Summary
ชวนอ่านความคิดเบื้องหลังกิจกรรมที่ THE POWER BAND 2023 Season 3 ต้องการเติมแรงบันดาลใจกับทักษะเน้นๆ เป็น “รางวัล” สำหรับวงผู้ผ่านเข้ารอบชิงฯ…เวลา 3 วันกับศิลปินและผู้คร่ำหวอดวงการดนตรีกว่า 20 ชีวิต ร่วมถ่ายทอดประสบการณ์ ให้ความรู้ ให้คำแนะนำ พร้อมจุดประกายให้ (ว่าที่) ศิลปินรุ่นใหม่กลับไปรังสรรค์ผลงานสุดคูลมาประชันกัน ให้เวทีแห่งความเป็นไปได้…ลุกเป็นไฟด้วยแรงสร้างสรรค์
“เข้าค่ายดนตรี 3 วัน…จะได้อะไรกันนะ”
คำถามผุดขึ้นทันที เมื่อรู้ว่าวงดนตรีที่เข้ารอบชิงชนะเลิศ ในการประกวดดนตรี THE POWER BAND 2023 SEASON 3 จะต้องมาเข้าร่วม “The Power Band Music Camp” ในวันที่ 1 – 3 กันยายน 2566 สามวัน…ทั้งวันทั้งคืนที่น้องๆ จากทุกสารทิศที่ผ่านมาตรฐานด่าน 5 สนามภูมิภาคของการประกวดต้องมารวมกัน ณ วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล คลิกอ่าน PLAYGROUND THE DIARY of The Power Band Music Camp แคมป์ดนตรีแห่งแรงบันดาลใจ
ลองสอบถามหลายวงก็ได้คำตอบว่า “อยากไปครับ” “ล็อกวันไว้แล้วค่ะ” “เตรียมไปดูดวิชาเลยครับ”
แค่ 3 วันเนี่ยนะ!!
“คนประกวดเขาต้องการ direction อะไรสักอย่างหนึ่ง ที่เขารู้สึกว่าเขาขาด ซึ่งอันนั้นจะได้ตอนกรรมการคอมเมนต์” อาจารย์เช่ – อัคราวิชญ์ พิริโยดม หัวหน้าสาขาดนตรีสมัยนิยม (Popular Music) วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล เริ่มเล่าไอเดีย “แต่ไม่พอแค่นั้น มันต้องมีคนไกด์ ซึ่ง Music Camp นี่ล่ะ ที่จะไกด์ในเชิงเกือบจะวิชาการเลย”
อาจารย์ดิว – ภูวิช ทวาสินชนเดช อาจารย์ในสาขาเดียวกับ อาจารย์เช่ มองในอีกทางให้ด้วย “เราเห็นน้องๆ มาจาก 5 สนาม กว่าจะจบการประกวดก็ครึ่งปีได้มั้ง เสร็จปุ๊บ…แยกย้ายกันกลับบ้าน มือกลองที่เชียงใหม่กับนักร้องที่สงขลาไม่ได้รู้จักกันเลย มันไม่น่าเป็นแบบนั้น”
ในที่สุด น้องๆ ก็ได้มานั่งตาโตฟังศิลปินรุ่นพี่เวียนมาให้ความรู้มากหน้าหลายตา
“การจะ develop ตัวเองให้สร้างสรรค์ อาจารย์เช่ – อัคราวิชญ์ พิริโยดม |
เป็นไปได้ ไม่ยาก…เกินไป
ด้วยการเป็นสถาบันการศึกษา กิจกรรมที่ทำให้สังคม ให้ความรู้ผู้คนเป็นเรื่องที่อยู่ในสายเลือดอยู่แล้ว แต่พอเป็นเรื่องประกวดดนตรี การให้ความรู้อย่างมากก็จะไปอยู่ที่คอมเมนต์ของกรรมการ แล้วแต่วงไหนจะจดจำ นำไปพัฒนาตนเองต่อไป
“เป็นผม…ผมลืม พอจะเอาไปใช้จริงๆ มันไม่ได้ประโยชน์เท่าไร” อาจารย์เช่ จริงจังกับเรื่องนี้ เพราะเอ่ยย้ำหลายครั้งว่าคนรักดนตรี ชอบเพลงของศิลปินบางคนตอนเด็กๆ พอพยายามฝึกให้มาก วันหนึ่งก็เล่นได้ดีแน่ๆ แต่สิ่งเหล่านั้นอาจารย์บอกว่ามันคือ “ทักษะช่าง” นักดนตรีที่เก่งก็ทำได้ทั้งนั้น บางคนเล่นดีเหมือนกำลังเปิดเพลงต้นฉบับ
“พลิกมาเป็นเรื่อง ความคิดสร้างสรรค์ มันคนละเรื่องเลยนะ เพราะความคิดสร้างสรรค์จริงๆ แล้วเกิดจากการที่เขานำตัวตนของเขาไปผสมกับเพลงออริจินัลของใครก็แล้วแต่ จนมันเกิดสิ่งใหม่ขึ้นมา พอมันเกิดสิ่งใหม่มันจะสะท้อนสิ่งที่นักดนตรีคนนั้นสร้างสรรค์ออกมาได้เป็นตัวเขา ถ่ายทอดออกมาให้คนอื่นได้ฟัง”
✔แรงบันดาลใจต้องสร้าง
ความคิดสร้างสรรค์ก็ต้องให้แรงกระตุ้น
อาจารย์เช่ เชื่อในตัวนักดนตรีที่ผ่านเข้ารอบทุกคนว่ามีพื้นฐานดนตรีดีและมีความสนใจเป็นพิเศษอยู่แล้ว การนำมากระตุ้นให้พบแรงบันดาลใจเป็นเรื่องที่ควรเป็น “แม้จะแค่ 3 วัน แต่เป็น 3 วันที่กระตุ้นสุดๆ สังเกตแววตาของน้องที่มานั่งดูศิลปินเล่นตั้งแต่เช้า มันเช้ามาก…แต่แววตาเขาสนใจ พอถูกกระตุ้นบ่อย ความรู้มันจะเข้าไปอยู่ในความทรงจำ พอต้องเอาออกมาใช้ มันจะเกิดการปะติดปะต่อ ความคิดสร้างสรรค์จะมาตอนที่เราปะติดปะต่อเรื่องหลายๆ เรื่องเข้าด้วยกันนี่ล่ะ”
แม้ performance จะสำคัญ แต่อาจารย์เช่ดูจะจริงจังเรื่องความคิดสร้างสรรค์ในบทเพลงมาก
จึงมีเซกชันที่พา Bowkylion มาเล่าถึงแรงบันดาลใจในการทำเพลงของเธอ การพยายามรักษาความเป็นตัวตนของเธอในผลงานทุกชิ้นให้น้องๆ ฟัง มี “พี่เจน Madpuppet Studio” – เจนพัฒน์ มนตรีเลิศรัศมี มาสอนและทดลองเรียบเรียงดนตรีในรูปแบบใหม่ๆ ให้โชว์ความคูลแบบเป็นตัวของตัวเองให้ดูกันต่อหน้า หรือเชิญ “พี่นะ Polycat” หรือ รัตน จันทร์ประสิทธิ์ มาแต่งเพลงสดๆ แบบจริงจังจนจบและร้องเพลงนั้นไปพร้อมกับน้องๆ
“ไม่ได้คาดหวังว่าเด็กดูพี่แต่งเพลงชั่วโมงครึ่งแล้วจะเขียนเพลงเป็นนะ” อาจารย์ดิว เสริม “แต่เด็กที่เดินออกจากคลาสนี้จะเริ่มรู้สึกว่าการเริ่มต้นเขียนเพลงไม่ยากเกินไป เราทำแคมป์ให้แรงบันดาลใจเป็นสารตั้งต้นกลับไปพัฒนา เป็นแคมป์ที่ช่วยปรับเข็มทิศ ให้เห็นว่าอะไรที่ทำแล้วเสียเวลา อะไรที่ทำแล้วได้ผลเร็วกว่า อะไรที่เป็นทางลัด ให้เข้าสู่เป้าหมายได้เร็วขึ้น”
สายตาสองอาจารย์ที่จัด Music Camp ดูมีความสุขไม่แพ้น้องๆ
Suggestion
“Music Camp สำหรับผมมี 3 Keywords คือ ไม่ใช่แต่น้องจะมองมาที่พี่ พี่ก็หาศิลปินรุ่นใหม่เหมือนกัน” อาจารย์ดิว – ภูวิช ทวาสินชนเดช |
|
รู้จักกันแล้วนะ
ความพยายามที่จะเป็นไกด์ให้กับน้อง เห็นได้จากในแคมป์จัด Instrumental Clinic แยกชิ้นเครื่องมือกันไปเลย เพื่อการติวเข้ม พร้อมเปิดโอกาสให้ถาม หรือขอให้พี่ๆ ช่วยแก้ไขสิ่งที่ยังติดขัด
ดูจากรายนามศิลปินแล้ว ไม่ธรรมดา พี่แก๊ป – อรรถพล หมั่นเจริญ มาไขข้อข้องใจในวิธีการร้องเพลง พี่แง้ว – อาณัติ เอี่ยมวงษ์ศรีกุล มาสอนกีตาร์ พี่เมย์ – พัชรพงศ์ เรืองหิรัญวงศ์ คนนี้ต้องเรื่องเบสแน่นอน เรื่องกลองเป็น Action Jay Jackson คีย์บอร์ดมี พี่เอม – พีรณัฐ ชัยสังฆะ ศิลปินที่เคยเป็นวงแชมป์ THE POWER BAND SEASON 1 คลิกอ่าน (Link Passion วงถุงเท้าแดงไม่แรงได้ไง) ส่วนกลุ่มเครื่องเป่ามี 3 ท่าน พี่โป้ – ยุทธศักดิ์ พลายภู่ พี่เขต – รัฐเขตต์ ช่วยสมบูรณ์ และพี่เซิน – อนันท์พร เอี่ยมชาญบรรจง
การเป็นศิลปินต้องเรียนรู้อะไรบ้าง พี่พล – คชภัค ผลธนโชติ หรือ พี่พล วง Clash ก็มาสอนการพัฒนาตนเองสู่การเป็นศิลปินเดี่ยวหรือศิลปินกลุ่ม สร้างผลงานที่มีเอกลักษณ์ สร้างฐานแฟนเพลง ทำเพลงได้แล้วยังไม่พอ ยังพา พี่เจษ – เจษฎา เอกศุภพรชัยกุล จาก Believe Digital Thailand มาให้ความรู้เรื่อง Music Distribution จะปล่อยเพลงกันด้วยวิธีไหนในยุคนี้
✔ให้วงประกวดทำความรู้จักกัน
เพื่อให้เกิดคอมมิวนิตีคุณภาพสำหรับคนดนตรี
นอกจากให้พี่ๆ มาช่วยสอนน้องแล้ว อีกเป้าหมายที่พาขุนพลคนดนตรีมาขนาดนี้ คือ อยากให้น้องได้ทำความรู้จัก เพื่อวันข้างหน้าจะขอความรู้จากพี่ และในวันข้างหน้าอาจจะกลายเป็นเพื่อนร่วมวงการก็ได้…ใครจะไปรู้
“อยากให้เกิดคอมมิวนิตี ต้องเริ่มจากน้องๆ เองเลย” เป้าหมายหลักของ อาจารย์ดิว เลยเรื่องให้คนได้รู้จักกัน “อีก 5 ปี 10 ปี เราไม่มีทางรู้เลยว่าการที่ได้เจอกันวันนั้น เขาจะไปสร้างอะไรด้วยกันอีกในอนาคต วันหนึ่งน้องจากคนละจังหวัดอาจจะเป็นสมาชิกวงเดียวกัน อาจมาทำงานเบื้องหน้าเบื้องหลัง เป็นโชว์ไดเรกเตอร์ เป็นโพรดิวเซอร์ บางคนเป็นศิลปิน เจอหน้ากันแล้วจำได้ว่าเรามาจาก THE POWER BAND ด้วยกัน”
เราเลยได้เห็นน้องจากคนละโรงเรียนนั่งคุยกัน บางคนเล่นกีตาร์ร้องเพลงด้วยกันที่ห้องพัก น้องบางคนเอ่ยออกมาเลยว่ามีไอดอลเป็นนักดนตรีอีกวง โดยไม่ได้สนใจว่านั่นคือ “คู่แข่ง” ของตัวเองในรอบชิงชนะเลิศ
เริ่มเป็นคอมมิวนิตีได้หรือยังครับ อาจารย์ดิว
“คนที่เล่นเก่งมากๆ แต่ไม่สามารถเป็นศิลปินได้
เพราะฟังเพลงน้อย ดูน้อย ชอบเล่นแต่เดิมๆ
แต่คนที่เล่นเก่งและฟังเพลงเยอะด้วย
จะรู้ว่า…จะไม่เหมือนใครและยังเป็นตัวฉันได้ยังไง”
อาจารย์เช่ – อัคราวิชญ์ พิริโยดม
Suggestion
เกาะขอบเวที
ถามถึงวัตถุดิบสำคัญที่นักดนตรีในยุคนี้ต้องมี สิ่งแรกที่อาจารย์เช่บอกไปตั้งแต่แรกแล้ว คือ ต้องมีทักษะช่าง…เล่นเครื่องมือให้ชำนาญ แต่ไม่ได้จบแค่เล่นเก่งเท่านั้น
“วัตถุดิบที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ก็สำคัญ มันเป็นเรื่องของวัฒนธรรม แนวเพลง รวมแล้วจะสร้างให้เราเป็นคนมีรสนิยม จากนั้นคนยุคนี้ต้องมีทักษะในการใช้อุปกรณ์รวมเสียงหรือประกอบเสียงต่างๆ ก็พวกอุปกรณ์ดิจิทัลเทคโนโลยี คอมพิวเตอร์ โปรแกรมดนตรีต่างๆ และอีกวัตถุดิบสำคัญอีกอย่าง คือ การแสดงบนเวที”
มีความรู้เกี่ยวกับ Sound Check and Stage Organization ซึ่งในสถาบันต้องเรียนกัน 15 สัปดาห์ อาจารย์มากลั่นให้เหลือชั่วโมงครึ่ง พา พี่บูท – กฤตธรรม ขาวแจ้ง จาก Roller Studio ที่เป็น Sound Engineer หลายวงมาให้ความรู้เรื่องการจัดการระบบเสียงบนเวที
“การบาลานซ์เสียงบนเวทีมันเป็นเรื่องเทคนิคเลยนะ ไม่ได้นามธรรมเหมือนการสร้างอารมณ์ในเพลง นักดนตรีต้องรู้ จะขอเสียงจากมอนิเตอร์ยังไง เวลาได้ยินบนเวทีแบบนี้ ต้องเล่นน้ำหนักอย่างไร จึงจะถ่ายทอดออกมาได้ตรงใจที่ซ้อมกันมา เรื่องนี้ต้องวิชาการกันหน่อย เพราะหลายวงพลาด ได้ยินเสียงจากมอนิเตอร์ดัง เพราะตอนซ้อมเราไม่ได้ยินดังขนาดนี้ พอเล่นก็เล่นเบาลงเฉยเลย อารมณ์ซ้อมมาหาย กรูฟไม่ออก”
✔แบ่งปันประสบการณ์จากทั้งมืออาชีพและศิลปิน
เพิ่มความรู้ ทักษะ เพื่อให้ต่อยอดการสร้าง “ลายเซ็น” ของพวกเขา
นอกจากเรียนการจัดการเวทีและเสียงแล้ว แคมป์ยังพา “พี่ๆ วง ETC” มาแชร์ประสบการณ์ เริ่มกันตั้งแต่ให้ทีมงานของวงขึ้นมา Sound Check Demonstration ลองทำกันให้ดูต่อหน้าต่อตา แล้วพี่ๆ ทั้งวงก็ขึ้นมาคุยให้ฟังเรื่อง Ensemble หรือการเล่นรวมวง เล่าเทคนิค ตอบข้อสงสัย เพลงเดียวกันเวลาขึ้นเวทีทำไมเล่นไม่เหมือนออริจินัล การจะจับอารมณ์คนดูให้อยู่ต้องปรับการเล่นให้สนุกขึ้นอย่างไร จบด้วยคอนเสิร์ตของวง ETC ร่วมกับ “พี่ PAE SAX” หนึ่งในกรรมการที่คัดน้องๆ เข้ามานั่นเอง
วันนี้…น้องๆ ฟังเพลงและเต้นอยู่ด้วยกัน อีกไม่กี่วันข้างหน้าพวกเขาอาจกลายเป็นคนบนเวที และอีกไม่นานก็อาจต้องมาเล่าประสบการณ์การเดินทางสายดนตรี ให้คนรุ่นใหม่นั่งฟังตาโตและฝันจะยืนอยู่ตรงนั้นบ้าง
“นักดนตรียุคก่อน – ยุคนี้ มันยากเหมือนกัน
เหมือนทำอาหารให้อร่อยมันยากเท่ากันล่ะ
แต่ยุคนี้เราต้องจัดจานให้เก่งขึ้น”
อาจารย์ดิว – ภูวิช ทวาสินชนเดช
Suggestion
“ป้ายบอกทาง”
ถามถึงฝีมือดนตรีของเด็กไทย อาจารย์ทั้งคู่ยืนยันว่าฝีมือดีขึ้น แต่การดีขึ้นหมายถึงดีขึ้นทั้งโลกเลยนะ เพราะฉะนั้นการให้ความรู้เพื่อการพัฒนายังเป็นเรื่องจำเป็น
“เบื้องลึกที่สุดของการจัด The Power Band Music Camp คือ อยากให้เขาหาตัวตนเจอ” อาจารย์เช่ เอ่ยถึงฝัน “การเอาความเป็นไทยออกไปทำให้เป็นสากลนิยมได้ อันนี้คือเป้าหมายสูงสุด ความเป็นไทย คือทั้งประเทศเลยนะ สำเนียง กลิ่นอาย วัฒนธรรม แต่การจะประยุกต์ให้ไปสู่สากลนิยม มันก็ต้องอาศัยพื้นฐานของความเป็นสากลนิยมด้วย คือใช้ดนตรีสากลนั่นล่ะ แต่จะเบลนด์ยังไงให้มีความเป็นไทยในนั้น ก็ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์นั่นล่ะ”
แม้เป็นเรื่องยาก แต่อาจารย์เช่ก็เชื่อว่าสามารถเป็นไปได้ “ถ้าไม่ทำตัวเป็นเกาหลีกันไปเสียหมด”
ส่วน อาจารย์ดิว ผู้ที่เคยผ่านชีวิตการเป็นเด็กปัตตานีเพียงคนเดียวในกลุ่มเพื่อนที่ได้ขึ้นมาเรียนรู้ที่กรุงเทพฯ ย้อนความทรงจำสมัยดูคอนเสิร์ต ETC ตั้งแต่ยุคแรกๆ แล้วเอากลับไปสอนเพื่อน พร้อมอะเรนจ์เพลงในวงใหม่ พยายามฝึกฝนและเข้าประกวดดนตรีจนก้าวเดินมาได้จนถึงทุกวันนี้ จึงสัมผัสได้ถึงเรื่องลึกๆ ในใจของน้องๆ ว่าถ้าแรงบันดาลใจไม่หนักแน่นพอ เขาอาจจะท้อและหยุดเดินเมื่อไหร่ก็ได้ ถึงกับน้ำตารื้น ฝากฝังให้น้องๆ กลับไปบอกไปเล่าความรู้ที่ได้จากแคมป์ให้เพื่อนที่ไม่ได้มาฟัง
“ถ้าวันนี้เขาขับรถบนถนนมืดๆ มีแต่ไฟรถตัวเองส่องทาง อย่างน้อย Music Camp หวังจะเป็นป้ายบอกทาง ที่สะท้อนแสงไฟให้เห็นว่าข้างหน้าคือที่ไหน จะได้ไม่รู้สึกว่ามันน่ากลัวจนรีบย้อนกลับ อยากให้เขาไปต่อจนถึงจุดที่ฝันไว้”
ค่ายดนตรี 3 วัน…จะมีศิลปินเกิดขึ้นอีกกี่คนนะ!?!
Keynote เก็บตก 3 วันดีๆ
จาก The Power Band Music Camp
✔แรงบันดาลใจต้องสร้าง…ความคิดสร้างสรรค์ก็ต้องให้แรงกระตุ้น
✔ให้วงประกวดทำความรู้จักกัน เพื่อให้เกิดคอมมิวนิตีคุณภาพสำหรับคนดนตรี
✔แบ่งปันประสบการณ์จากทั้งมืออาชีพและศิลปิน
เพิ่มความรู้ ทักษะ เพื่อให้ต่อยอดการสร้าง “ลายเซ็น” ของพวกเขา