People

‘กิตติพันธ์ เทวาผ้าไทย
“สู้” ให้การทอผ้าอยู่คู่บ้านนาคำไฮยั่งยืน”

บงกชรัตน์ สร้อยทอง 26 Dec 2024
Views: 502

Summary

“เพียงจังหวะกลับบ้านและช่วยป้าขายผ้ากลายเป็น กิตติพันธ์ สุทธิสา ได้ช่วยชุมชนสืบสานการทอผ้าแบบอัตลักษณ์บ้านนาคำไฮ จ.หนองบัวลำภู ไว้ พร้อมมุ่งมั่นหาวิธีส่งต่อคนรุ่นต่อไปเพื่อให้สิ่งนี้อยู่คู่กับชุมชนได้อย่างยั่งยืน โดยยึดแนวคิดแบบผ้าไหมจิม ทอมป์สัน”

สิ่งที่ เอ็ดดี้ – กิตติพันธ์ สุทธิสา ประธานกลุ่มทอผ้าบ้านนาคำไฮ จ.หนองบัวลำภู และเจ้าของแบรนด์เทวาผ้าไทย กล่าวอย่างหนักแน่น อยู่ที่ตัวเขามองผลงานฝีมือที่กลุ่มทอผ้าในความดูแลของเขาทำ…จะต้องคงอยู่ต่อไปอย่างยั่งยืนให้ได้ “ผมได้วางระบบผ่องถ่ายการเรียนรู้ในชุมชนบ้านนาคำไฮให้ช่วยกันรักษาและต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่นได้ประมาณ 80% แม้วันหนึ่งไม่มีตัวผมอยู่ เชื่อว่าคนในชุมชนนี้ก็ยังสามารถหาเลี้ยงกับการทอผ้าได้อย่างยั่งยืน”

หลังจากได้เริ่มต้นเรียนรู้การทอผ้าโดยบังเอิญด้วยโอกาสที่ได้ช่วยคุณป้าทำผ้า…จนกลายเป็นเรื่องจริงจัง ที่ทำให้ผ้าสองลายเอกลักษณ์ ได้แก่ ลายยกดอกและมัดหมี่ผ่านการใช้เทคนิคแช่น้ำซาวข้าวเหนียวพันธุ์ผัวหลงทำให้ผ้านุ่มสวยงามเป็นที่รู้จักมากขึ้น คลิกอ่านเรื่องชุมชนทอผ้าบ้านนาคำไฮ ได้ที่นี่

“การเรียนรู้ที่ดีที่สุดคือเรียนรู้จากปัญหา

แม้ช่วงแรกจะทำให้เราท้อหรืออ่อนแอ

แต่เมื่อเวลาผ่านไปก็จะทำให้เราจิตใจเราเข้มแข็ง”

กิตติพันธ์ สุทธิสา
ประธานกลุ่มทอผ้าบ้านนาคำไฮ จ.หนองบัวลำภู
และเจ้าของแบรนด์ เทวาผ้าไทย

 

ยอมรับ – อดทน – ปรับตัวต่อบริบทที่เปลี่ยนแปลง

จากช่วยป้าส่งผ้าขายตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 พร้อมได้ไปเสริมความรู้เรื่องทอผ้าจนปี พ.ศ. 2557 ตั้งเป็นกลุ่มในชุมชนถึงปัจจุบันมีกว่า 30 คน ที่ช่วยสืบสานและต่อยอดอัตลักษณ์ชุมชน และกว่า 10 ปีพบว่าอุปสรรคสำคัญคือ “ตัวเราเอง” เพราะกว่าที่จะยอมรับและอดทนต่อปัญหา ไม่ว่าอาการเหนื่อยล้าจากการทำงานหลายฝ่าย “หรือสิ่งที่เราไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยตัวเอง ต้องอาศัยระยะเวลาเยียวยา เช่น สถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา ทำได้เพียงยอมรับแล้วค่อยๆ เริ่มหาวิธีจนทำให้รู้จักแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าให้ทั้งครอบครัวและสมาชิกต้องอยู่รอดให้ได้”

ขอบคุณภาพจากคุณกิตติพันธ์

แต่อุปสรรคโควิด-19 ในวันนั้นกลายเป็นข้อดีของวันนี้ เพราะได้ขยายช่องทางออนไลน์ไปโดยปริยาย ทำให้ผลิตภัณฑ์เป็นที่รู้จักเพราะมีการ Live ขายของ ได้สื่อสารกับลูกค้าโดยตรง และช่วยลดต้นทุนการจำหน่าย ที่ปกติมีค่าน้ำมัน ค่าเดินทาง ค่าที่พักเวลาไปขายตามสถานที่ต่างๆ

 

✔ เผชิญหน้ากับปัญหาที่พบเจอ

โดยมองให้เป็นโอกาสสำหรับสร้างสิ่งใหม่ๆ

 

แตกแบรนด์ The Wada เจาะกลุ่มไลฟ์สไตล์มากขึ้น

การเริ่มต้นและคงอยู่ต่อไปไม่ใช่เรื่องง่ายยิ่งต้องทำงานกับหลายคน สิ่งสำคัญคือ ต้องทำให้สมาชิกมองเป้าหมายเดียวกัน และเชื่อมั่นในองค์กร เพราะจะทำให้ตั้งใจผลิตงานออกมาให้ดี และเมื่อได้ผลตอบแทนดีลูกค้าก็จะเกิดความไว้ใจ ซึ่งปัจจุบันมีสินค้ามากกว่า 10 รายการ นับตั้งแต่ผ้าพื้น ตัดชุดทั้งของผู้ชายและผู้หญิง เสื้อยูกาตะ เสื้อปีกค้างคาว กางเกงสะดอ กางเกงชาวเขาเผ่าม้ง ผ้าพันคอ ผ้าคลุมไหล่

ขอบคุณภาพจากคุณกิตติพันธ์

อีกทั้งยังได้ใช้เวลาร่วมปีในการแตกแบรนด์เพื่อเจาะลูกค้ากลุ่มใหม่ภายใต้ชื่อ ‘The Wada’ ซึ่งตั้งใจหยิบมาจากคำว่า ‘เทวดา’ ความหมายเดียวกับเทวาผ้าไทย แต่จัดหมวดให้เป็นสินค้าไลฟ์สไตล์หรือมีความเป็นวัยรุ่นมากขึ้น โดยยังอิงงานดีไซน์จากผ้าที่ผลิตจากเทวาผ้าไทย เพียงแต่จะมีการจับมิกซ์แอนด์แมตช์และดีไซน์ออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายมากขึ้น นำเศษผ้าเทวาผ้าไทยมาทำผลิตภัณฑ์ต่างๆ ภายใต้ The Wada ซึ่งถือช่วยการลดขยะจากเศษผ้าได้

สิ่งที่สำคัญคือแบรนด์มีสินค้าที่เหมือนผ้ายีนส์แต่ย้อมมาจากสีธรรมชาติ ทั้งจากครามและใบฉนวน โดยพัฒนาสีและวางแพตเทิร์นใหม่ในแบบฉบับบ้านคำไฮที่เอาผ้าฝ้ายยก 3 ตะกอ ที่ปกติชุมชนเราจะขึ้นลายทอผ้าทั้งด้านในและด้านนอกอยู่แล้ว แต่แค่เปลี่ยนวิธีด้วยการเอาเส้นไหมที่ใหญ่กว่าเดิมมาทอมือ โดยตอนนี้มีสินค้าทันสมัยรูปแบบใหม่ๆ เช่น เสื้อแจ็กเก็ต หมวกเดินป่า กระเป๋าใส่แท็บเล็ต กระเป๋าหรือเสื้อผ้ายีนส์

 

✔ หาโอกาส สร้างความหลากหลายให้กับสินค้าภายในแบรนด์

 

กุญแจไขความสำเร็จ

สำหรับแนวคิดที่พอเป็นหลักการทำงานคือ 1.ความเพียรและความสม่ำเสมอ เพราะถ้าทำแล้วท้อไม่ลุกสู้ต่อไม่ใช่แค่เราที่ไปต่อไม่ได้ยังมีอีกหลายชีวิตข้างหลัง แม้การทำแบบเดิมๆ แต่จะทำให้เราเชี่ยวชาญจนสามารถพัฒนาสินค้า 2.อย่าเป็นน้ำเต็มแก้ว ต้องไม่หยุดเรียนรู้ แม้เป็นการเรียนในเรื่องซ้ำๆ หรือมีความถนัดแล้ว แต่จะทำให้มีความเชี่ยวชาญมากขึ้น เช่น แม้ย้อมครามเป็นแล้ว แต่พอทำซ้ำๆ ทำให้สามารถพัฒนาสิ่งนั้นในรูปแบบใหม่ได้ 3.ซื่อสัตย์และจริงใจกับตัวเองและสมาชิก โดยเฉพาะช่วงแรกที่ขอผ้าสมาชิกไปขายก่อน เมื่อได้เงินมาก็ต้องรีบให้ค่าตอบแทนเขาทันที 4.การเสียสละ

ขอบคุณภาพจากคุณกิตติพันธ์

จุดอ่อนที่ทำให้การรวมกลุ่มชุมชนอ่อนแอ เพราะผู้นำมักเอาประโยชน์ก่อนสมาชิก เมื่อได้รับการสนับสนุนช่วยเหลือโครงการใดๆ ต้องให้โอกาสกับสมาชิกก่อนเสมอ และ 5.การเอาใจเขามาใส่ใจเรา พร้อมให้อิสระสมาชิกทำสิ่งที่ถนัด เช่น บางคนทอผ้าไม่ได้เร็วเพราะมีบริบทและความจำเป็นอื่น ก็หาวิธีเพิ่มมูลค่างานชิ้นนั้นเป็นสินค้าเจาะกลุ่มหรือตลาดเฉพาะ

“ทำงานกับคนในชุมชนจะเลี่ยงการเปรียบเทียบกันเองไม่ได้ จึงต้องทำให้เขาพอใจในตัวเองให้มากที่สุดก่อน เมื่อเขาพอใจแล้วก็จะไม่ไปเปรียบเทียบกับใคร และอย่าพยายามไปเปลี่ยนคนอื่น ต้องเริ่มจากตัวเรายอมรับคนอื่นก่อนแล้วเดี๋ยวคนอื่นก็จะยอมรับเรา สิ่งสำคัญคืออารมณ์ ต้องเข้าใจว่าทุกครั้งที่เกิดอารมณ์โกรธ ขุ่นมัว สมองเราจะทำงานแบบคิดดีไม่ได้ ดังนั้นทุกครั้งที่เกิดอารมณ์ใดๆ ขึ้นมา ให้เงียบและใจเย็นลงก่อน แล้วค่อยกลับมาสื่อสารกัน เพราะหากใช้อารมณ์นำตอนนั้นส่วนใหญ่นำสู่ความเสียหายทั้งตัวเราและผู้อื่นเสมอ”

 

✔ 5 ข้อที่ต้องทำ เพื่อความสำเร็จ

• ต้องไม่ท้อและเพียรทำสม่ำเสมอ

• เปิดโอกาสเรียนรู้ให้ตัวเองเสมอ อย่าเป็นน้ำเต็มแก้ว

• จริงใจและซื่อสัตย์ต่อตัวเองและผู้อื่น

• เป็นผู้นำต้องเสียสละก่อน ไม่ใช่เอาประโยชน์ให้ตัวเองก่อน

• การเอาใจเขามาใส่ใจเรา

ขอบคุณภาพจากคุณกิตติพันธ์

 

ลูกค้า – คู่ค้าคือผู้มีพระคุณและกัลยาณมิตรที่ดี

สำหรับเขาลูกค้าไม่ใช่พระเจ้า แต่มองคู่ค้าและลูกค้าเป็นผู้มีพระคุณและกัลยาณมิตรที่ดี เพราะเราต่างช่วยเหลือและสนับสนุนซึ่งกันและกัน ไม่ว่าจะเป็นลูกค้ารายบุคคล หน่วยงาน องค์กร หรือ คิง เพาเวอร์  ที่เห็นคุณค่าและมอบโอกาสให้เราได้โชว์ฝีมือออกไปในวงกว้าง ถ้าไม่มีพวกเขาผ้าทอของชุมชนก็จะไม่เป็นที่รู้จักถึงทุกวันนี้ ยิ่งบททดสอบช่วงโควิด-19 ยอมรับและทำความเข้าใจทำอะไรไม่ได้ต้องรอให้สถานการณ์ดีขึ้น ใครช่วยอะไรได้ก็ช่วยกัน เช่น ช่วงที่ขาดแคลนข้าว แต่บ้านนาคำไฮมีข้าวที่ปลูกเองก็ส่งไปให้ยังกลุ่มที่เขาไม่สะดวกออกไปซื้อรับประทานในยามวิกฤต

 

พร้อมส่งต่อวิถีชุมชนอย่างยั่งยืน

เขายังได้วางระบบและส่งต่อให้รุ่นต่อไปโดยได้ไอเดียจากผ้าไหมจิม ทอมป์สัน ซึ่งในวันหนึ่งแม้เขาไม่อยู่แล้วแต่ผลงานเขายังสามารถอยู่ได้อย่างยั่งยืน ความตั้งใจนี้ในตอนนี้เดินหน้าไปได้ประมาณ 80 % มีคนในชุนชนมาช่วยดูเรื่องงานหลังบ้าน ช่วยเก็บข้อมูล ดูการผลิต เช็กสต๊อกสินค้า การกระจายสินค้า โดยต้องมีคนหมุนเปลี่ยนได้เวลาใครไม่สบายก็มีคนทำหน้าที่แทนกันได้ พร้อมทั้งจดทะเบียนเป็น บริษัท เทวาอินเตอร์กรุ๊ป จำกัด เพื่อสะดวกต่อการทำธุรกิจในนามนิติบุคคล ควบคู่กับงานกลุ่มชุมชน และวิชชาลัยที่ให้ความรู้เรื่องการทอผ้าโดยเฉพาะ

ขอบคุณภาพจากคุณกิตติพันธ์

 

✔ แลกเปลี่ยนภูมิปัญญางานฝีมือภายในชุมชน

เพื่อช่วยให้ธุรกิจงานศิลป์ได้ไปต่อ

 

“ผมกำลังสร้างคอนเนกชันภายในจังหวัด เพราะต้องยอมรับว่าเราไม่สามารถเก่งทุกด้าน การรวมตัวเพื่อหาจุดแข็งแต่ละคนแล้วหาวิธีเชื่อมโยงกัน เชื่อว่าทำให้เกิดนวัตกรรมทางความคิดและช่วยกันพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เช่น ชุมชนบ้านนาคำไฮถนัดผลิตผ้าภายใต้ความต้องการของลูกค้า แต่ในจังหวัดมีคนทำการตลาดและขายเก่งกว่าเราก็รับผลิตภายใต้แบรนด์เขา หรือการที่เราไม่มีเครื่องจักรสามารถอัดกาวได้จำนวนมาก แต่เรามีโนฮาวและนวัตกรรมการทำผ้าให้นิ่มและสีไม่ตก ก็แลกเปลี่ยนและช่วยเหลือกัน”

42 ปีที่ผ่านมาเขามองว่า ตัวเองเป็นเพียงคนตัวเล็กเหมือนคนทั่วไปที่ใช้ชีวิตปกติ แม้ต่างมีต้นทุนชีวิตต่างกัน แต่สิ่งที่เขาพยายามทำคือ การมีสติและทำเหตุให้ดีเพราะจะทำให้ผลดี เมื่อถึงเวลาที่โอกาสเข้ามาก็กล้าเดินหน้าอย่างมีสติเพื่อให้ผิดพลาดน้อยที่สุด พร้อมกับเชื่อว่าถ้าทุกคนต่างรู้จักในหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุดโดยไม่ต้องไปก้าวก่ายใคร ทุกอย่างก็จะออกมาดีงามในแบบวิถีของเราเอง

 

เทวาผ้าไทย (THEWA)

ที่ตั้ง: 264 หมู่ 2 บ้านนาคำไฮ ต.นาคำไฮ อ.เมือง จ.หนองบัวลำภู 39000

FACEBOOK: THEWA

 

ข้อมูลสินค้าเพิ่มเติมที่ตลาดพลังคนไทย

คลิก: THEWA 

 

สนใจสินค้าพลังคนไทย สามารถสนับสนุนได้ที่ คิง เพาเวอร์ ทุกสาขา

 

รายการผจญไทย EP 22 เทวาผ้าไทย

Author

บงกชรัตน์ สร้อยทอง

Author

อดีตผู้สื่อข่าวผันตัวเป็นฟรีแลนซ์คอนเทนท์ที่ขอมีวิถีเกษตรควบคู่ไปด้วย มีฝันสร้างคลังอาหารให้กับสิ่งมีชีวิตบนโลกเพราะมองเป็นความยั่งยืนที่แท้จริง

Web Editor

ปิ่นอนงค์ วัชรปาณ

Web Editor

บรรณาธิการเว็บ Thaipower.co อดีตบรรณาธิการบางสำนัก นักข่าวและคอลัมนิสต์จำเป็น โกสต์ไรเตอร์...ผู้รักการเดินทาง หลงใหลกลิ่นกาแฟ และเป็นมูฟวีเลิฟเวอร์