Summary
เด็กเรียนเก่งที่เลือกเส้นทางสายอาร์ต เมื่อเรียนจบวิทยาลัยช่างศิลป์ ได้ทำงานโฆษณา และค้นพบว่าทางที่ใช่คือการออกแบบสิ่งทอ จึงเลือกออกมาเติบโตเองด้วยการทำแบรนด์ “บายศรี” ที่แพร่บ้านเกิด…อ่านเรื่องนี้แล้วน่าจะทำให้หลายคนคิดถึงบ้านของตัวเองก็เป็นได้
งานแพร่คราฟต์ คือภารกิจล่าสุดที่อาจารย์ช้าง – ศักดิ์จิระ เวียงเก่า นักออกแบบสิ่งทอ หนึ่งในผู้ที่เป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนทำให้เกิดเทศกาลงานรวมตัวของนักออกแบบเมืองแพร่ที่เกี่ยวกับงานคราฟต์ ศิลปะ และงานแฮนด์เมด…
ตอนได้พูดคุยกันอาจารย์เพิ่งเสร็จจากงานมาหมาดๆ คิดว่าอาจารย์ยังไม่ทันหายเหนื่อยแต่ยังอิ่มใจอยู่ เราจึงไม่รอช้า ขอแทรกตัวเข้าไปพูดคุยกับอาจารย์ทันที
“งานคราฟต์ คืองานทำมือ ซึ่งมีความหลากหลายมาก โดยเฉพาะที่แพร่ แม้แต่คำขวัญจังหวัดยังขึ้นต้นด้วย ‘หม้อห้อมไม้สัก…’ นอกจากนี้ยังมีอาหาร เซรามิก เครื่องประดับสารพัดที่เป็นงานทำมือ
ตราบใดที่มนุษย์เรามีความต้องการดำรงชีวิตอยู่ นอกจากการทำมาหากินแล้ว พวกเรายังต้องการงานที่มันจรรโลงใจ ซึ่งหนึ่งในนั้นคืองานที่ทำด้วยมือ มันไม่เหมือนงานแมสที่มาจากเครื่องจักร เทคโนโลยี หรือคอมพิวเตอร์ เหมือนเราเขียนหนังสือ ประโยคเดียวกันแต่เขียนร้อยครั้ง ยังไม่เหมือนกันสักครั้งเพราะมันทำด้วยมือ ผมคิดว่างานคราฟต์จะยังดำเนินต่อไปเรื่อยๆ ยิ่งโลกเจริญขึ้น คนก็จะโหยหางานที่เป็นคราฟต์มากขึ้นด้วย”
“ผมยังมีไฟในการทำงานอีกเยอะ ถึงจะอายุมาก
เรายังสร้างแรงบันดาลใจให้ตัวเอง และแบ่งปันให้คนอื่น
ตรงนี้แหละที่ทำให้เรามีความสุข ดูกระชุ่มกระชวยเป็นหนุ่มได้”
ศักดิ์จิระ เวียงเก่า
ผู้ประกอบการ แบรนด์บายศรี
สร้างงานคราฟต์ผ้า…ที่ใต้ถุนบ้าน
“ผมเริ่มทำ ‘บายศรี’ ที่ใต้ถุนบ้านยาย ทำงานเพนต์ผ้ากับเพื่อนก่อน ช่วงนั้นเศรษฐกิจทั้งไทยและทั่วโลกดีมาก ทำมาค้าขายดี สิ่งที่เราทำเลยเจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว จนสามารถขยับขยาย ซื้อที่ดินปัจจุบันนี้ได้ เรียกว่าก่อร่างสร้างตัวจริงๆ ทั้งซื้อที่ ถมที่ ปลูกต้นไม้ที่เห็นครึ้มๆ สะสมได้ 4-5 ไร่”
เวลานั้นอาจารย์ช้างจำเป็นต้องตัดสินใจกลับมาจังหวัดแพร่ ซึ่งเป็นบ้านเกิดเพื่อเริ่มธุรกิจเล็กๆ ของตัวเอง “ครอบครัวของผมเป็นครอบครัวที่อบอุ่นมาก อยู่ด้วยกันมาตลอด เวลาจะคิดอะไร จะเริ่มต้นที่ครอบครัวก่อน” ด้วยความที่เป็นข้าราชการกันหมด ไม่มีใครทำธุรกิจมาก่อน อาจจะนึกภาพไม่ออกว่ากลับมาจะมาทำอะไร
Baisri คือแบรนด์ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับงานผ้ามีอายุ 32 ปี ลวดลายผ้าถูกออกแบบให้มีกลิ่นอายความร่วมสมัย ด้วยสารพัดเทคนิค อาทิ มัด ย้อม วาด พิมพ์ เย็บ ปัก นอกจากเสื้อผ้าแล้ว ยังมีงาน home textile อีกด้วย “บายศรีเป็นชื่อมงคล มีเสียงกลางๆ เป็นภาษาอังกฤษก็อ่านง่าย เป็นชื่อกลางๆ ที่สามารถทำธุรกิจแตกแขนงออกไปได้อีกเยอะ”
✔ แบ่งปันความรู้และประสบการณ์ที่มีให้ผู้อื่น
เป็นทั้งผู้ให้และผู้รับ
งานของ “อาจารย์ช้าง” ในฐานะ “ผู้ให้”
• เป็นอาจารย์พิเศษ สาขาออกแบบสิ่งทอ
คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร ลาดกระบัง เป็นเวลา 17 ปี และยังคงสอนต่อไป
• เป็นวิทยากร ที่ปรึกษาและนักออกแบบ
ให้โครงการต่างๆ ตลอดจนชุมชน ชาวบ้าน ผู้ประกอบการมาแล้วร่วม 20 ปี
• เป็นตัวแทนประเทศไทย
พาผ้าหม้อห้อมไทยไปอวดโฉมที่ต่างประเทศ
• แบ่งปันประสบการณ์แก่ผู้ต้องขังในเรือนจำ
และโรงเรียนผู้สูงอายุเพื่อให้เขาเพิ่มโอกาสชีวิต
ปรับตัวตามยุคสมัยช่วยให้ผลงานและแนวคิดไม่ตกยุค
ภาพลักษณ์ของอาจารย์ที่เราเห็นกับสิ่งที่อาจารย์มักพูดว่า “ผมอยู่ในวัยเกษียณแล้วนะ” ดูจะสวนทางกับผลงานและไอเดียที่สะท้อนออกมา เราจึงอดถามไม่ได้ถึงวิธีทำให้ตัวเองไม่ตกยุคแบบอาจารย์ แถมยังดูทันสมัยตลอดเวลา
“การเป็นอาจารย์สอนหนังสือช่วยได้นะ ผมสอนวิชาพื้นฐาน Introduction textile การได้อยู่กับเด็กๆ ทำให้เราได้รู้ว่า Gen นี้เขาคิดอย่างไร มีไลฟ์สไตล์การดำเนินชีวิตแบบไหน ตรงนี้เหมือนเป็นการให้และรับ ก่อนเราจะรับ เราต้องให้ก่อน ก่อนจะไปสอนเราต้องเตรียมตัวให้ดี มีผลงานและแนวคิดที่จะไปบอกลูกศิษย์ พอให้การบ้าน เราก็จะเห็นวิธีการหรือแนวคิดที่เขาใส่เข้าไป เรายังเอามาปรับใช้กับงานของเราได้ ทำให้งานของเรามีความทันสมัยโดยไม่รู้ตัว เวลาคุยกับลูกศิษย์ก็กลมกลืน เราไม่คร่ำครึ เขาก็เชื่อที่เราสอน”
อาจารย์เล่าถึงคอลเลกชัน “ลูกรัก” ที่มีวางจำหน่ายใน คิง เพาเวอร์ เป็นงานเพนต์ลายน้องหมาน้องแมว เห็นแล้วก็รู้สึกถึงความน่ารักที่โดนใจคนไทยและต่างชาติ “เรารู้ว่านักท่องเที่ยวต่างชาติเขาอยากได้อะไรที่เป็นไทยร่วมสมัย ไม่สากลหรือไทยเกินไป สามารถซื้อกลับไปใช้ที่บ้านเขาได้ไม่ขัดเขิน”
Suggestion
เคล็ดลับดูแลตัวเอง
ให้ดู “หนุ่ม” ตลอดเวลา
• กินอาหารที่พึงจะกิน
กินง่ายๆ ไม่ถึงกับต้องเป็นอาหารสุขภาพ
• พักผ่อน ไม่หามรุ่งหามค่ำ
• ออกกำลังกาย
เดินตอนเช้าและรดน้ำต้นไม้ทุกวัน
• ทำจิตใจให้บริสุทธิ์ ผ่องใส เบิกบาน
เมื่อแพสชันของอาจารย์ช้างคือการทำงานผ้า จึงต้องถามต่อไปว่า เมื่อมีเวลาว่างอาจารย์ทำอะไรบ้าง อาจารย์ตอบทันทีว่าไม่มี “คงต้องทำงานแบบนี้ไปจนวันตาย เราชอบ มันเป็นกิจวัตรประจำวันในชีวิตไปแล้ว สิ่งที่เราทำมันเป็นทั้งอาชีพ หาเงินเลี้ยงเราได้ และก็เป็นงานอดิเรกที่มีความสุขด้วย ผมยังมีไฟในการทำงานอีกเยอะ ถึงจะอายุมาก ก็ยังสร้างแรงบันดาลใจให้ตัวเอง และแบ่งปันให้คนอื่น ตรงนี้แหละที่ทำให้เรามีความสุข ดูกระชุ่มกระชวยเป็นหนุ่มได้โดยไม่ต้องศัลยกรรม ไม่ต้องนั่งสมาธิ”
✔ จัดการวิกฤตทางธุรกิจด้วยความรู้ที่มี
วิกฤตที่เผชิญและผ่านพ้นมาได้
อาจารย์ช้างเล่าถึงวิกฤตใหญ่ที่ “บายศรี” ผ่านมาได้ถึง 2 ครั้ง คือวิกฤตต้มยำกุ้ง ยุคฟองสบู่แตก ช่วงนั้นอาจารย์กำลังศึกษาต่อปริญญาโท สาขารัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) แม้เป็นการเรียนบริหารงานภาครัฐ แต่อาจารย์บอกว่าสามารถปรับใช้ได้ผลดีทั้งการบริหารคน การเงินและการงาน ส่วนในช่วงโควิดนั้น อาจารย์ยังคงนำโมเดลเดิมมาใช้ คือจ้างงานโดยจ่ายค่าตอบแทน 60% แม้โรงงานจะปิด ซึ่งตอนนี้เศรษฐกิจค่อยๆ ฟื้นตัว ถึงจะไม่เหมือนเดิม แต่ก็อยู่ได้เพราะเป้าหมายของอาจารย์ไม่ได้ใหญ่โตเป็นหลักร้อยล้าน “เราต้องการแค่ทำขึ้นมาขายได้ เลี้ยงลูกน้อง จ่ายค่าวัตถุดิบ แล้วดำเนินต่อไป ความต้องการตรงนี้มันน้อย เราก็เลยอยู่ได้”
อาจารย์ช้างชวนเที่ยวแพร่
สายคราฟต์ห้ามพลาดที่เหล่านี้
• คำมีสตูดิโอ (เซรามิก)
• กมลอินดิโก (ย้อมผ้า)
• สืบสานศิลป์ (จักสาน)
• กานต์ บาย ไททอ (งานผ้า)
ติดตามเวิร์กช็อปดีๆ ของแพร่ได้ทาง เพจเฟซบุ๊ก เปื้อนยิ้มแป้
✔ ทำการตลาดแบบกลับด้าน
คิดจากผลิตภัณฑ์แล้วมองหากลุ่มเป้าหมาย
Suggestion
ขยายไลน์ธุรกิจและสินค้าจากสิ่งที่มีอยู่
นอกจากบายศรีที่ทำงานผ้าแล้ว ยังมี BAISRI HEART ซึ่งเกิดจากเสียงเรียกร้องให้ทำร้านกาแฟในบรรยากาศน่าภิรมย์ ร่มรื่นของอาณาจักรบายศรี เหมาะแก่การจิบกาแฟถ่ายรูปเช็กอิน ประกอบกับหลานคนหนึ่งของอาจารย์ทำร้านกาแฟและคิดขยายสาขา ทุกอย่างจึงลงตัว ณ ที่แห่งนี้ นอกจากกาแฟและของฝากท้องถิ่นแล้ว ที่นี่ยังเป็นสตูดิโอและที่แสดงผลงานของอาจารย์ กับเวิร์กช็อปเพนต์ผ้า ปักผ้า ทำงานฝีมือไปด้วย
✔ วางเป้าหมายแต่พอดี จะไม่เหนื่อยเกินไป
30 กว่าปีบนเส้นทางนักออกแบบของอาจารย์ช้าง รางวัลไม่ได้มีความหมายอะไรมากเท่ากับความภูมิใจที่ได้นำประสบการณ์ที่สั่งสมมาแบ่งปันให้กับคนอื่น “เราได้สร้างแรงบันดาลใจให้คนหลากหลาย ตรงนี้เราปลื้มปริ่มมากนี่คือความสุข เพราะสิ่งที่เราทำมาตลอดมันเป็นประโยชน์สำหรับอีกหลายๆ คน อันนี้ภูมิใจมากกว่าได้รางวัลเสียอีก”
เคล็ดไม่ลับกับความสำเร็จ
ฉบับ ศักดิ์จิระ แห่งบายศรี
✔ เป็นทั้งผู้ให้และผู้รับ
แบ่งปันความรู้และประสบการณ์ที่มีให้กับคนอื่น
✔ ใช้ต้นทุนวัฒนธรรมดั้งเดิมของไทย เป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบ
ซึ่งมีรายละเอียดปลีกย่อยมากมาย ทำให้มีความร่วมสมัย ผสานความสมัยใหม่
ยิ่งผู้คนพัฒนาขึ้น เราก็ต้องปรับตามไปด้วย
✔ทำการตลาดแบบกลับด้าน
คิดจากผลิตภัณฑ์ที่เรามีแล้วค่อยมองหากลุ่มเป้าหมาย
เมื่อสิ่งที่เราทำแข็งแรง มีพลัง การสื่อสารไปยังกลุ่มเป้าหมายจะทำได้ง่าย
✔วางเป้าหมายธุรกิจไม่ใหญ่เกินตัว สามารถเลี้ยงตัวเองและธุรกิจได้
✔ดูแลลูกน้องเหมือนอยู่กันเป็นครอบครัว
ใส่ใจในรายละเอียด พร้อมช่วยแก้ปัญหา
ทำให้เขามีความสุขไม่ใช่แค่ให้เงินเดือนสูงเท่านั้น
บายศรี (BAISRI)
ที่ตั้ง: 124/5 หมู่ 1 ถ.ทุ่งโฮ้ง-ป่าแดง ต.เหมืองหม้อ อ.เมือง จ.แพร่ 54000
FACEBOOK: BAISRI
ข้อมูลสินค้าเพิ่มเติมที่ตลาดพลังคนไทย
คลิก: BAISRI
สนใจสินค้าพลังคนไทย สามารถสนับสนุนได้ที่คิง เพาเวอร์ทุกสาขา
คนแพร่ว่าอร่อย…อย่างอาจารย์ช้างชวนชิม
• ร้านฮอม ต้องชิมขนมเส้นน้ำใสที่มีเฉพาะจังหวัดแพร่ และสตูฮังเล อาหารฟิวชันกินกับข้าวสวยร้อนๆ
• ร้านกาแฟ BAISRI HEART ขอนำเสนอ น้ำมะกอกป่าน้ำผึ้ง ผลผลิตจากต้นมะกอกอายุ 30 ปี ที่อาจารย์ปลูกเองกับมือตั้งแต่ตอนสร้างบ้าน
•ย่านประตูชัย คล้ายตลาดโต้รุ่งแต่ปิดไม่ดึก แนะนำเย็นตาโฟ ขนมหวานเจ้แต๋ว ลูกชิ้นปิ้งลุงอ้วน ข้าวซอยเจ้เล็ก และบ๊วยนมสด
ตามไปดูขั้นตอนการผลิตกว่าจะมาเป็นผลงานคราฟต์ ๆ ของแบรนด์บายศรี ได้ที่รายการผจญไทย