People

ต้นตระกูล แก้วหย่อง
จากอีสานสู่สากลด้วยดนตรี

เพ็ญแข สร้อยทอง 8 May 2023
Views: 974

ดนตรีเป็นสิ่งสำคัญสำหรับชีวิตของเขา

“ตื่นขึ้นมาก็ดนตรี เล่นดนตรี สอนดนตรี คุยกับเพื่อนเรื่องดนตรี ดนตรีก็คือชีวิตนั่นแหละ”

อยู่กับดนตรีมาครึ่งค่อนชีวิต วันนี้ ต้นตระกูล แก้วหย่อง (ต้น) เป็นที่รู้จักในฐานะอาจารย์และศิลปินผู้เชี่ยวชาญดนตรีไทยพื้นบ้านอีสาน จนได้ชื่อว่าเป็น “คนดนตรีอีสานเลือดใหม่” ผู้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ด้วยการนำดนตรีไทยพื้นบ้านอีสานไปสร้างสรรค์ผสมผสานกับดนตรีสมัยนิยม

“ผมชอบความหลากหลายทางดนตรี แต่สื่อสารได้ดีที่สุดผ่านเครื่องดนตรีอีสาน”

เรามีโอกาสชวนเขามาพูดคุยเข้มข้นถึงดนตรีไทย Thaipower.co เชื่อว่าเมื่อคุณอ่านบทสัมภาษณ์นี้จบ จะรู้สึกว่าดนตรีไทยที่ให้ความรู้สึกดั้งเดิมนั้น…มันช่างฉูดฉาด! และแบบว่า “คูล” ขึ้นมาอีกมิติหนึ่งเลย

 

บันไดที่สร้างความสำเร็จให้ “ดนตรีไทย”
ฉบับอาจารย์ต้น – ต้นตระกูล

✔️หยิบดนตรีไทยมาทำใหม่ ให้ (เข้าถึง) ง่าย เป็นสากลและ “ฉูดฉาด” ยิ่งขึ้น

✔️การนำดนตรีไทยไปต่อยอด จะทำให้เกิดมิติสร้างสรรค์ใหม่ๆ

✔️ส่งต่อประสบการณ์ เพื่อซัปพอร์ตนักดนตรีรุ่นใหม่ให้ยิ่งเดินไปได้ไกล

✔️แพ้บ้าง ล้มบ้าง เพื่อให้แข็งแกร่ง

 

 

ชีวิตที่ผูกพันกับดนตรี (อีสาน)

นักดนตรีนักแต่งเพลงแนวอีสาน ไทยร่วมสมัย เวิลด์มิวสิก ฯลฯ ผู้มีความรู้และเชี่ยวชาญในการนำดนตรีพื้นบ้านอีสาน ไม่ว่าจะ พิณ แคน โปงลาง โหวด ฯลฯ ไปสร้างสรรค์ผสมผสานกับดนตรีสมัยนิยม ต้นตระกูล แก้วหย่อง เป็นสมาชิกวงเอเชียเซเว่น (Asia 7) ทั้งยังทำงานดนตรีภายใต้โพรเจกต์เฮด (HED) ต้นตระกูล และ วงนิศาทิวา (NISATIWA)

พื้นเพดั้งเดิมเป็นคนจังหวัดชัยภูมิ ต้นตระกูลเติบโตมากับเสียงเพลงหลากหลายแนวทางที่คุณพ่อ   คุณแม่ชอบฟัง ก่อนจะเริ่มนำ “กระป๋องนม” มาเป็นตั้งเป็นกลองชุด หยิบกีตาร์ของคุณพ่อไปหัดเล่น และได้ทำความรู้จักกับพิณอีสาน ก่อนจะได้เรียนรู้เครื่องดนตรีอีสานอื่นๆ ด้วยความชื่นชอบและความสามารถทางด้านดนตรี ต้นตระกูลได้รับการสนับสนุนจากครอบครัวให้ได้เรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย โรงเรียนเตรียมอุดมดนตรี วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ก่อนจะต่อระดับอุดมศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล

“ผมเรียนเอกโปงลางตั้งแต่ ม.4 ถึงปริญญาโท โปงลางคือเครื่องดนตรีที่ถ่ายทอดความเป็นเราได้มากที่สุด เป็นดนตรีชิ้นโปรด ทำให้ผมรู้เกี่ยวกับดนตรีเยอะมาก …”

“เราค้นเจอประตูอีกบานที่ตีความโปงลางออกมาเป็นเสียงต่างๆ …ตีโปงลางยังไงให้รู้สึกว่าแมลงภู่ตอมดอกไม้ การเอาดนตรีเทรดิชันแนลมาตกแต่งให้มีชั้นเชิง ใช้เทคนิคแบบดนตรีคลาสสิก ดนตรีไทยราชสำนัก หรือแม้กระทั่งเวสต์เทิร์นมิวสิก”

ต้นตระกูล แก้วหย่อง
เจ้าของรางวัลชนะเลิศการแข่งขัน The 12th OSAKA International – Music Competition
ที่ญี่ปุ่น ปี 2554

 

เมื่อ 12 ปีที่แล้ว เขาใช้เครื่องดนตรีโปงลางเข้าร่วมงานประกวดดนตรีพื้นบ้าน ที่โอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น และคว้ารางวัลชนะเลิศมาครอง

โปงลางและดนตรีอีสานยึดครองพื้นที่ในใจและชีวิตของเขา ขณะเดียวกันอาจารย์ต้นก็ได้เรียนรู้ดนตรีทั้งไทยและสากลในแง่มุมต่างๆ เป็นพื้นฐานที่ทำให้หยิบจับมาสร้างสรรค์ดนตรีที่มีสำเนียงเฉพาะตัว

“เราค้นเจอประตูอีกบานหนึ่งอีกมิติหนึ่งในโปงลาง คือการตีความโปงลางออกมาเป็นเสียงต่างๆ เช่น เสียงลม เสียงนกบิน เสียงผึ้งบิน ฯลฯ เราจะตีโปงลางยังไงให้รู้สึกว่าแมลงภู่ตอมดอกไม้”

เสียงจากโปงลางและเครื่องดนตรีอีสานอื่นจากการบรรเลงโดยอาจารย์ต้นคือ “การเอาดนตรีเทรดิชันแนล (ดั้งเดิม) มาใส่ผงชูรส ปลาร้า มาตกแต่งให้มีชั้นเชิงดนตรีที่ประสานกับดนตรีแนวทางอื่นๆ ใช้เทคนิคแบบดนตรีคลาสสิก ดนตรีไทยราชสำนัก หรือเทคนิคดนตรีอื่นๆ ทั่วโลก แม้กระทั่งเวสต์เทิร์นมิวสิก (ดนตรีตะวันตก)

“เทคนิคคือมีการเล่น มุมมอง วิธีการตีความที่ลึกลงไปมากกว่าการเล่นปกติทั่วไป ดนตรีอีสานจะเล่นตามฟีลลิ่ง มีรูปแบบไม่ได้ตายตัว ไม่เหมือนดนตรีไทยราชสำนัก

“ดนตรีอีสานคือ มีธีม (ทำนองหลัก) คุณก็เล่นอยู่ในธีมนั่นแหละ แล้วก็แวริเอชัน (ส่วนที่มีการเปลี่ยนแปลงจากทำนองหลัก) ไม่ได้โฟกัสว่าต้องถูกผิด ไม่ได้โฟกัสเทคนิคอะไรมากมาย แต่ต้องสัมผัสได้ว่า อันนี้คือบรรยากาศหรือสิ่งที่เพลงกำลังจะสื่อ

“ความเป็นต้นตระกูลก็คือหยิบสิ่งเหล่านั้นมาทำให้จับต้องได้ง่ายมากขึ้น นำสิ่งเหล่านั้นมาแต่งตัว พยายามทำให้ลึกและกว้างมากขึ้น ให้เห็นภาพชัดมากขึ้น อาจจะไม่รู้หรอกว่านี่เป็นเพลงอะไร แต่รู้สึกได้ อย่างเช่นเพลงชื่อ ‘ลมพัดไผ่’ ก็อาจจะรู้สึกว่ามันคือ เสียงลม เสียงไม้ไผ่กระทบกันอยู่ สื่อให้มันฉูดฉาดมากขึ้น”

 

✔️หยิบดนตรีไทยมาทำใหม่ ให้ (เข้าถึง) ง่าย เป็นสากลและ “ฉูดฉาด” ยิ่งขึ้น

จากอินดี้สู่เมนสตรีมพร้อมโกอินเตอร์

เอเชียเซเว่นเพิ่งปล่อยอัลบั้ม “The Seeker” ภายใต้สังกัด Gene Lab ทำให้ศิลปินอิสระกลุ่มนี้ก้าวไปสู่ค่ายเมนสตรีมในเครือจีเอ็มเอ็มแกรมมี่ เป็นโอกาสที่พวกเขาจะได้นำดนตรี “เอเชียนป็อป” ออกไปสู่วงกว้างมากขึ้น

“ดนตรีของเอเชียเซเว่นคือ ป็อป แจ๊ส ฟิวชัน ที่เอาดนตรีพื้นบ้านมาตีความในอีกรูปแบบหนึ่ง แล้วถูกจริตกับคนยุคนี้” ด้วยการผสมผสานเสียงเครื่องดนตรีไทยพื้นบ้านอย่างเช่น ซอ พิณ แคน ฯลฯ เข้ากับเครื่องดนตรีสากล พร้อมเสียงร้องน่าฟัง “เราขายโชว์เล่นสด ดนตรีฉูดฉาด การแสดงบนเวทีค่อนข้างจะเข้าถึงคนได้มาก”

ในส่วนของโพรเจกต์อาจารย์ต้น “ผมพยายามนำเสนอไอเดียของตัวเอง ไม่ต้องแชร์กับใคร เป็นดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ อีสาน ดรัมแอนด์เบส แอโฟรบีต (Afrobeat) ส่วนโพรเจกต์เฮดเป็นดนตรีของคนดำ นีโอโซล อาร์แอนด์บี ฮิปฮอปผสมกับดนตรีอีสาน แล้วโพรเจกต์นิศาทิวา เราทำเพลงบรรเลง เป็นโล-ไฟ ชิลเอาต์ ฟังสบายๆ มีฮิปฮอปบีต มีพิณ แคน ซอ สอดแทรกอยู่”

นอกจากนี้แล้ว อาจารย์ต้นยังมีโอกาสได้ทำงานเพลงทั้งในฐานะนักดนตรี นักแต่งเพลง นักเรียบเรียง และโพรดิวเซอร์ให้กับผลงานและศิลปินหลากหลาย เช่น การร่วมงานกับ สิงโต นำโชค, เบิร์ด-ธงไชย แมคอินไตย์ ฯลฯ

การนำดนตรีพื้นบ้านไทยอีสานไปผสมผสานกับเพลงสมัยนิยมได้รับการยอมรับในวงกว้างและมีให้ได้ยินได้ฟังผ่านเพลงป็อปที่ฮอตฮิตติดชาร์ตมากมายในปัจจุบัน “ดนตรีพื้นบ้านอีสานมีสำเนียง เมโลดี้ คำร้อง หรือการเอื้อนต่างๆ เป็นเอกลักษณ์ ระบบเสียงค่อนข้างที่จะยูนีค รีเลตได้กับดนตรีทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นไอริช แอฟริกัน หรือจีน”

หัวใจของการนำดนตรีไทยพื้นบ้านไปผสมผสานกับดนตรีสากลร่วมสมัยหรือดนตรีประเภทอื่นๆ อาจารย์ต้นบอกว่า “หลักๆ อยู่ในเรื่องของมุมมองวิธีการ อย่างเช่น อาหารฟิวชันมันมีหลากหลาย แต่ร้านไหนที่ทำกลมกล่อม ทำลงตัว แล้วรู้สึกไม่ไทยโดดจนเกินไป ไม่เวสต์เทิร์นโดดจนเกินไป อยู่ที่วิธีการปรุง

“การชูรสให้ดนตรีไทยโดดเด่นในเพลงป็อป ทำยังไงให้ไม่ฉูดฉาดจนเกินไป ทำให้เมสเสจของเพลงนั้นหรือความหมายของเพลงนั้นที่กำลังถูกเล่าออกมาโดดเด่น ไม่ใช่ให้ดนตรีไทยมากลบ”

อาจารย์ต้นยังเคยทำงานให้กับโพรเจกต์ของเน็ตฟลิกซ์ เช่น ถ้ำหลวง: ภารกิจแห่งความหวัง (Thai Cave Rescue) ซีรีส์ที่นำเสนอเรื่องราวของนักฟุตบอลเยาวชนทีมหมูป่าที่ติดอยู่ในถ้ำหลวง จังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นการร่วมงานกับนักแต่งเพลงจากฮอลลีวูด สหรัฐอเมริกา

“เขาให้เราเล่นแบบเป็นตัวเอง แจมกับวง แล้วเขาเอาวัตถุดิบที่เราอัดไปอะเรนจ์เสร็จแล้วก็อัดออร์เคสตราจริงทับเข้าไปอีก เป็นการต่อยอดดนตรีไทย ตลอดทั้งเรื่องจะมีเสียงดนตรีไทยพื้นบ้านแทรกตลอด เป็นการชูทำให้ความเป็นไทย เป็นการตีความใหม่ ใช้เครื่องดนตรีไทยในการเล่าเรื่อง” เรียกว่าเป็นการทำงานที่สนุกสนานท้าทายและตื่นเต้นไม่น้อยเลย “เครื่องดนตรีที่เราคิดว่าจะมีเสียงแบบนี้ เล่นแบบนี้เท่านั้น แต่เมื่อเปลี่ยนวิธีการเล่น อู้หู … ดนตรีไทยเหรอเนี่ย เคยได้ยินแต่ดนตรีญี่ปุ่น ดนตรีอินเดียที่เอาไปทำแบบนั้น”

 

✔️การนำดนตรีไทยไปต่อยอด จะทำให้เกิดมิติสร้างสรรค์ใหม่ๆ

 

ในอนาคต อาจารย์ต้นมีเป้าหมายอยากนำดนตรีที่เขามีส่วนร่วมสร้างสรรค์ออกไปสู่สายตาคนทั่วโลก รวมทั้งอยากให้ตัวตนและผลงานของเขาได้สร้างแรงบันดาลใจกับคนดนตรีรุ่นน้องๆ “ดนตรีไทยหรือดนตรีพื้นบ้านเป็นสิ่งที่ล้ำค่า ยิ่งถ้าเราเข้าใจดนตรีสากลด้วย เราจะได้เปรียบคนอื่น สามารถทำให้ดนตรีของเราไปสู่ระดับโลกได้ การเรียนดนตรีไทยพื้นบ้านสามารถประกอบอาชีพได้ สามารถไปสู่ระดับโลกได้ ดนตรีไทยเทียบเคียงได้กับอาหารไทยหรือมวยไทย สามารถเป็นอุตสาหกรรมใหม่ ๆ เป็นศิลปะใหม่ ๆ ที่จะทำให้ความเป็นไทยไปสู่ระดับโลกได้”

 

งานสร้างคนรุ่นใหม่

หมวกอีกหนึ่งใบซึ่งชายคนนี้สวมอยู่ คือการทำหน้าที่อาจารย์ประจำสาขาดนตรีสมัยนิยม (Popular Music) วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยนำประสบการณ์ในการทำงานทั้งหมดมาสร้างคนรุ่นใหม่ที่มีคุณภาพ

“ความเป็นนักดนตรีความเป็นศิลปินมีอายุขัยของมัน เช่นอายุ 50 แล้วอาจจะเล่นรับงานประจำไม่ได้ หรือนานๆ รับงานที เราอาจจะใช้ประสบการณ์หรือองค์ความรู้ของเราถ่ายทอดให้กับเด็ก ทำให้เขาเสียเวลาน้อยที่สุด บางสิ่งบางอย่างเขาไม่จำเป็นจะต้องไปหาเป็นสิบปีเหมือนเรา ให้เขาไปหาเรื่องใหม่ๆ ที่เราไม่รู้ดีกว่า

“เทอมปัจจุบันผมสอนวิชารวมวงใหญ่รวมวงเล็กของสาขาป็อป (Large & Small Ensembles) ดนตรีป็อปมันดูเหมือนง่าย จริงๆ มีอะไรที่ลึกกว่านั้น”

อาจารย์ต้นเห็นว่า การศึกษาดนตรีในประเทศไทยปัจจุบันเติบโตขึ้นพร้อมกับอุตสาหกรรมดนตรี มีอาชีพที่เกี่ยวข้องกับดนตรีหลากหลายขึ้น ส่วนปัญหาของการศึกษาดนตรีในประเทศไทยมองเห็นเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ

“เป็นเรื่องยิบย่อยหยุมหยิมในเชิงลึก ยกตัวอย่างเช่น ดนตรีไทย ตอนนี้คนเรียนเยอะ แต่ส่วนใหญ่จะมุ่งเน้นจบไปเป็นครู เป็นศิลปินแบบเทรดิชันแนลมากกว่า ผมมองว่านักดนตรีไทยหรือคนเรียนดนตรีไทยอาจจะต้องเรียนรู้ให้รอบมากขึ้น เช่น ต้องอ่านโน้ตได้ คุยภาษาดนตรีสากลได้ เป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งสามารถเสริมได้ในคลาสหรือในหลักสูตร

“มหาวิทยาลัยสอนอยู่แล้วเรื่องฮาร์ดสกิล อย่างเช่น เรื่องทฤษฎีดนตรีหรืออะไรที่เกี่ยวข้องกับดนตรี แต่ซอฟต์สกิล สำหรับนักดนตรีคืออะไร อันนี้สำคัญ นักดนตรีต้องทำไฟแนนซ์เป็น ต้องเก่งเรื่องประชาสัมพันธ์ เรื่องการใช้โซเชียล มีเทคโนโลยีในมือเราจะประชาสัมพันธ์งานเราอย่างไร เราจะคอนเน็กกับโลกอย่างไร อันนี้สำคัญมาก” ทักษะเหล่านี้จำเป็น “ยิ่งใช้งานได้จริง ใช้งานได้หลากหลาย การเป็นนักดนตรีก็จะประสบความสำเร็จได้เร็วขึ้น โอกาสที่จะประสบความสำเร็จในสายอาชีพก็จะเยอะขึ้นด้วย”

 

✔️ส่งต่อประสบการณ์ เพื่อซัปพอร์ตนักดนตรีรุ่นใหม่ให้ยิ่งเดินได้ไกล

 

บันไดสู่ความสำเร็จ

ในอาชีพนักดนตรี การได้รับการยอมรับและประสบความสำเร็จอาจไม่ได้เกิดขึ้นชั่วข้ามคืน “ถ้ามองย้อนไปเมื่อ 10 ปีที่แล้ว มาถึงตรงนี้ได้มันก็เกินฝัน

“ยิ่งเราขึ้นไปสูงก็จะยิ่งเห็นว่า บันไดมันสูงขึ้นเรื่อยๆ เราก็อยากจะปีนขึ้นไปเรื่อยๆ ในหลายเรื่องมันแค่เริ่มต้น เช่น การเข้ามาเป็นศิลปินในค่ายเพลงก็แค่เริ่มต้น ที่ทำกันมาเองมันสุดทางแล้วก็จริง วงอินดี้พอเข้ามาค่ายแล้วไม่ใช่ประสบความสำเร็จ มันคือทางเส้นใหม่ที่เรากำลังจะไป เมื่อก่อนทำเพลงเอง ตอนนี้ต้องทำให้คนอื่น เป็นโพรดิวเซอร์ อะเรนเจอร์ สิ่งที่เราทำมาก่อนหน้านี้ทำให้เราได้ทำงานในปัจจุบันนี้”

ระหว่างนั้น การทำงานอย่างมีความสุขคือสิ่งสำคัญ “ทำแล้วต้องมีความสุขหรือต้องอิน ดนตรีหรือว่างานศิลปะ เป็นศาสตร์ที่ต้องใช้อารมณ์ของคนถ่ายทอดอย่างมาก แล้วก็แรงกล้ามาก ถ้าเราไม่อิน พลังเราจะไม่ถึงคนดูคนฟัง ทำยังไงก็ได้ให้อินกับงาน แต่ไม่ใช่เสแสร้งนะ ต้องอินจริงๆ ต้องหาจุดให้เจอ แล้วเราก็จะอยู่กับมันได้นานๆ ทำให้งานออกมาดี ถ้าเราทำงานด้วยใจจริงๆ คนดูคนฟังสามารถสัมผัสสิ่งที่เราทำได้”

อาจารย์ต้นเปรียบเทียบการทำงานดนตรีกับการเป็นเชฟ ขั้นตอนที่สนุกคือ การปรุงและการชิม “ทำไมเค็มไป ใส่มะนาวไหม รสชาติมันทุเรศ เททิ้งทำใหม่ มันอยู่ที่ตอนคุกกิ้ง การลองผิดลองถูก เราต้องอดทนกับมันมากๆ สนุกก็อยู่ตรงนี้และไม่สนุกก็ตรงนี้แหละ ถ้ามีความสุขสุดๆ คือ ผลงานของเราออกไปแล้วคนดูคนฟังชอบ”

 

✔️ “แพ้บ้าง ล้มบ้าง ทำให้เราแข็งแกร่ง…”

การประกวด THE POWER BAND 2022 Season 2 ที่ผ่านมา ซึ่งมีอาจารย์ต้น – ต้นตระกูล แก้วหย่อง เป็นหนึ่งในคณะกรรมการตัดสินได้แสดงความเห็นที่เป็นประโยชน์และส่งมอบแรงบันดาลใจให้กับผู้เข้าร่วมการแข่งขัน

สิ่งแรกที่การประกวดดนตรีให้เราคือระเบียบวินัย ถ้าไม่มีระเบียบวินัยในการซ้อมหรือการเตรียมตัว เราไม่มีทางที่จะประสบความสำเร็จ

“การซ้อมและการเข้าใจว่าเป้าหมายของเราคืออะไร จุดประสงค์ของการแข่งขันนั้นคืออะไร เราไม่ได้ตั้งเป้าว่าจะต้องได้ที่หนึ่ง แต่เราทำเพื่อชนะใจตัวเอง ชาเลนจ์ตัวเองว่าสิ่งที่เราคิด สิ่งที่เราทำจะโดนใจคนอื่นไหม

หลังจากแข่งขันแล้ว สิ่งที่เราได้ก็คือ เก่งขึ้น ฝีมือดีขึ้น เมื่อได้ทำงานในเรื่องที่เราสนใจมากขึ้นก็สามารถไปต่อยอด

“งานที่เราทำมันไม่ได้แข่งขันกันเอาเป็นเอาตาย เป็นการเอาเอกลักษณ์หรือสิ่งที่ตัวเองมีออกมาพรีเซนต์ ถ้าคนชอบหรือว่างานของเรามันแมตช์กับอุตสาหกรรม เราก็ไปต่อ แต่ถ้างานของเรา niche (เฉพาะกลุ่ม) กลุ่มคนฟังก็จะเล็กหน่อย

การแข่งขันทำให้เราเข้าใจในสิ่งที่ทำอยู่ อาจจะไม่ต้องได้แชมป์ แต่ถ้าเราซ้อมเยอะ เราเข้าใจเยอะ พอมาทำงานจริง เราจะหยิบตรงที่เราซ้อมมาใช้ ถือว่าเป็นทุน

“สิ่งที่ได้รับจากการประกวดอีกอย่างหนึ่งก็คือประสบการณ์

“แพ้ไปเถอะครับ ล้มไปเถอะครับ มันจะทำให้เราแข็งแกร่งมากขึ้น”

สำหรับคนที่มีความฝันและเป้าหมายทางด้านดนตรี อาจารย์ต้นแนะนำว่า “ต้องลงมือทำครับ อาจจะผิดบ้าง ถูกบ้าง ออกนอกลู่นอกทางบ้าง ผมมองว่าอันนั้นคือประสบการณ์และสิ่งที่เราต้องเรียนรู้ในชีวิต

ต้องลงมือทำในสิ่งที่เราสนใจและรัก อยู่กับมัน ให้มันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต

“ถ้าน้องๆ มองว่าดนตรีคือสิ่งที่จะนำพาเราไปในที่ที่เราไม่เคยไปได้ ทำในสิ่งที่เราไม่เคยทำ ไปอีกมิติหนึ่งของการใช้ชีวิต ดนตรีไม่ใช่แค่สิ่งที่เยียวยาจิตใจ แต่คือสิ่งที่หล่อเลี้ยงชีวิต ทำเถอะครับ ลงมือทำ ผมเชื่อว่าการที่จะประสบความสำเร็จก็คงจะอยู่ไม่ไกล แต่เมื่อไหร่เท่านั้นเอง ต้องใช้เวลาและความอดทน”

 

ประวัติอาจารย์ต้นตระกูล

  • ปี 2554 ได้รับรางวัลชนะเลิศ 1st Prize เครื่องดนตรีโปงลาง ประเภท Folk Instruments ในการแข่งขัน The 12th OSAKA International Music Competition ณ เมืองโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น
  • ปี 2552 ได้รับรางวัลชนะเลิศ วงดนตรีไทยร่วมสมัยในการประกวดโครงการช้างเผือกคุณพระ ชิงเข็มกลัดพระราชทาน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี รายการคุณพระช่วย
  • ปี 2551 เข้าศึกษามัธยมศึกษาปีที่ 4 หลักสูตรเตรียมอุดมดนตรี วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล เอกโปงลาง
Author

เพ็ญแข สร้อยทอง

Author

เชื่อในพลังของตัวอักษรและการเล่าเรื่องเพื่อสร้างแรงบันดาลใจ นอกเหนือจากบ้านแล้ว ใช้เวลาส่วนใหญ่ในร้านกาแฟ ชอบเที่ยว ชิมอาหาร อ่านหนังสือ ดูซีรีส์ ฟังเพลง แคคตัส และแมว

Author

บริษัท เอ็กเปิร์ดคิด จำกัด

Photographer

การรวมตัวของคนโปรดักชั่น ที่ยังเชื่อในพลังสร้างสรรค์ เราจึงคิดและผลิตงานศิลปะทุกรูปแบบ