People

ความฝัน ความสุข และพลังแห่งการส่งต่อ
ของ “พี่ซุป ซูเปอร์จิ๋ว”

อลิษา รุจิวิพัฒน์ 20 Feb 2024
Views: 7,871

Summary

โลกของ “พี่ซุป ซูเปอร์จิ๋ว” ชายผู้เหยียบคันเร่งมิดให้กับทุกแพสชันที่หลงใหล ในวันที่ต้องพาซูเปอร์จิ๋วเดินทางเข้าสู่ขวบปีที่ 33 ด้วยพลังการส่งต่อ โดยมีความสุขแสนเรียบง่าย อย่างการชงกาแฟ เล่นเทนนิส ตีปิงปอง และพลังงานจากคนรอบตัวเป็นตัวขับเคลื่อนพลังใจในทุกๆ วัน

ชีวิตที่กำลังก้าวเข้าสู่ขวบปีที่ 54 ของพี่ซุป – วิวัฒน์ วงศ์ภัทรฐิติ ในขณะเดียวกับที่ ‘ซูเปอร์จิ๋ว’ กำลังเดินทางเข้าสู่ปีที่ 33 น่าจะผ่านร้อนผ่านหนาวมาหลายฤดู การนั่งคุยกับชายผู้เชื่อหมดใจว่า “เด็กคือทรัพยากรที่มีค่าที่สุด” คงไม่ลงลึกไปถึงขวบปีแรกของรายการหรือล้วงลึกวิธีการบริหารงาน เพราะข้อมูลเหล่านั้นหาอ่านที่ไหนก็ได้

แต่เราสนใจวิธีคิดของชายผู้เหยียบคันเร่งมิดให้กับทุกแพสชันที่หลงใหล ทั้งการทำรายการ งานอดิเรก หรือแม้แต่ความฝันที่รู้ว่าจะไม่มีวันทำสำเร็จก็ตาม

“หน้าที่ของเราคือทำให้คนเห็นได้เห็นว่าเด็กมีคุณค่า

และทำให้เขาได้มีพื้นที่สร้างสรรค์และพัฒนาศักยภาพกว่าที่เป็นอยู่”

พี่ซุป – วิวัฒน์ วงศ์ภัทรฐิติ
ในวันที่นำทีม “ซูเปอร์จิ๋ว” เดินทางเข้าสู่ปีที่ 33

 

Passion I:

ถ้าแพสชันเราแข็งแรงพอและหลงใหลจนมันกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต

ยังไงเราก็สู้เต็มที่ สู้จนวินาทีสุดท้าย

จาก ‘รายการซูเปอร์จิ๋ว’ สู่ ‘SUPER10 อัจฉริยะพันธุ์จิ๋ว’ และ ‘SUPER100 อัจฉริยะเกินร้อย’ การเปลี่ยนผ่านที่กินเวลากว่า 3 ทศวรรษ ต้องเจอทั้งความท้าทายและอุปสรรค แต่สิ่งที่ทำให้พี่ซุปและทีมงานยังคงยืนหยัดเพราะทุกคนทำงานบนความเชื่อเดียวกันนั่นคือ “เด็กคือทรัพยากรที่มีค่าที่สุด”

“ปี 2534 รายการเด็กน้อยมีจำนวนแค่นับนิ้วได้ แต่ที่แปลกคือ ตอนนี้มันน้อยกว่านั้นอีก รู้สึกประหลาดใจและเป็นห่วง เพราะในขณะที่ผู้ใหญ่ทุกยุคสมัยบอกว่าเด็กคือกำลังสำคัญแต่ภาพสะท้อนในเมืองไทยไม่สอดคล้องกัน”

“มีช่วงหนึ่งเราอยู่บนความรู้สึกที่ว่า ทำไมพื้นที่สำหรับเด็กถึงถูกมองข้ามเสมอ แต่ก็ไม่เคยหมดหวังที่จะทำให้คนเห็นความสำคัญของเด็ก เป็นที่มาของการเปลี่ยนแปลงจากซูเปอร์จิ๋วรูปแบบเดิมเป็น SUPER10 นั่นเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ใหญ่ที่สุด เพราะผลตอบรับไม่ใช่แค่ในประเทศ แต่ประเทศเพื่อนบ้านก็เห็นว่าเป็นคอนเทนต์ที่สร้างแรงบันดาลใจ ตอนนี้เรามี SUPER10 ที่อินโดนีเซีย เวียดนาม ส่วนที่ไต้หวันก็ซื้อรายการเราไปฉาย

“มันคือศรัทธา คือความเชื่อของเรา เราอยู่กับมันมาปีนี้ก็เข้าปีที่ 33 แล้ว ตัวพี่เองและทีมงานรู้ว่านี่คืองานที่ทำแล้วเราจะภูมิใจกับตัวเอง สำคัญเลยคือ ถ้าแพสชันเราแข็งแรงมากพอและหลงใหลจนมันกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ยังไงเราก็สู้เต็มที่ สู้จนวินาทีสุดท้าย”

 

“เวลาเกิดวิกฤต เมื่อเราพยายามสู้และผ่านช่วงเวลานั้นได้
นอกจากจะเก่งและแกร่งขึ้น ผลลัพธ์ที่ได้มักจะดีกว่าเดิมเสมอ”

 

ซูเปอร์จิ๋วกำลังจะครบ 33 ปี พี่ก็ถามตัวเองว่าเราทำอะไรได้มากกว่าการเป็นสื่อ ก็พบว่า ในงานที่ทำมันไม่ใช่แค่การทำให้เด็กได้ค้นหาตัวเอง ไม่ใช่แค่สร้างแรงบันดาลใจ แต่เราให้โอกาสเขาได้มีอนาคตที่ดี ในรายการมีเด็กได้รับทุนการศึกษากว่า 1,000 ทุน และทาง คิง เพาเวอร์ ก็มอบทุนมูลนิธิ วิชัย ศรีวัฒนประภา ไปแล้วกว่า 20 ทุน ปีนี้เราก็จะค้นหาเด็กที่มีความเหมาะสมเพื่อรับทุนมูลนิธิ วิชัย ศรีวัฒนประภา อีก 6 ทุน”

ขอบคุณภาพจากรายการ Super10 และ Super100

“แล้วเด็กที่เรายังค้นไม่เจอล่ะ จะช่วยเขาได้อย่างไร? เราจึงใช้โอกาสครบรอบ 33 ปี ทำงานการกุศล โชคดีทีได้เจอกับ กสศ. (กองทุนเสมอภาคเพื่อการศึกษา) เลยตั้งเป้าระดมทุนเงินบริจาค 3 ล้านบาท ให้กับ   กสศ. นำไปช่วยเหลือเด็กที่อยู่ในภาวะวิกฤตกำลังจะหลุดออกจากระบบการศึกษา ขณะเดียวกันเราอยากเป็นสื่อกลางที่ทำให้คนรู้จัก กสศ. ได้รู้ว่ามีองค์กรดีๆ แบบนี้อยู่ และถ้าเห็นตรงกันว่าเด็กมีความสำคัญจะได้ช่วยกันสนับสนุนผ่าน กสศ.”

“เกิดเป็น 3 งานการกุศลได้แก่ Super Art Charity งานประมูลภาพงานศิลปะ, Super 10 Cup การแข่งขันฟุตบอลระหว่างเด็กซูเปอร์เท็นกับอดีตทีมชาติและดาราศิลปิน และสุดท้ายคือ Super 10 Run งานวิ่งที่เพิ่งจบไปเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ปรากฎว่าจากเป้า 3 ล้านบาท เราทำได้ 4 ล้านบาท รายได้จากการจัดงานไม่หักค่าใช้จ่าย โดยมอบให้กับ กสศ. ทั้งหมด”

ขอบคุณภาพจากรายการ Super10 และ Super100

ความหมายแท้จริงที่พี่ต้องการสื่อภายใต้การจัดงานการกุศลคือ เด็กสำคัญ การศึกษาสำคัญ เด็กที่มีภูมิความรู้ติดตัวเขามีโอกาสเป็นกำลังสำคัญของประเทศ ตอนนี้เมืองไทยเรียนฟรีถึง ม.3  แต่จะเป็นไปได้ไหม ที่จะให้เด็กที่อยากเรียน เด็กเรียนดี ได้เรียนโดยไม่ต้องกังวลเรื่องค่าใช้จ่าย จริงๆ ก็มีองค์กรที่ทำสิ่งเหล่านี้อยู่ แต่ถ้าเป็นไปได้อยากจะผลักดันให้เป็นนโยบายของประเทศ”

 

“เมื่อไหร่ที่เราเข้าขั้นหลงใหลในสิ่งที่ทำ
จะไม่มีคำถามระหว่างทางเลยว่าจะไปยังไงต่อ
มีแต่ความเชื่อว่ามันเป็นไปได้ และก็เชื่อแบบนี้มาตลอด”

Passion II:

พลังงานที่ถูกเติมเต็มจากคนรอบตัว

และวิธีหล่อเลี้ยงพลังใจ  

“การที่รายการเดินทางมาจนถึงวันนี้ ไม่ได้เกิดจากพี่คนเดียวแน่นอน เบื้องหลังเต็มไปด้วยกำลังสำคัญจำนวนมาก เรามีทีมงานที่อยู่กับเราและเข้าใจความหมายว่าองค์กรนี้มีศรัทธาอย่างไร และทุ่มเททำงานด้วยเป้าหมายเดียวกัน เรามีผู้สนับสนุนที่เชื่อมั่นในงานที่เราทำและสนับสนุนให้เราสร้างสรรค์งานที่มีคุณภาพ เรามีสถานที่ที่มองว่างานที่เราทำมีประโยชน์จึงให้พื้นที่และเวลาที่เหมาะสม ที่สำคัญคือผู้ชมทุกคน ทั้งหมดคือพลังที่ทำให้ซูเปอร์จิ๋วแข็งแรง”

“อุปสรรคและความผิดหวังเป็นเรื่องธรรมดาที่ต้องเจอ แต่เมื่อไหร่ที่เราเข้าขั้นหลงใหลในสิ่งที่ทำ จะไม่มีคำถามระหว่างทางเลยว่าจะไปยังไงต่อ มีแต่ความเชื่อว่ามันเป็นไปได้ และก็เชื่อแบบนี้มาตลอด พี่จะบอกทีมงานเสมอว่า ถ้างานที่ทำวันนี้ไม่ดีเท่ากับงานที่ทำเมื่อวาน เท่ากับเราพ่ายแพ้ต่อตัวเอง”

“จริงๆ แล้วช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา เคยสับสนกับตัวเองว่าเราเกิดมาทำไม ต้องทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ เหรอ สุดท้ายก็พบว่า เราเกิดมาเพื่อมีประโยชน์และมีความสุข ดังนั้นถ้าสิ่งที่เราทำมีความสุขและมีประโยชน์ ก็ไม่ต้องการอะไรมากไปกว่านี้ ตั้งแต่นั้นเป็นมาก็ยึดหลักนี้มาตลอด

ขอบคุณภาพจาก “พี่ซุป ซูเปอร์จิ๋ว”

 

Passion III:

ความสุขง่ายๆ แต่เลือกทำในสิ่งที่ชอบ

รู้สึกโชคดีที่เรามีความสุขได้จากเรื่องง่ายๆ อย่างตอนนี้ความสุขคือ การตื่นมาชงกาแฟตอนเช้า เชื่อไหมว่าตลอด 4-5 ปีนี้ พี่หลับไปพร้อมกับความรู้สึกที่อยากจะตื่นมาชงกาแฟ มันเริ่มจากชอบกลิ่นกาแฟเลยคิดว่าถ้าบ้านมีกลิ่นกาแฟคงจะดี พอซื้อเครื่องชงกาแฟมาไม่ทันไรโควิดก็มา ถ้าไม่ได้กาแฟชีวิตยากเลยนะ เพราะทำอะไรไม่ได้เลยตอนนั้นต้องพยายามหาความสุขง่ายๆ จากสิ่งรอบตัว โชคดีที่เจอว่ากาแฟทำให้พี่มีความสุข รู้สึกว่ามันมีเสน่ห์ ตั้งแต่การเลือกเมล็ดกาแฟ จะบดยังไง อุณหภูมิเท่าไร วิธีตีฟองนม การเทลาเต้ ทุกอย่างเป็นศาสตร์ แล้วเราก็อยากเก่งขึ้น จริงจังถึงขั้นจ้างคนมาสอนทำลาเต้อาร์ตที่บ้าน ซ้อมทั้งวัน บางวันชงไป 30 แก้ว”

 

“เวลาคนเรามีเท่าเดิม เราไม่สามารถทำทุกอย่างได้
ในเวลาจำกัดพี่จะเลือกทำในสิ่งที่ให้ความสุข”

 

“ส่วนเทนนิสกับปิงปอง เล่นเพื่อออกกำลังกาย เพราะถ้าเราอยากจะทำงานที่รักอย่างเต็มกำลังต้องมีร่างกายที่พร้อม มีช่วงหนึ่งร่างกายอ่อนแอมาก เลยเริ่มปั่นจักรยาน ปั่นอยู่ 2-3 ปี ก็เปลี่ยนไปวิ่ง กลายเป็นแพสชันใหม่ที่เราหลงใหลกับมันมากๆ ตื่นตี 3  เพื่อไปซ้อมวิ่งที่สวนลุม ตั้งเป้าว่าจะไปวิ่งตามสนามมาราธอนต่างๆ พอบรรลุเป้าหมายก็เลิกวิ่ง”

ขอบคุณภาพจาก “พี่ซุป ซูเปอร์จิ๋ว”

“ทุกสิ่งที่ทำในแต่ละช่วงเวลามันคือความสุขในช่วงเวลานั้นๆ ชีวิตมันก็เป็นแบบนี้แหละ ไม่จำเป็นต้องยึดมั่นสิ่งใดตลอดไป ปล่อยไหลไปเรื่อยๆ พอมีสิ่งใหม่ที่ท้าทาย เจออะไรที่ตอบโจทย์ชีวิตมากกว่าก็เปลี่ยนไปทำสิ่งนั้น เวลาคนเรามีเท่าเดิม เราไม่สามารถทำทุกอย่างได้ ในเวลาจำกัดพี่จะเลือกทำในสิ่งที่ให้ความสุข”

ความสุขเล็กๆ อีกอย่างคือ การถ่ายรูปอาหาร เพื่อนๆ จะรู้เลยว่าถ้าอาหารมาต้องให้พี่ถ่ายรูปก่อน รู้สึกว่ามันมีโมเมนต์อะไรบางอย่างอยู่ในจานนั้น ชอบดูการจัดจาน เอาตรงๆ คือมีความสุขกับการถ่ายรูปมากกว่าการกินอีก”

 

“อย่าไปคิดว่าฝันที่คุณทำไม่สำเร็จมันล่มสลาย
คุณสามารถส่งต่อความฝันได้ ผ่านกำลังที่มี”

Passion IV:

ส่งต่อความฝัน

“ไม่ผิด ถ้าจะพูดว่า โอกาสเป็นของคนที่พร้อม แต่คำว่าพร้อมจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อผู้ใหญ่เปิดพื้นที่ให้เด็กได้มีความพร้อม ถ้าวันหนึ่งที่คุณมีความฝัน และคุณโตเกินกว่าที่จะทำความฝันให้เป็นจริง อย่าละทิ้งความฝันนั้น มาส่งต่อความฝันไปถึงเด็กที่เชื่อเหมือนเราโดยการเปิดพื้นที่และสร้างโอกาสให้พวกเขากัน สำหรับพี่การส่งต่อความฝันน่าสนใจ อย่าไปคิดว่าฝันที่คุณทำไม่สำเร็จมันล่มสลาย คุณสามารถส่งต่อความฝันได้ ผ่านกำลังที่มี”

“ตอนเด็กๆ เคยพูดกับเพื่อนว่า ยุคสมัยของเราบอลไทยจะไปบอลโลก นั่นคือความฝันของพี่ แต่เมื่อถึงช่วงเวลาหนึ่งเชื่อว่าทุกคนจะเข้าใจได้เองว่าความฝันกำลังจะกลายเป็นความเพ้อฝัน มีปัจจัยมากมายที่เราทำฝันไม่สำเร็จ แต่พี่ก็ค้นพบว่าผลสำเร็จของความฝันไม่จำเป็นต้องเกิดที่ตัวเรา ตัวอย่างที่ดีคือ บังสุทธิ ที่มาออกรายการ SUPER100 อัจฉริยะเกินร้อย อ่านเรื่องครูจิตอาสาคนนี้ คลิก อดีตนักฟุตบอลท้องถิ่นที่ฝันอยากเป็นนักบอลอาชีพ เขาต้องยอมทิ้งความฝันเพื่อกลับไปทำสวนยางกับพ่อแม่ จนวันที่พ่อแม่จากไปแต่ฝันของเขายังอยู่ เขารู้ว่าตัวเองคงทำมันไม่ได้จึงเลือกส่งต่อความฝันให้กับเด็กๆ รื้อสวนยางเพื่อทำสนามฟุตบอล พอเห็นว่า คิง เพาเวอร์ ทำโครงการ 100 สนามฟุตบอล สร้างพลังเยาวชนไทย เขาอยากได้สนามนี้มาก สุดท้ายเขาทำภารกิจในรายการสำเร็จ ได้อุปกรณ์ฝึกซ้อม และ ได้รู้ข่าวดีจากรายการ ว่า โรงเรียนบ้านบาตูปูเต๊ะ ได้สนามฟุตบอลจากโครงการฯ

เขาบอกว่า ถ้าเด็กสักคน..ถ้าเด็กสักคนในลิบงได้ติดธงชาติไทยมันจะเป็นความสุขของเขามากๆ นี่คือตัวอย่างการส่งต่อความฝันผ่านเด็กในชุมชน”

ถ้าอีกสัก 5 ปีได้มีโอกาสกลับมาคุยกับพี่ซุปอีก เชื่อว่าลิสต์งานอดิเรกที่ทำแล้วมีความสุขของพี่ซุปต้องเพิ่มขึ้นแน่ๆ ตามสไตล์คนที่ไม่เคยปิดประตูใส่ความท้าทายใหม่ๆ แต่สิ่งที่ไม่มีวันแปรเปลี่ยนคือ ศรัทธาและความเชื่อใน ‘เด็ก’ อีกทั้งยังเป็นตัวอย่างของพลังคนไทยที่สร้างความเป็นไปได้ใหม่ๆ ส่งต่อคอนเทนต์ดีๆ ของคนไทยสร้างแรงบันดาลใจสู่ประเทศรอบข้างเราด้วย…พี่ซุปบอกว่า ปีที่ 34 ซูเปอร์จิ๋วยังคงเดินหน้าด้วยศรัทธาที่เชื่อว่าเด็กเป็นทรัพยากรที่มีค่า “หน้าที่ของเราคือทำให้คนได้เห็นว่าเด็กมีคุณค่า และทำให้เขาได้มีพื้นที่สร้างสรรค์และพัฒนาศักยภาพกว่าที่เป็นอยู่”

และไม่ว่าโลกจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ซูเปอร์จิ๋วจะมีอายุ 40 หรือ 50 ปี เราก็เชื่อหมดใจว่าซูเปอร์จิ๋วและพี่ซุปจะเติบโตไปพร้อมกับหน้าที่นี้ตลอดไป

 

สรุปข้อคิดที่ได้เรียนรู้จากการคุยกับ “พี่ซุป”

✔ แม้จะมีฝันที่คิดว่ามันอาจไม่มีวันสำเร็จ ก็จงอย่าหยุดฝัน

✔ เมื่อสู้ต่อ วิกฤตจะทำให้เราเก่งและแกร่งขึ้น

✔ แพสชันช่วยเติมไฟให้เราสู้ไปจนถึงเป้าหมายได้

✔ ทำวันนี้ให้ดียิ่งกว่าเมื่อวานเสมอ

Author

อลิษา รุจิวิพัฒน์

Author

มนุษย์ที่ชอบทำงานตามโจทย์แต่ชอบใช้ชีวิตตามใจ หวั่นไหวกับของเล่น การ์ตูน ร้านหนังสือ ดิสนีย์แลนด์ และฝันว่าสักวันจะได้ไปเยือนสวนสนุกทั่วโลก

Author

วรัญชัย ประกอบวรรณกิจ

Photographer

ช่างภาพที่ชอบกิน ชอบเที่ยว และรักครอบครัว จนเพื่อนๆ เรียกว่า #พ่อบ้านแสนรู้