีเรียนทฤษฎีดนตรี มีการแยกเครื่องมือไปตามสาขาแจ๊ส คลาสสิก ป็อป มีสอนการประพันธ์เพลง การเรียบเรียงเสียงประสาน แล้วจะมีการรวมวงของแต่ละเอกด้วย”
นี่แค่ส่วนหนึ่งของวิชาเรียนเท่านั้น นั่นหมายความว่า เด็กเตรียมอุดมดนตรีต้องมีพื้นฐานดนตรีที่ไม่ธรรมดาเลย ยังไม่ทันจบมัธยมบางคนสามารถแต่งเพลงและเรียบเรียงเสียงประสานได้แล้ว
“นักเรียนทุกคนต้องมีวิชารวมวงใหญ่ของสาขาตัวเอง อย่างเด็กเอกแจ๊สก็รวมวงแจ๊ส เป็นเด็กเอกป็อปก็รวมวงป็อป ถ้าพวกคลาสสิกก็ต้องไปรวมวงประสานเสียง”
ขอบคุณภาพจาก อ.ปริญญ์
แต่คนก็เยอะมากจนหลายคนอาจไม่ได้เล่นอย่างที่ต้องการ จึงมีการตั้ง YAMP Combo Band ขึ้น ให้มาออดิชันกัน บางคนเรียนเปียโนคลาสสิกแต่อยากเล่นกีตาร์…ก็มาออดิชันได้
วงไข่ดาว คือ สมาชิกส่วนหนึ่งของ YAMP Combo Band นั่นเอง
“ส่วนใหญ่เด็กๆ ที่มาออดิชันจะเป็นเด็กเก่ง แต่ไม่มีวงใหญ่รองรับในสิ่งที่เขาอยากเล่น มาถึงเทอมแรกก็จัดเต็มไป 9 เพลง พวกนี้ Energy เยอะและไม่ค่อยลดลงด้วย บางทีสอนมาทั้งวัน ตอนเย็นมาเจอพวกนี้เข้าไป คุมวงซ้อมเสร็จก็หมดแรง!!!”
รู้สึกเหมือนกันไหมว่า น้องๆ เหล่านี้ไม่ใช่แค่มีฝีมือ แต่เขายังต้องรู้จักตัวเองว่าอยากทำอะไรมาตั้งแต่เด็ก
ขอบคุณภาพจาก อ.ปริญญ์
Suggestion
มุ่งดนตรี…เพราะวิชาเคมี
“เล่นอิเล็กโทนมาตั้งแต่ 10 ขวบ เรียนนอกโรงเรียนนะคะ ในโรงเรียนก็อยู่วงโยธวาทิตตั้งแต่ ม.2 แต่เริ่มเล่น French Horn ตอน ม.5”
ความเก่งกาจด้านดนตรีของ อ.ปริญญ์ แม้จะอยู่แค่ ม.2 แต่รับหน้าที่เรียบเรียบเสียงประสานให้กับวงโยธวาทิตได้แล้ว
“อยู่ชลหญิง (โรงเรียนชลกันยานุกูล) บางทีดูวิดีโอเห็นโรงเรียนดาราสมุทรเขาเล่น…เฮ้ย…เพลงนี้เท่จังเลย เราก็ไม่ได้มีงบซื้อโน้ตได้มากมาย ต้องแกะโน้ตเอง เขียนโน้ตด้วยมือเองเลย”
ใช้ความรู้บวกความรู้สึกว่าต้องจัดวางตำแหน่งเครื่องดนตรีตรงไหน เสียงสูงเสียงต่ำควรจัดรูปแบบการเล่นอย่างไร คิดการแปรขบวนที่มีคน 40-50 คน ได้วาดลวดลายในงานกีฬาจังหวัดชลบุรีอยู่บ้าง พอขึ้น
ม.ปลาย ก็เริ่มรวมวงดนตรีไปประกวดตามงานต่างๆ ลูกกรุง ลูกทุ่ง ป็อป สากล…เล่นทุกแนว
“ชอบวิชาเคมีมากและอยากเรียนวิศวะ” แต่ระหว่างมุ่งสายวิทย์ก็ยังทำเพลงมาตลอด “ขึ้น ม.5 มีเทอมหนึ่งคะแนนเคมีตกลง…เครียดมาก รู้สึกว่าเรารับไม่ไหว แต่ดนตรีเราสามารถทำได้ดีตลอด รู้สึกสนุกกว่า ก็เริ่มมองคณะนี้ที่มหิดล”
นี่ถ้าเกรดวิชาเคมีไม่ตก อ.ปริญญ์ จะหันมามองสาขาประพันธ์เพลงไหมนะ
“สุดที่รักเธอโทรมา…”
นักดนตรีมัธยมส่วนใหญ่จะชอบหาเวทีประกวดเพื่อประลองฝีมือกันเสมอ อ.ปริญญ์ ก็รวมวงกับเพื่อนๆ ลงประกวดกับเขาด้วย
“ตอนนั้น ม.5 ลงประกวดดนตรี ถ้าจำไม่ผิดจะเป็นรุ่นเดียวกับวง Slot Machine วงเราชื่อ ‘ลำดวน’ เข้ารอบสุดท้าย แล้วได้รางวัลวงหญิงล้วนยอดเยี่ยม พอจบ ม.6 ก็กระจายตัวเรียนตามที่ต่างๆ กัน” แต่สุดท้ายกลับมารวมตัวทำเพลงออกมาเป็นอัลบั้ม หลายคนคงจำเพลงนี้ได้
“…สุดที่รักเธอโทรมาช่วยรับหน่อย อย่าปล่อยให้คอยน้ำตาปรอยด้วยใจรอ…”
‘Miss Call’ เพลงดังของวง Senorita นั่นเอง อ.ปริญญ์ รับตำแหน่งมือคีย์บอร์ด พร้อมพ่วงหน้าที่เรียบเรียงเพลงไปด้วย ตอนนั้นยังเรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยมหิดลอยู่เลย
“พออัลบั้มที่ 2 เริ่มคิดไม่เหมือนกัน เขาอยากให้ทำเพลงให้แมสยิ่งกว่าเดิม ทำไปกี่ครั้งก็ยังไม่ผ่าน ก็เลยท้อ เป็นคนแรกในวงที่ขอยกเลิกสัญญา”
ขอบคุณภาพจาก อ.ปริญญ์
แต่ อ.ปริญญ์ ก็ค้นเจอความสุขในการเป็นผู้ถ่ายทอดวิชาการประพันธ์เพลงให้กับนักดนตรีและนักแต่งเพลงรุ่นใหม่ๆ แทน “งานสอนมันตอบโจทย์มากกว่า รู้สึกว่าทุกอย่างมันจบในตัวเรา เราได้สอน ได้ทำเพลงให้โรงเรียน ได้เรียบเรียงเสียงประสานให้วงโรงเรียน ทุกอย่างก็จบที่เรา”
ถึงตอนนี้…เริ่มอยากไปเป็นลูกศิษย์ อ.ปริญญ์ บ้างแล้ว
Suggestion
ทุกสิ่งเป็นไปได้…ถ้า…
ในการดูแลวงดนตรี อ.ปริญญ์ จับมือกับ อ.กวาง – จุฑามาศ สายแสง อาจารย์สอนกีตาร์แจ๊ส ซึ่งก็ให้ข้อสังเกตว่าวงการเพลงสมัยนี้พัฒนาขึ้นจริงๆ “ถ้าตอนกวางยังเรียน เพลงบ้านเรา ไม่ว่าจะ ร็อก ป็อป มันจะใช้คอร์ดชุดหนึ่งซ้ำไปซ้ำมา แต่พอความรู้ดนตรีแจ๊สเริ่มเข้าถึงคนมากขึ้น ชุดคอร์ดก็เปลี่ยนเพลงสมัยนี้ชุดคอร์ดยากขึ้น ซับซ้อนขึ้นกว่าเดิม”
ประสบการณ์ อ.กวาง ที่ได้พบนักดนตรีต่างชาติที่เคยอยู่ในประเทศใหญ่ๆ บอกว่าเมืองไทยมีสังคมแจ๊สที่ไม่ได้เล็ก และเล่นกันอย่างเข้มข้น สังเกตง่ายๆ พักหลังมี Jazz Festival บ่อยขึ้น
อย่างนี้โอกาสที่ลูกศิษย์ทั้งหลายจะออกไปเป็น Superstar ก็ง่ายขึ้นสินะ
“Superstar มันมีเรื่องอื่นนอกเหนือจากดนตรี” อ.ปริญญ์ เอ่ยขึ้นหลังนิ่งคิดไปครู่หนึ่ง “อย่างเรื่องคาแรกเตอร์ อาจต้องเทรนบุคลิก stage present การแต่งตัว แต่งหน้า ถ้าคนที่เรียนทาง Popular Music อาจจะมี แต่ในสายการประพันธ์เพลง ปริญญ์จะเน้นสอนเด็กให้มุ่งไปที่การสร้างงาน การทำเพลง การนำไปใช้ในชีวิต ในการเป็นเบื้องหลังมากกว่า”
นักเรียนบางคนตั้งใจมาเรียนด้านโพรดักชันที่เกี่ยวกับเสียง แสง การจัดการเวที เวลามีงานแสดงก็จะได้ลงมือทำ แม้จะอยู่แค่ ม.4 ก็ต้องรู้จักโพรดักชันทั้งภาคสนามและในสตูดิโอ เพราะในใจของครูต้องการสอนให้เด็กมีทักษะที่ดี แต่ยุคนี้ต้องนำไปประกอบอาชีพให้ได้ด้วย
“ส่วนใหญ่ก็อยากเป็นศิลปินกันนั่นล่ะ แต่พวกที่เรียนเครื่องมือบางกลุ่มก็อยากเป็น Back up เพราะทุกวันนี้ก็มีงานเยอะและเงินดีเหมือนกัน คนที่เรียนโพรดักชันก็ชัดเจนว่าอยากทำงานเบื้องหลัง บางกลุ่มอยากแต่งเพลง เชื่อไหมมันมีเทรนด์เพลงเกมด้วยนะ เปิดเพลงมาเด็กจำได้เลยว่ามาจากเกมอะไร”
ถ้อยคำของ อ.ปริญญ์ ย้ำความคิดของเราซ้ำๆ ว่า
“ทุกสิ่งเป็นไปได้…ถ้าเราพยายามและอดทน”
คำแนะนำจากครูดนตรี
อ.ปิญชาน์นันท์ ใจประสงค์
✔ ค้นหาสิ่งที่ชอบให้เจอ
✔ เรียนรู้ทักษะทางดนตรี
✔ พัฒนาบุคลิก สร้าง Character ของตัวเอง
✔ มีความพยายามและความอดทน