Playground

ย้อมเวทีเป็นสีฟ้าคราม
THE POWER BAND 2024 SEASON 4 x Indigo Home
เสื้อย้อมห้อมสุดเอกซ์คลูซีฟ

วรากร เพชรเยียน 30 Apr 2024
Views: 4,294

Summary

เมื่อโครงการ THE POWER BAND 2024 SEASON 4 มาคอลแล็ปส์กับงานฝีมือบาติกย้อมครามของ “หม้อห้อมป้าเหลือง” แห่งเมืองแพร่ ภายใต้ธีม “Let the Music Power Your World” เกิดเป็น t-shirt เวอร์ชันพิเศษจำนวนจำกัดแห่งความภูมิใจจากชาวบ้านชุมชนทุ่งโฮ้ง

เวที THE POWER BAND 2024 SEASON 4…กำลังจะกลับมาเปิดโอกาสอีกครั้ง สำหรับการประกวดวงดนตรีทั้งรุ่นมัธยมศึกษาและรุ่นบุคคลทั่วไปของคนมีเป้าหมายในการเดินทางสู่เส้นทางศิลปินมืออาชีพ ที่โครงการเตรียมจะมอบประสบการณ์ทางดนตรีแบบ “เป็นได้สุด เป็นไปได้ ด้วยพลังแห่งดนตรี”

ปีนี้เวทีการแข่งขันก้าวเข้าสู่ปีที่ 4 แล้ว ไม่เพียงแต่จะเพิ่มดีกรีความเข้มข้นทางด้านดนตรี แต่ยังมีรายละเอียดเล็กๆ แต่สำคัญ ด้วยที-เชิ้ตไล่สีย้อมสีฟ้าครามจากแบรนด์หม้อห้อมป้าเหลือง Indigo Home    ของชุมชนบ้านทุ่งโฮ้ง ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญทำผ้าย้อมครามแบบฝีมือสุดยอด มาช่วยสร้างสรรค์เสื้อเวอร์ชันพิเศษเพื่อบอกเล่าธีม “Let The Music Power Your World” กับเสื้อบาติกย้อมห้อม ที่ทุกเส้นสายของลวดลายสีฟ้าครามสดใสบนเสื้อนี้ ยังสะท้อนถึงความงดงามของภูมิปัญญาผ้าไทยจากจังหวัดแพร่ ทางภาคเหนือของประเทศไทยด้วย

เรื่องราวการทำผลงานย้อมสีครามของชุมชนทุ่งโฮ้งกับความภาคภูมิใจที่ได้เป็น “เบื้องหลัง” ของเสื้อสุดพิเศษนี้ ความที่หม้อห้อมป้าเหลืองไม่ได้เป็นเพียงงานฝีมือของบ้านใดบ้านหนึ่ง แต่คืองานของผู้คนในชุมชนทุ่งโฮ้ง จังหวัดแพร่รวมใจกัน โดยมี คุณณี – พรรณี ทองสุข ทายาทรุ่นที่สามของหม้อห้อมป้าเหลือง เป็นผู้บอกเล่าถึงความเป็นไปได้ใหม่ๆ ครั้งนี้

 

กว่าจะได้ “ถ้อยคำ” และ “สีคราม” บนเสื้อ

ในปีนี้ คิง เพาเวอร์ ไทย เพาเวอร์ พลังคนไทย และ วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้จัดการประกวดมอบโอกาสสร้างความเป็นไปได้ครั้งใหม่ ด้วยการร่วมใจกับชาวบ้านมีฝีมือจากชุมชนทุ่งโฮ้ง จังหวัดแพร่ ในนาม “หม้อห้อมป้าเหลือง” มาร่วมย้อมเวทีการแข่งให้เป็นสีคราม

“ดีใจมากแต่ทีแรกก็หนักใจเหมือนกัน เพราะถือเป็นงานใหญ่เลย ก็คุยกับทีมเราว่าเอาไหม เราต้องทำจำนวน 1,500 ตัว มันเป็นงานใหญ่ของเราเลยแต่โครงการก็มีระยะเวลาให้ เพราะเป็นงานทำมือก็เลยได้ออกมาในจำนวนจำกัด”

ถ้อยคำบนเสื้อของโครงการประกวดในปีนี้ “หม้อห้อมป้าเหลือง” จะใช้เทคนิคการพิมพ์เทียนโดยใช้บล็อกไม้แกะสลักเป็นตัวอักษรที่เรียงเป็นวลีอินสไปร์ว่า “Let the Music Power Your World” ธีมของโครงการ

จากนั้นชาวบ้านยังต้องนำบล็อกไม้ไปประทับเทียนแล้วพิมพ์ลงบนเสื้อ ผสมผสานกับการมัดย้อมในแบบของ “หม้อห้อมป้าเหลือง” แล้วค่อยนำเสื้อไปย้อมห้อม ซึ่งต้องย้อมกว่า 4 ครั้งจึงจะได้การไล่เฉดสีจากฟ้าอ่อนที่ค่อยๆ เข้มไปจนถึงสีน้ำเงิน ป้าๆ พี่ๆ ในชุมชนบอกว่านี่คือสิ่งใหม่ที่พวกเขาได้เรียนรู้จากโอกาสในการทำเสื้อโครงการ

 

ผลงานส่งต่อวัยทีน

การทำงานในครั้งนี้แม้จะใช้เวลานานแต่ก็คุ้มค่าเพราะสีสันที่ได้สวยงามอย่างที่วางแผนไว้ และที่สำคัญกำลังจะได้นำไปให้เยาวชนสวมใส่บนเวทีดนตรีของคนรุ่นใหม่

“งานประกวด The Power Band ก็เป็นงานของเยาวชน วัยรุ่น” นับเป็นความตั้งใจที่ “หม้อห้อมป้าเหลือง” ก็ได้เรียนรู้มุมมองใหม่ๆ ในการสร้างสรรค์งานฝีมือที่ชำนาญอยู่แล้ว “พี่ก็อยากให้วัยรุ่นใส่เสื้อพวกนี้ เขาจะได้มองเห็นและใช้ของไทย ใช้สินค้าของชาวบ้านแล้วเกิดความชอบ คนทำก็มีกำลังใจที่เด็กๆ เห็นคุณค่า เพราะเสื้อผ้าไทยๆ มีกรรมวิธีแบบนี้อาจจะนึกถึงเสื้อผ้าสำหรับคนสูงอายุ ถ้าวัยรุ่นหันมาใช้มันก็น่าจะยั่งยืนขึ้น”

 

มุมมองต่อยอดผ้ามัดย้อมดั้งเดิม

กว่าจะมาเป็น “หม้อห้อมป้าเหลือง” และกำลังจะได้พาผ้าบาติกย้อมห้อมไปยืนวนเวทีการประกวดร้องเพลง แรกเริ่มเดิมทีชุมชนบ้านทุ่งโฮ้งเป็นชุมชนในจังหวัดแพร่ที่มีชื่อเสียงด้านผ้าย้อมห้อมอยู่แล้ว นอกจากการทำนาทำสวน แม่บ้านก็จะรวมตัวกันทอผ้า ตัดเย็บและย้อมห้อมใต้ถุนเรือนในบ้านตนเอง บ้านป้าเหลืองเริ่มต้นโดยมีคุณยาย (คุณแม่ของป้าเหลือง) เป็นผู้ริเริ่ม จากนั้นจึงสืบต่อความรู้กันมา คลิกอ่านเรื่องของหม้อห้อมป้าเหลืองและชุมชนเพิ่มเติม 

“เมื่อก่อนจะเป็นผ้าสีพื้น ไม่มีลวดลายอะไร” เป็นผ้าซิ่นแล่ เสื้อชาวนาที่ชาวบ้านสวมใส่เวลาทำนาทำสวน ส่วนน้ำย้อมก็ได้ภูมิปัญญาดั้งเดิมมาใช้ “จะใช้ต้นห้อมหรือต้นครามก็ได้ ต้นห้อมจะขึ้นบนหุบเขา อากาศชื้นเย็น เรารับมาจากในจังหวัดแพร่แต่เป็นแถวชุมชนบนดอย อย่างบ้านนาตอง แต่ต้นครามมันปลูกง่าย ขึ้นได้ทั่วไปตามสวน ชอบฝน ทนแดด ขึ้นง่าย พื้นที่ชุมชนก็สามารถปลูกได้”

น้ำห้อม น้ำครามเหล่านี้ถูกเก็บอยู่ในตุ่มใต้ถุนเรือน หลังจากย้อมผ้าแต่ละครั้งก็จะเติมน้ำและน้ำครามเข้าไปเพิ่มไม่ให้พร่อง ปกติน้ำย้อมเหล่านี้จะไม่ต้องเปลี่ยน แต่หลังจากเหตุการณ์น้ำท่วมเมื่อปี 2547 ก็ทำให้ต้องเปลี่ยนน้ำย้อมใหม่หมด

 

บาติก สีและลายเอกลักษณ์เฉพาะ

จากผ้าย้อมห้อมสีพื้นในยุคคุณยาย ในรุ่นที่สาม พี่ณีเพิ่มงานเทคนิคผ้าบาติกเข้าไปกับลายพิมพ์ไทยๆ แต่ผสมผสานแล้วได้ความโมเดิร์นเข้าใจง่าย “ผ้าบาติกส่วนมากจะเล่นสีสันฉูดฉาด แต่สีน้ำเงินในผ้าบาติกมีน้อยและมักจะไม่ใช่สีคราม เราลองผิดลองถูกอยู่นานกว่าจะเป็นเส้นสายลายอย่างที่เห็น”

ลายผ้านั้นจากการแกะไม้สักซึ่งเป็นงานที่มีชื่อเสียงของจังหวัดแพร่ แกะเป็นบล็อกไม้ลายต่างๆ อย่างลายช้าง ลายไทย หรือใบไม้อย่างลายใบกฐิน ลายตำลึง ลายมะยม หรือแม้กระทั่งดอกชบาที่สวยงาม

บล็อกไม้เหล่านี้เมื่อนำมาจุ่มในเทียนละลายในอุณหภูมิคงที่ พิมพ์ลงบนผืนผ้าแล้วจึงนำไปย้อมในตุ่มน้ำย้อมใต้ถุนเรือน ย้อมสองถึงสามครั้งจากนั้นนำมาต้มในน้ำร้อนลอกคราบเทียนออก กระบวนการทำผ้าหม้อห้อมหนึ่งนั้นใช้เวลายาวนาน สักหนึ่งอาทิตย์จึงได้ผ้าออกมาสักล็อต..

 

ทัวร์ใต้ถุนบ้าน ต่อยอดผลงาน

ผ้าที่ผลิตออกมาแล้วจะถูกนำมาแจกจ่ายให้กับชาวบ้านในชุมชนช่วยกันผลิตเป็นสินค้าต่างๆ บางครอบครัวรับตัดเสื้อผ้า บางครอบครัวติดกระดุม จากนั้นจึงส่งกลับมาที่บ้านของป้าเหลืองเพื่อจัดทำให้เป็นผลงานหลากหลายพร้อมจำหน่ายออกไป

สินค้าที่ได้กระแสตอบรับดีที่สุดคือผ้าพันคอ ผ้าคลุมไหล่ เพราะมีน้ำหนักน้อยและสามารถนำไปสวมใส่ได้ทุกที่…เป็นที่นิยมของชาวต่างชาติ ตรงกับเป้าหมายของชาวบ้านที่อยากทำให้สินค้าพลังคนไทยเป็นที่รู้จักพร้อมกระจายความรู้เกี่ยวกับงานฝีมือบาติกมัดย้อมแบบ “หม้อห้อมป้าเหลือง” ให้ชาวต่างชาติรู้จักภูมิปัญญาไทยบ้านๆ ด้วย…ใต้ถุนเรือนบ้านป้าเหลืองจึงมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาเยี่ยมชมงานกว่าสามสิบปีแล้ว

“เรามีพี่สาวคนกลางที่เรียนด้านภาษา เป็นไกด์ เขาก็จะพาทัวร์มาเที่ยว มาดูงาน ช่วงนี้จะเป็นทัวร์จากต่างชาติ มีทั้งเยอรมัน อเมริกา ฝรั่งเศส อิตาลี เขาก็สนุกเพราะเขาได้เห็นกรรมวิธีการทำและอาจจะให้เขาลองทำนิดหน่อย” พี่ณีเล่าว่าเคยมีชาวต่างชาติซื้อสินค้าจาก คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี ในสนามบินสุวรรณภูมิมาโชว์ให้ดูถึงจังหวัดแพร่ แม้นักท่องเที่ยวจะไม่เคยเดินทางมาจังหวัดแพร่มาก่อน แต่ก็เหมือนได้รับการต้อนรับตั้งแต่ต้นทาง

แต่ถึงแม้จะมีทัวร์นักท่องเที่ยวเดินทางมาเยี่ยมป้าเหลืองและชาวบ้านแทบทุกวัน ความมุ่งหวังสุดท้ายแล้วก็ยังเป็นคำตอบเดิม คือการอยากเห็นคนรุ่นใหม่สานต่อภูมิปัญญาที่ดีงามเหล่านี้

“มันก็น่ากลัวนะ เพราะเด็กรุ่นใหม่เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยมีทำด้านนี้แล้ว ทีมที่ทำอยู่ก็เริ่มจางๆ ไป คนเริ่มสนใจน้อยลงเพราะเครื่องจักร ภาพพิมพ์มันเร็วกว่าเยอะ งานนี้มันอยู่ที่ความชอบและใจล้วนๆ เพราะเทคโนโลยีมันอาจจะทำผลประโยชน์ได้มากกว่า ต้องมีคนที่ชอบและอยากให้มีการสืบต่อ รักษาไว้”

แม้สินค้าของ “หม้อห้อมป้าเหลือง” จะใช้ทั้งเวลาและแรงกายในการทำแต่สินค้าที่ตั้งใจขายนั้นราคาไม่สูงเลย ผ้าทุกผืนถูกย้อมด้วยความรัก ความตั้งใจสืบสานภูมิปัญญาดั้งเดิมและทำเพื่อให้ชาวบ้านในชุมชนมีงานและรายได้  “สินค้าของเราทำยากและราคาไม่สูงมาก จุดหลักของเราคืออยากให้ชาวบ้านมีงานทำต่อเนื่อง ให้การตลาดเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง”

 

หม้อห้อมบ้านป้าเหลือง (INDIGO HOME)

ที่ตั้ง: 277 ม.6 ต.ทุ่งโฮ้ง อ.เมือง จ.แพร่ 54000

 

ข้อมูลสินค้าเพิ่มเติมที่ตลาดพลังคนไทย

คลิก: INDIGO HOME 

 

สนใจสินค้าพลังคนไทย สามารถสนับสนุนได้ที่คิง เพาเวอร์ทุกสาขา

ภาพจาก หม้อห้อมป้าเหลือง

 

ปักหมุดจุดเช็กอินแชะรูป-ท่องเที่ยวใกล้เคียง

• คุ้มวงศ์บุรี อาคารเก่าแก่กว่า 100 ปี โดดเด่นด้วยเรือนไม้สักทองขนาดใหญ่สีชมพูด้วยศิลปะไทยล้านนา ผสมยุโรป ตกแต่งด้วยลายฉลุ ชื่อลาย ‘ขนมปังขิง’ ทั่วอาคาร เหมาะแก่การมาเยี่ยมชม เรียนรู้ศิลปะในยุคเก่า

• วนอุทยานแพะเมืองผี สถานที่ขึ้นชื่อ ไม่มาก็เหมือนมาไม่ถึงแพร่ เส้นทางศึกษาธรรมชาติจากหินและดินทรายถูกกัดกร่อนตามธรรมชาติ ชื่อ ‘แพะ’ หมายถึง ป่าละเมาะ ‘เมืองผี’ หมายถึง เงียบเหงา

• ถ้ำผานางคอย ภูเขาหินปูนที่มีหินงอกหินย้อยสวยงามตามธรรมชาติ ภายในถ้ำมีจุดให้เที่ยวชมกว่า 13 จุด รอคอยนักท่องเที่ยวให้เดินทางไปพบกับความมหัศจรรย์

Author

วรากร เพชรเยียน

Author

อดีตแอร์โฮสเตสผันตัวมาเป็นนักเขียน ผู้หลงใหลศิลปะและการเดินทาง นิยมการบอกรักประสบการณ์ผ่านตัวหนังสือ

Author

บริษัท ยานแม่ จำกัด

Photographer

เป็นโปรดักชั่น เฮาส์ ที่ไม่ได้คิดนอกกรอบ เเต่คิด...นอกโลก