Summary
พูดคุยกับคุณนัท – มนัทพงศ์ เซ่งฮวด เจ้าของและดีไซเนอร์แบรนด์ VARNI Craft หรือ ‘กระจูด วรรณี’ …นักออกแบบจากชุมชนทะเลน้อย จังหวัดพัทลุง ผู้พลิกเสื่อกระจูดผืนเก่าสู่ชิ้นงานร่วมสมัย ของใช้และของแต่งบ้าน พางานหัตถกรรมไทยส่งไปสู่ต่างแดน และทำงานร่วมกับแบรนด์ดัง
“ตั้งแต่จำความได้จนเรียนจบ ราคาเสื่อกระจูดก็ยังอยู่ที่ราคาเดิม ราคาผืนละ 100-150 บาท กำไรน้อยมาก เราเห็นว่าน่าจะเอาความรู้ด้านศิลปะ การออกแบบมาประยุกต์ สร้างมูลค่าให้มากกว่าเดิมได้”
จุดเริ่มต้นของการพัฒนาสร้างแบรนด์ที่ต่อยอด แตกแขนงเรื่อยมาจนเป็นกลุ่มวิสาหกิจวรรณี และ VARNI Craftstay โฮมสเตย์ในชุมชนทะเลน้อย จังหวัดพัทลุง ที่ทุกอย่างนั้นตะโกนคำว่า VARNI Craft ออกมา
เราได้มีโอกาสพูดคุยกับคุณนัท – มนัทพงศ์ เซ่งฮวด เจ้าของและดีไซเนอร์แบรนด์ VARNI Craft หรือ กระจูด วรรณี พลังคนไทย ผู้เปลี่ยนเรื่องราวเสื่อกระจูดจากชุมชนทะเลน้อย สู่ความหวัง โอกาสใหม่ด้วยมุมมองของนักออกแบบ จนวันนี้ได้ร่วมงานกับแบรนด์ชั้นนำที่มีชื่อเสียง พางานหัตถกรรมชาวบ้านออกสู่สายตาชาวต่างชาติ และสร้างความสุขให้กับทุกคนในชุมชน ซึ่งความสุขนั้นก็หมุนวนมาสู่ตัวคุณนัทเช่นกัน
“หัตถกรรมไทยของเราต้องใช้เรื่องการดีไซน์ พึ่งพางานออกแบบ…
ถ้าเราปรับเปลี่ยนนิดเดียวก็สามารถไปสู่ตลาดสากลได้”
มนัทพงศ์ เซ่งฮวด
เจ้าของและดีไซเนอร์แบรนด์ VARNI Craft
ถอดรหัสความสำเร็จ
จากคุณนัท – มนัทพงศ์ VARNI Craft
1.มีเป้าหมายและเลือกหยิบสิ่งที่อยู่ในความสนใจ
ขึ้นมาเป็นพื้นฐานของการพัฒนาต่อยอด
2.มองในมุมที่กว้างขึ้นกว่าความสำเร็จของตัวเอง
คือการได้มอบสิ่งดีๆ ให้กับคนอื่นและคนในชุมชน
3.นอกจากงานดีไซน์แล้ว การพัฒนาระบบ
วางแผนองค์กรหลังบ้านให้ดียังสามารถนำพาไปสู่ความสำเร็จได้
4.ใส่ความทันสมัยเข้ามาในงานหัตถกรรมพื้นบ้าน
สร้างความแตกต่าง เพิ่มมูลค่าให้ชิ้นงานได้
ทลายกรอบเสื่อกระจูดผืนละร้อย
เพราะความสนใจในงานศิลปะ ผนวกกับเห็นคุณแม่วรรณี เซ่งฮวด สานเสื่อกระจูดมาตั้งแต่ยังเด็ก คุณนัทจึงมุ่งศึกษาต่อทางด้านศิลปะ “น่าจะเป็นเรื่องการซึมซับทางวัฒนธรรมด้วยที่เราเป็นครอบครัวทำเกี่ยวกับงานจักสาน หัตถกรรม เดิมทีคุณแม่วรรณีก็สานเสื่อและเป็นอาชีพที่สืบทอดต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น” คุณนัทจึงเลือกเรียนวิจิตรศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ และปริญญาโท ศิลปะประยุกต์ คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
ขณะเดียวกัน งานเสื่อกระจูดที่รุ่นคุณแม่สานก็มีการพัฒนาขึ้นเรื่อยมาเช่นกัน โดยคุณแม่ยังได้เป็นครูช่างสอนการสานเสื่อลวดลายต่างๆ ให้กับชาวบ้านด้วย
“ตอนปี พ.ศ. 2542 สมเด็จพระราชชนนีพันปีหลวงเสด็จฯ พื้นที่ทะเลน้อย คุณแม่วรรณีก็ได้ร่วมโครงการของพระองค์ท่านที่ส่งครูมาสอนให้เพิ่มเติมด้วย แต่ก่อนชาวบ้านจะสานแค่เสื่อธรรมดา พอมีการสอนก็หันมาสานลวดลายต่างๆ หลังจากนั้นกรมแรงงานก็มาจ้างคุณแม่ให้ไปสอนชาวบ้านต่อ”
แม้จะมีลวดลายที่สวยงามและหลากหลายขึ้น แต่เสื่อกระจูดที่ใช้เวลาสานหนึ่งวันได้หนึ่งผืน กับราคาผืนละ 100-150 บาท ก็ไม่เพียงพอ คุณนัทจึงมองเห็นโอกาสและตั้งใจอยากที่จะกลับมาช่วยพัฒนางานเสื่อกระจูดในชุมชนทะเลน้อย จนเกิดเป็นกลุ่มวิสาหกิจวรรณี แบรนด์ VARNI Craft จากชื่อคุณแม่ และต่อยอดสู่ VARNI Craftstay ที่พักใจให้กับนักท่องเที่ยว
✔ สืบสานงานยอดฝีมือจากรุ่น 1 ให้พัฒนาต่อ
ใช้งานดีไซน์ออกแบบเสื่อ
เปลี่ยนชุมชนทะเลน้อยให้ทันสมัย
คุณนัทเล่าว่า เสื่อกระจูดแต่ละพื้นที่ก็มีลวดลายและสีสันต่างกัน เสื่อในพื้นที่นิยมใช้สีสันตัดกันอย่าง สีแดง เหลือง เขียว เริ่มแรกจึงต้องพัฒนาที่การออกแบบลวดลายและสีสันก่อน
“แต่ก่อนจะเป็นลายดอกแก้ว ดอกจันทร์ดูค่อนข้างเชย แต่เราเอามาประยุกต์ให้ดูคลาสสิกขึ้น มีความเป็นกราฟิกมากขึ้น โมเดิร์นมากขึ้น แล้วก็การใช้สีให้โดดเด่นกว่าเดิม สีเอิร์ธโทน สีขาว – ดำ ดูน่าสนใจมากขึ้นและแตกต่าง” สีที่เลือกใช้แต่ละคอลเลกชันก็พัฒนาไปตามเทรนด์ สียอดนิยมในปีนั้นๆ และฤดูกาลเพื่อให้สินค้าไม่น่าเบื่อ
นอกจากเสื่อที่สืบสานต่อยอดกันมาแล้วยังพัฒนาสู่สินค้าประเภทอื่นๆ อย่างกระเป๋า ของใช้ ของตกแต่งบ้านอีกมากมายนำมาสานขึ้นรูป ยังมีการปักเป็นไฮไลต์สำคัญ เป็นการหาโอกาสให้กับใหม่ๆ
“เราพัฒนาลายสานแล้วก็ประยุกต์เพิ่มเติมงานศิลปะ เพิ่มการปักเข้าไป โดยใช้งานฝีมือของชาวบ้านปักลงไปในกระเป๋า ซึ่งเรามีเทคนิคเฉพาะทางที่จะทำให้กระจูดไม่แตกเวลาปักลงไป ลวดลายที่ปักก็มีทั้งที่ออกแบบเองด้วย และจากลูกค้าที่ต้องการด้วย ซึ่งสามารถเพิ่มมูลค่าได้ เนื่องจากใช้เวลานานกว่ารูปที่ปักปกติทั่วไป”
ถาม-ตอบ
สิ่งน่ารู้จากเจ้าของแบรนด์
Q: อยากเป็นเจ้าของแบรนด์คนใหม่ ทำยังไงให้สำเร็จ?
A: “ต้องมีเรื่องของความตั้งใจ ความรัก ความผูกพันกับงานหัตถกรรม
ที่เราอยากจะทำหรือพัฒนา และเรื่องของดีไซน์ที่เราจะออกแบบ
และสร้างความแตกต่างให้ผลงานมีจุดเด่นได้”
ภาพจาก Varni Craft
คุณนัทตั้งใจที่จะพัฒนาเสื่อกระจูดด้วยอยากทำให้สินค้าเข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ให้ได้มากขึ้น มีความร่วมสมัยมากขึ้น ส่งผลให้นอกจากได้ลูกค้ามากขึ้นแล้ว ยังดึงดูดให้คนรุ่นใหม่สนใจงานหัตถกรรมไทยมากขึ้นด้วย
“แต่ก่อนคนรุ่นใหม่ในหมู่บ้านไม่ค่อยสนใจ เพราะเห็นว่าราคาเสื่อหนึ่งผืนขายได้น้อย แต่พอเราพัฒนาสินค้า เพิ่มมูลค่า ค่าแรงมากขึ้น คนรุ่นใหม่ก็เข้ามาทำอาชีพนี้มากขึ้น ที่ทำงานกับเราตอนนี้เด็กสุดคืออายุ 18 ปี แต่ก็จะมีเด็กนักเรียนมาทำช่วงปิดเทอม วันเสาร์-อาทิตย์ก็ทำให้เกิดรายได้”
✔รู้จักต่อยอดสิ่งดีๆ
ที่มีอยู่แล้วให้ยิ่งก้าวหน้า
Suggestion
สู่ VARNI Craftstay ที่พักใจในชุมชน
“ความสุขของเรา สิ่งแรกคือเราได้เห็นว่าครอบครัวมีความสุข ถ้านัทเลือกทำงานที่กรุงเทพฯ เราทำงานก็ได้เงินเดือนแล้วช่วยเหลือพ่อแม่ได้บางส่วน แต่นัทเลือกที่จะกลับมาอยู่ที่บ้าน เห็นครอบครัวมีความสุข ได้เห็นเพื่อนบ้าน คนในชุมชนมีรายได้ พัฒนาเศรษฐกิจฐานรากแล้วเติบโตไปด้วยกัน”
จากผลงานหัตถกรรมฝีมือชาวบ้านในชุมชนทะเลน้อย ความตั้งใจที่อยากพัฒนาเสื่อกระจูดและชุมชนจึงค่อยๆ เกิดเป็น VARNI Craftstay โฮมสเตย์ที่มีกิจกรรมทั้งเวิร์กช็อปงานหัตถกรรม พาชมนก ชมปลา และเรียนรู้วิถีชีวิตชุมชน
ภาพจาก Varni Craft
“แต่ก่อนเวลาไปออกงานในพื้นที่ต่างๆ เรามีค่าใช้จ่ายต่างๆ เพื่อออกสินค้าให้คนเห็น ย้อนกลับมาเราให้คนข้างนอกเข้ามาพื้นที่ชุมชนเราน่าจะดีกว่า พอเปิดเป็นศูนย์เรียนรู้ก็ค่อยๆ ทำห้องพักขึ้นมาทำละห้อง จนตอนนี้มีทั้งหมด 12 ห้อง”
แต่ละห้องตกแต่งไม่เหมือนกันเลย และมีการหมุนเวียน นำสินค้าที่พัฒนาออกใหม่เข้ามาจัดวางในห้อง เป็นข้าวของเครื่องใช้ เหมือนโชว์รูมย่อยๆ ให้นักท่องเที่ยวเห็นโดยที่ยังดึงดูดใจให้อยู่เที่ยว สร้างรายได้ให้ชุมชนไปด้วย
ปัจจุบันนอกจากห้องพักทั้ง 12 ห้องแล้ว ในกลุ่มวิสาหกิจยังมีคนในชุมชนมาทำงานร่วมกัน มีการทำเวิร์กช็อปให้นักท่องเที่ยวได้เรียนรู้งานหัตถกรรมด้วย เป็นกิจกรรมสร้างสรรค์ ตอนนี้ในกลุ่มยังมีช่างปัก 15 คน และช่างสานกว่าร้อยคน ร่วมกันสร้างผลงานใหม่ๆ ให้กับ VARNI Craft
✔ บริหารจัดการชุมชนและภายในองค์กรให้ดี
…ถือเป็นพื้นฐานที่สำคัญ
พางานเสื่อไทยร่วมงานกับแบรนด์ดังระดับโลก
งานของ VARNI Craft ยังได้เข้ามาร่วมจำหน่ายกับ คิง เพาเวอร์ รางน้ำ และที่สนามบินสุวรรณภูมิ เป็นด่านหน้าต้อนรับนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาในไทยและยังส่งนักท่องเที่ยวกลับบ้าน มีกลุ่มลูกค้าจากหลายประเทศ รวมถึงได้โอกาสร่วมงานกับแบรนด์ระดับโลก อย่าง Porsche ทำเป็นกระเป๋าของขวัญช่วงเทศกาลปีใหม่ 2024 กระเช้าปีใหม่ให้แบรนด์ระดับโลกอย่าง Starbucks ในไทย
ภาพจาก Varni Craft
“งานของเราเป็นงานฝีมือและใช้วัตถุดิบในท้องถิ่น เราก็กลับมาเรื่องการบริหารจัดการในองค์กร ถามแม่ๆ ป้าๆ ว่าเรามีความพร้อมมากน้อยแค่ไหน วันหนึ่งทำได้กี่ใบ มีกระจูดเพียงพอหรือเปล่า เราก็เพิ่มกลุ่มเครือข่ายอื่นๆ ในพื้นที่ใกล้เคียงอย่างจังหวัดนครศรีธรรมราชมาช่วยผลิตด้วย”
ถาม-ตอบ
สิ่งน่ารู้จากเจ้าของแบรนด์
Q: คุณมีมุมมองอย่างไรกับตลาดการแข่งขันสินค้างานหัตถกรรม
A: “มองว่าถ้ามีการแข่งขันเมื่อไหร่มันเป็นโอกาสที่ดีมาก ทุกๆ แบรนด์จะมี
การพัฒนาสินค้า คุณภาพ แล้วเงินก็จะไปสู่ชาวบ้านทั้งหมด เรามองภาพลักษณ์ในเชิงบวก
จะได้พัฒนาตัวเองด้วย ถ้าเราไม่พัฒนาเลย เราก็จะไม่มีออร์เดอร์ ไม่มีรายได้”
ด้วยเป็นงานหัตถกรรมชุมชนและปริมาณที่ต้องทำเป็นหมื่นชิ้นกับระยะเวลาจำกัด การจัดการหลังบ้านจึงสำคัญ ซึ่งก็ได้กลุ่มวิสาหกิจในเครือข่ายมาร่วมแรงกันสร้างสรรค์ขึ้น งานนี้นำพามาทั้งความสุข ความภูมิใจและรายได้ให้กับชุมชน
“อันดับแรกเป็นเรื่องของความภูมิใจของชาวบ้านของเรา จากเสื่อธรรมดาที่เราเห็นว่ามันไม่ค่อยมีมูลค่าแต่แบรนด์ใหญ่ๆ มองเห็นคุณค่าของงานและคุณค่าของฝีมือชาวบ้าน มันสร้างความภูมิใจให้กับคนในพัทลุงได้เลย แล้วก็สิ่งสำคัญคือทำให้คนในชุมชนยิ้มได้ มีใช้ มีกินได้”
ภาพจาก Varni Craft
ในมุมของการเป็นนักออกแบบ เจ้าของแบรนด์ พัฒนางานหัตถกรรมพื้นบ้านจนสร้างชื่อ คุณนัทเล็งเห็นว่างานหัตถกรรมไทยมีดีมากๆ ขาดแค่เรื่องเดียวคือ…
“หัตถกรรมไทยของเราต้องใช้เรื่องการดีไซน์ พึ่งพางานออกแบบ ด้วยความเคยชินชาวบ้านก็จะทำแบบเดิมๆ แต่เขาก็ยังมองเห็นโอกาสที่จะเข้ามาปรับเปลี่ยนการตลาด อยากให้คนรุ่นใหม่ที่จบด้านการออกแบบเข้ามาช่วยชุมชนมากขึ้น เพราะถ้าเราปรับเปลี่ยนนิดเดียวก็สามารถไปสู่ตลาดสากลได้”
✔ มองศักยภาพที่มีและมองข้ามไปสู่สากล
เพื่อยกระดับผลงาน
วันนี้ผลงานของคุณนัทและ VARNI Craft ไม่ได้อยู่แค่ในสายตาคนไทยแต่ออกสู่สายตาชาวต่างประเทศ ส่งออกหลายประเทศ ทั้งในเอเชีย ออสเตรเลีย ยุโรป และอเมริกาด้วย พาทั้งชื่อเสียงและความภูมิใจมาสู่ชาวชุมชนทะเลน้อย
ภาพจาก Varni Craft
หลังจากได้พูดคุยกับคุณนัท สิ่งที่สัมผัสได้คือความภูมิใจในงานหัตถกรรมที่ฝังอยู่ในตัวและความหวังดีที่จะพาชุมชนเติบโตไปพร้อมกัน นี่น่าจะเป็นหนึ่งในคุณสมบัติสำคัญที่จะทำให้คนๆ หนึ่งสามารถสร้างสิ่งดีๆ ที่มีคุณค่าออกมาได้ ซึ่งเราคิดว่าสิ่งเหล่านี้นอกจากจะเป็นความสุขให้กับทุกคนแล้ว ความสุขก็หมุนวนกลับมาสู่ตัวคุณนัทในท้ายที่สุด
ผจญไทย EP.36ทำกระเป๋ากระจูดแสนเก๋ @VARNI Craftstay จังหวัดพัทลุง