Playground

“ชัยศิขริน” แห่งบ้านโฮ่ง ลำพูน
ต่อยอดสมุนไพรไทย
กระจายรายได้ด้วยภูมิปัญญา

วันเสาร์ มณฑาจันทร์ 14 Jul 2022
Views: 1,253

“คนเหนือเขาใช้มะกรูด ขมิ้น มะขาม กันทุกบ้าน เอามาผสมกันแล้วขัดตัว หลายคนเห็นก็บอกว่าผิวดี ผิวจะเนียน แล้วถามต่อว่าใช้อะไรเหรอ”

ไม่น่าเชื่อว่า แค่คำถามว่า…ใช้อะไรเหรอ…จะทำให้เกิดผลิตภัณฑ์แล้วต่อยอดไปอีกมากมาย จนสร้างรายได้ให้กับชาวบ้าน อ.บ้านโฮ่ง จ.ลำพูน รวมไปถึงเกษตรกรที่ปลูกสมุนไพรในทุกพื้นที่ของไทย “เพราะสมุนไพรบางชนิดทางเหนือเราไม่มี แต่หลักๆ ก็ใช้ในสิ่งที่เรามีก่อนค่ะ” คุณหยิน-ลฎาภา ชัยศิขริน รุ่นที่สองของครอบครัวผู้ก่อตั้งแบรนด์ ชัยศิขริน (CHAISIKARIN) ค่อยๆ เล่าให้ฟัง

ยิ่งฟังสาวเหนือหน้าใสผิวสวย ยิ่งเข้าใจพลังของคำว่า “ต่อยอด” มากขึ้นเรื่อยๆ จากจุดเล็กๆ จากสิ่งที่มี ใส่ความรู้และความคิดสร้างสรรค์ไปพัฒนา สามารถเกิดผลใหญ่โตเกินกว่าที่คาดคิด เพียงแค่เกลือขัดผิวกระปุกเล็กๆ ที่คุณแม่ซื้อมาใช้ วันนี้ครอบครัวของคุณหยินมีผลิตภัณฑ์ดูแลความงามและผิวพรรณกว่า 60 รายการ

“ศิขริน แปลว่า ภูเขา ชัย แปลว่า ผู้ชนะ คือความหมายของแบรนด์เราค่ะ” เธอบอกความภาคภูมิใจอยู่ในตัวอักษรทุกตัว

 

เคล็ดลับคนเหนือผิวดี

เดิมทีครอบครัวคุณหยินทำธุรกิจค้าพืชไร่และมีสวนสมุนไพรเป็นของตนเองอยู่แล้ว แต่ถ้าย้อนไปไกลกว่านั้น รุ่นคุณตาเป็นแพทย์ทหารเสนารักษ์ แถมยังได้รับแต่งตั้งเป็นแพทย์ประจำตำบล และเจเนอเรชันคุณทวดก็เป็นแพทย์แผนไทย ที่บ้านจึงมีตำรายาสมุนไพรเก็บไว้เยอะ เรียกว่าคลุกคลีกับสมุนไพรและภูมิปัญญาแพทย์แผนไทยมาตลอด

“คุณแม่เคยรู้สึกว่าตัวเองเป็นเด็กบ้านนอกอยู่บ้านโฮ่งไกลเมือง” คุณหยินเล่าถึง คุณแม่สายทอง ชัยศิขริน (ภาพต่อไป) สมัยสาวๆ “และคุณแม่บอกว่าในบรรดาพี่น้องผู้หญิง 5 คน ผิวแม่ไม่สวยเหมือนคนอื่น มีโอกาสไปเรียนในเมืองเชียงใหม่ ก็เลยชอบแต่งตัวแต่งหน้า ชอบใช้เครื่องสำอางดีๆ แบรนด์ดังๆ แต่ก็ยังเน้นไปแนวธรรมชาตินะคะ” หลังจากเรียนจบคุณแม่ก็กลับจากเมืองใหญ่ มาสร้างครอบครัวทำธุรกิจการเกษตรที่เมืองเล็กลำพูน

แต่เรื่องดูแลความงามยังคงเส้นคงวา

เมื่อราว 20 ปีก่อน เกลือสปาจากญี่ปุ่นเริ่มเข้ามาแพร่หลายในเมืองไทย คุณแม่ก็ลองใช้ “เป็นเกลือในน้ำมันนะคะ แม่ก็เลยเอามาผสมกับสมุนไพรของที่บ้านเพิ่มเข้าไปแล้วใช้เอง ปรากฏว่าเวลาไปทำการค้าเจอคนเยอะ เขาก็ชมว่าผิวดี ใช้อะไรเหรอ ก็เลยต่อยอดทำขายสิคะ” เริ่มจากนำเกลือสปามาผสมกับขมิ้นบ้าง มะขามบ้าง แล้วใช้นามสกุล ชัยศิขริน มาตั้งเป็นชื่อแบรนด์…ขายดีเชียว

เกลือสปาขัดผิวสูตรผสมผงสมุนไพรไทยเริ่มออกสู่ตลาด โดยเน้นเป็นสมุนไพรชนิดเดียวต่อสูตรใช้จุดเด่นของแต่ละพืช ให้ลูกค้าเลือกใช้ได้ตรงกับสภาพผิวแต่ละคน สมุนไพรก็มาจากสวนที่บ้านโฮ่งเป็นหลัก นอกจากขายที่บ้านแล้วมีการเปิดบูทขายครั้งแรกเลยที่ “กาดสวนแก้ว” ห้างดังของเชียงใหม่ในยุคนั้น

 

ต่อยอดสมุนไพร

เริ่มต้นขายจริงจังประมาณปี 2547 ทำให้ผลิตภัณฑ์เป็นแบบ Home Spa สามารถขัดตัวเหมือนไปสปาได้บ่อยๆ เปิดตัวด้วย 5 สูตร เกลือสปาผสมน้ำแร่ สูตรว่านหางจระเข้ผสมชาเขียว สูตรมะขาม สูตรขมิ้น และสูตรมะนาวผสมขิง

“เราขายเกลือสปาเป็นหลัก ลูกค้ามาซื้อก็ถามหาสบู่ เราก็กลับมาพัฒนาเป็นสบู่ก้อนล้างหน้า คือ ลูกค้าถามหาอะไร เราจะมาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ตัวนั้นออกมา ถ้าเป็นสิ่งที่ทำไม่เป็นก็ไปซื้อคอร์สอบรมเรียนจริงจังกันเลย”

เรียกว่า ถ้าถามมา…คราวหน้ามี แต่สิ่งที่ชัยศิขรินยึดมั่น คือ ต้องผสมสมุนไพรไทยเข้าไปในผลิตภัณฑ์ทุกตัว

หลักจากนั้นไม่นานก็เริ่มเข้าสู่วงการ OTOP “ชาวบ้านลำพูนก็จะรู้ว่าเรารับซื้อสมุนไพรด้วย เขาก็จะนำมาขายให้เรา แล้วการแปรรูปสมุนไพร เช่น การอบแห้ง บดเป็นผง เราก็ให้ OTOP กลุ่มอื่นที่เขาทำอยู่แล้วเป็นคนทำให้ ถือเป็นการกระจายรายได้ให้ทุกคนมีอาชีพไปด้วยกัน”

ทางชัยศิขรินมีข้อกำหนดให้กับเกษตรกรที่ปลูกสมุนไพรเพื่อขายให้กับโรงงาน คือ ต้องไม่ใช้ยาฆ่าแมลง มีระยะเวลาการเก็บที่ชัดเจน อย่างมะกรูดต้องอายุกี่วัน ขมิ้น ไพล ว่านหางจระเข้ ต้องอ่อนแก่แค่ไหน เพราะช่วงอายุที่ให้ประโยชน์สูงสุดของสมุนไพรแต่ละชนิดไม่เท่ากัน ถ้าสมุนไพรชนิดไหนที่ทางภาคเหนือมีก็จะเลือกใกล้ตัวก่อน แต่สมุนไพรบางชนิดที่อยู่ถิ่นอื่น เช่น ลูกสำรอง ที่มีอยู่ทางภาคกลางและอีสาน ก็ต้องซื้อจากแหล่งที่ดี โดยให้ราคาตามท้องตลาด และสามารถรับซื้อได้เรื่อย ๆ เพราะสมุนไพรแบบนี้เก็บไว้ใช้ได้นาน

“ในลำพูนก็มีกลุ่มปลูกขมิ้น กลุ่มปลูกไพล กลุ่มปลูกมะกรูด ที่เรารับซื้อเป็นประจำประมาณ 5-6 เจ้า”

รางวัลแด่ความมุ่งมั่น

ด้วยความดีงามของสมุนไพรไทย บวกกับความงามของผิวคนขายดันให้ยอดขายของแบรนด์ในงาน OTOP พุ่งอย่างแรง “เชื่อไหมคะเวลาไปออกบูทคนเขาก็จะมาจับมือจับแขนดู เห็นผิวขาวเขาก็อยากจะใช้ตามเรา โดยเฉพาะตลาดกรุงเทพฯ กับภาคใต้คนซื้อเยอะค่ะ”

เมื่อปี 2561 ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว Rice & White Tea Body & Face Butter Cream นำคุณสมบัติที่ดีของข้าวหอมมะลิไทยและชาขาวมาใส่ในครีม ได้รับรางวัล Top 10 Award Lanna Herbal Cosmetic 2018 ภายใต้โครงการการพัฒนานวัตกรรมสมุนไพรสำหรับเครื่องสำอางภาคเหนือ

“บัตเตอร์ครีมข้าวกับชาขาวตัวนี้ล่ะค่ะ ที่ คิง เพาเวอร์ เข้ามาเลือกไปขายในร้านที่สุวรรณภูมิ เราบอกว่าเราเกิดมาด้วยสครับเกลือสปา เขาก็บอกว่าเกลือขัดตัวมีคนทำเยอะมากแล้วอยากได้ครีมนี้ตัวเดียว  แต่ผ่านมาอีกหลายปีก็ติดต่อมาใหม่ ว่าขอเลือกสครับและโลชั่นไปขายเพิ่มอีก”

แค่สิบกว่าปี จากเกลือสปาญี่ปุ่น มาถึงจุดที่ได้รางวัลและขายดีเป็นเทน้ำเทท่า…เริ่มเห็นพลังของการ “ต่อยอด” ชัดขึ้นแล้วสินะ

 

ลำพูน : ลำไย ก้าวไกลเกินผลไม้

“ลำพูน” กับ “ลำไย” แยกกันไม่ค่อยออก เมื่อพูดถึงคนลำพูนก็ต้องถามถึงลำไยเสมอ เมื่อก่อนเราเคยได้ยินว่ามีการสกัดสารจากเมล็ดลำไย ที่มีคุณสมบัติต่อต้านอนุมูลอิสระ สามารถป้องกันยับยั้งการสลายของกระดูกอ่อน และช่วยให้เกิดน้ำหล่อเลี้ยงที่ไขข้อได้ ทำเป็นยาสำหรับผู้ที่ปวดข้อกระดูก โด่งดังระดับโลกไปแล้ว

แล้วเรื่องความสวยความงามล่ะ!?!

“มีงานวิจัยที่เราร่วมกับคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คือ ใบของต้นลำไยจะมีสารที่สามารถลดเลือนริ้วรอยได้ ช่วยทำให้รูขุมขนเล็กลง บำรุงผิวด้วย ก็เลยนำมาผสมในครีมบำรุงผิวหน้า เป็นครีมลำไย (Longan Cream) และอีกสักพักน่าจะมีเซรั่มลำไยตามมาค่ะ”
ปกติใบลำไยก็ไม่ได้ใช้ประโยชน์อยู่แล้ว ก็นับว่าเป็นหนทางที่จะช่วยให้เกษตรกรมีอาชีพเพิ่มขึ้นอีกทางหนึ่งด้วย

ใครที่มองสิ่งที่ทำอยู่ว่าเป็นจุดเล็กๆ ลองกลับไปคิดใหม่อีกที จุดเริ่มต้นไม่ต้องใหญ่โต แต่ “ต่อยอด” ด้วยความรู้ เติมความคิดสร้างสรรค์ หาภูมิปัญญาที่มีมายาวนานมาเพิ่มโอกาส และลองหันมาใช้นวัตกรรมสมัยใหม่ในการพัฒนา มันนำพาเราไปไกลได้แบบที่คาดไม่ถึงเลยล่ะ

ดังเช่นวันนี้ “ชัยศิขริน” ได้ก้าวไปคว้าชัยอยู่บนยอดเขาสูง ตามความหมายของแบรนด์เรียบร้อยแล้ว

 

บ้านสวนสมุนไพรชัยศิขริน (CHAISIKARIN)

ที่ตั้ง : 369 หมู่ 1 บ้านห้วยกาน ต.บ้านโฮ่ง อ.บ้างโฮ่ง จ.ลำพูน 51130

 

Website: CHAISIKARIN

 

Facebook: CHAISIKARIN

 

ข้อมูลสินค้าเพิ่มเติมที่ตลาดพลังคนไทย

คลิก: CHAISIKARIN

 

สนใจสินค้าพลังคนไทย สามารถสนับสนุนได้ที่คิง เพาเวอร์ทุกสาขา

 

ปักหมุดจุดเช็กอิน-แชะรูป-ท่องเที่ยวใกล้เคียง

• บ้านสวนสมุนไพรชัยศิขริน เยี่ยมชมบ้านสวนสมุนไพรชัยศิขริน สถานที่ยังคงความเป็นธรรมชาติอย่างสมบูรณ์ มีเรื่องราวต้นทางของภูมิปัญญาพื้นบ้านจากความรักในสมุนไพรให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์แนวธรรมชาติบำบัด ที่นี่ยังมีร้านอาหารและกาแฟแสนอร่อย มีมุมถ่ายรูปท่ามกลางธรรมชาติ ขาช้อป ขาชิม…ห้ามพลาด

• ถ้ำหลวงผาเวียง อ.บ้านโฮ่ง จ.ลำพูน เดิมชาวบ้านเรียก ถ้ำหลวง เพราะว่าคำว่า “หลวง” ในภาษาเหนือ แปลว่า ใหญ่ ด้วยที่ตั้งอยู่ตรงผาเวียง ชื่อเต็มเลยเป็น ถ้ำหลวงผาเวียง เป็นถ้ำหินปูนที่มีโพรงคูหาขนาดใหญ่ และลึกเข้าไปในภูเขา มีช่องมากมาย สลับซับซ้อน ถ้าส่องแสงไฟกระทบหินงอกหินย้อยจะส่องแสงระยิบระยับดุจมณีอันล้ำค่า

• หมู่บ้านกะเหรี่ยงพัฒนาห้วยหละ อ.บ้านโฮ่ง จ.ลำพูน เป็นหมู่บ้านชาวเขาเผ่าปะกาเกอะญอ ที่เข้าไปสัมผัสวิถีชีวิตที่เรียบง่าย ที่น่าสนใจที่สุดเห็นจะเป็น การทอผ้าด้วย “กี่เอว” ซึ่งเป็นกี่ทอผ้าขนาดเล็ก ปลายด้านหนึ่งคาดไว้ที่เอว.ทำให้สะดวกในการเคลื่อนย้าย ชาวบ้านจะนำติดตัวไปตลอด เมื่อว่างจากการทำการเกษตรหรือรับจ้างก็สามารถทอผ้าได้ทันที เป็นภูมิปัญญาที่สืบทอดต่อกันมาหลายชั่วอายุคน

Author

วันเสาร์ มณฑาจันทร์

Author

นักเขียนอิสระ แม้จะร่ำเรียนมาทางด้านภาพยนตร์แต่นอกจากถ่ายภาพและเขียนหนังสือแล้ว ยังสนใจเรื่องการทำอาหารและผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติมากเป็นพิเศษ