Summary
หนึ่งปีมีหนหนึ่งกับคอลเลกชันพิเศษประจำปี จาก LCFC สโมสรเลสเตอร์ ซิตี้ ร่วมกับ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มส่งเสริมอาชีพบ้านเชียงราย จังหวัดน่าน ที่ล่าสุดได้หยิบผ้าตาโก้ง ผ้าทอพื้นถิ่นที่สะท้อนเรื่องราวของชุมชนส่งต่อไปให้โลกรู้จัก…ไกลถึงเมืองเลสเตอร์ ประเทศอังกฤษ
“น่านคือเมืองแห่งขุนเขา อยู่กลางหุบเขา มีแม่น้ำน่านอยู่ตรงกลาง สีเขียว น้ำเงิน ขาว และเทา มันสัมพันธ์กันหมดเลย”
ความเป็นจังหวัดน่านและเอกลักษณ์ของวิสาหกิจชุมชนกลุ่มส่งเสริมอาชีพบ้านเชียงรายถูกทอความหมายลงบนผืนผ้า เป็นจุดเริ่มต้นของความสวยงามบนสินค้าคอลเลกชันพิเศษ “LCFC สโมสรเลสเตอร์ ซิตี้ ร่วมกับ LCFC Collaboration with “หมู่บ้านเชียงราย จังหวัดน่าน ประเทศไทย” สนับสนุน “พลังคนไทย” ที่พร้อมส่งออกไปถึงเมืองเลสเตอร์ ประเทศอังกฤษ
เราได้มีโอกาสพูดคุยกับคุณแต๋ม – พวงทอง สุทธิจินดา เลขานุการกลุ่มฯ และการตลาด วิสาหกิจชุมชนกลุ่มส่งเสริมอาชีพบ้านเชียงราย จังหวัดน่าน ถึงการร่วมมือระหว่างคนในกลุ่มฯ เพื่อสร้างสรรค์ผ้าทอสำหรับคอลเลกชันพิเศษนี้โดยสะท้อนความพิเศษของ บ้านเชียงราย ตำบลดู่ใต้ จังหวัดน่าน ลงบนผ้าตาโก้ง ผ้าทอเอกลักษณ์ของจังหวัดน่านที่แฝงลายก้างปลาและลายลูกแก้ว เอกลักษณ์ของโรงทอบ้านเชียงรายไว้ด้วย
เจาะลึกสั้นๆ
เรื่องราวของผ้าตาโก้งของบ้านเชียงราย
ผ้าตาโก้งลายเอกลักษณ์ของกลุ่มฯ บ้านเชียงราย
ยังมีลายดอกพริกและลายดอกใบบัวบกประดับอยู่บนผืนเดียวกัน
มีเท็กซ์เจอร์ที่สัมผัสได้ถึงความนูนของดอกไม้
และสามารถใช้ได้สองด้าน
บ้านเชียงรายอยู่ที่น่าน
บ้านเชียงรายทำไมอยู่น่าน?
“เมื่อก่อนน่าจะมีคนจากจังหวัดเชียงรายเดินทางมามีครอบครัวอยู่ที่จังหวัดน่าน ที่นี่อยู่ในตำบลดู่ใต้ มันก็จะมีดู่เหนือ ดู่ใต้ มีตำบลที่ขึ้นชื่อว่าดู่อยู่หลายตำบล คนที่ย้ายมาเขาคิดถึงบ้านก็เลยตั้งว่าบ้านเชียงราย”
ในตำบลดู่ใต้ บ้านเชียงราย ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมและหาปลา ทำสวนลำไย ปลูกกล้วย มะม่วง และยังมีชื่อเสียงด้านการปลูกพืชผักสวนครัว “ถ้านึกถึงผัก ต้องนึกถึงตำบลดู่ใต้ มีสีเขียวคือผักสวนครัว น้ำก็คือแม่น้ำ ชาวบ้านจะหาปลา ในป่าก็มีต้นไม้ ผลไม้ยืนต้นที่ให้ผลผลิตตามฤดูกาล”
แม้ว่าการทอผ้าจะอยู่ในวัฒนธรรมและวิถีชีวิต แต่ก็ยังเป็นเพียงกิจกรรมที่ทำนอกเหนือจากช่วงเวลาดำนาและฤดูเก็บเกี่ยว เก็บผลลำไยหรือมะม่วงเท่านั้น แม่กี่ในกลุ่มมีอายุหกสิบปีขึ้นไปแล้วแต่ยังเน้นที่การทอผ้าผืนตามความรู้ดั้งเดิมของตนเอง
“ชาวบ้านแทบจะไม่รู้จักคำว่าการตลาดเลย ไม่รู้ว่าทอแล้วจะไปขายให้ใคร ไม่รู้ความต้องการของลูกค้า รู้แต่ว่าทอในสิ่งที่อยากทำ เมื่อก่อนเขาขายผ้าขาดทุนมาตลอด ไม่เคยรู้ว่าต้นทุนเท่าไร หนึ่งวันต้องทอได้เท่าไร เขาไม่ได้คำนวณว่าอนาคตข้างหน้าต้นทุนการผลิตมันอาจจะสูงขึ้น แล้วเขาก็ขยับไม่ได้”
หลังจากการปรับเปลี่ยน วางแผนใหม่ ปัจจุบันการทอผ้ากลายเป็นอาชีพหลัก ไม่ใช่แค่อาชีพเสริมที่ทำหลังจากมีเวลาหลังการดำนาและฤดูกาลเก็บเกี่ยวแล้ว
จนถึงวันนี้กว่า 12 ปีแล้ว นับตั้งแต่เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2556 ที่เริ่มก่อตั้งวิสาหกิจชุมชนกลุ่มส่งเสริมอาชีพบ้านเชียงราย ทั้งชาวบ้านและคุณแต๋มยังช่วยกันพัฒนาสินค้า ผ้าทอและโรงทอให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ชุมชน มุ่งหวังให้นักเรียน นักศึกษา หรือบุคคลที่สนใจเข้ามาเรียนรู้วิธีการทอผ้าและการย้อมสีจากธรรมชาติ ด้วยความหวังว่าจะส่งเสริมและอนุรักษ์ผ้าทอตาโก้งให้คงอยู่สืบไป
เจาะลึกสั้นๆ
เรื่องราวของผ้าตาโก้งของบ้านเชียงราย
ลายก้างปลามีความยากในการทอมาก
เพราะเป็นลายที่ต้องนับการพุ่งด้วย
ถ้าไม่นับก็ต้องใช้สายวัด จึงมีความละเอียดมาก
ถ้าเกินไปก็ต้องถอยออกมา
จึงทำให้การทอช้ากว่าลายอื่นๆ
Suggestion
ผ้าตาโก้ง เอกลักษณ์ผ้าทอบ้านเชียงราย
คำว่า ‘โก้ง’ หมายถึง ลาย ในภาษาเหนือ
‘ตาโก้ง’ และ ‘ตาแสง’ มีความหมายเดียวกัน คือการขัดกันของรั้วไม้ไผ่ขัดแตะ ‘รั้ว’ นี้ภาษาท้องถิ่นเรียกว่า รั้วตาแสง “ถ้าเราเอารั้วตาแสงมาวางบนผืนผ้า โดยการสลับด้วยสีของเส้นยืนที่ไม่เหมือนกัน การทอและการขัดของรั้วดูแล้วคล้ายกัน แรงบันดาลใจจึงน่าจะมาจากรั้วบ้าน”
ผ้าตาโก้งนี้มีทอในหลายพื้นที่ เพียงแต่ว่าแต่ละโรงทอจะมีความแตกต่างสะท้อนอยู่ภายในผืนผ้าและลวดลาย แม้จะเรียกว่าตาโก้งเหมือนกัน ก็สะท้อนเอกลักษณ์แตกต่างกัน
“บ้านเชียงรายจะมีการทอลายก้างปลาและลายลูกแก้ว ผ้าทอแต่ละที่จะมีการเหยียด ช่องไฟของผ้าตาโก้งไม่เหมือนกัน เส้นฝ้ายในการทอก็ไม่เหมือนกัน ของบ้านเชียงรายเราใช้ฝ้ายทั้งเส้นยืนและเส้นพุ่งและใช้สามเส้นในการทอทำให้เวลาซักแล้วผ้านุ่ม แต่จับแล้วมีความหนา”
ลายก้างปลาและลายลูกแก้ว ยังเป็นลวดลายพิเศษที่สะท้อนเรื่องราวของบ้านเชียงรายเช่นกัน ซึ่งลายก้างปลาเกิดจากการมัดเชือกที่เป็นฟันหวีและเหยียบให้ต่างไปจากปกติจึงเกิดเป็นลวดลายใหม่
“ดูดีๆ ก็เหมือนก้างปลา ดูดีๆ ก็เหมือนสายน้ำ หรือดูเป็นภูเขาก็ได้ แต่เราอยู่ติดริมน้ำน่าน ก็เลยน่าจะเป็นลายก้างปลาได้นะ เป็นก้างเล็กๆ ของปลาตัวเล็กตัวน้อยเพราะแถวนี้มีเยอะ”
ส่วนลายลูกแก้วนั้นคล้ายกับดวงตาที่มองมา ซึ่งเปรียบเสมือนสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ที่พระองค์ทรงมอบอาชีพให้กับแม่บ้าน การทอลายไม่ยาก แต่มีความยากที่ช่องไฟของสีในผืนผ้า ทั้งสองลายนี้เป็นลวดลายที่โดดเด่นและเป็นจุดเริ่มต้นของคอลเลกชัน LCFC ในปีนี้
เจาะลึกสั้นๆ
เรื่องราวของผ้าตาโก้งของที่นี่
ก่อนหน้าที่จะมีการพัฒนาและสื่อสารเรื่องราวของบ้านเชียงราย
ชาวบ้านทอผ้าขายขาดทุนมาตลอด
ผ้าผืนยาว 2 เมตร สามารถจำหน่ายได้เพียง 450 บาทเท่านั้น
ซึ่งผ้าทอลายก้างปลาผืน 2 เมตรใช้เวลาทอถึง 3 วันเลย
ความภูมิใจผ้าไทย ‘พลังคนไทย’ ไปไกลถึงเลสเตอร์ ซิตี้
“รู้สึกดีใจที่ลวดลายผ้าของเรามันเข้าตาของ คิง เพาเวอร์ พี่แต๋มเคยไปออกงานที่หนึ่ง แล้วก็เคยคิดนะว่าทำยังไงที่เราจะเข้าไปมีสินค้าวางขายได้ อยากผลิตสินค้าส่งให้ คิง เพาเวอร์ด้วยมันก็เป็นความฝันนะ” วันนี้ความฝันเป็นจริงแล้ว ผ้าตาโก้งของกลุ่มฯ บ้านเชียงรายได้มาเป็นส่วนสำคัญของคอลเลกชันพิเศษ LCFC สโมสรเลสเตอร์ ซิตี้ ร่วมกับ คิง เพาเวอร์ ไทย เพาเวอร์ พลังคนไทย สร้างสรรค์สินค้ากว่า 10 รูปแบบเตรียมส่งออกสู่เมืองเลสเตอร์ ประเทศอังกฤษ
ในคอลเลกชันนี้ ได้มีการสั่งทำผ้าตาโก้งทอลายก้างปลาและลายลูกแก้ว เป็นลวดลายสะท้อนอัตลักษณ์ของชุมชน ความพิเศษผ้าผืนผ้าคือความยากและระยะเวลาในการทอ ที่ใช้เวลาทอถึง 3 วันกว่าจะได้ผ้า 2 เมตร ซึ่งในคอลเลกชันนี้ต้องใช้ผ้าถึง 550 เมตร โดยมีช่างทอเพียง 10 คน และใช้เวลากว่า 4 เดือนในการทอ จากผ้าทอฝีมือคนไทยลวดลายท้องถิ่น…กลายเป็นสปอร์ตแวร์ที่ผสมผสานแฟชั่น Sport Hunting มีลวดลายสุนัขจิ้งจอกที่เป็นสัญลักษณ์ของ Leicester City วิ่งไล่ล่าซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการกระหายชัยชนะของทีมในการล่าทำประตูในสนามแข่ง ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจสำคัญของคอลเลกชัน
นอกจากลายผ้าตาโก้งแล้ว สีเอกลักษณ์ทั้งสี่ของฝ้ายทอยังสะท้อนเรื่องราวของชุมชนไว้อย่างแยบยลสวยงาม “สีเขียวเป็นสีของโรงงาน แต่ก็สะท้อนถึงความอุดมสมบูรณ์ของต้นไม้ เพราะบ้านเราอยู่ในพื้นที่อุดมสมบูรณ์ สีน้ำเงินคือสีของน้ำ ท้องฟ้า มันเชื่อมโยงกัน สีขาวจากฝ้ายธรรมชาติและสีเทาที่นำมาผสมผสานกัน”
เมื่อทุกสี ทุกลวดลายของเส้นทอ หยาดเหงื่อ แรงกายของช่างทอทุกคนมารวมกันยิ่งชูให้ผ้าตาโก้งพิเศษยิ่งขึ้น
ผ่านความยากมาก่อนจะมีรอยยิ้ม
ระหว่างที่ทอผ้าสำหรับคอลเลกชันพิเศษนี้ กลุ่มฯ บ้านเชียงรายต้องเจอกับความท้าทายหลายเรื่อง ตั้งแต่เป็นช่วงคาบเกี่ยวกับฤดูกาลดำนาและเก็บเกี่ยวผลลำไยซึ่งเป็นอีกหนึ่งอาชีพของชาวบ้าน แล้วยังต้องเผชิญกับสภาพอากาศด้วย
“เวลาฝนตก โรงทอมักจะโดนละอองฝน มันก็จะชื้น พอชื้นก็ต้องลุกออกจากกี่บ่อยๆ เพื่อที่จะไปหวีเส้นยืนด้วยขี้ผึ้งให้มันลื่น เวลาฝนตกแม่กี่บางคนบ้านอยู่บนเนิน เขาก็ไม่สามารถลงมาได้ เขากลัวลื่นก็อาจจะขาดไปบ้าง” เป็นความท้าทายเมื่อเทียบกับระยะเวลาการทำงานที่เคลื่อนเข้ามาใกล้ทุกวัน แต่หลังจากเห็นผ้าทอเสร็จสมบูรณ์ รอยยิ้มก็ตามมา…
เขานึกไม่ถึงว่าที่ตัวเองทอมาถึงทุกวันนี้งานของเขาจะไปได้ไกลขนาดนี้ เพราะทอก็แค่เพื่อให้ได้เงินมาเท่านั้นเอง วันนี้ชาวบ้านมีรายได้มากขึ้น มีงานทำ มีรอยยิ้ม มีความสุข เขาไม่ต้องมานั่งคิดว่าถ้าทอแล้วจะไปขายให้ใครต่ออีก”
ส่วนการทอผ้าโดยเฉพาะสำหรับคอลเลกชันนี้ เรียกได้ว่าต้องพัฒนาตนเองจากสิ่งที่เคยทำ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของรูปแบบ เรื่องของสีด้ายที่ใช้ทอ…ตามโจทย์จากการดีไซน์พิเศษที่ได้รับ เปิดโอกาสให้ได้ใช้ฝีมือในการผลิตผลงานใหม่ๆ ให้เกิดขึ้
วันนี้พูดได้ว่าทุกคนภูมิใจในตัวเอง และภูมิใจในผลงานที่ตัวเองทำอยู่ การได้เป็นส่วนหนึ่งของคอลเลกชันนี้ยิ่งเป็นกำลังใจให้ช่างทอในกลุ่มฯ บ้านเชียงรายยังคงทอผ้าต่อ และหวังว่าสักวันหนึ่งจะมีคนรุ่นใหม่เข้ามาเรียนรู้ สืบสานให้ผ้าตาโก้งลายก้างปลาและลายลูกแก้วอยู่คู่กับชุมชนต่อไป
ข้อมูลสินค้าเพิ่มเติมที่ตลาดพลังคนไทย
คลิก: LCFCxNAN
สนใจสินค้าพลังคนไทย สามารถสนับสนุนได้ที่ คิง เพาเวอร์ ทุกสาขา
ภาพจากบ้านเชียงรา
ปักหมุดจุดเช็กอิน-แชะรูป-ท่องเที่ยวใกล้บ้านเชียงราย จ.น่าน
(สถานที่ถ่ายทำแฟชั่นเซ็ต)
• วัดศรีมงคล (วัดบ้านก๋ง) ไปสักการะหลวงปู่ครูบาก๋ง หรือ พระครูมงคลรังสี พระสงฆ์ที่ชาวบ้านนับถือมาอย่างชาวนานในวัดเก่าแก่ในตำบลยม จ.น่าน พร้อมทั้งชื่นชมสถาปัตยกรรมที่รวบรวมศิลปะล้านนาและไทยลื้อไว้ด้วยกัน
• วัดภูมินทร์ สักการะประดิษฐานพระประธานจตุรพักตร์ที่ตั้งอยู่ใจกลางพระอุโบสถ และลอดส่วนกลางของบันไดนาคที่มีช่องโค้งทั้งสองด้าน ว่ากันว่าหากคู่รักได้ลอดวนตามเข็มนาฬิกา 3 รอบจะสมหวัง และหากคนต่างถิ่นเดินทางมาลอดจะได้กลับมาเมืองน่านอีกครั้ง
• ร้านหยุดเวลา คาเฟ่ชื่อดังของเมืองน่านแห่งบ้านสะปัน ตั้งอยู่บนเนินเขาสูง เหมาะแก่การจิบกาแฟยามบ่ายไปพร้อมกับชมทัศนียภาพที่สวยงามราวกับภาพวาด
ภาพแฟชั่นจาก Expert Kit