People

ชีวิตฉากใหม่ของ ‘สังข์ ธีรวัฒน์’
“งานหลักตอนนี้คือดูแลร่างกายและจิตใจ”

อลิษา รุจิวิพัฒน์ 21 Jun 2024
Views: 3,909

Summary

คุยกับ ‘สังข์ – ธีรวัฒน์ อนุวัตรอุดม’  ชายผู้อยู่เบื้องหลังเสียงหัวเราะ รอยยิ้ม และความอิ่มเอมใจของคนไทย หลังจอทีวีและม่านละครเวทีมากว่า 30 ปี ในวันที่เขาจัดลำดับความสำคัญชีวิตใหม่ ใช้เวลาส่วนใหญ่ ไปกับการตีกอล์ฟ พายเรือคายัค ฟังธรรมะ และมีความสุขง่ายๆ แค่นอนหลับสบาย เดินเองได้ หายใจคล่อง

“งานหลักตอนนี้คือดูแลร่างกายและดูแลจิตใจให้ดี” สังข์ – ธีรวัฒน์ อนุวัตรอุดม หรือที่เด็กยุค 90 รู้จักในนาม ‘สังข์ 108 มงกุฎ’ บอกเรา เมื่อเราถามว่า นอกจาก ‘นิทานหิ่งห้อย เดอะมิวสิคัล ละครร้องเพลงเฉลียง’ ที่จะกลับมาเรียกรอยยิ้ม น้ำตา และความซาบซึ้งอีกครั้งในเดือนกรกฎาคมปีนี้ ยังมีผลงานอะไรให้ติดตามอีกบ้าง

“ส่วนมากก็ทำละครเวที รายการทีวีไม่ได้ทำมานานแล้ว บริษัท โต๊ะกลม ยังอยู่แต่ให้น้องในทีมดูแล ชีวิตตอนนี้เหมือนพักเดินเล่นและฝึกฝนบางอย่างที่คิดว่าจะดีต่องานในอนาคต” สำหรับคนที่กำลังขมวดคิ้วเพราะไม่รู้ว่า รายการทีวีอะไร? บริษัท โต๊ะกลม ทำอะไร? จะเล่าให้ฟัง

จำ ‘สุขชาวบ้าน’ คลิปไวรัลรีรันตำนานถนนพระราม 2 ผ่านไป 20 ปี ยังเหมือนเดิมได้ไหม? นั่นแหละ ผลงานของทีมโต๊ะกลม ซึ่งเป็นตอนหนึ่งในรายการ ‘TV เบลอเบลอ’ ที่ทำล้อเลียนรายการทีวีไทยยุคนั้น  เบื้องหลังไอเดียกวนจัด จิกกัดไปทั่ว ก็มาจากพี่สังข์นั่นเอง

เขาคนนั้นยังเคยสวมหมวกผู้กำกับและผู้จัดรายการดังๆ อย่าง รายการ 108 มงกุฎ รายการ The Voice ซีซัน 1 และ 2 รวมไปถึงซิตคอม ‘รักริทึ่ม’ Musical Sitcom เรื่องแรกของไทย ออกอากาศปี พ.ศ. 2551

แต่ในบรรดาหมวกสารพัดรูปทรงที่เคยสวม มีเพียงใบเดียวที่เขาไม่เคยถอดก็คือ ‘หมวกผู้กำกับละครเวที’

“เมื่อก่อนอยากเป็นคนเก่ง…ให้คนชื่นชม ลุ่มหลงในอีโก้ของตัวเอง

แม่ชวนไปนั่งวิปัสสนา 7 วัน เขาให้นั่งดูลมหายใจตัวเอง สอนให้เรากลับมาหาตัวเอง

ถึงได้เข้าใจว่า ที่ไม่มีความสุขเพราะไม่รู้จักตัวเอง เอาแต่คว้าความสุขจากข้างนอก”

ธีรวัฒน์ อนุวัตรอุดม
ผู้กำกับละครเวทีและนักแสดง

 

เรียน ’ถาปัด จุฬาฯ เพราะอยากทำละครเวที

“รู้ตอนไหนว่าอยากเป็นผู้กำกับละครเวที” เราถาม เขาตอบว่า “ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าละครเวทีเป็นอาชีพได้ รู้แค่ว่าทำแล้วมีความสุข”

“ตอนแรกจะสอบเข้าวิศวะ แล้วบังเอิญได้ไปดูละครถาปัด เรื่อง ‘The Godfather (พ่อเจ้าประคุณทูนหัว)’ ไม่เคยคิดจะดูละครเวทีแต่สะดุดชื่อเรื่อง ดูขัดแย้งแต่สร้างสรรค์ พอไปดูเหมือนโดนโดดถีบยอดอก นี่มันตัวกู! คือสิ่งที่เราเป็น เราพูดจาแบบนี้ คิดแบบนี้ แต่มีคนสามารถรวมความตลก ความไร้สาระ และทำออกมาเป็นละครเวทีได้ ทำให้หัวเราะทุกนาที มันโคตรเจ๋ง! ไม่เคยดูอะไรแบบนี้มาก่อนในชีวิต นี่คือคณะสถาปัตย์ฯ จุฬา ใช่ไหม เราอยากอยู่คณะนี้ อยากทำสิ่งนี้ อยากขึ้นไปบนนั้น”

เริ่มจากเป็นตัวประกอบตอนปี 1 ขยับมารับบทตัวเอกตอนปี 2 ถึงจะชอบแสดงมากกว่า แต่ก็อยากเล่นและเล่าในสิ่งที่ตัวเองคิด “พอปี 3 ได้กำกับและเขียนบท เพื่อนยกหน้าที่ให้เพราะเห็นเคยเป็นตัวเอก พอทำถึงรู้ว่ามันยากมาก แต่ก็ได้เรียนรู้ว่าแต่ละกระบวนการมันสนุกคนละแบบ ปิดเทอมคือช่วงเวลาที่เฝ้ารอ เพราะจะได้ทำละครเวที ทำมาเรื่อยๆ เรียนจบก็ยังกลับไปช่วยน้องๆ”

✔ “คำว่าละครสอนให้เราเป็นคนที่ดีขึ้น คือเรื่องจริง”

 

จาก ‘ละครถาปัด’ สู่  ‘ละครเวที’

“รู้ว่าสิ่งที่ชอบมันทำเป็นอาชีพได้เพราะรุ่นพี่จ้างเขียนบทงานอีเวนต์ พอได้เงินมาก็ตกใจ เฮ้ย เราหาเงินจากสิ่งนี้ได้ด้วย ก็เลยทำมาเรื่อยๆ จนได้โอกาสจากพี่ภิญโญ รู้ธรรม ให้เขียนบทละครสั้นในรายการแบบว่าโลกเบี้ยว ต้องขอบคุณพี่เขามากๆ เพราะเขาคือคนแรกที่ให้งานและทำให้เรามีความมั่นใจ เพราะส่งงานไปพี่โญก็เอาหมด ไม่แก้เลย”

 

นิยามคำว่า “งานสำเร็จ”

เรา ‘ชอบ’ ก็ถือว่าสำเร็จแล้ว  ถ้าคนอื่นชอบด้วย ก็สำเร็จไปอีกขั้น

 

เข้าวงการในฐานะคนเบื้องหลัง ผันตัวมาเป็นคนเบื้องหน้าบ้างประปราย สุดท้ายก็สลับกลับมาสวมหมวก ‘นักคิด’ อยู่ดี “ก็เวลาเป็นคนแสดงเราชอบไปคิดแทนคนอื่น “ทำไมไม่พูดแบบนี้” “เล่นแบบนี้ตลกกว่า” เลยตัดสินใจทำรายการ 108 มงกุฎ กับพี่วิทวัส สุนทรวิเนตร์ คราวนี้ได้ทำทุกอย่างที่อยากทำ คิดด้วย เป็นพิธีกรเองด้วย”

นั่นคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้ชื่อของ ‘สังข์ 108 มงกุฎ’ เป็นที่รู้จัก จากนั้นไม่นาน บริษัท โต๊ะกลม ก็เกิดขึ้น และนำเขาวกกลับสู่เส้นทางการเป็น ‘ผู้กำกับละครเวที’ อีกครั้ง

“ละครเวทีเรื่องแรกที่ได้แสดงบนโรงละครขนาดใหญ่จริงๆ เก็บเงินคนดูจริงจังคือ ‘ชายกลาง: โศกนาฏกรรมในจังหวะแทงโก้’ เกิดจากพี่จิก ประภาส ชลศรานนท์ แกเคยไปดูละครถาปัด เรื่อง ‘ปริศนา’  (ปี 2546) แล้ววันหนึ่งก็มาบอกให้พี่เอาเรื่องนี้มาทำเป็นละครใหญ่ แสดงที่เมืองไทยรัชดาลัยเธียเตอร์เลย ตื่นเต้นนะ แต่เครียดมาก ด้วยระยะเวลาการเตรียมงานที่จำกัด ดาราที่มาแสดงก็รุ่นใหญ่ทั้งนั้น อาหนิง นิรุตติ์ โน้ต อุดม เบนซ์ พรชิตา ศรีริต้า เจนเซ่น แต่สุดท้ายก็ได้เรียนรู้หลายอย่าง”

“แล้วก็ได้มาทำ ‘โหมโรง’ เป็นละครเวทีเปิด โรงละครเคแบงก์สยามพิฆเนศ และเป็นละครเวทีที่เปลี่ยนชีวิตพี่ไปเลย”

“ยอมรับว่าเมื่อก่อนเป็นคนไม่น่าคบ ปากหมา เอาแต่ใจ โมโหร้าย ทีมงานกลัวกันหมด แต่พอมาทำโหมโรง พี่ได้เรียนรู้บางอย่างจากเนื้อหาของเรื่อง จากทีมงาน มันเป็นบรรยากาศที่เต็มไปด้วยความเอื้อเฟื้อ เมตตา เห็นแก่คนอื่น เมื่อก่อนเราไม่มีสิ่งเหล่านี้เราเห็นแก่ตัว การทำโหมโรงทำให้พี่กลายเป็นคนที่ดีขึ้น คำว่าละครสอนให้เราเป็นคนที่ดีขึ้น คือเรื่องจริง”

✔ “ไม่ว่าจะงาน mass หรือ niche ถ้าเราสื่อสารสิ่งที่อยากบอกผู้คนได้
และให้ประโยชน์ในแง่ใดแง่หนึ่ง มันคืองานที่ดีทั้งนั้น”

ยิ่งลุ่มหลง งานยิ่งมีพลัง

แต่ข้อเสียที่แก้ไม่หายคือ เป็นคนทำตามโจทย์ยาก “ถ้าโจทย์ที่ได้มาไม่รู้สึกอยากทำ ก็จะทำแบบไม่ใส่ใจ ถ้าคุณทำงานไปวันๆ ไม่มีทางได้งานที่ดี พี่ตัดปัญหาด้วยการเลือกทำเฉพาะงานที่ลุ่มหลงกับมันจริงๆ ยิ่งลุ่มหลงเท่าไร ตกหลุมรักเท่าไร ยิ่งส่งพลังออกไปหาคนดูได้อย่างรุนแรง”

“อย่างตอนทำ ‘นิทานหิ่งห้อย’ ครั้งแรกเพราะชอบเพลงเฉลียงมากๆ มันจึงมีพลังแรงกล้าที่อยากจะเอาเพลงเฉลียงมาทำเป็นละครเวที หรือเวอร์ชันใหม่ที่ได้น้องๆ 4EVE และ ATLAS มาแสดงเพราะอยากให้คนรุ่นหลังได้รู้จักเพลงของเฉลียงและได้ดูละครเวทีดีๆ” เรียกว่าเราจะได้เห็นการแสดงจากสาวๆ 4EVE ที่มาเป็น 1 ใน 2 ศิลปิน ประจำโครงการ THE POWER BAND 2024 SEASON 4 จัดโดย คิง เพาเวอร์ ไทย เพาเวอร์ พลังคนไทย ร่วมกับ วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ภาพจากคุณธีรวัฒน์

“หรือตอนที่ Re-stage ชายกลาง พี่รักเรื่องนี้มากๆ ตั้งแต่เป็นละครถาปัด ‘ปริศนา’ แต่ตอนทำครั้งแรกคิดว่ายังขาดประสบการณ์ คิดว่าทำได้ดีกว่านี้ เลยเอามาทำใหม่ในแบบที่ควรจะเป็น แม้แต่ตอนเลือกคนทำงาน ก็จะเลือกคนที่เขาลุ่มหลงกับสิ่งที่ทำ เวลาทำงานกับคนแบบนี้จะได้พลังงานอีกแบบ บรรยากาศการทำงานมันส่งถึงกันหมด มันอบอวลไปด้วยมวลของความลุ่มหลง”

 

✔ “พอใจเราเปลี่ยน วิธีคิดเราเปลี่ยน มันก็เปลี่ยนสิ่งที่เราทำ”

 

ปัญหาไม่น่ากลัวเท่ากับหมดความลุ่มหลง

สิ่งที่พี่กลัวที่สุดคืออะไร? พี่สังข์บอกว่า เขาไม่เคยกลัวปัญหา ไม่เคยท้อเวลาเจออุปสรรค เพราะไฟแห่งความลุ่มหลงมันทำให้ความท้อแท้เป็นฝ่ายถอย

“พี่กลัวว่าวันหนึ่งความลุ่มหลงมันจะหายไป เพราะพี่ทำงานโดยใช้ความลุ่มหลงเป็นตัวขับเคลื่อน

เราถามต่อว่า การเว้นระยะจากงานแล้วเลือกดูแลร่างกายและจิตใจเป็นหลัก เพราะความลุ่มหลงในงานกำลังมอดหรือไม่ เขาตอกทันทีว่า “ไม่ใช่ แค่เปลี่ยนโฟกัส ตอนนี้พี่สนใจเรื่องแก่นธรรมของพระพุทธเจ้า  จนอยากถ่ายทอดให้คนรับรู้ แต่ที่ยังไม่ทำเพราะรู้สึกว่ายังไม่ถึงเวลา อาจเพราะยังไม่เข้าใจแก่นธรรมอย่างลึกซึ้ง และมีช่วงที่ทิ้งห่างไปนาน มาจริงจังอีกครั้งหลังจากทำโหมโรงเสร็จ ทุกวันนี้หนังสือธรรมะกองเต็มบ้าน”

เป็น – มาอย่างไร คนที่เคยยอมรับว่าลุ่มหลงกับชื่อเสียง เงินทอง การยอมรับ ถึงได้สนใจแก่นธรรม

“เมื่อก่อนพี่อยากเป็นคนเก่ง อยากให้คนชื่นชม เปิดบริษัท ทำรายการ ลึกๆ คืออยากให้เห็นว่า เป็นไงล่ะ กูเก่ง กูตลก ลุ่มหลงในอีโก้ของตัวเอง จุดเปลี่ยนเป็นช่วงที่ทำรายการ 108 มงกุฎ รายได้เยอะ มีชื่อเสียง มีทุกอย่าง แต่ไม่มีความสุข บังเอิญแม่ชวนไปนั่งวิปัสสนา 7 วัน เขาให้นั่งดูลมหายใจตัวเอง สอนให้เรากลับมาหาตัวเอง ถึงได้เข้าใจว่า ที่ไม่มีความสุขเพราะไม่รู้จักตัวเอง เอาแต่คว้าความสุขจากข้างนอก ทำให้เริ่มสนใจแก่นธรรมตั้งแต่ตอนนั้น และอยากศึกษาให้ลึกขึ้น เพราะพี่ก็เคยเชื่อเรื่องการบนบาน ใส่กางเกงตัวเดียวเลี้ยงบอลจากคณะสถาปัตย์ฯ จุฬา มาหน้าพระพรหมเพื่อแก้บน สวดมนต์ไหว้พระก็เพื่อขอให้รวย ขอให้แข็งแรง แท้จริงแล้วต้องกลับมาดูว่าข้างในตัวเองมันคืออะไร มีปฏิกิริยาอะไรเราถึงสุข เราถึงทุกข์ พี่อยากบอกต่อสิ่งนี้ให้คนรู้ด้วยวิธีที่เข้าใจง่าย”

 

ความสุขเล็กๆ วันนี้

สุขที่สุดคือ ‘หลับตานอน ลืมตาตื่นปุ๊บ เช้าเลย’
ชีวิตไม่ต้องการอะไรไปมากกว่านอนแล้วหลับ
เดินเองได้ หายใจเองได้ นี่คือความสุขที่สุดแล้วในชีวิต

 

งานสำคัญวันนี้ ‘ทำร่างกายให้พอดี ทำจิตใจให้พอดี’

นอกจากอยู่บ้านฟังธรรมะ งานหลักของหนุ่มใหญ่วัย 50 ปลาย คือการดูแลร่างกายและจิตใจให้แข็งแรงสมบูรณ์ โดยมี ‘ธรรมะ’ อยู่ในแก่นของทุกกิจกรรม

“เมื่อก่อนเล่นกล้ามเพราะอยากให้ผู้หญิงมาชอบ ร่างกายมันพองพร้อมกับอีโก้ แต่พอศึกษาธรรมะเรื่อยๆ ถึงจะเข้าใจตัวเอง กลับมาสู่ความพอดี งานสำคัญวันนี้คือการทำร่างกายให้พอดี ทำจิตใจให้พอดี ไม่ฟูมฟายเกินหรือลึกซึ้งไป พี่ว่านี้คือสิ่งมหัศจรรย์ที่พระพุทธเจ้าค้นพบ พอใจเราเปลี่ยน วิธีคิดเราเปลี่ยน มันก็เปลี่ยนสิ่งที่เราทำ”

“การตีกอล์ฟก็เช่นกัน มันเป็นกีฬาที่ทำงานกับจิตใจมากๆ เมื่อก่อนตีไม่ดีก็โกรธ โทษทุกอย่าง ตีเสร็จเหนื่อยมากเพราะใจมันเหนื่อย พอเอาธรรมะมาจับ ทำให้เห็นตัวเองชัดมาก กลายเป็นตีดีขึ้น ต้องโฟกัสกับปัจจุบันอยู่กับ 18 หลุม ในเวลา 4 ชั่วโมงให้ได้ เหมือนการปฏิบัติธรรมอย่างหนึ่ง”

“พายเรือคายัคก็เหมือนกัน มาเล่นเพราะ เสนาวิชญ์ – วิชญ์ พิมพ์กาญจนพงศ์ ชวน เป็นอะไรที่ชิลล์มาก เวลาไปพายตามจังหวัดต่างๆ ที่มีคลอง มีแม่น้ำ ได้เห็นประเทศไทย คนไทย ในรูปแบบที่คนเมืองอย่างพี่ไม่เคยเห็น เรื่องร่างกายมันดีอยู่แล้ว แต่ที่ได้เพิ่มมาคือจิตใจ เวลาพายไกลๆ แล้วรู้สึกว่า “เมื่อไรจะเลิกวะ!” อันนี้จิตอยู่กับอนาคต ถ้าคิดว่า “กูไม่น่ามาเลย” อันนี้จิตอยู่กับอดีต สิ่งที่ต้องทำคือ อยู่กับพายที่จ้วงไปในน้ำ อยู่กับปัจจุบันจนกว่าจะถึง ทุกอย่างตอนนี้ในชีวิตลิงก์กับธรรมะทั้งหมด”

ภาพจาก FB: Oom Anuwatudom

 

ส่งพลังจากรุ่นใหญ่ถึงรุ่นใหม่

เราถามพี่สังข์ในฐานะรุ่นใหญ่ในวงการบันเทิง ว่าอยากจะฝากบอกอะไรเด็กรุ่นหลังบ้าง “พี่ว่าเด็กรุ่นนี้เก่งมากและมีพลังในการทำสิ่งใหม่ๆ เยอะกว่ารุ่นพี่ สิ่งเดียวที่อยากฝากคือ ใช้พลังและความเก่งที่มี สร้างสิ่งดีๆ ให้กับโลก ทุกวันนี้โลกมีสิ่งเลวร้ายเยอะแล้ว อย่าเป็นอีกคนที่เพิ่มเติมความเลวร้ายให้กับโลกนี้ ใช้พลังในทางที่ถูก สื่อสารสิ่งที่มันจรรโลง”

“ที่สำคัญ จำไว้เสมอว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเอง ณ เวลาไหนของชีวิตก็ตาม เกิดขึ้นจากการกระทำของตัวเอง สิ่งที่เราทำ สร้างให้เราเป็นวันนี้  ยอมรับสิ่งที่ตัวเองทำ อย่าโทษคนอื่น”  

ภาพจากคุณธีรวัฒน์

Author

อลิษา รุจิวิพัฒน์

Author

มนุษย์ที่ชอบทำงานตามโจทย์แต่ชอบใช้ชีวิตตามใจ หวั่นไหวกับของเล่น การ์ตูน ร้านหนังสือ ดิสนีย์แลนด์ และฝันว่าสักวันจะได้ไปเยือนสวนสนุกทั่วโลก

Author

อำพน จันทร์ศิริศรี

Photographer

ช่างภาพอิสระมากว่า 30 ปี...ที่คร่ำหวอดกับการถ่ายภาพรายการทีวีต่างๆ เช่น The Voice, The Rapper, The Stars Idol เป็นต้น และถ่ายภาพคอนเสิร์ตต่างๆ